The Opening speech from A Thailand Matriarch ปาฐกถานำของ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

          ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานเสวนาภาษาไทยในวันครบรอบ ๑๐๐ ปีคล้ายวันเกิดของ อาจารย์สถิตย์ เสมานิล  จะว่าผมเป็นเพื่อนร่วมงานกับอาจารย์สถิตย์ก็ไม่ค่อยจะคล่องปากนัก  เพราะว่าอาจารย์สถิตย์เป็นรุ่นพ่อผมครับบ  ผมอายุ ๗๙ ปี ท่านอายุ ๑๐๐ ปี  แต่ว่าท่านเป็นคนที่ไม่ถือตัว  ในขณะที่ประชุมอยู่ด้วยกัน  ท่านก็ไม่ได้ถือว่าผมเป็นเด็กกว่า  ก็คงเสวนากันเหมือนอย่างเป็นเพื่อนร่วมรุ่น  ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับท่าน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  หรือเรื่องกรรมการชำระประวัติศาสตร์  ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น นอกจากงานของมูลนิธินราธิปฯ ที่ผมไม่ได้ไปร่วมทำงานอยู่ด้วย

          ผมนับถือท่านอาจารย์สถิตย์ในฐานะที่ท่านเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วายาโม  ทีแรกผมนึกว่าวายาโมเป็นภาษาญี่ปุ่น  เพราะในรุ่นราวคราวเดียวกันก็มีหนังสือพิมพ์ชื่อ "ยามาโต"  เขาล้อๆ กันว่าเป็นหนังสือพิมพ์ "อย่ามาโต"  คำว่า "สัมมาวายาโม" แปลว่า ความพยายามชอบ  "วายาโม" ก็คือ "พยายาม" นั่นเอง  คนที่จะเป็นบรรณาธิการหนังสือในยุคนั้นได้จะต้องแข็งแกร่งจะมีความสามารถ  จะต้องรอบรู้มาก คุณสมบัติจะเป็นอย่างไรนั้น  ผมขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ "วิสาสะ" ของท่านก็แล้วกันนะครับ  จะมีข้อความที่จะบอกไว้ว่า  ทำอย่างไรจึงจะเป็นบรรณาธิการ หรือเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดีได้

          ที่ผมได้ยินอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ท่านเป็นเดือดเป็นแค้นมาก ที่รัฐบาลสมัยนั้นได้ตัดตัวอักษรไทยบางตัวออก  อักษรที่ซ้ำกัน เช่น  ศ ษ ศ  ก็ให้เหลือ  ""  ตัวเดียว  ชื่อผม  "ประเสิด นะ นะคอน" ก็ต้องเขียนอย่างนี้เหมือนที่เขียนอยู่ในประเทศลาวปัจจุบัน  ที่เป็นเช่นนี้เพราะหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ซึ่งไปเป็นผู้เชี่ยวชาญทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  ได้ไปช่วยปรับปรุงอักขรวิธีของประเทศลาว ก็เลยนำวิธีเขียนแบบตัวหนังสือสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามไปใช้กับประเทศลาว  ในเรื่องนี้  อาจารย์สถิตย์ในฐานะที่เป็นคนที่รักภาษาไทยมากถึงกับแช่งชักหักกระดูกคนที่มาทำลายวัฒนธรรมภาษาไทย  ว่าควรไปตกนรกหมกไหม้  แต่ว่าอันที่จริงจะไปโทษท่านผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้นก็ไม่ได้  เพราะเหตุว่าญี่ปุ่นในตอนนั้นอ้างความเป็ฯมหามิตรกับประเทศไทยและเสนอว่า ควรจะสอนภาษาญี่ปุ่นในชั้นประถมของไทย  เช่นเดียวกับที่ไทยเรายอมให้สอนภาษาอังกฤษกับภาษาจีนอยู่แล้ว  ทางรัฐบาลก็เกรงว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะเข้ามาครอบงำวัฒนธรรมของไทยเราหมด  จึงต้องหาอุบายหลีกเลี่ยง  เป็นที่ทราบกันในหมู่ท่านผู้ใหญ่เพียง ๒-๓ คนว่าจะต้องอ้างกับญี่ปุ่นว่าตัวอักษรไทยมีถึง ๔๔ ตัว  แล้วสระอีกตั้งมากมายนั้น  เรียน ๓ ปี  อ่านหนังสือยังไม่แตก  เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องตัดทอนตัวพยัญชนะและสระลงเสียบ้าง  ถ้าสามารถทำให้เด็กไทยอ่านหนังสือแตกได้ภายใน ๓ ปี  จึงจะยอมให้สอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย  ในหมู่กรรมการมีผู้ทราบเหตุผลที่แท้จริงเพียง ๒-๓ คนเท่านั้น  เช่น กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์วรรณ) และท่านเจ้าคุณอนุมานราชธน เป็นต้น  อาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ  เป็นผู้เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังว่าความจำเป็นมีอยู่เช่นนั้น

             ในสมัยนั้นยังมีเรื่องบังคับให้คนไทยเลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน  โดยให้เปลี่ยนมาแต่งแบบสากล ส่วนผู้ชายให้นุ่งกางเกงแบบฝรั่ง  สาเหตุก็อย่างเดียวกันนะครับ  คือว่าในขณะนั้นคุณหญิงคุณนายทั้งหลายก็เร่ิมแต่งตัวใส่กิโมโนกัน ทำให้ท่านจอมพล ป.  เป็นห่วงงว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะเข้ามาครอบงำการแต่งกายของไทยเสียหมด จึงจำเป็นที่เราจะต้องปฏิรูปการแต่งตัวเสียใหม่

              ส่วนเร่องท่านอาจารย์สถิตย์หายไปนั้น  เราก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร  แต่ท่านเคยประสบอุบัติเหตุเข้าใจว่าอย่างน้อย ๒ ครั้งด้วยกัน  คือ ถูกรถมอเตอร์ไซต์ชนในขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย  อย่างนี้ทางสถิติเขาถือว่า ต้องโฉลกกับอุบัติเหตุ  กล่าวคือ  มักจะประสบอุบัติเหตุอยู่เสมอเราจะไปโทษว่าเพราะตัดสินใจเชื่องช้า หรืออะไรต่ออะไร มันก็ไม่เชิงนะครับ  อย่างคนที่ถูกล็อตเตอรี่ ๒-๓ เดือนถูกที่หนึ่งอยู่เป็นประจำ  ส่วนผมซื้อทุกงวด ๕ ปีไม่ถูกเลย  แม้แต่เลขท้าย  จะว่าไป  มันเป็นความบังเอิญน่ะครับ  เรื่องอุบัติเหตุก็อาจะเป็นอย่างนั้นหรือเป็นอย่างอื่นก็ได้  ท่านอาจารย์สถิตย์มีความเห็นว่า  หนังสือพิมพ์นั้นเป็นกระจกเงาสองความเป็นผู้มีการศึกษาสูงต่ำของพลเมือง  หนังสือและภาษาเป็นที่หนึ่ง  ประณีตศิลป์ซึ่งประกอบไปด้วยดนตรี  ปี่พาทย์  นาฏศิลป์  เป็นที่สอง และสรรพจารีตไทยแต่โบราณกาลก็มาเป็นที่สาม  ผู้ที่สำแดงตัวว่าเป็นผู้รักชาติแต่ไม่รักหนังสือและวัฒนธรรมนี้เป็นสาเหตุให้บ้านเมืองยุ่งยาก  และผู้รู้ผิดรู้ชอบก็หายาก

               ท่านอาจารย์สถิตย์เป็นผู้ที่จำกลอนที่แต่งไว้ได้มาก เช่น  อย่างที่ยกมาจาก ยามาโต บอกว่า

                       "เมื่อนั้น                        ท่านท้าวยามาโตโอ่อ่า
               สถิตยังหลังวังบูรพา                   สุขาสำราญบานใจ
               ท้าวมีสหายหลายคน                  พรั่งพร้อมเพื่อนพลพิสมัย
               มีศาลาบอกข่าวชาวไทย              อัปรีย์จัญไรใครโกง
              อำมาตย์คนใดใครคด                 ทรยศฉิบหายตายโหง"

               นี่ท่านว่าได้คล่องเลยนะครับ  เวลาคุยกับท่าน ท่านจะเอ่ยถึงบทวรรณกรรมต่างๆ ได้คล่องแล้วท่านก็เอ่ยในนึ้ถึง  เปโมรา  ว่าอ้างตำราแพทย์แผนโบราณว่า

               "คำโบราณท่านกล่าวมา  เป็นหมอให้ศึกษาไสยศาสตร์พระคัมภีร์"  แต่มาแก้เสียใหม่ว่า "เป็นหมอให้ยกขาขึ้นข้างหนึ่งแล้วจึงเบา"
               "แล้วท่านก็ไปท่องฉันท์ของ "ครูเทพ"  ให้  "ครูเทพ"  ฟัง  ในตอนที่ไปขอสัมภาษณ์ ท่านบอกว่าสัมภาษณ์สมัยก่อนเป็นการไปหาข่าว  แต่สัมภาษณ์สมัยนี้เป็นการไปเอาข่าวที่เขาจะบอกให้ สมัยก่อนนี้นักหนังสือพิมพ์จะต้องไปหาข่าว  เมื่อจะไปสัมภาษณ์เจ้าคุณธรรมศักดิ์มนตรี  ก็ต้องคิดวิธีการที่จะให้ท่านให้สัมภาษณ์  เพราะว่าท่านไม่อยากให้สัมภาษณ์  ท่านอาจารย์สถิตย์ไปท่องฉันท์ของครูเทพ (นามปากกาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)  ว่าดังนี้

                "ธรรมดาดรุณ ณ วัยจะเรียน            อะไรไฉนก็เพียรจะซักถาม
                เช่นพิเภกไฉนไม่กินพระรา               อเนกนิกรทำไมจะขามพระสี่กร"

เหมือนอย่างทศกัณฐ์มีตั้ง ๒๐ มือ  ทำไมจะไปกลัวพระนารายณ์ซึ่งมีเพียง ๔ มือ

                 "ดอกสลิดอุตริเรียกขจร     ปลาสลิตอุตริสอน    สิใบไม้"

                 เมื่อไปท่องให้ฟังแล้ว  ท่านเจ้าคุณฯ ก็ชอบใจ  ว่ามีผู้จำฉันท์ของท่านได้  ก็เลยให้สัมภาษณ์กันอย่างดี  

                 อีกตอนหนึ่ง  อาจารย์สถิตย์ไปสัมภาษณ์เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี  เสนาบดีกระทรวงวัง  ซึ่งได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการพร้อมเสนาบดีอีกทั้งหมด ๖ คน  เจ้าพระยาธรรมาฯ ยอมให้สัมภาษณ์  แต่สั่งว่า "คุณสถิตย์จะต้องไม่นำข้อความไปเปิดเผย"  โดยเล่าให้ฟังว่า "ปู่ก็เลี้ยงปู่มา พ่อก็เลี้ยงพ่อมา  มาถึงท่านก็มาถูกให้ออกจากราชการ  เพราะว่ามันถึงสมัยเปลี่ยนจากรัชการที่ ๖ มาเป็นรัชกาลที่ ๗"   ท่านอาจารย์สถิตย์เขียนเรื่องที่ไปสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม  แต่แทนที่จะบอกว่าเจ้าพระยาธรรมาฯ ได้กล่าวว่าอย่างไร  ก็พูดแปลงไปเสียเป็นว่า  คุณสถิตย์เองเป็นคนเท้าความไปถึงสุนทรภู่ที่แต่งเพลงยาวถวายเจ้าฟ้าศิษย์ทั้งสอง  อำลาวัดราชบูรณะ  สำแดงความอาลัยอย่างที่สุด  และหวังว่าจะได้กลับมาพึ่งบุญของทั้งสองพระองค์  ใจความว่า 

                  "ถึงร้อยปีมิได้มาก็อย่าแปลก"
และแสดงความน้อยใจเจ้าฟ้าอาภรณ์  โดยรำพันว่า
                  "สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร  ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม"

                   ทีนี้ท่านเจ้าคุณธรรมาฯ ได้อ่านเข้าก็ชอบใจ  คือสามารถแถลงความในใจให้ประชาชนทราบ  โดยที่ตัวเองไม่ต้องไปรับผิด คือ ไม่ได้กล่าวว่าท่านเจ้าคุณธรรมาฯ  เป็นผู้ให้ข่าว  ท่านอาจารย์พูดเปรียบเทียบให้เห็นความคิดในใจได้ชัดแจ้งแสดงถึงเชาวน์ของท่านที่เป็นนักหนังสือพิมพ์

                   ในสมัยก่อน  ท่านอาจารย์สถิตย์ได้แปลคำว่า Freedom of thought ว่าเป็นเสรีภาพแห่งความคิด  แต่ก็ถูกทักท้วงว่า  แปลถูก แต่ไม่เป็นภาษาไทย  ผู้ท้วงเป็นนักเชิดชูภาษาไทยเท่ากับท่านอาจารย์สถิตย์เหมือนกัน ที่ยกมานี้เพื่อให้เห็นว่าท่านเองถือตัวว่าท่านเป็นนักเชิดชูภาษาไทย ท่านมีความภูมิใจในเรื่องนั้น  ท่านจึงมาเล่าก็ถูกทักท้วงในครั้งนั้น  

                   เมื่อตอนไปสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์สถิตย์เล่าว่า  "ผมทูลตอบอย่างคนกมลใสว่า ผมใฝ่ฝันจะเป็นคนเขียนหนังสือ"  นี่ก็แสดงถึงความคิดความใฝ่ฝันของท่านอาจารย์สถิตย์ว่าเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งถึงอายุ ๘๒ ได้ทำหน้าที่เขียนหนังสือ  แต่งบทกวีต่างๆ ท่านมีความจำดีเลิศ  จะจำบทกวีนิพนธ์ได้มากมาย  เช่น  สมัยก่อนหนังสือภาพยนตร์เล่มละ ๕ สตางค์   เล่าเรื่องภาพยนตร์สลับกับบทกลอน  ท่านบอกว่า

                            "กลางทะเลเวหาฟ้ากระจ่าง      แสงสว่างเลือนเลือนเมื่อเดือนฉาย
                   กระแสชลไหลกระเพื่อมดูเลื่อมพราย..."

                   อย่างนี้นะครับ  ตั้ง ๒๐-๓๐ คำท่านก็จำได้หมด  หรืออย่างน้อยในบทละครเรื่องสาวเครือฟ้าก็จะมีเพลงบอกว่า 

                             "กระแทกองค์กับพื้นสะอื้นดิ้น       กำสรวลสิ้นสมประดีฤดีเศร้า
                   ทั้งรักทั้งแค้นแน่นเร้า                          สิ้นอาลัยลูกเต้าชีวิตตัว
                   โอ้ประดาษเสียชาติเกิดเป็นหญิง             เผยอหยิ่งรักเขาเอาเป็นผัว
                   เขามีเมียทิ้งเสียเหมือนควายวัว              ซ้ำพาเมียใหม่ยั่วหยามให้อาย
                   จะอยู่ไปไยเล่าสาวเครือฟ้า                   เสียแรงรักหักชีวาบูชาถวาย
                   ชาตินี้สิ้นวาสนาขอลาตาย                    ได้เกิดกายชาติใหม่ให้คู่กัน
                   อย่าให้มีรักซ้อนซ่อนรัก                      ให้สมัครรักชมภิรมย์ขวัญ"


                  อย่างนี้นะครับ  อาจารย์สถิตย์ก็จำได้หมดตั้งแต่ต้นจนจบ หรือจะมีเพลงอย่าง

                             "ยี่สิบสี่มิถุนา-         ยนมหาศรีสวัสดิ์
                           ปฐมฤกษ์ขอรัฐ           ธรรมนูญของไทย
                           เริ่มระบอบแบบอา-      รยประชาธิปไตย
                           ทั่วราษฎรไทย           ได้สิทธิเสรี"
   
                   อย่างนี้คุณสถิตย์ก็จะว่าได้อย่างคล่องปากเลยนะครับ  ในจำนวนนี้ก็อาจจะมีเรื่องไม่เป็นสาระเช่นไปจำว่า

                            "หลีกหลีกรถขี้จะออก    ใครมาขวางปากตรอก   รถจะชนหัวแตก"

                   อย่างนี้เป็นต้น  คำประพันธ์นี้เคยได้ยินพ่อผมพูด  ยังจำได้  พอมาฟังคุณสถิตย์ท่านก็พูดอย่างเดียวกัน   อย่างในสมัยนั้นมีเรื่องซื้อเรือรบพระร่วง  ก็จะมีบอกว่า "เรือของเราออกแล้ว"  ดูมันแล่นไปบนคลื่น  ดังมันใส่ปีกของเทพธิดา   ด้วยความหาญกล้าเริงรื่น"  อย่างนี้นะครับ  สิ่งเหล่านี้อยู่ในหัวของท่านทั้งหมด  ท่านอาจารย์สถิตย์ได้จำบทกวีไว้ได้มาก   ผมก็ไม่สามารถจะบรรยายได้หมด  เพราะว่าท่านจำไว้ได้มาก  มากกว่าที่ผมจำไว้ได้หลายเท่า  ผมก็ไม่รู้ว่าท่านจำอะไรไว้ได้บ้าง  อย่างเพลงอาหนู  ไม่ทราบว่าคุณสถิตย์จะเคยผ่านเนื้อเพลงนี้มาบ้างหรือเปล่า  มีข้อความดังนี้

                   "ก๋วยเตี๋ยวบะหมี่     แกงกะหรี่มัสหมั่น    อีกทั้งหมูหันสะเต๊กสะตู   มีทั้งแกงหมูแกงส้มแกงต้มยำ  แกงปลาไหลไก่ผัดขิง   ปลากระทิงต้มยำ   แกงบวนแกงบอนหล่อนช่างทำ  ทั้งส้มตำข้าวมันใส่กัญชา  ขนมเปี๊ยะขนมปังขนมฝรั่งไส้หมู  ลอดช่องสาคูขนมขี้หนูข้าวพอง ทองหยิบฝอยทองเม็ดขนุนวุ้นน้ำเชื่อม  ขนมหม้อแกงตะโก้แห้วข้าวเหนียวแก้วสังขยา  กินอิ่มอักโขกินโซดา ทั้งน้ำชาสูบบุหรี่ ยินดีเอย"   อย่างนี้เป็นต้น

                    การที่ท่านอาจารย์สถิตย์จำบทกวีไว้ได้มาก  ก็ช่วยให้ท่านเป็นนักปฏิภาณกวี  สามารถที่จะแต่งกวีนิพนธ์ได้เองเป็นอย่างดี  และสามารถที่จะใช้ไปตีความบทกวีโบราณ  ซึ่งมีศัพท์โบราณที่คนสมัยใหม่อ่านแล้วไม่เข้าใจ  ผมอยากจะยกตัวอย่าง  แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าคุณสถิตย์เคยเสนอคำอะไรไว้บ้าง  ผมขอยกตัวอย่างก็แล้วกันว่า  เช่นสมมุติคำว่า "ชีสา" ซึ่งแปลว่า "ถึงแม้ว่า"  ในลิลิตยวนพ่าย  มีว่า "ชีสา ท่านโอนเอาดีต่อก็ดี  คิดใคร่ควักดีผู้ เผ่าดี"  ก็หมายความว่า  "ถึงแม้ว่าคนอื่นจะเอาใจทำดีด้วยก็ดี  ก็คิดว่าจะควักเอาความดีออกมาได้จากคนที่พ่อแม่ดี  คือคิดว่าเมื่อเผ่าพันธุ์ดีลูกหลานก็คงจะดีด้วย"

                    คำว่า "ชีสา" นี้ มีหลายคน  หรือแม้แต่พจนานุกรมแปลว่า "ท่านผู้ใหญ่"  แต่ที่จริง "ชีสา" นั้นแปลว่า "ถึงแม้ว่า"  คำว่า "ชี" แปลว่า "แม้ว่า"  อยู่หลายแห่ง  "ชีใฝ่ยามปูนปี  เปรียบได้"  ถอดความว่า "แม้ว่าเวลาคิดถึง (ใฝ่ถึง) เพียงหนึ่งยามก็นานเสมือนหนึ่งต้องรออยู่ถึง ๑ ปี"  หรือนยวนพ่ายก็มี บอกว่า "ชื่อยืนอยู่ร้อยปี  เป็นคู่ตายนา"  ชื่อ หรือ ชี หรือ ซี หรือ ซือ  ก็แปลว่า  แม้ว่า "ถึงอายุจะยืนอยู่ถึง ๑๐๐ ปี  ก็เป็นประหนึ่งตายไปแล้ว"  หรือคำว่า "สา" ชีสา  ในนิราศหริภุญไชย  ก็แปลว่า "ถึงแม้ว่า"  คือพูดถึงพระเอกนางเอกว่าต้องจากกันไป  "สาอินทร์บ่ปรานี  ยังยากครานั้น"  คือถ้าหากว่าพระอินทร์ไม่มีความกรุณาบันดาลให้ทั้งสองคนมาพบกัน  ก็คงจะไม่ได้พบกัน

                   บทกลอนที่ผมท่องให้ฟังนี้นะครับ  ผมท่องได้เท่าไหร่นี้ต้องเอา ๓ คูณเข้าไป  แล้วก็ยังอาจจะไม่เท่ากับความจำของคุณสถิตย์ที่ได้ท่องไว้  ทั้งนี้เพราะว่าในหัวของผมมัวไปท่องตัวเลย อย่างกับ "พาย" มีค่าเท่ากับ ๓.๑๔๑๕๙  หรือวันใน ๑  ปีทางคัมภีร์สุริยยาตรที่มาคำนวณดวง  ปีหนึ่งมี ๓๖๕.๒๕๘๗๕ วัน  ส่วนวันของทางดาราศาสตร์เป็น ๓๖๕.๒๔๒๒ วัน  แต่ว่าตามปฏิทินของเกรกอเรียน  เขาใช้ ๓๖๕.๒๔๒๕ วัน  ซึ่งในหมื่นปี  วันจะเกินไป ๓ วัน  เขากำลังคิดแก้ไขอยู่  หรืออาจจะไปจำเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าติโลกราชขึ้นเสวยราชย์ในปี พ.ศ. ๑๙๘๔  สวรรคตในปี  ๒๐๓๐  สังคยานาศาสนาเมื่อ พ.ศ.​๒๐๒๐   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ในปี ๑๙๙๑ ไปสวรรคตในปี ๒๐๓๑  อะไรอย่างนี้เป็นต้น  หรือไปท่องโหราศาสตร์ที่บอกว่า 

                    "คู่สมพงศ์ชายหญิงจริงจริงนะ     ตำรากะแม่แท้แน่หนักหนา
             จันทร์พฤหัสร่วมราศีมีศักดา              หญิงชายมาเป็นผัวเมียได้เสียเอง
             จันทร์อังคารอยู่เมถุนหรือธนู              ชอบเป็นชู้เมียเขาเฝ้าข่มเหง"

                  แล้วก็เป็นเรื่องอย่างนี้ไปอีกมากมาย  สมัยนั้นมีคนเอาตำรา "คู่สมพงษ์" มาขายในราคาแพงเหลือเกิน คือ ๑ สลึง  สมัยนั้น ๑ สลึงก็กินข้าวไปได้หลายวัน  ได้บอกแล้วนะครับว่า คุณสถิตย์ได้ท่องอะไรจำไว้ได้มากมาย  ถ้าพูดกันในทางกวีนิพนธ์  ท่านก็ท่องไว้ได้มากกว่าผมหลายเท่า เพราะหัวของผมไปชอบอย่างอื่นเสียมาก  บทประพันธ์เป็นเรื่องที่ชอบรองลงมา  ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้เลิกท่องบทอาขยานเสียแล้ว  สมัยก่อนนี้เราจะต้องท่องอย่างเรื่องมหาเวสสันดรจะต้องท่อง ๘ หน้า  ก็เท่ากับหนังสือ ๑ ยก  ว่า  "ตาตพ่อเอ่ย  เจ้าชาลีศรีสุริยวงศ์เยาวเรศ..."  ๘ หน้านะครับ  นี่ผมท่องเมื่อ พ.ศ.​๒๔๗๗  ก็ยังจำได้จนบัดนี้  หรือจะท่องว่า

                     "ภูเบนทร์บ่ายบาทขึ้น    เกยหอ
                ขี่คชชื่อพัทธกอ                กาจกล้า
                บ่เข็ดบ่ขามขอ                 เขาเงือด  เงื้อแฮ
                มันตกติดหลังหน้า            เสือกเสื้องส่ายเสย"

                  เราก็จะจำได้ว่า "เสือกเสื้องส่ายเสย"   เสื้อง  ไม่รู้แปลว่าอะไร  เมื่อไปเจอะในบทกวีนิพนธ์อื่น  ก็จะเอาไปเทียบกันดูกับที่เราจำได้  ทีนี้กระทรวงศึกษาธิการให้เลิกท่องเสียแล้ว  ก็จะทำให้เด็กไทยไม่มีหัวเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนอย่างบรรพบุรุษของเราอีกต่อไป  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  เราจะสร้างคนขึ้นมาให้เป็นแบบท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ได้อีกหรือไม่  ผมไม่ทราบ  ก็ขอขอบคุณครับ