Tuesday, July 25, 2017

เฉลิมขวัญ "เชียงใหม่" ๖๐ รอบนักษัตร ตอนที่ ๑

                  เมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๕๔๓  คุณ(พี่)ปรีชา พบสุข  อดีตนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย ชวนผมซึ่งรู้จักสนิทกันตั้งแต่ผมรับราชการที่ชลบุรีนั้น  ไปร่วมคณะของหอการค้าจังหวัดเชียงราย  ไปเยือนนครเชียงตุง  แคว้นสิบสองปันนา  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลหยุนหนานของจีน

                  คณะที่เราไปร่วมสมทบคือ คณะของจังหวัดเชียงราย  เป็นคณะใหญ่  สมาชิกร่วมร้อยคน  เผอิญคนหนึ่งในคณะเป็นไข้หวัดตั้งแต่ช่วงเย็นวันแรกไปถึง  ช่วงเรากินอาหารเช้าผม่ไม่เห็นเขาลงมา จึงขึ้นไปเยี่ยมและสอนฝึก "พลังลมปราณ" ให้  โดยผมบอกเพื่อนของเขาว่า  ผมจะอยู่เป็นเพื่อนคนไข้ ให้คณะไปตามรายการ  แต่เมื่อหนุ่มใหญ่ตั้งใจฝึกฯ ตามผมสอนได้ราวครึ่งชั่วโมงก็เหงื่อซึมหายไข้และสดชื่นเป็นปรกติ  แต่คณะก็ไปแล้ว  กว่าจะกลับมาที่โรงแรมก็ ๓-๔ ทุ่มโน่นแล้ว    คนหายไข้เป็นพ่อค้าชาวอำเภอพาน  เป็นรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย  เขาจึงติดต่อขอไปพบ "เจ้าสุวรรณวงศ์" ชื่อจีนว่า "เตาซินหัว"  ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีและประธานหอการนครเชียงรุ่ง  ท่านเชิญเราไปที่บ้านพัก และจัดอาหารกลางวันเลี้ยง  โดยเชิญ "เจ้ามหาราชวงศ์"  ชื่อจีนคือ  "เตากั๊วต่ง"  อดีตนายกเทศมนตรีฯ มาร่วมวงด้วย

                   ระหว่างสนทนาในมื้ออาหาร  ผมได้ขอให้ช่วยกราบทูลติดต่อให้เราได้เข้าเฝ้า "เจ้า(ย่ำกระ) หม่อมคำฤา"  จีนใช้ชื่อว่า "เตาซื่อซิน"  เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย นอกราชบัลลังก์ของราชวงศ์เชียงรุ่งที่ "ท้าวฮุ่ง(รุ่ง) หรือขุนเจื๋อง" ผู้เรืองเดชานุภาพก่อตั้งชึ้นกว่า ๘๐๐ ปีก่อน   พระองค์ทรงจำผมได้  เพราะเคยเฝ้าเมื่อปลายเมษายน ๒๕๒๕  ที่สถาบันชนชาติส่วนน้อย ณ นครคุนหมิง  ครั้งนั้นผมเดินทางไปในคณะนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคของไทย  หลังจากนั้นผมผ่านนครคุนหมิงหลายครั้ง  ก็สื่อสารถึงพระองค์โดยฝากไปถวายกับ "เจ้าหน่อ"  ซึ่งทรงเป็นโอรสของเจ้ามหาราชวงศ์"  ดังนั้น "เจ้าหม่อมคำฤา" จึงทรงพระกรุณาให้เราไปร่วมโต๊ะเสวยในมื้อเย็นวันนั้น

                    ที่โต๊ะเสวยมีเพียง ๕ คน  ในร้านอาหารแบบฉบับไทยลื้อ  อันเป็นชนชาติของแคว้นสิบสองปันนา  เราสนทนาด้วย "คำเมือง"  ไม่ต้องมีล่าม  จึงคุยได้สะดวก และได้ฟังข้อมูลจากพระราชวงศ์ทั้งสามว่า  พญามังรายฯ  ผู้ทรงก่อตั้งอาณาจักรล้านนานั้น  ทรงเป็นพระราชนัดดาของพญาเชียงรุ่ง  โดยมีพระบิดาชื่อ "ท้าวลาวเม็ง"  แห่งนครเชียงแสน  แต่พระมารดา "เจ้าคำข่ายแก้ว" เป็นราชธิดาของพญาเชียงรุ่ง  เมื่อทรงครรภ์แก่ได้เสด็จประทับที่นครเชียงรุ่ง

                    ทรงเล่าว่าในตำนานที่เล่าขานกันมาในเชียงรุ่ง  กล่าวว่า "ช่วงเวลาที่เจ้าหญิงทรงเจ็บครรภ์  เวลานั้นเกิดฝนตกฟ้าคะนอง  ก่อนจะมีฟ้าผ่าเสียงดังมาก  กุมารน้อยก็ประสูติออกมาจากแสงฟ้าที่สว่างวาบขึ้น  จึงมีหลายคนเห็นพระกุมารทรงมี ๔ กร   พระเจ้าตาจึงประทานนามพระนัดดาว่า "เจ้ามังคลนารายณ์"  โหรหลวงทำนายว่า เจ้าชายจะมีเดชานุภาพ  ปราบได้แคว้นใหญ่ในทิศใต้  ดังนิมิตที่มีฟ้าผ่าในทางทิศใต้

                    ผมแอบถวายพระสมัญญานามแด่พญามังคลนารายณ์  ที่คนไทยรู้จักในพระนาม "มังราย" เป็นดุจ "เจ้าชายแห่งสายฟ้า"  คือตอนประสูติมีสายฟ้า(ผ่า)นำเสด็จ  ตอนสวรรคตก็เพราะถูกสายฟ้า(ผ่า) เอาพระชนม์ชีพกลับสู่สรวงสวรรค์  ตรงจุดที่สี่แยกกลางเวียง  ย่านในกำแพงเมืองนครเชียงใหม่

                   ช่วงปี ๒๕๑๔-๒๕๑๕  ผมมารับราชการที่เชียงใหม่  ได้เห็นศาลเพียงตาที่คงเป็นชาวบ้านแถวนั้นสร้างไว้ ณ จุดที่พญามังรายฯ สวรรคต คือ ที่สี่แยกกลางเวียง   ผมเศร้าสลดใจมากที่ได้เห็นสภาพศาลเล็กๆ กระจอก  ขนาดลังสบู่โทรมๆ ครั้นเมื่อวาระนครเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙  ทางราชการคงเจียดเงินให้น้อย  จึงขยายพื้นที่และสร้างศาลพญามังรายฯ ได้อย่าง "ขอไปที"  ถ้าเทียบกับศาลเจ้าพ่อขุนตาน  ที่สร้างอยู่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปางละก็  ศาลพญามังรายฯ เล็กและซอมซ่อกว่าหลายเท่า  ทั้งๆ ที่ศาลเจ้าพ่อขุนตานนั้น  สร้างเพื่อรำลึกถึง "พญาเบิก"  เจ้านครลำปาง  ซึ่งได้แสดงออกถึงความกตัญญู คือ เมื่อทรงทราบข่าวว่ากองทัพของพญามังรายฯ ยกมาตีนครหริภุญไชย (ลำพูน) ซึ่งพระบิดา คือ พญายีบาครองอยู่  พญาเบิกก็จัดทัพข้ามเขาขุนตานมุ่งมาช่วยพระบิดา  แต่ถูกกองทัพยหน้าของพญามังรายฯ ที่มีเจ้าไชยสงครามดักตีแตกพ่าย  พญาเบิกต่อสู้จนสิ้นพระชนม์  คนลำปาง-ลำพูน จึงสร้างศาลบูชาความกตัญญูของพญาเบิก หรือ "เจ้าพ่อขุนตาน"

                   ผมไม่คิดว่า ชาวเชียงใหม่-เชียงราย และเมืองอื่นๆ ในล้านนา  จะด้อยน้ำใจขาดความกตัญญู  แต่คงเพราะท่านไม่รู้ข้อมูลความจริงในประวัติศาสตร์ตอนนี้  ผมเขียนรายงานเสนอให้รู้แล้วนะครับ

                   จึงเป็นภารกิจหน้าที่ของเทศลาลนครเชียงใหม่  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  รวบรวมการบริจาคจากเศรษฐีคหบดี  นักธุรกิจ และนักการเมืองชาวล้านนาช่วยกันจัดสร้างอนุสรณ์สถานรำลึกถึงพระกรุณาของพญามังรายมหาราช  ผู้สร้างนครเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนา  ซึ่งจะถึงวาระสำคัญนครเชียงใหม่ครบ ๗๒๐ ปี คือ ๖๐ รอบ ปีนักษัตรในกลางปี ๒๕๕๙  คาดว่าองค์กรต่างๆ ในเชียงใหม่ และล้านนา  คงคิดจัดทำ/ดำเนินการเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญดังกล่าวแล้ว

                   ผมเป็นชาวลำปางพลัดถิ่นจากบ้านเกิดไปตั้งแต่ปี ๒๕๐๕  เรียนจบเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  เข้ารับราชการกระทรวงพาณิชย์  เกษียณแล้วตั้งรกรากในกรุงเทพฯ  เป็นข้าราชการบำนาญแก่ๆ เท่านั้น  แต่ยังคงรำลึกถึงล้านนาแผ่นดินเกิด  จึงขออนุญาตเสนอแนวความคิดในการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพญามังรายฯ  คือ

                   สร้างศูนย์การประชุมนานาชาติขึ้น  ทำนองศูนย์ประชุม "สิริกิติ์" ในกรุงเทพฯ  ไม่จำเป็นต้องรองบประมาณราชการ  ให้บริษัทเอกชนฯ สร้าง  หรือองค์กรในเชียงใหม่ระดมทุนจัดสร้างก็แล้วแต่  เพราะผลประโยชน์จะตกได้แก่นครเชียงใหม่ในด้านเศรษฐกิจ  การท่องเที่ยว  ด้านวิชาการจะมีการประชุมนานาชาติได้และมากขึ้น  เมื่อมีสถานที่พร้อม

                   *ข้อสำคัญคือ  ต้องตั้งชื่อว่า ศูนย์การประชุม "มังรายมหาราช"  ในวาระ ๖๐รอบปีนักษัตรของการสถาปนานครเชียงใหม่   เพื่อเป็นสิริมงคล  สมควรขอพระราชทานใช้ชื่อดังกล่าวเถิด  ขออย่าให้เป็นการประจบผู้มีบุญอำนาจวาสนาในปัจจุบัน  จงรำลึกถึงบุญคุณของท่านผู้มีพระคุณในอดีตกาลเถิด  จึงจะได้ชื่อว่า  ผู้มีความกตัญญูกตเวที แท้จริง  และมีคนเคารพกราบไหว้ ดังเช่น "เจ้าพ่อขุนตาน" นั้นเอง

                     ถ้าภาคเอกชนระดมทุนบริจาค  เพื่อก่อสร้างละก็  โปรดติดต่อเอาบำนาญจากผม ยินดียกให้ ๑ เดือนครับ