Tuesday, July 25, 2017

illiteracy in Thailand language ความไม่รู้เรื่องไวยากรณ์

        เมื่อผมเร่ิมเรียนวิชาไวยากรณ์นั้น  ไม่เคยรู้เลยว่า  การเรียนรู้จนเข้าใจเรื่องอักษรสูง กลาง ต่ำ อักษรคู่ อักษรเดี่ยว การผันวรรณยุกต์ให้ได้เสียงสามัญ  เอก โท ตรี และจัตวา  จะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

        สมัยโน้น  เราเรียนวิชาการท่องอาขยานมาตั้งแต่ชั้นประถมต้นๆ เช่น กลอนดอกสร้อย  เด็กเอ๋ย เด็กน้อย  แมวเอ๋ยแมวเหมียว  ตั้งเอ๋ยตั้งไข่ ฯลฯ  เรียนบทท่องจำจากแบบเรียนวิชาวรรณคดีไทย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระราชนิพนธ์  ในลักษณะกวีนิพนธ์ประเภทต่างๆ  เช่น  เรื่องสังข์ทอง  รามเกียรติ์  พระอภัยมณี  สามเรื่องนี้เป็นบทกลอน  และกลอนบทละครเรื่อง  "เวนิสวานิช"  ส่วนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕  เรื่อง "นิทราชาคริต"  เป็นกวีนิพนธ์ประเภทโคลงลิลิต

        ผมเสียดายที่ตอนผมยังเป็นนักเรียน  คุณครูไม่อธิบายให้ศิษย์รับรู้ หรือเข้าใจว่าหลักวิชาความรู้เรื่องไวยากรณ์ไทย  จะช่วยให้เรียนกวีนิพนธ์ได้ดีมีรสชาติความไพเราะ  เมื่ออ่านทำนองเสนาะ  ออกเสียงอย่างถูกต้อง  ถ้าหากอ่านตะกุกตะกักผิดๆ ถูกๆ ละก็  จะไพเราะได้อย่างไรเล่า  ดังนั้น  การอ่านบทร้อยกรองให้ถูกต้อง  จำเป็นเรียนรู้พื้นเสียงตัวอักษรก่อน  ว่าตัวใดเป็นอักษรสูง กลาง หรือ ต่ำ  ตัวใดผันวรรณยุกต์ได้อย่างไรบ้าง  ตัวใดต้องใช้อักษรคู่ช่วยผันวรรณยุกต์  จึงจะผันได้ครบ ๕ เสียง  บางตัวเป็นอักษรเดี่ยว  ต้องใช้อักษรนำมาช่วย  จึงจะผันวรรณยุกต์ได้ครบ ๕ เสียง  คือ  เสียงสามัญ  เอก  โท  ตรี  จัตวา

        มีคนขัดคอผมว่า  ตัวเขาไม่เห็นจะต้องเรียนรู้หลักไวยากรณ์ไทยอะไรให้ยุ่งยากมากมาย  เขาก็อ่านท่องกลอนของ "สุนทรภู่" ได้ไพเราะเหมือนใครๆ แหละ  ว่าแล้วเขาก็ท่อง...

   ❄    บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
         สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
         เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
        ประคองพาขึ้นจนบนบรรพต  ฯลฯ

        เขาท่องอย่างถูกต้องคล่องแคล่วไปจนจบ  ผมปรบมือให้ และบอกเขาว่า  ที่พวกเราอ่านท่องได้ถูกต้องคล่องปาก  ก็เพราะมันเป็นบทกลอนที่คุณครูสั่งให้เราอ่านทำนองเสนาะท่องพร้อมกันบ่อยๆ แรกๆ ใครบางคนอ่านท่องผิด  ก็ปรับเข้ามาในทางที่ถูกต้องได้  พอผมหยิบเอากลอนพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ตอน "ท้าวมาลีวราชว่าความ"  มาให้เขาอ่านทันที  เขาก็อ่านชะงักๆ ตะกุกตะกักหลายแห่ง

        หนังสือยอดความเรียงเรื่อง "สามก๊ก"  ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)  ตอน  "โจโฉแตกทัพเรือ" ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้เรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๓ นั้น  ผมจำได้ว่า  คุณครูมุ่งเน้นให้นักเรียนจับตาติดตามบทบาทและสติปัญญา  เล่ห์กลของโจโฉ  จิวยี่ และขงเบ้ง  นักเรียนก็คอยอ่านจำว่าพวกเขาทำอะไรกันอย่างไร  เพื่อนำมาตอบข้อสอบวิชา  "อ่านเอาเรื่อง"  ซึ่งคะแนนสอบ ๔๐  ขณะที่ไวยากรณ์ไทย ๑๐ คะแนน




น่าเสียดายจริงๆ  ที่เราไม่ได้ฝากให้คุณครูท่านสอนการสะกดคำ  ผันเสียงตามวรรณยุกต์  เพราะเรื่อง "สามก๊ก"  มีชื่อบุคคล/ สถานที่ซึ่งกล่าวถึงในเรื่องเหมาะอย่างยิ่งที่จะให้นักเรียนได้ฝึกออกเสียงให้ถูกต้อง  ตัวอย่างชื่อบุคคล









ฝ่ายเล่าปี่           กวนอู  เตียวหุย  จูล่ง  ขงเบ้ง  จูกัดเหลียง   เล่าเปียว   เล่าจ๋อง   อาเต๊า

ฝ่ายซุนกวน       ซุนเกี๋ยน   ซุนเซ็ก   จิวยี่   โลซก   เทียเภา   ซิเซ่ง   เตงฮอง   ลิบอง
                           อองของ   ลกซุน   เตียวเจียว   ลกเจ๊ก   ฯลฯ
                           บังทอง   จูกัดกิ๋น   ซีซี

ฝ่ายโจโฉ           แฮหัวตุ้น   แฮหัวเอี๋ยน   ลิฉุย   กุยแก   เคาทู   เตียวเลี้ยว   เตียวคี 
                           เตียวคับ  ชัวต๋ง   ชัวมอ   เตียวอุ๋น

ชื่อสถานที่  เช่น   เมืองลกเอี๋ยง  คือ  เมืองหลวงที่พระเจ้าเหี้ยนเต้ เสด็จอยู่ (ชื่อปัจจุบัน ออกเสียงจีนกลางว่า "ลั่วหยาง")  โจโฉ เป็นสมุหนายก/ มหาเสนาบดีอยู่ที่นี่ด้วย

เมืองกังตั๋ง   เป็นที่ตั้งของแคว้นง่อ (อู๋) ของซุนกวน  อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแยงซี  ปัจจุบันเรารู้จักในชื่อ นครนานกิง(หนานจิง)  เมืองหลวงเก่าหลายสมัย  เมืองเกงกิ๋ว  กังแฮ  เซ็กเพ็ก  ฯลฯ

        ผมอ่านชื่อบุคคล และสถานที่ในเรื่อง "สามก๊ก"  ได้ถูกต้อง และไปอ่านหนังสือเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ  เป็นหนังสือขนาดพจนานุกรมไทย ๒ เล่ม  ความยาวกว่า ๒,๐๐๐ หน้า  ผมคงเป็นนักเรียนมัธยมต้นน้อยคนที่อ่านสามก๊กจบเรื่องได้อย่างสนุกและจำเรื่องได้จนบัดนี้  ผ่านมา ๖๐ ปีเศษ  เพราะอะไร  อ๋อ... ก็ผมเป็น "ลูกเจ๊ก" มาก่อนไงล่ะ

        การเลือก  "สามก๊ก"  ตอน  "โจโฉแตกทัพเรือ"  มาให้อ่าน/ เรียนนั้นดีมาก  เพราะเป็นสุดยอดหรือไคลแม็กซ์ของเรื่อง  บรรดา(ตัวละคร) คนสำคัญของทุกก๊กได้มาแสดงบทบาท และชิงไหวชิงพริบครบถ้วนทุกก๊ก

        น่าเสียดายที่ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ   เปลี่ยนไปเลือกตอนอื่นซึ่งมีคนแสดงบทสำคัญน้อยคน  เว้นแต่ "จูล่ง"  แสดงว่าท่านเลือกโดยไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นสาระ   นักเรียนไทยที่เคยเรียนเรื่อง "สามก๊ก"  เฉพาะ ๒ ตอนที่กระทรวงศึกษาธิการตัดตอนเอามาให้เรียน  ก็จะได้รับรู้ว่า "ขงเบ้ง"  เป็นคนฉลาดล้ำลึก  ผมเคยเขียนสารคดีวิเคราะห์การชิงไหวชิงพริบระหว่าง ๓ ฝ่าย  คือ  "โจโฉ"  "จิวยี่"  และ "ขงเบ้ง"  ชี้ให้เห็นว่าความเก่งกาจฉลาดของ "โจโฉ"  ประมาณว่า "ร้อยเล่ห์"  เพราะ  "จิวยี่"  เหนือกว่า คือ  "พันเหลี่ยม"  แต่ทั้งสองคนรวมกันก็ยังแพ้  "ขงเบ้ง"  ที่เปรียบปานคน  "แสนกล"

        ผมส่งไปให้วารสารรายปักษ์ชื่อ "หลักไทย" (เลิกกิจการตามเจ้าของที่วายชนม์**) เผอิญคุณ(พี่) 'รงค์ วงษ์สวรรค์  ได้อ่านและชอบใจ  ครั้นผมไปเยี่ยมที่บ้านบนดอยโป่งแยง อำเภอแม่ริม เชียงใหม่  คุณพี่ 'รงค์จับตัวผมไว้คุยซะ ๓ ชั่วโมง  เกือบตกเที่ยวบินแน่ะ  หลังจากนั้น ๓-๔ เดือน นักเขียนใหญ่ก็จากไปด้วยโรคไตวายเรื้อรัง    พี่ 'รงค์ ถามผมถึง "จูล่ง" ยอดขุนพล  ผมก็ยกนิ้วให้ว่าเป็นยอดทหารเสือ และแม่ทัพผู้คุ้มครอง "อาเต๊า"  ทายาทเล่าปี่ตั้งแต่เป็นเด็กแบเบาะ

       ดังวีรกรรมของ "จูล่ง"  ที่ทุ่งพกบ๋อง  ซึ่งนักเรียนไทยรุ่นลูกผมได้อ่าน/ เรียนแทน "สามก๊ก" ตอนโจโฉแตกทัพเรือ  ผมได้วิจารณ์ให้พี่ 'รงค์ฟังว่า  เปลี่ยนให้เลวลง  เพราะถ้าเปลี่ยนให้ได้อ่านเรียนให้ทัดเทียมกันในด้านคุณภาพสาระ  ก็ต้องเลือกเอาตอนเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ถูกกองทัพ "โจโฉ" ตีแตกกระจัดกระจายพลัดพรายไปกันคนละทิศละทางไม่รู้ใครเป็นตาย หรือไปอยู่ที่ไหน

        "กวนอู"  รับหน้าที่คุ้มครองครอบครัวของ "เล่าปี่"  พาตีฝ่าทหารข้าศึก  แต่เพราะความไม่คล่องตัวในการเคลื่อนไหว  ทั้งมีแค่กวนอูที่สู้รบได้จึงถูกรุมล้อม  "กวนอู"  พาพี่สะใภ้ทั้งสองถอยขึ้นไปตั้งหลักอยู่บนเนินเขา  "โจโฉ"  เคยเห็นฝีมือการรบของ "กวนอู"  เมื่อหลายปีก่อน  ยกย่องและอยากได้ตัวมาเป็นทหารเอกของตน  จึงให้ทหารเอกอีกคนหนึ่งชื่อ  "เตียวเลี้ยว"  ซึ่งนับถือกวนอูขึ้นเขาไปเกลี้ยกล่อม  "กวนอู" ยื่นเงื่อนไข ๓ ประการ คือ (๑)  การมาอยู่กับ "โจโฉ" ให้ถือว่าตนเป็นทหารของพระเจ้าเหี้ยนเต้  ไม่ใช่ทหารของ "โจโฉ"   (๒)  ต้องให้เกียรติ และจัดบ้านพักเป็นเอกเทศให้แก่พี่สะใภ้ (ภรรยาทั้ง ๒ ของเล่าปี่)  พร้อมข้าวของเครื่องใช้ให้สมฐานะ   (๓)  เมื่อใดที่ "กวนอู" รู้ว่าพี่ร่วมสาบาน คือ "เล่าปี่" ยังมีชีวิตอยู่ ณ ที่ใด  เขาจะไปหาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต "โจโฉ"

        "โจโฉ"  ฟังเงื่อนไขของ "กวนอู" แล้วโมโห  ด่าว่านี่มันชนะเรารึไง  จึงเรียกร้องอหังการปานนี้  แต่ "เตียวเลี้ยว" ปลอบใจว่า  "กวนอู"  เป็นคนซื่อตรงกตัญญู   ถ้า "โจโฉ" เลี้ยงดูดี ผูกใจไว้เรื่อยๆ  ถ้า "เล่าปี่" ตาย  เขาก็จะสวามิภักดิ์ต่อ "โจโฉ" แน่นอน

        "โจโฉ"  เป็นคน "ร้อยเล่ห์"  จัดบ้านพักให้ภรรยาของเล่าปี่อยู่ก็จริง  แต่มีห้องเดียว  หวังให้  "กวนอู" หนุ่มนอนกับพี่สะใภ้สาว  ถ้าล่วงเกินกัน  "กวนอู" ก็ต้องผิดใจกับ "เล่าปี่"  ที่ไหนจะกลับไปหากันได้เล่า   แต่  "กวนอู"  ดูแลด้วยความเคารพต่อ "เล่าปี่" และพี่สะใภ้  แม้ไม่มีห้องนอน  ก็ออกมานั่งเก้าอี้เฝ้าอารักขาอยู่หน้าเรือน  มือหนึ่งถือหนังสืออ่าน  อีกมือลูบเครายาวดำ  ทุกคืนจะดึงเคราเส้นหนึ่งใส่ลงถุงแพร  เก็บไว้เป็นที่ระลึกนับจำนวนวันซึ่งจากกับ "เล่าปี่"  พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงเรียกเขาว่า "นักรบเครางาม"

        "โจโฉ" หาโอกาสมอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ให้กวนอูเนืองๆ  เขาไม่แสดงความยินดีอะไร  แต่พอโจโฉมอบม้าชื่อ "เซ็กเทา" ซึ่งเคยเป็นยอดอาชาคู่ใจของยอดฝีมือ "ลิโป้"  หลังนายตายม้าตัวนี้อยู่กับโจโฉ  แต่ไม่มีใครขี่มันได้   เมื่อกวนอูได้ม้า "เซ็กเทา"  เขาดีใจแสดงคารวะขอบคุณโจโฉหลายหน  และขี่ม้าไปลองวิ่งได้สมใจ  โจโฉรู้สึกแปลกใจ  ถามว่า  เราเคยให้ข้าวของเงินทองกี่ครั้งๆ ท่านเฉยๆ  ทำไมแค่ม้าตัวเดียว  ท่านไฉนดีใจปานนี้เล่า

        "กวนอู" ชี้แจงว่า  ม้า "เซ็กเทา"  นี้มีคุณสมบัติเป็นยอดอาชา  สามารถเดินทางไกลได้วันละร้อยลี้  ถ้าเราได้ข่าวว่าพี่เล่าปี่อยู่ ณ ที่ใด  เราก็จะไปหาได้เร็วยิ่งขึ้น   คิดถึงหัวอกโจโฉ  ฟังคำตอบเช่นนี้จะรู้สึกยังไง  แต่... โจโฉก็ปลงใจว่า "กวนอู" เป็นคนซื่อตรงจงรักภักดีปานนี้  ถ้าพ้นจาก "เล่าปี่" ตนก็ผูกน้ำใจได้แน่  ต่อมา "โจโฉ" ทำสงครามใหญ่กับ "อ้วนเสี้ยว"  ซึ่งมีกำลังพลมากกว่า "โจโฉ" อีก  ทั้งมีทหารเอก ๒ คน  ชื่อ "งันเหลียง"  กับ  "บุนทิว"  ออกมาท้าสู้กัน  ทหารเอกของโจโฉออกไปก็ถูกฆ่าตายหมด  จนหัวหดตามๆ กัน  เมื่อ "กวนอู" อาสา  ก็สามารถฆ่าทหารเอกทั้งสองได้ง่ายดาย

        "เล่าปี่"  ซึ่งหนีไปอาศัยอยู่กับ "อ้วนเสี้ยว"  จึงถูกเล่นงาน  แต่ใช้ไหวพริบชี้แจงว่าตัวเองกับ "กวนอู" พลัดกันไปตอนรบกับ "โจโฉ"  จึงไม่รู้ว่า "กวนอู"  ถูกโจโฉจับไป และบังคับให้ออกรบ  ดังนั้นตนจึงขอไปพาตัว "กวนอู"  มาอยู่กับ "อ้วนเสี้ยว"  เชื่อแนว่า "กวนอู" ต้องมา และช่วยให้รบชนะ "โจโฉ" ได้

        "เล่าปี่"  จึงส่งข่าวถึง  "กวนอู"  และนัดพบกันที่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง

        "กวนอู"  เตรียมการเสร็จ  ก็นำทรัพย์สินไปคืนให้ "โจโฉ"  แล้วออกเดินทาง  ซึ่งต้องผ่านด่าน/ เมือง ๕ แห่ง    นายด่านได้พยายามจับ  แต่กลับถูก "กวนอู" ฆ่าตายและฝ่าด่านมาถึงด่านสำคัญที่ริมแม่น้ำ  ถ้าข้ามไปได้ก็จะพบ "เล่าปี่" ที่รออยู่ตามนัด

        ก่อนมาถึงด่านสุดท้าย  มีนายด่านคนหนึ่งซึ่งรู้ดีว่า  ถ้าสู้รบกันตรงๆ ไม่มีทางสู้ได้  จึงทำอุบายต้อนรับอย่างดี  จัดที่อยู่ให้เป็นเอกเทศสบายๆ  แต่กลับสั่งคนให้ลอบวางเพลิงเผาทั้งหมด  เผอิญ "กวนอู" เป็นผู้มีวินัยดีมาก  จึงนั่งเก้าอี้ตัวใหญ่อ่านหนังสือ(ชุนชิว) เฝ้าอารักขาอยู่หน้าห้องนอนของภรรยา "เล่าปี่"  ตกดึก  คณะ "มือเพลิง"  สุมเชื้อเพลิงพร้อมแล้ว  หัวหน้าผู้จะจุดวางเพลิงรำพึงว่าตนเคยได้ยินข่าวเล่าลือความเก่งกาจของ "กวนอู"  ขอดูรูปโฉมสักครั้งก่อนครอกไฟเถิด  จึงแอบเข้าไปดูใกล้ขึ้น  จนเห็นรูปร่างเต็มตา  ก็เผลออุทานเบาๆ ว่า  "โอหนอ  กวนอูรูปร่างท่าทางสง่างามปานเทพยดาดังนี้  ควรหรือเราจะเผาเสีย..."  เสียงถึงหู  "กวนอู" จับได้  และพูดกันด้วยความเข้าใจและเห็นใจกัน  โดยคณะมือเพลิงก็คงทำหน้าที่ต่อไป  แต่หลังจากคณะของ "กวนอู" เดินทางไปไกลหลายสิบลี้แล้ว

        ด่านสุดท้ายเป็นยอดนักรบคนหนึ่งชื่อ  "แฮหัวตุ้น"  มีน้องชายชื่อ "แฮหัวเอี๋ยน"  เป็นนายทหารคนสนิทของโจโฉ  เพราะแซ่ดั้งเดิมของโจโฉ คือ "แซ่แฮหัว"  แต่  "แฮหัวตุ้น"  ไม่ได้อาศัยความเป็นญาติเท่านั้น  เขามีฝีมือเก่งกาจมาแต่ยังหนุ่ม  แต่เคราะห์ร้ายเสียตาไปข้างหนึ่งจากสนามรบ  ขนาดเป็น "ขุนพลตาเดียว"  แท้ๆ  ยังรบตัวต่อตัวกับ "กวนอู"  นานถึงร้อยเพลง  ยังไม่แพ้ชนะ  จนโจโฉตามมาห้ามรบ และยอมปล่อย "กวนอู" กับคณะไปพบ "เล่าปี่"  ซึ่งก็มีจริยธรรมไม่ไปช่วยฝ่าย "อ้วนเสี้ยว" เป็นศัตรูของฝ่าย "โจโฉ" โดยพาผู้คนครอบครัวแยกไปแสวงหาที่อยู่ทางภูมิภาคลุ่มน้ำอื่น

        "สามก๊ก"  ตอนนี้นักศึกษาเรื่องจีนๆ ถือว่ามีคุณค่า และสนุกสนานตื่นเต้นรองจากตอน "โจโฉแตกทัพเรือ"  และเป็นตอนก่อนถึงเหตุการณ์ที่ "จูล่ง" ฝ่าทัพ "โจโฉ" เพื่อตามหา "อาเต๊า"  ที่กระทรวงศึกษาธิการนำมาให้เรียนแทนตอน "โจโฉแตกทัพเรือ"

        ปราชญ์จีนโบราณ จึงสร้างรูปเคารพไว้ใน "ศาลเจ้ากวนอู"  เป็น ๒ แบบ/ ปาง คือ  "ปางบู๊"" เป็นรูปนักรบ มือขวาถือง้าวในท่ายืนเตรียมฟัน

        อีกปางหนึ่งเป็น "ปางบุ๋น"  เอาเหตุการณ์ และท่าทางที่ "กวนอู" นั่งเก้าอี้มือซ้ายจับหนังสืออ่าน มือขวาลูบจับเครา  ศาลเจ้ากวนอู  และหิ้งบูชากวนอูประจำบ้าน/ ร้านค้า  หรือภัตตาคาร  ที่คนจีนเป็นเจ้าของ จะตั้งรูปปั้น "ปางบุ๋น"  เพราะคนจีนส่วนใหญ่มุ่งด้านเศรษฐกิจการค้า

        แต่คนไทยส่วนใหญ่ชอบ "กวนอู"  ที่รบเก่ง  จึงนิยมบูชากวนอู "ปางบู๊"  มิน่าล่ะ  ถึงได้เกิดการ "พะบู๊"  ต่อยตีกันทั่วไปในหมู่วัยรุ่นไทย  บางแห่งต่อยตีกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่โน่นแน่ะ   ผมเคยไปเมืองจีน ๓๐ กว่าครั้ง  ยังไม่เคยเห็นคนจีนต่อยตีกันเลย  บางครั้งเห็นทะเลาะเถียงกันเอาเป็นเอาตาย  กรากเข้าหากันหลายหน  เปล่า...แม้แต่ผลักอกยังไม่กล้าทำ  กฏหมายของเขาใครลงมือก่อน  ผิดไว้ก่อน  เฮ้อ...ใครจะกล้าล่ะ

        ถ้าเราได้อ่านทราบถึงความสัมพันธ์แต่หนหลังระหว่าง "โจโฉ" กับ "กวนอู"  เราก็ย่อมเข้าใจได้ว่า  เหตุใด "ขงเบ้ง" จึงส่ง "กวนอู" ไปดักตี "โจโฉ" ที่ตำบลสุดท้ายก่อนหนี้เข้าเขตแดนตนเองได้  เพราะ "ขงเบ้ง" เจตนาไว้ชีวิต "โจโฉ"  เพื่อเอาไว้ "ถ่วงดุลอำนาจ" กับ "ซุนกวนจิวยี่" จึงส่ง "กวนอู" ไปดักตี  เพราะถ้าเจตนาจะฆ่า "โจโฉ"  ก็เล่นไม่ยากหาก "ขงเบ้ง" จะส่ง "จูล่ง" หรือ "เตียวหุย" ไปแทน  เพราะขณะ "กวนอู" เห็นสภาพของ "โจโฉ" ที่ซมซานหนีตายมาพร้อมทหารเดนตาย ๒๘ คน  "กวนอู" สลดใจสงสาร  ไม่อาจเข่นฆ่าผู้เคยมีบุญคุณได้

        แม้  "กวนอู"  ไม่ได้ศีรษะ  "โจโฉ"  มา  แต่เขาก็พร้อมมอบศีรษะตนเองทดแทน  เพียงแต่ "ขงเบ้ง" ผู้บัญชาการทัพยกโทษให้  โดยกล่าวอย่างรักษาหน้า "กวนอู" ว่า  ตนเองดูดวงดาวบนฟ้าแล้ว "โจโฉ" ยังไม่ถึงที่ตาย

       เมื่อไหร่กระทรวงศึกษาธิการ จะนำวรรณคดีเชิงประวัติศาสตร์มาเรียน  โปรดให้คนเขียน "นำเรื่อง/ ย่อเรื่อง" ให้นักเรียนอ่าน สนุก เข้าใจ นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ด้วยเถิด