Tuesday, July 25, 2017

พระนามาภิไธยพญามังราย

                พระนามาภิไธยของพญามังรายมหาราชยังมีปัญหา  เพราะนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นเก่าออกพระนามท่านว่า "พระเจ้าเม็งราย"  ทั้งๆ ที่จารึกโบราณ และตำนานซึ่งชาวล้านนา  ล้านช้าง สิบสองปันนา ได้เขียนไว้แต่โบราณ  ล้วนออกพระนามว่า "มังราย" ทั้งสิ้น

พญามังราย


                ผมเคยเรียนถามศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  อดีตนายกราชบัณฑิตสภาผู้เชี่ยวชาญการอ่านอักขระโบราณ  ท่านมีเมตตายืนยันว่า  "ไม่เคยพบในจารึกใดที่ออกพระนามเป็นอย่างอื่นนอกจาก "มังราย"   ท่านขยายความว่า  ในยุคฝรั่งล่าอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน  มักใช้เหตุผลแบบ "หมาป่ากับลูกแกะ"  ถ้าเราเขียนว่าผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนาคือ "พญามังราย"  อาจเป็นเหตุให้อังกฤษอ้างเอาได้ว่า  พระนามมังรายนี้ เป็นชนชั้นสูงเชื้อสายพม่า  ดังเราพบชื่อ "มัง" อยู่ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพม่า  เช่น  พระเจ้ามังระ  ที่ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี ๒๓๑๐ โดยแม่ทัพคนหนึ่งชื่อ มังมหานรธา  และกษัตริย์พม่าที่มีชื่อโด่งดังพระองค์หนึ่งในครั้งโบราณ  ก็มีพระนามว่า "พระเจ้าอโนรธามังช่อ"  จึงจำเป็นต้องป้องกันไว้โดยใช้พระนาม "เม็งราย"  ปลอดภัยไว้ทางหนึ่งก่อน  แต่เมื่อพ้นภาวะดังกริ่งเกรงแล้ว  เราจึงออกพระนามให้ถูกตรงตามเอกสารล้านนาคือ "พญามังราย"

พระเจ้าอโนรธามังช่อ


                 เว้นแต่ชื่ออำเภอ  ชื่อค่ายทหาร  ชื่ออนุสาวรีย์  ฯลฯ  ส่วนใหญ่อยู่ที่เชียงรายยังเป็น "เมงราย/เม็งราย" อยู่  ในวาระสำคัญครั้งนี้  สมควรเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้องทุกแห่งดีหรือไม่?   ถ้าท่านผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าดี  ก็ชวนกันเขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอนายอำเภอ  ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ซึ่งมีชื่อ "เมงราย/เม็งราย"  ให้พิจารณาเสนอขึ้นไป  จะถึงใครก็ช่างเถิด  ขอเพียงให้เปลี่ยนจากชื่อผิดๆ กลับมาเป็น "พญามังราย" ที่ถูกต้องเสียที  และถ้าไหนๆ จะคิดเปลี่ยนทั้งที  ก็ควรส่งผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าเชื่อถือไปเข้าเฝ้า  เจ้านายในราชวงศ์เชียงรุ่ง  ที่แคว้นสิบสองปันนา  เพื่อตรวจสอบว่าพระนามาภิไธยที่แท้จริงของพญามังราย  ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าตา  นั้นคือ "มังคลนารายณ์" ดังที่ผมได้ยินกับหูตนเองจากโอษฐ์พระราชวงศ์ทั้งสามแห่งนครเชียงรุ่ง  จริงหรือไม่?  ถ้าจริง  ก็ควรคิดเปลี่ยนให้ถูกต้องสมบูรณ์ทีเดียวเลย

                อนึ่ง  เมื่อใดสามารถเปลี่ยนพระนามเป็น "มังคลนารายณ์" แล้ว  โปรดสอนประชาชนให้รู้ทั่วกันว่าอ่าน/ออกพระนามอย่างไรถูก

                พระเจ้านครเชียงรุ่งที่ทรงตั้งชื่อนี้  ทรงพระปรีชาทางภาษาไทยมากทีเดียวจึงทรงใช้ "มังคล" อ่านว่า "มัง-คะ-ละ"  ซึ่งเสียงเพราะ และกลมกลืนกว่ารูปศัพท์ "มงคล" อ่านอย่างถูกต้องหลักการของคำสมาสว่า "มง-คะ-ละ"  เมื่อเขียน/อ่านเต็มรูปก็คือ "มัง-คะ-ละ-นา-รายณ์"

                พระเจ้าแผ่นดินแห่งราชวงศ์มังรายทรงปกครองอาณาจักรล้านนาอยู่หลายร้อยปี  ยังมีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง  ทรงพระนามว่า  "พระเจ้าติโลกราช" หรือ "มหาราชท้าวลก"  ตามที่พระจักรพรรดิจีนทรงมีพระราชสาส์นมาถึง  และมีบันทึกเรื่องราวอยู่ในจดหมายเหตุของจีน  พระเจ้า หรือพญาติโลกราช ทรงมีผลงานทั้ง "ด้านบู๊และบุ๋น" ที่ทัดเทียม หรือยิ่งกว่าพญามังราย ต้นราชวงศ์ กล่าวคือ
พระเจ้าติโลกราช


                ด้านบู๊ : ทรงทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา  ในยุคของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนานหลายปี  จนที่สุดกรุงศรีอยุธยาต้องขอหย่าศึก

                นักประวัติศาสตร์ไทยสมัยที่ยังยึดมั่นเอา "กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง"  ก็สรุปว่า  พระเจ้าติโลกราชทรงพ่ายแพ้  แม้ในวรรณคดีที่กวีล้านนา  แต่งเป็นโคลงสี่  กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยพระเจ้าติโลกราชก็ตั้งชื่อให้ว่า  "ลิลิตยวนพ่าย" คือ (ล้านนา หรือนครเชียงใหม่แพ้)   ผมอ่านพงศาวดารทุกฉบับในเรื่องราวสงครามครั้งนี้  ผมเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาต่างหากที่แพ้นครเชียงใหม่  แต่ผมไม่กล้าเขียนเผยแพร่  เพราะผมเป็นลูกหลานชาวล้านนา  ผู้อ่านที่ไม่เห็นด้วยอาจจะด่าว่าผมเป็นโรค "ถิ่นนิยม" ขึ้นสมอง  ผมจึงลองเรียนถามท่านผู้ใหญ่ที่เคารพมากที่สุดในทางวิชาไทยคดีศึกษา

                 ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร  เมตตาให้ความเห็นว่า  ก่อนสงครามแต่ละฝ่ายมีอาณาเขตเท่าไหร่?  เสร็จสงครามแล้วใครได้-ใครเสีย เป็นหลักการพิจารณา  อ๋อ...ตอนเจรจายุติสงครามนั้น  "เมืองเชียงชื่น" ของกรุงศรีอยุธยา  ตกอยู่ในอำนาจล้านนาหมดปัญญารบเอาคืน  จึงนิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ๔ รูป  จาริกไปขอบิณฑบาตเมืองเชียงชื่นคืนจากล้านนา

                 แรกๆ พระเจ้าติโลกราช(แกล้ง) ไล่  พระรับสั่งว่า "มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกย์ทำไม เพราะมิใช่กิจของสงฆ์ นิมนต์กลับเถิด"  ผมคาดว่า  พระเจ้าเชียงใหม่ที่ทรง "ถือไพ่เหนือกว่า" ต้องการแลกเปลี่ยนดังปรากฏต่อมาคือ  ทรงถวายคืนเมืองเชียงชื่น  แต่แลกกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสละราชสมบัติ  เสด็จมาทรงผนวชตลอดพระชนม์ชีพ  ที่วัดจุฬามณี  ซึ่งทรงสร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลก

                 เดชานุภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าการรบชนะกรุงศรีอยุธยา  แต่ไม่มีจารึกไว้ในพงศาวดาร หรือตำนานล้านนา  กลับปรากฎอยู่ในพงศาวดารหลวงพระบาง และบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุของจีน  เหตุการณ์นั้น คือ

                 จักรพรรดิ เลถั่นตง  ทรงเป็นวีรบุรุษกู้ชาติจากการยึดครองของกองทัพจีน  โดยนำชาวเวียดนามขับไล่ทหารและขุนนางจีนที่มาปกครอง  แตกหนีกลับเมืองจีน  แม้ต่อมาจีนยุคต้นราชวงศ์หมิงจัดกองทัพมาตีอีกหลายครั้งก็พ่ายแพ้แก่กองทหารกล้าของ "เลถั่นตง" ซึ่งในตำนานกล่าวว่าได้รับดาบวิเศษจากเทพยดา  ให้พญาเต่าในทะเลสาบที่กรุงฮานอยนำดาบมอบให้ปราบทหารจีนราบคาบ  ที่สูดฝ่ายจีนต้องยอมให้เวียดนามประกาศอิสรภาพ  โดยมีจักรพรรดิเลถั่นตงสถาปนาอาณาจักรเวียดนามขึ้น  โดยมีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวง  แม้ทางฝ่ายจีนจะได้รับเครื่องราชบรรณาการจากเวียดนาม ๓ ปีต่อครั้ง  แต่ต้องสรุปว่าจีนแพ้  เพราะการถวาย "จิ้มก้อง" ทำนองนี้

                  ราชสำนักสยามก็ปฏิบัติต่อจีนเหมือนกัน  ซึ่งเราก็ไม่ได้เป็นประเทศราช หรือเมืองขึ้นของอาณาจักรจีนแต่อย่างไร  ดังนั้น  พงศาวดารเวียดนามจึงบันทึกเรื่องราวแห่งชัยชนะ และเทิดทูนจักรพรรดิเลถั่นตง  เป็นปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรเวียดนาม  สร้างอนุสรณ์สถานไว้กลางกรุงฮานอย  ที่เรียกกันว่า "สระคืนดาบ"  ที่สำคัญคือ  เรื่องราวของพระองค์นี้  รัฐบาลเขียนด้วยถ้อยคำง่ายๆ มีภาพประกอบ  ใช้เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กประถมต้นให้ซึมซับเรียนรู้รากเหง้าของชาติ  ทั้งๆ ที่เวียดนามเลิกระบอบกษัตริย์ไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ  ปัจจุบันยังปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย   แต่เวียดนามไม่บันทึกความพ่ายแพ้ของจักรพรรดิเลถั่นตงที่ถูกกองทัพของพระเจ้าติโลกราชฯ ตีแตกพ่ายยับเยิน  เหตุการณ์ครั้งนั้นบันทึกในพงศาวดารหลวงพระบาง และในจดหมายเหตุของจีน  สรุปได้คือ

                  หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว  จักรพรรดิเลถั่นตงทรงขยายอำนาจโดยยกทัพมายึดครองนครหลวงพระบาง  ขณะนั้นพระเจ้าติโลกราชก็ขยายอำนาจมาถึงเมืองน่านแล้ว หลวงพระบางมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์น่าน  จึงขอความช่วยเหลือจากพญาติโลกราชโดยผ่านทางนครน่าน  แต่กว่ากองทัพเชียงใหม่จะยกไปถึง  หลวงพระบางก็ถูกยึดไว้แล้ว  ดังนั้นเจ้าหมื่นด้งนคร เจ้านครลำปางซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ของพระเจ้าติโลกราช  จึงดักซุ่มรอและเข้าโจมตีช่วงที่กองทัพเวียดนามถอนตัวกลับ โดยไม่ระวังตัวจึงถูกตีแตกยับเยิน  แม้จักรพรรดิเลถั่นตงเสด็จกลับกรุงฮานอยได้  แต่จดหมายเหตุจีนกล่าวว่าทรงตรอมพระทัย และสวรรคตใน ๒-๓ ปีต่อมา

                   ด้วยเหตุที่กองทัพจีนเคยรบแพ้  แต่กองทัพเชียงใหม่กลับรบชนะผู้ที่จีนเคยแพ้  จักรพรรดิ์กรุงจีนจึงทรงยกย่อง  โดยส่งคณะราชทูตนำเครื่องอวยยศมาถวายแด่ "มหาราชท้าวลก"  เจ้านครเชียงใหม่

                   ด้านบุ๋น :  เมื่อยุคพญามังรายมหาราชทรงกำหนดบทบัญญัติต่างๆ ในการบริหารปกครองที่เรียกกันว่า "มังรายศาสตร์"  ใช้เป็นแบบธรรมเนียมในการปฏิบัติของชาวล้านนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ยังมีร่องรอยอยู่ในชุมชมหมู่บ้านในชนบทของล้านนา

                   ส่วนในยุคพญาติโลกราชนั้น  ทรงทุ่มทรัพยากรไปสร้างวัดมหาโพธาราม  ที่เรียกกันปัจจุบันว่า "วัดเจ็ดยอด"  เพราะเรียกตามลักษณะและพระเจดีย์ ๗ องค์ ที่สร้างอยุ่บนยอดอาคารสูงใหญ่ในวัด  แล้วทรงอาราธนาพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎกมาจากเมือง และแคว้นต่างๆ ที่มีศาสนาพุทธประจำชาติมาร่วมกันกระทำสังคายนาพระไตรปิฎก  และจารึกลงใบลานแจกจ่ายไปยังแคว้นและเมืองใหญ่สำคัญต่างๆ  น่าเสียดายที่ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นศัตรูคู่ศึกกัน  จึงไม่ยอมรับนับถือการชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้  นับเป็นภยาคติอย่างน่าเสียดาย   เมื่อพระมหาเถระผู้รอบรู้พระไตรปิฎก และภาษาบาลีร่วมกันทำงานที่วัดมหาโพธารามนานเดือน  จึงเกิดความงอกงามทางสติปัญญา และภาษาบาลีแตกฉาน  จึงสร้างผลงานยอดเยี่ยมทางศาสนวรรณคดีเป็น ชาดก ๕๐ เรื่อง ที่เรารู้จักกันในนาม "ปัญญาสชาดก"

                   ท่านอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เศรษฐีเชียงใหม่  แต่เชี่ยวชาญล้านนาคดี  เล่าให้ผมฟังว่าผู้รู้ในเมืองพม่า และไทยใหญ่ต่างเคยอ่าน และเรียกว่า "จิงเหม่ยปัญญาสะ"   ความงอกงามแห่งสติปัญญา  เพราะพระเจ้าติโลกราช  ทรงจุดประกายขึ้นได้สร้างผลงานต่อเนื่องมาเป็นวรรณกรรมสำคัญอีก ๒ เรื่อง คือ  (๑)  ชินกาลมาลีปกรณ์    (๒)  จามเทวีวงศ์

                   ในโอกาสจะครบ ๖๐รอบปีนกษัตรของการสถาปนานครเชียงใหม่  ควรที่เราจะถวาย "ความเป็นธรรม"  แด่พญาติโลกราชให้มากกว่าที่เคยเรียกชื่อ  หอประชุมที่บริเวณศาลากลางหลังเก่าว่า "หอประชุมติโลกราช"  ซึ่งคนลืมเลือนไปแล้ว

                    ผมจึงขออนุญาตเสนอ ๒ ประการ คือ

                   (๑)  ขอรับพระราชทานชื่อถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง  เป็นชื่อ "ถนนติโลกราช" หรือจะเป็นชื่อ "ถนนมหาราช ท้าวลก"  ตามจักรพรรดิจีนทรงเรียก  ก็เก๋อีกแบบหนึ่ง  เพราะมัคคุเทศก์ก็พาชาวจีนไปชมวัด และถนนอันมีชื่อเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ไทย-จีน กว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว

                   (๒)  ขอพระราชทานให้ขนานนามวัด "เจ็ดยอด/เจดีย์เจ็ดยอด"  ให้กลับไปใช้มงคลนาม คือ "มหาโพธาราม" ตามเดิม  จะอ้างเหตุผลสมควรใดๆ ก็เป็นความจริง  หาเอกสารหลักฐานประกอบได้เพียบเลย

                   การดำเนินงานทั้ง ๒ เรื่อง  เพื่อถวาย "ความเป็นธรรม" แด่พระเจ้าติโลกราชนี้  แทบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร  แต่ต้องใช้ "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" และความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติแก่แผ่นดิน  ไม่ว่าจะเป็นใคร  อยู่ที่ไหน  สมัยใดก็ตาม



(โดย ศุภกิจ นิมมานนรเทพ  ชาวนครลำปาง)