Wednesday, July 26, 2017

ตอน เอกภาพของภาษาไทย

ความ(ไม่)รู้เรื่องภาษาไทย  ตอน  :  เอกภาพของภาษาไทย


        ประเทศจีน  หนึ่งในสามอภิมหาอำนาจของโลกในปัจจุบันนี้  ในอดีตเคยถูกต่างชาติเข้ายึดปกครอง ๒ ยุค  ครั้งแรกโดยชนชาติมองโกลนานเกือบร้อยปี  ครั้งหลังโดยชนชาติแมนจูนานเกือบ ๓๐๐ ปี   แต่ถึงขนาดนี้  จีน "ฮั่น" ก็ยังรักษาภาษาและวัฒนธรรมหลักของประเทศไว้โดยใช้ "ภาษาเขียน" ที่เป็นเอกภาพ  โดยที่ภาษาปาก หรือภาษาพูดของคนจีนในถิ่นต่างๆ อาจมีภาษาต่างกับสำเนียงภาษาราชการ (*เคยเรียกว่า "จีนกลาง"*)  ดังนั้นชาวจีนแคะ  จีนฮกเกี้ยน  จีนกวางตุ้ง  จีนแต้จิ๋ว และจีนไหหลำ  ฯลฯ   จะพูดหรือออกเสียงอ่านหนังสือต่างสำเนียงซึ่งกันและกัน  ทั้งยังต่างจากสำเนียงจีนกลางด้วย

        แต่พอนำคำ หรือข้อความนั้นมาเขียนเป็นตัวหนังสือ  ก็เข้าใจตรงกัน  เพราะมันคือ  คำเดียวกัน แต่ออกเสียงใน "ภาษาถิ่น" ต่างกันไป

        ผมเป็นลูกจีน ๒๕%  แม้ไม่ได้เรียนภาษาจีน  แต่ก็พอฟังสำเนียงแต้จิ๋วได้หน่อย  เผอิญเตี่ยผมเคยไปอยู่ และเรียนจบมัธยมที่อำเภอเถ่งไฮ้ เมืองซัวเถา  จึงนำแบบธรรมเนียมการตั้งชื่อตาม "ป้วยสู" มาตั้งชื่อให้ผมและน้องๆ เคยหัดให้ผมเขียนชื่อจีนอ่านแบบไทยว่า "เส่งเกีย(แซ่)ลิ้ม"  อ่านแบบจีนว่า "หลิ่มเส่งเกีย"

        เมษายน ๒๕๒๕  ผมเดินทางไปกับคณะของสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณ(พี่)ปรีชา พบสุข  นายกสมาคมฯ เป็นหัวหน้าคณะ  ผมเป็นที่ปรึกษา  ไปเยือนจีนโดยเป็นแขกของสมาคมนักหนังสือพิมพ์จีน

        เมื่อคณะของเราถึงกรุงปักกิ่ง และเข้าที่พักแล้ว  ผู้แทนสมาคมฯ  เจ้าภาพคือ คุณเฉิน อี้ชุน  แห่งสำนักข่าวซินหัว  กับล่ามชื่อ คุณเถียน อี้หยุน  แห่งสถานีวิทยุเสียงปักกิ่ง ภาคภาษาไทยก็มาบอกแก่คณะของเราว่า  พวกเขาจะอยู่ดูแลพวกเราตลอดการเดินทาง  ดังนั้นอันดับแรกจึงขอทราบว่า  ชื่อ/ นามสกุลของทุกคนอ่านออกเสียงอย่างไร  จึงจะถูกตามเจ้าของต้องการ  ผมนึกชมความละเอียดรอบคอบของผู้ทำหน้าที่ล่าม  เพราะอย่างน้อยคุณเถียน อี้หยุน ก็เรียนจบปริญญาตรี (เอกภาษาไทย) ส่วนคุณเฉิน อี้ชุน เป็นลูกจีนเกิดและเรียนในเมืองไทยจนจบมัธยม แล้วเข้าไปอาสาพัฒนาชาติตามประกาศชวนของรัฐบาลจีนเมื่อหลังปฏิวัติไม่กี่ปี

        พวกเขาย่อมรู้ดีว่า  ชื่อ-นามสกุลของคนไทย  อ่านออกเสียงได้หลายอย่างทั้งๆ ที่เขียนเหมือนกัน พออ่านต่างกัน  ความหมายอาจจะยังเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปก็ได้

        คุณเถียน อี้หยุน  จะถามเรียงตัว และถ่ายเสียงเป็นอักษรจีน  จดยิกๆ ลงสมุดบันทึกประจำตัว พอผมบอกชื่อ-สกุล  เขาทวนเสียงและจดอักษรจีนทีละคำๆ ยาวเฟื้อย  ผมให้เขาลองอ่านให้ผมฟัง... โหฟังแล้วมึนยังกะไม่ใช่ชื่อผม  ผมจึงหารือหัวหน้าคณะของเราว่า  ผมบอกชื่อจีนของผมแทนได้ไหม  ตกลงผมจึงบอกชื่อจีนสำเนียงแต้จิ๋วให้คุณเถียน อี้หยุนฟัง  แต่เขาเป็นคนมณฑลหยุนหนาน  ไม่ชินกับเสียงแต้จิ๋ว  คุณเฉิน อี้ชุน จึงช่วยเขียนอักษรจีนให้ดู  ทำให้เถียน อี้หยุน ร้องอ๋อ(เห่าๆ) ว่า "หลิน เฉิงเจี่ย" ผมก็เพิ่งทราบว่าชื่อผมออกเสียงจีนกลางว่า "หลินเฉิงเจี่ย"  เขียนเหมือนกันเปี๊ยบกับคำว่า "หลิ่มเส่งเกีย" ตามสำเนียงจีนแต้จิ๋ว

        ยุคนั้น ประเทศจีนยังด้อยพัฒนากว่าเมืองไทย  รถเก๋งในกรุงปักกิ่งนานๆ จะมีให้เห็นสักคัน  การคมนาคมล้าสมัยไม่สะดวก  จึงมีแขกเมืองไปเยือนจีนน้อยคณะ  ทำให้คณะของเราได้รับเกียรติให้เข้าเยี่ยมคำนับรองประธานสภาประชาชนจีน ณ ศาลามหาประชาชนจีน จัตุรัสเทียนอันเหมิน

        ขณะเดินทางกลับ  ผมถามคุณเฉิน อี้ชุน ว่าท่านรองประธานสภาฯ ชื่ออะไร  เพราะในพิธีกล่าวถึงแต่ตำแหน่ง  ได้รับคำตอบว่า ชื่อ "อาเพ่ย อาวังจิ่งเม่ย" เขียนด้วยตัวอักษรจีนยาวเหยียด  ผมปรารภว่าชื่อแบบนี้ไม่ใช่ชนชาติฮั่น(จีน) กระมัง  ผมเห็นท่านรูปร่างสูงใหญ่  รูปเค้าหน้าเป็นคนต่างสายเลือดกับจีน  อ๋อ...เป็นชาวทิเบต  ผมจึงเสนอว่า  ถ้าเขียนชื่อท่านรองประธานฯ เป็นอักษรภาษาไทย น่าจะเป็น "อภัย อวจินตมัย"

        คุณเฉินหัวเราะ  ยกมือแสดงคารวะและร้องว่าใช่  ทำไมรู้ล่ะ  ผมบอกว่า ชาวทิเบตนับถือพุทธมหายาน  ชื่อคนและสถานที่สำคัญๆ จะตั้งตามคติพุทธ เช่น วังเก่าที่เมืองหลวงของทิเบต  ภาษาจีนที่เขียนและอ่านออกเสียงคือ "โปต่าลา"  นักท่องเที่ยวก็เรียกตาม  เผอิญคณะของเราไม่มีรายการขึ้นไปทิเบต  ไม่เช่นนั้นผมจะลองเขียนเสนอให้คุณเฉิน อี้ชุน ดูว่าน่าจะเป็น "โพธิธารา" ใช่ไหม?
Potala โพธิธารา
Cr. from website

        คุณเถียน อี้หยุน  เป็นล่ามครั้งแรก จึงอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การใช้ภาษาไทยให้มากที่สุด  พวกเราก็เอ็นดูเขาที่ท่าทาง "ซินตึ๊ง" สุดๆ  จึงช่วยกันสอนการใช้ภาษาไทยให้หลากหลาย  แต่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชื่อเขาเพราะ  แซ่ "เถียน"  ไม่มีในเมืองไทย  ผมถามเขาว่าแซ่ของเขาหมายถึงอะไร  ได้ความว่าคือ "นาที่ปลูกข้าว"  ผมจึงเสนอให้เขาใช้ชื่อไทยว่า "เสถียร นาสมบูรณ์"  ใช้ชื่อนี้ตลอดการเดินทาง ๑๒ วันในจีน ๕ มณฑล  ต่อมาคุณเถียน อี้หยุน ก็คงใช้ชื่อ "เสถียร นาสมบูรณ์" ติดต่อกับคนไทยตลอดมา

        ผมคิดว่า  การที่จีนซึ่งเคยตกต่ำทางการทหารการเมืองย่ำแย่กว่าไทย  แต่กลับคืนสู่ความเป็นมหาอาณาจักรได้อีกนั้น  เพราะมีคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่ง คือ "ความมีเอกภาพทางภาษา"

        ราชสำนักสยามตั้งแต่โบราณก็ได้ใช้นโยบาย  "เอกภาพทางภาษา"  ทำนองเดียวกับจีนเพราะสำเนียงภาษาถิ่นของไทยแตกต่างกันตามภูมิภาคใหญ่ๆ ๔ ภาค คือ ภาคเหนือ (ล้านนา)  ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง  ซึ่งมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางและถือว่าภาษาในกรุงเทพฯ เป็นภาษากลาง/ ภาษาราชการ

        ดังนั้นตามหลัก "เอกภาพของภาษา"  ถ้อยคำใดๆ ที่ไม่ใช้ศัพท์เฉพาะของท้องถิ่นก็ควรที่จะใช้ "ภาษาเขียนตรงกัน" แม้จะออกเสียงต่างกันก็ตาม  ตัวอย่าง เช่น คำว่า

        รักษา   ภาษากลางเขียนและออกเสียงตามที่กำหนดในภาษาราชการ

        ชาวภาคเหนือล้านนา  ออกเสียงว่า ฮักสา  แต่เวลาเขียนต้องสะกดคำเป็น "รักษา"  แม้จะเขียนสะกดคำด้วยอักษรธรรมตามรูปแบบอักษรโบราณของล้านนาก็ตาม  ชาวอีสานและชาวใต้ก็ออกเสียงตามสำเนียงของตน  เช่น  สมมุติ  ฮักซ่า  หรักส้า  คนต่างภาคอาจจะฟังไม่ออก  แต่พอเขียนเป็นอักษรคือ "รักษา" ความเข้าใจก็ย่อมตรงกันทั่วประเทศ

         คำว่า "ศรี"  ออกเสียงอ่านตามภาษาราชการว่า "สี" คนภาคอื่นก็ออกเสียงต่างกันไปตามแต่ละสำเนียงของภาคนั้นๆ

         ชาวเหนือล้านนา  ออกเสียงคำ "ศรี" นี้ว่า "สะหลี"  เข้าใจออกเสียงตามเสียงเดิมในภาษาสันสกฤต  แต่ผมไม่เห็นด้วยที่มีการเขียนในหลายๆ แห่งเป็น "สะหลี"  ตามเสียงอ่าน/ พูด  เช่น ทางล้านนามีวัดหลายจังหวัด ชื่อ "วัดศรีชุม" หมายถึง  วัดที่มีการนำหน่อต้นศรีมหาโพธิมาปลูกไว้  ชาวเมืองเหนือเรียกว่า "วัดสะหลีจุม"  หรือ  "วัดสีจุม"  ก็แล้วแต่  ทว่าไม่ควรเขียนชื่อเป็น "วัดสะหลีจุม" เด็ดขาด  เว้นแต่จะต้องการใช้อักขรวิธีตามแบบภาษาของลาว  ซึ่งประเทศ ส.ป.ป. ลาว ใช้อักขรวิธี คือ "อ่าน/ พูดออกเสียงอย่างไร  ให้เขียนอย่างนั้น"  เพราะภาษาลาวไม่ต้องมีเอกภาพกับภาษาไทย(นี่ครับ)

        คนในภาคอื่นๆ ไม่ใคร่มีปัญหานัก  เพราะใช้อักขระมาตรฐานภาคกลางเหมือนกัน  มีแต่ภาษาของชาวเหนือล้านนาที่สมัยโบราณ  มีศิลปวัฒนธรรมภาษาเขียนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  ยิ่งกว่าที่แคว้นสก๊อตแลนด์แตกต่างจากอังกฤษ  เพราะยังคงใช้ภาษาพูดภาษาเขียนแบบอังกฤษ

        ผมจึงขออนุญาตเสนอแนะให้ทางราชการ  เช่น  สำนักราชบัณฑิตยสภา หรือศูนย์ล้านนาศึกษา พิจารณาออกกำหนดหลักการใช้ภาษาเขียนอย่างไร  แทนถ้อยคำภาษาถิ่น  เพื่อให้เกิดเป็น "เอกภาพของภาษาไทย"