Thursday, July 27, 2017

ตอน คืนมรดกภาษาให้ชาวล้านนา

                   ผมเริ่มเรียนชั้นประถมที่ลำปางบ้านเกิด   จำได้ว่าคุณครูกำชับนับแต่วันแรกๆ ที่เข้าเรียนว่า "ห้ามพูดคำหยาบ" โดยเฉพาะสรรพนามที่ใช้เรียนกขานกันในครอบครัว หรือใช้กับผู้คนนอกโรงเรียน คือ คำว่า "คิง-ฮา-บ่า-อี่"  และ  "ลื้อ-อั๊ว"  ห้ามใช้ในโรงเรียน หรือชั้นเรียน  ใครขืนใช้จะถูกลงโทษ   ผมและเพื่อนอีกหลายคนเป็นลูกหลานจีน  เรียกกันว่า "เด็กตลาด"  มีคำสรรพนามใช้เรียกคือ "ลื้อ-อั๊ว" ซึ่งคุณครูก็ห้ามใช้ในโรงเรียนเช่นกัน  ครั้นเราถามเหตุผลว่าทำไมห้ามใช้คำสรรพนามเหล่านี้  ในเมื่อผู้ปกครองเราใช้ทุกวัน  ครูตัดบทฉับ  บอกว่าเขาห้ามใช้ก็เพราะมันเป็น "คำหยาบ"  จงใช้สรรพนามมาตรฐาน  คือคำว่า "ฉัน-เธอ"  แทนคำหยาบ  "คิง-ฮา" เถอะ  ใครขืนพูดคำหยาบจะถูกตี

                   เมื่อผมไปเรียนชั้นมัธยม  ซึ่งมีเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นกว่าร้อยคน  มาจากโรงเรียนต่างๆ หลากหลาย  พวกเขาก็เคยถูกห้ามใช้สรรพนาม "คิง-ฮา-บ่า-อี่-อั๊ว-ลื้อ"  เพราะเป็นคำหยาบ  ซึ่งคุณครูทุกๆ โรงเรียนให้เหตุผลเหมือนกัน  คงไม่ใช่คุณครูคิดเหตุผล หรือข้ออ้างเอาเอง  ย่อมเป็นนโยบายที่ได้สั่งมาจากผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลสมัยโน้น   ผมไม่เดือดร้อนกับการถูกห้ามใช้คำสรรพนามต้องห้ามทั้งหลายเหล่านี้  เพราะผมเป็นคน "สมองนิ่ม" คือ หัวอ่อนนั่นแหละ  ถูกล้างสมองก็ไม่กล้าใช้คำหยาบคายเช่นนั้น  ถึงแม้กลับบ้านไปก็ไม่ใช้  แม้ผมจะอยู่ลำปางจนอายุ ๒๑ ปี  ผมก็ไม่ใช้จนถึงปัจจุบันอายุ ๗๕ ปีก็ไม่กล้าใช้  จนกว่าคุณครู หรือทางราชการกระทรวงวัฒนธรรมจะกรุณาปลดโซ่ตรวนข้อหาที่ว่า  คำสรรพนาม "คิง-ฮา ฯลฯ" เป็นคำหยาบเสียก่อน  แล้วผมจะลองใช้ดูบ้าง  เพราะผมไม่เคยใช้ตั้งแต่เด็กจนแก่  พอจะใช้ก็ขัดเขิน

                   ครั้งหนึ่งนานกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว  ท่านอาจารย์ไกรศรี  นิมมานเหมินท์  เศรษฐีเชียงใหม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องล้านนาคดี  เข้ากรุงเทพฯ มาประชุม  เสร็จก็ตามตัวผมไปกินข้าว  โดยมีลูกท่าน ๒ คนร่วมโต๊ะด้วย  ขณะนั้นคุณธารินทร์ยังเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์  และคุณศิรินทร์ยังเป็นรองผู้ว่าการการปิโตรเลียมฯ

                   ผมได้ยินชัดๆ ว่าอาจารย์ไกรศรี  ใช้คำสรรพนาม "คิง-ฮา"  พูดกับลูกชายทั้งสอง ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของผม  อาจารย์ไกรศรีคงสังเกตเห็นอาการ  จึงอธิบายว่าแท้ที่จริงคำสรรพนามที่คนเมือง (ล้านนา) ใช้ คือ "คิง-ฮา" นั้น  ไม่ใช่คำหยาบเลย  ตรงกันข้าม  คำทั้งสองนี้เป็นคำสุภาพมาก  เพราะ  "คิง  แปลว่า ตัว"  เช่น  "รู้คิง" ก็คือ "รู้สึกตัว"  การใช้สรรพนามบุรุษที่ ๒ ว่า "ตัว" นี่นะ  คนไทยที่ใช้สำเนียงภาษาไทยกลางก็ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะนิยมใช้ในเพศหญิงที่อายุไล่ๆ กัน หรือเพื่อนกัน   ส่วนคำว่า "ฮา  ก็คือ รา"  ในภาษาล้านนาเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ เอกพจน์   ถ้าเป็นพหูพจน์ใช้ว่า "เฮา" ก็คือ "เรา"  ซึ่งคนไทยที่ใช้สำเนียงภาษาไทยกลางก็ใช้คู่กับ "ตัว"

                   ดังนั้น  สรรพนาม "คิง-ฮา"  ในภาษาล้านนา  ก็คือ  สรรพนาม "ตัว-เรา"  ในภาษาไทยกลางนั้นเอง  ไม่เห็นจะเป็น "คำหยาบ" ที่ไหนเลย  ความหยาบน่าจะอยู่ที่ความคิดจิตใจของผู้มีอำนาจ/ออกคำสั่ง  เพราะถ้าเป็นคนละเอียดอ่อน หรือลึกซึ้งก็ย่อมจะสอบถามศึกษารู้ความจริงได้ไม่ยากอะไร  ตัวอย่างดังเช่น  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  มหากวีสยาม  เมื่อจะทรงพระนิพนธ์บทละครร้องเรื่อง "สาวเครือฟ้า"  บทละครอมตะซึ่งนางเอก และฉากในละครอยู่ที่เชียงใหม่  แต่ทรงแต่ได้ดีเยี่ยมจนบรรยากาศในเรื่องประหนึ่งอยู่ในเชียงใหม่ทีเดีย  ด้วยเหตุนี้  ในยุคที่เกิดภาพยนต์ขึ้นมาแทนละคร  ก็มีผู้ขออนุญาตนำนิยายเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนต์อีกหลายชุด (เวอร์ชั่น) อีกไม่นานก็คงจะมีคนคิดสร้างชุดใหม่อีก

                    กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  ทรงละเอียดลึกซึ้งเช่นครั้งที่สมเด็จพระปิตุลาพงศาภิมุขเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชเสด็จทิวงคต  กรมพระนราธิปฯ ทรงพระนิพนธ์โคลงสี่  เขียนเป็นอักษรสีดำบนผ้าขาวใส่กรอบ  แล้วทรงนำไปวางเคารพพระศพ  เผอิญอาจารย์สถิตย์ เสมานิล  ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโสได้เห็นโคลงบทนี้  จึงจำใส่สมองตั้งแต่ปี ๒๔๗๑ โน่น  นำมาใส่สมองผมเมื่อราวปี ๒๕๑๑  ผมจึงจำต่อมาอีก  แต่ผมอายุเกิน ๗๕ ปีแล้ว  จึงขอถ่ายทอดให้ช่วยกันจำมรดกกวีนี้ต่อไป  คือ

                    ✪   โอ้อนาถอาวราชผู้     พุฒิพล  พี่เอย
                         สมเด็จปู่หมู่พหล       บกน้ำ
                         ไป่ควรหรึด่วนดล      สยามวิโยค  เสียนา
                         ทิ้งชาติศาสนาซ้ำ      กษัตริย์เศร้าเสียดายฯ

                    อาจารย์สถิตย์ เสมานิล  เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชำระพจนานุกรมราชบัณฑิตย์ ๒๕๒๕  เป็นผู้แต่งบทร้อยกรองร้อยแก้ได้ดีทุกประเภท  ได้ชี้ให้ดูว่าในบาทแรกนั้น  ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจใช้ความว่า "✪ พระปิตุลาธิราชผู้......"  ก็ได้  แต่กรมพระนราธิปฯ ทรงคิดผสมศัพย์คำว่า "อาว" ในภาษาล้านนา  หมายถึงน้องชายของพ่อ หรือแม่  ซึ่งตรงกับสายสัมพันธ์ในพระราชวงศ์ ณ ขณะนั้น คือ พระผู้ทรงทิวงคต  ทรงเป็นสมเด็จพระปิตุลา (อา) ในรัชกาลที่ ๗  นั้น  มหากวีจึงทรงผสมศัพท์ล้านนามาให้เป็น "อาวราช"

                    ผมจึงถือโอกาสในวาระที่นครเชียงใหม่จะครบ ๖๐รอบปีนักษัตร  ขอความเมตตาจากผู้มีอำนาจได้โปรดปลดปล่อยคำสรรพนาม "คิง-ฮา" ให้พ้นจากข้อหาว่าเป็น "คำหยาบ" ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังเสนอ เทอญ

                   เรื่องราวทางภาษาและวรรณคดีที่ผมเสนอขอ "ความเป็นธรรม"  ให้แก่ผู้ประพันธ์ที่แท้จริง  เนื่องในวาระ "นครเชียงใหม่ ครบ ๖๐รอบปีนักษัตร  ในปี ๒๕๕๙ คือ

                   ๑.  ใครแต่ง  :   ลิลิตพระลอ
                   ๒.  ใครแต่ง  :   สมุทโฆสคำฉันท์ตอนต้น
                   ๓.  ใครแต่ง  :   ลิลิตยวนพ่าย และโองการแช่งน้ำ

                   ทั้งนี้ ๒ เรื่องแรก  ผมเคยเขียนแสดงเหตุผลเสนอให้อาจารย์สถิตย์ เสมานิล  เห็นชอบและนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "ชาวไทย" ยุคสี่แยกแม้นศรีในปี ๒๕๑๔  และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ให้พิมพ์ซ้ำใน "ศิลปวัฒนธรรม" ในปี ๒๕๒๖  ซึ่งผมแจงรายละเอียดหลักฐานเหตุผลจนสรุปได้ว่า  ผู้แต่ง ๒ เรื่องนี้คือ "พญาแสนหลวง"  ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์  เรียกตำแหน่งว่า "มหาราช(เชียงใหม่)"  ที่เสียเมืองแก่กองทัพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(หมายถึงยิ่งใหญ่)  ถูกกวาดต้อนผู้คนทั้งเมืองลงมาอยู่ ณ ทุ่งมหาราช  นอกกรุงศรีอยุธยาในฐานะเชลยพ่ายศึก   ถ้าจะให้ผมเขียนถึงอีกก็จะซ้ำเป็นครั้งที่ ๓  แต่ถ้ามีองค์กร/สถาบันใดสนใจจะให้ผม "ฉายซ้ำ" อีกก็ยินดีเป็นวิทยากรไม่ต้องมีค่าวิชา  เพราะผมถือว่าโอกาสที่ได้เสนอและต่อสู้เพื่อ "ความเป็นธรรม" นั้น  เป็นภารกิจที่เกาะติดจิตวิญญาณของผมมาตั้งแต่เกิด  แต่ผมก็พกผ้าขาวติดตัว  หากท่านผู้ใดเสนอเหตุผล/หลักฐานให้เห็นว่าผมเข้าใจผิดละก็  ผมพร้อมจะปูผ้าขาว และกราบงามๆ สามคาบครับ

                    ส่วนเรื่อง "ลิลิตยวนพ่าย"  และ "โองการแช่งน้ำ"  นั้น  ผมไม่รู้ว่าใครแต่ง  เป็นภารกิจขององค์การที่มีหน้าที่จะศึกษาหาเหตุผลหลักฐานมาพิสูจน์ต่อไป  แต่ผมและเพื่อนอาจารย์บางท่านเชื่อว่า  ชาวล้านนาที่เชียงใหม่แต่ง  หากมีการเสวนาแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  โปรดให้โอกาสผม และเพื่อนอีก ๒-๓ คนเข้าร่วมวงด้วย  ผมมี "ผ้าขาว" หลายผืนพร้อมใช้เสมอครับ