วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่นักเรียนรุ่นอายุ ๗๐ ปีขึ้นไปได้จดจำมาคือ อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกของคนไทย ก่อตั้งมากว่า ๗๕๐ ปี เราเชื่อกันมาอย่างนี้ แม้นักเรียนรุ่นลูกคนเล็กของผมอายุ ๔๐ ปี ก็เรียนตามตำราเช่นนี้
ครอบครัวของผมหลายชั่วอายุ ไม่มีใครเรียนวิชาทางประวัติศาสตร์ แม้แต่วิชาเลือกลูกสาวผมยังเลือกที่จะไม่เรียน ผมก็เรียนทางเศรษฐศาสตร์ ทำงานกระทรวงพาณิชย์จนเกษียณ เผอิญชอบอ่านหนังสือตำนานพงศาวดารโบราณคดี และวรรณคดี จึงได้รับข้อมูลต่างๆ มากมายหลายหลาก ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นว่า "ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย" ที่เราใช้เรียนใช้สอนคนไทยต่อๆ กันมาเกือบศตวรรษนั้น ควรจะชำระให้ถูกต้องตามความเป็นจริง อย่างน้อยก็ประวัติศาสตร์ชาติไทยย้อนหลังขึ้นไปก่อนอาณาจักรสุโขทัย ถ้าติดขัดประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ ก็เรียนแค่ยุคกรุงธนบุรีก็พอ ทิ้งไว้ให้คนไทยในอนาคตดำเนินการต่อไป
ผมขออนุญาตเสนอเรื่องราวที่เป็น ปมปัญหาในสมอง(นิ่มๆ) ของผม ที่ยังหาความกระจ่างเป็นคำตอบไม่ได้ เพื่อให้ทางราชการ หรือท่านผู้รู้ได้โปรดเมตตาชี้แนะเพื่อให้หูตาของผมหายโง่งม จักเป็นพระคุณยิ่ง กล่าวคือ
เรื่องแรก : ถ้าอาณาจักร์แรกของไทย คือ "สุโขทัย" ที่พ่อขุนบางกลาง(ท่าว)หาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งราชวงศ์พระร่วงได้สถาปนาขึ้นมานั้น ผมขอเรียนถามว่า : ทางราชการไทยได้สืบค้นย้อนไปได้หรือไม่ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นใครมาจากไหน มีโคตรเหง้าเหล่ากอสัมพันธ์กับแคว้นใด เมืองใด กาลเวลาผ่านมา ๗๐๐ กว่าปี น่าจะยังมีหลักฐานร่องรอยให้แกะรอยสืบค้นได้ ดูตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งศึกษาสืบค้นเรื่องราวของราชวงศ์ฉิน (หรือจิ๋น) ย้อนไปนานได้หลายชั่วอายุคน ก่อนจะเกิดมี "จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้" เมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน
เรื่องที่สอง : การที่รัฐบาลไทยให้จัดสร้างรูปหล่ออนุสาวรีย์ "สามกษัตริย์" ประดิษฐานไว้ที่เชียงใหม่นั้น ยืนยันถึงสายสัมพันธ์แนบแน่น ปัญหาที่ผมเรียนถามขอความกระจ่างคือ ราชวงศ์ของสามกษัตริย์ มีความผูกพันกันมาลึกซึ้งปานใดหรือ พญามังรายจึงทรงวางพระทัยถึงขนาดเชิญเสด็จมาทรงช่วยวางผังเมืองนครเชียงใหม่? เพราะถ้าผู้ใดได้ทราบถึงข้อมูลโครงสร้างผังเมืองละก็เสมือนได้รู้ "จุดอ่อน/จุดแข็ง/จุดอับ หรือจุดดับ" ของเมืองนครเชียงใหม่ ทั้งมิได้ทรงเชิญสองกษัตริย์ พญางำเมือง และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) เสด็จมาเยือนแต่พอเป็นพิธี แต่ผมเชื่อว่าทรงปรึกษาหารือกันจริงจัง ดังได้เห็นรูปลักษณ์ของกำแพงเมืองรูปทรงสี่เหลี่ยม ประตูเมือง ๔ ด้าน และประตูเมืองด้านทิศตะวันออก คือ "ประตูผี" เหมือนกันทั้งสุโขทัยและที่เชียงใหม่
เรื่องที่สาม : ความสัมพันธ์ฉันเครือญาติของราชวงศ์พระร่วง แห่งสุโขทัยกับราชวงศ์นครน่านนั้น มีหลักฐาน และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยืนยันปรากฏอยู่ เช่น เจดีย์วัดช้างล้อมที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งกล่าวกันว่าพญาเมืองน่าน ได้จำลองแบบเจดีย์วัดช้างค้ำวรวิหาร ที่เมืองน่านมาสร้างถวายเป็นพระเกียรติแด่กษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งมีศักดิ์ฐานะอาวุโสกว่าพญาน่าน ในยุคปลายของกรุงสุโขทัย พญาน่านก็ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้ากรุงสุโขทัย ดังความในศิลาจารึกหลักที่เรียกรู้กันว่า "ปู่สบถหลาน" ไม่เพียงเขียน หรือให้คำมั่นไว้เล่นๆ แต่เมื่อกรุงสุโขทัยถูกกองทัพจากรุงศรีอยุธยายกมารุกราน ก็ถูกกองทัพของพญาผากอง ยกจากเมืองน่านมาตีกระหนาบ ทำให้กรุงสุโขทัยพ้นอันตราย
ความมืดในสติปัญญาอันน้อยนิดของผม จึงอยากเรียนถามท่านผู้รู้ว่า เพราะเหตุดังฤาอาณาจักรล้านนาหลังจากพญามังราย จึงร้าวฉานตัดญาติขาดมิตรกับกรุงสุโขทัย พะเยา แพร่ และน่าน? ก่อนถึงยุคพญาติโลกราช อาณาจักรล้านนาเหลืออาณาเขตแคบๆ เพียงเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และเชียงราย ครั้นพญาติโลกราช ครองราชย์แล้ว ทรงขยายพระราชอำนาจโดยส่งเจ้าหมื่นด้งนครเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปตีเมืองแพร่และเมืองน่าน ผมเรียนถามท่านที่เคยอ่านทราบรายละเอียดของสงครามทั้ง ๒ เมืองนี้ ว่าท่านมีความรู้สึกอย่างไร? ส่วนท่านที่ไม่เคยอ่านก็โปรดอ่านจากที่ผมเขียนเล่าย่อๆ คือ
สงครามเมืองแพร่ : เมื่อกองทัพเจ้าหมื่นด้งนคร ซึ่งเป็นพระญาติและเจ้านครลำปางด้วย ยกทัพไปล้อมเมืองแพร่ แต่ไม่มีใครออกรบเพราะเจ้าเมืองแพร่ถึงแก่พิราลัย พระชายาจึงให้ปิดเมือง มีทหารป้องกันเข้มแข็งไม่ยอมแพ้ เจ้าหมื่นด้งนครละอายใจ จึงให้คนนำสารไปกราบทูลพญาติโลกราช เพื่อขอพระราชานุญาติอันเชิญ "พระมหาเทวี" แห่งนครเชียงใหม่มาทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ทำสงคราม "ศึกสองราชนารี" สู้รบตบตีกันจนถึงขนาดเชียงใหม่ใช้อาวุธลับเรียกว่า "สลาเหิน" พิชิตเมืองแพร่สำเร็จ
สงครามเมืองน่าน : กองทัพเจ้าหมื่นด้งนครยกไปตั้งทัพเผชิญอยู่หน้ากำแพงเมืองน่าน แต่ไม่เข้าตี เพียงส่งคณะทูตเข้าไปชี้แจงสถานการณ์ให้เจ้านครและคณะกรรมการเมืองทราบ และพิจารณาเลือก ๒ ทาง คือ
๑. ถ้าต่อสู้ : กองทัพเชียงใหม่จะต้องตีแตกได้เช่นเดียวกับเมืองแพร่ และจะตั้งคนเข้าปกครองเมืองแทน
๒. ถ้ายอมสวามิภักดิ์ : เปิดประตูเมืองโดยดี ก็จะไม่ยึดครองเมือง เพียงแต่ยอมอยู่ในอำนาจสั่งการ และให้ชาวเมืองน่าน ร่วมศรัทธากับชาวเชียงใหม่-ลำปาง สร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์แห่งสัมพันธไมตรี
เดชะพุทธบารมี...! ทางเมืองน่านเลือกประการที่สอง เราจึงมีพระพุทธรูปอันงามด้วยพุทธศิลป์แบบเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดสวนตาล นอกกำแพงเมืองน่าน เป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมืองน่านบริจาคเงินทอง และช่างหลวงจากราชสำนักพญาติโลกราชมาหล่อสร้างนานหลายเดือนจึงเสร็จการ
คำถามของผมก็คือ....ลักษณะการพิชิตชัยตามที่พญาติโลกราชกระทำต่อเมืองแพร่ เมืองน่านดังกล่าว เป็นเหตุผลเพียงพอที่ชาวล้านนายุคนั้นจะถวายพระสมัญญาแด่พระองค์ว่า "ธรรมิกราช" ....ได้หรือไม่?
เรื่องที่สี่ : ผมเคยเขียนเล่ามาแล้วว่าพญาติโลกราชทรงอุทิศพระราชทรัพย์ไปมากในการสร้างวัดมหาโพธาราม ที่ชาวบ้านเรียกตามรูปลักษณ์อันโดดเด่นว่า "วัดเจ็ดยอด" มีกุฎิอาสนะสำหรับพระสงฆ์พร้อมบริบูรณ์ แล้วทรงอาราธนาพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกจากแคว้น และเมืองต่างๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักรมาร่วมกันกระทำสังคายนาพระไตรปิฎก ต่อมาก็ร่วมกันแต่งชาดกขึ้น ๕๐ เรื่อง เรียกว่า "ปัญญาสชาดก" พญาติโลกราชทรงให้จารึกพระไตรปิฎก และปัญญาสชาดก พระราชทานแจกจ่ายพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้าเมืองต่างๆ บรรดาที่นับถือพุทธศาสนา
ถามว่า พระกรณียกิจที่ทรงทำถวายแด่พระศาสนาเช่นนี้ สมควรแก่การถวายราชสมัญญาแด่ พญาติโลกราช ว่า..."พระเจ้าธรรมิกราช" ได้ไหม?
ถ้าท่านตอบว่า "ได้" ก็นับว่าเป็นผู้มีใจเป็นธรรม แต่ก็ช้าไปกว่า ๕๐๐ ปี เพราะเมื่อครั้งกระนั้น บรรดาพระเถรานุเถระทั้งหลายที่มาร่วมทำงานที่วัดมหาโพธาราม ได้ถวายพระพรแด่พญาติโลกราช ทรงเป็น "มหาราช" ในฐานที่ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาดุจพระเจ้าอโศกในอินเดีย ก็ได้รับถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" เช่นกัน แต่เป็นมหาราชทางธรรมะ คือ "ธรรมิกราช" มิใช่ "มหาราช" ด้านการสงคราม เช่น สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเจ้าตากสิน
เรื่องที่ห้า : ผมถามตรงๆ ว่า "....ผู้ใดสร้างพระพุทธชินราช ที่พิษณุโลก?"
ก. พญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย?
ข. สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ?
ค. พระอินทร์แปลง?
ง. พระเจ้าธรรมิกราช?
ก. พญาลิไท : ตามการสันนิษฐานดั้งเดิมที่ใช้เหตุผลหลัก ๒ ประการสนับสนุน คือ
๑. ทรงใฝ่พระศาสนาโดยทรงผนวช และทรงนิพนธ์ศาสนวรรณกรรมสำคัญที่ชื่อ "เตภูมิกถา" หรือ "ไตรภูมิพระร่วง"
๒. ยุคกรุงสุโขทัย เป็น "ยุคทอง" ของการสร้างวัดวาอารามอันวิจิตรพิสดาร และการหล่อสร้างพระพุทธรูปที่มีเอกลักษณ์สวยงาม พระพุทธรูปที่เป็นประธานในโบสถ์วิหารของวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ก็ล้วนอัญเชิญมาจากอาณาจักรสุโขทัย เช่นที่ วัดสุทัศน์ฯ วัดพระเชตุพนฯ วัดบวรนิเวศ และวัดไตรมิตรฯ เป็นต้น
จุดอ่อนของข้อนี้ คือ ผมสงสัยว่า พญาลิไท ทรงมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำทรัพย์สินเงินทองและกำลังพลมากมายยกจากกรุงสุโขทัยมาสร้างพระพุทธรูปใหม่ใช้เวลาหลายเดือนอยู่ที่พิษณุโลก? เพราะในขณะนั้นสถานภาพของราชวงศ์สุโขทัยง่อนแง่น เพราะกรุงศรีอยุธยาได้ก่อตั้งขึ้นและคุกคามอาณาจักรสุโขทัย จนต้องขอความช่วยเหลือจาก "ท้าวผากอง" เจ้าเมืองน่าน ดังปรากฏคำมั่นสัญญาในศิลาจารึกหลัก "ปู่สบถหลาน" นั้นเอง
ข. สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ : ผมพิสูจน์โดยอาศัยหลักการ หรือทฤษฎีที่ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร แนะนำไว้ สรุปว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทรงทำสงครามยืดเยื้อและพ่ายแพ้ต่อพญาติโลกราช แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งเคยยกกองทัพมาเผชิญทัพกันที่สองฝั่งแม่น้ำน่าน ฐานทัพของพระบรมไตรโลกนารถ คือ พื้นที่ตัวจังหวัดพิษณุโลกปัจจุบัน แต่มิได้ใหญ่โตมโหฬารอะไร
ฐานทัพของพญาติโลกราช คือ ฝั่งที่ตั้งวัดศรีรัตนมหาธาตุ ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชนั่นเอง กองทัพพระบรมไตรโลกนารถรบแพ้ จึงตั้งมั่นอยู่ในเมือง แต่กองทัพเชียงใหม่ก็ไม่อาจยึดเมืองได้ จึงตั้งสกัดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน กักทัพกรุงศรีอยุธยาไว้หลายเดือนจนขาดแคลนเสบียง พญาติโลกราชทรงตั้งพระทัยจะจับเป็นพระบรมไตรโลกนารถให้ได้ ทรงกำชับทหารให้กวดขันแน่นหนา กลับปรากฏว่า พระบรมไตรโลกนารถทรงปลอมพระองค์ลอบลงแพกับราชองครักษ์ ปล่อยให้แพลอยล่องน้ำหนีจากวงล้อมได้ในกลางดึกคืนหนึ่ง
ในที่สุด สองอาณาจักรยุติสงคราม โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทรงรับความพ่ายแพ้ยอมสละราชสมบัติออกทรงผนวช ณ วัดจุฬามณี ซึ่งทรงสร้างเฉพาะกิจอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ตราบสิ้นพระชนม์ในสถานะเพศบรรพชิต ทรงขอบิณฑบาตคืน เมืองเชียงชื่น ซึ่งพญาติโลกราชก็ยอมถวาย ถือว่าถวายพระสงฆ์ มิใช่แก่ศัตรูคู่ศึก
คำถามสุดท้ายของผม คือ ถ้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระพุทธชินราชขึ้นจริง เหตุใดจึงไม่ทรงจำพรรษาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่มีพระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ทำไมจึงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดจุฬามณี ถ้าผมไม่เคยเห็นวัดจุฬามณี ผมก็ยังคิดเพลินไปกับนักวิชาการรุ่นเก่าที่ (นั่งเทียน)เขียนให้ผู้คนอ่านแล้วเข้าใจว่า "วัดจุฬามณี" คงใหญ่โตโอฬาริก อย่างที่ผมและเพื่อนหลายคนเข้าใจ
ปี ๒๕๑๓-๒๕๑๔ ผมรับราชการที่จังหวัดพิจิตร แต่ติดต่อเสวนาโดยจดหมายเวียน (เรียกว่า "จดหมายวาร") กับอาจารย์หลายๆ ท่าน เช่น อาจารย์หวน พินธุพันธ์ ดร. ประจักษ์ สายแสง และอาจารย์บัญชา คูเจริญไพบูลย์ สังกัดวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก นอกจากนี้ยังมี ดร. อัครพงษ์ สัจจวาทิต สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์ประทีป พฤกษากิจ สังกัดวิทยาลัยครูเทพสตรี ลพบุรี
เราชวนกันไปชมวัดจุฬามณี ที่เกือบหาไม่พบเพราะสภาพเหมือนวัดร้าง มีกุฏิไม้หลังเล็กๆ อยู่ ๒-๓ หลัง โดยเฉพาะโบสถ์โบราณที่เจ้าอาวาสบอกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างด้วยศิลาแลง พวกเราเอาเชือกวัดรอบนอกโบสถ์ ได้ขนาดกว้างราว ๖ เมตร และยาวราว ๘ เมตร สมกับเป็นที่ทรงปฏิบัติธรรมจำพรรษาเฉพาะองค์จริงๆ
ค. พระอินทร์แปลง : ที่จริงคนสมัยนี้ย่อมไม่มีใครเชื่อเรื่องอภินิหารทำนองนี้ แต่ยังมีคนอ้างถึงตำนานการหล่อพระพุทธชินราช ว่านายช่างที่เป็นคนทำแม่พิมพ์ไม่สำเร็จ เกิดแตกร้าวก่อนทุกที กระทั่งมีชายชรานุ่งห่มเป็น "ชีปะขาว" เข้ามาช่วยแนะนำกำกับการหล่อจึงสำเร็จ แต่ "ชีปะขาว" กลับเดินออกจากวัดและหายไป แม้ผมไม่เชื่อตำนาน แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้แต่งอาจจะรู้ดีว่าใครเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช แต่ไม่อาจ "ฟันธง" ลงไปได้ จึงยกให้เป็นเรื่องอภินิหารจากพระอินทร์แปลงลงมาเป็นตำนานเพี้ยนๆ จึงมีอยู่ทั่วไปในเมืองไทย ที่น่าเกลียดมากคือ แอบอ้างเป็นพระพุทธวัจนะก็มีมากมาย กฏหมายก็เอาผิดคนเขียนไม่ได้
ง. พระเจ้าธรรมิกราช : อาจารย์ ดร. อัครพงศ์ สัจจวาทิต เพื่อนสนิทของผมเชื่อมาตลอดเวลากว่า ๔๐ ปี ว่า "พระเจ้าธรรมิกราช" ที่พงศาวดารเหนือ (พายัพ) กล่าวถึงว่า ทรงเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราชนั้น ควรจะเป็น "พญาติโลกราช" มากกว่าจะเป็น "พญาลิไท" อย่างที่นักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าตีความไว้ ผมก็เห็นเหมือนกัน แต่ ดร. อัครพงศ์ เป็นผู้ริเริ่มความคิดเช่นนี้ และมีโอกาสได้เห็นรูปลักษณ์ของพระพุทธรูปตามพุทธศิลป์เชียงใหม่ตลอดเวลากว่า ๔๐ ปีที่เป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีโอกาสดีที่มีลูกชายรับราชการอยู่ที่พิษณุโลก ไปเยี่ยมลูกชาย ก็ได้ไปกราบพระพุทธชินราช ดูรูปลักษณ์พุทธศิลป์แล้ว ยิ่งเชื่อว่าช่างศิลป์จากราชสำนักเชียงใหม่เป็นผู้แกะแบบพิมพ์หล่อพระพุทธรูปองค์นี้แน่
แต่เมื่อผมสนับสนุนให้ ดร. อัครพงศ์ เขียนเผยแพร่ ท่านปรารภว่าเราเป็นชาวล้านนา คือ ดร. อัครพงศ์ เป็นชาวเชียงราย ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนผมเป็นชาวลำปาง เขียน หรือแสดงความคิดเห็นออกแนวเชิดชูเกียรติกษัตริย์ล้านนา ย่อมเสี่ยงต่อ (มีงานเข้า) ถูกด่าว่า เราป่วยเป็น "โรคถิ่นนิยมขึ้นสมอง" แต่ผมรอมาถึงวาระสำคัญ คือ "นครเชียงใหม่ครบ ๖๐รอบปีนักษัตร" ในปี ๒๕๕๙ นี้ ผมจึงยินดีให้ผู้ไม่เห็นด้วยช่วยทักท้วงด่าว่าได้นะครับ
ผมเสนอให้องค์กรใดก็ได้ของราชการ เป็นเจ้าของเรื่อง ใช้วิธีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดย
๑. ถ่ายทำภาพเชิงซ้อนพระพุทธรูป ๔ แบบ คือ
๑.๑. ตัวอย่างพระพุทธรูปในเชียงใหม่ที่สร้างสมัยพญาติโลกราช
๑.๒. พระพุทธรูปประธาน ณ วัดสวนตาล อำเภอเมืองน่าน
๑.๓. พระพุทธรูปยุคราชวงศ์พระร่วง ทั้งในเขตอาณาจักรสุโขทัย และที่เชิญ
มากรุงเทพฯ
๑.๔. พระพุทธชินราช ที่เมืองพิษณุโลก
๒. นำภาพทั้ง ๔ ชุด มาเปรียบเทียบกัน วิเคราะห์หาความละม้ายคล้ายเหมือนในที่สุดจะได้ความจริงออกมาซึ่งทุกฝ่ายควรยอมรับผลพิสูจน์ เช่น สมมุติ
ภาพเชิงซ้อนในข้อ ๑.๔. เหมือนคล้ายกับภาพเชิงซ้อนในข้อ ๑.๑. หรือ ๑.๒. ก็ต้องถวายพระเกียรติคืนไปแด่ พระเจ้าติโลกราชมหาราช เถิด
แต่ถ้าภาพในข้อ ๑.๔. เหมือนคล้ายกับภาพเชิงซ้อนในข้อ ๑.๓. ละก็ ผมและ ดร. อัครพงศ์ ก็ยอมคุกเข่าลงกราบโดยดุษณียภาพ ครับ