Thursday, July 27, 2017

ภาษาไทยในวรรณคดีไทย

ความ(ไม่)รู้เรื่องภาษาไทย  ตอน  ภาษาไทยในวรรณคดีไทย


        นักเรียนมัธยมปีที่ ๕  ช่วงปีที่ ๒๔๙๖  ต่อเนื่องอีกกว่าสิบปี  คงจำได้ว่าเราเคยเรียนวรรณคดีเรื่อง "เวนิสวานิช"  พระราชนิพนธ์บทละครพูดที่พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงแปลงจากบทละครของกวีเอก วิลเลี่ยม เชคสเปียร์  William Shakespeare ชาวอังกฤษ
William Shakespeare


        ผมขออนุญาตเรียนถามท่านตรงๆ ว่า  ผ่านมาจนบัดนี้  ท่านยังจำบทอะไรในเรื่อง "เวนิสวานิช" ได้สักบทหนึ่งไหม?   ถามว่าทำไมผมและนักเรียนไทยที่เคยอ่านเรียนเขียนตอบข้อสอบมาแล้ว  จึงจำบทกลอนในเรื่องนี้เกือบไม่ได้  อ๋อ...เพราะเรื่องราวสถานที่และชื่อตัวละครในเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตเราเลย  ถามว่ามีผู้เคยเรียนจำชื่อตัวละครอื่นๆ ได้ไหม  นอกจากยิวหน้าเลือดชื่อ "ไชล็อก"  ยุคก่อนนี้ใครที่นิสัยขี้งกขี้เหนียวจะถูกเรียกลับหลังว่า "ไชล็อก"

        อีกประการคือ  พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุดของพระองค์  เอ๋า...  แล้วทำไมเลือกมาให้เรียนเล่าหนอ  ผมจะไปรู้(เรอะ)  ผมก็รับเวรกรรมเหมือนผู้เรียนทุกคนน่ะแหละครับ  ถ้าผมเป็นคนเลือกละก็ผมจะเสนอให้นำพระราชนิพนธ์ของพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่อง "ลิลิตพายัพ" ซึ่งทรงแต่งไว้ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕  ขณะนั้นพระองค์ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารฯ เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ทรงเล่าถึงเหตุการณ์สถานที่ต่างๆ ที่เสด็จไปทรงงาน หรือผ่านไป  หากเป็นที่มีประวัติความเป็นมาน่ารู้  ก็จะทรงพระนิพนธ์เล่าไว้  ดังเช่น  โคลงสี่สุภาพบทหนึ่งซึ่งพระราชทานไว้แก่โรงเรียนมัธยมชายประจำจังหวัดลำปาง  ความว่า

                                ❀    วันที่ซาวหกนั้น       เสด็จไป
                               ทรงเปิดโรงเรียนไทย       ฤกษ์เช้า
                               บุญวาทย์วิทยาลัย          ขนานชื่อ ประทานนอ
                               เป็นเกียรติยศแด่เจ้า        ปกแคว้นลำปางฯ
                                                       "หนานเจ้า เมืองบูรณ์"


         ผมสอบแข่งขันได้ที่ ๑ ของจังหวัด  ได้เข้าเรียนมัธยมปีที่ ๑ ในโรงเรียน(ชาย) "บุญวาทย์วิทยาลัย" เมื่อพฤษภาคม ๒๔๙๕  ผ่านมากว่า ๖๐ ปี  ผมก็ยังจำโคลงบทนี้ได้  ไม่แต่ผมที่อาจจะได้  เพราะสนใจเรียนเก่ง  แม้แต่เพื่อนบางคนที่สอบตกวิชาภาษาไทยเป็นประจำ  เขาก็ยังอุตส่าห์จำโคลงบทนี้ได้  ทำไมถึงจำได้  อ๋อ...  พอพวกเราย่างเท้าเข้าโรงเรียนวันแรก  เราก็ได้อ่านโคลงนี้ที่เขียนตัวโตๆ ไว้บนฝาด้านนอกอาคารไม้ตรงหน้ามุข  เข้าห้องเรียน  คุณครูก็ปฐมนิเทศเรื่องแรกโดยให้นักเรียนช่วยกันบอกโคลงทีละคำๆ
ลิลิตพายัพ
Cr. จากกรมศิลปากร

         พวกเราจำได้คนละนิดละหน่อย  คุณครูช่วยตะล่อมให้ความจำกระท่อนกระแท่นของนักเรียนให้เรียงลำดับทีละคำเป็นวรรค  จากวรรคหน้าวรรคหลังเป็นบาท  ทีละบาทๆ จนครบสี่บาท  เป็นหนึ่งบท  แล้วคุณครูสัมฤทธิ์ มุสิกสวัสดิ์  ครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๑ ก.  ก็ให้นักเรียนอ่านหลายๆ รอบทั้งอ่านธรรมดาและทำนองเสนาะ  แม้นักเรียนโง่ๆ ยังไงก็จำได้จนตายครับ  ผมไม่เคยทราบว่าโคลงพระราชนิพนธ์บทนี้อยู่ในหนังสือ "ลิลิตพายัพ"  จนผ่านมานาน ๒๔ ปี  พ.ศ. ๒๕๑๙  ผมรับราชการอยู่ที่พาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ  จึงมีโอกาสแวะไปขอความรู้จากสองผู้รอบรู้ภาษาไทย คือ อาจารย์สถิตย์ เสมานิล  และอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ  เจ้าของบ้านในซอยชัยพฤกษ์ ถนนสุขุมวิท ๖๕ ใกล้ๆ วัดธาตุทอง

เผอิญผมถูกถามว่าเรียนมัธยมจากที่ไหน  ผมท่องโคลงพระราชนิพนธ์ให้ฟัง อาจารย์ทวี ถามว่าผมเคยอ่านทั้งเล่มไหม?  ผมเอ๋อชะงัก  ท่านจึงตะโกนบอกลูกสาวหยิบหนังสือ "ลิลิตพายัพ"  จากห้องสมุดส่วนตัวมาให้ผมยืมไปอ่าน  อาจารย์ทั้งสองปรารภต่อกันว่า  เรื่องลิลิตพายัพเป็นบทกวีนิพนธ์ที่ดีที่สุดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ  ผมได้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบแล้วก็นำหนังสือมาคืน และขอสนับสนุนความเห็นตามท่านทั้งสองด้วย

        ผ่านมา ๔๐ ปี  ผมย่อมจำรายละเอียดของพระราชนิพนธ์แต่ละบทไม่ได้  แต่จำได้ว่าพระองค์เสด็จไปทรงเปิดโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ มากมาย  ทรงแต่งโคลงไว้ให้ทุกๆ แห่งไพเราะมาก  ถ้ากระทรวงศึกษาธิการนำพระราชนิพนธ์ "ลิลิตพายัพ" มาให้นักเรียนอ่านเรียนละก็  ป่านนี้ศิษย์เก่าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และบุคลากรของหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่ทรงเปิดหรือเสด็จเยี่ยมเมื่อครั้งกระโน้น  ก็ต้องจำบทโคลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงแต่งไว้ให้ได้อย่างขึ้นใจ และประทำใจไม่รู้ลืมเลย

        อาจจะมีบางท่านผู้รู้พากันโขก(หมาก)รุกใส่ผมว่า  "ไม่เห็นเหรอว่าปี ม. ๖  ต้องเรียนลิลิตนิทราชาคริต  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ม. ๗ - ม. ๘  ก็ให้เรียนลิลิตตะเลงพ่าย  พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตอีก  จะเรียนแต่ "ลิลิต" ซ้ำกันทำไมตั้ง ๓ ปี  ก็ใช่ซีครับ  ผมกำลังจะเสนอให้เปลี่ยนอยู่นี่ไงครับ  เผอิญผมคิดว่าความเห็นของสองผู้รู้ทางภาษาไทย  ดังผมอ้างชื่อท่านเอา (คุ้มกะลาหัวผม) ไว้แล้วนั้น  เห็นว่า "ลิลิตพายัพ" ดีที่สุดในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

        ถ้าผมเลือกได้  ก็จะไม่ให้อ่านเรียน "ลิลิตนิทราชาคริต"  ซ้ำประเภทกวีนิพนธ์อีกทั้งพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพในรัชกาลที่ ๕  ตลอดจนที่พระราชวงศ์ข้าราชการ  ร่วมกันแต่งบรรยายภาพเรื่อง "รามเกียรติ์" ในวิหารวัดพระ(แก้ว) ศรีรัตนศาสดาราม และบรรยายภาพวาดเรื่องจากพงศาวดารไทย ในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี  ล้วนเป็นโคลงยอดเยี่ยมกับยอดเยี่ยมมาก  หากคัดเอามาให้อ่านเรียนสัก ๑๐๐ บทแทน "นิทราชาคริต"  ก็ไม่เป็นการเสียพระเกียรติน่ะครับ  เพราะในร้อยรสบทกวีเหล่านี้จะมีทั้งพระราชนิพนธ์  พระนิพนธ์  บทกวีหลากหลายดุจ  "ดาวล้อมเดือน" ครับ  

        ถามผมใช่ไหมว่า  "แล้วจะให้เป็นวิชาอ่านเอาเรื่องได้ยังไง?"

        อ๋อ... ก็ให้คุณครูจัดการให้นักเรียนเลือกโคลงที่ตนชอบคนละ ๒ บท  ไม่ให้ซ้ำกัน  แล้วให้เขาไปศึกษาค้นคว้า และเขียนอธิบาย (ไม่แค่เขียนถอดความ) อย่างแจ่มชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใครทำดีที่สุดก็ได้ A หรือได้เต็มร้อย  สมมุติผมเลือกโคลง

                ❀    หลานลมหลานราพณ์ทั้ง    หลานปลา
                   หลานมนุษย์บุตรมัจฉา         นเรศพ้อง
                   ยลหางอย่างมัสยา             กายเศวต สวาแฮ
                   นามมัจฉานุป้อง                กึ่งหล้าบาดาลฯ

                                      ทรงนิพนธ์โดย : กรมหมื่นพิชิตปรีชากร


มัจฉานุ
         ผมเห็นเป็นโคลงบรรยายภาพพญาลิงตัวหนึ่ง  นึกว่าง่ายๆ  ที่ไหนได้เล่าสาระใจความของโคลงบทนี้  ทำให้ผมต้องเข้าห้องสมุด  ยืมหนังสืออ้างอิงชุดพระราชนิพนธ์สมัยรัชกาลที่ ๑ กลอนเรื่อง "รามเกียรติ์"  เล่มหนากว่าพันหน้า ๔ เล่ม  อ่านได้เฉพาะในห้องสมุด  เพราะหายาก/ ราคาแพง (**ล่าสุดสำนักพิมพ์บรรณกิจเทรดดิ้งจัดพิมพ์ ราคาไม่แพงแล้ว**)

         การที่จะอธิบายความของโคลงบทนี้ได้ครบถ้วน  ก็ต้องทวนความเป็นมาของ "โคตรเหง้าเผ่าพันธุ์" ของมัจฉานุย้อนสายขึ้นไปถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายกล่าวคือ

๑.  "มัจฉานุ"  เป็นลูกของหนุมาน  ซึ่งเป็นลูกของพระพาย(ลม)  ดังนั้น  มัจฉานุ  จึงเป็น "หลาน(ปู่ของพระพาย)ลม"

๒.   แม่ของ "มัจฉานุ" คือนาง "สุพรรณมัจฉา"  เป็น "ลูกสาวของ(ยักษ์/ ราพณ์)" คือ "ทศกัณฐ์" ซึ่งสมสู่กับนางพญาปลา  เกิดลูกสาวเป็น "นางสุพรรณมัจฉา"

          ดังนั้น มัจฉานุ จึงเป็น "หลานตา(ของยักษ์)ราพณ์"  คือ  ทศกัณฐ์ด้วย

๓.   แต่เพราะยายของ "มัจฉานุ" คือ นางพญาปลา  เขาจึงเป็น "หลาน(ยาย)ปลา"  เห็นไหมครับ โคลงแค่บาท(บรรทัด)เดียว  ทำให้ผมต้องอ่าน  ค้นหาข้อมูลจากเรื่อง "รามเกียรติ์"  นับพันหน้าเพื่อเขียนอธิบายคำว่า "หลานลม"  "หลานราพณ์"  "หลานปลา"

๔.    บาทที่สอง "หลานมนุษย์" ก็เพราะแม่ของหนุมานเป็นคน คือ นางสวาหะ  ลูกสาวของพระฤาษี  ดังนั้น "มัจฉานุ" เป็น "หลาน(ย่าของ)มนุษย์"

       "บุตรมัจฉา"  เพราะแม่ของมัจฉานุ คือ นางสุพรรณมัจฉาซึ่งเป็นปลา  ดังนั้น "มัจฉานุ" จึงเป็น "บุตร(ลูกของปลาคือ)มัจฉา" นั่นเอง

       ส่วน "นเรศพ้อง"  คือ มีเลือดจากคน(นเรศ)ผสม ได้แก่ นางสวาหะ(คน)

๕.   บาทที่สาม "ยลหางอย่างมัตสยา"  หมายถึง  "หางของมัจฉานุ"  เป็นหางแบบปลา (มัตสยา)ตามเลือดแม่

        "กายเศวต  สวาแฮ"  บอกว่าเขามีรูปทรงเป็น  "ลิงเผือก"

๖.   บาทที่สี่  "นามมัจฉานุป้อง  กึ่งหล้าบาดาล"

        บอกให้ทราบว่าตัวประหลาดๆ ดังนี้  มีชื่อว่า "มัจฉานุ"  รับภารกิจเป็นผู้เฝ้ารักษาด่านแดนดิน ติดต่อระหว่างพื้นดินกับเมืองบาดาล  แต่ถ้าผมอยากได้คะแนน A+  ผมก็ค้นคว้าศึกษา และอธิบายเพิ่มเติมอีกนิด  คือ

        นางสุพรรณมัจฉา (แม่ของมัจฉานุ)  ได้รับมอบหมายจาก (บิดาคือ) ทศกัณฐ์ให้พาฝูงปลาบริวารไปทำลายถนนยุทธศาสตร์ที่พระรามทรงบัญชาการให้ "หนุมาน"  เป็นแม่กอง  นำพลพรรควานรขนหินมาถมทะเลมุ่งสู่กรุงลงกาของทศกัณฐ์   แต่นางปลาถูกหนุมานตามจับนางสุพรรณมัจฉาได้  และลงโทษให้เป็นเมียจนตั้งท้อง  จึงสำรอกลูกชายฝากไว้กับฟองสมุทร

        ครั้นคลอดเป็นตัว  เผอิญ "ไมยราพณ์"  อุปราชนครบาดาล และมีศักดิ์เป็นหลานชายทศกัณฐ์มาพบ  เกิดเอ็นดูจึงนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจนเติบใหญ่  ก็มอบหน้าที่สำคัญให้เป็นนายด่านรักษาดินแดนระหว่างพื้นพิภพกับบาดาล

        ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ  เลือกให้เราได้อ่านเรียนอย่าวที่ผมเสนอ  ก็จะมีโคลงสี่ดีๆ มีสาระและไพเราะให้เรียนอีก ๙๙ บท

        ผมเชื่อว่าสติปัญญาความรู้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของแผ่นดินไทยคงไม่วิบัติจนถึงคนระดับรัฐมนตรี  นายกรัฐมนตรีไทยพูดภาษาไทยผิดเพี้ยนให้คนล้อเลียน  ไม่ต้องไปหัวเราะเยาะท่านหรือใคร  เพราะการอ่านผิด พูดผิดมีให้เห็นให้ฟังในจอโทรทัศน์ และบนเวทีการประชุมต่างๆ แทบทุกวัน  ยิ่งถ้าถือเอาว่าการพูดอ่านไม่ชัด  ออกเสียงควบกล้ำไม่ได้เป็น "การผิดเพี้ยน" ด้วยละก็  จะเหลือคนไทยพูดออกเสียงภาษาไทยถูกต้องสักกี่เสี้ยวเปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย

        โปรดอย่าแก้ตัวง่ายๆ เพื่อปกป้องตัวเองว่า  เราเป็นชาวเหนือ ชาวอีสานซึ่งโดยธรรมชาติพื้นภาษาถิ่นไม่มีเสียงควบกล้ำอยู่แล้ว  ถ้าขืนอ้างอย่างนี้ก็ไม่ต้องฝึก  ทั้งๆ ที่ฝึกได้ไม่ยาก  หากตั้งใจฝึกและใช้วิธีฝึกที่ถูกต้องละก็... ง่ายมากครับ  ง่ายกว่าครั้งผมยังเด็กๆ พยายามฝึกเพื่อให้พ้นจากถูกคนล้อเลียนว่า ผมเป็น "ลูกเจ๊กปนลาวคนเหนือ" น่ะครับ

         ผมเพิ่งได้รับความเมตตาจากศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ช่วยชี้แนะวิธีฝึกพูดหรืออ่านออกเสียงควบกล้ำให้ได้ถูกต้อง  ผมลองพิจารณาฝึกดู  เออแฮะ... ได้ผลดีจริงๆ ง่ายๆ และถูกต้องรวดเร็ว  แต่ผมไม่กล้าสอนใครหรอก  เพราะเป็นลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของท่าน  แต่ก็อย่าหวังว่าท่านจะเขียนตำราขาย  เพราะท่านอายุ ๙๖ ปีแล้ว  ถ้าหากรัฐมนตรีฯ หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการไม่รังเกียจ  ก็เชิญไปกราบขอรับคำแนะนำจากท่านได้ที่  สำนักงานราชบัณฑิตยสภา  ในบริเวณสนามเสือป่า  ท่านเป็นอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์  อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และอดีตนายกราชบัณฑิตยสภา  ท่านยังไปทำงานให้ที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาทุกวัน

        การไปกราบขอรับวิชาคำชี้แนะจากศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  อาจเสียเวลาอันทรงเกียรติอยู่บ้าง  แต่เพื่อประโยชน์แก่ชาวไทย  ผมกราบละครับ  ไปเถอ!