Friday, July 28, 2017

อ่านภาษาไทยอย่างไรจึงไม่เชย

ความ(ไม่)รู้เรื่องภาษาไทย  ตอน  :  อ่านอย่างไรจึงไม่เชย


        สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ทรงริเริ่มการสถาปนาพระราชวงศ์ขึ้น "ทรงกรม" คือ พระราชชนนีทรงเป็นที่ "กรมพระเทพามาตุ" (อ่านว่า  เท-พา-มาด)  คำว่า "มาตุ(มาด)"  หมายถึง มารดา ส่วนเทพ/ เทพา  หมายถึงมหากษัตริย์อันเป็นสมมุติเทพ  ตามคติพราหมณ์  ต่อมาการคัด/ เขียนเพี้ยนเป็น "เทพามาตย์"  "กรมพระเทพามาตย์"  ตำแหน่งพระราชชนนีของพระเจ้าแผ่นดิน  แต่ความหมายของคำว่า "มาตย์" คือ  อมาตย์/ อำมาตย์/ ขุนนาง  ย่อมเพี้ยนจากความหมายเดิมที่ถูกต้อง

        ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖  ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขึ้นในจังหวัดต่างๆ ดังปรากฏเรื่องราวในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖   เมื่อครั้งทรงเป็นสยามมกุฏราชกุมาร  เสด็จประพาสยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ทรงใช้พระนามแฝงว่า "หนานแก้วเมืองบูรพ์"  ทรงพระนิพนธ์เรื่องลิลิตพายัพ  การที่ทรงใช้พระนามว่า  "หนานแก้ว เมืองบูรพ์" มีที่มาจากพระนามเดิมของพระองค์ว่า "วชิราวุธ (วชิร = วิเชียร = แก้ว)  ส่วนคำว่า "หนาน" เป็นสรรพนามที่ชาวล้านนาใช้เรียกผู้ชายที่เคยบวชเรียนมาแล้ว

        คำว่า "เมืองบูรพ์"  หมายถึงชื่อภาษาปากที่ชาวไทยยุคโน้นใช้เรียกแทน "พระนครศรีอยุธยา" ว่า กรุงเก่า  อันเป็นสร้อยของนามราชสกุล "ณ อยุธยา" นั่นเอง

        โรงเรียนหลายแห่งที่เชียงใหม่  ได้รับพระราชทานนาม เช่น ยุพราชวิทยาลัย  แต่ที่ลำปาง พระราชทานนาม  ดังนี้

                      ✪     วันที่ซาวหกนั้น       เสด็จไป
                         ทรงเปิดโรงเรียนไทย    ฤกษ์เช้า
                         บุญวาทย์วิทยาลัย       ขนานชื่อ ประทานนอ
                         เป็นเกียรติยศแด่เจ้า     ปกแคว้นลำปางฯ
                                               "หนานแก้ว  เมืองบูรพ์"


        โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยก่อตั้งขึ้นด้วยที่ดิน และทรัพย์สินบริจาคโดยมหาอำมาตย์โทพลโจเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต  เจ้าผู้ครองนครลำปาง  องค์สุดท้าย

         ปลายปี ๒๕๓๔  ชมรมครูภาษาไทยเชิญศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพไปบรรยายความรู้เกี่ยวกับหลักและการใช้ภาษาไทย  เผอิญขณะนั้นผมเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้พานักเขียนจากประเทศจีนที่เป็นแขก(เหย้า-เยือน) ของสมาคมฯ ไปล่องใต้ผมจึงรับอาสาอาจารย์ปรเมศวร์ คงสมัย  ผู้ประสานงานของชมรมครูฯ  ช่วยพาท่านอาจารย์ไปกลับพร้อมคณะด้วย

         อาจารย์ปรเมศวร์  คุ้นเคยกับผมและภรรยามานานตั้งแต่เขาเรียนวิชาเอกภาษาไทยที่ วศ. ประสานมิตร รุ่นถัดจากภรรยาของผม  ซึ่งตอนนั้นยังหมั้นกันอยู่  ผมกับอาจารย์ปรเมศวร์ร่วมกันเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนพณิชยการสีลม  ครั้นเรียนจบเขาก็กลับมารับราชการสอนที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ  ส่วนผมเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์  ก็ไปตามทางของผม  คือ  ทำงานที่กระทรวงพาณิชย์

        อาจารย์ปรเมศวร์จัดรถมรับคณะ และเรียนชี้แจงต่อศาสตรจารย์ฐะปะนีย์ว่า  เดิมจะใช้สถานที่ ณ โรงเรียนวิเชียรมาตุ  ซึ่งเขาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ  แต่เผอิญทางจังหวัดขอใช้สถานที่จัดประชุม  จึงย้ายงานเราไปที่โรงเรียนสภาราชินีแทน  ทุกๆ ครั้งที่ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ และอาจารย์ปรเมศวร์  ออกชื่อโรงเรียนวิเชียรมาตุ  ก็จะเป็นเสียงท้ายว่า "มาด" ซึ่งผมไม่สะดุดหูอะไร  เพราะมันถูกต้องตามหลักภาษาและตำนานความเป็นมาแล้ว

        ต่อมาอีกหลายปี  ผมไปราชการ  ผ่านมาจังหวัดตรัง  ได้นัดกินข้าวกับอาจารย์ปรเมศวร์แล้วต่อว่าทำไมจึงให้คนเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "วิ-เชียน-มา-ตุ"  แทนที่  "วิ-เชียน-มาด"  อาจารย์ปรเมศวร์เป็นเสมือนน้องชายผม  จึงได้ชี้แจงเสียงอ่อยๆ ว่าตนไม่ได้อยู่โรงเรียนนี้  เพราะไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง  จึงได้ยินคนเรียกกันเพี้ยนเป็น "วิ-เชียน-มา-ตุ" แล้ว  ตนสอบถามเพื่อนเก่าที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า  มาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาเยี่ยมโรงเรียน  ได้ยินคนออกชื่อโรงเรียนว่า "วิ-เชียน-มาด"  ท่านก็ท้วงว่าไม่ถูกนะ  ต้องเรียกชื่อ  "วิ-เชียน-มา-ตุ"  ซี่  คนคงเกรงบารมีท่าน  จึงจำต้องเรียกตามท่านอยู่หลายปี

        จนกระทั่ง  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ  คนก็หมดความกังขาว่าชื่อโรงเรียนวิเชียรมาตุ  จังหวัดตรัง  ควรออกเสียงอ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง

        ผมลองสงบจิตคิดดีๆ  แล้วก็น่าให้อภัยแก่คนไทยทั้งหลายที่ต้องอ่าน/ พูดภาษาไทย/ ภาษาแม่ของตนเองผิดๆ  เพราะไม่ใช่ความผิดของคนไทยในอดีต และปัจจุบันไม่กี่คนที่เผอิญเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย   พวกท่านทั้งหลายเหล่านี้ดูถูกเหยียดหยามวิชาภาษาไทย  โดยกำหนดคะแนนวิชาภาษาไทยน้อยกว่าคะแนนวิชาภาษาต่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาไวยากรณ์ไทยที่เคยให้เรียนเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น  กำหนดคะแนนเพียง ๑๐ คะแนน  แม้เปลี่ยนชื่อเป็นวิชาหลักและการใช้ภาษาไทย  แต่ก็ยังกำหนดคะแนนต่ำต้อยน้อยกว่าคะแนนภาษาต่างประเทศอยู่ดี  นักเรียนส่วนใหญ่จึงทิ้งคะแนนวิชาภาษาไทย  ที่ทั้งเรียนยาก และได้คะแนน "แสนหิน" ไปลงทุนเรียนกวดวิชาภาษาต่างประเทศ และหรือ วิชาคณิต/ วิทยาศาสตร์แทนก็ได้(จ๊ะ)

        อีกทั้งในหลายสิบปีที่ผ่านมา  การสอบเข้ามหาวิทยาลัย(ไทย) แต่กลับไม่บังคับสอบวิชาภาษาไทย  กติกาแบบนี้มีแต่ประเทศบางแห่งในทวีปอาฟริกา   เพราะมีหลายชนเผ่าต้องใช้ภาษาของเจ้าอาณานิคม(นายในอดีต)มาใช้สอบแทน  เดชะบุญที่ยังมีบุญพระบารมีของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินคุ้มครอง  จึงมีการบังคับให้สอบวิชาภาษาไทยในการสอบคัดเลือกแข่งขันในระดับต่างๆ ของระบบการศึกษา และส่วนราชการ  นอกจากกำหนดคะแนนวิชาภาษาไทยไว้น้อยนิดแล้ว  หลักสูตรหรือเนื้อหาสาระที่กำหนดให้เรียนยังอัด "แน่นเปรี๊ยะ" ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายของตำราเรียน  ซึ่งดูรูปลักษณ์ภายนอก  เป็นเพียงหนังสือเล่มบางๆ ไม่ถึงร้อยหน้า  แต่แทนที่จะอ่านสนุกๆ คือมีตัวอย่างเยอะๆ เพื่อให้นักเรียนได้ "รู้มากเห็นมาก"  สมองจะได้ลองคิดขยายผลตาม  เปล่า... หามีไม่...  จึงอ่านเรียนวิชาไวยากรณ์ไทยอย่างแห้งแล้งน่าเบื่อหน่าย

        ยังดีที่ได้เปลี่ยนชื่อวิชาจากไวยากรณ์เป็น  หลักและการใช้ภาษาไทย  ราชการก็เพิ่มคะแนนสอบขึ้น  และเป็นวิชาบังคับสอบทำให้นักเรียน(จำต้อง) สนใจวิชานี้  อีกทั้งมีครูภาษาไทยบางท่าน  เช่น  ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ และคณะ ครู "ลิลลี่" และอาจารย์จงจิต นิมมานนรเทพเรียบเรียงคู่มือการเรียนการสอนหลักและการใช้ภาษาไทย

        เมื่อครั้งยังเรียนวิชาไวยากรณ์ไทยในชั้นมัธยมต้นนั้น  แม้ผมจะเบื่อหน่าย  แต่ก็ฝีนใจเรียนเพื่อเป้าหมาย ๒ อย่าง คือ

        (๑)   ลบปมด้อย  ที่ตัวเองเป็นลูกผสมจีนกับลาว (คนเมือง) ภาษาไทยกลางที่ใช้ในโรงเรียนเป็น "ภาษาที่ ๓" ของผม  ผมต้องพยายามเรียน และใช้ให้เข้าใจดี

        (๒)   ผมงกคะแนนสอบ  เพราะตอนสอบ  เพราะตอนสอบเข้าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยนี้  ผมสอบได้ที่ ๑ ของจังหวัด  จึงมีเกียรติภูมิที่เด็กชายอายุ ๑๑ ขวบ  ต้องรักษา  แม้ว่าจะสอบได้เพียง ๕ ใน ๑๐ คะแนนก็ต้องไม่ให้สอบตกแม้แต่วิชาเดียว  แต่ทั้งห้องก็ได้คะแนนไม่เกิน ๕ ลงไปถึงกิน "ไข่ต้ม" ก็มี

        ครั้นเรียนๆ ไป ๒-๓ ปี  ผมนำหลักการใช้ภาษาไทยมาคอยจับ และวิเคราะห์สังเคราะห์ ชื่อ บุคคล  สถานที่  พิธีกรรม ฯลฯ ต่างๆ  ที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  แล้วลองอ่าน/ พูดในใจ ใหม่ๆ ก็ผิดๆ ถูกๆ แน่  แต่เมื่อได้เรียนเรื่องหลักการใช้และการผสม "คำสมาส/ คำสนธิ"  แล้วจึงเข้าใจและผิดน้อยลงๆ  จนเกือบไม่ผิด  ยกเว้นชื่อเฉพาะซึ่งได้กำหนด หรือต้องการให้อ่าน/ พูดเช่นนั้น

        ถามผมไหมว่า  "คำสมาส/ คำสนธิ"  คืออะไร  ใช้อย่างไรจึงจะถูก

        ถ้าผมโบ้ยว่า "จะไปรู้เหรอะ"  ผมก็เสียคนซีครับ  ก็ภรรยาของผมน่ะหัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทย และครูภาษาไทยดีเด่นของคุรุสภาพ ปี ๒๕๓๗ นะครับ  ใครจะปล่อยโข่งให้ภรรยาขายหน้าล่ะครับ

        คำสมาส  :  (อ่านว่า  "สะ-หมาด" นะครับ)  เป็นการนำคำศัพท์จากภาษาบาลี หรือสันสกฤตมาผสมแบบเรียงติดกันเพื่อเพิ่มความหมายเวลาอ่าน/ พูดออกเสียงให้ท้ายพยางค์คำก่อนมีเสียงเนื่องต่อมาเชื่อมกับเสียงต้นพยางค์ของคำต่อไป  ตัวอย่าง เช่น

               * รัฐ   อ่านว่า  รัด        * บาล   อ่านว่า  บาน
            เมื่อนำสองคำนี้มาสมาสเข้าด้วยกันเป็น  รัฐบาล  จึงต้องอ่านว่า  "รัด-ถะ-บาล"

               * ชาติ  อ่านว่า  ชาด     * พันธ์ อ่านว่า  พัน
            เมื่อนำสองคำนี้มาสมาสเข้าด้วยกันเป็นชาติพันธ์  จึงต้องอ่านว่า "ชาด-ติ-พัน"  แต่ในปัจจุบันมีสักกี่คนที่อ่านถูกต้องตามหลักคำสมาส

            พึงจำไว้ด้วยว่า  โดยปกติถ้าไม่อยู่ในสถานะคำสมาส  คำท้ายพยางค์จะไม่ออกเสียงสระเนื่องไป  เช่น  รัฐฉาน  จะไม่อ่านว่า  รัด-ถะ-ฉาน  เพราะ "ฉาน"  ไม่ใช่คำบาลี/ สันสกฤต  เป็นชื่อรัฐของชนชาติไทยใหญ่(ไต)

         อนึ่ง  แม้อยู่ในสถานะคำสมาสแต่ถ้าเป็นคำท้ายสุด  ก็ไม่ออกเสียงพยางค์ต่อเนื่อง  เช่น  โลกธาตุ  อ่านว่า  โลก-กะ-ทาด  ไม่อ่านว่า  โลก-กะ-ทาด-ตุ   คำว่า  มาตุ  อยู่โดดๆ ก็อ่านว่า  มาด  อยู่ท้ายพยางค์คำสมาสก็อ่านว่า  มาด  เช่นกัน

         เมื่อไหร่จะอ่านว่า "มา-ตุ"  ก็ต้องให้  มาตุ  เป็นส่วนหน้าของคำสมาส  เช่น  มาตุคาม  อ่านว่า มา-ตุ-คาม

         ที่จริงสังคมไทยก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่โต หรือเสียหายร้ายแรงนัก  ถ้าจะมีคนอ่าน/ พูดผิดๆ บ้าง  เช่น  พิธีกรคนอ่านข่าวออกวิทยุ/ โทรทัศน์  อ่านผิดๆ ประจำ  มิหนำซ้ำอ่านผิดเหมือนกันทุกช่องด้วย  เช่น  วัดแห่งหนึ่งชื่อ  "สมรโกฎิ"  ทุกช่องอ่าน  "สะ-หมอน-ระ-โก-ติ"  ผิดๆ ทุกคน  ทำไมไม่อ่านให้ถูกๆ ว่า "สะ-หมอน-ระ-โกด"  เล่าหนอ   อ๋อ...  คงมีที่ปรึกษาที่ไม่ค่อยรู้(แต่มีอำนาจ) ขี้แนะให้น่ะแหล่ะ

         อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์  ชื่อ  พชร อิศรเสนา ณ อยุธยา  บอกให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่า บิดาตั้งชื่อให้  อ่านว่า  "พด"  ท่านย้ำว่าไม่ใช่  "พด-ชะ-ระ"  ต่อมามีข่าวเกี่ยวกับตัวท่านไปออกสื่อ ปรากฏว่าผู้อ่านข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่ง  อ่านชื่อท่านอย่างคล่องคอออกจอแก้วว่า...  "พะ-ชอน-อิ-สอน-สะ-เหนา"  ผิดทุกคำ...  แต่แทบไม่มีใครรู้  นอกจากคนในแวดวงของกระทรวงพาณิชย์  ซึ่งคุยกันเฮฮาอยู่ไม่กี่วัน  ก็ลืมหมดแล้วครับ  ทั้งนี้ผู้อ่านผิด กับผู้ถูกอ่านผิด  ไม่ได้เป็นนักการเมือง  จึงไม่มีการนำไปขยายผลทางการเมือง  ทั้งๆ ที่กรณีนี้ก็อ่านผิดมากกว่าการอ่านคำว่า "คอนกรีต" เป็น "คอ-นก-รีด" ซะอีกแน่ะ ... เฮ่อ  แต่ทำไม  "คอ-นก-รีด"  จึงดังอยู่ตั้ง ๒-๓ ปี  โธ่... ไม่น่าถาม

        ดังนั้น  ผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูงในสังคม หรือวงการเมืองไทย  พึงแสวงหา "ที่ปรึกษา"  ที่รอบรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยมาเป็นที่พึ่งสักคน  โดยลดทนายความลงไปสักคนก็ได้

        ดูอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ซึ่งปฏิวัติยึดและใช้อำนาจมาตรา ๑๑๗  เด็ดขาด  ถึงขนาดสั่งยิงเป้า "มือเผา" ตลาดพลู ณ สถานที่เกิดเหตุในขณะควันไฟยังกรุ่นๆ   นักเขียน  นักหนังสือพิมพ์คนดังหลายสิบคนถูกนำไปไว้เรือนจำลาดยาว  ยุคสมัย ๒๕๐๑-๒๕๐๖  นั้น  แทบไม่มี  "ริ้นไร"  มาไต่ตอมรัฐบาลได้เลย  ด้านสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ญาติดีจู๋จี๋กับไทยแนบแน่น  ถึงขนาดนี้แล้ว  จอมพลสฤษดิ์ยังอุตส่าห์ไป(เอง)เชิญหลวงวิจิตรวาทการ  ผู้รู้รอบทั้งด้านการต่างประเทศ  ภาษา และศิลปวัฒนธรรมไทย  โดยแต่งตั้งให้เป็น  "ปลัดบัญชาการ" ทำเนียบนายกรัฐมนตรี

        ท่านลองย้อนไปดู/ ฟัง  คำขวัญ  คำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ตลอด ๖ ปีนั้นดูเถิด  ผมไม่เคยได้รู้เห็นว่ามีตรงไหน "เชย" แม้แต่คำเดียว   แต่... ข้อสำคัญจอมพลสฤษดิ์  โดยส่วนตัวอ่อนน้อมและไม่โง่ด้วย