Friday, July 28, 2017

ตอน สงครามศาสนาในอุษาคเนย์

                    เมื่อต้นปี ๒๕๒๖  คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ  ขณะนั้นยังบริหาร "ศิลปวัฒนธรรม" ได้ไปธุระที่ชลบุรี  แล้วแวะไปเสวนากับผมในฐานะเพื่อนเก่าแก่แต่เมื่อครั้งร่วมทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย  ก่อนลาจาก คุณสุจิตต์ปรารภว่า  อยากให้ผมซึ่งเป็นพาณิชย์จังหวัด  อยู่นอกวงวิชาการเขียนอะไรไปลงใน "ศิลปวัฒนธรรม" บ้าง  เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้มีสถานะอาชีพอื่นๆ ลองเขียนไปอย่างกว้างขวาง  ไม่จำกัดวงแคบๆ ในหมู่นักวิชาการเขียน/อ่านกันเอง

                    ผมปรารภว่า  ที่จริงผมอยากเขียนเรื่อง  "สงครามศาสนาในอุษาคเนย์"  คุณสุจิตต์มองหน้าผมอย่างฉงน  คงจะคิดว่าถ้าผมไม่พูดเล่น  ก็เป็นเพราะเมากาแฟ  แต่สีหน้าผมคงปกติ  เขาจึงรักษาน้ำใจ  โดยบอกว่า "...เอาเถอะๆ  เขียนอะไรก็ได้...."   แต่ผมไม่ได้เขียนอะไรอย่างที่บอก  ผมมีเรื่องเก่าที่เคยเขียนส่งให้ท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิลตรวจ และนำลงพิมพ์ที่คอลัมน์ "วิสาสะ" ในหน้า ๕ ของหนังสือพิมพ์รายวัน "ชาวไทย"  ยุคสี่แยกแม้นศรีในช่วงต้นปี ๒๕๑๕  แทนการเขียนประจำของท่าน ซึ่งลาไปเที่ยวเชียงใหม่-ลำพูน  ผมจึง "ปัดฝุ่น" ส่งเรื่องชุด "คุ้ยวรรณกรรม" (ภาค ๑) ไปให้  คุณสุจิตต์ ซึ่งคงจะต้นฉบับขาดมืด จึงนำลงพิมพ์อย่างรวดเร็ว  แต่...เวรกรรม  เรื่องของผมลงในหน้าติดกันกับบทความของนักวิชาการท่านหนึ่ง  สาระในเรื่องที่ผมเขียนบางตอนขัดแย้งกับเรื่องของท่าน  จึงเกิด "วิวาทะ" เขียนโต้แย้งกัน  ซึ่งตอนนั้นผมจำเป็นต้องโต้  เพื่อปกป้องบทความที่ท่านอาจารย์สถิตย์เคยเห็นชอบ แต่ท่านเองหายสาบสูญในช่วงต่อระหว่างปี ๒๕๒๓-๒๕๒๔  ไม่อาจกลับมาช่วยชี้แจงอะไรเองได้

                    แต่หลังจากนั้นจนวันนี้  ผมเขียนเองไม่มีศักดิ์ศรีนักวิชาการ หรือสำนักใดต้องปกปักรักษา  เพราะผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  และทำงานกระทรวงพาณิชย์ในระดับปลายแถว ถึงแม้ใครจะด่ากระทรวงเจ้าสังกัด  ผมก็ได้แต่ "แบ๊ะๆ ซื่อบื้อ" เท่านั้นเอง   ผมสมควรแสดงเหตุผลความเชื่อ และเงื่อนงำปัญหาที่น่าสงสัยในประวัติศาสตร์ที่ผมและคนส่วนใหญ่ในเมืองไทยอาจจะยังไม่เคยทราบว่า  เคยมี "สงครามศาสนา" ในอุษาคเนย์อย่างน้อย ๓ ครั้งจริงหรือไม่.

                    ครั้งแรก  :  เป็นสงครามระหว่างอาณาจักรจาม  ที่เราเรียกรู้ว่า "แขกจาม"  ซึ่งเดิมคงครองอำนาจในลุ่มแม่น้ำโขง  ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันคือ  กัมพูชาทั้งประเทศ  ลาวใต้  เวียดนามกลางและใต้  เชื่อกันว่าศูนย์กลางอำนาจอยู่ ณ นครเว้  เวียดนามกลาง (ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ชนชาติจาม อยู่เมืองนี้)   สถานภาพปัจจุบัน  เราทราบว่าชนชาติจาม หรือ "แขกจาม"  ยังเหลืออยู่เพียงระดับหมู่บ้าน ตำบล  อยู่ในเวียดนาม และกัมพูชา  ชนชาตินี้เมื่อพันปีก่อนเป็นเจ้าอาณาจักร์ที่พลเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู  บรรดาแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจปกครองก็ย่อมเป็นผู้นับถือศาสนาเดียวกับเจ้าอาณาจักร    แต่ด้วยเหตุผลกลใดผมไม่รู้ (ขอท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วย)  อยู่ๆ มาเจ้าอาณาจักรจามเกิดเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม  เปลี่ยนได้เฉพาะ(แขก)จาม  แต่แว่นแคว้นชนชาติต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจปกครองไม่ยอมเปลี่ยนตาม  โดยเฉพาะแคว้นกัมพูชาของขอม  ซึ่งมีพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เป็นกษัตริย์ และยึดมั่นอยู่ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู  จึงเกิดสู้รบกันเป็น "สงครามศาสนา" ขึ้นจะเป็นปีใดก็แล้วแต่  ย่อมอยู่ในช่วงพระชนม์ชีพ พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓ นี่แหละ  เป็นสงครามระหว่างอาณาจักรจาม/อิสลาม  กับแคว้นต่างๆ ที่มีพลเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู และอื่นๆ

                    จากเรื่องราวของสงครามที่ยิ่งใหญ่  จึงได้จารึกไว้เป็นภาพแกะสลักหินแบบนูนต่ำที่ผนังหินด้านหนึ่งของปราสาทนครวัดนั้น  เป็นหลักฐานชัดเจนว่า  กองทัพที่ยกไปทำสงครามกับอาณาจักรจามนั้น  มีหลายแคว้นรวมทั้ง "เสียมกก"  ที่กล่าวกันว่าหมายถึง "สยาม"  คือแคว้นใดแคว้นหนึ่งในแหลมทองไทย  (**จิตร ภูมิศักดิ์  เชื่อว่าเป็นชนชาติในลุ่มแม่น้ำกก ที่เชียงแสน**เชียงรายก่อตั้งหลังสงครามนี้**)  และแคว้นไทยดังกล่าวน่าจะไม่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู  อาจจะเป็นพุทธ หรือแถนผีฟ้า  แต่ภาพลักษณ์ของสงครามที่ปรากฏตลอดมา  คือ  เป็นสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ กับจาม  แต่ในทางวัฒนธรรมความเชื่อ  มันเป็นสงครามระหว่างผู้นับถือศาสนาที่ต่างกัน

                    ครั้งที่สอง  :  เราๆ ท่านๆ คงเข้าใจความหมายของวลีว่า  "แปรพักตร์/ขอมแปรพักตร์"  ซึ่งในพจนานุกรมก็ให้ความหมายว่า  :  เอาใจออกหากแข็งเมือง  ไม่ซื่อตรงจงรัก ฯลฯ

                    วลีศัพท์ที่ว่า "ขอมแปรพักตร์"  มีที่มาจากไหนอย่างไรหรือ?

                    ผมจำได้ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  แผ่นดิน(รัชกาล)สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่เรารู้จักในพระนามว่า "ขุนหลวงพะงั่ว"  มีข้อความสั้นๆ ว่า

                    มีพระราชโองการตรัสว่า "ขอมแปรพักตร์"

                    เหตุการณ์ต่อมาคือ  กองทัพกรุงศรีอยุธยาก็ยกไปตีเมือง  "พระนครหลวง"(นครธม)  เมืองหลวงของอาณาจักรขอมแตก  และยึดครองเป็นประเทศราชของสยามยาวนานมี "แข็งเมือง" ได้อิสรภาพสลับในช่วงสั้นๆ  แต่ปัญหาที่ผมขอเรียนถามท่านผู้รู้ คือ วลีศัพท์ที่ว่า "ขอมแปรพักตร์" นี้ มีต้นเหตุ หรือกำเนิดของวลีศัพท์มาจากเรื่องที่สังคมในยุคสมัยนั้นสนใจให้ความสำคัญมากจึงใช้ "ติด" อยู่ในภาษาไทยสืบต่อมา

                    ตัวอย่างเช่น  คำว่า "ห้าแต้ม"  ผมและคนไทยอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป  ล้วนรู้ความหมายทั้งนั้นในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔  ให้ความหมายไว้ในหน้า ๑๓๓๑ ว่า ห้าแต้ม : ว. พลั้งพลาดน่าขายหน้า

                    แต่ถามว่าต้นกำเนิดคำว่า "ห้าแต้ม" มาจากเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์ไทยผมก็ไม่รู้  จนอายุ ๗๕ ปี  จึงได้รู้จากหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "นำ้เงินแท้" เขียนโดยคุณวินทร์ เลียววาริณ  เล่าถึงเหตุการณ์จริงในช่วงพ.ศ. ๒๔๘๑  สภาของคณะราษฎรได้ลงมติสรรหานายกรัฐมนตรีแทนพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  ระหว่างพันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รองหัวหน้าคณะราษฎร  พระยาทรงสุรเดช  ได้คะแนนเกือบหมดสภา  เหลือให้หลวงพิบูลฯ (ต่อมา คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้เพียง "ห้าแต้ม"  บรรดาฝ่ายตรงข้ามกับหลวงพิบูลฯ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ยุคนั้นมีอิสระ  ก็เขียนข่าว หรือเรื่องใดก็ตามจะใช้คำวลีศัพท์ "ห้าแต้ม" แทนเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าขายหน้า  เปิ่นเทิ่น  ไม่เข้าท่า  ผิดปกติ ฯลฯ  ติดอยู่ในสำนวนไทยมาจนทุกวันนี้  ทั้งๆ ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ถูกโค่นอำนาจไปเกือบ ๖๐ ปี  ถึงอสัญกรรมที่ญี่ปุ่น ๕๐ ปีแล้ว

                     ทั้งนี้  เหตุการณ์โหวตได้ "ห้าแต้ม"  ถูกประโคมจนแพร่หลายติดปากคนไทย  ก็เพราะผู้ได้รับคะแนนท่วมท้นไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี  ทั้งถูกกล่าวหาร่วมการกบฏ  ต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ในกัมพูชาจนถึงแก่กรรมช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

                     สังคมไทยจึงประท้วงคนที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  ทั้งๆ ที่โหวตได้ "ห้าแต้ม" โดยวิธีประจานอย่างสันติ  แต่ฝังลึกนานกว่าค่อนศตวรรษแล้ว

                     ผมเชื่อว่า วลีศัพท์ "ขอมแปรพักตร์" ย่อมเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชนชั้นสูงของราชสำนักสยาม และราชสำนักขอม (กัมพูชา)  ช่วงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ต้นเหตุใดจึงก่อความร้าวฉานหนักหนาถึงกับตรัส (ประนาม) ว่า  "ขอมแปรพักตร์"?   แต่ผ่านกาลเวลามากว่า ๖๐๐ ปีแล้ว  ผมก็ยังไม่เคยอ่านพบ หรือได้ยินท่านใดอธิบายให้ทราบว่า ต้นกำเนิดของวลีศัพท์ "ขอมแปรพักตร์"  มีความเป็นมาอย่างไร  เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔  ก็ไม่เก็บคำวลีศัพท์นี้  แต่เก็บไว้เฉพาะคำ "แปรพักตร์"  โดยให้ความหมายอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันคือ "เอาใจออกหาก"  ผมลองถามเพื่อนที่สนใจทางโบราณคดีก็ไม่มีความชัดเจนแบบ "ฟันธง"  ผมก็ชะงักอยู่นานนับสิบปี

                     ช่วงปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙  ผมรับราชการพาณิชย์จังหวัดสุพรรณบุรี  มีโอกาสก็วานผู้รู้พงศาวดารตำนานเมือง  พาผมไปชมวัดวาอารามโดยเฉพาะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน "บ้านพลูหลวง" ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ผมเชื่อว่าคนไทยที่อ่านหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ตอน เสียกรุงในปี ๒๓๑๐  คงทราบว่าพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายเมื่อวันกรุงแตกอยู่ใน "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง"  แต่ไม่เคยบอกอีกนิดเลยว่าบ้านพลูหลวงอยู่ที่ไหน  มีประวัติความเป็นมาอย่างไร  ถ้าไม่ใช่โชคชะตาพัดพาผมไปทำงานที่สุพรรณฯ  ผมก็ไม่ได้รู้เห็นอะไรเพิ่มเติมอีก

                     ผมไปแถว "บ้านพลูหลวง" บ่อยๆ เพื่อแวะกิน "ก๋วยจั๊บน้ำข้น" อร่อยถูกใจ และได้รับข้อมูลน่าสนใจ คือ พ่อค้าย่านนั้นนำพระเครื่องดินเผาจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาให้ดู  แม้ไม่มีองค์ใดอยู่ในเบญจภาคี  ไม่มีราคาสูงในตลาดพระเครื่อง  แต่ผมกลับได้รับข้อมูลน่าทึ่ง  เพราะพระเครื่องดินเผา ๓ องค์นั้น  มีรูปทรงซุ้มเรือนแก้วรูป ๕ เหลี่ยม  ยอดสูงราว ๕ เซนติเมตร  ฐานกว้าง ๔ เซนติเมตร  หนาราว ๑ เซนติเมติ  เนื้อดินเผาแกร่งมาก   แต่ที่พิเศษสุด คือ รูปพระ ๓ องค์ ที่ด้านหน้าพระเครื่องซึ่งดูผาดๆ คล้าย "พระสาม" ยุคหริภุญไชย  แต่นี่ไม่ใช่  เพราะสามองค์ที่มี  คือ องค์ซ้ายเป็นพระอิศวร  และพระนารายณ์ (เห็น ๔ กร ชัดเจน) แต่รูปพระองค์กลาง คือ พระพุทธเจ้า  เช่นในพระเครื่องทั้งหลายในตลาดพระนั่นเอง  ผมถามเซียนพระที่สุพรรณบุรี  ได้ความว่า  พระเครื่องกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  เป็นพระเครื่องเก่าก่อนพระดังๆ ทั้งหลายในเมืองไทย  อายุเกิดพันปีมีมาคู่กับราชวงษ์สุพรรณภูมิ หรือ "บ้านพลูหลวง"  แต่...น่าเสียดายที่เป็นพระเครื่องในรูปแบบ "พุทธศาสนาลัทธิมหายาน" คนไทยไม่นิยม  ราคาค่าเช่าจึงไม่กี่ร้อยบาท  ทั้งนำภาพถ่ายพระเครื่องแบบดังกล่าวให้ผมดู และบอกว่าพระพิมพ์นี้เรียกว่า "นารายณ์ทรงปืน"
พระนารายณ์ทรงปืน
   ต่อมาผมติดตามอาจารย์สถิตย์ เสมานิลไปเยี่ยมญาติๆ ของท่านที่เมืองลพบุรี  ผมมีเวลาไปแถวพระปรางค์สามยอด และตลาดท่าหิน  พบแผงพระเครื่อง  มีพระนารายณ์ทรงปืนอยู่ ๒ องค์ ขนาดย่อมกว่าองค์ที่เคยเห็นที่สุพรรรณบุรี  โดยองค์หนึ่งเนื้อชินมีกรอบโลหะ  อีกองค์เนื้อดินเผาดูเก่าๆ มอๆ  เจ้าของเรียกราคาองค์ละ ๓๐๐ บาทแน่ะ (**เงินเดือนของผมยังไม่ถึง ๒,๐๐๐**) ผมถามว่า "นารายณ์ทรงปืนใช่ไหม?"  ใช่ครับ  อายุกว่าพันปีสมัยละโว้โน่นละครับ  ผมต่อราคาได้ ๒ องค์ รวม ๒๐๐ บาท  บัดนี้เหลือองค์เนื้อชินองค์เดียว  ส่วนอีกองค์ผมซุ่มซ่ามทำหลุดหล่นแตก  น่ากลัวเพิ่งปั๊มใหม่ พิมพ์ยังไม่แห้งสนิท (ฮาๆ)

                       ผมพึงพอใจมากที่ได้พระเครื่องตามลัทธิพุทธศาสนามหายานเป็นหลักฐานทางโบราณคดี  ซึ่งมีคุณค่าต่อผมมากกว่า  ในฐานะวัตถุมงคล  เพราะตั้งแต่เกษียณเมื่อ ๒๕๔๒  ผมก็นิมนต์พระเครื่อง และเหรียญเกจิทั้งหลาย "เข้ากรุ" เก็บไว้  ไม่เหลือห้อยคอแม้แต่องค์เดียว   หลังเกษียณ  ผมมีเวลาแวะไปฟังบรรยาย หรืออภิปรายที่สถาบันวัฒนธรรมตะวันออกที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง  ถนนรองเมือง  ครั้งหนึ่งได้ฟังท่านอาจารย์กรุณา กุศลาลัย ราชบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญอินเดียศึกษา บรรยายพิเศษเรื่อง "ความเจริญ และความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย"  สาระสำคัญสรุปได้ คือ

                       ความเจริญ  :  ผมได้ฟังเหมือนๆ กับที่เคยอ่าน  เคยฟังจากพระสงฆ์ทรงภูมิปัญญาทั้งหลาย และนักวิชาการเขียนตำรา/ สารคดีไว้นับร้อยเรื่อง

                       ความเสื่อม  :  ผมเคยเรียนนิดหน่อยตรงกับที่ชาวพุทธรับรู้ว่า "ถูกนักรบมุสลิมรุกราน เผาทำลายศูนย์กลางพุทธศาสตร์ (มหาวิทยาลัย) นาลันทา  ฆ่าพระสงฆ์ และพุทธบริษัทในเมืองนาลันทาแทบหมดสิ้น...."

                       แต่ท่านอาจารย์กรุณา กล่าวว่า "การรุกรานทำลายที่นาลันทานั้น  เป็นการทำลายทางรูปธรรม  แต่ "ศรัทธา" อันเป็น "นามธรรม" ยังคงมีอยู่ และเจริญอยู่ในอินเดียใต้ และศรีลังกา

                       ศรีลังกานั้น เคร่งครัดวัตรปฏิบัติตามลัทธิหินยาน  จึงอยู่รอดมาจนปัจจุบัน

                       แต่อินเดียใต้นั้น  บรรดาพราหมณาจารย์ เห็นว่าศาสนาพุทธได้รับความนิยมนับถือมากเท่าใด  ศาสนิกพราหมณ์ฮินดู และลาภสักการก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ  พราหมณาจารย์จึง "แปร" รูปศาสนาพราหมณ์ให้เป็น "กึ่งพราหมณ์กึ่งพุทธ"  โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้านั้นแท้ที่จริงคือ พระนารายณ์อวตารปางล่าสุดเรียกว่า "พุทธาวตาร"   ผนวกเอาพระพุทธรูปเข้าไปตั้งในโบสถ์พราหมณ์ด้วย  เชิญชวนชาวพุทธ และหรือพราหมณ์ก็เข้ามาสักการบูชาได้   ส่วนวัดพุทธก็ไม่ให้น้อยหน้า  จึงจัดการผสมผสานรูปพระอิศวร กับพระนารายณ์มาผนวกกับพระพุทธรูป  แต่เพราะเป็นศาสนสถานของชาวพุทธมาก่อน  มีพระอิศวร กับพระนารายณ์ประทับยืนขวาซ้าย  คล้ายเป็นราชองครักษ์ของพระพุทธองค์ด้วย (**ดังที่ปรากฏในพระเครื่อง "นารายณ์ทรงปืน**)

                        พุทธศาสนาลักษณะนี้เรียกว่า  "พุทธศาสนาลัทธิมหายาน วัชรนิกาย"  รุ่งเรืองในอินเดียใต้แผ่ขยายมายังอินโดจีน มีอาณาจักขอมเป็นหลัก

                        ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาลัย สรุปว่าเหตุที่พุทธศาสนาสูญไปจากอินเดียเพราะ ถูกศัตรูจากภายนอกรุกรานทำลายในอินเดียเหนือ  แต่ที่สูญสลายจริงๆ คือ การ "ทำลายจากภายใน" คือแปรเปลี่ยนหลักธรรมความศรัทธา   ผมได้ฟังท่านอาจารย์สาธยายแล้ว  ทำให้ความรู้เรื่องพงศาวดารไทย และวัฒนธรรมด้านศาสนาจักร และราชสำนักไทยเริ่มเกิด "จุดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" เกิดขึ้นในสมองของผม ผิดถูกอย่างไร  ผมขออนุญาตขยาย "ขี้เท่อ" ดีไหม (แน่ใจนะว่าไม่รังเกียจ) นะครับ

                        ผมเคยได้อ่านหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมต้นเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อน  กล่าวว่าเดิมอาณาจักรขอมครอบครองอำนาจเหนือแดนแหลมทองสุวรรณภูมิอยู่ในช่วงก่อนกรุงสุโขทัย คือ ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน  แต่ในสมัยนั้น  ยังเป็นแคว้นต่างๆ เช่น  อโยธยา  ลพบุรี (ละโว้) สุพรรณภูมิ  เพชรบุรี ฯลฯ  และพื้นที่อีสานใต้รวมทั้งบรรดาที่มีปราสาทหินเป็นหลักฐานอยู่  ผมเชื่อว่าอาณาจักรขอมและบรรดาแว่นแคว้นทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจปกครอง  ย่อมนับถือลัทธิศาสนาเหมือนกัน  ซึ่งในช่วงแรกๆ หลักฐานชัดเจนว่านับถือศาสนาพราหมณ์  มีปราสาทหิน  มีพระปรางค์  สื่อถึงความเชื่อว่าสร้างเป็นสัญลักษณ์แทนวิมาน  หรือที่สิงสถิตของพระอิศวร และพระพรหม  ความศรัทธาในลัทธิศาสนาพราหมณ์ย่อมมั่นคง  มาจนอย่างน้อยก็สมัยสร้างปราสาทนครวัดแล้ว

                       แต่...อีกราวศตวรรษต่อมา  ถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  เราได้ทราบจากนักวิชาการว่า อาณาจักรขอมได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแบบมหายาน  โดยบอกว่าที่ "นครธม พระนครหลวง" ของอาณาจักรขอมในยุคนี้ได้สร้างปราสาท "นครธม" ด้วยศิลปะแบบใหม่ที่เรียกว่า "แบบบายน" หรือ "ศิลปะบายน"  มีสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคือ  ปราสาทที่มีหินแกะสลักเป็นภาพพระพักตร์เหมือนกันทั้ง ๔ ทิศ  ผู้รู้กล่าวว่านั่นคือ "พระพรหม"  ในพุทธศาสนามหายาน  อ้างถึงหัวข้อธรรมะในศาสนามหายาน  อ้างถึงหัวข้อธรรมะในศาสนาพุทธประกอบได้  เช่น  พรหมวิหารสี่พรหมทัณฑ์  ส่วนลักษณะพระพักตร์แสดงความเป็น "ชาวขอม/เขมร/กัมพุช"  ไม่เป็นแบบพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เราคุ้นตา  ก็มีการสันนิษฐานว่า  ลักษณะพระพักตร์ของพระพรหม ๔ หน้าของปราสาทบายนนั้นจำลองจากพระพักตร์ชองพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

                      ผมไม่ใช่นักวิชาการ  ไม่เคยเรียนโบราณคดี  จึงขออนุญาตถาม(โง่ๆ) ว่า "อะไรคือ สาเหตุทำให้อาณาจักรขอมเปลี่ยนศาสนาจากพราหมณ์มาเป็น "พุทธมหายาน วัชรนิกาย"  และมีเรื่องราว หรือตำนานเล่าไว้อย่างไรบ้าง?"   ผมเชื่อว่า  เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  ทรงเปลี่ยนศาสนาแล้ว  บรรดาแว่นแคว้นที่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับอาณาจักรขอม ก็ย่อมตามเสด็จพระราชนิยมด้วย  ดังที่ผมได้พบเห็นพระเครื่อง "นารายณ์ทรงปืน"  กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บ้านพลูหลวง สุพรรณบุรี  และที่ลพบุรี  แสดงว่าแคว้นสุพรรณภูมิ และที่ลพบุรี  อโยธยา ฯลฯ  และแคว้นอื่นที่มีร่องรอยศาสนาสถาน และพระพุทธรูปโบราณแบบ "ทรงเครื่อง" เป็นพุทธมหายานร่วมสมัย   การที่ราชสำนักขอมใช้ทรัพยากรอย่างมากมายมหาศาลไปทุ่มเทสร้าง "ปราสาทนครวัด" และ "ปราสาทบายน" ที่นครธม หรือพระนครหลวง  ย่อมเกิดผลสะท้อนบั่นทอนความมั่นคงของอาณาจักรขอมนั่นเอง  เพราะทรัพยากรที่นำมาดำเนิน "อภิมหาโครงการ" ก็ต้องกะเกณฑ์รีดนาทาเร้นเอาจากไพร่บ้านพลเมืองของทุกแคว้นทุกเมืองที่อยู่ในพระราชอำนาจ

                     หลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้ว  อาณาจักรขอมก็เสื่อมอำนาจวาสนาบารมีลง บรรดาเจ้าแคว้นต่างๆ จึงหาช่องโอกาสเป็นอิสรภาพ  แต่แคว้นที่เคยมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษยังสงวนท่าที (ดูเชิง) ก่อน  เป็น  "มรดกวัฒนธรรม" ของชนชาติไทยสืบกันมาหลายศตวรรณแล้ว   แต่แคว้น "สุโขทัย"  ไม่มีสายสัมพันธ์ใดเป็นพิเศษ  เพราะผู้นำคือ "ขุนบางกลางหาว(ท่าว)" และท่านผู้หญิงเสืองเป็นไทยแท้  แต่อพยพคนจากลุ่มน้ำโขงมาตั้งบ้านเมืองอยู่ในเขตอำนาจของอาณาจักรขอม จึงเป็น "เมืองขึ้น" ต้องแสดงความจงรักภักดี  โดยส่งส่วยน้ำตามกำหนด   เผอิญขุนบางกลางหาว(ท่าว) มีสัมพันธ์สนิทกับ "ขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด" (**อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์  อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมศิลปากรศึกษาค้นพบว่า "เมืองราด" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโพ  เขตต่อระหว่างอุตรดิตถ์กับนครสวรรค์ มิใช่ "เมืองราด" ตามนิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ**)  และขุนผาเมืองมีศักดิ์เป็น "เขย" ของกษัตริย์ขอม  ได้รับพระราชทานยศเป็น "ขุนศรีปตินทราทิตย์"  แต่กลับ "ทรยศ" โดยหนุนหลังให้ขุนบางกลางหาว(ท่าว) ประกาศอิสรภาพก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นได้

                      เราย่อมทราบกันดีว่า "ขุนบางกลางหาว(ท่าว)"  เมื่อสถาปนากรุงสุโขทัยแล้ว  ทรงพระนามว่า (พ่อขุน) "ศรีอินทราทิตย์"  กล่าวกันว่า  ราชทินนามเช่นนี้ (พ่อขุน) ศรีปตินทราทิตย์ (ผาเมือง) มอบไว้ให้

                      ผมคิดว่าคงมีผู้สงสัยไม่น้อยว่าทำไมยกยศศักดิ์ให้กันง่ายๆ เหมือนเล่นลิเกหรือ?  ต่อมามีนักวิชาการได้ "สันนิษฐานาธิบาย" ว่าพระนาม "พ่อขุนผาเมือง"  หายไปจากประวัติศาสตร์ก็เพราะได้รับสถาปนาไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา (**เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็ย่อมสอดรับกับการทรงมีพระศักยภาพมากพอที่จะ**)  อวยยศ  "ศรีอินทราทิตย์"  ให้แกพ่อขุนบางกลางหาว(ท่าว)ได้    เมื่ออำนาจวาสนาบารมีของอาณาจักรขอมตกต่ำถึงขนาด "นำเข้า" กษัตริย์จากแคว้นสยามที่มีอานุภาพมากกว่าบรรดาแคว้นอื่นๆ เช่น อโยธยา  ลพบุรี  เพชรบุรี  สุพรรณภูมิ  ฯลฯ  ย่อมปลีกตัวเป็นอิสระ  ซึ่งทางด้าน "นครธม - พระนครหลวง"  นอกจากไม่มีปัญญาจะว่ากล่าวใดๆ แล้วยังเสี่ยงต่อการถูกรุกรานจากแคว้นอื่นๆ ด้วย   ครั้นเมื่อ ๓ แคว้นใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยา  คือ  อโยธยา  สุพรรณภูมิ  และลพบุรี  ผนึกกันเป็นทองแผ่นเดียวกัน  และสถาปนาอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาแล้ว  นั่นคือสัญญาณว่าความพร้อมที่จะชิงตำแหน่งศูนย์กลางแห่งอำนาจจากอาณาจักรขอมนั้นเกิดขึ้นแล้ว  รอแต่ว่าจะ "อ้างอะไรเป็นเหตุ" จึงจะสมควรแก่เหตุ  ในที่สุดก็ได้  คือ อาการหรือเหตุที่ตรัสว่า "ขอมแปรพักตร์" นั่นเอง

                      ถามท่านผู้รู้ว่า  ลักษณะใดในตำนานจึงเรียกว่า "ขอมแปรพักตร์"?   ผมไม่เคยได้รับความกระจ่าง  มีคนพยายามจะบอกว่าเพราะขอไปพึ่งบารมีญวนแทน  ผมไม่เชื่อหรอก  เพราะอาณาจักรเวียดนามเพิ่งก่อตั้งโดยจักรพรรดิเลถั่นตง  ในช่วงร่วมสมัยกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งภายหลังวลีคำศัพท์  "ขอมแปรพักตร์"  อีกค่อนศตวรรษ  ผมจึง  "อับจนปัญญา"  จนอายุ ๖๐ ปีเศษ มีมิตรสหายในคณะต่างๆ ๓ รายชวนผมไปเที่ยวนครวัด-นครธม ๓ คืน ๔ วัน  ผมจึงเพิ่งได้ไปครั้งแรก ๒๕๔๕ และไปกับคณะอื่นอีก ๒ ครั้งในปีต่อมา   ผมได้หาซื้อหนังสือเกี่ยวกับนครวัดนครธม และกัมพูชา ๗ เล่ม มาอ่านศึกษาก่อนเดินทาง  เพื่อให้มีความรู้  จะได้เที่ยวดูอะไรๆ อย่างเข้าใจ และคุ้มค่ากับเวลาและเงินทองที่ต้องเจียดบำนาญเลี้ยงชีพไปใช้จ่ายอ่านหนังสือจบ และเที่ยวดูอะไรที่ควรชมแล้ว  ก่อนกลับเมืองไทยผมจึงมอบหนังสือทั้งหมดให้ "คุณสารี" ชาวเมืองเสียมเรียบ (เสียมราฐ) ซึ่งเป็นทั้งเอเย่นต์ทัวร์ และไกด์ทัวร์ด้วย  จึงมีไมตรีจิตมากขึ้น และการไปเที่ยวครั้งที่ ๓ คุณสารีมีเวลาให้เรามากขึ้น  เขาได้พาเราปีนเข้าไปดูภายในของปราสาทนครธม  "ศิลปะบายน"  ที่เราเห็นภายนอกทั้ง ๔ ด้าน เป็นภาพหินแกะสลักรูป "พระพรหม" สี่หน้า  ที่กล่าวกันว่าเป็นพรหมในความเชื่อของพุทธศาสนามหายานดังกล่าวมาก่อนแล้ว

                       ผมคาดว่าจะได้เห็น  ตรงศูนย์กลางของบริเวณที่  "พรหมสี่หน้า"  หันหลังล้อมอยู่นั้นคือ พระพุทธรูป (หรือพระอวโลกิเตศวร) ในคติมหายานวัชรนิกาย  ผสมพุทธ + พราหมณ์  ดังเคยเห็นในพระเครื่อง "นารายณ์ทรงปืน" ที่ลพบุรี และสุพรรณบุรี  แต่...ผิดคาด  เพราะบนแท่นหินที่ยกสูงจากพื้นราว ๒-๓ เมตร  เป็นลานหินราบๆ มีรูปลักษณ์ "โยนี" อยู่ตรงกลาง  เราเคยคุ้นตาจากปราสาทหลายแห่ง  รวมทั้งปราสาทใหญ่นครวัดที่รูปลักษณ์โยนีเช่นนี้  ต้องมีแท่งหินแกะสลัก (สมมุติ) เป็น "ศิวลึงค์" ตั้งอยู่คู่กัน  แต่...ที่ปราสาทนครธมไม่มี  "ศิวลึงค์"  จึงมีคนถามถึงอวัยวะสำคัญนี้  "สารี" พูดจาเรียบร้อยจริงจังว่า  เขาเคยฟังคนเก่าแก่ของเสียมเรียบเล่าสืบๆ กันมาว่า

                       "แรกสร้างปราสาทนครธมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั้น  บนแท่นหินศูนย์กลางปราสาทจะเป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินประทับอยู่  ต่อมาในชั้นราชนัดดาขึ้นครองราชย์  พระเจ้าย่า(อัยกี) ทรงอุปการะหญิงสาวสวยฉลาดชาวชวา และอภิเษกให้เป็นมเหสีของกษัตริย์นครธม  เผอิญเธอเป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์  และมีความทะเยอทะยาน  ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งกุมอำนาจจนสามารถทำให้พระเจ้ากรุงกัมพูชา  มีราชโองการให้ชาวกัมพูชาเปลี่ยนศาสนา  เป็นลัทธิพราหมณ์  อีกทั้งแกะสลักเปลี่ยนจากพระพุทธรูปกลายเป็น  แท่งศิวลึงค์กับหลุมโยนี  ในปราสาททุกๆ แห่ง..."

                       ผมถึง "บางอ้อ" และสันนิษฐานาธิบายได้ว่า  นี่คือ  ปฐมเหตุของคำวลีศัพท์  "ขอมแปรพักตร์"  ซึ่งผู้มีอำนาจได้เหยียบย่ำหัวใจไพร่ฟ้าประชาขอม  โดยแปรเปลี่ยนรูปพระพักตร์พุทธรูปกลายเป็นอวัยวะเพศ คือ  ศิวลึงค์  คาดว่าต้องมีชาวขอมส่งข่าว(ฟ้อง) ปรับทุกข์ขอความช่วยเหลือจากสยาม   พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรง(จ้องอยู่แล้ว) จึงได้โอกาส  ตรัสราชโองการว่า "ขอมแปรพักตร์"  ยกทัพไปแก้ปัญหาโดยจัดการเปลี่ยนทั้งกษัตริย์ และลัทธิศาสนากลับมาเป็นพุทธ(มหายาน) ตามความต้องการของชาวขอม  แต่ก็ต้องแลกด้วยการยอมให้สยามปกครองแทน


                       ผมสรุปว่า  นี่คือ  สงครามที่มีเหตุประเด็นขัดแย้งทางลัทธิศาสนาระหว่างพุทธ (มหายาน) กับพราหมณ์ในดินแดงอุษาคเนย์  นับเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งครั้งก่อนสยามจะมีบทบาทก็เพียงตัวประกอบ  แต่ครั้งที่ ๒ นี้  สยาม คือ กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้แสดงสำคัญทีเดียว