ผมคิดว่า เราคุ้นกับความเข้าใจว่าสาเหตุแห่งการทำสงคราวระหว่างแคว้นไทยในดินแดนสยาม เนื่องเพราะการชิงอำนาจ และผลประโยชน์ระหว่างแคว้นคู่พิพาท ผมก็เข้าใจเช่นนี้ แต่เมื่อผมได้อ่านทบทวน และพิจารณาเหตุการณ์ในสงครามระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา กับพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนานั่นแล้ว ผมเชื่อว่าสาเหตุแห่งสงครามมีหลายประเด็นมากกว่า ประเด็นชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในหลายประเด็นคือ "ลัทธิความเชื่อในศาสนาที่แตกต่างกัน" นับเป็นสงครามศาสนาครั้งที่ ๓ ในอุษาคเนย์
เราถูก "ตัดทอน" รายละเอียดให้ได้ทราบจากพงศาวดารว่า สาเหตุของการสงครามเกิดขึ้นเพราะ พระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองเชลียงคิดกบฏ กวาดต้อนผู้คนและขนทรัพย์สมบัติขึ้นเหนือไปขอพึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โดยอาสานำทัพล้านนาลงมาตีอาณาจักรสุโขทัยซึ่งขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงมีความชอบธรรมที่จะทรงยกทัพไปปราบกบฏ และไล่ตามจับพระยายุทธิษฐิระเพื่อกวาดต้อนเอาผู้คน และทรัพย์สินคืนกลับมา แต่ความจริงทางนครเชียงใหม่เห็นว่าพระยายุทธิษฐิระ "หนีร้อนมาพึ่งเย็น" จึงรับไว้แต่ไม่ให้ความสำคัญมากนัก โดยให้พาผู้คนอพยพไปอยู่เมืองพะเยาตลอดพระชนม์ชีพ แม้กรุงศรีอยุธยาขอตัวพระยายุทธิษฐิระไปพิจารณาโทษ แต่ทางเชียงใหม่ไม่ยอม จึงเกิดสู้รบเป็นสงครามยืดเยื้อกว่าสิบปี
ถามว่า ทำไมฝ่ายนครเชียงใหม่จึงขัดขืนไม่ยอมส่งคืนผู้คน และทรัพย์สิน?
ผมตอบแทนพระเจ้าติโลกราช ได้ว่า "ข้าก็หนึ่งในโลก" นี่เฮ้ย...แปลความหมายของพระนามาภิไธย "ติโลกราช" คือ "ราชาแห่งสามโลก" เอ๋า...แล้ว "บรมไตรโลกนาถ" ละแปลว่าอะไร? อ๋อ...คือ "ที่พึ่งแห่งสามโลก" เรียกว่า ใหญ่พอๆ กัน และไม่มีใครอ่อนข้อ ก็ต้องเกิดการ "ทรงหมั่นไส้" ซึ่งกันและกันฐานละเมิดสิทธิ์ "พระนามาภิไธย" กันอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่รอเวลาหาเหตุที่เหมาะสมจะเป็น "ชนวนระเบิด" ในที่สุดก็ได้ที่ เมื่อพระยายุทธิษฐิระทำเหตุนั่นเอง
พระเจ้าติโลกราช |
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ |
นอกจากความหมายของพระนามาภิไธย จะบ่งบอกถึงลักษณะท้าทายกันแล้ว ยังมีนัยสำคัญยิ่งประเด็นหนึ่งซึ่งยังไม่เคยพบเห็นท่านผู้ใดกล่าวถึง คือ ประเด็นความขัดแย้งแตกต่างทางลัทธิศาสนา ท่านอาจสงสัยว่า "คนไทยศาสนาพุทธนี่หรือขัดแย้งแตกต่างกัน?" พระนามาภิไธย "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ" บ่งชัดว่าอักขรวิธีแบบสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ฮินดูและประชาชนส่วนใหญ่ คงจะนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน วัชรนิกาย เช่นเดียว กับราชสำนักและพลเมืองขอมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นแบบของอาณาจักรอโยธยา สุพรรณ(ภูมิ)บุรี และลพบุรี ซึ่งสามอาณาจักรนี้ผนวกเข้าเป็นอาณาจักรเดียวในนาม "กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งเป็นชื่อพระนครของพระนารายณ์อวตารปาง "รามาวตาร" หรือพระรามตามมหากาพย์เรื่อง รามายณะ หรือ "รามเกียรติ์" ทั้งนี้พุทธศาสนามหายานวัชรนิกาย เป็นการผสมระหว่างพุทธกับพราหมณ์ ดังที่ผมเคยเห็นพระเครื่อง "นารายณ์ทรงปืน" จากกรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่สุพรรณบุรี และที่เมืองลพบุรีเป็นพระเครื่องที่มีรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่กลาง มีพระศิวะและพระนารายณ์ประทับยืนอยู่ ๒ ข้างพระพุทธรูป
ส่วนอาณาจักรล้านนา นครเชียงใหม่ เป็นกลุ่มชาวไทยที่ด้อยวัฒนธรรมมาก่อนโดยนับถือเจ้าเข้าทรงผี ดังวลีศัพท์ว่า "ผีซ้ำด้ำพลอย" เป็นหลักฐานการเคารพบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งชนเผ่าไทยทางลุ่มน้ำโขงตอนเหนือ และชนเผ่าไทยในดินแดงที่ต่อมาเป็นอาณาจักรล้านนา (**รวมทั้งชาวสุโขทัยในยุคแรกตั้ง ก็เคารพนับถือ "พระขะพุงผี" เป็นใหญ่กว่าผีทั้งหลายในสุโขทัย**) นับถือผีมาก่อนด้วย ครั้นต่อมาชาวไทยในอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรที่มีสัมพันธภาพใกล้ชิด เช่น แคว้นพะเยาของพญางำเมือง กรุงสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วง ได้รับเอาพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน เป็นศาสนาของราชสำนัก และประชาชนที่เลื่อมใส จึงใช้อักขรวิธีตามแบบภาษาบาลีเป็นภาษาราชการ ดังนั้น พระนามาภิไธยของพระเจ้าติโลกราช จึงเป็นไปตามรูปแบบภาษาบาลี และพุทธหินยาน ความขัดแย้งประการแรกระหว่างนครเชียงใหม่ กับกรุงศรีอยุธยา คือ ประเด็นการนับถือศาสนาพุทธที่ต่างลัทธิความเชื่อกัน ประเด็นที่สอง คือ ความแตกต่างกันในลัทธิการปกครอง/บริหารราชการ ซึ่งเราเรียนรู้จากในหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ไทยว่า
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพระราชโองการให้จัดระบบบริหารราชการแผ่นดินที่เรียกว่า "หลักจตุสดมภ์" หรือ "เสนาบดีสี่เหล่า" คือ เสนาบดีเวียง เสนาบดีวัง เสนาบดีคลัง และเสนาบดีนา (**ซึ่งราชสำนักสยามใช้บริหารประเทศต่อเนื่องเกือบ ๕ ศตวรรษ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปฏิรูปครั้งใหญ่**)
ลำพังแต่การจัดระบบ "จตุสดมภ์" คงไม่มีปัญหาอะไรต่อนครเชียงใหม่ แต่ที่มีปัญหาก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงกำหนดทำเนียบศักดินา ยศตำแหน่งข้าราชการขึ้นมาใช้ ได้แก่ หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา
พญามังรายมหาราช ทรงก่อตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาก่าครึ่งศตวรรษ ราชสำนักนครเชียงใหม่กำหนดตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการเรียกบรรดาศักดิ์ว่า "หมื่น" เช่น หมื่นโลกนคร หมื่นด้งนคร ถ้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงกำหนดชั้นยศตำแหน่งโดยไม่มีชั้น "หมื่น" หรือเรียกเป็นชื่ออื่นก็คงไม่ทำความขุ่นหมองข้องใจให้แก่พระเจ้าติโลกราช และขุนนางนครเชียงใหม่แน่นอน สมมุติ ประเทศหนึ่งใดใกล้ๆ เรากำหนดว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่เฝ้า และปิดเปิดอาคารราชการให้เรียกว่า "ปลัดกระทรวง" คนไทยได้ทราบจะรู้สึกอย่างไร? อ๋อ...ก็ฉุนกันแน่ เพราะเป็นการ "หยามเกียรติ" กัน นี่ย่อมเป็นเหตุให้ชาวนครเชียงใหม่ขัดเคืองสะสม จนระเบิดเป็นสงครามด้วยชนวนเหตุที่สำคัญ คือ กรณีพระยาเชลียง (ยุทธิษฐิระ) ดังกล่าวมาแล้ว
ถ้าเราอ่านเพียงหนังสือพงศาวดารไทย ซึ่งเขียนในยุคกรุงศรีอยุธยา และยุคกรุงเทพฯ กับ "นิทานโบราณคดี" พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เราก็ย่อมเห็นคล้อยตามว่า
* พระยายุทธิษฐิระ เป็นกบฏทำความชั่วร้ายต่อราชสำนักกรุงศรีอยุธยา
* พระเจ้าติโลกราช แห่งนครเชียงใหม่พ่ายแพ้ในการสงครามกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนราถแห่งกรุงศรีอยุธยา
ถ้าเราอ่านเฉพาะชื่อเรื่องของวรรณคดีโบราณเรื่อง "ลิลิตยวนพ่าย" ก็จะเข้าใจว่าชาวยวน (**หมายถึง ชาวล้านนา**) พ่ายแพ้ตามพระดำริเห็นชอบในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ถ้าใครพยายามอ่าน และถอดความโคลงดั้นในเรื่อง "ยวนพ่าย" จะเห็นว่า "ชาวยวน" หมายถึงพระเจ้าติโลกราช ไม่ได้พ่ายแพ้สัก(กะ)หน่อย เหตุการณ์สงครามที่รุนแรงในช่วงต้นๆ ก็รบกันในดินแดนแคว้นสุโขทัย ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา
ครั้งหนึ่ง แม่ทัพใหญ่ฝ่ายศรีอยุธยา ซึ่งทรงอิสริยศักดิ์เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงระดับรัชทายาททรงทำยุทธหัตถีกับแม่ทัพนครเชียงใหม่ ถูกเจ้าหมื่นด้งนครฟันถึงกับสิ้นพระชนม์ ศรีอยุธยาจึงขาดผู้นำทัพที่เข้มแข็ง ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นมาประทับ และทรงปกครองบัญชาการรบที่เมืองสองแคว ซึ่งพระราชทานชื่อว่า "พิษณุโลก" หมายถึงที่อยู่ของ "พระนารายณ์" หนึ่งในตรีมูรติเทพผู้นำในการปราบยักษ์มาร แต่ก็ไม่มีบันทึกในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าพระบรมไตรโลกนาถ เคยทรงนำ หรือส่งกองทัพขึ้นไปตีเมืองใดของเชียงใหม่ได้บ้าง การที่ทรงตั้งชื่อใหม่ให้เมืองสองแคว เป็นชื่อเมืองพิษณุโลก เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ราชสำนักศรีอยุธยา ยึดถือศาสนาพราหมณ์ผสมพุทธ หรือพุทธลัทธิมหายาน วัชรนิกาย ดังปรากฏรูปเคารพในพระเครื่องพิมพ์ "นารายณ์ทรงปืน" ซึ่งมีพระพุทธเจ้าประทับนั่ง และรูปพระนารายณ์กับพระอิศวรประทับยืนอยู่ ๒ ข้างพระพุทธเจ้า
นี่ย่อมขัดแย้งแตกต่างกับลัทธิความเชื่อในศาสนาพุทธลัทธิหินยาน ที่ราชสำนักนครเชียงใหม่เคารพนับถือ มีวัดและพระพุทธรูปองค์ประธานที่มีการสร้างในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชนั้น ทุกๆ องค์จะเป็นพระพุทธรูปที่ครองจีวรดุจพระสงฆ์ตามปกติ ไม่มีเครื่องภูษาภรณ์ประดับ เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่อง ในลัทธิความเชื่อแบบพุทธมหายาน วัชรนิกาย การค้นคว้าศึกษาในปัจจุบันได้พบเอกสารหลักฐานเพิ่มขึ้นกว้างขวาง และลึกกว่าที่เคยมีอยู่ในพงศาวดารไทย เช่น หนังสือเรื่อง "พรญาติโลกราช" แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับจารึกอักขระล้านนา จัดพิมพ์โดย "โฮงเฮียนสืบสานวัฒนธรรมล้านนา" ผมอ่านแล้วได้รับข้อมูลความคิดที่ผิดไปจากตำราประวัติศาสตร์ไทยในยุคเก่าๆ ท่านอ่านเองครับ
ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยความสบายใจว่า จะมีท่านผู้รู้หลายๆ ท่านเมตตาออกมาอบรมสั่งสอนให้ผมได้สำนึกว่าผมเขียนอะไรผิดๆ ไปอย่างไรๆ บ้าง แม้จะด่าว่าผมเป็นชาวลำปาง จึงลำเอียงอยู่ข้าง "นครเชียงใหม่" .....ผมก็ไม่โกรธเพราะผมระบุ "กำพืด" ของตัวเองไว้แต่แรกแล้ว ใครจะด่าก็เชิญเถิดขอแต่เพียงว่า ท่านจำเป็นต้องนำเสนอหลักฐานมาประกอบเหตุผลที่ท่านจะ "หักล้าง" ผมนะครับ เพราะเราจะได้ช่วยกันทำให้เกิดความตื่นตัวมากขึ้นในวงการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์วิจัยในเรื่องตำนานพงศาวดารโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของชาติเรา เราทั้งหลายจะได้เกิดความรักชาติในมิติที่เข้าใจในเหตุผลตามความเป็นจริง เพราะเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ย่อมปราศจากเงื่อนไขความผิดทางอาญานานแล้ว บางเรื่องยังจำเป็นเก็บเป็นความลับ เราก็ควรยอมรับ
แต่....การไม่ยกย่องถวายพระเกียรติยศอันสมควรแก่พระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งนครเชียงใหม่ในวาระ และสถานะอันควรนั้น ผมไม่ยอมรับ!