ผมกล่าวถึงการผันวรรณยุกต์ตามพื้นเสียงของอักษรสูง กลาง ต่ำ อักษรเดี่ยว อักษรคู่ และอักษรนำ เพื่อให้ได้เสียงครบ ๕ ระดับเสียงวรรณยุกต์ตามมาตรฐานภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งเป็นภาษาราชการ มีเสียงวรรณยุกต์ ๕ ระดับ คือ เสียงวรรณยุกต์สามัญ (ไร้รูป) เสียงวรรณยุกต์เอก โท ตรี จัตวา มีรูป ่ ้ ๊ ๋ ซึ่งเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ในสำเนียงภาษาไทยอีสาน และล้านนามีระดับเสียงวรรณยุกต์เพิ่มขึ้นอีก ๑ เสียง อยู่ระหว่างเสียงโท กับเสียงตรี แต่กระทรวงใดหรือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบวรรณยุกต์ดังกล่าว ผมเข้าใจว่าแค่กำหนดเสียงไว้ ๕ และรูปเพียง ๔ รูป คนไทยก็เรียนวิชาภาษาไทยได้ย่ำแย่กว่าสาขาวิชาอื่นๆ อยู่แล้ว ขืนกำหนดรูปวรรณยุกต์ขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง คิดดูซิว่า มันจะสับสนวุ่นวายปานใด
ดังนั้น ภาษาถิ่นอีสานล้านนาจะมีเสียงวรรณยุกต์ที่ ๖ ก็เป็นเรื่องของผู้รู้ทางถิ่นอีสาน และล้านนา จะคิดและตกลงใช้กันในแต่ละถิ่นเองซีครับ เช่น สมมุติใช้วิธีขีดเส้นใต้อักขระตัวที่เราต้องการ ให้ออกเสียงแบบวรรณยุกต์ที่ ๖ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาเลียน ฯลฯ ใช้อักขระ A ถึง Z ชุดเดียวกัน แต่เพราะการออกเสียงอักขระบางตัวต่างกับวิธีออกเสียงในภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ทางภาษาของชาติต่างๆ จึงกำหนดเครื่องหมายใช้กำกับอักขระบางตัวบางครั้งก็ให้ออกเสียงต่างไปจากปกติ(น่ะครับ)
Cr. from website |
อักษรไทย ๔๔ ตัวนั้น เรายืมจากภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้หลายๆ อักษร ซึ่งฐานเสียงดั้งเดิมของแต่ละอักษรออกเสียงแตกต่างจากเสียงที่เราอ่านพูดกันในปัจจุบัน เช่น อักษร ย. ยักษ์ กับ ญ.หญิง จะออกเสียงแบบ ญ. ขึ้นนาสิก เช่น ยา(รักษาโรค) กับปัญญา(ความรอบรู้) เสียงต่างกันซึ่งชาวอีสานล้านนาออกเสียง ญ. ขึ้นนาสิกได้ แต่ก็ออกเสียงควบกล้ำไม่ได้ ชาวภาคใต้บางท้องถิ่นออกเสียง ง.งู เป็น ฮ.ฮู
ดังนั้น ชาวไทยภูมิภาคต่างๆ ก็ล้วนมีส่วนบกพร่องในการพูดภาษาไทยคน(ภาค)ละนิดละหน่อย ผสมกลมกลืนกันจนคุ้นหู แต่ก็ฟังกันรู้เรื่องเข้าใจกันได้ตลอดมาตั้งแต่มีชนชาติไทย เป็นจริงตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ได้เคยปรารภไว้ดังผมกล่าวในตอนก่อนหน้านี้แล้ว
การที่ท่านนายกฯ อานันท์ปรารภเช่นนั้น แล้วกลับไม่สั่งการให้(ริเริ่ม)แก้ไขทั้งๆ ที่มีวาสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๒ ครั้ง ผมเดาไว้ว่าท่านน่าจะมีเหตุผลคือ (๑) มาทำหน้าที่เพียงช่วงสั้นๆ เพราะก่อนหน้านั้นมีนายกรัฐมนตรีที่อยู่นานกว่า เช่น ๘ ปี - ๑๐ กว่าปี ก็ไม่ได้สนใจแก้ไขข้อบกพร่องทางการใช้ภาษาไทย (๒) นายกฯ อานันท์ ท่านย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า การอ่านพูดภาษาไทยของคนไทยก็เป็นอะไรๆ แบบนี้แหละ แต่ก็พูดจาสื่อสารกันรู้เรื่องนะ (เออแน่ะ เก๋ไปอีกแบบ)
นายกฯ อานันท์ ก่อนพ้นหน้าที่ราชการในกระทรวงต่างประเทศ ได้ใช้ชีวิตในหลายๆ ประเทศย่อมคุ้นชินว่าภาษาของชนชาติต่างๆ เหล่านั้น ถ้าออกเสียงคำใดเพี้ยนไปจะแปลความหมายไปเป็นคนละเรื่องเลยครับ ผมอาราธนาผู้รู้ภาษาจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ กรุณาช่วยยกตัวอย่างด้วยเถิด ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่รู้ภาษาหรอก
ผมเพียงอยากเสนอให้นักปราชญ์ราชบัณฑิต โปรดเมตตาช่วยกำหนดเครื่องหมายวรรณยุกต์เสียงที่ ๖ ซึ่งระดับเสียงในภาษาของชาวอีสานล้านนามีใช้อยู่ และเป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้อยู่ อาจเป็นรูปขีดเส้นใต้ใต้ตัวอักษรที่ต้องการให้ออกเสียงวรรณยุกต์ที่ ๖ หรืออาจใช้รูปแบบอื่นที่ฝรั่งได้ใช้ในการเรียนภาษาของเขาอยู่แล้ว เช่น ~ หรือ ^ ก็ได้
เอ๋า... อีตาเฒ่าศุภกิจก็คิดได้ ทำไมไม่ใช้เองล่ะ โฮ้ย... ผมก็ใช้อยู่เอกาบ้าไปคนเดียว จะมีประโยชน์อะไรแก่การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องล่ะครับ ผมเสนอตัวอย่างให้พิจารณา เช่น
(ก) คนไทยรุ่น ๕๐ ปีขึ้นไปคงเคยดูหนังฟังเพลง ทำนองพื้นบ้านล้านนา เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มชื่อ "น้อยใจยา" คำว่า "น้อย" ในที่นี้ชาวล้านนาจะออกเสียงว่า "น่อย หรือหน้อย" หมายถึงชายผู้เคยบวชเป็นสามเณรแล้ว แต่ต้องไม่บวชเป็นพระภิกษุ เพราะถ้าสึกจะเรียกว่า "หนาน" ตรงกับที่คนภาคกลางเรียกว่า "ทิด เพี้ยนจาก บัณฑิต" คำ "น่อย หรือหน้อย" ในกรณีนี้มีความหมายต่างกันกับคำว่า "น้อย" ทั้งในภาษากลาง และล้านนา
(ข) คำว่า "น้อย" ในภาษาล้านนา แม้จะมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า "มากหรือใหญ่" เช่นเดียวกับภาษาไทยภาคกลาง แต่ออกเสียงไม่เหมือนกันคือ ออกเสียงเป็น "วรรณยุกต์ที่ ๖" เป็นกึ่งเสียงระหว่างเสียงวรรณยุกต์โท กับวรรณยุกต์ตรีเรียงลำดับ ดังนี้
นอย หน่อย → น่อย นอย น้อย หนอย
→ หน้อย
นิยมใช้ในความหมายว่า "เล็ก" เช่น ลูกคนเล็ก จะมีชื่อเล่นโหลๆ ว่า "นอย" ที่ปัจจุบันยังเขียนเป็น "น้อย" อยู่ ส่วนคำว่า "เมียน้อย" ในเสียงภาษาล้านนาแทนที่จะออกเสียงว่า "นอย หรือน้อย" ซึ่งแปลว่า "เล็ก-น้อย" กลับออกเสียงว่า "เมียน่อย/ เมียหน้อย" แปลกไหมล่ะ ทำไมชาวล้านนาจึงได้เรียกเพี้ยนๆ อย่างนี้เล่า (**ผมจะไปรู้เรอะ ยังไม่เคยมีน่ะ**)
ผมลองเดาอย่างกล้าๆ กลัวๆ ก็ได้ กล่าวคือ พวกชายเจ้าชู้บางคน มีเมียมาก(กว่าหนึ่ง) กลับบอกว่ามีเมียน้อย ครั้นมี "เมียน้อย" จริงๆ กลับหาว่ามีเมียมาก เล่นลิ้นกันอยู่ได้ คนล้านนาจึงเรียกว่า (มี) "เมียน่อย/ เมียหน้อย" ซะเลยดิ้นไม่ได้ทีนี้ ถ้า "เมียหลวง" จับได้ละก็ ตัวใครตัวมัน กลับมาพิจารณาสำเนียงภาษาอีสานที่คนไทยกว่า ๔๐% ใช้อยู่นั้น ผมเห็นว่ามีเสียงวรรณยุกต์มากกว่า ๕ เสียง แต่หูของเจ้านายผู้มีอำนาจในราชการไปจาก(ส่วน)ภาคกลาง ฟังได้แค่ ๕ ระดับเสียง เช่น
(ก.) คำว่า "ช้าง" คนอีสานออกเสียงว่า "ซ่าง" ราชการคุ้นกับคำว่า "ก่อสร้าง" จึงเขียนเป็น "สร้าง" ผมเคยเขียนจดหมายไปกราบนมัสการเรียนถามถึงประวัติความเป็นมาของชื่ออำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี จากท่านพระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ (มหาสุวรรณ ปธ. ๕) เจ้าอาวาสวัดใหม่กรงทอง ได้เมตตาตอบหลายหน้า โดยสรุปคือ สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองปราจีนบุรีเป็นแหล่งใหญ่ในการจับช้างป่าไปฝึกใช้ราชการ โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น จับช้างเผือกได้ ๗ ช้าง และ ๔ ช้าง เป็นช้างในเขตป่าที่เรียกกันว่า "บ้านซ่าง" ราชการจึงเขียนชื่อตำบลและขยายเป็นอำเภอบ้านสร้างสืบมาจนบัดนี้ ไม่มีสาระอะไรยึดโยงกับเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจในอดีตเลย ถ้าเปลี่ยนเป็น "บ้านช้าง" ได้ก็คงเป็นศิริมงคล อย่างน้อยก็แก้ไขชื่อวิบัติได้ หนึ่งในร้อยๆ พันแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งที่บ้านเกิดของผม นครลำปาง ซึ่งผมชี้แจงแสดงเหตุผลต่อสาธารณชนแล้วว่า ชื่อที่ใช้อยู่นั้นผิด เช่น ประตูม้า(ผิด) ที่ถูกคือ "ประตูม่าห์" แปลว่า "ประตูผี" และชื่อ "ท่าคราวน้อย" (ผิด) ที่ถูกคือ "ท่าข้าวน้อย" ยังไม่มีการแก้ไขเลย
(ข.) ผมเคยไปที่อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี คณะที่พาไปเป็นฝ่ายความมั่นคง ซึ่งช่วงกว่า ๓๐ ปีก่อนนั้น ยังมีการต่อสู้ด้วยอาวุธกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผ.ก.ค.) ซึ่งเรียกรู้กันว่า "คอมฯ" จึงมีเสียงแกล้งบ่นว่า "...ปราบคอมฯ ยังไงๆ ก็ไม่หมด เพราะอำเภอนี้มันสร้างคอมอยู่ทุกวันน่ะ" เมื่อผมเจอผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ผมถามถึงประวัติความเป็นมาของชื่ออำเภอ "สร้างคอม" ได้ความว่า ในพื้นที่ตั้งอำเภอนี้ มีหนองน้ำสาธารณะซึ่งมีต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อว่า "ต้นคอม" ขึ้นอยู่รอบๆ หนองน้ำ เป็นที่สังเกต ชาวอีสานเรียกหนองน้ำว่า "ส่าง" ซึ่งระดับเสียงวรรณยุกต์ต่างกับ "ซ่างไ ที่แปลว่า "ช้าง"
ทางราชการเขียนเป็น "สร้าง" เหมือนกันทั้งคำที่มีพื้นมาจากคำว่า "ช้าง" และ "ส่าง(หนองน้ำ)"
ชาวอีสานล้านนาออกเสียงคำว่า "สร้าง" ที่หมายถึงการสรรค์สร้าง การก่อสร้าง ด้วยเสียงวรรณยุกต์ที่ ๖ เป็น สราง กึ่งเสียงโทกับเสียงตรี พอยอมรับได้ว่าการก่อสร้างในสำเนียงอีสานล้านนา อนุโลมใช้ "สราง" (ขีดเส้นใต้) แทนชั่วคราว จนกว่าราชการจะกำหนดรูปแบบวรรณยุกต์ที่ ๖ ขึ้นมาใช้ลำดับเสียงจะเป็น ดังนี้
ซาง ส่าง → ซ่าง สราง ซ้าง สาง
→ สร้าง
ดังนี้ คำว่า "บ้านช้าง" ชื่อตำบล/ อำเภอ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ผมเสนอให้เขียนเป็น "บ้านช้าง" ให้ตรงตามเกียรติภูมินับแต่โบราณ แต่ใครๆ จะออกเสียงเป็น "บ้านซ่าง หรือบ้านสร้าง" ก็เชิญตามสะดวก
ส่วนชื่อตำบล/ อำเภอ "สร้างคอม" ที่จังหวัดอุดรธานี ก็ควรเขียนใหม่ให้ตรงกับเสียงและความหมาย คือ ตำบล/ อำเภอส่างคอม
คงเหลือคำว่า "สร้าง" แบบนี้ใช้ตรงความหมายสำหรับคนไทยเหมือนกันทุกภูมิภาค แต่ชาวอีสานล้านนาจะออกเสียงแบบวรรณยุกต์ที่ ๖ ก็ไม่สับสนอะไร เพราะเข้าใจได้ตรงกัน
มนุษย์โบราณอย่างผมจำได้ว่า เมื่อครั้งยังเด็กเมื่อ ๗๐ ปีก่อนนั้น คำว่า "หม้าย" กับคำว่า "ม่าย" ความหมายต่างกัน คือ
หม้าย : หมายถึงคนที่คู่ครองเลิก หรือหย่ากัน หรือตายจากกัน
มีตำบลหนึ่งชื่อ "บางแม่หม้าย" อยู่ที่อำเภอบางปลาม้า สุพรรณบุรี ถัดลงไปมีตำบล "บางตาเถร" ในเขตอำเภอสองพี่น้อง ผมจำได้ว่าในประมวลกฏหมายแพ่ง ลักษณะครอบครัวก็ใช้คำว่า "หม้าย" ในความหมายถึงคนที่เลิกกับคู่ครอง หรือตายจากกัน
ไม่เคยพบเห็นว่ามีใครเขียนเป็น "แม่ม่าย พ่อม่าย" เพราะคำว่า "ม่าย" แม้ในภาษาภาคกลางจะออกเสียงเหมือนกับคำว่า "หม้าย" แต่ดั้งเดิมมีความหมายต่างกัน คือ
ม่าย : อาการชายตามองอย่างมีเลศนัยไม่มองตรงๆ
ผมจำได้ว่ามีคำสอนอ่านคำนี้อยู่ในแบบเรียนรุ่นเก่ากว่า ๗๐ ปี คือ "เมียงม่ายชายตามอง มิใช่จ้องมองตรงๆ"
ในสำเนียงภาษาล้านนา คำว่า "ม่าย" ออกเสียงตรงกับเสียงภาษาภาคกลาง แต่ความหมายไม่เหมือนกับคำอธิบายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔ เช่น สมมุติ เรานำปลากัดใส่ขวดใสขวดละตัว นำขวดปลากัดมาตั้งชิดกัน ครั้นปลากัดมองเห็นกันมันจะแสดงอาการ "ม่าย" ใส่กันทันทีคือ เปล่งเกล็ดสีแดงเขียวเหลืองสวยงามกางครีบหนวดครีบหาง ว่ายน้ำโฉบเข้าหากันโดยชำเลืองมองมิได้จ้องตรงๆ เข้าชนกัน
ไก่ตัวผู้จ่าฝูงที่ปล่อยเลี้ยงอย่างโบราณ มันจะพาฝูงออกคุ้ยเขี่ยหากินอาหาร พอไก่สาวจิกกินเพลิน เป็นโอกาสให้พ่อไก่แจ้ม่ายใส่ โดยกางปีกหางเอียงคอชำเลืองมอง พอมันได้จังหวะก็ปราดขึ้น "ทับ" ผสมพันธุ์กับไก่สาวทันที
ระดับเสียงวรรณยุกต์ของ ๒ คำดังกล่าว จะเป็นอย่างนี้
มาย หม่าย → ม่าย หม้าย ม้าย หมาย
→ หม้าย
คำว่า "หม้าย" ขีดเส้นใต้ในสำเนียงล้านนา จะเป็นเสียงวรรณยุกต์ที่ ๖ กึ่งระหว่างเสียงโท กับเสียงตรี ฟังก็รู้ทันทีว่าต่างกับคำว่า "ม่าย" ทั้งระดับเสียง และความหมาย ดังได้เขียนมาแต่แรกแล้ว
ผู้หญิงสาวล้านนา ถ้าถูกเรียกว่า "แม่ม่าย" จะเสียหายหนักทีเดียว เพราะความหมายก็ปาน "สาวแรด" นั่นเอง