Sunday, July 30, 2017

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ปูชนียบุคคล ที่สมถะเรียบง่าย


ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร


                        ช่วงปี ๒๕๐๗-๒๕๐๙  ผมได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ให้เป็นรองประธาน และประธานชุมนุมวรรณศิลป์  แต่ผมเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ไม่มีโอกาสได้เรียนด้านภาษาศิลป์  จึงแต่งกลอนไม่ได้เรื่อง  พออาศัยที่แต่งโคลงสี่สุภาพพอใช้ได้บ้าง  เผอิญผมมักคิดจัดกิจกรรมใหม่ๆ และชวนกรรมการเพื่อนสมาชิกจัดงานได้สำเร็จแบบ "จับเสือมือเปล่า"  คือทำได้ทั้งที่ไม่มีงบประมาณ  ผมใช้วิธีเสนอความคิดว่าเราจะทำอะไร  อย่างไร  แล้วผมจะขอให้สมาชิก อาจารย์/ผู้หลักผู้ใหญ่/ศิษย์เก่าช่วยอย่างไรบ้าง?  ท่านทั้งหลายยินดีช่วยทั้งนั้น

                       ตอนเราเป็นนักศึกษา "ใสซื่อ"  ทำงานไม่มีค่าแรง  จึงใช้เงินน้อยแต่ผลงานใหญ่เกินคาด สวนทางกับงานเรื่องเดียวกันที่ทางราชการจังหวัดจัด  แต่ใช้บุคลากรและงบประมาณมากกว่าหลายร้อยเท่า  ดังเช่นที่อาจารย์ ส. ศิวรักษ์  เคยเขียนวิจารณ์ทางราชการที่จัดงานฉลอง ๒๐๐ ปี  พระราชสมภพในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ  เมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๑๑  สรุปใจความว่า  "...จัดงานตามหลังเด็กๆ นักศึกษาที่จัดไปเมื่อปีกลายแท้ๆ  กลับจัดงานไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปมากกว่าเด็กๆ นักศึกษาจัดก่อนนี้เลย

                       ผลพวงจากการจัดกิจกรรมด้านภาษาวรรณศิลป์  ทำให้ผมได้พบรู้จักผู้ใหญ่อาวุโส และความรู้ระดับ "ปราชญ์ทางภาษาไทย" ของประเทศ  ผมได้รับความเมตตาจากท่านเหล่านั้น  เพราะผลการทำงานเพื่อส่งเสริมภาษาวัฒนธรรมไทย   รากเหง้าของผมไม่มีความรู้ในด้านภาษาหนังสือ เพราะเป็น "เด็กลูกครึ่งจีนในตลาด"   เพียงแต่ชอบอ่านนิยายที่ "ป. อินทรปาลิต" เขียนทั้งชุด "เสือดำ-เสือใบ"  และชุด  "สามเกลอ"  พล  นิกร  กิมหงวน   ซึ่งเป็นเรื่องนิยายตลกล้อเลียนสังคม  ผมอ่านอยู่ที่บ้าน  จึงลองอ่านออกเสียงทำทีเลียนแบบละครวิทยุ  รู้สึกสนุกกว่าอ่านเงียบๆ  และยังได้ฟังเสียง(พากย์) จากละครวิทยุบ่อยๆ  ผมพลอยได้เรียนรู้ และเลียนการออกเสียงควบกล้ำไปถึงราชาศัพท์ได้ดีเกินคาด  ทำให้เข้าเฝ้ากราบทูล  ศาสตราจารย์พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  องค์อธิการบดี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้นได้  และกล้าไปกราบทูลเชิญ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัดร  องค์นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  เพื่อเสด็จทรงเปิดงานแสดง "นิทรรศการบทร้อยกรองครั้งแรกของไทย" ในต้นปี ๒๕๐๘ ได้

                       
พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร  ทรงเปิดงานแล้วยังประทับอยู่ทอดพระเนตรการแข่งขันกลอนสดระหว่างคณะนิสิตนักศึกษาสถาบันต่างๆ  อย่างสนพระทัย และทรงทึ่งมากๆ ที่พวกเราแต่งได้รวดเร็วน่าตื่นเต้น  ทรงนำประสบการณ์นี้ไปเล่าประทานคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ฟัง  คณะกรรมการฯ จึงอยากชมบ้าง  เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เคยพบเห็น  เว้นแต่ศาสตราจารย์ พันตรีหญิงคุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ อาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์  และอาจารย์สถิตย์ เสมานิล กรรมการตัดสินการแข่งขันกลอนสดในครั้งนั้น   จึงรับสั่งขอให้คุณหญิงผะอบเชิญนักกลอนจากธรรมศาสตร์ ไปสาธิตการแต่งกลอนสดให้คณะกรรมการสมาคมภาษาและหนังสือฯ ได้ชมในการประชุมคราวต่อไปต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ "พระกรุณานิวาศน์" สี่แยกถนนพิชัย ตัดกับถนนสุโขทัย

                        พวกเราไปถึง "พระกรุณานิวาศน์" (ในขณะนั้น) เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงราม ๑ เมตร  เรือนเก่าโล่งๆ คล้ายศาลา  จึงจัดเป็นที่ประชุมได้บนอาคารข้างๆ นั้น  ยังมีโรงแบบโรงนาหลังคามุงจากยาวราว ๑๕ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร  พื้นเป็นดินลูกรังบดอัดเรียบตรงกลางมีโต๊ะไม้ขนาดใหญ่แข็งแรง  มีเก้าอี้อยู่ข้างละ ๗-๘ ตัว

                        พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร รับสั่งว่า "ผมกำลังจะขอให้นักกลอนหนุ่มสาวแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม และแต่งกลอนสดแข่งกัน โดยผมขอให้กรรมการสมาคมฯ  ให้หัวข้อเกี่ยวกับความรักนะครับ" ผมแต่งกลอนไม่เป็น  จึงทำหน้าที่พิธีกรอธิบายกติกาการเล่นได้ชัดเจน  เพราะทำบ่อยๆ เว้นแต่จะต้องลงแต่ง "กวีวัจนะ" นานๆ ครั้ง  เมื่อมีการแข่งขันระหว่างสถาบันเท่านั้  ซึ่งหลายสถาบันหาผู้แต่งไม่ได้ครบ

                        พิธีกร  ต้องแจงกติกาการแข่งขันแต่ละประเภทว่า  แข่งขันกันอย่างไร  เช่น  ประเภทกลอนเดี่ยว  แข่งตัวต่อตัวไม่จำกัดเพศ  ประเภททีมมีฝ่ายละ ๔ คน  โดยทั้งทีมต้องแต่งบทดอกสร้อย หรือบทสักวาตาม "กระทู้ หรือหัวข้อ"  ที่กรรมการจะแจ้งสดในเวลา ๑๐ นาที  ทีมใดแต่งไม่ทันเวลาจะถูกปรับแพ้

                        ประเภททีมจะแข่งกัน ๒ กระทู้(หัวข้อ)  คือ  สักวา  และดอกสร้อย

                        การแข่งต่อจากนี้  จะเป็นประเภทเดี่ยวโดยไม่จำกัดเพศ  เป็นการแต่ง "สักวา (หรือดอกสร้อย) ต้องแต่งให้เสร็จภายใน ๕ นาที  เรียกรู้กันในหมู่นักกลอนว่า "แต่งกลอนชาวบ้าน" กระทู้ที่ ๔ เป็นการ "โต้วาทีด้วยกลอนสด" ทีมละ ๔ คน เมื่อกรรมการแข่งขันบอกกระทู้แล้ว  พิธีกรจะให้หัวหน้าทีมทั้งสองเสี่ยงหัว-ก้อย  ใครชนะก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะเป็น "ฝ่ายเสนอ" หรือ "ฝ่ายค้าน" โดยมากจะเลือกเป็น "ฝ่ายค้าน" เพราะแต่งแก้ตามหลังสบายกว่า    แต่ทีมที่เป็นฝ่ายเสนอก็มี "ลูกเล่น" หรือ "ทีเด็ด"  โดยแกล้งแต่งให้ลงท้ายด้วยคำที่หาสัมผัสยาก  เสมือน "โรยขวาก" หรือ "เรือใบ" ดักรถที่วิ่งตามมาให้ยางแตกหมดฤทธิ์ทำนองนั้น  

                        ในหมู่นักกลอนธรรมศาสตร์  เราจะซ้อมรอบด้าน  สมมุติเป็น "ฝ่ายเสนอ"  จะแต่งแบบ "วางขวาก/เรือใบ"  ยังไง  เป็น  "ฝ่ายค้าน"  จะกวาดเอา "อาวุธลับ"  พวกนี้ออกได้อย่างไร

                         นักกลอนที่แต่งกลอน "โต้วาที" ได้ดี หรือ "โดนใจ" ผู้ฟัง  ต้องเขียนแบบ "ปากจัด"  "ทันคน" หรือลีลากลอนแบบโฉ่งฉ่างยียวน  ที่ทีมธรรมศาสตร์ยุคนั้นมีอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า "ชัชวาล อินทรภาษิต"  ทุกครั้งที่ลงเล่นต้องมี "วรรคเด็ด" ออกมาให้คนฟังปรบมือเฮฮา

                          ประเภทหลังสุดเป็นการแต่ง "กวีวัจนะ" คือ การแต่งผสมมีโคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอนโดยผู้แข่งขันทีมละ ๔ คน  คนแรกแต่งโคลง  จะเป็นโคลงประเภทใดก็ได้  แต่เท่าที่เห็นมาหลายปีมีแต่แต่งเป็น "โคลงสี่สุภาพ" ทั้งนั้น  

                          คนที่สองต้องแต่งเป็น  คำฉันท์  ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเป็นฉันท์ประเภทใด  แต่เท่าที่เคยเห็นมีแต่แต่งเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  หรือไม่ก็  วสันตดิลกฉันท์ ๑๔  ซึ่งแต่งง่ายกว่าและเพราะกว่าฉันท์ประเภทอื่น
                          คนที่สามของทีมต้องแต่งเป็น "กาพย์"  ไม่จำกัดประเภท  แต่เท่าที่เคยดูหลายปีมีแต่แต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑ หรือไม่ก็กาพย์ฉบัง ๑๖

                          คนที่สี่สุดท้ายมีความสำคัญมากเท่าๆ กับคนแรกที่แต่งโคลง "เบิกทาง" ก่อน คนสุดท้ายแต่งเป็น "กลอนแปดสุภาพ"  ต้องสรุปลงท้ายให้สละสลวย  ข้อสำคัญคือ

                          ทั้งโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  ต้องแต่ง  

        ๑.  โดยมี "สัมผัสเสียง"  เชื่อมโยงกันแบบที่เรียกว่า  "เข้าลิลิต"  ถ้าไม่มีการ "ร้อย" สัมผัสเสียงถือว่า "ผิดกติกา" ถูกปรับแพ้
        ๒.  ทั้งทีมจะแบ่งเวลากันภายในอย่างไรก็สุดแล้วแต่  ทว่าต้องแต่งให้จบครบ ๔ อย่างภายในเวลารวมไม่เกิน ๑๕ นาที

                          นักร้อยกรองของชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ในยุค ๒๕๐๗-๒๕๑๑  ถือเป็น "สุดยอด"  นักแต่งหรือแข่งขันกลอนสดของประเทศไทย  คือ  ชนะทุกทีมทั้งในหมู่สถาบันการศึกษาระดับสูง (วิทยาลัย-มหาวิทยาลัย)  และชนะทีมชมรม (ปัจจุบันคือสมาคม) นักกลอนแห่งประเทศไทยด้วยคะแนน ๕:๐ เหนือความคาดหมาย

                          ประสบการณ์นี้ทำให้ผมรู้ว่าที่สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยนี่แหละคือขุมปัญญาในด้านภาษาไทย  ที่ผมจะพยายามเข้าไปแสวงหาได้  ผมทราบจากพระดำรัสขององค์นายกสมาคมฯ เองว่า  ทุกเช้าวันเสาร์ที่พระกรุณานิวาศน์จะมีผู้รู้ภาษาหนังสือไทย  อาสามาประชุมเพื่อจัดทำ "อภิธานศัพท์"  จากวรรณคดีโบราณต่างๆ โดยสมาคมจะจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้อนุชน และผู้สนใจได้ใช้ประกอบการอ่าน/ศึกษาวรรณคดีเหล่านั้นได้เข้าใจดี และง่ายขึ้น  ผมอยากจะเข้าไปฟังการประชุมของท่านผู้รู้เหล่านี้  จะทำอย่างไรดี?   เผอิญที่พักอาศัยของผมอยู่ย่านถนนเสือป่า  เดินไปราว ๑ กิโลเมตรก็ทะลุถึงย่าน "สวนมะลิ" ถนนบำรุงเมือง  ที่นั้นมีตึกแถวสร้างใหม่ทดแทนอาคารไม้เก่าแก่ที่ถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่  อาคาร ๕ ชั้น ห้องหัวมุม  เป็นเอเย่นต์ หรือ "สายส่ง" หนังสือพิมพ์ของคุณต่วน บุญชูช่วย ซึ่งชอบพอและอนุญาตให้อาจารย์สถิตย์ เสมานิล อาศัยฟรี อยู่บนห้องชั้น ๕

                           ผมจึงอาศัยช่องทางนี้ไปตีสนิทรับใช้ท่านอาจารย์สถิตย์  ซึ่งทำได้ไม่ยาก  เพราะท่านไม่มีครอบครัว  อยู่ลำพังก็เหงา  พอมีเด็กรุ่นลูกหลานสนใจภาษาหนังสือมาคุยด้วย  ก็มีเมตตาสนทนาด้วย  เมื่อท่านเห็นว่าผมสนใจที่จะไปฟังการประชุมของ "ผู้เฒ่า" ทั้งหลายในวันเสาร์จึงยินดีพาไป  ประการหนึ่งท่านคงเชื่อว่าผมพอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง  สังเกตจากการสนทนากันมาหลายหน  ผมน่าจะไม่ไป "ปล่อยไก่" ในท่ามกลางราชบัณฑิตผู้รู้ในที่ประชุม

                            อาจารย์สถิตย์พาผมขึ้นรถเมล์ ๒ ทอด  ไปลงหน้า "พระกรุณานิวาศน์"  ก่อนเวลาประชุมทุกครั้ง  ท่านปรารภว่า  "เราจะได้ทักทายสนทนานอกเรื่องที่จะพูดในการประชุม"  ผมได้รับคำแนะนำให้กราบรู้จักท่านผู้อาวุโสนับสิบท่าน  จำได้คือ  หม่อมเจ้าวิเศษศักดิ์ ชยางกูร   อาจารย์เกษม บุญศรี (รองประธานสภาผู้แทนราษฎร)  หนึ่งในคณะกรรมการราชบัณฑิตยสภา   ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์)   ขุนเศรษฐบุตรฯ (แช เศรษฐบุตร)   อาจารย์สถิตย์ เสมานิล  อาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ ฯลฯ  และคนที่หนุ่มกว่า "ผู้เฒ่า" ทั้งมวลราว ๒๐-๓๐ ปี  คือ  อาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  อายุ ๔๕ ปี  แก่กว่าผม ๒๐ ปีเศษ 
ขุนวิจิตรมาตรา

คุณเกษม บุญศรี

                            ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  เกิดที่จังหวัดแพร่  ในครอบครัวข้าราชการ  เรียนชั้นต้นในบ้านเกิด และไปเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่ โดยบิดาได้นำไปฝาก "พระอาจวิทยาคม" อาจารย์ใหญ่ช่วยดูแลแทนพ่อแม่

                            อาจารย์สถิตย์บอกผมว่า  อาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แต่สนใจภาษาศาสตร์  โดยเฉพาะภาษาและอักขระโบราณเป็นการส่วนตัว เคยชำระ "โคลงนิราศ หริภุญไชย"  


ให้มีความกระจ่างชัดถึงประวัติความเป็นไปในการเดินทางจากนครเชียงใหม่  ซึ่งผู้แต่งได้เขียนเรื่องนี้ถัดจากสมัยวรรณกรรมรุ่งเรืองในล้านนายุคพระเจ้าติโลกราช ผลงานของอาจารย์ ดร. ประเสริฐ เรื่องนี้  สมาคมภาษาและหนังสือฯ ได้นำไปพิมพ์เผยแพร่  แต่ในการประชุมทำอภิธานศัพท์ฯ ครั้งที่ผมติดตามอาจารย์สถิตย์ไปฟังนี้  อาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  อาสาเป็นกรรมการเลขานุการ  ด้วยมีเรี่ยวแรง และเครื่องมือเครื่องใช้พร้อมกว่าท่าน "ผู้เฒ่า" ทั้งมวล  ซึ่งแต่ละท่านมีความรู้ และประสบการณ์มากมาย  อภิปรายกันไปมาอยู่นานกว่าจะผ่านแต่ละคำ หรือข้อความที่ "เลขานุการ" ยกขึ้นมาหารือ   เมื่อสรุปลงตัวแล้ว  อาจารย์ ดร. ประเสริฐ จึงบันทึก  ท่านที่มักอภิปรายเสมอ และเสียงดังฟังชัดคือ อาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ  เคยทำงานจนเกษียณที่สำนักข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS)

                            นอกจากผมรับฟังผู้ใหญ่พูดจาให้ความรู้แก่ผมมากแล้ว  ผมระลึกถึงคำพังเพยไทยๆ ที่กล่าวว่า "อยูบ้านท่านอย่านิ่งดูดาย  ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น"  ผมตีความแตก   จึงแปลงตัวเองเป็น "เสี่ยวเอ้อ"  เช่น  คอยดูว่าแก้วน้ำของท่านผู้ใดพร่อง  ก็เข้าไปเติมให้ตามที่แต่ละท่านต้องการ  บางท่านดื่มน้ำเปล่า  บางท่านต้องการนำ้เย็นๆ จากตู้เย็น  บางท่านต้องการนำ้ชาร้อน  บางท่านต้องการน้ำใส่น้ำแข็ง ฯลฯ  ผมสังเกตรู้แล้ว  ไม่ต้องถามรบกวนสมาธิท่านผู้เฒ่าอีก   การประชุมเริ่ม ๑๐.๐๐ น.  เลิกประมาณเที่ยงวัน  ถ้าพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัดร  และหม่อมงามจิตต์ พระชายาเสด็จอยู่ที่วังใกล้ๆ นั้น  พระองค์จะให้มหาดเล็กนำอาหารกลางวันมาประทานเลี้ยงทุกคน  ผมก็ไปช่วยมหาดเล็กคนหนึ่ง  จัดจานชามช้อนส้อม  และตั้งวงแบบ "บุฟเฟ่ต์" เล็กๆ  มีข้าวและกับข้าว ๓-๔ อย่าง พออิ่มอร่อย   แต่ถ้าทั้งสองท่านไม่อยู่  พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร  จะประทานเงินมาให้ซื้ออาหารกินเอง มหาดเล็กและพลขับจะมาล่วงหน้าตั้งแต่ ๑๐ โมงเศษ  แล้วผมก็จะใช้กระดาษแผ่นหนึ่งเขียนพระนาม หรือนามของแต่ละท่านที่มาประชุม  และขอให้ท่านแจ้งความประสงค์ว่ามื้อกลางวันท่านต้องการอาหารอย่างไร?  มีให้เลือกคือ   ข้าวผัดหมู/ไก่/กุ้ง   หรือข้าวราดหน้าผัดกะเพราไข่ดาว  ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า/ผัดซีอิ๊ว  ก๋วยเตี๋ยว/บะหมี่น้ำหรือแห้ง   เมื่อได้ครบแล้ว มหาดเล็กก็พาผมไปที่ตลาดราชวัตรอยู่ใกล้ๆ แยกกันไปสั่งอาหาร  คนหนึ่งไปร้านอาหารตามสั่ง  อีกคนไปร้านก๋วยเตี๋ยวบะหมี่   

                             ภายในเที่ยงวัน  อาหารก็มาพร้อมเสิรฟแล้ว  เมื่อการประชุมจบลง  ผมกับมหาดเล็กในพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร  ก็นำอาหารตามแต่ละท่านต้องการไปเสิรฟให้ที่โต๊ะ  ซึ่งใช้กินอาหารได้สะดวกเลย   ผมเป็น "เสี่ยวเอ้อ" สัก ๓-๔ ครั้ง  ท่านผู้ใหญ่ผู้ทรงภูมิระดับยอด(เจ้ายุทธจักร?)ของไทย  ก็คุ้นหน้า  จึงมีเมตตาทักถามผม  เมื่อทราบว่าเป็นนักศึกษา  ก็อนุญาตว่า "อยากรู้อะไรก็ถามนะหลาน...."  ผมจึงดีใจเป็นอันมาก  จนใช้ราชาศัพท์ทูลหม่อมเจ้าวิเศษศักดิ์ผิดพลาด

                             ทรงหัวเราะอย่างพระทัยดี  โบกพระหัตถ์แล้วตรัสว่า  "...ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์กับฉันหรอก  ฉันมันฟลุ้กที่เกิดมาได้เป็นเจ้า  เพราะบรรพบุรุษของฉันปฏิวัติสำเร็จ..."   ท่านทรงมีพระอารมณ์ขันและอารมณ์ดี  แต่ก็อภิปรายแทบทุกเรื่อง  ผมทูลถามก็ได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจน  แถมยังทรงชมอีกว่ารู้จักตั้งคำถาม  สมกับเป็นศิษย์อาจารย์สถิตย์ (เสมานิล) ที่ทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่หนุ่มๆ และสัมภาษณ์ชุด "สี่เสนาบดี" ที่ถูกปลดในต้นรัชกาลที่ ๗ ลงตีพิมพ์เป็นที่ "ฮือฮา" ทั่ววงสังคมระดับสูง

                             มีเพียงท่านเดียวที่ผมไม่ได้รบกวนเรียนถามอะไรท่าน คือ อาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ไม่ใช่ท่านไม่เมตตาจะพูดกับผม  แต่เพราะท่านเป็นเลขานุการ คณะฯ ที่ประชุม  ท่านจึงง่วนอยู่กับการบันทึกรายงานการประชุม(ฉบับร่าง)  เพื่อให้เสร็จภารกิจพิเศษนี้  ไม่เก็บไปปนกับการทำงานประจำ   

                             เหตุการณ์ในชีวิต  ผันผ่านไปนานกว่า ๒๐ ปี  ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  เจริญในราชการ  ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และต่อมาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แล้วไปเกษียณอายุที่ตำแหน่ง "ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ"   ช่วงที่ท่านเป็นผู้บริหารในเกษตรศาสตร์นั้น  ญาติมิตรของผมเรียน และทำงานในนั้นร่วมสิบคน  ผมก็เข้าออกมหาวิทยาลัยนี้บ่อยๆ  แต่ไม่เคยแวะไปรบกวนเวลาของท่านเลย   ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ใช้เวลาหลังจากเกษียณไปช่วยทำงานวิชาการ  เช่น  เป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโท-เอก  ที่คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  และทำงานให้ราชบัณฑิตยสภา  จนขึ้นเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา  วาระหนึ่ง  

                              ปี ๒๕๓๔  เป็นวาระคล้ายประสูติกาลในศาสตราจารย์ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  ซึ่งทางองค์การ UNESCO  แห่งสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องว่า  พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านการทูต และภาษาศสตร์ จึงให้สมาชิกประเทศจัดงานเฉลิมพระเกียรติถวาย   ผมได้รับพระเมตตาจากพระองค์เป็นอันมาก และเข้า-ออกวังจนคุ้นเคยแก่ชาววังท่าน  ประการสำคัญ คือ ได้ศึกษาพระประวัติและผลงานของทั้งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (องค์บิดา)  และของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (องค์โอรส)  ผมเคยเขียนสารคดีถึงทั้งสองพระองค์ลงพิมพ์ใน น.ส.พ. ไทยรัฐ  และรวมเล่มพิมพ์ในหนังสือชื่อ "สารคดีวิจารณ์" โดยกรมหมื่นนราธิปฯ  ทรงพระเมตตาเขียนคำนำประทาน  ดังนั้น  (ท่านผู้หญิง) ม.ร.ว. วิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร  พระธิดาจึงมอบหมายให้ผมเป็นผู้แทนเข้าไปร่วมจัดงานฯ ครั้งนั้น   ซึ่งสำนักคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรม (ขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ)  เป็นเจ้าของงาน  โดยมี ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง (อดีตอธิบดีกรมวิชาการ)  เป็นเลขาธิการ  ซึ่งท่านรู้จักผมเผินๆ อยู่ก่อน  เพราะภรรยาและผมเข้าออกบ้านศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ (ณ ถลาง) นาครทรรพ  พี่สาวคนโตของ ดร. เอกวิทย์ นั้นเป็นประจำ

                               ทั้งนี้  ท่านอาจารย์ฐะปะนีย์ ชอบใจใช้งาน (คุณจงจิต) ภรรยาของผม  โดยมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น "เลขานุการ" ในทุกงานที่ท่านเป็นประธานกรรมการฯ  ไม่มีเหตุผลเป็นพิเศษใดนอกจากว่า ภรรยาผมเป็นคนสนใจในภาษาหนังสือไทย  ในฐานะครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนมัธยม  จึงพอรู้บ้างว่าท่านสั่งงาน หรือใช้งานมาแล้วเธอจะเริ่มหรือทำอย่างไร  อีกทั้งเธอมีเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ และที่พักอยู่ห่างกันคนละซอย  เผอิญเธอขับรถไม่เป็น  ผมจึงทำหน้าที่เป็น "โชเฟอร์" ประจำงานต่างๆ ที่ภรรยาผมไปช่วยทำ  บ่อยๆ ที่ผมไปนั่งรออยู่ที่บ้านท่านอาจารย์ฐะปะนีย์ จึงได้พบปะรู้จักสนทนากับ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง  ท่านคนเห็นว่าผมสนใจภาษาและวรรณคดีไทย  จึงสนทนากับ ดร. ทางอักษรศาสตร์ได้รู้เรื่อง    หลังจากนั้นไม่นาน  ผมก็ได้รับข่าวจากอาจารย์จินตนา ใบกาซูยี  ผู้รับผิดชอบงานจัดประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี  ซึ่งกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของเรื่องนั้นว่า  เธอได้เสนอชื่อผมเข้าเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือฯ ในประเภท "หนังสือสารคดี" การประชุมมีในช่วงมกราคม - ไม่เกินต้นมีนาคมก็เสร็จ

                               ด้วยเหตุดังกล่าว  จึงทำให้ผมได้เข้าไปกราบคารวะ  ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาตัดสินประเภท "หนังสือสวยงาม"    ทุกครั้งที่พบท่านในห้องประชุม  ผมต้องไปเรียนถามท่านก่อนว่า  เลิกประชุมแล้วท่านจะไปที่ใด  มีใครมารับส่งหรือไม่ ส่วนใหญ่ท่านจะไปที่คณะโบราณคดี  ศิลปากร  เพื่อสอนหรือตรวจวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท-เอก ถ้าไม่มีใครรับส่ง  ผมจะไปส่งเพราะก่อนผมเกษียณ  ผมทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ ปากคลองตลาด อยู่ถัดศิลปากรไป ๔ ป้ายรถเมล์เท่านั้นเอง   ต่อมา  คณะโบราณคดี  ต้องงดสอนภาควิชาอักษรจารึกโบราณ  ท่านอาจารย์จึงไม่ไปที่นั่น  แต่อาจไปประชุมตอนบ่ายที่ราชบัณฑิตยสถาน  ซึ่งตอนผมเรียนธรรมศาสตร์ ๒๕๐๖ นั้น  ราชบัณฑิตยสถานตั้งอยู่หน้าวัดมหาธาตุฯ  เช่นเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ  ผมจึงอาศัยอ่าน/ยืมหนังสือของหอสมุดฯ ได้สะดวก  ต่อมาหอสมุดแห่งชาติย้ายมาอยู่ริมถนนสามเสน ใกล้ๆ ท่าวาสุกรี  มาจนทุกวันนี้

                              ราชบัณฑิตยสถานย้ายไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  และปัจจุบัน (๒๕๖๐) มาอาศัยอยู่ที่สนามเสือป่า (ยังไม่มีสถานที่ของตนเองสักที)   หลังกันยายน ๒๕๔๒  ผมเกษียณแล้ว แต่ก็มีรถยนต์ขับเอง  ถ้าพบท่านอาจารย์  ผมก็ขอเป็น "ขะโยม" (ศัพท์ล้านนา หมายถึงผู้รับใช้พระ)  จะพาท่านไปส่งที่ไหนก็ได้เพราะผมเป็น "เสรีชน" แล้ว  ไม่มีภารกิจใด  ผมจึงได้รับใช้ท่านโดยพาไปส่งที่ซึ่งท่านจะไปทำภารกิจ  โดยมากไปที่ราชบัณฑิตยสภา  นานๆ ครั้งที่ท่านจะกลับบ้าน  ซึ่งอยู่ในซอยท่านผู้หญิงพหลพลพยุหเสนา ถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ในกรณีนี้ ท่านไม่ยอมให้ผมขับรถพาไปส่ง  ทั้งๆ ที่บ้านของท่านอยู่ทิศทางเดียวกันกับที่อยู่ของผม คือ ด้านหลังกระทรวงการคลัง  ท่านคงเกรงใจว่าผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์ใดๆ  ไม่เคยทำงานกับท่าน  เพียงแต่เคยไปทำหน้าที่อาสาเป็น "เสี่ยวเอ้อ" ในช่วงหนึ่งที่ท่านเป็นกรรมการเลขานุการคณะกรรมการจัดทำอภิธานศัพท์วรรณคดี  ที่พระกรุณานิวาศน์   ผมจึงส่งท่านตามต้องการแถวหน้ากระทรวงศึกษาธิการ  ท่านบอกว่ามีรถปรับอากาศเริ่มต้นทาง  มีที่นั่งไปถึงปากซอยเข้าบ้านเลย

                              อนิจจา  ไม่ทราบครั้งไหนที่รถเมล์เจ้ากรรมทำท่านศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กลิ้งตกลงถึงกับซี่โครงหัก ๒-๓ ซี่  มีผู้อ่านพบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เล่าให้ผมฟัง ทำให้บรรดาหน่วยงาน หรือบุคคลที่ใช้ไหว้วานงานท่าน  ต่างก็จัดพาหนะไปรับส่งท่าน  ถ้าไม่มีใครรับส่ง  ท่านก็นั่งแท็กซี่แทน  นับเป็นปูชนียบุคคลที่ดำรงชีวิตที่สมถะเรียบง่ายอย่างยิ่ง  

                              ท่านยังทำงานแทบทุกวันในการประชุมทางวิชาการที่ราชบัณฑิตยสภา และที่อื่นๆ ทั้งที่อายุเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว  นับเป็น "รัตตัญญู" ที่หายาก สมองดีมีความทรงจำที่ยอดเยี่ยม มีอาจารปฏิบัติดุจสมณะผู้เคร่งครัดพุทธวินัย

                              วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑  เป็นวาระครบ ๑๐๐ ปี ของอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ผมชวนเพื่อนๆ ที่เคารพนับถือท่าน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกลอน  เว้นแต่  ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์  เป็นนักการเมือง  มี  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์    นิภา บางยี่ขัน    ทวีสุข ทองถาวร   ดวงใจ รวิปรีชา  ทีมนักกลอนยอมเยี่ยมที่มีสมญานามว่า  "สี่มือทองแห่งท่าพระจันทร์"  ยังมีคนส่งบทกลอนมาร่วมลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกของการจัดงาน  เช่น  บทกลอนของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  สุจิตต์ วงษ์เทศ  เอนก แจ่มขำ ฯลฯ  ผมเขียนเล่าประวัติย่อของท่าน  นำมาลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกแจกในงานฯ   เราจัดงานที่ "ศูนย์สังคีตศิลป์"  บนชั้น ๕ ของธนาคารกรุงเทพจำกัด  สาขาผ่านฟ้า  ซึ่งที่นี่เป็นแห่งสุดท้ายในการทำงานของท่านอาจารย์ในฐานะ "ที่ปรึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมไทย"  ของธนาคารฯ นี้  จึงได้รับอนุญาตให้จัดงานในห้องประชุม   พร้อมเงินสนับสนุน ๕,๐๐๐ บาท  เป็นค่าจัดวงดนตรีไทยมาบรรเลง โดยมีนักกลอนที่เคารพนับถือท่านอาจารย์  ลงเล่นกลอนสด

                              ส่วนการทำบุญอุทิศส่วนกุศลนั้น  ผมเชิญญาติ  คือ  หลานๆ ของท่าน  เช่น พี่อวบ ทองดีเลิศ  พี่เชาว์ เสมานิล  ฯลฯ  จากลพบุรี  และบางคนมาจาก "บ้านศาลาลอย"  อำเภอท่าเรือ อยุธยา  อันเป็นบ้านเกิดของท่านมาร่วมกันทำบุญที่หอฉันโรงพยาบาลสงฆ์  ซึ่งเป็นที่ซึ่งอาจารย์เคยไปทำบุญวันเกิดเองตลอดมา    ตอนจะเปิดงานฯ ที่ศูนย์สังคีตศิลป์  มีปัญหาให้พวกเราคิดกันว่า จะเชิญผู้ใหญ่ท่านใดมาเป็นประธานดี?   เพราะเราต้องการท่านผู้รู้จักอาจารย์สถิตย์ดีพอ  จะกล่าวปาฐกถานำในพิธีเปิดงานได้เอง  ไม่ใช่อ่านตามพวกเราเขียนให้  

                              ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริญ ณ นคร  จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง  เพราะท่านมีความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับอาจารย์สถิตย์  ในแง่มุมต่างๆ เล่าให้ที่ประชุมฟังได้อย่างดียิ่ง

                              เมื่อหลายปีก่อน  ผมเคยจัดรายการ "เสวนา"  เกี่ยวกับความรู้หรือประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม  โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดถึงเรื่องที่ได้ตั้งหัวข้อไว้ให้คนฟังฟรี  เจ้าภาพ คือ "ซี.พี. ออลล์" ใจดีจัดน้ำชากาแฟของว่างเลี้ยงผู้ฟัง และค่าวิทยากร ครั้งละ ๒ คน  ผมดำเนินรายการเอง    ในวาระคล้ายพระราชสมภพครบ ๘๔ ปี  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปลายปี ๒๕๕๔ ผมได้เรียนหารือกับท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ที่ผมทราบคร่าวๆ ว่าท่านเคยแต่งคำร้องถวายใส่เพลงพระราชนิพนธ์บางเพลง  แต่ผมไม่ทราบรายละเอียดเช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่  อีกทั้งท่านอาจารย์เองก็ไม่เคยพูดถึง หรือเขียนถึงรายละเอียดเรื่องนี้  ผมเกรงว่าตำนานความเป็นมาของเพลงจะสูญไปกับ "คนต้นเรื่อง"  ท่านอาจารย์รับเชิญด้วยความยินดี

                              ผมขอให้ท่านแจ้งชื่อใครสักคนที่ท่านเห็นสมควรจะขึ้นเวทีไปช่วยพูดสลับ  เพื่อให้ท่านอาจารย์ได้พัก  ไม่หนักเกินแรงคนอายุ ๙๐ ปี  แต่ท่านบอกว่าพูดคนเดียวก็ได้   ผู้ฟังสนใจมากกว่าทุกครั้ง  ผู้นั่งรอปรบมือและบางคนยกมือไหว้คารวะท่านวิทยากร  บอกว่าเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางคนทันเรียนวิชาคณิตศาสตร์จากท่านด้วย  น้อยคนจะรู้ว่าท่านอาจารย์เรียนทางด้านคณิตศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา  แต่ที่มีเกียรติคุณผลงานเป็น "เสาหลัก" ของราชบัณฑิตยสภา  นั้นคือ  วิชาโบราณคดีและภาษาศาสตร์  ประวัติศาสตร์

                              อาจารย์เล่าว่า  เมื่อราว ๕๐ ปีมาแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงตั้งวงดนตรีแจ๊ส  เป็นการส่วนพระองค์  ทรงเรียกว่า "วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์"  นอกจากพระองค์ทรงเป็นหัวหน้าวงแล้ว  นักดนตรีและนักร้องล้วนเป็นข้าราชบริพาร  ข้าราชการ  และคนที่ทรงสนิทคุ้นเคย  บางครั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ทรงเปียนโน  ในหลวงฯ ทรงแซ็กโซโฟนนำวงตลอดทุกเพลง   ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ  เล่าว่า  เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น  ได้ทราบว่าพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญสิริ  เมื่อยังเป็น "หม่อมเจ้า" องค์อธิการบดีได้รับพระราชทานให้ทรงคิดแต่งเนื้อร้องใส่ให้แก่เพลงที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระนิพนธ์ทำนองไว้แล้ว   เมื่อพระองค์เจ้าจักรพันธ์ฯ ทรงรับสนองมาหลายเพลง  พระเจ้าอยู่หัวฯ คงจะทรงเกรงว่าจะหนักแรงเกินไป  จึงพระราชทานบางเพลงมาให้ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ลองคิดเนื้อร้องถวายบ้าง

                              เพลงแรก ที่รับพระราชทาน คือ  เพลงที่รู้จักชื่อในเวลาต่อมาว่า "เพลงใกล้รุ่ง"  ท่านเล่าว่าครั้นได้รับพระราชทานใช้มาแล้ว  แม้จะตื่นเต้นภาคภูมิใจสักปานใด  แต่ระหว่างที่ยังทำงานไม่เสร็จนั้น  ตนมีความทุกข์กังวลมาก  เพราะกำหนดการเสด็จมาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ใกล้เข้ามาแล้ว  ทรงมีพระราชประสงค์จะนำเพลงดังกล่าว  บรรเลงเป็นปฐมที่แห่งนี้  ด้วยกังวลเช่นนี้ทำให้อาจารย์ ดร. ประเสริฐ นอนไม่ค่อยหลับ  ทั้งนี้โครงสร้างของเพลงนั้นคิดได้แล้ว  แต่ยังไม่ถูกใจกับคำขึ้นต้นเพลง หรือ "เบิกโรง"  คืนหนึ่งคิดๆ จนเกือบสว่างคาตา  เผอิญบ้านพักอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย  และใกล้กับ "เล้าไก่"  ที่อาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ  อดีตผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ ได้เลี้ยงไก่ไว้เพื่อเก็บไข่ทำอาหารให้นิสิต  ไก่ตัวผู้ฝูงใหญ่นั้น  ต่างพากันตีปีกโก่งคอส่งเสียงขันต่อเนื่องกันเป็นสัญญาณว่า "ใกล้รุ่ง" สว่างแล้ว   อาจารย์จึงตื่นจากภวังค์  สมองแล่นปรื้ด  สามารถแต่งเนื้อร้องเพลง "ใกล้รุ่ง"  เสร็จในวันนั้น  รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลพิจารณา  ทรงพอพระราชหฤทัยคำร้อง  จึงโปรดให้บรรเลงประเดิมใน "วันทรงดนตรี" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                               ท่านศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ได้รับพระราชทานให้แต่งคำร้องถวาย ๕ เพลง  คือ  เพลงใกล้รุ่ง  เพลงชะตาชีวิต  เพลงแว่ว  เพลงชีวิตนิรันดร์  และเพลงเขียวคงขจี เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  

                               ในช่วงเวลา "มหาวิปโยค"  เมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ สวรรคต ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ แล้ว สถานีโทรทัศน์ทุกช่องยกเลิกรายการหมด มาแพร่ภาพต่างๆ  เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์เพื่อช่วยเหลือราษฎร ผ่าน "โครงการฝนหลวง"  กว่า ๔ พันโครงการ  โดยมีการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ ประกอบสารคดีด้วย  ผ่านไปสัก ๒ เดือน  มีข่าวว่า สถานีโทรทัศน์บางช่องสำรวจผู้ชมว่า "ชอบเพลงพระราชนิพนธ์ใดมากที่สุด" ปรากฏว่า คนฟังชอบเพลง "ใกล้รุ่ง" มากที่สุด  แต่ในบรรดาเพลงพระราชนิพนธ์ ๔๙ เพลง  องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ  มีมติให้ยกย่องว่าเพลงชื่อ "สายฝน" เป็นเพลงประจำทวีปเอเซีย (Song of Asia) 

                                เข้าใจว่าคนต่างชาติคงพิจารณาจากท่วงทำนองเพลงมากกว่า "คำร้อง" หรือเนื้อร้อง  แต่ชื่อ "สายฝน" ก็สอดคล้องกับโครงการ "ฝนหลวง"  ที่ได้รับยกย่องจากนานาชาติ และขอเข้ามาศึกษาและรับพระราชทานชี้แนะจากพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ด้วย  

                                เวลาของรายการปกติโดยมีวิทยากร ๒ คน รวม ๓ ชั่วโมง  แต่เพราะท่านอาจารย์พูดคนเดียว และอายุ ๙๐ ปีแล้ว  ผมจึงคิดว่าจะใช้เวลาสัก ๑ ชั่วโมง ไม่เกินชั่วโมงครึ่ง  แต่เพราะท่านอาจารย์เล่า "ความหลัง" อย่างมีความสุข  ผู้ฟังทุกคนในห้องฟังด้วยความสุขจนได้เวลา ๒ ชั่วโมง  รวมทั้งตอบคำถามด้วย  ผมขับรถไปส่งท่านที่บ้าน  ตลอดเวลาอีกชั่วโมงเศษ  ท่านเมตตาเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ผมเรียนถาม  ท่าทางของท่านดูเหมือนอายุอ่อนกว่า ๗๐ ปี    ผมจะมีโอกาสได้พบศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ ปลายเดือนมีนาคม  เราในฐานะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี  จะไปรอรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนฯ  ซึ่งเสด็จมาพระราชาทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด ณ ห้องประชุมใหญ่ ของศูนย์การประชุมสิริกิติ์  ผมไม่ค่อยได้ไปส่งท่านกลับบ้าน  เพราะท่านมักจะเตรียมการกลับไว้ก่อนแล้ว  

                                แต่เมื่อมีนาคม ๒๕๕๘  ผมเห็นท่านยังไม่กลับทั้งที่เสร็จงานแล้ว  จึงเรียนถามได้ความว่า  ท่านจะแวะไปที่จุฬาฯ​ ก่อนเพื่อจะนำความเห็นในการพิจารณาวิทยานิพนธ์ของนิสิตชั้นปริญญาเอกคนหนึ่งไปส่งให้คณะวิชา ที่จุฬาฯ  ผมถามว่าท่านจะไปอย่างไร  "คิดว่าจะเรียกแท็กซี่"  ผมทักว่าขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ เพิ่งกลับไป  กว่าเราจะเรียกแท็กซี่ได้ก็อีกไม่เร็วกว่าครึ่งชั่วโมง  ผมจึงชวนท่านไปใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน  เพราะมีสถานีอยู่ใกล้ๆ ศูนย์สิริกิติ์  มุดไปโผล่ที่สถานีสามย่านต่อแท็กซี่เข้าจุฬาฯ    ผมบ่นว่าทำไมคณะวิชาไม่ส่งคนไปขอรับเอกสารจากท่านน้อ  ทำไมต้องให้คนแก่ต้องลำบากด้วยนะ   ท่านอาจารย์ชี้แจงแทนว่า "ผมโทร. ติดต่อหัวหน้าภาควิชาแล้ว  แต่ผมโทร. ไปตามเบอร์ที่ให้ไว้หลายครั้งแล้ว  ไม่มีคนรับ  เกรงว่าถ้าถึงมือผู้ทำวิทยานิพนธ์ล่าช้า  เขาจะเสียประโยชน์แก้ไขไม่ทัน  วันนี้ผมมาแถวนี้อยู่แล้ว  จึงนำซองนี่มาให้ไม่ลำบากหรอก

                               ท่านผู้อ่านบางคนอาจสงสัยว่าทำไมผมเขียนถึงศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยเป็นศิษย์ หรือผู้ทำงานใต้บังคับบัญชาของท่านเลย  ทำไมไม่เขียนถึงอาจารย์ของตนเอง เช่น ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์    ผมวิสัชนาได้ว่า  ท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย  เป็นคนโด่งดังระดับโลก  มีคนเขียนถึงท่านนับร้อยนับพันคนแล้ว  มีประโยชน์ใดที่ลูกศิษย์ "กระจอก" ที่เรียน ๕ ปีครึ่งจึงจะจบปริญญาตรี คือ ผมจะเขียนถึงท่านอีก    แม้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ  ไม่เคยสอนหนังสือผมในห้องเรียนอย่างเป็นทางการก็ตาม  แต่ท่านสอนให้ผมได้รับความรู้ความคิดอย่างกว้างขวางมากมาย  ผมอาจสรุปได้ว่า "แบบอย่าง"  ที่ท่านได้สอนผม  แต่ผมยัง "สอบตก"  พยายาม "สอบซ่อม" อยู่ คือ

                       ๑.  อโรคยา ปรม ลาภา  =  ความไม่มีโรค(ภัยไข้เจ็บ) เป็นลาภอย่างยิ่ง

                       ผมคิดว่าถ้าผมอายุ ๙๐ ปี  ผมคงเดินไม่ไหว  จะออกไปนอกบ้านตาม
 ได้ตามลำพัง  ทั้งสามารถร่วมประชุมเช้า-เย็น  ได้สบายทุกวัน   ทั้งนี้  เพราะท่านระมัดระวังดูแลสุขภาพ  โดยเฉพาะสุขภาพจิต  เท่าที่ผมเคยทราบ  ท่านไม่เคยแสดงความไม่พอใจใครเลย  อารมณ์ดีตลอด  ส่วนสุขภาพกายนั้น  ผมเห็นด้วยตาตัวเอง  เพราะเคยร่วมประชุมกับท่านหลายสิบครั้ง  ถึงกลางวันเจ้าภาพเลี้ยงอาหารอย่างดีปานใด  แต่ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐไม่กินตามใจปาก  กินพออิ่มผมแลดูเห็นของอร่อยๆ ที่เสิรฟอยู่นั้นท่านยังไม่กิน จึงพยายามเชียร์  แต่ไม่ได้ผลหรอกครับ  ท่านสังวรในการกินจนดูเหมือนอย่างสำนวนโบราณว่า "กินแค่แมวเลีย"  นี่เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ท่านอายุวัฒนะ  สุขะ  พละ  แท้จริง

                        ๒.  สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ  =  ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

                        ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  เคยดำรงตำแหน่งสถานะข้าราชการประจำระดับสูงสุด คือ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ  คนระดับนี้  แม้เกษียณแล้วก็ยังมีรถยนต์ส่วนตัว  และจ้างคนขับได้  โดยเฉพาะท่านยังมีภารกิจเป็นกรรมการ และเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันต่างๆ อยู่เนืองๆ  แทบจะทุกวัน  แต่กลับโหนรถเมล์ไป-กลับ  นับเป็นคนที่หายากยิ่งที่ทำตนเป็น "คนจมลง"  คิดแล้วก็น่าละอาย  ผมเคยเป็นแค่รองอธิบดี  หลังเกษียณแล้วยังดิ้นรนซื้อรถมือสองมาขับ  ทั้งๆ ที่ภารกิจก็นานๆ มีครั้ง  ส่วนใหญ่รถจอดทิ้งไว้  ก็ต้องหาเหตุขับออกไปเยี่ยมญาติและตัดผม  ก็ซื้อของใช้ในบ้าน  นี่คงเพราะยังติดนิสัย "จมไม่ลง" อยู่บ้าง   ยังดีหน่อยที่ผมไม่เคยซื้อ "รถป้ายแดง" แต่กระนั้นก็ใช้เงินซื้อมาใช้ทีละคันๆ  บัดนี้เป็นคันที่ ๗  รวมจำนวนเงินที่ใช้ซื้อประมาณล้านบาทเศษ

                         นี่ถ้าผมดำรงชีวิตอย่างสมถะสันโดษแบบท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ละก็ เงินจำนวนนี้สามารถสะสม หรือใช้ประโยชน์ที่จำเป็นแก่ชีวิตจริงๆ ได้มากมายหลายประการ   ผมมักจะเคยอ้างว่า  ตนอายุ ๗๐ กว่าแล้ว  ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะยกของเดินไกลๆ  จึงจำเป็นต้องมีรถยนต์ไว้ใช้  ผมนึกละอายใจว่า  ทำไมล่ะ  ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ แก่กว่าผม ๒๐ ปี  ท่านไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ใช้ขนของ  ใช้แท็กซี่ก็ได้   

                         ๓.  วิสาสา ปรมา ญาติ   =   การพูดจาคบหา เป็นญาติอย่างยิ่ง

                         แม้นามสกุลของท่านอาจารย์จะดูยิ่งใหญ่กว้างขวางด้วยญาติเชื้อสายร่วมสกุล  แต่ในความเป็นจริง  ท่านอาจารย์เกิด-เติบโต และเรียนจบมัธยมปลายที่ "ยุพราชวิทยาลัย"  เชียงใหม่ ท่านจึงรู้ภาษาล้านนาอย่างลึกซึ้ง  แต่ท่านไมพูดสำเนียงล้านนา  บอกว่า  "คุณพ่อไม่ให้ลูกชายพูด แต่ไม่ห้ามลูกสาว"  อีกทั้งสำเนียงท่านก็ไม่ "ทองแดง"

                         การพูดภาษาใด  สำเนียงใด  ไม่เป็นปัญหาในการสื่อสารคบหากันด้วยอัธยาศัยไมตรี  ท่านอาจารย์เป็นคนสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน  ไม่เคยเห็นหรือได้ยินท่านทักท้วงทักหักหาญใคร   ครั้งหนึ่ง  ผมอภิปรายทักท้วงอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านก็ยืนยันข้อมูลความเห็นของตนเอง ผมก็ขยับจะโต้แย้งอีก แต่เสียงนุ่มๆ เบาๆ ของท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ กล่าวขึ้นว่า "เท่าที่ผมได้ทราบมานั้น คือ...." สาระที่ท่านกล่าวนั้น  สรุปก็คือผมผิด  ผมจึงหยุดทันทีและรู้สึกขอบพระคุณที่ท่านอาจารย์ออกมาช่วยให้ผมไม่ "หน้าแตก" มากขึ้น   ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ จึงมี "ญาติธรรม" เคารพนับถือท่านเป็นจำนวนคนมากมายกว่าญาติทางสายเลือดไม่รู้กี่ร้อยพันเท่า

                         ครั้งหนึ่ง  ผมเรียนถามอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์  ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  ว่าผมติดใจสงสัยปัญหาเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย  ผมจะเรียนขอความเห็นจากท่านผู้ใดดี?  ผมคาดว่าอาจารย์พิเศษ  จะตอบผมว่า  "...คุณศุภกิจ  สงสัยเรื่องอะไรก็ถามผมได้..."   แต่คำตอบกลับเป็นว่า  "...คุณเรียนถามท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ เถอะ"  เดี๋ยวนี้เหลือท่านเพียงคนเดียวที่ผมเชื่อถือ"

                          หลายวันต่อมา  ผมมีโอกาสได้เรียนถามท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ว่า "...ตามทัศนะของท่าน สงครามระหว่างพระบรมไตรโลกนารถ กับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนานั้น ใครแพ้ใครชนะ?"

                           ท่านอาจารย์ไม่ตอบผมตรงๆ  ท่านให้ผมพิจารณาตามหลักการว่า

                           "จะพิจารณาว่าใครแพ้ใครชนะในสงครามใด  ต้องดูว่า  ก่อนสงครามใครมีดินแดนและสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง  เสร็จสงครามแล้ว  จึงพิจารณาว่าใครได้ใครเสีย..."

                           ฟังดูคล้ายๆ หลักการในพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เคยตรัสทำนองว่า  "ถ้าจะช่วยคนละก็  อย่าเอาปลาไปให้ชาวบ้านกิน  แต่จงสอนวิธีจับปลาให้เขา..."  ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ได้สอนวิธีคิดให้ผมแล้ว ผมจึงนำมาพิจารณาว่า  ก่อนเริ่มสงครามนั้น  พระเจ้าติโลกราชทรงมีอาณาเขต หรือดินแดนเฉพาะในแคว้นล้านนา  แต่หลังสงครามยุติลง  พระเจ้าติโลกราชยึดเมืองเชียงชื่น ซึ่งเคยอยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยาไว้ได้  พระบรมไตรโลกนารถไม่สามารถรบชิงมาได้  ซึ่งจะเสื่อมเสียพระเกียรติประวัติที่พ่ายแพ้เสียดินแดน  ดังนั้นจึงทรงใช้วิธีของ "ธรรมราชา"  โดยเสด็จมาทรงผนวชที่วัดขนาดเล็กๆ ที่ทรงสร้างขึ้นริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน  เมืองพิษณุโลกทรงตั้งชื่อวัดว่า "จุฬามณี"  สื่อความว่า  ทรงมุ่งทางพระพุทธธรรมแล้ว  แต่ก็ได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๔ รูปขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าติโลกราช ณ นครเชียงใหม่  เพื่อขอบิณฑบาตเมืองเชียงชื่นคืน ... ผมได้คำตอบแล้วครับ

                          ๔.  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขฺขํ  =  ความสุขอื่นใดจะยิ่งกว่านิพพานนั้นไม่มี

                          นักปราชญ์  ทางพุทธศาสนาส่วนใหญ่มักจะตีความบอกกล่าวถึงอาการ หรือสภาวะ "นิพพาน" นั้นมีแต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว  คนอื่นๆ แม้แต่พระอัครสาวกก็ไม่ใช้คำว่า "นิพพาน"  เมื่อเวลาท่านเหล่านี้  "มรณภาพ"  เท่านั้น   ความจริงจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนักปราชญ์ผู้ให้อรรถาธิบายเหล่านั้น  

                          ระยะหลังๆ นี้  มีการกล่าวถึงประโยคหนึ่งว่าเป็นปรัชญาในพระพุทธศาสนา คือ "ความสุขอื่นใดจะยิ่งกว่าความสงบไม่มี"

                          แน่นอนว่านี่เป็นการกล่าวถึง  "ความสงบในสภาวะจิตของมนุษย์  ไม่ใช่ความสงบเงียบในสถานที่หนึ่งที่ใด..."   ความสงบในสภาวะจิตดังผมกล่าวถึงนี้  ผมเชื่อมั่นว่า  มีอยู่ในใจของท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  อย่างเต็มเปี่ยม  จึงแสดงออกให้เห็นว่า  ท่านเว้นจากความรัก ความโลภ  ความโกรธ  และความหลง  มีศีลาจารวัตรปานพระสงฆ์ผู้เคร่งครัดในศีล  ฉันนั้น





* คำพังเพยไทยโบราณว่า  "คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง" คือ เตือนหรือปรามไว้ไม่ให้คบเด็กและคนหัวล้าน  ผมคิดว่า คำพังเพยดังกล่าวไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เยาวชน และคนหัวล้าน  กรณีเรื่องที่ผมเขียนมานี้  ควรเพิ่มต่อคำพังเพยอีกประโยคว่า  "...คบผู้เฒ่าประเทืองปัญญา" จริงๆ  


✪✪✪✪✪
               
ปาฐกถานำของศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร (งานทำบุญครบ ๑๐๐ ปี อาจารย์สถิตย์ เสมานิล)