Sunday, July 30, 2017

เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อความจริง

เฉลิมขวัญ "เชียงใหม่" ๖๐ รอบนักษัตร  ตอน  เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อความจริง


        ความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตอาจไม่ใช่เรื่องราวที่จดบันทึกไว้ในพงศาวดาร หรือในประวัติศาสตร์  ทั้งนี้  ด้วยอคติหรือด้วยเหตุผลทางการเมืองและอื่นๆ  ทำให้การบันทึกไม่มีอิสระที่จะเขียนตามความจริง   ดังนั้นการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงต้องระมัดระวัง  อย่างน้อยก็ไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีเหตุการณ์เรื่องราวเช่นนั้นเกิดขึ้นจริงหรือ  ถ้าต้องการเรียนรู้ลึกขึ้นก็ต้องศึกษาเปรียบเทียบจากเอกสารหลักฐานของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะฝ่ายเป็นกลางที่รู้เห็นเหตุการณ์

        อย่างไรก็ดี  นักวิชาการประวัติศาสตร์ทั่วโลก  ยอมรับนับถือว่าเอกสาร "จดหมายเหตุของจีน" เป็นเอกสารบันทึกที่เชื่อถือได้มากกว่าของชาติอื่นๆ

         เหตุใดจดหมายเหตุของจีนจึงได้รับการยอมรับนับถือสูงกว่าของสยาม และของนานาชาติ  คำตอบคือ  ชนชาติจีนมีข้อกำหนดที่ยอมรับปฏิบัติต่อเนื่องมาทุกราชวงศ์เกือบ ๓๐ ราชวงศ์คือ  ให้ตั้งปัญญาชนคนหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานของ  "หอจดหมายเหตุ"  แน่นอน  คุณสมบัติที่สำคัญไม่แต่เพียงรอบรู้ภาษาหนังสือ  แต่สำคัญที่สุดคือ

        (๑)  ซื่อสัตย์ต่อชาติ และกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างมั่นคง
        (๒)  เคร่งครัดในระเบียบปฏิบัติ และดำรงตนโดยสมถะไม่ใฝ่ลาภยศ

        เจ้าพนักงานผู้บันทึกจดหมายเหตุมีความเป็นอิสระในการเขียนบันทึงได้อย่างแท้จริง  ทั้งนี้ข้อความในบันทึกจะไม่ถูกเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก  หากใครล่วงรู้ข้อความที่บันทึกไว้นี้  คนที่รู้จะมีความผิดถึงตาย  โดยไม่ยกเว้นให้ผู้ใด  ไม่ว่าผู้ล่วงรู้จะยิ่งใหญ่ถึงจักรพรรดิก็มีโทษเท่าสามัญชน  ทั้งเจ้าพนักงานบันทีกก็พลอยมีโทษถึงตายเช่นกัน  ดังนั้น  เขาจึงบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ตามความจริงได้ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง  โดยบางสมัยอาจบันทึกเรื่องราวที่ไม่ดีของฮ่องเต้  ก็เขียนอย่างสบายใจหายห่วง  เพราะฮ่องเต้เองก็ไม่มีสิทธิ์ขอทอดพระเนตร หรือทรงสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้  หากจักรพรรดิองค์ใดทรงสั่งให้แก้ไข  ก็จะทรงเป็น "ทรราชย์"  ใครๆ ก็มีความชอบธรรมที่จะโค่นราชบัลลังก์ได้ (**แล้วใครจะวางระเบิดตัวเองล่ะ**)

        ในหนังสือชุดพงศาวดารจีนยุคปลายราชวงศ์หมิง  เรื่อง "ไฮ้สุย"  (**หรือ "ไห่รุ่ย" ในสำเนียงจีนกลาง**)  ไฮ้สุยอยากรู้เรื่องในบันทึกจดหมายเหตุ จึงตีสนิทและแอบดู  โดยผู้บันทึกไม่รู้เห็นแต่ "ไฮ้สุย" ก็เอาสาระในบันทึกไปเปิดเผยไม่ได้  เพราะโทษถึง "หัวขาด" ทั้งสองคน   อ้าว... ปิดมิดชิดอย่างนี้จะมีประโยชน์อันใดหรือ  อ๋อ...มีครับ  เพราะบันทึกที่ถูกต้องตรงความจริงทุกประการในประวัติศาสตร์ คือ "จดหมายเหตุ" ดังกล่าวนี้  เมื่อราชวงศ์ก่อนล่มสลายไป  ครั้นมีราชวงศ์ใหม่ปราบดาภิเษกขึ้นมาแล้ว  เจ้าพนักงานหอจดหมายเหตุ  มีหน้าที่นำบันทึก "จดหมายเหตุ" ทั้งหมดขึ้นน้อมเกล้าถวายพระจักรพรรดิ์  เพื่อทรงมอบหมายให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตศึกษาวิเคราะห์ถวายว่า

        ปัจจัยเหตุประการใดบ้างที่ทำไว้ในราชวงศ์ก่อน  ที่เป็นมูลเหตุให้เกิดความวิบัติแก่บ้านเมืองจนราชวงศ์ล่มสลาย... ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนั้นอีกในยุคสมัยราชวงศ์ของพระองค์

        ฟังดูเข้าท่าดีนะครับ  แต่ทำไมราชวงศ์ต่างๆ เกือบ ๓๐ ราชวงศ์  ตั้งแต่ยุคโบราณก่อนจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้จึงล่มสลายจนราชวงศ์ชิงสุดท้ายล่มลงเมื่อราวร้อยปีมานี้...  ตอบง่ายๆ คือ "รู้แล้วไม่ทำ" ซ้ำยังพยายามหาเหตุอ้างเพื่อจะไม่ต้องมานะอดทนบำเพ็ญความดี  แต่กลับตะแบงหาเหตุอ้างเพื่อสนับสนุนให้ทำความชั่วได้สะดวก

        ***   ย้อนกลับมาพิจารณาประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย  เราเคยให้เรียนในโรงเรียนว่าชนชาติไทยแต่ดั้งเดิมตั้งรกรากอยู่แถบภูเขาอัลไตทางเหนือของจีน  แต่ถูกรุกราน และคนไทยรักอิสระจึงพากันอพยพลงมาทางใต้ตามลำดับ  มีการก่อตั้ง "แคว้นลุง" (**ไม่ใช่พัทลุง หรือสามีของป้า**)  ครั้นแคว้นนี้แตกก็ตั้งแคว้นอีกชื่อ "แคว้นปา" (**ต่างเผ่าชนกับแคว้นจามปาที่ลุ่มน้ำโขง**)  แคว้นที่ ๓ ชื่อ  "แคว้นเงี้ยว" (**ไม่ใช่ไทยใหญ่ที่เราเคยเรียกว่า "เงี้ยว" คนถูกเรียกไม่ชอบ เพราะต้องการให้เรียกว่า "คนไต : คนไท"**)

        แคว้นทั้งสามล่มแล้ว  ชนชาติไทยยังก่อตั้งอาณาจักรในแดนจีนใต้ได้อีกชื่อว่า "อาณาจักรน่านเจ้า หรือน่านเจียว"  มีกษัตริย์ปรากฏพระนาม เช่น พระเจ้าสีนุโล ฯลฯ  ก่อนจะถูกจีนยึดครองจนต้องอพยพลงมาเป็นระยะๆ  จนมาตั้งหลักอยู่ ณ ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ ณ แดนสุวรรณภูมิแหลมทองในปัจจุบัน  โดยมี "อาณาจักรสุโขทัย"  ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นแห่งแรก ฯลฯ (**อาณาจักรล้านนา/ นครเชียงใหม่ก่อตั้ง ๑๘๓๙**) ***

        สาระในช่วงเครื่องหมาย ***  ผมเก็บความจากหนังสือ "หลักไทย" เรียบเรียงโดยท่านหัวหน้ากองฯ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์)  ผมเรียกท่านแบบนี้ได้ เพราะชีวิตราชการของท่านเป็นหัวหน้ากองมาตราชั่งตวงวัด  กรมทะเบียนการค้า (**ปัจจุบันคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)  ท่านชอบอ่านเขียนหนังสือเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก  เช่น  เรื่องภูมิศาสตร์วัดโพธิ์  ภูมิศาสตร์สุนทรภู่  เนื้อร้องเพลงชาติไทย  โดยเฉพาะเรื่อง "หลักไทย"  มีผู้นำไปอ้างเขียนแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยให้นักเรียนเรียนอยู่หลายสิบปี  ดังสรุปสาระที่ยกมากล่าวไว้  แต่ช่วง ๓๐-๔๐ ปีมานี้มีการศึกษาวิเคราะห์มากขึ้น  จึงทำให้ทราบว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยดังกล่าวไม่ถูกต้อง  เช่น  ไม่มีเค้าเลยว่าเคยมีชนเผ่าไทยอยู่แถบภูเขาอัลไต  แม้แต่แคว้นลุง ปา เงี้ยว และอาณาจักรน่านเจ้าก็เป็นของชนชาติอื่นซึ่งมีวัฒนธรรมใช้คำพยางค์ท้ายของชื่อบิดา ไปตั้งเป็นพยางค์ต้นของชื่อลูกชาย  เช่น  พีล่อโก๊ะ (บิดา)  โก๊ะล่อฝง (ลูกชาย) ฯลฯ

        ผมไม่ได้ติการเขียน "หลักไทย"  ตรงข้าม  ผมเคารพนับถือท่าน "กาญจนาคพันธ์"  มาก  ผมเคยไปกราบรบกวนขอความรู้และขอให้ท่านเป็นกรรมการตัดสินประกวดบทร้อยกรองระดับมหาวิทยาลัย   ผมยกย่องขุนวิจิตรมาตราที่กล้าคิดเขียนบุกเบิก(ตำรา) ประวัติศาสตร์ชาติไทย  ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้เป็นครูบาอาจารย์นักวิชาการในสถานศึกษาใด  การเขียนคลาดเคลื่อนบ้างก็เป็นธรรมดาที่ยุคสมัยก่อนปี ๒๔๗๕ นั้น  เอกสารหนังสือทางด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ไทยมีเพียง พงศาวดาร  ศิลาจารึกที่เพิ่งแปลได้ไม่กี่บรรทัด  กับบันทึกการเดินทางเผยแพร่คริสต์ศาสนา  ของ "หมอดอดจ์"  มิชชั่นนารีที่ผ่านไปในหมู่ชนเผ่าไทย และเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย และภาคใต้ของจีน

        ยุคสมัยปัจจุบัน  ย่อมมีความพร้อมทุกประการในด้านเอกสารหลักฐานให้ศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์หาความจริงในประวัติศาสตร์  เพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย  ให้อนุชนคนไทยได้จดจำเรื่องราวที่ถูกต้องของชาติไทยต่อไป  น่าเสียดายที่ในยุคสมัยซึ่งผ่านมาราว ๓๐ - ๔๐ ปี  กระทรวงศึกษาธิการลดความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ลงไป  จนเป็นเพียงวิชาเลือก  ทั้งมีนักวิชาการ และผู้มีชื่อเสียงบางคนกล่าวว่า  การเรียนวิชาประวัติศาสตร์  อาจเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึก "คลั่งชาติ" (**น่าจะเป็นอาการคล้ายๆ โดนัลทรัมป์ นักการเมืองอเมริกัน กระมัง**)  ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นหลายสมัยต่อเนื่องมาจนปัจจุบันจึงยังคงใช้ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์อีก  ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีน และเกาหลีทั้งสองประท้วงมาตลอดว่าบิดเบือนความจริงบางตอน

        คิดเดาได้ว่า  ญี่ปุ่นไม่กลัวจีนน่ะซี  แล้วประเทศไทยกลัวใครประท้วงหรือ  จึงไม่จัดชำระตำราเรียน และบังคับให้เยาวชนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยทุกคน  ทั้งนี้  เพราะความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องประวัติศาสตร์จะเป็นพื้นฐานและแนวทางในการปฏิรูปสังคม/ ประเทศชาติ   ผมดีใจที่ได้ชมรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งสัมภาษณ์  ศาสตราจารย์จรัญ ภักดีธนากุล  อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม  ปัจจุบันเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ท่านย้ำถึงความสำคัญของวิชาความรู้ด้านประวัติศาสตร์มาก  แต่ท่านและชาวไทยคงต้องรอต่อไปโดยยังไม่รู้ว่าเมื่อใดจะมีตำราเรียน "ในฝัน" เป็นจริงขึ้นมาได้  เพราะยังไม่มีหน่วยราชการ/ ผู้มีอำนาจใดๆ ริเริ่มทำจริงๆ สักที

         เราจึงต้อง(ทน) ฟัง/ อ่านประวัติศาสตร์ "ฉบับตามใจฉัน" ตัวอย่างเช่น

         มีการอ้างและพูดออกโทรทัศน์ว่า  กองทัพพม่าที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกล่มลงในปี ๒๓๑๐ นั้น ... มีกำลังทหารมากถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน  จึงทำให้ไทย(สมควร) พ่ายแพ้ ... ทั้งๆ ความจริงในพงศาวดาร และพระราชนิพนธ์เพลงยาว เรื่อง "รบพม่า" ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุริสิงหนาททรงแต่งขึ้นนั้น ทรงยืนยันว่า กองทัพพม่ามีจำนวนเพียง ๕,๐๐๐ คนเท่านั้น

        กรมพระราชวังบวรมหาสุริสิงหนาทเมื่อตอนกรุงแตกนั้น  ทรงอยู่ในเหตุการณ์  ขณะนั้นยังเป็นสามัญชน  รับราชการในกรุงศรีอยุธยา  ตำแหน่ง "นายสุดจินดา"  ต้องหนีพม่าข้าศึกออกจากเมืองหลวงรอดไปอย่างหวุดหวิด  คิดดูว่าถ้าพระองค์จะทรงกลบเกลื่อนความอัปยศของเมืองไทย  ก็ควรจะบอกว่าข้าศึกมีมากกว่า ๕,๐๐๐ คน  ในขณะที่กำลังพลฝ่ายไทยทั้งในพระนคร และในเมืองรอบนอกรวม ๗๐,๐๐๐ คน  ทรงเขียนถึงความรู้สึกอัปยศยิ่งนักในความพ่ายแพ้(อย่างงี่เง่า) แต่ไม่ทรงบิดเบือนความจริง

        หากทรงตั้งปณิธานที่จะทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อกอบกู้เกียรติศักดิ์ของชาติ  ในวิถีทางที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรม คือ ทรงปฏิรูปกองทัพไทยให้แข็งแกร่งรบไม่แพ้พม่าอีก  ก็ทรงทำได้ตลอดยุคสมัยพระองค์ ...วิญญูชนย่อมแก้ไข (**คนจัญไรชอบแก้ตัว**)  ในเมืองไทยใครๆ ก็ย่อมรู้จักพระนเรศวรมหาราช  โดยเฉพาะมหาวีรกรรมทรงกระทำยุทธหัตถีฟันพระมหาอุปราชา (มังสามเกียด) ของพม่าสิ้นพระชนม์บนคอช้าง  เราภาคภูมิใจมากจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ สร้างละครภาพยนตร์ครึกโครม

         แต่เชื่อไหมว่า  เรื่องราวการทำยุทธหัตถีที่ยิ่งใหญ่ในความรับรู้ของคนไทยนับแต่เกิดเหตุ พ.ศ. ๒๑๒๗ ตลอดมากว่า ๔๐๐ ปีนั้น ไม่มีการบันทึกไว้ในพงศาวดารพม่า หรือในเอกสารทางพม่ากรณีนี้  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง "ไทยรบพม่า" นั้น

          คงเข้าใจได้ว่า ความพ่ายแพ้แก่ข้าศึกย่อมเป็นเรื่องไม่ดีของประเทศชาติ  ผู้บันทึกเรื่องราวในพงศาวดารพม่าจึงไม่พูดถึงรายละเอียดในสงคราม  คงกล่าวถึงพระมหาอุปราชาว่า  สิ้นพระชนม์เพราะเป็นความจริง  กรณีเช่นนี้ไม่ถึงกับกล่าวเท็จทีเดียว  จึงเลวร้ายน้อยกว่าการแก้ไขเพิ่มจำนวนทหารพม่าที่ตีกรุงไทยแตกเมื่อปี ๒๓๑๐ จากความจริง ๕,๐๐๐ คน เป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน (**โกหก ๒๐ เท่า**)

          การเขียนบิดเบือน และปิดบังบางส่วนของรายละเอียดดังยกตัวอย่าง  ย่อมไม่ยากนักในการพิสูจน์แสวงหาความจริงมาเสนอให้แก่สาธารณชน  ติดอยู่เพียง... เมื่อไหร่ทางราชการของเราจะลงมือทำเสียที ... นี่แหล่ะครับ