Wednesday, August 2, 2017

"ท่านปัญญาฯ" กับการพัฒนาสังคมไทย

พระปัญญานันทะภิกขุ












 เมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว   ชาวภาคเหนือโดยเฉพาะชาวเชียงใหม่  ลำพูน  มีกิจวัตรประจำทุกวันอาทิตย์  คือ  ไปประชุมกันที่ "พุทธสถานเชียงใหม่"
พุทธสถานเชียงใหม่
เพื่อฟังปาฐกถาธรรม  ซึ่งแสดงโดยพระภิกษุหนุ่มใหญ่รูปร่างสง่างามมากรูปหนึ่งซึ่งรู้จักกันดีในนามของ "พระปัญญานันทะภิกขุ" หรือ "ท่านปัญญาฯ"  ผู้บุกเบิกการเทศนาธรรมแบบทันสมัย  โดยไม่ต้องขึ้นนั่งขัดสมาธิบนธรรมมาสน์กางคัมภีร์ใบลานออกอ่านทำเสียงยานคาง ตามรูปแบบเก่านั้นอีก


"ท่านปัญญาฯ"  ยืนบนแท่นพูดต่อหน้าประชุมชนซึ่งนั่งเก้าอี้เต็มเพียบจนล้นออกไปยืนฟังอยู่นอกห้องประชุม  ใต้ต้นไม้ล้นไปถึงลานวัดอุปคุตฝั่งตรงข้ามซึ่งต่อลำโพงไปให้ฟัง


"ท่านปัญญาฯ"  มีพรสวรรค์ในการพูดทั้งถ้อยคำ  ลีลาจังหวะ  น้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  แต่ที่ชาวเหนือชอบใจเป็นพิเศษคือ  "ท่านปัญญาฯ"  พูดด้วยภาษาล้านนา  "อู้คำเมือง"  เสียงชัดแจ๋วสำเนียงคนเชียงใหม่นั่นเลยทีเดียว   "ท่านปัญญาฯ"  เป็นชาวพัทลุง  คนปักษ์ใต้ขนานแท้  ท่านเคยเป็นครูอยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนบวช  พอบวชแล้วได้ศึกษาธรรมะ และธุดงส์ไปหลายแห่งเพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติม  จึงปรากฏในประวัติของท่านปัญญาฯ ว่าเคยไปพม่า และมะลายู  คือมาเลเซียในปัจจุบัน   ต่อมาท่านรับนิมนต์ขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ในช่วงสมัยที่

ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ (อดีตประธานองคมนตรี) ไปรับราชการเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค ๕ อยู่ที่เชียงใหม่   ทั้งสองท่านต่างก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้  และแน่นอนว่าท่านย่อมจะทำต่อไปจนกว่าจะลาจากโลก






ครั้งกระโน้นท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  ได้เป็นผู้นำในการสนับสนุนให้ "ท่านปัญญาฯ"  บูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ "วัดศรีอุโมงค์คำ"  เป็นวัดโบราณ  สร้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากือนา
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช
 ๖๐๐ กว่าปีมาแล้ว

วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่
และรกร้างไปนานจนกระทั่งท่านปัญญาฯ ได้มาบูรณะจนเจริญรุ่งเรือง  ปัจจุบันนี้คณาจารย์นักศึกษาปัญญาชนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ใฝ่ศึกษาธรรมะที่นั่นรู้จักชื่อเสียง "วัดอุโมงค์"

 เป็นอย่างดีว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่ร่มรื่น  สงบเย็นสมเป็นแบบฉบับของ "พระอาราม" ทั้งนี้  ด้วยน้ำพักน้ำแรงของ "ท่านปัญญาฯ"  และท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  เป็นหลัก  รวมศรัทธาประชาชนชาวล้านนามาสนับสนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์พัฒนา  ในครั้งนั้น และกระทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน  แม้ปัจจุบันนี้ "ท่านปัญญาฯ" จะครองวัดชลประทานรังสฤษดิ์แต่ท่านยังผูกพันอยู่กับ "วัดศรีอุโมงค์คำ"

"ท่านปัญญาฯ"  ถึงกับปรารภเมื่ออายุ ๘๐ ปีว่าจะสละ (ตำแหน่ง)เจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ  ไปอยู่วัดศรีอุโมงค์คำเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมะเพียงด้านเดียว

แต่ไม่ว่า "ท่านปัญญาฯ"  จะอยู่ที่เมืองใด  วัดไหนก็ตาม  ถ้าถึงวันอาทิตย์เช้าตามกำหนดเวลาที่จะต้องมีเสียง หรือภาพและเสียงของ "ท่านปัญญาฯ" เผยแพร่ออกมาให้ประชาชนคนไทยได้ยินได้เห็นแล้ว....เกิดไม่มีละก็..!  สถานีวิทยุ  สถานีโทรทัศน์  และสื่อมวลชนอื่นๆ ต้องเตรียมตอบคำถามจากประชาชนทั่วประเทศให้ดีๆ  เพราะเคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาแล้ว  เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน  ตอนนั้นเสียงและภาพของ "ท่านปัญญาฯ" หายไปจากวิทยุ และโทรทัศน์เพียงวันเดียวเท่านั้น  โทรศัพท์และจดหมายจากประชาชน  ตลอดจนคนเดินทางมาเอง  กระหน่ำถามสื่อมวลชนทั้งหลายจนตอบชี้แจงไม่หวัดไม่ไหว  นายสถานีวิทยุ ปชส. ยุคนั้น  ปรารภว่าถูกคนด่าทั่วสารทิศทุกวันจนต้องรีบไปกราบนิมนต์ "ท่านปัญญาฯ" กลับมาแสดง "ปาฐกถาธรรม" อีกครั้งหนึ่งมาจนทุกวันนี้

                หากครั้งใด "ท่านปัญญาฯ"  ติดสังฆกิจใดไม่อาจะมาแสดงปาฐกถาธรรมได้  ผู้จัดรายการ หรือทางสถานีฯ ต้องกุลีกุจอรีบบอกกล่าวชี้แจงให้ประชาชนทราบแต่เนิ่นๆ

                พิจารณาจากประวัติผลงานอันยาวนานนับแต่  "ท่านปัญญาฯ"  ได้อุปสมบทเมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อนมาจนบัดนี  ซึ่งท่านมีอายุจะครบ ๗ รอบปีนักษัตร  คือ ๘๔ ปี  ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคมศกนี้  ประกอบกับความเคารพรักศรัทธาที่ประชาชนชาวไทยมีต่อ "ท่านปัญญาฯ" แล้ว  สาธุชนย่อมเห็นพ้องกันว่า "ท่านปัญญาฯ"  เป็น  "ผู้นำคนสำคัญของสังคมไทย" คนหนึ่ง

                ๘๔  ปี ของชีวิตที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า  "ท่านปัญญาฯ"  เป็น  "ผู้นำ"  ให้แก่สังคมไทยอย่างไรบ้าง

                ๑.  นำให้คนไทยสำนึกในการเป็น "ชาวพุทธ" ที่ถูกต้อง

                     "ท่านปัญญานันทะภิกขุฯ"  เป็นพระสงฆ์ซึ่งบุกเบิกชูประทีปธรรมนำทางให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน  และคนรุ่นใหม่ก้าวหน้าแสวงหา "พุทธิปัญญา"  จากพระพุทธธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  "ท่านปัญญาฯ" เป็นผู้นำในการสร้างสังคมไทยให้ชาวพุทธ และชาวไทยเพื่อให้รู้และเข้าใจว่า "ความเป็นชาวพุทธ" ที่ดี และถูกต้องนั้น  ควรจะทำอย่างไร  "ท่านปัญญาฯ"  ปาฐกถาธรรมด้วยถ้อยคำง่ายๆ ภาษาพื้นๆ ที่เราท่านใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน  และสามารถอธิบายหัวข้อธรรมะปัญหาธรรมะได้ชัดเจนแจ่มแจ้งเปรียบเทียบให้เห็นจริงด้วยตัวอย่างที่มีอยู่ทั่วไป

                ๒.  นำให้ "ชาวพุทธ" ตื่นจากความงมงาย

                     "ท่านปัญญาฯ"  เป็นนักพัฒนามาแต่หนุ่ม  ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างในวัดวาอารามมามากมาย   จนล่าสุดเมื่อท่านอายุครบ ๘๐ ปี  ก็มีการก่อสร้าง "ตึกปัญญานันทะ ๘๐ ปี" ไว้ในโรงพยาบาลชลประทาน  อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  มีผู้ศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้างตึกนี้กว่า ๑๐๐ ล้านบาท  ทั้งนี้โดย "ท่านปัญญาฯ" ไม่เคยจัดทำหรือสนับสนุนการศร้าง "วัตถุมงคล" ใดๆ เลย  ผู้มาบริจาคเงินสมทบทุนในการพัฒนาวัดวาอาราม  ก่อสร้างกุฏิอาคารตึกใดๆ  จึงทำบุญด้วย "ศรัทธาบริสุทธิ์" ในพระพุทธธรรม  คือ  เข้าถึงความหมายของคำว่า "ท่าน" หรืออย่างน้อยผู้บริจาคก็มีความเคารพรักศรัทธาต่อ  "ท่านปัญญาฯ"  ในความเป็นพระบริสุทธิสงฆ์

                ๓.  "พูดให้จำ  ทำให้ดู   อยู่ให้เห็น"

                      "ท่านปัญญาฯ"  มักกล่าวย้ำเสมอๆ  ในการปาฐกถาธรรมแต่ละครั้งว่า "....คำว่า พุทธะนั้นแปลว่าตื่น  ดังนั้น  "ชาวพุทธ"  ก็คือผู้ที่ตื่นแล้ว  คนผู้เป็นชาวพุทธที่แท้จึงต้องขยันขันแข็ง ตื่นขึ้นทำมาหากิน  หรือประกอบภารกิจของตนแต่เช้าๆ   ชาวพุทธ  ต้องปลุกสติของตนให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันมิให้ตนเผลอสติไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  และป้องกันมิให้พวกมิจฉาชีพมาล่อลวงด้วยประการใดๆ

                       "ท่านปัญญาฯ"  มิใช่แต่พูดเก่งปาฐกถาธรรมประทับใจสาธุชนเท่านั้น  แต่ตัวท่านเองได้บำเพ็ญตนประกอบกิจวัตรตามอย่างพระพุทธธรรมคำสั่งสอนนั้นทุกประการ  ตลอดมาตั้งแต่หนุ่มจนชราภาพ   เวลาเราหลับตานึกถึงภาพของท่านในมโนนึก  เราจะเห็นภาพของ "ท่านปัญญาฯ"  กำลังแสดงปาฐกถาธรรมอยู่เสมอ  เป็นภาพแห่ง "การตื่น" ตลอดเวลา  เชื่อว่าไม่มีใครที่หลับตาแล้วจะนึกเห็นภาพท่านกำลังจำศีล หรือท่านกำลังทำอะไรที่ไม่เหมาะแก่สมณาสารูปแน่นอน

                        ปาฐกถาธรรมของท่านปัญญาฯ  มีการอัดเทปเผยแพร่  ถอดเทปออกพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มเป็นเรื่องนับร้อยนับพันเรื่องเท่าที่ให้คนไปสำรวจดูหนังสือที่กล่าวนี้ซึ่งมีอยู่ให้เห็น ณ มหามงกุฏราชวิทยาลัย  หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร  มีเหลือ ๒๑ เรื่อง  แต่ที่ขายหมดไปแล้ว กับที่จะพิมพ์ต่อไปภายหน้าก็ยังมีนับพันเรื่องต่อเนื่องไป

                        "ท่านปัญญาฯ"  จึงเป็น  "เสาหลัก"  แห่งจริยธรรมของสังคมไทยท่านหนึ่ง  เมื่อเวลาเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาไม่ว่าในส่วนตัว หรือส่วนรวม  คนก็จะคิดถึงในหลวงฯ  สมเด็จพระสังฆราชฯ และ "ท่านปัญญาฯ"  ดังเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ"  เมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา  ซึ่งท่านทั้งหลายได้ประจักษ์เป็นอย่างดีแล้ว

                  ๔.  "ท่านปัญญาฯ"  พัฒนาคุณภาพการเมืองไทย"

                       "ท่านปัญญาฯ"  เป็นผู้สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างทันเหตุการณ์เสมอ  ท่านเปี่ยมด้วยศีล  มั่นสมาธิ  จึงสามารถใช้ปัญญาสอดส่องวิพากษ์วิจารณ์ชี้แนะสิ่งที่ถูกต้องให้เป็น "ทางสว่าง"  แก่นักการเมือง  และกิจกรรมทางการเมืองอยู่เนืองๆ  เมื่อไรมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง  ไม่เหมาะไม่ควรของนักการเมือง หรือพรรคการเมืองปรากฏออกมา  "ท่านปัญญาฯ"  ก็จะเทศนาด้วยจิตเมตตาอบรมสั่งสอนออกอากาศเผยแพร่ไปทั่วประเทศ  ซึ่งนอกจากจะมุ่งผลถึงผู้ประพฤติไม่ถูกไม่ควรแล้ว  สาธุชนและอนุชนอื่นๆ  อันเป็ฯคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ได้รับผลดีคือ ได้ศึกษาขัดเกลาสติปัญญาไปด้วย

                       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  "ท่านปัญญาฯ"  แม้ท่านไม่เคยพูดตรงๆ แต่ตลอดชีวิตท่านแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเด่นชัดว่า  ท่านนิยมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย   ครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๒๕  เคยอนุญาตให้คนไปใช้ศาลาวัดชลประทานฯ  เปิดการประชุมใหญ่  เพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พรรคปฏิวัติ" ซะอีกด้วย

                        วันพฤหัสฯ ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๘ นี้  "ท่านปัญญาฯ" จะมีอายุครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี  เราทั้งหลายจึงขอน้อมจิตอธิษฐานให้  "ท่านปัญญานันทะภิกขุ"  ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณ       "พระธรรมโกศาจารย์"  (แต่ท่านไม่ติดยึดสนใจในยศศักดิ์ใดๆ อยู่แล้ว)  จงมีสุขภาพพลานัยแข็งแรงสมบูรณ์แจ่มใส  แสดงปาฐกถาธรรมให้คนไทยฟังต่อไปอีกนานเท่านาน  เทอญ.