Sunday, July 23, 2017

ความตายเป็นเรื่องธรรมดา





"สุขภาพดี"....สร้างได้ง่ายด้วยวิถีธรรมชาติ

     ผมเป็น "คนขี้โรค" มาตั้งแต่เกิด  เพราะร่างกายของผมมีลักษณะ "อกไก่"(Pigeon Chest) ระบบการหายใจไม่ดี  พื้นที่ช่องอกมีน้อยกว่าคนทั่วไป  ทำให้ร่างกายของผมได้รับ "ออกซิเจน" น้อยกว่าคนอื่นปริมาณออกซิเจนในเลือดหรือปริมาณเม็ดเลือดแดงของผมก็ย่อมน้อยกว่าคนปกติ  สุขภาพของผมจึงอ่อนแอเจ็บป่วยบ่อยๆ

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมป่วยเป็นหวัด  ไข้หวัดแพ้อากาศ โรคภูมิแพ้ หอบหืด และนอนกรนซึ่งเป็น "กลุ่มโรคทางเดินหายใจ" ผมกินยาสารพัดทั้งยาแผนไทย ยาแผนจีน และยาแผนปัจจุบันตามตำรับตะวันตก ผลที่ปรากฏก็คือระงับอาการลงได้ชั่วคราว  ไม่หายขาดได้  ดังนั้นผลจึงใช้ยาและเวชภัณฑ์ "ยาพ่น" ทางปากเข้าขยายหลอดลมในขณะโรคกำเริบหายใจไม่ออกเป็นประจำ

     ผมกินยาและใช้ยาบำบัดต่อเนื่องทำให้ครอบครัวผมต้องใช้จ่ายเงินเพื่อรักษาอาการป่วยของผมตลอดมานาน  จนถึงอายุผมได้ ๕๘ ปี จึงเลิกใช้ยาและเวชภัณฑ์ทุกชนิด  จนบัดนี้ (๒๐๑๒) ผมอายุ ๗๒ ปี  ผมเดินทางไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศ  เช่น  จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาได้โดยลำพังคนเดียว และไม่ต้องพกยารักษาโรคทางเดินหายใจอีกเลย

    ท่านคงจะงุนงงสงสัยว่าผมทำยังไง?  เพราะทางวิชาการแพทย์ (แผนตะวันตก) ที่เกือบทุกประเทศถือเป็นหลักหรือกระแสหลักในวงการสาธารณสุขทั่วโลกต่างทราบดีว่า "กลุ่มโรคทางเดินหายใจ" ไม่มียาหรือการบำบัดรักษาใดๆ ให้หายขาดได้ ไม่ใช่หรือ??

    สมัยที่ผมเป็นนักเรียน  ผมมักสอบเกือบตกในวิชาศิลปะ และพลศึกษา  ผมวิ่งได้ ๖๐ เมตรในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นวิ่งได้ ๘๐-๑๐๐ เมตร

    ครูสอนวิชาพลศึกษา แนะนำให้ผมเล่นกีฬาชนิดอื่นแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผมถนัดในการใช้สมองมากกว่าใช้กำลัง  จึงมักเล่นกีฬาทำนองพังเพยว่า "คิดได้ แต่ทำไม่ได้" ต่อมาผมริเริ่มฝึกสอนทีมกีฬาวอลเล่ย์บอลของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จนชนะเลิศประเภทนักเรียนได้ภายใน ๒ ปี

     แต่การเล่นกีฬา ออกกำลังกายไม่ช่วยให้ผมปลอดภัยจาก "โรคทางเดินหายใจ"  ผมจึงคุ้นเคยกับการกินยาในชีวิตปกติประจำวัน  และถ้ายาที่ใช้ตามปกติ "เอาไม่อยู่"  ผมก็ต้องไปพึ่งพาการรักษาของแพทย์ และบริการของโรงพยาบาลซึ่งผมคุ้นเคยกับการเข้ารับการรักษา(แอดมิท?) ในโรงพยาบาล เพราะเมื่อผมอายุ ๓๐ ปี ก็เคยเข้าห้อง I.C.U. แล้ว

     เมื่อปลายปี ๒๕๒๖ ผมถูกย้ายจากชลบุรี เข้ามาอยู่ตำแหน่งสูงขึ้นในกรุงเทพฯ บิดาของภรรยาได้ยกที่ดินแปลงหนึ่งขนาด ๖๕๒ ตารางเมตร อยู่ย่านซอยอ่อนนุช เพื่อให้เราปลูกบ้านอยู่ แต่ภรรยาของผมขายที่ดินไป นำเงินมาซื้อห้องชุดคอนโดมิเนียม "พิบูลวัฒนา" ถนนพระราม ๖ ติดกับกระทรวงการคลัง

     เราวาง "ยุทธศาสตร์" การเลือกที่อยู่อาศัยไม่ใช่ที่กว้างขวางโอ่อ่า  มีพันธุ์พฤกษา แต่เราเลือกทำเลที่ตั้ง
  • ต้องสะดวกแก่ลูกๆ ในการเรียน ณ สถานศึกษาที่เหมาะสม
  • ต้องสะดวกแก่เรา โดยเฉพาะภรรยาในการไปทำงาน (เพราะเธอขับรถไม่เป็น) ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อย
  • ต้องปลอดภัย สำหรับภรรยาและลูกสาวทั้งสอง ซึ่งบางวันบางเวลาอาจออกไปหรือกลับบ้านยามเช้ามืดหรือค่ำมืด
  • ต้องไม่เสี่ยงต่ออัคคีภัย และอุทกภัยเพราะภัยทั้งสอง อาจทำลายทรัพย์สินและชีวิตของผู้อาศัยได้หมดสิ้นยิ่งกว่าถุกโจรกรรม ๑๐ ครั้ง
     โชคดีที่โครงสร้างอาคารชุดฯ ที่เราอยู่นี้  แทบไม่มีส่วนประกอบเป็นไม้เลย  เราอยู่นานเกือบ ๓๐ ปี ยังไม่มีไฟไหม้ที่ห้องใดในจำนวน ๔๑๐ ห้อง

      ผมย้ายมากรุงเทพฯ ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๒๖  ผมตระเวนดูเพื่อรู้ว่าพื้นที่ใดปลอดภัยน้ำท่วม  ผมจึงเลือกคอนโดมิเนียมแห่งนี้  ทำให้เรารอดปลอดภัยจากการถูกน้ำท่วม ทั้งในปี ๒๕๒๖, ๒๕๓๘ และ ๒๕๕๔

✅  ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับผู้เป็นคนขี้โรคอย่างผม  ต้องเลือกที่ใกล้หมอ ใกล้โรงพยาบาล อาคารชุดที่ผมอยู่นี้ มีโรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชนตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน ๓ กิโลเมตรถึง ๑๐ แห่ง

     ผมจึงมีบัตรประจำตัวคนไข้ ๓ โรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี  โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลวิชัยยุทธ

     เมื่อหลายปีก่อน  ผมมีอาการท้องเสียอย่างหนัก  กระทั่งตี ๒ ภรรยาของผมจึงโทรศัพท์ไปแจ้งโรงพยาบาลวิชัยยุทธส่งรถพยาบาล (Ambulance) มารับผมส่งถึงหมอได้ภายใน ๕ นาที

      ผมเป็นคนอ่อนแอและ "ขี้โรค" แม่ของผมจึงสอนให้ผมรู้จักใช้สมองคิดและทำงานแทนกำลัง ผมและภรรยาจึงกำหนดยุทธศาสตร์ ๕ ประการนี้ขึ้นใช้  และได้ผลดีอย่างยิ่งหลากหลาย นอกจากที่กล่าวแล้ว เรายังไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรับส่งลูกๆ ไปเรียน เพราะลูกสาวคนโตขึ้นรถไฟไปกลับ ส่วนลูกสาวคนเล็กนั้นเดินข้ามถนนก็ถึงโรงเรียนใน ๒ นาที

      ถ้าผมไม่ได้วางแผนการดำเนินชีวิตอย่างละเอียดรอบคอบ  ผมก็คงตายไปก่อนจะถึงปี ๒๕๔๓  เพราะเมื่อผมอายุ ๕๐ ปี (๒๕๓๔) หมอตรวจพบว่า "ลิ้นหัวใจ" ของผมรั่วมาก  ทำให้ความดันโลหิตสูงมากถึง 210:90  หมอให้ผมตัดสินใจเพื่อเปลี่ยน "ลิ้นเทียม" หรือไม่

      ผมคิดอยู่นาน ๔ ปี  เพราะความ "กลัวตาย" นะซีครับ  ผมรู้ดีกว่าการผ่าตัดหัวใจมีอัตราเสี่ยงสูง  เพื่อนของผมหลายคนตายระหว่างการผ่าตัดหัวใจ  แต่ช่วงนั้นคุณภาพชีวิตของผมก็เสื่อมโทรม  เดินขึ้นบันได้บ้าน ๓ ชั้น  ก็หยุดพักเป็นระยะด้วยความเหนื่อยหอบจนเหงื่อโชก

      ที่สุดผมก็ตัดสินใจเข้าโรงพยาบาลราชวิถี  เพื่อให้หมอผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘  แต่ยังไม่ทันผ่าตัด  คุณหมอก็ตรวจพบอีกว่า เส้นเลือดใหญ่ ๒ เส้นในกล้ามเนื้อหัวใจของผมตีบมากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผมตายด้วยหัวใจวายเฉียบพลัน (Sudden dead) คุณหมอจึงยกเลิกการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วมาใช้วิธี "ทำบอลลูน" รักษาเส้นเลือด ๑ เส้นที่ตีบมากถึง ๘๖.๕%  ส่วนอีกเส้นนั้นตีบ ๕๕% ให้รออีก ๒-๓ ปี  แต่บัดนี้ ฟื้นฟูกลับหายตีบแล้วไม่ต้องรักษา

      ผมจึงรอดจากการถูกผ่าตัดหัวใจเมื่อปี ๒๕๓๘  ตลอดมาถึงบัดนี้ปี ๒๕๕๕  และเมื่อปีกลายผมขอรับการเอกซเรย์ของปอด  และคุณหมอทำ "เอคโค่" หัวใจ  คุณหมอทุกคนยืนยันว่าสภาพหัวใจของผมยังรั่วก็จริง  แต่ไม่ร้ายแรงอะไร

      แต่ผมไม่โชคดีเสมอไปหรอก  เพราะหลังจาก "การทำบอลลูน" แล้ว ๓ เดือน  เกิดผลข้างเคียงคือ "เกล็ดเลือด" ที่ยังมีอยู่ในกระแสเลือดของผม ได้ไปอุดอยู่ที่เส้นเลือดในกระดูกก้านคอ  ทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองน้อยลง  ผมเวียนหัวอาเจียนอย่างหนัก  และเป็น "อัมพฤกษ์"  ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

      ผมเดินไม่ปกติ  เซไปเซมาบังคับทิศทางไม่ได้  ต้องมีคนประคองเดินอย่างน่าเวทนา "หมดสภาพ"

      ผมกินยาจำนวนมากวันละ ๓ ครั้ง  ตอนค่ำไปพบหมอ และทำกายภาพบำบัดทุกวัน แต่ช่วงต้นเดือนต่อมามีคนแนะนำให้ผมบริหารก้านคอ  ผมลองปฏิบัติ  รู้สึกดีขึ้นคือตาสว่าง หายง่วงซึม ผมจึงบริหารก้านคอทุกเช้า - คำ่ก่อนอาบน้ำ  อาการดีอย่างรวดเร็วจนผมเดินได้ปกติในเดือนต่อมา

      วิธีบริหารก้านคอ


  1. นั่งเก้าอี้ หรือยืนตัวตรง
  2. ใช้มือซ้ายสวมกับมือขวา  ร่องนิ้วสอดเข้าหากัน นิ้วหัวแม่มือไขว้ยึดกันไว้
  3. ยกมือทั้งสองวางบนหน้าผาก  ออกแรงดึงศีรษะไปข้างหลัง แต่เราต้องออกแรงต้านสวนทางไว้ ให้ดึงและต้านนิ่งอยู่ราว ๕ วินาที ทำ ๑๐ ครั้ง
  4. ยกมือทั้งสองที่เตรียมตามข้อ ๒  วางบนท้ายทอย  ออกแรงดึงท้ายทอยไปข้างหน้า  แต่เราต้องออกต้านแรงสวนทางไว้ให้นิ่งอยู่ราว ๕ วินาที ทำ ๑๐ ครั้ง
  5. ใช้มือซ้ายผลักดันขมับซ้ายไปด้านขวา  ออกแรงที่ก้านคอต้านเอาไว้ ๑๐ ครั้ง  ใช้มือขวาผลักดันขมับขวาไปซ้ายทำนองเดียวกัน ๑๐ ครั้ง 
☝  คอและตัวเราต้องตั้งตรงตลอดเวลา

        การหายป่วยจาก "อัมพฤกษ์" ทำให้ผมเริ่มคิดถึงการฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิถีตะวันออก  ผมจึงคิดว่าถ้าได้ไปเรียนการฝึกชี่กง (พลังลมปราณ) ที่ประเทศจีน  คงจะช่วยให้สุขภาพของผมดีขึ้น

        เมื่อติดต่อขอข้อมูลไปยังเพื่อนที่ทำงานอยู่กรุงปักกิ่ง   เพื่อนผมแจ้งว่าจะต้องใช้เวลาเรียนหลายปีและเสียค่าใช้จ่ายมาก  ผมจึงไม่ได้ไปเรียนวิชา "กำลังภายใน"  แต่ผมก็ชอบศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์และวรรณกรรมจีน  ผมจึงได้รับเชิญไปเป็น "ที่ปรึกษา" ของโครงการจีนศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๗

        การช่วยทำงานให้โครงการจีนศึกษาเป็นงานอาสา  ไม่มีค่าแรงค่าตอบแทน  แต่ผมได้รับผลตอบแทนที่มีคุณค่ามหาศาลต่อมวลมนุษย์ชาติ  และมันพลิกฟื้นวิถีชีวิตของผมพ้นจากการเป็น "คนขี้โรค" กลับกลายเป็นคนไม่มีโรค  นับแต่ปลายเดือนเมษายน ๒๕๔๒ ถึงปัจจุบัน (๒๕๕๕)

        วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๐  มีการบรรยายพิเศษเรื่อง "การฝึกชี่กงแบบสำนัก บู๊ตึ๊ง"  โดยศาสตราจารย์จางฉี  จากสำนักบู๊ตึ๊ง และมหาวิทยาลัยเหลียวหนิง ประเทศจีน

         ผมถูกตามตัวให้ไปร่วมฟังในฐานะที่เป็น "ที่ปรึกษา" โดยเจ้าภาพก็คือโครงการจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  น่าประหลาดที่มีผู้สนใจน้อย  ผมต้องชวนเพื่อนร่วมงานอีก ๑๐ คนมาร่วมฟังจึงมีผู้ฟังเกิน ๓๐ คน

         ศาสตราจารย์จางฉี  อายุ ๖๓ ปี  แต่มีพลังแข็งแรง  สามารถสปริงตัวจากพื้นขึ้นไปยืนบนโต๊ะสูงจากพื้น ๒ ฟุตครึ่ง   ท่านบรรยายและสาธิตการฝึก "ชี่กง"  และไท้จิ้" อย่างคล่องแคล่ว

         ผมจำได้เพียงวิธีฝึกการหายใจเพื่อเอา "พลังลมปราณ" และการฝึกท่าบริหารกายอย่างง่าย หรือเบื้องต้น   ส่วนการฝึก "นอนแบบกบจำศีล" เพื่อลดขนาดของพุงนั้น  มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งจำได้  และนำไปฝึกได้ผลดีอย่างเห็นชัด  ต่อมาผมจึงขอเรียนรู้วิธีฝึกจากเธอ และนำมาเผยแพร่ในภายหลังต่อมา

         ถ้าเรารู้สึกเจ็บป่วย  ใครๆ ก็คงคิดถึงยา  หมอและโรงพยาบาล   ผมอาจจะคิดพึ่งพาบริการของโรงพยาบาลมากกว่าคนปกติทั่วไป  เพราะผมเป็น "คนขี้โรค" มาตั้งแต่เด็กๆ จึงคุ้นเคยกับการใช้ยา  ใช้บริการของแพทย์และโรงพยาบาล
         ครั้นผมเข้ารับราชการตั้งแต่ปี ๒๕๑๓  ได้รับสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการ รวมถึงบิดามารดาบุตรภรรยาด้วย
         ผมและผู้มีสิทธิ์เบิกเงินในลักษณะนี้  จึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้วิธีอื่นใดในการรักษาโรค หรือสร้างเสริมสุขภาพโดยเฉพาะไม่ต้องจ่ายเงินเองด้วย


          ตั้งแต่ผมได้ฟังศาสตราจารย์จางฉี บรรยายเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๐ แล้ว  ผมก็ไม่เคยคิดจะฝึก "ชี่กง/พลังลมปราณ"  ผมก็ยังมีอาการป่วย  โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้และหอบหืด ซึ่งผมต้องกินยาขยายหลอดลมเพื่อให้หายใจสะดวก  วันละ ๓ ครั้งหลังอาหาร  และต้องมียาพ่น (inhaler) พกติดตัวตลอดเวลา  ถ้าเกิดฉุกเฉินก็ใช้ได้ทันการณ์  แต่ถึงกระนั้น   ผมก็มีเสมหะอยู่ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน  ต้องพกกระดาษทิชชู่ไว้บ้วนเสมหะ  ส่วนในบ้าน และเวลากลางคืนผมก็ใช้กระโถนรองรับเสมหะ  พอตอนเช้าจะมีเสมหะอยู่ก้นกระโถน  นับเป็นภาพคุ้นตาของทุกคนในครอบครัวของผม

          เดือนเมษายน ๒๕๔๒  ผมป่วยหนักด้วยโรคทางเดินหายใจ  เป็นครั้งสุดท้าย  แต่...เกิดเหตุมหัศจรรย์  ทำให้ผมหายป่วย  และเลิกใช้ยามาจนบัดนี้....เพราะผมไม่ป่วยอีก

          โดยธรรมชาติผมแพ้อากาศหนาว  พอย่างเข้าฤดูอากาศเย็นกว่าปกติของไทย  ผมก็เตรียมตัวป่วย  แต่ในฤดูร้อนผมจะปกติคือ ไม่ป่วยถึงขนาดเข้านอนในโรงพยาบาล

           แต่เดือนเมษายน ๒๕๔๒  อากาศวิปริตในสัปดาห์แรก  อุณหภูมิสูงถึง 40C  แต่สัปดาห์ต่อมาเกิดฝนตกต่อเนื่อง  ผมแพ้อากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้  จึงเริ่มเป็นหวัด ไข้หวัด คออักเสบ  ผมใช้ยาที่มีอยู่ในตู้เย็นของเรารักษา ๔-๕ วัน  อาการไม่ดีขึ้น  จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี  ได้รับยาเพิ่มอีกทั้งยาพ่นเข้าสู่หลอดลมและยาขับเสมหะ  แต่อาการของผมไม่ดี  หอบเหนื่อย  ทำให้กลืนอาหารลำบากใช้ดื่มนมกล่องแทนอาหารปกติ

           ช่วงนั้น  ภรรยาของผมไปเป็นครูอาสาสมัครอยู่ในคณะครู เพื่อสอนภาษาไทยให้ลูกหลานคนไทยที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน และจะแวะไปเยี่ยมลูกสาวคนเล็กที่เรียนปริญญาโททางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งฮุสตัน รัฐเท็กซัส  ภรรยามีกำหนดกลับกลางเดือนพฤษภาคม  ลูกสาวคนโตอยู่ในกรุงเทพฯ  แต่ก็มีงานต้องไปทำที่ต่างจังหวัดเนืองๆ  เธอพาผมไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกครั้งเพื่อขอเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล  แต่ไม่มีเตียงว่างสักแห่ง

          คุณหมอพิจารณาแล้วปรารภว่า  ยาที่จัดให้ก็แรงที่สุดแล้วนะ  แต่มียาพ่นอีกชนิดเพิ่งออกใหม่  ในโรงพยาบาลยังไม่มี  แต่ที่ร้านขายยาใหญ่ๆ ของเอกชนเพิ่งมีขาย  ท่านเขียนชื่อและรายการให้ลูกสาวของผมไปซื้อ  ผมก็กลับไปครึ่งนั่งครึ่งนอนรออยู่ที่บ้าน  ในใจคิดว่าถ้าหายาชนิดใหม่มาไม่ได้ หรือหาได้แต่ใช้ไม่ได้ผล  ผมตายแน่!  แต่ผมอายุ ๕๘ ปีแล้ว  ลูกๆ ก็จบปริญญาตรีแล้วไม่น่าห่วง  ถึงอย่างไรตอนที่บิดาของผมถึงแก่กรรมท่านอายุ ๔๙ ปี  ผมอายุเพียง ๑๓ ปี  น้องอีก ๒ คน  คนเล็ก ๗ ขวบเอง  คิดทางบวกปลอบใจก็ทำให้งีบลงได้

         ลูกสาวหอบสัมภาระมาให้  เป็นเครื่องปั่นน้ำยาให้เป็นละอองน้ำคล้ายควัน และพ่นลงไปกับการสูดหายใจ  ทำให้หายใจดีกว่าเดิม  ผมก็หลับได้ด้วยความเหนื่อยล้า  แต่ราว ๔ ชั่วโมง  ก็กลับหายใจติดขัดต้องลุกมาพ่นอีก  ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ "เสมหะ"  ที่ตกค้างอยู่เพราะอาการคออักเสบ  ทำให้หายใจไม่สะดวก  มีเสียงเหมือน "แมวกรน" ตลอดเวลา

         เช้าตรุ่วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๒  ผมมีอาการไข้สูง  วัดปรอทได้ ๑๐๑  ผมจึงหนาวสั่น  พยายามลุกขึ้นหยิบยาแก้ไข ๒ เม็ด  เตรียมน้ำอุ่นจะกินยา

         ผมรำพึงในใจว่า  บ่ายวันนี้  ผมมีรายการที่จะขึ้นเวทีบรรยายพิเศษเรื่อง "ไซอิ๋ว ภาคพิสดาร"  ที่ห้องประชุมของสถาบันวัฒนธรรมตะวันออก  ผมคิดถึงวรรณคดีเอกของจีนเพลินๆ ก็เกิด.... "วาบความคิด"  เหมือนเกิดแสงสว่างที่ "ปลายอุโมงค์สมองของผม"  คือ  นึกท่าทางฝึกของศาสตราจารย์จางฉี และท่านว่าฝึกแล้วสุขภาพจะฟื้นฟู

         ผมตัดสินใจเก็บยาไว้  ดื่มน้ำอุ่นแล้วยืนฝึกหายใจช้าๆ  สมาธิจดจ่อกับท่าฝึก "ชี่กง" เบื้องต้นที่พยายามทบทวนความจำจากการสาธิตของศาสตราจารย์จางฉี  ผมฝึกฯ ผ่านไป ๓ รอบ (sets) ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที  ระหว่างฝึก  มีเสมหะก้อนใหญ่ขนาดเม็ดลำไยสีเขียวๆ เหลืองๆ  หลุดจากในช่องลมหายใจ  ผมจึงบ้วนลงกระโถนเป็นระยะๆ  รู้สึกเหงื่อเริ่มจะซึม  เมื่อวัดปรอทพบว่าหายไข้  ผมจึงมีกำลังใจฝึกต่ออีก ๓ รอบ (sets)  เหงื่อเปียกเสื้อผ้า  ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก  เพราะหลายสิบปีของชีวิต  มีน้อยครั้งที่ผมจะได้เห็นเหงื่อของตนเอง

         บ่ายวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๒  ผมขึ้นเวทีบรรยายพิเศษเรื่อง "ไซอิ๋ว ภาคพิสดาร" ตั้งแต่ ๑๓.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. และมีผู้ซักถามเพิ่มอีกถึง ๑๖.๓๐ น.  สนุกมาก  นอกจากผู้ฟังล้นห้องประชุม ๑๘๐ ที่นั่งของสถาบันวัฒนธรรมตะวันออกแล้ว  ยังมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย

          คอลัมน์พิเศษ "จุดประกาย"  ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ในสัปดาห์ต่อมาลงพิมพ์เรื่องที่ผมบรรยายเต็มเนื้อที่ ๑ หน้าครึ่ง  ยืนยันได้ถึงคุณภาพในการบรรยายของผมได้ดียิ่ง

          นับแต่วัน "มหัศจรรย์"  ที่พลิกชีวิตและสุขภาพของผมจากอาการป่วยเกือบหมดลมหายใจให้กลับฟื้นฟูอย่างรวดเร็วเหมือนอภินิหาร  ผมจึงมีกำลังใจฝึก "พลังลมปราณ"  ทุกวันก่อนอาบน้ำเช้า + ค่ำ  วันละ ๒ ครั้งๆ ละ ๔-๕ รอบ (sets)  ประมาณ ๒๐-๓๐ นาที  หลักสำคัญ คือ ให้เหงื่อออก  เพราะเมื่อเหงื่อออกแล้วผมจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า  ผมเชื่อว่าการหลั่งเหงื่อทำให้ผมได้รับสารฯ เอนโดฟีน (Endorphin)

           ผมฝึกฯ ทุกเช้า-ค่ำ ถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ คืนนั้น ผมไปรับภรรยาที่กลับจากสหรัฐอเมริกา  ผมแสดงให้เธออัศจรรย์  โดยอุ้มเธอขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย  ทำไมผมแข็งแรง... ก็เพราะผมไม่ป่วยอีกเลย  หายใจได้โล่งลึก  ชีพจร ๖๐ ครั้ง/นาที

           ปี ๒๕๔๒ เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในครอบครัวของผม  นอกจากตัวผมหายป่วยจาก "โรคทางเดินหายใจ" อย่างเด็ดขาดแล้ว  กลางปีนั้น ลูกสาวคนเล็กของเราเกิดอุบัติเหตุ  ทำให้แม่ของเธอ (อาจารย์จงจิต) ลาออกจากราชการตั้งแต่ ๑ ตุลาคม เดินทางไปอยู่ดูแลช่วยลูกสาวที่เมืองฮุสตัน (Houston, TX) รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา  ผมก็ลาออกจากตำแหน่งรองอธิบดีกรมทะเบียนการค้า (Department of Commercial Registration) กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) วันเดียวกันกับภรรยา

           ผมเขียนเรื่อง "ประสบการณ์จากธรรมชาติบำบัด ในการฟื้นฟูสุขภาพด้วยการฝึกพลังลมปราณ"  จัดพิมพ์เผยแพร่  มีสมาคมและศาลเจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีนมาสมทบทุนจัดพิมพ์รวม ๕๐,๐๐๐ เล่ม  ต่างแบ่งกันไปเผยแพร่แจกฟรีเป็นการกุศล  มาจนบัดนี้ปี ๒๕๕๕ ได้พิมพ์แล้ว ๕๙ ครั้ง รวม ๗๘๐,๐๐๐ เล่ม

           หนังสือเรื่องการฝึก "พลังลมปราณ" เผยแพร่ไปถึงมือผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง และบางคนทุกข์ทรมานจากโรคภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง นอนกรน โรคกระดูกงอกกดทับเส้นเลือด/เส้นประสาท  อัมพฤกษ์  โรคอ้วน  โรคหัวใจ  ไตวาย  โรคซึมเศร้า ฯลฯ และอื่นๆ

           มีจดหมายจากคนเหล่านี้ส่งไปถึงผม  กล่าวถึง "สิ่งมหัศจรรย์" ที่เกิดขึ้นต่อตัวของพวกเขาเองคือ ภายหลังการฝึก "พลังลมปราณ" ตามหนังสือของผมเพียงไม่กี่วัน  โรคเรื้อรังต่างๆ ที่พวกเขาเป็นอยู่ก็หายไป  โดยไม่ใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ใดอีก  จึงเขียนมากล่าวสรรเสริญขอบคุณที่ผมเผยแพร่สิ่งดีๆ ให้ผู้คนโดยไม่คิดคำนึงผลประโยชน์ตัวเอง

            มีอยู่ ๓-๔ ฉบับ ส่งจากคนไทย-ลาวที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา  แต่ที่เป็นหลักฐานดี คือ นายทหารผู้ใหญ่ ๒ คนเขียนยืนยัน

         
            เรื่องเช่นนี้ทำให้สื่อมวลชนสนใจมาสอบถามสัมภาษณ์ผมไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน  รายสัปดาห์ และรายเดือน  รายการวิทยุหลายสถานี และรายการโทรทัศน์หลายช่อง  ได้ขอสัมภาษณ์ผมออกรายการ  ทำให้ผู้อ่าน/ผู้ฟัง และผู้ชมรายการส่งจดหมายขอรับฟรีหนังสือ "ฝึกพลังลมปราณ"  ครั้งละหลายพันราย  บางครั้ง  เช่นที่รายการชื่อ "168 ชั่วโมง"  ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3  ซึ่งเชิญผมและภรรยาไปสาธิตการฝึกฯ  และให้อุ้มภรรยาโชว์ด้วย  จึงมีคนขอหนังสือประมาณ ๒๘,๐๐๐ เล่ม  วารสารรายสัปดาห์ชื่อ "สกุลไทย" ที่สตรีนิยมมาก และก่อตั้งเมื่อ ๒๔๙๗  สัมภาษณ์ผมและภรรยาลงพิมพ์  เมื่อต้นปี ๒๕๔๔  มีผู้อ่านพบข่าวขอรับฟรีหนังสือฝึกพลังลมปราณราว ๒๐,๐๐๐ เล่ม  ผมและภรรยาช่วยกันจัดหนังสือบรรจุในซองจนดึกดื่น  วันรุ่งขึ้นต้องจ้างรถรับจ้างตุ๊กตุ๊ก นำส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์

             มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม (Institute for Continuing Education and Social Services) ได้เชิญผมไปบรรยาย/สอนฝึก  ให้ผู้สนใจเข้าฟังฟรี  แจกหนังสือฟรีในเดือนธันวาคม ๒๕๔๓

             เพื่อนสนิทคนหนึ่งของผมเป็น "คอลัมนิสต์" ของหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ "เดลินิวส์"  ได้แจ้งข่วให้ผู้อ่านทราบ  ทำให้มีผู้เข้าฟังการบรรยายกว่า ๒๕๐ คน ในขณะที่ห้องประชุมมีเพียง ๑๘๐ ที่นั่ง  จึงมีคนนั่งอยู่ที่ขั้นบันได และยืนตามข้างผนังรอบห้อง   ด้วยเหตุนี้  ผมจึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยาย/สอนฝึก "พลังลมปราณ"  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ตั้งแต่นั้นมาเดือนละครั้ง  ต่อเนื่องมา ๑๒ ปี ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ประกาศเกียรติคุณให้ผมเป็นหนึ่งใน "ศิษย์เก่าดีเด่น" เมื่อปี ๒๕๔๗

             เดือนตุลาคม ปี ๒๕๔๕  กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกได้ถูกก่อตั้งขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข  และในต้นปีต่อมา  นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน  อธิบดีกรมฯ  ได้เชิญผมเป็นวิทยากรเพื่อบรรยาย/สอนฝึก "พลังลมปราณ"  ให้แก่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วประเทศ ๑๘ ครั้ง เดือนเว้นเดือน   มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และสาธารณสุขจังหวัดเข้ารับการอบรมครั้งละเกือบ ๒๐๐ คน  กรมฯ และผมหาทุนมาจัดพิมพ์หนังสือ "ฝึกพลังลมปราณ"  มีคำนำโดยอธิบดีฯ พิมพ์จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม  แจกให้ผู้เข้ารับอบรมฯ  เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อในส่วนภูมิภาคถึง "รากหญ้า"  คือผู้ด้อยโอกาส  ช่วยผู้ฝึกหายป่วยอย่างมหัศจรรย์  เช่น

             ผู้ป่วยอัมพฤกษ์เรื้อรัง ๑๖ ปี ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก  เขียนเล่าว่า  เขาได้รับหนังสือจากพระภิกษุ  จึงลองฝึกฯ  เดือนเดียวก็หายป่วย

             โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ  เทศบาล  มหาวิทยาลัย และหน่วยราชการ  องค์กรเอกชนต่างๆ ได้เชิญผมไปบรรยายให้ผู้เจ็บป่วย  ผู้สูงอายุ  บุคลากรและผู้สนใจในจังหวัดต่างๆ นับแต่ปี ๒๕๔๗ ถึงปี ๒๕๕๕  ผมได้เดินทางไปบรรยายถึง ๖๖ จังหวัด  แม้จังหวัดที่เสี่ยงภัย เช่น ยะลา ปัตตานีก็ไปแล้ว    ที่พิเศษกว่าทุกจังหวัด คือ เชียงใหม่  เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๗  อธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เชิญผมไปบรรยาย/สอนฝึก "พลังลมปราณ"  ให้แก่บุคลากรที่กำลังจะเกษียณอายุ

              ก่อนไปเชียงใหม่  ผมกังวลมากว่า  มหาวิทยาลัยหลักของภาคเหนือมีคณะวิชาแพทยศาสตร์  และคณะต่างๆ  เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุขครบถ้วน  เหตุใดจึงเชิญ "อดีตคนขึ้โรค" อย่างผมมาพูด?  เมื่อผมเข้าไปในห้องประชุมซึ่งมีกว่า ๑๐๐ ที่นั่ง  แต่มีผู้ฟังเพียง ๒๒ คน จำนวนนี้เท่ากับจำนวนคนที่จองคิวเข้าฟังการบรรยายของศาสตราจารย์จางฉี ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๐  ผู้จัดรายการเห็นเช่นนั้น จึงโทรศัพท์ขอร้องให้ผมพาเพื่อนๆ ร่วมงาน ๑๐ คนไปสมทบฟัง  นับว่าศาสตราจารย์จางฉีโชคดี   แต่...ผมโชคดีที่สุดถ้าวันนั้น  ผมไม่ถูกตามตัวไปฟัง  ผมก็ไม่มีโอกาสเป็น "ซุปเปอร์แมนที่แก่  แต่ไม่เจ็บป่วย"  แต่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๗  ผมไม่โชคดีเช่นนั้น  เพราะผู้ที่เข้าฟังจำกัดเฉพาะผู้ที่จะเกษียณเท่านั้น  ผู้ที่ยังไม่เกษียณ หรือเกษียณไปก่อนแล้วไม่ให้เข้าร่วมงาน  เพราะมีพิธีอวยพรและมอบของที่ระลึกแก่ผู้ที่จะเกษียณด้วย

              เผอิญมีรองศาสตราจารย์ ดร. คนหนึ่ง  จำเป็นต้องอยู่ฟังผม  เพราะท่านได้รับมอบภารกิจให้กล่าวคำขอบคุณ และมอบของที่ระลึกให้แก่ผม  ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ท่านลองฝึกแล้วได้ผลดี  ต่อมาจึงติดต่อขอรับหนังสือจากผมเพิ่มอีก  ทำให้ชาวประชาคมของมหาวิทยลัยแห่งนี้อยากฟังผมบรรยาย  แต่เพราะมีข้อจำกัด  แม้ผมจะไปบรรยายให้แก่บุคลากรที่จะเกษียณในปีต่างๆ มาอีกต่อเนื่องถึงปี ๒๕๕๔  รวม ๘ ปี