Monday, July 24, 2017

ความ(ไม่)รู้เรื่องภาษาไทย ตอนที่ ๑




              เมื่อช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕  ผมเคยได้ฟัง ฯพณฯ นายอานันท์ ปัณยารชุน  นายกรัฐมนตรีปรารภถึงการใช้ภาษาไทยกับคนไทย  ทำนองว่า "คนไทย  เป็นคนที่ใช้ภาษาของชาติตนเองได้แย่ที่สุด ทั้งพูดไม่ชัด  ไม่มีควบกล้ำ...แต่ก็ประหลาดที่ยังพูดจากันรู้เรื่อง..."  เสียดายที่นายกฯ อานันท์ไม่ตั้งตนเองควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย  จึงไม่ได้จัดการให้คนได้เรียนรู้และใช้ภาษาไทยดีขึ้นถูกต้องมากกว่าผิดๆ

             ครูภาษาไทยคนหนึ่งปรารภว่า  ถ้านายกฯ อานันท์เผอิญเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย  ท่านจะสามารถนำประสบการณ์ที่ดีและความสำเร็จของท่านเองมาใช้ให้การเรียนการสอนภาษาไทยมีความหมาย  ให้ความสำคัญมากกว่าจะเป็นเพียงวิชาที่ใช้ "ผิดๆ ถูกๆ ก็ยังพูดกันรู้เรื่อง..."

             ผมเคยฟังนายอานันท์ปราศัยสดๆ หลายหนตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรี  และแม้จนปัจจุบันท่านก็พูดออกสื่อในโอกาสต่างๆ  ผมซูฮกยกนิ้วให้ว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีน้อยคนที่ใช้ภาษาไทยได้ดีมากๆ  ทั้งถ้อยคำ  สำนวนสละสลวยชัดเจน

             อ๋อ...ท่านเป็นบุตรชายของพระยาปรีชานุสาสน์  อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการสมัยรัชกาลที่ ๗ นะครับ   บิดาส่งเด็กชายอานันท์ไปเรียนชั้นมัธยมที่ประเทศอังกฤษ  จบปริญญาวิชากฏหมาย  รับราชการกระทรวงต่างประเทศ  อยู่หลายประเทศ  จนสุดท้ายเป็นปลัดกระทรวงฯ แล้วลาออกจากราชการ   ชีวิตของนายกฯ อานันท์อยู่ในต่างประเทศกว่าค่อนอายุ  น่าจะเกิน ๔๐ ปี   แต่ทำไมท่านจึงพูด อ่านเขียน ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง  เหมาะสมสง่างามมาก  ผมลองคิดและตอบแทน  นายกฯ อานันท์ว่า..."เพราะท่านมีแบบอย่างและแรงจูงใจที่ดี..." เช่น

             ๑.  มีบิดาเป็น "ปลัดกระทรวงธรรมการ (คือกระทรวงศึกษาธิการ)  เสมือนมีครูอาวุโสอยู่ในบ้าน  ถ้าสอนลูกตัวเองให้ดีไม่ได้  แล้วจะเอาปัญญาอะไรไปสอนลูกคนอื่นได้เล่า

             ๒.  นายอานันท์  เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ  เป้าหมาย คือ ตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนราชอาณาจักรไทย  จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมทุกๆ ด้าน  ที่จะรักษาเกียรติศักดิ์ของราชอาณาจักรไทย  แทนชาวไทยทั้งชาติ  โดยเฉพาะด้านภาษาไทยซึ่งเป็นหนึ่งในไม่ถึง ๒๐ ชาติที่ประดิษฐ์อักษรและตัวเลขเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

             ๓.  ถ้าเป็นบุคคลในตำแหน่งสำคัญของไทย  ไปพบปะพูดจากับมิสเตอร์ลาฟว์ บ๊อยซ์ หรือกับนายก่วน มู่ ละก็  ถ้าท่านพูดไทยไม่ชัดก็ต้องได้อาย  เพราะสองท่านดังกล่าวพูดภาษาไทยชัดเจน  ในขณะที่คนแรกเป็นเอกอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกา  คนหลังเป็นเอกอัครราชทูตของสาธารณรัฐประชาชนจีน

             คงมีคนอยากถามว่า  การสร้างแรงจูงใจทำได้เฉพาะลูกคนใหญ่คนโตมีฐานะเท่านั้นหรือ? หามิได้  ผมคิดว่าทำได้ทุกคน  ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร  ถ้าตั้งใจจริง หรือถูก(บังคับ หรือบังคับตัวเอง) ฝึกๆ

             ดังตัวอย่างจากนวนิยายเรื่องหนึ่งที่สร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ "My Fair Lady"  เมื่อราว ๕๐ ปีก่อน  ได้รางวัลตุ๊กตาทองหลายตัว  สาระของเรื่องคือ  ศาสตราจารย์ทางภาษาคนหนึ่งในอังกฤษถูกท้าทายว่า  ถ้าเขาเก่งจริง  ก็ต้องสามารถสอนให้พวกคนข้างถนนซึ่งทั้งออกเสียงเพี้ยนและอักษรวิบัติทุกคำ  ให้สามารถพูดได้ถูกต้องไหมล่ะ?   เขาทำได้สำเร็จคือ ฝึกๆ และฝึกหญิงสาวข้างถนนคนหนึ่งจนสามารถเก็บงำความต่ำต้อยทางชนชั้นไว้ได้  คือ พรางตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับราคาแพงเข้าสู่งานสังคมของชนชั้นสูงได้สนิท  เพราะการออกเสียงสำเนียงอย่างผู้ดีชาวอังกฤษได้  ไม่ใช่อย่างสำเนียงภาษาของคนชั้นต่ำตามกำพืดเดิมอีกแล้ว

              ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ในชื่อเรื่องแบบไทยว่า "บุษบาริมทาง"  ฉายที่โรงศาลาเฉลิมไทย  ผมยังเรียนธรรมศาสตร์  มีสตางค์จำกัด  แต่ยังอุตส่าห์เข้าไปดูอีกรอบด้วยความซาบซึ้ง  ทั้งนี้เพราะชีวิตคนสามารถ "ฝึกอบรมให้ดีขึ้นได้"  ถ้ามีแรงจูงใจให้มุ่งมั่นทำจริงจัง

              ผมเป็นลูกผสมคือ เตี่ย หรือพ่อเป็นลูกของจีนแท้ชาวแต้จิ๋วจากอำเภอเถ่งไฮ้ เมืองซัวเถา เข้ามาตั้งร้านค้าอยุ่ตลาดจีน เมืองลำปางตั้งแต่กลางสมัยรัชกาลที่ ๕   มีภรรยาคนหนึ่งเป็นชาวลำปางอยู่ย่าน "บ้านปงสนุก" นี่คือย่าของผม  เป็น "คนเมือง" แท้ๆ ดังนั้น  เตี่ย หรือพ่อของผมจึงเป็น "จีนครึ่งคนเมือง" เผ่าพันธุ์และภาษาของ "คนเมือง" ถูกทางราชการไทยเรียกว่า "ลาว"  ปู่ หรืออากงของผมส่งลูกชาย หรือเตี่ยของผมไปอยู่เมืองจีน  เริ่มเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมจีนแล้ว  จึงกลับมาค้าขายที่เมืองลำปาง  แต่งงานกับแม่ของผมซึ่งเป็น "คนเมือง" แท้ๆ ย่านบ้านปงสนุก   ผมจึงมี D.N.A. ผสมแบบ "เจ๊กปนลาว"  คือ จีน ๒๕% กับลาวคนเมือง ๗๕%

              เตี่ยแม่ของผมทำมาค้าขายอยู่ตรงย่านตลาดสดของเมืองนครลำปาง  ซึ่งล้วนแล้วด้วยพ่อค้าชาวจีน  ผมมีเพื่อนบ้านเพื่อนเล่นเป็นลูกจีน  ใช้สรรพนาม "ลื้อ-อั๊ว"  พูดไทยปนจีนโดยไม่รู้ว่าคำใดไทย คำใดจีน ใช้ตามความคล่องปาก  บางช่วงชีวิตเด็กๆ ผมไปพักบ้านป้าซึ่งเป็นชุมชน "คนเมือง" บ้านปงสนุก  ผมก็ใช้สรรพนาม "คิง-ฮา-บ่า-อี่"  ตามวิสัยคนเมืองทุกจังหวัดในล้านนา  ครั้นถึงวัยเข้าโรงเรียน  เพื่อนๆ ชาวตลาดก็ไปเข้าโรงเรียนจีนตามวิถีที่ควรไป  ส่วนเพื่อนที่เป็นลูกหลาน "คนเมือง" ก็ไปโรงเรียนไทย  เพื่อนๆ ลูกจีนแท้ที่ไปเข้าโรงเรียนจีนชื่อ "กงลิยิหวา"  ตอนเย็นกลับมาบ้านพวกเขาก็ท่อง "...เสี่ยวๆ มาว  เสี่ยวมาวเจี๊ยว..."  ผมน่าจะไปเข้าโรงเรียนจีนตามเพื่อนๆ ชาวตลาดและตามที่เตี่ยผมอยากให้ไป  แต่แม่เป็นผู้ดูแลชีวิตลูก  จึงจูงมือผมไปเข้าโรงเรียนไทยๆ อยู่ใกล้บ้านชื่อโรงเรียน "พินิจวิทยา"

             ตั้งแต่วาระแรกเข้าเรียน  คุณครูย้ำว่าอย่าใช้คำว่า "คิง  ฮา  บ่า  อี่  ลื้อ  อั๊ว..." นะ เพราะเป็น "คำหยาบคาย"  เป็นนักเรียนต้องใช้คำเรียกกันว่า "ฉัน เธอ" หรือไม่ก็ใช้ชื่อเรียกขานกัน  ใครขืนพูดคำหยาบคายจะถูกลงโทษตีมือด้วยไม้บรรทัด  แล้วคุณครูประจำชั้นก็ให้นักเรียนยืนขึ้นบอกชื่อนามสกุลตัวเองให้เพื่อนรู้จัก  ถึงคิวผมแนะนำตัวเอง "...เส่งเกีย แซ่นิ้มครับ"  เพื่อนกลุ่มหนึ่งพึมพำ "...ลูกเจ๊กๆ..."  แต่อีกกลุ่มว่า "ลูกคนเมืองๆ"  เป็นอันว่าผมไม่ใช่คนไทยหรือ?  หามิได้  โดยทางนิตินัยแม้แต่เตี่ยก็มีสัญชาติไทยแล้วทำไมผมจะไม่ใช่คนไทย   แต่ในทางภาษานั้น  ผมพูดภาษาไทยกลางซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศนี้  เป็นภาษาที่ ๓  โดยฝึกหัดจากการเป็นนักเรียน  หัดอ่านออกเสียงตามคุณครู  หัดเสียงคำพูดตามที่คุณครูออกเสียงพูด  แม้คุณครูบางคนพูดไม่ชัดบ้างก็ไม่เป็นไร  เพราะยังมีคุณครูท่านอื่นๆ ให้ผมรู้จักเปรียบเทียบ และเลือกว่าการออกเสียงอย่างไรน่าจะถูก  ก็ออกเสียงตามนั้น

             ตอนค่ำ  หลังจากทำการบ้านปกติจะเป็นเลขคณิตเสร็จ  แม่ผมตรวจถูกแล้ว  ก็ให้ผมหยิบหนังสืออะไรก็ได้ออกมาอ่านออกเสียงให้ฟัง ๑ หน้าก่อนเข้านอน  ถ้าผมอ่านสะดุดหู  แม่จะย้อนถามว่าเขียนสะกดอย่างไร? ถ้าผมอ่านผิดจะถูกแก้ไขทันที  โดยให้สะกดคำทีละอักษรแล้วอ่านชัดๆ ทำซ้ำ ๓ หน  จำจนตายเลยครับ

             คงเดาว่าแม่ผมเรียนจบวิชาเอกไทยกระมัง?  ผมบอกแต่ต้นแล้วว่าแม่ผมเป็นแม่ค้าเรียนจบประถมสี่  แต่ชอบอ่านวรรณคดีล้านนาที่เรียกว่า "ค่าว" ซึ่งนำเรื่องราวสาระจากหนังสือ "ปัญญาสชาดก"  ที่พระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่  อาราธนาพระมหาเถระจากเมืองต่างๆ ร่วมกันรจนาขึ้นเป็นภาษาบาลี  ต่อมากวีล้านนาแปลงเป็นคำประพันธ์แบบ "ค่าว" (**ลักษณะลีลาเป็นต้นแบบของโคลงสอง โคลงสาม และร่าย**)  แม่ผมซื้อไว้อ่านทุกๆ เรื่องที่พิมพ์ขาย  เวลาอ่านถึงตอนใดที่มีความไพเราะ หรือมีสาระกินใจ แม่จะระดมลูกๆ มาล้อมวงฟังแม่อ่านเป็นทำนองเสนาะให้ฟัง  ทำให้สมองกลวงๆ ของลูกๆ ได้บรรจุลีลาภาษาศิลป์ตั้งแต่เด็กๆ

             เตี่ยของผมพูดอ่านเขียนภาษาจีนเป็นหลัก  พูดคำเมืองได้แต่คงไม่ชัด  จำได้ว่าเตี่ยออกเสียง ด.เด็ก เป็น ล.ลิง เช่น ดี ก็ออกเสียงว่า "ลี"  แล้วเรื่องอะไรผมจะจำสิ่งบกพร่องมาเป็นมาตรฐานเล่า  ผมจำวิธีคิดคำนวณการซื้อขาย ทอนสตางค์ที่เตี่ยผมมีราง "ลูกคิดจีน" ประจำร้านค้า  ผมจำแบบ อย่างดีๆ จากเตี่ยแม่และครูมาใช้  ทำให้ผมกลายเป็นเด็กเรียนเก่งในชั้นตั้งแต่มีการสอบ  แต่ก็ไม่เก่งเท่าเพื่อนๆ นักเรียนหญิง ๔-๕ คน ที่ผลัดกันชิงเอาที่ ๑ ๒ ๓ ไปครองทุกที  ถึงอย่างไรผมก็เรียนเก่งที่สุดในหมู่นักเรียนชาย  ทำให้คนที่เคยเรียก หรือคิดจะเรียกผมว่า "ไอ้เจ๊ก หรือลูกเจ๊ก"  เกรงใจไม่กล้าดูหมิ่นอีก  เพราะครั้งหนึ่งครูได้ยินนักเรียนคนหนึ่งล้อเลียนผมว่า "ไอ้ลูกเจ๊ก"  จึงเรียกนักเรียนคนนั้นออกไปอ่านหนังสือแข่งกับผมที่หน้าห้องเรียน  ใครอ่านผิดให้เพื่อนนักเรียนอื่นโห่ไล่ได้...

              เมื่อเปิดเรียนชั้นประถมปีที่ ๓  ไปสักสิบวัน  มีนักเรียนมาเข้าเรียนเพิ่มอีกคน  ย้ายตามผู้ปกครองจากกรุงเทพฯ เขาชื่อ "เด็กชายถิ่นเทียม แซ่บู๊"  อายุมากกว่าผม ๓ ปี  รูปร่างหน้าตาปานเณรหนุ่มจากวัดเส้าหลินแฝงกายมา  เขาเคยเรียนในโรงเรียนจีนมาก่อน  จึงมีวิชาพื้นฐานเท่าๆ นักเรียนอื่นๆ เว้นแต่วิชาภาษาไทย   ดังนั้น คุณครูจึงให้เขานั่งคู่กับผม และขอให้ผมช่วยสอนวิชาภาษาไทยให้ "ถิ่นเทียม" เรียนทันเพื่อนด้วย

              ดูเหมือนครูเพิ่มภาระให้ผม  แต่มันเป็นภาระที่ผมภูมิใจและดีใจ  เพราะต่อไปหากมีใครเผลอเรียก "ไอ้เจ๊ก หรือลูกเจ๊ก"  ผมดุนหลังถิ่นเทียมออกรับแทน  เขาเป็นคนดีมีสัมมาคารวะ  เวลาถามหรือขอความรู้อะไรจากผม  เมื่อบอกเขาจนเข้าใจแล้ว  จะเห็นเขาทำมือเป็นกำปั้นข้างหนึ่งมาประกบฝ่ามืออีกข้างยกขึ้นเสมออก และเขย่าๆ ๒-๓ ที  พร้อมเสียง "กำเสี่ยๆ" (คือขอบคุณๆ)  ถิ่นเทียมเรียนอย่างตั้งใจ  ภาษาไทยก้าวหน้าคือ รู้ความหมายในหนังสือเรียนทุกคำ  เว้นแต่การออกเสียง ด.เด็ก เขาออกเสียงเป็น ล.ลิง  เช่น เด็กดีของผมจึงเป็น "เหล็กลี" ของถิ่นเทียมทุกที

              ผมปลงใจว่า  ดีเหมือนกันแฮะ  ถ้าต่อไปใครมากล่าวหาว่าเตี่ยผมพูดไม่ชัด  ผมก็จะอ้างได้ว่า "สำมะหาอะไรกับเตี่ยผม  ที่ไม่เคยเรียนในเมืองไทย  ดูแต่ไอ้ถิ่นเทียมสิ  เรียนในโรงเรียนพินิจวิทยาของไทยแท้  มันก็พูดไม่ชัดเหมือนกันแหละน่า  อ๋อ...เตี่ยผมก็น่าเกลียดน้อยลงนะซี  โห...เตี่ยใครๆ ก็รักสินะ"