Monday, July 24, 2017

ความ(ไม่)รู้เรื่องภาษาไทย ตอนที่ ๒

                 แม้ผมจะถูกฝึกให้อ่านออกเสียงตามตำรา หรือหนังสือสำหรับชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ  แต่พอผมได้ดูหนังกลางแปลง หรือหนังในโรงก็ตาม  มีถ้อยคำซึ่งผมฟังตัวละครพูดกันแล้วไม่เข้าใจไม่รู้ความหมายเลย  ผมจดจำนำถ้อยคำเหล่านี้ไปถามคุณครู  ท่านบอกว่า  อ๋อ...มันเป็น "ภาษาพูด"  คือใช้เฉพาะการพูดกัน  ไม่ใช้ในการเขียน  เพราะถือว่า "ไม่สุภาพ"  ผมจึงชอบไปดูหนังฟรี  ทั้งหนังกลางแปลง หรือหนังขายยาที่ชาวบ้านผมเรียกว่า "หนังผีโผด(โปรด)"  เผอิญที่บ้านซึ่งเตี่ยแม่เช่าเป็นที่พักนั้นอยู่ใกล้ๆ โรงหนัง  ผมจึงมีวิธี หรือหาทางเข้าดูหนังแบบเด็กๆ  แถวหน้าโรงหนังทำกันได้เนืองๆ ทำให้ภาษาพูดพัฒนาขึ้นตามลำดับ

                  ต่อมามีเพื่อนดีชักชวนเข้าหุ้นกันซื้อหนังสือนิยายชุดสามเกลอ "พล นิกร กิมหงวน" แต่งโดยยอดนักประพันธ์ ป. อินทรปาลิต  จึงทราบว่า "เสี่ยกิมหงวน ไทยแท้" ก็เคยใช้ชื่อแซ่แบบจีน  ผมคิดอยากเปลี่ยนชื่อแซ่ให้เป็นเด็กไทยๆ บ้างนะ   ผมก็ได้แต่อยากเปลี่ยนชื่อแซ่ให้เห็นว่าเป็น "เด็กไทย" เหมือนเพื่อนทั้งหลาย  ครั้นผมสอบเข้าเรียนมัธยมปีที่ ๑ ได้ที่หนึ่งของจังหวัด  ชื่อ "เด็กชายเส่งเกีย แซ่นิ้ม" ถูกเขียนด้วยชอล์กตัวโตบนกระดานดำ  ประกาศผลคนที่มาดูผลสอบรู้จักชื่อแซ่ผมดี  เปลี่ยนไม่ได้แล้ว

                  สมัยนั้น  ต้องเรียนวิชา "ไวยากรณ์ไทย"  ตั้งแต่มัธยมปีที่ ๑  เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจหลักภาษาไทย และการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง  น่าจะเป็นมาตรวัด "ความเป็นไทย" ผ่านทักษะการใช้ภาษาไทยด้วย  อาจารย์ที่สอนวิชานี้ชื่อ "บุญส่ง พุทธิรัตน์"  พื้นเพเป็นคนมาจากกรุงเทพฯ  จึงสอนได้ยอดเยี่ยม  ทั้งสอนตามตำรา และการออกเสียงควบกล้ำชัดเจน  เสียนิดเดียวที่ท่านไม่ได้ตอบคำถาม เพราะไม่มีใครกล้าถามนะสิ  ก็มันไม่รู้เรื่องน่ะครับ  คะแนนก็น้อยแค่ ๑๐ คะแนน  ทีวิชาภาษาอังกฤษละก็กำหนดคะแนนสูง ๔๐-๖๐ คะแนน   แต่ผมต้องเรียนให้รู้เรื่องจนได้  เพราะผมมี "เดิมพัน หรือแรงจูงใจสูง"  ประการหนึ่งคือ ลบคำดูหมิ่นล้อเลียนว่า "ลูกเจ๊ก"  และเพื่อชิงตำแหน่งที่ ๑ ของนักเรียนแถวหน้า  ผมทำได้คือ สอบไม่ตกก็แล้วกัน  ก็เพื่อนๆ น่ะตกหมด  ซ้ำหลายคนได้กิน "ไข่ต้ม" อิ่มแปล้

                  นอกจากกระทรวงศึกษาธิการไม่ให้ความสำคัญแก่วิชาภาษาไทยแล้ว  ยัง "ขู่ขวัญ" คนอยากเรียนเพิ่มเติมซะอีกด้วย  กล่าวคือ  ในคำนำของหนังสือเรียนวิชา "ไวยากรณ์ไทย"  บอกว่าเป็นหนังสือที่ย่อส่วนมาจากตำราไวยากรณ์ไทย  ที่พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้แต่งขึ้นไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ถือเป็นคัมภีร์สุดยอดของหลักและการใช้ภาษาไทย   ขนาดผมเป็น "หนอนหนังสือ" นอกจากอ่านหนังสือเรียนทุกเล่มล่วงหน้า และเข้าหุ้นกับเพื่อนร่วมกันซื้อหนังสือนิยายสนุกชุดต่างๆ ที่แต่งโดย    ป. อินทรปาลิต  เช่น  ชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน  ชุดเสือใบ  เสือดำ  ต่อมามีชุด "ซุปเปอร์แมน แกละ"  แต่หนังสือ "ไวยากรณ์ไทย" มีอยู่ชุดเดียวในห้องสมุดโรงเรียน  โดยเก็บไว้ในตู้เฉพาะหนังสืออ้างอิง/ หายาก   ผมอาศัยชื่อเสียงดีจึงขออนุญาตคุณครูให้อ่านหนังสือชุด "ไวยากรณ์ไทย"  ซึ่งมี ๔ เล่ม  แต่ละเล่มใหญ่หนาขนาดพจนานุกรมไทย  ใช้ชื่อว่า อักขรวิธี  วจีวิพากษ์  วากยสัมพันธ์ และเล่มที่ ๔ ฉันทลักษณ์

                  ผมเป็นเด็กขี้โรคเป็น "ภูมิแพ้" ซึ่งต้องกินยาวันละ ๓ มื้อ  และก่อนนอนกินยาตั้งแต่ ๓-๔ ขวบ  เบื่อยายังไงก็ต้องกิน เพราะหมอบอกว่า  โรคชนิดนี้ไม่มีหายขาด  ต้องกินยาจนกว่าจะตายล่ะครับ   เดือนหนึ่งๆ น้ำหนักยาที่ผมกินราวครึ่งกิโลกรัม  ปีละ ๕-๖ กิโลกรัม  ถ้าผมตายในอีก ๕๐-๖๐ ปีข้างหน้า  ผมก็ต้องกินยารวมน้ำหนักกว่า ๓๐๐ กิโลกรัม  เทียบกับน้ำหนักของตำรา "มหาเวทย์" แห่งการเรียนภาษาไทย ๔ เล่มที่ตั้งอยู่ข้างหน้าผมแล้ว   โธ่...หนังสือรวมน้ำหนักไม่ถึง ๑๐ กิโลกรัม  ทำไมผมจะอ่านให้จบไม่ได้ล่ะ?  อ๋อ...ได้ซีครับ  แต่ใช้เวลา ๕ ปี  ค่อยๆ อ่านสัปดาห์ละบทจนจบในห้องสมุด ผลการเรียนวิชาไวยากรณ์ไทยของผมขยับจากเขตปริ่มๆ ขึ้นไปถึง ๘ ใน ๑๐  ซึ่งสูงสุดในชีวิต  ครั้งนั้น "สุดฮ้อต" จริงๆ  รวมคะแนนทุกวิชา  ทำได้สูงสุดในระดับชั้น  กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้ผม (พาสส์)ข้ามชั้นไปเรียนสูงขึ้นในกลางปีนั้น

                  มีเวลาเพียง ๔-๕ เดือน  ผมต้องอ่านเล่มที่ ๔ "ฉันทลักษณ์" ให้จบ  ผมจึงอาสาเป็นผู้ช่วยครูบรรณารักษ์แลกความไว้วางใจให้ผมยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านได้  แต่ "อย่าให้ใครเห็นนะ"  คุณครูเอากระดาษห่อหนังสือส่งให้ผม   "ของดีมาทีหลัง" โบราณว่าไว้จริงๆ  เพราะตำรา "มหาเวทย์" สามเล่มแรกอ่านไปก็ง่วงงุนซุนแทบตกเก้าอี้  แต่ตำราเรื่อง "ฉันทลักษณ์" ผมอ่านสนุกเพลินจนลืมนอน  เพราะความตื่นตาตื่นใจกับหลายหลากมากรูปแบบของกวีนิพนธ์ไทย  ทั้งร้อยแก้ว  ร้อยกรอง  โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  ร่าย ฯลฯ

                  ทำไมพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) จึงจัดลำดับหนังสือเรื่องนี้ไว้ท้าย  ทำให้น้อยคนจะอดทนอ่านผ่านไป ๓ เล่มแรกที่ดุจ "มหาหิงคุ์" ไปได้  อ๋อ...ถ้าไม่อ่านอย่างเข้าใจผ่าน ๓ เล่มแรกก่อน  พออ่านเล่มสุดท้ายก็ไม่สนุก  ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร   สามเล่มแรกที่ผมอ่าน  ทำให้ผมรู้จักพื้นฐานของอักษรไทย ๔๔ ตัว  มีพื้นเสียงแตกต่างกันเป็น ๓ ระดับ คือ อักษรสูง ๑๑ ตัว  อักษรกลาง ๙ ตัว  เหลืออีก ๒๔ ตัวเป็นอักษรต่ำ

                  ถามว่า  ทำไมต้องแยกเป็น ๓ อย่างให้ยุ่งยาก  อักษรของฝรั่งไม่เห็นแบ่งแยก  อ๋อ...ภาษาไทยมีลักษณะพิเศษคือ  การใช้วรรณยุกต์และอักษรนำ  อักษรควบกล้ำ ฯลฯ  จนดูยุ่งยากสำหรับคนที่ไม่อดทนสนใจจริง  แต่ถ้าอดทนสนใจจริง  แม้แต่ชาวฝรั่งเศสชื่อ ภราดา ฟ. ฮีแลร์  ซึ่งจาริกมากับคณะก่อตั้งโบสถ์ และสร้างโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางรัก นั้น  ท่านสามารถเรียนภาษาไทยจนแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน และตำราสอนภาษาไทยชื่อ "ดรุณศึกษา"  เป็นชุดให้นักเรียนในเครืออัสสัมชัญเรียนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว

                  ผมอยากแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน  จึงต้องรู้จักว่า
                  อักษรกลาง : มี ๙ ตัว คือ  ก   จ   ฎ   ฏ   ด   ต   บ   ป   อ
                  เฉพาะอักษรกลางเท่านั้นที่สามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบ และตรงกับระดับเสียงทั้ง ๕ ระดับ คือ  เสียงสามัญ  เสียงเอก  เสียงโท  เสียงตรี  และเสียงจัตวา   เช่น  ปิน  ปิ่น  ปิ้น  ปิ๊น  ปิ๋น ถ้าเราเดินผ่านหน้าร้านรับถ่ายเอกสารเห็นป้ายบอกไว้ว่า "รับปริ้นท์งานทุกชนิด ทั้งสีและขาวดำ"

                  ถามว่าท่านจะออกเสียงอ่าน "ปริ้นท์" อย่างไร  ถูกตามที่ท่านต้องการออกเสียงไหม?

                  เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘  ผมได้ยิน "กวีรัตนโกสินทร์" เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ปรารภเชิงบ่นว่า "เดี๋ยวนี้คนไทยใช้วรรณยุกต์ไม่เป็นแล้ว  ดูซิเขียนว่า "ปริ้นท์" แต่กลับอ่านเป็น "ปริ๊นท์"  พอท่านศิลปินแห่งชาติคล้อยไป  คนไทยที่มีคุณวุฒิสูงจากมหาวิทยาลัยกระซิบถามผมว่าอ่านผิดถูกยังไงครับ และออกตัวว่า "ผมไม่ได้เรียนอักษรศาสตร์"  ผมนึกเวทนาภาษาไทย  ทำไมต้องเป็นถึง "อักษรศาสตร์บัณฑิต" หรือ  จึงจะอ่านเขียนภาษาไทยได้ถูกต้อง    ผมถามเขาว่า  คำนี้คุณอ่านว่าอะไร  ผมเขียนคำ "ปลิ้นปล้อน" (ที่แปลว่าโกหกตอแหล)  ให้เขาอ่าน  เออแฮะ...เขาอ่านถูก  ผมจึงเขียนใหม่เป็น "ปริ้นปร้อน" ให้เขาลองอ่านเขาก็อ่านถูกอีก  เพียงแต่กระดกลิ้นหน่อยเขาดีใจ และคงประหลาดใจกระมังว่าทำไมผมจึงรู้เทคนิคการอ่านภาษาไทยให้ถูกต้อง  เพราะเขารู้ดีว่าผมเรียนเศรษฐศาสตร์  ทำงานกระทรวงพาณิชย์  เขาปรารภออกตัวว่า "ภรรยาคุณเป็นครูภาษาไทยนี่  ถึงสอนคุณให้รู้เรื่องภาษาไทยดีอย่างนี้"

                 อักษรสูง : มี ๑๑ ตัว  คือ  ข   ฃ   ฉ   ฐ   ถ   ผ   ฝ   ศ   ษ   ส   ห
                 อักษรสูงมีพื้นเสียงคือ  เสียงปกติเป็นเสียง(วรรณยุกต์) จัตวาอยู่แล้ว  แต่เสียงกลับไม่ตรงกับรูป  เวลาผันวรรณยุกต์จะผันได้อีก ๒ รูปวรรณยุกต์คือ รูปวรรณยุกต์เอก กับ โท  เช่น

                 ถุง : เสียงวรรณยุกต์จัตวาตามพื้นอักษร

                 ผันวรรณยุกต์ได้เฉพาะรูป เอก-โท คือ ถุง(เสียงจัตวา)  ถุ่ง(เสียงเอก)  ถุ้ง(เสียงโท)  ผมก็ต้องจดจำว่า  อักษรสูงผันได้ ๒ รูป  คือรูปวรรณยุกต์เอกและโท  แต่จะผันด้วยวรรณยุกต์ตรีและจัตวาไม่ได้

                 ครั้งหนึ่ง คุณชื่นกมล ศรีสมโภชน์  ชาววรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ รุ่นๆ ลูกสาวผม  ส่งเสียงบ่นว่าทำไมผมปล่อยให้พรรคพวกเขียนถ้อยคำประชาสัมพันธ์ผิดหลักภาษาไทย  เผอิญผมไม่ได้เกี่ยวข้อง จึงได้แต่เขียนฝากไว้ให้ผู้สนใจศึกษาภาษาไทยว่า  การเขียนคำ "ถุ๊ง" นั้นผิดหลักภาษาไทยครับ  แล้วเขียนยังไงจึงจะได้คำที่ออกเสียงได้ครบทั้งเอก โท ตรี จัตวา ล่ะครับ  อ๋อ...ก็ภาษาไทยเรามี "อักษรต่ำ" อีก ๒๔ ตัว ยังไงครับ   หน้าตาอักษรต่ำ  คือ

                 อักษรต่ำ : มี ๒๔ ตัว  ค   ฅ   ฆ   ง   ช   ซ   ฌ   ญ   ฑ   ฒ   ณ   ท   ธ   น   
                                           พ   ฟ   ภ   ม   ย   ร   ล   ว   ฬ   ฮ

         
                 นักปราชญ์ภาษาไทยสมัยโบราณได้กำหนดอักษรต่ำว่า  ให้พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น ทุ และให้ผันวรรณยุกต์ได้เพียง ๒ รูป คือ เอกกับโท  แต่เสียงกลับเพี้ยนจากรูปคือ ใส่ไม้เอก เสียงกลับเป็นเสียงโท  คือ ทุ่ง  เมื่อใส่ไม้โทแต่เสียงเลื่อนเป็นตรี เช่น ทุ้ง

                 ดังนั้นเพื่อให้การผันวรรณยุกต์ได้ครบทั้งเสียงสามัญ เอก โท ตรี และจัตวา  นักปราชญ์ท่านจึงใช้อักษรสูงกับอักษรต่ำ  ที่มีพื้นเสียงคล้ายกันมา "จับคู่ปรองดอง" กัน  ผันวรรณยุกต์ให้ครบ ดังนี้

                 ทุง   ถุ่ง  ⟪ ทุ่ง  ทุ้ง  ถุง
                             ⟪ ถุ้ง

                 อักษรที่สามารถจับคู่กันจนผันวรรณยุกต์ได้ครบ ๕ เสียงเช่นนี้  ตามตำราเรียกว่า "อักษรคู่"  แต่ต้องจับคู่ระหว่างอักษรสูงกับอักษรต่ำ  ดังนี้

(๑)  ข ฃ  คู่กับ  ค ฅ  ฆ         (๒)  ฉ  คู่กับ  ช  ฌ         (๓)  ฐ  ถ  คู่กับ  ฒ  ฑ  ท  ธ
(๔)  ผ  คู่กับ  พ  ภ              (๕)  ฝ  คู่กับ  ฟ             (๖)  ส  ศ  ษ  คู่กับ  ซ
(๗)  ห  คู่กับ  ฮ

                เอ๋า...แล้วอักษรต่ำที่ไม่มีคู่จับ  เรียกว่า "อักษรเดี่ยว"  คือ  ง  ญ  ย  ณ  น  ม  ร  ล  ว  และ  ฬ  รวมอักษรเดี่ยว ๑๐ ตัว  น่าสงสารปานคนโสดโดดเดี่ยวใช่ไหม?  ไม่หรอกครับ  เพราะ

                ปราชญ์ไทยสมัยโบราณท่านคิดไว้ละเอียดรอบคอบยิ่งนัก  โดยท่านคิดวิธีผันเสียงให้ "อักษรเดี่ยว"  ผันวรรณยุกต์ได้ครบเสียง  โดยไม่ต้องไปง้อขอจับคู่กับใครก็ได้  ทำได้ยังไงเหรอ? อ๋อ...เล่นไม่ยากครับ   ท่านใช้  ห  อ  มาเขียนนำหน้าอักษรเดี่ยว  เรียก  ห  อ  ว่า  "อักษรนำ"  เช่น ง. เป็นอักษรต่ำและอักษรเดี่ยว  พื้นเสียงปกติเป็นเสียงสามัญ  เหมือนอักษรกลาง  แต่กลับผันวรรณยุกต์ได้เพียง ๒ เสียง คือ  ใช้ไม้เอกเป็นเสียง โท เช่น  เงา + ไม้เอก  เป็น  เง่า - เสียงโทครับ ใช้ไม้โท คือ เง้า  เสียงตรีแน่ะ...เออหนอเราก็นิมนต์  ห-หีบมานำเพื่อผันเสียงให้ครบ ๕ เสียง ดังนี้

                เงา  เหง่า    ⟪ เหง้า  เง้า  เหงา
                               ⟪ เง่า

                ยง  หย่ง     ⟪ หย้ง  ย้ง  หยง
                               ⟪ ย่ง

                ยา  อย่า     ⟪ อย้า  ย้า  อยา
                               ⟪ ย่า

                ท่านคงจะรู้สึกท้อว่า  ต้องลงทุนถึงขนาดหาซื้อหนังสือชุด "ไวยากรณ์ไทย" ๔ เล่ม มาทุ่มเทเวลาสติปัญญาอ่านปาน "คัมภีร์มหาเวทย์"  หรือ  หามิได้แค่หาซื้อหนังสือแบบเรียน ๒ เล่มบางๆ ถูกๆ มาอ่านก็เข้าใจง่ายๆ เท่า หรือมากกว่าที่ผมรู้และเขียนไว้นี่แล้วครับ  คือ

                ๑.  แบบเรียนเร็วใหม่   แต่งโดยพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร)  เดิมเคยใช้สอนอ่านระดับประถมต้นในโรงเรียนรัฐบาล  ภายหลังปี ๒๔๗๕  รัฐบาลเปลี่ยนใช้หนังสืออื่นสอนแทน แต่แม่ใช้สอนผมและน้องๆ อ่าน  โดยลงทุนซื้อส่วนตัวแพงไหม?  โถเล่มละ ๓๐ บาทเท่านั้นเอง  สำนักพิมพ์อักษรวัฒนา เลขที่ ๓๒-๓๔ ปากประตูเข้าวัดประยุรวงศาวาส  ถนนประชาธิปก  เขตธนบุรี  ๑๐๖๐ โทรศัพท์  ๐๒-๔๖๕-๙๒๔๘

               ๒.  หนังสือเรื่อง "หลักการใช้ภาษาไทย"  ฉบับสมบูรณ์ สำหรับชั้นมัธยม (ม. ๑-๖) เขียนโดยอาจารย์จงจิต นิมมานนรเทพ  จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ เดอะบุ๊คส์  เลขที่ ๙๓ ถนนเพชรเกษม ซอย ๗  แขวงวัดท่าพระ  เขตบางกอกใหญ่  กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐  ราคาแพงคือ เล่มละร้อยบาทเศษๆ

               อาจารย์จงจิต  เป็นอดีตหัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทยโรงเรียนเบญจมราชาลัย  เสาชิงช้า  กรุงเทพฯ  ซึ่งศิลปินแห่งชาติและนักเรียนรางวัลซีไรท์ ๒ สมัย คือ คุณวินทร์ เลียววาริณ ได้เขียนถึงอาจารย์จงจิตไว้ในหนังสือชื่อ "เขียนไปให้สุดฝัน" (หน้า ๙ และหน้า ๔๑๘) ความว่า...

     
            ภาษาแผ่นดิน
         (ข้อเขียนของวินทร์  เลียววาริณ)*

                หนังสือเล่มแรกๆ ที่ผมเขียนในชีวิตไม่ได้ผ่านตาบรรณาธิการ หรือคนตรวจปรู๊ฟ  ในงานพระราชทานรางวัลซีไรต์ที่หนังสือของผมเป็นหนึ่งในนั้น  อาจารย์ภาษาไทยคนหนึ่งชื่อ                  จงจิต นิมมานนรเทพ**  ซึ่งผมไม่รู้จักเธอมาก่อน  ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้ผม  เมื่อมีโอกาสอ่าน  ก็พบรายการแก้คำผิดของนวนิยายเรื่อง  ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน  ยาวเหยียดอย่างไม่น่าเชื่อ  นึกดูก็น่าอาย  แต่การบอกว่ามันเป็นนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตเป็นการแก้ตัวเปล่าๆ

                มองวิกฤติเป็นโอกาส  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ผมก็เชิญอาจารย์จงจิตมาช่วยดูแลการใช้ภาษาไทยของผมเสียเลย  ทว่าทุกครั้งที่เขียนหนังสือใหม่  ไม่ว่าจะระวังแค่ไหน  ก็ปรากฏคำผิด และการใช้รูปประโยคผิดเสมอๆ  มันบอกว่าการเป็นนักเขียนอาชีพ  ไม่ได้รับประกันว่าจะใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง  ร้อยเปอร์เซ็นต์  ยิ่งเขียนนานปีขึ้น  ก็ยิ่งพบว่ายังมีเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยให้เรียนรู้อีกมาก

                อ่านหนังสือ  บทความ  บล็อก  แช็ต  ฯลฯ  ของคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยในยุคนี้แล้ว  เห็นคำผิดมากมาย  จำนวนมากเป็นคำง่ายๆ เช่น จริงๆ (เขียนเป็น จิงๆ)  น่ารัก (เขียนเป็น หน้ารัก) ใคร (เขียนเป็น คัย)  น้ำเปล่า (เขียนเป็น น้ำป่าว)  "เป็นอะไรหรือเปล่า" (เขียนเป็น "เป็นอะไรรึป่าว") ฯลฯ  ให้รู้สึกเป็นห่วงคนอ่าน  กลัวว่าจะจดจำการใช้ภาษาไทยแบบผิดๆ   การวิจัยหลายครั้งในบ้านเราบอกว่า  คนไทยใช้ภาษาอังกฤษต่ำกว่ามาตรฐาน  กลัวว่าหากโลกาภิวัฒน์มาเต็มกระแสแล้ว  เราจะไปไม่รอด  แต่ข่าวที่น่ากังวลกว่านั้นคือ  แม้แต่ภาษาไทย  ภาษาของพ่อแม่  เราก็ยังใช้ไม่ได้ดีเช่นกัน

               มันสะท้อนอย่างชัดเจนว่า  เราอ่านหนังสือไม่พอแน่ๆ  

               นานปีมาแล้ว  สมัยมัธยมต้นในชั่วโมงภาษาไทยชั่วโมงหนึ่ง  ครูสั่งให้ผมอ่านออกเสียงในห้อง  เมื่อถึงท่อนหนึ่ง  ผมออกเสียงคำว่า  เหย้าเรือน  เป็น  เย้า-เรือน  ครูก็แก้ไขคำผิด (ด้วยน้ำเสียงดุ) เดี๋ยวนั้นเลย     ผมไม่เคยออกเสียงคำ "เหย้าเรือน" ผิดอีกเลยตลอดชีวิต



หมายเหตุ

* นักขียนที่ได้รับรางวัล "ซีไรต์" ๒ วาระ
** อาจารย์ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ๒๕๓๗