Tuesday, October 24, 2017

นิทาน : ตำนานพาณิชย์จังหวัด

       คำปรารภ :  เมื่อปี ๒๕๕๗  ผมชวนเพื่อนอดีตพาณิชย์จังหวัดหลายคนไปสนทนาคารวะ       "ท่านภาคฯ ไชยา ธรรมนิยม  ซึ่งเป็น "ลูกหม้อ" อดีตพาณิชย์จังหวัดที่อาวุโสสูงสุดในขณะนี้ (๒๕๕๙) ถึงเวลาไปหาท่านจริงๆ มีเพียงคุณมนูญ ใจอุ่น  คุณโสภณ โกศัลยวัตร  ที่ไปกับผมได้

       ท่าน(ภาคฯ) ผู้ตรวจฯ ไชยา ธรรมนิยม อายุ ๙๒ ย่าง ๙๓ ปีแล้ว  แต่ท่านมีสุขภาพดีจิตแจ่มใส  เป็น "รัตตัญญู" ความจำดีมาก  ผมกับคุณ(พี่)มนูญ ใจอุ่น  จึงช่วยกันซักถามท่านภาคฯ ไชยา เกี่ยวกับความเป็นมาของตำแหน่งพาณิชย์จังหวัด  ท่านก็เล่าความหลังให้ฟังอย่างมีความสุข  โดยคุณโสภณช่วยจดบันทึกข้อมูลสำคัญๆ ที่ได้จากการสนทนา  เราไ้ด้รายชื่ออดีตพาณิชย์รุ่นเก่าก่อน  มาเพิ่มในทำเนียบรายชื่ออดีตพาณิชย์จังหวัดที่ล่วงลับจนนับได้กว่า ๑๐๐ คน  และเราได้ขอเชิญท่านไว้ว่า  เมื่อถึงวาระเราจัดทำบุญและพบปะสังสรรค์ของชมรมอดีตพาณิชย์จังหวัด  ขอเชิญท่านไปเล่า "ตำนานพาณิชย์จังหวัด" ให้พวกเราฟัง  แต่เมื่อถึงวันนัด  ท่านไม่สบาย  ลูกหลานไม่อยากให้ออกนอกบ้าน  ผมจึงเล่าคร่าวๆ แก้ขัดไป

        บัดนี้  ผมหารือกับคุณโสภณเห็นพ้องกันว่า  ผมควรใช้วิธีเรียบเรียงขึ้น แล้วนำไปให้ท่านภาคฯ ไชยา ตรวจแก้จนดีแล้ว  จึงมอบให้ชมรมอดีตพาณิชย์จังหวัดนำไปพิมพ์เผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง และทั่วถึง  อีกทั้งยังเป็นแนวทางให้เราเขียนเพิ่มเติมในอนาคตได้

☚______________________☛


         กระทรวงพาณิชย์ก่อตั้งขึ้นปลายรัชกาลที่ ๖  โดยแยกส่วนราชการออกจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  แต่องค์เสนาบดีคือ  พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนารทยังทรงว่าการควบ ๒ กระทรวง  โดยมีพลเอก พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพชรอัคโยธิน ทรงเป็นรองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์(และคมนาคม)

         แรกๆ กระทรวงพาณิชย์มีงานน้อยตามสภาวะของโลกยุคนั้น  จึงมีกรมทะเบียนการค้าดูแลงานจดทะเบียนพาณิชย์และหุ้นส่วนบริษัท กับงานมาตราชั่งตวงวัด ซึ่งมีกฏหมายทุกงาน   ต่อมาเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำตั้งแต่ปี ๒๔๗๓  ต่อมาเกิดสงครามโลกขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี ๒๔๘๒  ภาวะราคาสินค้าผันผวนมาก  รัฐบาลซึ่งตั้งกรมการค้าภายในขึ้นมา  แล้วจึงให้จัดตั้งที่ทำการพาณิชย์จังหวัดขึ้นในจังหวัดใหญ่ๆ  หรือมีความสำคัญก่อน  เช่น  เชียงใหม่  นครสวรรค์   นครราชสีมา  นครศรีธรรมราช   สงขลา  ฯลฯ   ตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดจึงเกิดขึ้น  โดยสังกัดกรมการค้าภายใน  ผู้ที่ไปเป็นพาณิชย์จังหวัดในช่วงแรกตั้งนั้น  บางท่านเป็นข้าราชการรุ่นเก่า  มีศักดิ์เป็นท่านขุน  คุณหลวง  แต่คนที่บรรจุใหม่รับผู้จบปริญญา ธ.บ. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๗  

         พาณิชย์จังหวัดที่เป็น "บัณฑิต" หนุ่มเช่นนั้น  จึงโก้มากๆ บางจังหวัดมีผู้จบปริญญาไม่ถึง ๑๐ คน ...ทำให้บางท่านกลายเป็นลูกเขยหลานเขยเศรษฐีคหบดี และของข้าราชการชั้นสูง

         ปี ๒๔๘๓  เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในอินโดจีนรบกันแถวชายแดนด้านนครพนม และอรัญประเทศ  รบกันไม่กี่เดือน  ญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจในเอเซียไกล่เกลี่ย(แบบเอียงข้างไทย) คือให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนแขวงสวัณณเขตในลาว และเมืองพระตะบอง  ศรีโสภณและเสียมราษฎร์ในเขมร ให้ไทยเข้าปกครอง  ปรากฏว่า  ตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดได้ร่วมอยู่ในรายชื่อชุดแรกของหัวหน้าส่วนราชการที่ติดตามคณะทหาร และผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปปกครองบริหารราชการในดินแดนใหม่

         ต้นธันวาคม ๒๔๘๔  เกิดสงครามโลกในเอเซียขึ้น  โดยกองทัพญี่ปุ่นยกผ่านไทยที่ร่วมเป็นพันธมิตร  เข้าไปยึดมลายูและสิงคโปร์จากอังกฤษได้  และตอบแทนไทยโดยยกรัฐทั้งสี่ซึ่งเราเสียให้อังกฤษ  กลับคืนมาเป็นของไทย  เรียกกันว่า "สี่รัฐมาลัย" คือ  กลันตัน  ตรังกานู  ปะลิศ  ไทรบุรี  (อ๋อ...) มีตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดเข้าไปกับคณะปกครองชุดแรกเช่นเคย   เมื่อสงครามโลกยุติลง ๒๔๘๘  ต้องย้ายพาณิชย์จังหวัดกลับไทย  บางท่านกลับเข้าส่วนกลาง  แต่ส่วนใหญ่ได้ไปเปิดที่ทำการตามจังหวัดต่างๆ  ที่มีความสำคัญด้านการค้าชายแดน  โดยเฉพาะการควบคุมข้าวสารส่งออกทางภาคใต้ไปยังมาเลเซีย  สิงคโปร์  พาณิชย์จังหวัดปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  จึงเกิดขึ้นก่อนจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร  สมุทรปราการ  ระยอง ฯลฯ นานกว่า ๓๐ ปี  หลังจากนั้น  กรมต่างๆ ได้ก่อตั้งขึ้น  เช่น  กรมการค้าต่างประเทศ  กรมเศรษฐสัมพันธ์  กรมการสนเทศ ฯลฯ  และเปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็นกระทรวงเศรษฐการ  "พาณิชย์จังหวัด"  โอนมาขึ้นสำนักงานปลัดกระทรวง  เรียกตำแหน่งว่า  "เศรษฐการจังหวัด"  ต่อมาปี ๒๕๑๔  เปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็นพาณิชย์  เราจึงกลับมาเป็น "พาณิชย์จังหวัด" จนทุกวันนี้

          มีระดับตำแหน่งสูงถึง ซี.๙  แต่ไม่มีเครื่องมือ "สนับสนุนการทำงาน"  ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ก็ต้องอดทน และหวังว่าจะมีผู้เข้าใจจริงมาช่วยปฏิรูปให้ต่อไป