Tuesday, October 24, 2017

สิ้นแสง "จันทร์" กวีวังหน้า

เรื่องนี้เคยลงพิมพ์ในวารสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี


เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๔  ผมนั่งรถโดยสารปรับอากาศ  จะไปประชุมที่จังหวัดชลบุรี  พอได้ที่นั่งบนรถแล้ว  ก็คลี่กางหนังสือพิมพ์ "มติชนรายวัน" ของวันนั้นขึ้นมาอ่าน  แล้วก็ต้องตกใจทันทีที่อ่านพบข่าวการสิ้นชีพิตักษัยของหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์  รัชนี  ซึ่งปรากฏรายละเอียดอยู่ในหน้า ๓ ของ น.ส.พ. นั้น  ในหัวข้อเรื่อง "เมื่อจันทร์ลาลับขอบฟ้า  อาลัย "กวีวังหน้า" ม.จ. จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ. ประมวญมารค)"  สรุปได้ว่า

        "ท่านจันทร์ฯ"  ซึ่งในบั้นปลายพระชนม์ชีพได้เสด็จไปประทับอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  ราว ๒๐ ปีมาแล้วนั้น  ได้สิ้นชีพิตักษัยเสียแล้ว  เมื่อเวลา ๑๙.๔๕ น.  วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายนนี้เอง  สิริพระชนมายุได้ ๘๑ ปี ๔ เดือน ๙ วัน

         ผมรู้จักและเคารพรักนับถือ "ท่านจันทร์ฯ" มาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว  ตั้งแต่ครั้งที่ผมยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  แม้ระยะหลังนานปีแล้วที่ไม่ได้เข้าเฝ้าท่าน  แต่ก็ระลึกถึงและคอยฟังข่าวคราวของท่านเสมอ  ผมจึงตั้งใจที่จะแต่งโคลงสี่สุภาพซึ่งเป็นร้อยกรองประเภทที่ผมสังเกตว่า ท่านโปรดมากกว่าประเภทอื่นใด  ไปถวายความเคารพพระศพของท่าน  ดังนั้น  ขณะที่นั่งรถไปนั้น  ผมก็คิดแต่งโคลงไปพร้อมๆ กับระลึกถึงความหลังที่ผมได้เคยเฝ้าท่าน  รวมทั้งข้อมูลส่วนพระองค์ท่านที่ผมได้รับทราบทั้งจากเอกสารหนังสือ ที่ทรงเล่าเองบ้าง  มีคนที่รู้จักท่านเขียนถึงบ้าง  ผู้อาวุโสเช่น  ท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล  ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี (ถึงแก่กรรมแล้วทั้งสองท่าน) ได้เคยเล่าให้ผมฟังบ้าง  ผมจึงลำดับทบทวนข้อมูลความหลังย้อนไปเป็นลำดับๆ

         เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙  ผมเป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์  ส.มธ. คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานชุมนุมดนตรีไทย ธรรมศาสตร์ สมัยเดียวกัน  เราจัดกิจกรรมร่วมกันโดยให้มีการประชันบทร้อยกรองระหว่างนักแต่งร้อยกรองจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาฯ  ซึ่งในการนี้จะมีวงดนตรีไทยมาร่วมบรรเลงด้วย

         เย็นวันหนึ่งมีสุภาพบุรุษสูงอายุคนหนึ่ง ขึ้นมานั่งดูนิสิตนักศึกษาแต่งร้อยกรองประชันแข่งขัน ท่านผู้นั้นไม่ใช่ครูบาอาจารย์ที่พวกเราคุ้นหน้า  แต่เห็นชัดว่าท่านสนใจมาก  สังเกตได้จากสีหน้าที่แสดงความรู้สึกตลอดเวลา  จนกระทั่งงานเลิกแล้ว  คุณเนาวรัตน์ก็ลงจากเวทีมากราบ  แสดงคารวะท่านผู้นั้น  ผมจึงได้รู้ว่าท่านสุภาพบุรุษรูปร่างสง่างามอย่างที่ฝรั่งว่า "ดาร์ก ทอล แอนด์ แฮนซั่ม" (Dark, Tall and Handsome) นั้น  "ท่านจันทร์ฯ" ของไทยนี่แหละทรงเป็น "นายแบบ" ได้อย่างดียิ่ง  คุณเนาวรัตน์ ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรแก่ผม  นอกจากจะบอกว่า ท่านคือ "ท่านจันทร์ฯ" เท่านั้นเอง คงเป็นด้วยเราอยู่เฉพาะพระพักตร์ท่าน  แต่ถึงเสด็จไปแล้วผมก็ถามได้ความเพิ่มว่า  ทรงเป็นพระโอรสของ "น.ม.ส." หรือพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ รัตนกวีองค์หนึ่ง

         ผมจึงไปหาท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล อาจารย์ผู้เฒ่าของผมซึ่งท่านทำหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๖  รอบรู้ "ข้อมูลบุคคล" ที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยเป็นอย่างดี  ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมคือ  "ท่านจันทร์ฯ" เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส)  ที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนามปากกา "น.ม.ส." นั่นเอง  ท่าน "น.ม.ส." ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งใน กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  อันเป็น "วังหน้า" องค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาตไทย "วังหน้า" พระองค์นี้คือพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ซึ่งทรงเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์  ทรงทราบว่าพระอนุชาองค์นี้ทรงมีพระชะตาแรง  จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น "วังหน้า"  แต่ให้มีพระราชอิสริยยศสูงเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน

         พระมารดาของ "ท่านจันทร์ฯ" คือ หม่อมพัฒน์  ท่านผู้นี้เป็นธิดาของ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)  กับท่านผู้หญิงเปลี่ยน   เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น  เป็นน้องชายคนเล็กของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  สมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์นี้เป็นผู้สำเร็จราชการในต้นรัชกาลที่ ๕  ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ  สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจอิทธิพลมากมหาศาล  บรรดา  "บิ๊กๆ" ทั้งหลายในเมืองไทยเอามารวมกันทั้งหมด  ยังไม่เท่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ

         เล่ากันสืบมาว่า  เมื่อครั้งต้นรัชกาลที่ ๕  เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์  สมณชีพราหมณ์  และมหาอำมาตย์ข้าราชการร่วมประชุมกันเพื่อ "สรรหา" เจ้านายพระองค์หนึ่งที่เหมาะสมจะทรงเป็นที่ "วังหน้า" นั้น  สมเด็จเจ้าพระยาฯ (ตอนนั้นยังเป็นที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์)  เสนอ  "กรมหมื่นวิไชยชาญ"  แต่กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระองค์เจ้าปราโมช  เสด็จปู่ของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช)  ได้ทักท้วงว่า  "วังหน้า"  ควรจะสถาปนาจากพระราชอนุชาสายตรง    เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถลึงตามอง  พร้อมกับร้องสวนมาว่า  "ที่ทักนั้น  ตัวอยากจะเป็นเสียเองรึไง"  กรมขุนวรจักรฯ  ทรงเสียงอ่อยลงทันที  พึมพำว่า "จะให้ยอม ก็ยอม..."  หลังจากวันนั้นแล้ว  กรมขุนวรจักรธรานุภาพไม่กล้าเสด็จออกจากวังวรจักรฯ  อีกเลย  จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราบัย  จึงกล้าออกมานอกวัง

         ยังมีผู้เขียนเล่าไว้ในเรื่องชีวประวัติของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)  ทหารเอกคู่พระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕  ตอนหนึ่งว่า  เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็น "เจ้าหมื่นไวยวรนารถ"  ราชองค์รักษ์เวร  รับพระบรมราชโองการให้ไปปราบพวกอั้งยี่ที่ก่อกำเริบจลาจล  และพวกอั้งยี่ส่วนหนึ่งหนีเข้าไปในเขตเมืองราชบุรี  เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตตามไปจับพวกอั้งยี่เหล่านั้น  ทรงมีพระราชดำรัสตรัสห้ามทำนองว่า  "...เจ้าอย่าไปที่นั่นเลย  ด้วยเป็นถิ่นที่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  ถ้าเจ้าทำการพลาดพลั้งขัดใจสมเด็จฯ  คร่ากุมเอาตัวเจ้าไปข้าก็ช่วยเจ้าไม่ได้..."

         เจ้าพระยาภาสกรวงศ์  คุณตาของ "ท่านจันทร์ฯ"  นั้น  เป็นสามัญชนคนไทยคนแรกที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในอังกฤษ  เรียนได้สองปีก็ถูกเรียกกลับมารับราชการ  ได้เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในยุครัชกาลที่ ๕  ที่ ๖  ได้เป็นเสนาบดีหลายกระทรวง  ส่วนคุณยายคือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยนนั้น  ก็เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง  "สภาอุณาโลมแดง" ที่เป็นต้นกำเนิดของสภากาชาดไทยในปัจจุบันนั่นเอง  ที่กล่าวมาทั้งนี้  จะเห็นได้ว่า  พระบุพการีของ "ท่านจันทร์ฯ" ทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นคนสำคัญยิ่งในบ้านเมืองไทยมาทั้งนั้น   แต่หม่อมพัฒน์  พระมารดาของท่านจันทร์ฯ  บุญน้อยอายุสั้น  เมื่อ          "ท่านจันทร์ฯ" พระชันษาได้สิบกว่าปี  ก็ทรวกำพร้ามารดา  เหลืออนุสรณ์อยู่ในพระนามเต็มของท่าน คือ "หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี" เท่านั้นเอง

         พระนามเต็มของ "ท่านจันทร์ฯ"  มีโอกาสได้ใช้เฉพาะในทางราชการเท่านั้น  เผอิญที่ชื่อเสียงในฐานะที่ทรงเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังนั้นก็ไม่รุ่งเรืองโด่งดัง  คนทั่วไปจึงไม่รู้จัก  อีกทั้งทรงปฏิบัติองค์อย่างสมถะไม่ถือพระองค์เลย  ใครจะใช้คำราชาศัพท์ทูลท่านผิดๆ ถูกๆ ก็ไม่ทรงถือสา  โปรดความเป็นธรรมดาสามัญชนยิ่งกว่าสามัญชนบางคนที่เผอิญได้ดีมีอำนาจวาสนาเสียอีก  ดังนั้น คำว่า "วัฒน์" ท้ายพระนามซึ่งถ่ายทอดมาจากพระมารดา "หม่อมพัฒน์" นั้น  เรียกขานนานไปก็หล่นหายไป  ในที่สุดก็หดสั้นเข้าเหลือเพียงเรียกรู้กันทั่วไปว่า "ท่านจันทร์ฯ" เท่านั้นเอง  

          ยิ่งไปกว่านั้น  ในแวดวงกวี และศิลปินที่ทรงคบหาสนิทสนมตั้งแต่ยังทรงรับราชการอยู่กระทรวงการคลัง  ในพระบรมมหาราชวังนั้น  มีสถานที่ชมรมเสวนาประจำกันอยู่ที่ร้านอาหารชื่อ "มิ่งหลี"  ฝั่งตรงข้ามกับประตูวิเศษไชยศรี   "ท่านจันทร์ฯ"  โปรดเสด็จข้ามมาร่วมเสวนาด้วยเป็นประจำ  ในแวดวงชมรมนั้น  มีกวีและศิลปินที่ใครๆ เรียกขานกันว่า "ท่าน" อีก ๒ คน  คือ "ท่านอังคาร" (อังคาร กัลยาณพงศ์) กับ  "ท่านกูฏ" (ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ)   เด็กๆ รุ่นหลังพลอยเข้าใจว่า      "ท่านจันทร์ฯ"  "ท่านอังคาร"  และ  "ท่านกูฏ"  คงเป็นคนระดับศักดิ์เดียวกัน  หรือไม่ก็คงจะเป็นพี่น้องญาติสนิทกันทำนอง "องค์ชายใหญ่"  "องค์ชายกลาง" และ "องค์ชายเล็ก" ในวงการศิลปินการแสดง

          แต่ "ท่านจันทร์ฯ" นั้น  เวลาที่มาร่วมแต่งโคลงสี่สุภาพ หรือร้อยกรองกับกวีและศิลปินที่ชมรมฯ นั้น (ซึ่งต่อมามีคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และคุณขรรค์ชัย บุนปาน เป็นขาประจำด้วย) ทรงใช้นามปากกาว่า "นายโต๊ะ ณ ท่าช้าง"  ครั้นเวลาที่ทรงนิพนธ์บทความ  สารคดี  วรรณกรรม  หนังสือวิชาการเป็นเล่มๆ นั้น จะทรงใช้นามปากกาว่า "พ.ณ. ประมวญมารค" (อ่านว่า พอ-นะ-ประมวนมาก)  พระขนิษฐา หรือน้องสาวของท่านอีก ๒ พระองค์คือ  หม่อมเจ้าหญิงจันทร์เจริญ  ทรงใช้นามปากกาว่า "จ.ณ. ประมวญมารค  หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต (เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว  มีพระบรมราชโองการโปรดให้ยกขึ้นเป็นพระองค์หญิง) ทรงใช้นามปากกา "ว. ณ. ประมวญมารค"

          คำว่า "จ."  ที่ท่านหญิงจันทร์เจริญทรงใช้  กับคำว่า "ว." ที่พระองค์หญิงวิภาวดีทรงใช้นั้นย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้ไม่ยากว่าทรงย่อจากพระนามของพระองค์เอง  แต่ "ท่านจันทร์ฯ"  เหตุใดจึงทรงใช้ "พ. ณ. ประมวญมารค"  ทำไมจึงไม่ทรงใช้ "จ." และถ้าทรงใช้ "จ." ก็ย่อมซ้ำกับนามปากกาของท่านหญิงจันทร์เจริญอีก  ปริศนาเรื่องนี้ผมได้ฟังการเฉลยโดยบังเอิญในเช้าวันหนึ่ง  เมื่อถึงวาระคล้ายวันประสูติของศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๑๒  ผมไปเฝ้าเพื่อถวายหนังสือโคลงสี่สุภาพ ซึ่งผมแต่งและจัดพิมพ์ขึ้น ๕๐๐ เล่ม  เพื่อให้เสด็จในกรมฯ  ประทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ไปถวายพระพร

          ผมไปถึงหน้าประตูใหญ่ของวัง  ยังไม่ทันกดกริ่ง  ประตูเล็กก็เปิดออกมีสุภาพบุรุษก้มตัวลอดออกมา "ท่านจันทร์ฯ" นั่นเอง  ผมรีบเข้าไปแสดงความคารวะด้วยความประหลาดใจ เช่น เดียวกับที่ท่านทรงทักผมว่ "เฮ้ย  ศุภกิจ  ลื้อก็มาด้วยหรือ..."   "กระหม่อม เป็นศิษย์เสด็จในกรมฯ  ท่านทรงเมตตาเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้กระหม่อมเมื่อต้นปีนี้เอง..."  ผมดึงหนังสือโคลงสี่สุภาพที่นำมา  ถวายไปเล่มหนึ่ง  ทรงรับไปอ่านดู และตรัสชมว่า "เออดีว่ะ  มีลื้อแต่งโคลงได้อีกคน  เดี๋ยวนี้หาคนแต่งโคลงเป็นน่ะยากเต็มที..."  เมื่อท่านเสด็จจากไป  ผมก็ก้าวเข้าประตูวังไป  คุณสุมิตรา เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา  แม่บ้านประจำวังซึ่งตามมาส่งเสด็จท่านจันทร์ฯ ปรารภว่า "คุณศุภกิจก็รู้จัก ท่านพลุ ด้วยนะ"  "ครับผมรู้จักท่านจันทร์ฯ หลายปีแล้ว  แต่วันนี้ได้รู้จักพระนามหนึ่งคือ ท่านพลุ"

         คำว่า พลุ นี่เอง  คือกำเนิดของนามปากกา "พ. ณ. ประมวญมารค"

         คุณสุมิตรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ในหมู่พระญาตินั้นเรียกกันว่า  "ท่านพลุ"  ที่เสด็จไปที่วังเสด็จในกรมนราธิปฯ​  นั้น  ด้วยทรงนับพระญาติกัน  "ท่านจันทร์ฯ"  ทูลเรียกเจ้าของวังในซอยสายน้ำผึ้งนั้นว่า "เสด็จอา"  แต่ที่จริงหม่อมเจ้าหญิงพรพิมลพรรณ พระมารดาเลี้ยงของ "ท่านจันทร์ฯ"  นั้นคือ  พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของเสด็จในกรมนราธิปฯ  ถ้านับญาติทางสายนี้  ก็น่าจะเป็น "เสด็จน้า"  แต่อาจจะทรงเรียกขานมาก่อนที่จะมาเกี่ยวดองกันจริงๆ นั้น ท่าน "น.ม.ส."  กับเสด็จในกรมนราธิปฯ  ก็สนิทคุ้นเคยกันหลายสถาน  ทั้งเป็นนักเรียนเก่าจากอังกฤษด้วยกัน  ทั้งได้ทรงออกหนังสือพิมพ์องค์ละฉบับ  ทั้งสององค์และทรงเป็นนักปราชญ์ทางภาษาหนังสือด้วยกันทั้งสององค์  ท่าน "น.ม.ส."  ทรงแก่กว่า  น่าจะทรงแนะนำให้โอรส คือ "ท่านจันทร์"  ทูลเรียกเสด็จใน          กรมนราธิปฯ ว่า "เสด็จอา" มาแต่แรกรู้จัก

         ที่จริง "ท่านจันทร์ฯ" จะทรงนับญาติกับหม่อมพร้อยสุภิณ  ชายาเสด็จในกรมนราธิปฯ ก็ย่อมได้  เพราะพระมารดาหม่อมพัฒน์นั้นเป็นญาติสนิทกันกับหม่อมพร้อมสุภิณ (สกุลเดิมบุนนาค ด้วย)  

      นามปากกาส่วนที่เป็น "ณ ประมวญมารค" นั้นมาจากไหน  ถ้าไม่เล่าไว้  ต่อไปอนุชนรุ่นหลังจะไม่รู้จัก  จึงขอเล่าแจ้งแถลงไขดีกว่า  เป็นการรักษาตำนานเอาไว้  เมื่อช่วงปลายพระชนม์ชีพของท่าน "น.ม.ส." นั้น  ทรงก่อตั้งโรงพิมพ์และออกหนังสือพิมพ์อยู่ที่ถนน "ประมวญ" ย่านสีลม  ชื่อถนนสายนี้  เกิดจากราชทินนามของ "พระประมวญคคนานต์"  ซึ่งเป็นผู้ออกเงินตัดถนนสายนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ท่าน "น.ม.ส." จึงทรงใช้ชื่อถนนมาเป็นชื่อหนังสือพิมพ์ด้วย  กล่าวคือ  ฉบับรายวันให้ชื่อว่า "นสพ. ประมวญวัน"  ฉบับรายสัปดาห์ให้ชื่อว่า  "ประมวญสาร"  และ ฉบับรายเดือน  ให้ชื่อว่า "ประมวญมารค"
   

         ชื่อ ประมวญมารค หรือ ถนนประมวญนั่นเอง  คือ แหล่งที่มาของพระนาม  "ณ ประมวญมารค" ของ "ท่านจันทร์ฯ" และพระขนิษฐา

         พระเกียรติคุณของ "ท่านจันทร์ฯ" นั้น  คนทั่วไปย่อมทราบดีว่าทรงมีผลงานด้านภาษาหนังสือมากมาย  ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์แพร่พิทยา  วังบูรพา  ที่สำคัญ  เช่น  ชีวิตและงานของสุนทรภู่  และกำสรวลศรีปราชญ์  สวนเล่มล่าสุดจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม  คือ  เรื่อง "ใครปลอมศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง"  นอกจากนี้ยังมีบทกวีนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือวารสารต่างๆ อีกมาก

          ท่านโปรดแต่งร้อยกรองประเภท "โคลง" มากกว่าอย่างอื่น  ลีลาโคลงสี่  ของ  "ท่านจันทร์ฯ" นั้น  ทรงถอดแบบจากพระบิดาทีเดียว  เช่น  ทรงนิพนธ์กล่าวถึงการประสูติขององค์เองว่า

             
                       ❂     พฤหัสขึ้นสิบห้าค่ำ    เดือนแปด
           จันทร์กระโดดกระเด็นแดด    เที่ยงเปรี้ยง
       จอแปดจะแปดแฝด                แปดเดี่ยว  ก็ดี
          เข้าวษาเสียงเพี้ยง       สวดพร้องคล้องหอนฯ
           (ประสูติเวลาเที่ยงวัน ของวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ จันทรคติขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด ปีจอ จ.ศ. ๑๒๗๒)


          พระเกียรติคุณด้านอื่นๆ ไม่ค่อยมีใครทราบ  ผมได้ฟังถ่ายทอดมาจากท่านอาจารย์ผู้เฒ่า สถิตย์ เสมานิล  ซึ่งได้หายสาบสูญไป ๑๐ ปีเศษแล้ว  เกรงจะสูญตามผู้เล่า จึงขอนำมาถ่ายทอดบันทึกไว้ให้ทราบต่อไป คือ


          "ท่านจันทร์ฯ" นั้นทรงเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษถึง ๓ ชั่วคน  เพราะคุณตาของท่น คือ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  พระบิดาก็เคยทรงศึกษาที่อังกฤษ  รุ่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ  เมื่อครั้งที่ทรงเป็นมกุฏราชกุมาร  แต่ต่างมหาวิทยาลัยกัน และ ท่าน "น.ม.ส." เรียนไม่จบ  ทรงศึกษาได้ราว ๒ ปี ก็มีพระบรมราชโองการเรียกกลับไปรับราชการในเมืองไทย  "ท่านจันทร์ฯ"  ได้ทรงเรียนที่อังกฤษ ๑๑ ปี  ตั้งแต่ชั้นมัธยม  จนกระทั่งจบปริญญาตรีทาง เศรษฐศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ Cambridge University..."

"...ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาก  ขณะที่รับราชการที่กระทรวงการคลังนั้น  ผู้ใหญ่เช่น เสนาบดี ปลัดกระทรวง  รัฐมนตรี  ได้มอบหมายให้ "ท่านจันทร์ฯ" ทรงงานด้านติดต่อต่างประเทศ  โดยเฉพาะร่างคำคำขวัญ และสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษละก็  ต้อง  "ท่านจันทร์ฯ" จึงจะถูกใจเสนาบดี น่าเสียดายที่ "ท่านจันทร์ฯ" ทรงมีความรู้ความสามารถมาก  คุณวุฒิ  ชาติวุฒิสูง  แต่กลับไม่ทรงทนอยู่ในระบบราชการได้  ทั้งนี้ด้วยจิตวิญญาณความเป็นอิสระเสรีของกวี  ซึ่งทรงสืบสายพระโลหิตโดยตรงมาจากท่าน "น.ม.ส." เสด็จพ่อผู้เป็นรัตนกวี

        นี่ถ้าท่านทรงศึกษาทางภาษาศาสตร์ หรือวรรณคดี  กลับมาทรงงานด้านที่ทรงรักนี้ละก็ ท่านน่าจะทรงเป็นข้าราชการ  ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง  มีฐานะตำแหน่งในราชการ หรือมหาวิทยาลัยยิ่งใหญ่กว่าที่ทรงเป็นเพียง "อาจารย์พิเศษ" ที่ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์  ด้วยพระทัยทรงรักในวิชาการนั้นแท้ๆ  ไม่ได้ตรงกับคุณวุฒิที่ทรงร่ำเรียนมาจากอังกฤษเลย    พระเกียรติคุณที่ไม่ค่อยมีคนทราบ  ก็คือ  ขณะที่ทรงเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น  ทรงได้รับคัดเลือกให้เข้าเป็น  "นักกีฬาแข่งเรือประเพณีประจำปี"  ที่มีการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่มาก  ระหว่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กับอ๊อกซฟอร์ด  การที่นักศึกษาคนใดจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันนั้น  เป็นเรื่องยากมาก และต้องเก่งมากๆ ด้วย  เท่าที่ผ่านมานั้นยังไม่เคยมีชาวเอเซียคนใดได้รับการคัดเลือกเช่นนี้  "ท่านจันทร์ฯ" ทรงเป็นชาวเอเซียคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงนี้  เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว

         ที่จริงท่านทรงเล่นกีฬา "รักบี้" เก่งด้วย  แต่เผอิญมีคนเก่งกว่า  คือ  ท่านอาจารย์โฉลก     โกมารกุล ณ นคร  ผู้ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นนักกีฬารักบี้ ในการแข่งขันประเพณีประจำปีระหว่าง ๒ มหาวิทยาลัยดังกล่าว  ท่านอาจารย์โฉลก  จึงเป็นผู้นำวิธีการเล่นรักบี้  กลับมาสอนคนไทยให้เล่นเป็นกันมาตั้งแต่เมื่อ ๔๐-๕๐ ปี มาแล้ว   ส่วนการพายเรือนั้น  คนไทยสมัยก่อนไม่นิยมแข่งขันกัน  เพิ่งจะมาตื่นตัวแข่งขันกันมากแถบลุ่มแม่น้ำน่าน  ย่านพิจิตร  พิษณุโลก  เมื่อไม่กี่ปีมานี้  อันเป็นเวลาที่  "ท่านจันทร์ฯ"  ทรงชราภาพแล้ว  และคิดว่าถึงจะทรงยังหนุ่มอยู่  ก็คงไม่สนพระทัยเพราะการแข่งเรือเมืองไทย  มักมุ่งเน้นไปด้านการเดิมพันพนันขันต่อ  ซึ่งผิดวิสัยของสุภาพบุรุษนักกีฬาที่ "ท่านจันทร์ฯ" ทรงมีอยู่อย่างเข้มข้นในสายพระโลหิต และจิตวิญญาณ

          กล่าวมาถึงเพียงนี้  ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจว่าผมได้เฝ้าแหนใกล้ชิดสนิทสนม หรือไม่ก็เป็นสานุศิษย์ก้นกุฏิของ "ท่านจันทร์ฯ" อะไรทำนองนั้น  

          ความจริงไม่ใช่  เพราะผมได้มีบุญวาสนาได้เฝ้าท่านไม่ถึง ๑๐ ครั้ง  โดยเฉพาะ ๒ ครั้งหลังสุด  ก็เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๕  เกือบๆ ๒๐ ปีมาแล้ว  แต่ด้วยเป็นการเฝ้าที่ผมประทับใจในองค์ท่านมาก  ทำให้เกิดความเคารพรักในความเป็นกวี  นักวิชาการ  วิญญาณนักกีฬา และสายเลือดนักปราชญ์  ที่ท่านทรงมีพร้อม  

          ผมย้ายไปรับราชการเป็นผู้ช่วยพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่  ในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๑๔ (ถึงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕)  ผมมีเพื่อนเก่าอยู่ที่นั่นมาก่อน คือ รศ.ดร. อัครพงษ์ สัจจวาทิต (ครั้งนั้นยังใช้ชื่อ พีรชาติ ลีรวัฒนางกูร) อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ. ประสาท อือนอก  อาจารย์ประจำวิทยาลัยครูเชียงใหม่  ทั้งสองท่านนี้ได้ชักชวนเพื่อนๆ ที่สนใจศึกษาเสวนาเกี่ยวกับเรื่องภาษาศิลป์  วรรณคดี  พงศาวดาร  โบราณคดี  มาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับผมอยู่เนืองๆ  ผู้ร่วมวงที่ยังติดต่อสื่อสารถึงกันมาจนทุกวันนี้  เช่น  ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์  รศ. หวน พินธุพันธ์  อาจารย์ประทีป พฤกษากิจ  เป็นต้น

          วันหนึ่ง  ในกลางเดือนเมษายน ๒๕๑๕  ดร. อัครพงษ์ ได้มาบอกผมให้ไปร่วมฟังการเสวนาของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องที่เราชอบ  ทั้งนี้โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  เดินทางขึ้นไปเป็นการส่วนตัว  และขอให้ศิษย์เก่าของท่านที่ มช. ช่วยนัดชวนเชิญผู้ที่สนใจด้านภาษาวรรณศิลป์ พงศาวดารโบราณคดี  ที่อยู่เชียงใหม่ขณะนั้นไปคุยกัน    ผมไปตามที่ได้รับชวน  ในห้องนั้นมีคนราว ๑๐ คน  ท่าน ศ.ดร. ประเสริฐ นั่งคู่กับ "ท่านจันทร์ฯ"  ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเสด็จขึ้นไปประทับอยู่เชียงใหม่ไม่นาน  ยังไม่มีตำหนักประจำ  เสด็จอยู่เรือนรับรองใน มช.  นอกจากนี้ก็มี  ท่านอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์  อาจารย์อีกท่านจากลำพูน  ผมจำชื่อไม่ได้  แต่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอาจารย์สงวน  อาจารย์มณี พยอมยงค์  อาจารย์ประสาท อือนอก   อาจารย์วิทยา วงษ์ดีไทย  ส่วน ดร.อัครพงษ์ กับ ดร.สุมีน เจ้าของห้อง อยู่รอต้อนรับแล้ว

           เราได้มีบุญหูที่ได้ฟังท่านผู้รู้ผู้ใหญ่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  บางทีก็เสริมหรือสนับสนุนความคิดเห็นกัน   บางเรื่องก็โต้แย้งเถียงกันด้วยเหตุผลหลักฐานคัดค้านกัน  ฟังสนุกมากจนเวลาผ่านไปไม่รู้ตัว  ไม่รู้ว่าพูดกันกี่สิบร้อยเรื่อง  แต่ที่ผมจำได้ในสาระสำคัญและเกี่ยวพันกับ "ท่านจันทร์ฯ"  โดยตรงมี ๒ เรื่อง 

           เรื่องแรก   จำไม่ได้ว่าท่านผู้ใดยกเรื่องเสนอเข้าสู่วงสนทนาในทำนองขอความคิดเห็นว่า "...สงครามระหว่างพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่  กับ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งศรีอยุธยานั้น  ใครแพ้ใครชนะ..."

เกิดการอภิปรายกันกว้างขวาง  บ้างก็ยกใจความจากพงศาวดารต่างๆ มาอ้าง  บ้างก็ยกตำนาน  บ้างก็ยกเอาเรื่องราวในโคลงลิลิตยวนพ่ายมาอ้าง  แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นข้างว่า  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแพ้สงคราม  เหตุผลและหลักฐานสำคัญที่กลุ่มนี้ยกมาอ้างสรุปได้คือ  

(๑)   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงขอหย่าศึก  โดยเสด็จสละราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยามาทรงสร้างวัด "จุฬามณี" ที่ริมฝั่งน้ำน่าน  แล้วทรงผนวชไปจนกระทั่งสวรรคต

(๒)   การผนวชครั้งนี้  ทรงขอบิณฑบาตเมืองเชียงชื่นคืนจากพระเจ้าติโลกราช  ซึ่งก็ยอมถวายคืน

(๓)   สภาพวัดจุฬามณีที่เห็นหลักฐานปรากฏอยู่นั้น  แน่นอนว่าเป็นวัดเล็กๆ  ถ้าเทียบกับวัดโพธาราม (หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด) ที่พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างไว้ที่เชียงใหม่แล้ว  วัดจุฬามณีเล็กกว่าหลายสิบเท่า  ก็เห็นชัดว่าเป็นการสร้างชั่วคราวเพียงช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชเท่านั้น  ผิดวิสัยของผู้ชนะสงครามจะสร้างวัดอะไรเล็กน้อยเพียงนั้น

         พอสรุปมาลงตรงนั้น  "ท่านจันทร์ฯ"  เสด็จยืนขึ้น  รับสั่งว่า  "ใครเห็นว่าเชียงใหม่ชนะ"  มีคนยกมือขึ้นกว่า ๕ คน  ทรงนับแล้วรับสั่งต่อว่า "อั๊วยอมแพ้..."

         เรื่องที่ ๒  ผมเสนอที่ประชุมเองว่า  ลิลิตพระลอนั้น  ชาวล้านนาแต่ง หรือชาวกรุงศรีอยุธยาแต่ง (ตอนที่ผมอยู่กรุงเทพฯ เคยฟังท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ปรารภว่าท่านอ่านลิลิตพระลอหลายเที่ยว  อ่านยังไงๆ ก็นึกไม่เห็นว่าจะเป็นคนภาคอื่นใดจะสามารถแต่งได้  เว้นแต่ชาวล้านนาจะแต่งขึ้น  ท่านชี้จุดน่าศึกษาอยู่ ๒-๓ แห่ง   นอกจากถ้อยคำสำนวนภาษาแล้ว  ยังมีแบบธรรมเนียมในการประพฤติปฏิบัติในเรื่องนั้น  ซึ่งไม่เหมือนคล้ายในเรื่องวรรณคดีอื่นใด  ผมได้ร่วมคิดค้นกับเพื่อนร่วมชมรมฯ ที่เชียงใหม่เพิ่มเติมอีก  แต่จะอ้างชื่อว่าท่านอาจารย์สถิตย์ให้แนวคิดมาก็เกรงว่า  ถ้าแสดงออกต่อสาธารณะโดยท่านอาจารย์ไม่ได้พูด หรือเสนอเอง  เกลือก "เชย" ขึ้นมาจะพาให้เสียหายถึงครูบาอาจารย์  สู้เราแอ่นอกรับเสียเองดีกว่า...)


พอผมเสนอขึ้นมาเช่นนั้น  ก็ถูกซักรอบตัวทันทียิ่งกว่าจำเลยในศาลเสียอีก  โต้กันไปตอบกันมาพักหนึ่ง  "ท่านจันทร์ฯ"  รับสั่งว่า  "...อั๊วว่า  เรื่องพระลอนี่นะ  เดิมมาจากตำนานนิทานพื้นบ้านของไทยใหญ่  เรื่อง  "เจ้าสามลอ"  ซึ่งมีคติตรงกับในเรื่องลิลิตพระลอตอนหนึ่งว่า  แข็งดั่งเหล็กเงินง้าง  อ่อนได้ดังใจ ... นิทานนี้คงเล่ากันเข้ามาในเมืองก่อน  ก็คงขยายความมากกว่าเรื่องเจ้าสามลอ  ที่เล่ากันเพียงในพื้นบ้าน  ต่อมาเมื่อเล่ากันมาถึงในเมืองก็ขยายขึ้น  พอเป็นลิลิตนี่แต่งกันในราชสำนัก  จึงกลายเป็นเรื่องของกษัตริย์ไป  ...อั๊วว่า  ชาวกรุงศรีอยุธยาแต่งน่ะ  ชาวล้านนาที่ไหนจะแต่งเรื่องในราชสำนักทำนองอย่างอยุธยาอย่างนั้นได้...

ผมก็ทูลเถียงท่าน  โดยยกเหตุผลว่า  "...ลิลิตพระลอนั้น  แต่งที่อยุธยาแน่นอน  แต่รายละเอียดในเรื่อง  ทั้งถ้อยคำสำนวนมีภาษาล้านนา  เงี้ยวปนอยู่มากมาย  ไม่มีวรรณคดีใดๆ ของชาวภาคกลางที่จะมีถ้อยคำสำนวนภาษาถิ่นเหนือล้านนา และเงี้ยวมากเช่นนั้นเลย  ที่สำคัญที่สุดคือ  แบบธรรมเนียมของท้องถิ่น  ลัทธิความเชื่อที่ปรากฏในลิลิตพระลอนั้น  มีลักษณะเฉพาะของชาวล้านนาอยู่ในจุดสำคัญหลายแห่ง (ซึ่งไม่มีอยู่ในวรรณคดีอื่นใดของชาวภาคกลาง) กล่าวคือ

๑.   เรื่องการใช้ "สลาเหิน"  ของปู่เจ้าสมิงพราย มีอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้เรื่องเดียว  และในพงศาวดารของศรีอยุธยาไม่ว่าฉบับใดๆ ก็ไม่เคยกล่าวว่าเคยมีผู้ใดใช้  "สลาเหิน"  ไปทำร้ายหรือทำอาถรรพ์ต่อผู้ใด  แต่... ในพงศาวดารล้านนาตอนหนึ่ง  ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กว่า ๑๕๐ ปี) นั้นกล่าวถึงเรื่องการใช้ "สลาเหิน" ไว้ในครั้งที่พระมหาเทวี  มเหสีของพระเจ้าติโลกราชเสด็จยกทัพไปรบเมืองแพร่  ตีหักเอาด้วยกำลังทหารไม่สำเร็จ  จึงโปรดให้ทำพิธีใช้ "สลาเหิน" ข่มชะตาเมืองแพร่จนเอาชนะเมืองนั้นได้

๒.   เรื่องการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ตนเคารพ  โดยวิธีการใช้มวยผมเช็ดเท้าของผู้ที่ตนเคารพ  โดยวิธีการใช้มวยผมเช็ดเท้าของผู้ที่ตนเคารพ  แบบธรรมเนียมนี้ไม่มีในภูมิภาคอื่นใด  นอกจากชาวเหนือซึ่งทุกวันนี้ก็ยังพอหาได้ตามชนบทนอกเมือง  เมื่อหญิงแก่ๆ ชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพเดินผ่านมา  เธอจะปูเสื่อหรือผ้าลงไป  พร้อมกับแกะมวยผมออกแล้วก้มลงกราบไปที่พื้นเสื่อ หรือผ้า  ให้พระสงฆ์ที่เคารพเดินเหยียบลงไปที่ปลายมวยผมนั้น... ถือว่าเป็นสิริมงคลมาก

        ลักษณะเช่นนี้  มีอยู่ในเรื่องลิลิตพระลอ ๒ แห่ง คือ

        ในโคลงสองระหว่างโคลงสี่บทที่ ๙๘ - ๙๙  กล่าวถึงพระลอ  ถูกอาถรรพ์ของ "สลาเหิน" แล้ว  จะต้องเดินทางไปหาพระเพื่อนพระแพงให้ได้  ใครๆ ทัดทานก็ไม่สำเร็จ  แม้แต่พระมารดาคือ นางบุญเหลือ  ซึ่งทัดทานจนสุดถ้อยความแล้ว  เมื่อไม่สำเร็จ  จึงให้ศีลให้พรแก่พระลอ  พระลอทรงรับพรแล้วแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระมารดา  ดังความในโคลงสองว่า

                           "...รับพรใส่เศียรไว้   แก้เกศเช็ดบาทไท้
                   ท่านท้าวชนนี          ท่านนา......"

          ในโคลงสี่สุภาพ  บทที่ ๑๐๗  เมื่อพระนางลักษณาวดี  มเหสีของพระลอทูลทัดทานไม่สำเร็จแล้ว  พระนางจึง

                       "...สุดทานสุดทัดท้าว    สุดบุญ
                ทรงโศกภักตร์ซบซุน     ร่ำไห้
                เหนือบาทยุคลขุน        ครวญคร่ำ  ไปนา
                สยายเกศเช็ดบาทไท้     ธิราชไว้เป็นเฉลิมฯ

           เมื่อผมเสนอเหตุผลข้อมูลประกอบจบลง "ท่านจันทร์ฯ" รับสั่งว่า  "...เออ น่าฟังเหมือนกันแฮะ..."  เผอิญเวลานั้น  เย็นลงมากแล้ว หลายท่านมีภาระจะจากไป  บางท่านก็มาไกล  จึงเลิกลาวงสนทนาไปอย่างเสียดายยิ่ง   อีก ๒-๓ วันต่อมา  ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนหนังสือราชการอยู่ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่  ขณะนั้นตั้งอยู่ที่อาคารเช่าเรือนไม้ ๒ ชั้น  เลขที่ ๑๖ ถนนเวียงแก้  ใกล้ๆ ศาลากลางหลังเก่า  เวลานั้นราว ๑๑.๐๐ น.  "ท่านจันทร์ฯ"  เสด็จเข้ามาหาผม  ผมเห็นท่านเสด็จถึงชายคาแล้ว  จึงรีบไปทูลเชิญท่าน  ท่านกลับรับสั่งชวนให้ผมไปคุยกันที่ร้านอาหารที่สี่แยกฝั่งตรงข้าม  ผมก็ตามเสด็จไป  เมื่อทรงดื่มเบียร์ไปแก้วหนึ่งแล้วรับสั่งว่า  "...ศุภกิจ  เรื่องที่ลื้อพูดเกี่ยวกับลิลิตพระลอวันนั้นนะ  อั๊วไปคิดดูแล้ว  อั๊วเห็นด้วยว่ะ  ลื้อช่วยเขียนให้ทีนะ  อั๊วจะเอาไปลงพิมพ์ต่อท้ายเรื่องลิลิตพระลอ  เป็น  "ภาคผนวก"  อั๊วจะเขียนแก้ไขเองก็น่าเกลียด  เพราะอั๊วขายต้นฉบับให้ "ไอ้จิตต์" ไปแล้ว..." ("ไอ้จิตต์" ที่รับสั่งถึงอย่างสนิทนั้นคือ  คุณจิตต์ แพร่พานิช  เจ้าของสำนักพิมพ์แพร่พิทยา  วังบูรพากรุงเทพฯ  ซึ่งรับพระนิพนธ์ของท่านและพระญาติวงศ์  ไปจัดพิมพ์จำนวนมากมายหลายเรื่อง)  ผมรับรับสั่งท่าน

        หลังจากนั้นผมก็มีภาระอื่นเข้ามารบกวนเวลาและสมาธิที่จะเขียนเรื่องที่รับไว้นั้น  ที่สำคัญที่สุดคือ  ผมป่วยมากขึ้นเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล(สวนดอก) เชียงใหม่  นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมป่วยถึงขนาดนั้น  หายป่วยแล้วมีโชคได้เลื่อนเป็นพาณิชย์จังหวัดน่านคนแรก  นับเป็น "ทุกขลาภ" ด้วย  เพราะสำนักงานฯ แห่งนั้นตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ  จากงบประมาณเหลือจ่าย  ยังไม่มีอาคารสถานที่ตั้ง ไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นใดนอกจากผม  ที่ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่หัวหน้าลงไปถึงภารโรง  ภาระอื่นๆ ก็หนักหนาติดพันตลอดมา  เรื่องที่รับรับสั่งไว้ก็คงติดค้างเป็น "หนี้" ท่านตลอดมา

        ทบทวนความหลังมาถึงตรงนี้  พอดีรถโดยสารถึงจุดหมาย  ลงไปทำธุระเสร็จแล้วเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ  ระหว่างนั่งรถปรับอากาศสบายๆ  ก็แต่งโคลงสี่สุภาพได้ ๒ บท  ถวายคารวะแด่  "ท่านจันทร์ฯ" (หลังจากแก้ไขขัดเกลาแล้ว  ได้ความดังนี้"

     
                                           อาลัย ... "กวีวังหน้า"

           "ท่านจันทร์ฯ"  บรรเจิดจ้า   จิตรลออ วรรณนา
        โอรส "น.ม.ส."                  แจ่มแจ้ง
         พงศ์กวีสืบเหล่ากอ              กวีใหญ่ ไทยนอ
         ประกาศเกียรติกวีฤาแล้ว       จากหล้าแหล่งสยามฯ
             ยามจันทร์ผันลับฟ้า          นานไฉน  นาพ่อ
        เพียงปักษ์กลับสว่างไสว       ส่องหล้า
        "ท่านจันทร์ฯ" สู่สวรรค์ไกล   เกินกลับ  โลกนอ
        เดือนผ่านปีผ่านฟ้า             หมดสิ้นแสง "จันทร์ฯ"


         ภรรยาของผมนำโคลงที่แต่งนี้ไปวานคุณวัฒนะ บุญจับ  แห่งหอสมุดแห่งชาติ  ช่วยเขียนลงบนแผ่นผ้าขาวด้วยอักษรสีดำ  นำไปกราบถวายสักการะหน้าพระศพ  "ท่านจันทร์ฯ"  ที่บรรทมสงบอยู่ ณ ศาลากลางน้ำ  วัดเทพศิรินทราวาส  เมื่อค่ำวันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

         ผมเคารพรักนับถือ  "ท่านจันทร์ฯ"  ไม่ใช่เพราะทรงอยู่ในชาติวุฒิ  คุณวุฒิ และวัยวุฒิอันสูงส่งเท่านั้น  แต่ที่ประทับใจไม่รู้ลืมเลือน  คือ  ความที่ทรงเป็นสุภาพบุรุษนักวิชาการอย่างแท้จริง  ความคิดความเห็นของคนเล็กน้อยอย่างผมซึ่งด้อยกว่าท่านทุกประการ  เป็นร้อยพันเท่า  หากท่านจะทรงเฉยเสียก็ย่อมได้  แต่ด้วยความที่ทรงเห็นด้วย และทรงรู้สึกรับผิดชอบต่อผู้อ่านที่ควรจะได้รับฟังจึงอุตส่าห์เสด็จไปหาผม

        ผมเสียอีกที่บาปกรรมไม่ได้เขียนถวาย  จึงขอไถ่บาปด้วยข้อเขียนนี้  เทอญ