Sunday, October 22, 2017

เชิญผู้อ่านช่วยชี้แนะ ทักท้วงได้!

        ผู้อ่านที่หวังดีได้แนะนำว่า  ผมควรอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่นำมาเขียนน่ะครับ

        ผมขอขอบคุณคำชี้แนะ  แต่ไม่ทำหรอกครับ  เพราะผมมีเหตุขัดข้อง ๑๐๘ ประการ  ยกมาอ้างแค่ ๒-๓ ประการ คือ

        ๑.  ผมไม่ได้เขียนสารคดี  รายงานการวิจัย หรือวิทยานิพนธ์
        ๒.  ผมเขียนทำนองเป็น "นิทาน"  ตามรอยพระบาทสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
             ที่ทรงพระนิพนธ์เรื่อง "นิทานโบราณคดี"  ซึ่งผมชอบอ่านมาแต่ยังเด็ก  ในยุคนั้นมี
             นิทานอ่านสนุกหลายๆ เรื่อง  เช่น  นิทานอีสป  นิทานเวตาล  นิทานอิหร่านราชธรรม
             นิทานอาหรับราตรี ฯลฯ 
        ๓.  เมื่อไม่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล  ผมก็อาจจะ "มั่วนิ่ม" ได้ละสิ?  อ๋อ... แน่นอนและ
             เป็นเจตนารมณ์ประการหนึ่งของผม  ที่จะให้ผู้อ่าน "คอยจับผิด"  ผมไม่โกรธเคืองหรอก
             เพราะผม "ไม่มีศักดิ์ศรี หรืออีโก้อะไรที่จะรักษา  แต่กลับจะเป็นสิ่งดียิ่งแก่วงการ  เพราะ
             ผู้ที่จะหาญกล้ามา "ทักท้วงจับผิด"  ก็ต้องศึกษา ค้นคว้า หาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความ
             ผิดอย่างยากลำบากกว่าการสอบสวนคดีของตำรวจ

        ตำรวจจับผู้กระทำผิด  ก็ปิดห้องสอบสวน  ถ้าคดีมีมูลก็ส่งสำนวนไปยังอัยการ  เป็นความลับอีกแต่การที่จะ "ทักท้วงจับผิด"  นิทานของผมต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ  ทำให้ผู้อ่านอื่นๆ ตื่นตัว  อาจจะถกเถียงกันขยายวง  เป็นการ "ขัดเกลาปัญญา" ยิ่งขึ้น

        ๔.  เมื่อปี ๒๕๒๕  ผมเป็นพาณิชย์จังหวัดชลบุรี  คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ  บรรณาธิการวารสาร
             ศิลปวัฒนธรรม  ผู้เป็นสหายเก่าแก่แวะไปเยี่ยม และขอร้องให้ผมเขียน(อะไร)ให้บ้าง
             ผมบอกว่างานหลวงมาก  จึงเขียนอะไรให้ใหม่ๆ ไม่ได้  มีแต่เรื่องเก่าชื่อ "คุ้ยวรรณกรรม"
             ซึ่งเคยพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์ "ชาวไทย" ราว ๑๐ ปีก่อนแล้ว

        คุณสุจิตต์ บอกว่าเคยอ่านๆ  เอามาเลย  และขยายความว่า  ถ้ามีผู้เขียนจากแวดวงอื่นๆ มาสนใจอ่านเขียนลงใน "ศิลปวัฒนธรรม"  ก็จะยิ่งมีคนสนใจว่า  ขนาดคุณซึ่งเป็นศิษย์คณะเศรษฐศาสตร์ และทำงานกระทรวงพาณิชย์  ยังสนใถึงกับเขียนเรื่องให้เลย

         ได้เรื่อง...!  คือ  เรื่อง  "คุ้ยวรรณกรรม"  ลงพิมพ์(ประกบ) ติดกับรายงานผลวิจัยวรรณคดีเรื่องหนึ่ง  ที่มหาบัณฑิตทางอักษรศาสตร์นำเสนอ  สาระบางประการ "ขัดแย้ง" กันบ้าง  ผมก็เฉยๆ เพราะผมไม่มีศักดิ์ศรีบารมีอะไรทางด้านศิลปวัฒนธรรม  แต่...ฉบับต่อมา  มีข้อเขียนของมหาบัณฑิตฯ ทักท้วงสั่งสอนผมลงตีพิมพ์ และยืนยันวิทยานิพนธ์ว่า...

          สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ทรงพระราชนิพนธ์  เรื่อง  "ลิลิตพระลอ"  เหตุผลหลัก คือ

         ๑.  บทไหว้ครูนำเรื่อง  ออกพระนามว่า "รามาธิบดี"  ย่อมหมายถึงพระรามาธิบดีที่ ๒
         ๒.  ถ้อยคำสำนวนภาษาที่ใช้แต่งลิลิต  เป็นศัพท์โบราณยุคเก่าก่อนสมัยสมเด็จ
              พระนารายณ์มหาราช

         เรื่อง "คุ้ยวรรณกรรม" ที่พิมพ์ซ้ำนี้  ผ่านความเห็นชอบจากอาจารย์สถิตย์ เสมานิล (อดีตกรรมการชำระพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕)  เพราะเมื่อปี ๒๕๑๕  ท่านอาจารย์ไปต่างจังหวัดหลายวัน  ขอให้ผมเขียนเรื่องไปลงแทนในคอลัมน์ "วิสาสะ"  ที่ท่านเขียนประจำในหนังสือพิมพ์ชาวไทย(รายวัน) ต่อเนื่องกัน ๑ สัปดาห์  สาระสำคัญของข้อเขียนคือ  ผมพิสูจน์ให้เห็นว่า

         ผู้แต่ง/ ทรงพระราชนิพนธ์และทรงพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่อง  "สมุทโฆสคำฉันท์" ในตอนเริ่มต้นคือ "พระมหาราช"  พญาแสนหลวง  กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย  ที่พ่ายสงครามแก่กรุงศรีอยุธยา  ถูกคุมตัวกวาดเอาชาวเชียงใหม่เป็นเชลย  มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ "ทุ่งมหาราช"  คำ "มหาราช"  ในที่นี้  หมายถึงตำแหน่งกษัตริย์แห่งล้านนานับแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา  คำเรียกว่า "มหาราช"  เช่นนี้  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตฯ  ทรงใช้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ลิลิตเตลงพ่าย" ด้วย  ดังนั้น  การที่มีคนไปตีความว่า "พระมหาราชครู"  คือผู้เริ่มประพันธ์  "สมุทโฆสคำฉันท์"  ทั้งๆ ที่พระนิพนธ์ท่อนท้าย  สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ  ทรงนิพนธ์ชัดเจนว่า "มหาราช" ดังนี้

              "...แรกเรื่องมหาราชภิปราย  ไป่จบจนนารายณ์   นเรนทรสืบสรรค์สาร
            สองโอฐฤาสุดตำนาน             เป็นสามโวหาร      ทั้งข้อยก็ต้อยติดเติม

       
         ลักษณะคำประพันธ์  "กาพย์ฉบัง ๑๖ เช่นนี้  ถ้าจะทรงหมายถึง "พระมหาราชครู" จริงๆ ก็ย่อมทรงระบุได้เต็มภาคภูมิ  แต่เพราะ(มัน)ไม่ใช่!  ที่ใช่ก็คือ  "มหาราช(แสนหลวง)"  อดีตกษัตริย์นครเชียงใหม่ตะหาก

          ผมสรุปความเห็นว่า  กวีเอกสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  คือ  "พญาแสนหลวง" หรือ "มหาราช" อดีตกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่  ซึ่งเข้ามาอยู่  ณ  ทุ่งมหาราช นอกเขตพระนครฯ   ผมไม่ได้ไปทักท้วงขัดคอใครนะครับ  เพราะผมเขียนเรื่องนี้ก่อนนานตั้งสิบปีแล้ว  แต่เผอิญถูกนำมาพิมพ์ซ้ำ "ชนกัน"  กับความเห็นที่ไม่ตรงกับ "มหาบัณฑิตฯ"  ซึ่งถ้าเป็นลำพังตัวผมเองก็จะไม่ทักท้วงโต้แย้งกับใครในวงการภาษาหนังสือ/ ศิลปวัฒนธรรมหรอก  แต่เผอิญเรื่องนี้  มีอาจารย์ผู้เฒ่าสถิตย์ เสมานิล  ในฐานะผู้ตรวจผ่านข้อเขียนของผมให้ลงพิมพ์แทนในคอลัมน์ "วิสาสะ" ของท่านด้วย  ดังนั้น  ถ้าความเห็นในข้อเขียนของผมออกมาผิดๆ  อาจารย์ก็พลอย "เห่ย" ด้วย  แต่ท่านอาจารย์หายสาบสูญไปตั้งแต่ ๒๕๒๓-๒๕๒๔  ก่อนราวปีเศษ  จึงเป็นภาระที่ผมจำเป็นต้องเขียน(สดๆ) ชี้แจงโต้แย้งเพื่อศักดิ์ศรีของอาจารย์ด้วย 

         เรื่องราว หรือข้อเขียนที่เราโต้แย้งกัน  เป็นเรื่องดีมีสาระ  ผมนำทุกถ้อยคำมารวมพิมพ์แจกในปลายปี ๒๕๒๖  เล่มบางๆ ปกสีขาว  อักษรสีแดง  มีรูปซุ้มประตูเข้าวัดโพธิ์(พระเชตุพนวิมลมังคลาราม)  เป็นภาพปก  ในหัวเรื่อง "คุ้ยวรรณกรรม"  พิมพ์ ๑,๐๐๐ เล่ม  แจกหมด  ไม่นานเดือน  ผมได้พบศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังสี  เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา  ท่านขอ "คุ้ยวรรณกรรม" อีกเล่ม  พร้อมเล่าว่ามีเพื่อนไปหาท่าน และนั่งอ่าน "คุ้ยวรรณกรรม" จบแล้วบอกว่า  "หนังสือนี้ดีนี่  ผมขอนะ"  อาจารย์เสฐียร ปรารภว่า  "นี่ถ้าคุณศุภกิจไม่มีให้อีก  ผมต้องไปทวงคืน..."

        ๒-๓ ปีต่อมา  ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ  ได้รับมอบหมายจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  ให้เป็นประธานจัดงานฉลอง "๒๐๐ ปีท่านสุนทรภู่"  ในช่วงปลายมิถุนายน ๒๕๒๙  ท่านอาจารย์ไม่ได้งบประมาณจากไหน  จึงใช้ที่บ้านในซอยสีฟ้า  ถนนพหลโยธินซอย ๙ เป็นที่ประชุมเตรียมงาน  คณะกรรมการก็ล้วนครูภาษาไทยที่เคารพรักท่านอาจารย์  อาสามาช่วยทำงานโดยมีจงจิตภรรยาของผม  ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการเลขานุการ  คงเพราะเธอพิมพ์ดีดได้  ทำงานแคล่วคล่องว่องไว  และที่อยู่ของเราคืออาคารชุดพิบูลวัฒนา  อยู่ในย่านใกล้ๆ บ้านท่าน  ผมขับรถ ๕ นาที  ก็พาเธอไปร่วมทำงานได้ทัน

        ครั้งหนึ่งเราไปก่อนเวลานัด  ท่านอาจารย์บอกผมว่า  "...จะบอกคุณหลายวันแล้วนะว่า  อาจารย์เปลื้อง (ณ นคร) เห็นด้วยกับคุณแล้วนะว่า พญาแสนหลวง เป็นผู้แต่งลิลิตพระลอ"  ท่านชี้ให้ผมไปอ่านหนังสือเรื่อง  "ประวัติวรรณคดีไทย"  ซึ่งเป็นผลงานของท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร  หรือ "นายตำรา ณ เมืองใต้" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช หลายสิบครั้ง

        "ประวัติวรรณคดีไทย"  ฉบับพิมพ์ใหม่ในขณะนั้นปี ๒๕๒๘  ได้ปรับแก้ข้อมูลเดิม  ที่เคยเขียนไว้ (ตามกรมศิลปากร) ว่า  "มหาราชหรือยุวราช" ผู้ทรงพระนิพนธ์ คงจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยา  ทรงพระราชนิพนธ์... ครั้งนี้  ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร  "ฟันธง" เลยว่า พญาแสนหลวง  มหาราชแห่งนครเชียงใหม่  ทรงพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ"

         ผมอ่านหลายเที่ยวด้วยความปีติ  คิดว่าไปซื้อหนังสือฯ นี้อีกเล่มดีไหม?  แต่ผมเป็น "คนใจเย็น" ผ่านมาเกือบ ๓๐ ปี  ยังไม่ได้ไปซื้อ  แต่ภรรยาผมมีเล่มเดิมครับ