Sunday, October 22, 2017

คุณูปการของ "เจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ"

        เมื่อราวกว่า ๖๐ ปีย้อนหลังไป  การศึกษาในโรงเรียนยังอ่อนด้อยทางรูปธรรมมากอย่างชนิดที่คนไทยรุ่นปัจจุบันได้ทราบอาจะคิดว่าเป็นเรื่องตลก  กล่าวคือ  ทั้งประเทศไทยมีจำนวนมหาวิทยาลัยเพียง ๕-๖ แห่ง  เฉพาะในกรุงเทพฯ   แม้แต่โรงเรียนมัธยมของรัฐบาลในแต่ละจังหวัด  ก็เปิดให้เรียนเพียงไม่เกิน ๔ แห่ง  ซึ่งบางจังหวัดมีนักเรียนน้อย  อาจให้เรียนรวมแบบสหศึกษาเหลือ ๒-๓ โรงเรียน

         ช่วงเรียนชั้นประถม  ผมเรียนในโรงเรียนราษฎร์เพิ่งตั้งไม่กี่ปีแต่ก็อยู่ใกล้บ้าน  ชื่อว่า "พินิจวิทยา"  เจ้าของมีเมตตา  ถ้าครอบครัวใดมีลูกหลานเข้าเรียน ๓ คน  จะคิดค่าเรียนเพียงสองคน  จบประถมปีที่ ๔  คุณครูให้โอวาทและอวยพรให้ในวันปิดภาคเรียน  ขอให้เราสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดให้ได้(นะ)  เพราะ "โรงเรียนประจำจังหวัด" เป็นของรัฐบาล  ผู้ปกครองจะลดภาระลงมากกว่าเรียนโรงเรียนราษฎร์

          ผมโชคดีที่ได้คุณครูดีๆ  โดยเฉพาะครูที่เริ่มแรกสอน  ทำให้อยากไปโรงเรียน  ดูเหมือนชื่อ "คุณครูนันทา" ซึ่งโรงเรียนยังขอให้ทำงานถึงอายุ ๘๐ ปี  ใครๆ ในโรงเรียนเรียกท่านว่า "ครูคุณย่า" ก่อนที่ผมจะมาเรียนที่โรงเรียนนี้  ผมเคยเข้าเรียนครั้งแรกในชีวิตที่โรงเรียนราษฎร์ในย่าน "บ้านปงสนุก" ภูมิลำเนาเดิม  แต่เรียนได้สัปดาห์เดียว  ผมก็ไม่ยอมไปอีกเลย

          ดร. เขียน สุวรรณสิงห์  อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นชาวลำปาง  บุตรชายของ "ครูปวน หรือ ป. สุวรรณสิงห์"  จิตรกรเอกของลำปางและล้านนา   ดร. เขียนเล่าว่า  เข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนราษฎร์ย่านบ้านปงสนุก  ช่วงก่อนผม ๕-๖ ปี  แต่เจอชะตากรรมคล้ายผมคือ เรียนได้สัปดาห์เดียวก็ไม่ยอมไปเรียนอีก  เผอิญพี่สาวของพ่อแต่งงาน และทำงานในกรุงเทพฯ  ป้ายังไม่มีลูก จึงรับหลานมาอุปการะจนเรียนดี และจบปริญญาเอกทางสถาปัตย์ คือ ดร. เขียน

          "วิกฤต" ในการเริ่มเรียนของ ดร. เขียน  และผมทำให้เราต่างมี "โอกาส" ชีวิตที่ดีกว่า  โดยเฉพาะผมสามารถสอบเข้าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้ที่ ๑ ของจังหวัด  ปีก่อนหน้าเป็นรุ่นพี่ ชื่อ "วิศิษฐ์ สมพงษ์"  ส่วนนักเรียนหญิงร่วมชั้นเรียนกับผมก็สอบได้ที่หนึ่งในโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ชื่อ "โรงเรียนลำปางกัลยาณี"   คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนพินิจวิทยา  ยังอยู่ยืนยงเป็นเวลาร่วม ๘๐ ปี  ยังเป็นที่นิยมมากในระดับอนุบาลและประถม  ส่วนโรงเรียนประถมที่ผมและ ดร. เขียน ไม่ไปเรียนอีก  ก็เลิกกิจการไปนานกว่า ๒๐ ปีแล้ว

          เมื่อแรกเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดชาย "บุญวาทย์วิทยาลัย"  ผมภาคภูมิใจมากที่ได้อ่านโคลงสี่สุภาพ  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  เสด็จทรงเปิดโรงเรยนและพระราชทานนามแก่โรงเรียน  ความว่า

                         ❂     วันที่ *ซาวหกนั้น      เสด็จไป
                              ทรงเปิดโรงเรียนไทย    ฤกษ์เช้า
                              "บุญวาทย์วิทยาลัย"     ขนานชื่อ ประทานนอ
                              เป็นเกียรติยศแด่เจ้า     ปกแคว้นลำปางฯ

                                                     ** "หนานแก้ว เมืองบูรพ์"

________________________________________________________
* ๒๖ พฤศจิกายน      ** พระราชนามแฝงในรัชกาลที่ ๖
________________________________________________________

             มีข้อความอธิบายเพิ่มเติมว่า...  มหาอำมาตย์โท พลโท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (เจ้าบุญทวงษ์ ณ ลำปาง) ทรงบริจาคที่ดินและพระราชทรัพย์  ก่อตั้งโรงเรียนระดับมัธยมขึ้นเพื่อให้บุตรหลานชาวลำปางได้มีแหล่งศึกษา  คือ โรงเรียนบุญทวงษ์อนุกูล  โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  โรงเรียนลำปางกัลยาณี

             เมื่อผมเรียนถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา  ผมยิ่งนึกถึงพระกรุณาธิคุณของท่าน "เจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ"  เพราะการที่ทรงสละพระราชทรัพย์ และที่ดินให้สร้างโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕  พร้อมๆ กับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยของเชียงใหม่  เป็นเพียง ๒ จังหวัดในล้านนา  ที่เปิดสอนระดับเตรียมอุดมฯ ก่อนจังหวัดอื่นๆ นานหลายปี

             อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนประจำจังหวัดหนึ่ง  ลงทุนลดตำแหน่งมาเป็นครูน้อย  เพื่อให้ลูกๆ ได้ตามมาเรียนที่ "บุญวาทย์ฯ" โดยเฉพาะ  คุณจำนง(แซ่เตียว)  พนัส จุฑาบูลย์ ชาวเมืองตาก ซึ่งยังไม่มีระดับชั้นเตรียมอุดมฯ  ได้มาสอบเข้าเรียนที่ลำปางและสร้างชื่อเสียงให้ "โรงเรียนบุญวาทย์ฯ" มาก คือ สอบไล่ได้เป็นที่ ๑๕ ของประเทศ  ต่อมารับราชการได้เป็นระดับ "อธิบดี" หลายกรมในกระทรวงอุตสาหกรรม

             พูดถึงศิษย์เก่าระดับรัฐมนตรีในยุค ๒๐-๓๐ ปี  ยังมีชีวิตอยู่  คนลำปางรู้จักดี  อดีตรัฐมนตรีที่มีชื่อเสียงมาก  ที่ล่วงลับนานแล้ว  เช่น  ศาตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน  และจอมพลประภาส จารุเสถียร  ซึ่งมีมารดาเป็นเจ้าหญิงสกุล ณ ลำปาง  และบิดาคือ พระยาพายัพพิริยกิจ  ข้าหลวงเมืองนครลำปาง  ซึ่งมีลูกชายเรียนชั้นมัธยม  จอมพลประภาส เคยเล่าว่า...  วันหนึ่ง ตนถูกครูตีก้น ๓ ที  จึงไปฟ้องคุณพ่อ  ท่านเจ้าคุณพ่อพูดว่า...  "ไอ้ตุ๊  ครูตีมึงน่ะดีแล้ว  พรุ่งนี้กูจะไปขอบใจให้รางวัล  แต่มึงเอาไม้มาให้กูตีเพิ่มอีก ๓ ที  เพราะครูย่อมรู้ดีว่ามึงเป็นลูกเจ้าเมือง  จึงไม่กล้าตีมึงเต็มอัตราโทษ..."  
จอมพลประภาส จารุเสถียร


นายแพทย์บุญสม มาร์ติน



              พระยาพายัพพิริยกิจ  เป็นนักปกครองที่มีอนาคตว่าจะเป็น "เจ้าพระยา"  แต่น่าเสียดายที่ขณะเป็นเจ้าเมืองพระประแดง  นำคนไปจับผู้ร้าย  แต่กลับถูกแทงตายอนาถ

              ศิษย์เก่าบุญวาทย์ฯ  รุ่นก่อนๆ ได้ดีก็ไม่ลืมโรงเรียนฯ  นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ในช่วงนั้น  คือ "พ่อเลี้ยง/ นายช่าง จินดา สมสวัสดิ์"  ได้จัดงานกิจกรรมต่างๆ หาเงินสะสมจนสามารถสร้างตึก "วิทยาศาสตร์"  เป็นอาคารคอนกรีตแห่งแรกของโรงเรียนฯ ซึ่งในยุคกว่า ๖๐ ปีก่อน  ตึกนี้ทันสมัยโก้ที่สุดในทุกโรงเรียนมัธยมทั่วล้านนา  ในตึกมี ๓ ห้อง  ห้องเรียนรวมเป็นห้องใหญ่สุด  มีที่นั่งลดหลั่นเป็นชั้นๆ จุคนได้ราว ๑๐๐ ที่นั่ง  เสริมได้อีก ๕๐-๖๐ ที่นั่ง  ห้องนี้ใช้สำหรับสอนวิชาภาษาไทย-อังกฤษ ในส่วนที่นักเรียนแผนกวิทยาศาสตร์กับแผนกอักษรศาสตร์  มีหลักสูตรร่วมกัน

              ห้องที่ ๒ เป็นห้อง "วิทยาศาสตร์"  มีอุปกรณ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์  สาขาต่างๆ ซึ่งบางชิ้นจำลองออกจากภาพในตำราเรียน  เว้นแต่อุปกรณ์เครื่องมือทางวิชาเคมี  เป็นของจริงที่อาจารย์นำนักเรียนมาทดลองให้ดูรู้เห็นกับตา  จนผมคิดฝันอยากเป็น "เภสัชกร"  เพื่อนำตำรายาพื้นบ้านของลุง(เขย) ที่สืบมา ๕ ชั่วคนมาพัฒนา และนวัตกรรมให้รูปลักษณ์ยาเป็นแบบแผนปัจจุบัน  ผมทำได้เพียง ๒ อย่าง คือ

    ๑.  สอบวิชาเคมีตอนจบชั้นเตรียมอุดมฯ ได้คะแนน ๙๐% สูงสุดของชั้น
    ๒.  นำตำรายาของลุงบางเรื่องมาเขียน และพิมพ์เผยแพร่กว่า ๒๐ ครั้ง  จำนวนพิมพ์แแล้ว
         ๒๔๕,๐๐๐ เล่ม  ชื่อหนังสือ "ภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาโรคฯ"  ผู้ใหญ่ที่ใช้ตำรานี้ได้ผล
         เช่น  พระราชศีลสังวร(ผ่อง จิรธัมโม)  เจ้าคณะจังหวัดสงขลา  และบราเดอร์อิลเดฟองโซ
         อดีตภราดาในโรงเรียนต่างๆ เครือคณะเซนต์คาเบรียล  ใครป่วยด้วยโรคเก๊าต์  เบาหวาน
         ต่อมลูกหมากเสื่อม  โรคนิ่ว โรคผิวหนังเรื้อรัง  อาการเจ็บช้ำใน

            แต่ห้องที่ ๓ ในตึก "วิทยาศาสตร์" นี้  คือห้องสมุดของโรงเรียน  ซึ่งยอดเยี่ยมมากเพราะมีหนังสือดีๆ และหนังสือหายากอยู่เต็มตู้กว่าพันเรื่อง  ผมอยากอ่าน  จึงไปสมัครทำงานเป็นผู้ช่วยครูบรรณารักษ์  ทำให้ครู (ณรงค์ บุญมัติ)  อนุญาตให้อ่านหนังสือชุดประวัติศาสตร์สากล ๑๒ เล่ม แปลเรียบเรียงโดยหลวงวิจิตรวาทการ  ปัญญาชนยุค ๗๐-๘๐ ปีก่อน  การได้อ่านมากมีผลเปลี่ยนแปลงค่านิยม และวิถีชีวิตของผม  ซึ่งเคยตกอับเพราะเป็นกำพร้าพ่อ  ยังพอพึ่งพาวิชาการทำให้ได้เป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ปี ๒๕๐๒-๒๕๐๕  สอนที่กรุงเทพฯ อีกปี  เพราะวิชาความรู้ที่ครูสอนมาดี  ทำให้ผมสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้

            ผมสั่งสมประสบการณ์การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยได้มากมาย  จนถึงปี ๒๕๑๐  ได้เป็นประธานจัดงานฉลอง ๒๐๐ ปีแห่งพระราชสมภพในพระพุทธเลิศหล้าฯ (รายละเอียดอยู่ในเรื่อง  "ฟื้นอดีต ๕๐ ปี วรรณศิลป์ ม.ธ."  ตีพิมพ์ในวารสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ๔ ฉบับ ช่วงปี ๑๕๕๖-๒๕๕๗)  งานที่เยาวชนชาวลำปาง  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐  ได้ร่วมกันทำเพื่อบูชาพระคุณของ "เจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ"  ก็คือ  การจัดงานหาทุนเพื่อประเดิมให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้น  ผมเป็นต้นความคิด และแก่กว่าใครๆ จึงได้รับมอบให้เป็นประธานจัดการแสดง  ของนิสิตนักศึกษาชาวลำปางในพระนคร  โดยมีน้องๆ นิสิตนักศึกษาจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยกันขายบัตรเข้าชมในราคาผู้ใหญ่ ๕ บาท  นิสิตนักศึกษา ๒ บาท

            ด้วยบุญบารมีแห่งคุณความดีของ "เจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ"  ทำให้มีคนช่วยเหลืองานอย่างดีเกินคาด  เช่น  เรานำบัตรเชิญไปเรียนท่านฯ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์  ขณะนั้นท่านเป็นอดีต ส.ส. ลำปาง  ท่านรับบัตรไว้  แต่คืนซองที่มีสตางค์ ๕๐๐ บาทให้เรา  แต่ขอตัวไม่รับเป็นประธานเปิดงาน  โดยแนะนำเราว่า  ควรไปเชิญศิษย์เก่าบุญวาทย์ฯ ท่านหนึ่งเปิดงาน  คือ  ศาสตราจารย์พลโท ดร. บัญชา  มินทขินทร์  คณบดีคณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผมเหมือนคนจุดไต้เดินตำตอ  เพราะท่านเป็นคณบดีที่ผมเคยเข้าพบมาก่อน ๒ ครั้งแล้ว   แต่ท่านต้องไปเปิดงานที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพราะหอประชุมใหญ่ ม.ธ. ปิดซ่อมใหญ่เครื่องปรับอากาศ

           นิสิตนักศึกษาชาวลำปางหลายคน  แม้ไม่ใช่ศิษย์เก่าบุญวาทย์ฯ  แต่ก็ช่วยเหลือแข็งขัน  เช่น คุณประวิตร โพธิอาศน์ (เคเน็ตฯ)   คุณพิกุล ลิ้มสวัสดิ์ (วิชชานารี)   คุณธีระ ธีระสวัสดิ์ (อัสสัมชัญฯ) อีกคนเรียนบัญชีธรรมศาสตร์  มาจากศิษย์เก่าอรุโณทัย ช่วยงานเข้มแข็ง  แต่ถึงบัดนี้  ผมจำได้แต่นามสกุลเธอ "ชิวารักษ์"   งานเสร็จมีเงินได้สุทธิกว่า ๘,๐๐๐ บาท  ในช่วงนั้นก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวแกง ๑ บาทก็อิ่ม

           ครั้นปิดเทอมใหญ่  ผมนัดกันนำเงินไปมอบแก่โรงเรียนบุญวาทย์ฯ  เพื่อเป็นหน่วยงานดำเนินการต่อๆ ไป  จนกว่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่ "เจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ" สำเร็จ  เราได้ผู้ประสานงานดียิ่ง คือ คุณศศิธร  ซึ่งเป็นทั้งกรรมการจัดงานฯ  และลูกสาวอาจารย์เชตต์ วิชชุวุต ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ  แต่พวกเรามาได้เพียง ๓ คน  คือ  ผม  คุณศศิธร  และคุณชัยเลิศ พิพัฒนเสริญ (เหรัญญิก)  ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น (รองประธานฯ)  ติดฝึกงาน  ฝ่ายผู้ใหญ่ที่รับมอบเงินนี้  นอกจากผู้อำนวยการโรงเรียนฯ  ยังมีโอรสองค์เดียวของ "เจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ"  คือ  เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง  และศิษย์เก่าอาวุโสคนหนึ่ง  จำได้ว่าขณะนั้นเป็นเทศมนตรีฯ ชื่อ เสถียร

 
       อนุสาวรีย์รูปหล่อ  มหาอำมาตย์โท  พลโท  เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต  ได้มาประดิษฐานที่บริเวณโรงเรียนฯ  ซึ่งท่านบริจาคที่ดินและเงินก่อตั้งขึ้นเป็น "โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย" แล้ว  แม้ผมจะรู้สึกว่า  สถานที่และภูมิทัศน์บริเวณที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์  จะไม่สง่างามก็ตาม  ผมย่อมพอทำใจรับได้ว่า  ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าศาลพระเจ้ามังรายมหาราชเจ้า  ผู้ทรงก่อตั้งอาณาจักรล้านนา-นครเชียงใหม่  เชิญท่านแวะไปดูที่สี่แยกกลางเวียงในเขตเมืองเดิมของเชียงใหม่ด้วยตนเองเถิด