เผอิญเรื่องราวของพระยาไชยบูรณ์ เคยนำมาให้นักเรียนมัธยมได้อ่าน จึงเป็นเค้าเงื่อนแห่งการตอบคำถามว่านามสกุล "ณ แพร่" ไม่ได้รับพระราชทานเพราะเหตุใด?
พระยาไชยบูรณ์ |
พระยาไชยบูรณ์ เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณจากกรุงเทพฯ ส่งมากำกับการบริหารเมืองแพร่ ที่มีเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เป็นเจ้าผู้ครองนคร ทั้งนี้เป็นไปตามพระราโชบายในการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ร.ศ. ๑๑๑ ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในโครงสร้างของอำนาจและผลประโยชน์ของบรรดา "เจ้าหลวง/ เจ้าผู้ครองนคร" ทั้งล้านนา ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า "เจ้าผู้ครองนคร" และบรรดาพระญาติวงศ์บริวาร ย่อมสูญเสียและไม่พอใจแน่นอน
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน มีสายสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ชั้นสูงในกรุงเทพฯ เช่น เจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละ ทรงเป็นพระราชชายาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงห์นาท สมัยรัชกาลที่ ๑ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าดารารัศมี ราชธิดาแห่งนครเชียงใหม่ก็ได้เป็นพระวรราชชายา ดังนั้น ความสัมพันธ์ฉันพระญาติในระหว่างพระราชวงศ์จักรี กับราชวงศ์ทิพยจักรฯ จึงมีน้ำหนัก "ถ่วงดุล" ความไม่พอใจในสถานะใหม่ ไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวายร้ายแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่
การจราจลเกิดขึ้นในเมืองแพร่ ดังที่รู้จักในชื่อว่า "กบฏเงี้ยว" ซึ่งต่อต้านกฏหมายใหม่ของรัฐบาลสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เหตุการณ์จลาจลมีเลศนัย เพราะพวก "กบฎเงี้ยว" ไล่ล่าฆ่าฟันข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไม่ยกเว้นผู้หญิงและเด็ก จนกระทั่งสังหารพระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) แต่กลับบังคับเจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ และพระญาติวงศ์ให้ลงพระนามในคำสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของสยาม อีกทั้งระหว่างเกิดเหตุการณ์จลาจล เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ และพระญาติวงศ์ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับพระยาไชยบูรณ์ ในการต่อต้านปราบปรามการจลาจลเลย ที่ร้ายแรงมากคือ อาการ "ร้อนตัว" เมื่อกองกำลังของรัฐบาลยกมาปราบเงี้ยว แต่เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ กลับพาครอบครัวเสด็จหนีไปลี้ภัยอยู่ที่นครหลวงพระบาง ทั้งนี้ เพราะชายาองค์หนึ่งทรงเป็นพระนัดดาของเจ้าอุปราชนครหลวงพระบาง เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เสด็จลี้ภัยปี ๒๔๔๕ ถึงแก่พิราลัย ๒๔๕๒ ณ หลวงพระบาง
คำพังเพยของจีนกล่าวว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ฉันใด สถานะของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต แห่งนครลำปางก็ได้รับความกระทบกระเทือน โดยเฉพาะกองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ที่ยกมาปราบกบฏเงี้ยว และจัดการปกครองใหม่ ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ และเจ้าพระยาสุรศักดิ์ แม่ทัพใหญ่ได้ยกพลมายังนครลำปาง เข้าตั้งค่ายอยู่ ณ "ม่อนไก่เขี่ย" ที่ดินของเจ้าบุญวาทย์ฯ ซึ่งในปัจจุบันคือ "ค่ายสุรศักดิ์มนตรี" ที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ ๓๒ ลำปาง
การมีกองทัพจากกรุงเทพฯ มาตั้ง "จ่อพุง" อยู่เช่นนี้ ถามพระทัยเจ้าบุญวาทย์ฯ ดูว่า "จะทรงวางพระองค์อย่างไรดี?"
ทางเลือกมีน้อย และดีที่สุดก็คงเป็นอย่างที่เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงนำนั้นคือ ทรงแสดงให้ราชสำนักสยามไว้พระทัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะผูกสัมพันธ์โดยการเสกสมรสก็ไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับเจ้านครแพร่และน่านที่ไม่มีพระราชบุตรธิดา หรือพระนัดดาทรงเกี่ยวดองเป็น "เขยสะใภ้" กับราชวงศ์จักรี ทั้งๆ ที่สตรี ๓ นครนี้สวยไม่แพ้สาวเมืองใดในล้านนา เจ้าบุญวาทย์ฯ จึงทรงสร้างผลงานด้านการศึกษาและศาสนา ดังปรากฏจนทุกวันนี้ คือ ทรงบริจาคทรัพย์ และที่ดินก่อตั้งโรงเรียนขึ้น ๓ แห่งคือ โรงเรียนระดับประถมชื่อ "บุญทวงศ์อนุกูล" โรงเรียนชายประจำจังหวัดชื่อ "บุญวาทย์วิทยาลัย" และโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด "ลำปางกัลยาณี" สองโรงเรียนหลังนี้ ในยุคนั้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงสุดของจังหวัดในทุกจังหวัด เว้นแต่ในกรุงเทพฯ
การก่อตั้งโรงเรียนบุญวาทย์ฯ นั้น นับเป็นโอกาสดีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จประพาสภาคเหนือล้านนา เจ้าบุญวาทย์ฯ จึงเชิญเสด็จทรงเปิดโรงเรียนฯ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๘ ดังโคลงพระราชนิพนธ์ว่า
❂ วันที่ซาวหกนั้น เสด็จไป
ทรงเปิดโรงเรียนไทย ฤกษ์เช้า
"บุญวาทย์วิทยาลัย" ขนานชื่อ ประทานนอ
เป็นเกียรติยศแด่เจ้า ปกแคว้นลำปางฯ
(๒๖ พ.ย. ๒๔๔๘ : พระนามแฝง "หนานแก้ว เมืองบูรพ์")
การได้เข้าเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาเสด็จทรงเปิดโรงเรียนบุญวาทย์ฯ ทำให้เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงสนิทคุ้นเคยกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งอีก ๕ ปีต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ สถานะทางการเมืองของเจ้าบุญวาทย์ฯ มั่นคงมากขึ้น ได้เลื่อนเป็นมหาอำมาตย์โท พลโทเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต รับพระราชทานเงินเดือน ๑๕,๐๐๐ บาท ซึ่งจ่ายเป็นเหรียญกษาปน์หนัก เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงให้คนรับใช้นำรถเข็นไปขนเงินจากคลังกลับคุ้ม เกือบสิบปีต่อมา เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงอุทิศที่ดินและทุนทรัพย์เพื่อสร้างวัดซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๖ ว่า "วัดบุญวาทย์วิหาร" เพียงแค่นี้คงไม่เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับราชสำนัก แต่ถ้าศึกษาลึกลงไปจะเห็นว่า เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงขอรับพระราชทานช่างหลวงจากราชสำนักและกำกับการก่อสร้างวัดนี้ พระพุทธรูปองค์ประธานจึงเป็นแบบรัตนโกสินทร์ไม่ใช่ทรงล้านนา ยิ่งไปกว่านี้ หัวหน้าช่างหลวงที่พระมงกุฏเกล้าฯ ทรงส่งมานั้น ทางฝ่ายลำปางบันทึกไว้แต่เพียงว่าชื่อ "นายจันทร์ จิตรการ" ช่างหลวงเท่านั้น จึงไม่เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์เท่าที่ควร
ผม(นายศุภกิจ) รำลึกถึงพระคุณของเจ้าบุญวาทย์ฯ ที่ทรงก่อตั้งโรงเรียนฯ ทำให้ผมได้เรียนจนจบและมีวิชาความรู้ให้ทำมาหากินมาจนทุกวันนี้ ดังนั้นผมจึงศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ดังนี้
"นายจันทร์ จิตรการ" ช่างหลวงเป็นศิษย์ใกล้ชิดของกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ราชอนุชาในรัชกาลที่ ๕ และนายช่างใหญ่ของราชสำนัก ต่อมา "นายจันทร์" ได้ตำแหน่งจนสูงสุดในรัชกาลที่ ๖ คือ เป็น "เจ้ากรมช่างมหาดเล็ก" ราชทินนามมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสตร์จิตรกร รับพระทานนามสกุล "จิตรกร" ธิดาคนหนึ่งของพระยาอนุศาสตร์จิตรกรแต่งงานกับ "นายเสมียน สุนทรเวช" มหาดเล็กคนสนิทในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้ากรมมหาดเล็ก คือ เสวกเอกพระยาบำรุงราชบริพาร บุตรคนหนึ่งของพระยาบำรุงฯ ชื่อ "นายสมัคร สุนทรเวช" เราคงพอจะจำอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถึงอสัญกรรมไปไม่กี่ปีนี้ได้กระมัง
ช่วงเวลาหลายปีที่พระยาอนุศาสน์ฯ มากำกับดูแลก่อสร้าง "วัดบุญวาทย์วิหาร" นั้น ท่านได้ถ่ายทอดวิชาช่างให้แก่คนหนุ่มลำปางไว้หลายคน แต่คนที่รับวิชาไว้ดีที่สุดและมีชื่อเสียงผลงานแผ่ไปหลายจังหวัดในล้านนา คนผู้นี้ชื่อ "นายปวน" รับพระราชทานนามสกุลว่า "สุวรรณสิงห์" เพราะวาดภาพและปั้นรูปสิงห์ทองได้สวยที่สุด พระยาอนุศาสน์ฯ เป็นผู้ร่างภาพวาดฝาผนังโบสถ์วัดบุญวาทย์ฯ แล้วให้ลูกมือ หรือผู้ช่วยช่างทำต่อปิดท้ายด้วยฝีมือท่านพระยาอนุศาสน์จิตรกร
นายปวน สุวรรณสิงห์ เป็นจิตรกรผู้วาดภาพฝาผนังโบสถ์ วัดช้างเผือก ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงสร้างด้วยทุนทรัพย์บนที่ดินผืนที่เสด็จไปทรงทำนาที่ตำบลทุ่งฝาย นอกเมืองไปราว ๑๐ กว่ากิโลเมตร ชาวบ้านยังคงเรียกว่า "วัดบ้านไร่หัวฝาย" เพราะตั้งอยู่ใกล้ต้นคลองส่งน้ำเข้านาที่เจ้าบุญวาทย์ฯ ได้บุกเบิกขึ้น ชื่อวัดเป็นทางการคือ "วัดช้างเผือก" เป็นอนุสรณ์ที่เมื่อปี ๒๔๕๓ เจ้าบุญวาทย์ฯ นำช้างเผือกในย่านทุ่งฝายน้อมเกล้าฯ ถวายต่อราชสำนัก ดังนั้นเมื่อสร้างวัดเสร็จจึงได้ชื่อวัดเป็นทางการว่า "วัดช้างเผือก" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
ชีวิตอันสุขสงบ "ติดดิน(ทำนา)" เอง เสวยอาหารพื้นเมืองของโปรดคือ ข้าวเหนียวกับแกงแคแลน(ตะกวด) และดอกข่า แต่เวลาแห่งความสุขของคนมักจะสั้น ดังนั้นเพียงปีเดียว มหาอำมาตย์โท พลโทเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๖๕ ชันษา ๖๕ ปี
ผมศึกษาเรื่องราวบั้นปลายพระชนม์ชีพของเจ้าบุญวาทย์ฯ อันน่าเศร้าแล้ว เห็นว่าสาเหตุนอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และผลประโยชน์ตั้งแต่ ๒๔๔๐ นั้นแล้ว ยังมีเหตุสำคัญอีกหลายประการ คือ
๑. ทรงมีค่าใช้จ่ายประจำที่สูง และเกินจำเป็น กล่าวคือ ทรงมีพระชายาและหม่อม(ภรรยา) รวม ๘ คน มีพระธิดากว่า ๖ องค์ ราชบุตรองค์เดียวเป็นคนสุดท้าย ประสูติจากหม่อมลำเจียก พ.ศ.๒๔๖๐ ชื่อเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ผู้ก่อตั้งสมาคมรถม้าลำปาง เคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง
๒. ทรงดำรงชีวิตประจำวันที่โอ่อ่า ทรงใช้ภาชนะถ้วยจานชามล้วนสั่งทำเป็นพิเศษจากห้างแบทแมนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีลูกค้าเป็นพระราชวงศ์ในกรุงเทพฯ พระกระยาหารเช้าที่รับรองแขกด้วยจัดเป็นแบบฝรั่ง คือ กาแฟ ขนมปัง ไข่ลวก แยม มื้อกลางวันเป็นข้าวสวยกินกับข้าวแบบคนภาคกลาง
๓. เมื่อสถานะและรายได้ถูกจำกัดลงเป็นเงินเดือน เดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ซึ่งมากพอสำหรับการใช้จ่ายสบายๆ ตามที่ควรเป็น แต่เพราะภาระ ๒ กรณีดังกล่าวมาก่อน ทำให้เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงอึดอัดลำบาก ทำนองเดียวกับเจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ แห่งเมืองแพร่ ที่มีพระชายาและหม่อมรวม ๘ คน พระธิดา และราชบุตรรวม ๑๖ องค์
เจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงพยายามเพิ่มรายได้โดยสุจริต แต่การไม่มีความรู้ และประสบการณ์ในธุรกิจการค้าจึงล้มเหลว และคงจะถูกหลอกให้ค้ำประกันเงินกู้ของขุนจำนงจินารักษ์ เป็นหนี้นับแสนบาท ทั้งทรงกู้เงินจากคลังหลวงอีกรวมแสนบาท
เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต จึงทรงลงทุนทำนาเอง อย่างน้อยก็เพียงพอในการเลี้ยงครอบครัวและบริวาร น่าเคารพที่ทรงงาน "กัดก้อนเกลือกิน" ทีเดียว