Sunday, October 22, 2017

วีรบุรุษของชาติ... น่าอนาถกลายเป็นยักษ์มาร

          ปราชญ์จีนแต่โบราณกล่าวไว้อย่างให้กำลังใจว่า  "ในวิกฤติย่อมมีโอกาส"  แต่บางกรณีกว่าจะปรากฏให้เห็นว่าเป็น "โอกาส" ได้  ก็ใช้เวลานานปีทีเดียว  ถ้าหากผมยกตัวอย่างไกลตัว  อาจพูด(เขียน) ได้ไม่ชัดแจ้ง  ผมจึงขออนุญาตเล่าเรื่องตัวเอง

           ผมเรียนมัธยมปลายแผนวิทย์คณิต  จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์  ปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)  รับราชการกระทรวงพาณิชย์ตลอดเกษียณ  ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องวรรณกรรมตำนานพงศาวดารโบราณคดีเลย  แต่ผมมีนิสัยรักการอ่านมาแต่เด็กๆ  มีวิธีแสวงหาอย่างพิสดาร  เพื่อให้ได้หนังสือมาอ่าน (รายละเอียดอยู่ในหนังสือสารคดีชีวิตเรื่อง "ครูในดวงใจ") จึงลุยอ่านหนังสือทุกประเภท  ดีไม่ดีก็อ่านหมดแหละครับ  รวมทั้งหนังสือโป๊ด้วย

           ช่วงปี ๒๕๑๕-๒๕๒๖  เกือบ ๑๒ ปีที่ผมเป็นพาณิชย์จังหวัดน่าน  สุพรรณบุรี  สมุทรปราการ และชลบุรี  เป็นช่วงชีวิตราชการที่ผมเหน็ดเหนื่อยที่สุด  ทำงานไม่รู้การหยุดเสาร์-อาทิตย์  โดยเฉพาะช่วง ๖ ปีที่อยู่ชลบุรี  คนชลบุรีรู้จักชื่อ "พาณิชย์จังหวัด" คือผมเป็นอย่างดี  ก่อนเที่ยงคืนโทร. ไปที่ห้องทำงานก็ยังเจอผม  ผมจึงได้เลื่อนเงินเดือนพิเศษ ๖ ปี ๑๒ ขั้น  จากผลงานปราบปรามพ่อค้าน้ำตาล  น้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายเกินราคา หรือกักตุน  และร่วมดำเนินคดีผู้ปลอมปนมันสำปะหลังเพื่อส่งออก เป็นข่าวหน้า ๑ อยู่หลายๆ วัน

            กระทรวงพาณิชย์จึงปูนบำเหน็จให้ผมเป็น "ผู้ตรวจการพาณิชย์เขต" ระดับ ซี ๘  ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖  อายุ ๔๒ ปี  ปกติตำแหน่ง "ผู้ตรวจฯ"  เรียกล้อกันว่า "เข้ากรุ"  คือ ใช้เก็บตัวข้าราชการใกล้เกษียณ หรือเจ็บป่วย  หรือ "สีเทาๆ"  รอการพิจารณาโทษ  แต่ผมไม่ใช่ทั้งสามประเภท  ผมยังเหลืออายุราชการ ๑๘ ปี  และมีชื่อว่าเป็น "มือปราบทุจริต"  เป็นกรรมการสอบวินัยมาตั้งแต่ ๒๕๑๘ (กระทั่งปี ๒๕๕๕ ป.ป.ช. ก็อุตส่าห์ตามคนแก่ๆ อย่างผมไปช่วยไต่สวน ฯลฯ)

            ดังนั้น การถูกส่ง "เข้ากรุ" จึงเป็นวิบากกรรมแต่ชาติปางก่อน  ไม่ใช่เพราะผมเสียหายบกพร่องแน่นอน  แล้วจะให้ผมนั่งเหงา  หลับๆ ตื่นๆ รอเกษียณอีก ๑๘ ปีข้างหน้าหรือ?   อ๋อ... ผมก็ฉวยหา "โอกาส" จาก "วิกฤติชีวิตราชการ" ที่อยู่ในกรุนี่แหละ   ผมไปเรียนขอความเมตตาจากท่านรองปลัดกระทรวงฯ (ขณะนั้น) คือ  ท่านฯ เฉลิมศักดิ์ นากสวาสดิ์  ซึ่งกำกับดูแลการพาณิชย์ภูมิภาค ว่า "ถ้ามีผู้ตรวจฯ เขตใดเกษียณ  ผมขอย้ายไปแทนเขตนั้น  คนที่มาใหม่ก็แทนเขตเดิมของผม  อ๋อ...ผมก็ได้ย้ายเปลี่ยนเขตพื้นที่ไปที่ใหม่ทุกปี  "เข้ากรุ" ๙ ปี  ย้ายไป ๙ เขตทั่วประเทศไทย

            ถามผมซีครับว่าประเทศไทย ๗๗ เมือง  ยังไม่เคยไปเมืองใดบ้าง?  ผมไปแล้วทุกเมือง  นี่ไง "โอกาสดี"  ก็ผมมีโอกาสเที่ยวฟรีโดยเงินราชการไปทั่วประเทศนี่ไง.....!  ครั้งหนึ่ง  ผมไปพักที่จังหวัดเชียงรายยุค ๓๐ กว่าปีก่อนนั้น  การท่องเที่ยวยังไม่ตื่นตัว  โรงแรมยังเป็นแบบตึกแถวอยู่ย่านการค้า  "ห้าแยก"  วันนั้น ผมเข้าห้องพักต่อจาก "ผู้ตรวจฯ" ของกรมใหญ่กรมหนึ่งซึ่งมีหน่วยงานถึงระดับอำเภอ   ผมเข้าพักโดยพนักงานคงเก็บห้องไม่เรียบร้อย  ผมเข้าไปจึงพบวรรณกรรมเขียนด้วยแป้งทาตัว (แบบเม็ดๆ) ความว่า  "ชีวิตผู้ตรวจการ  เอาโรงแรมแทนบ้าน  เอาร้านอาหารแทนครัว  เอาอีตัวแทนเมีย"

            ผมยืนนิ่งนาน  อ่านและจำได้แม่นยำ  ทั้งขำและเศร้าสะท้อนใจที่กลอนแต่งได้ "แทงใจ" แต่ผมทำได้ดีที่สุดเพียงเตือนสติตัวเองว่า... "อย่าทำอย่างกลอนท่อนท้ายนะครับ!"

            ทุกครั้งที่ผมไปเชียงใหม่  ผมก็นั่งสามล้อถีบไปย่าย "ฟ้าฮ่าม" (คือฟ้าอร่ามในภาษาไทยกลาง) เยี่ยมคารวะท่านอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์  เศรษฐีนักการเงินของภาคเหนือ (บิดาของคุณธารินทร์ อดีต รมว.คลัง)  ผมเคยรับราชการที่เชียงใหม่  ท่านรู้ว่าผมสนใจเรื่องพงศาวดาร  ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ  จึงมีเมตตาอนุญาตให้ผมไปขอรับความรู้ได้เสมอ

            เผอิญช่วงหนึ่งท่านถามผมว่า "คุณเป็นชาวลำปาง  รู้ไหมว่าศาลบูชามหายักขณ์เจ้าอยู่ที่ไหน?"  ผมเพิ่งนึกได้ถึงความทรงจำตอนเด็กๆ  จึงตอบว่า "อยู่ที่บ้านศรีล้อมครับ"  ท่านขอให้ผมไปหาดูว่าศาลตั้งอยู่ ณ จุดใดแน่ และมีสภาพอย่างไร?  ผมทราบว่าคุณนายจรรยา  ภรรยาของท่านอาจารย์ไกรศรี  เป็นชาวลำปาง (น้องชายคนเล็กของคุณนายจรรยา ชื่อ พลตรีนายแพทย์สุทัศน์      ศรีอาภรณ์  อดีตศัลยแพทย์ รพ. พระมงกุฏเกล้าฯ  เป็นทั้งเพื่อนบ้านและสนิทกับผม  เพราะเป็น "หนอนหนังสือ" โดยไม่เคยเรียนด้วยกัน)

            ผมได้ฟังอาจารย์ไกรศรีสนใจพูดถึงชื่อ "มหายักขณ์เจ้า"  ทำให้ความทรงจำในวัยเด็กเมื่อกว่า ๒๐ ปีแล้ว  กลับคืนมา และปรารภถามท่านว่า "มหายักขณ์" เป็นคนสมัยใดหรือครับ?  ท่านอาจารย์เห็นว่าผมไม่รู้ปูมประวัติ "มหายักขณ์เจ้า"  จึงหยิบหนังสือพงศาวดารเล่มเขื่องให้ผมอ่าน  ผมยืมไปอ่านที่โรงแรม  ท่านบอกให้นำคืนท่านได้ที่บริษัทไทยเงินทุนฯ  ซึ่งท่านเป็นประธานฯ (คุณอานนท์ ณ ลำพูน เป็นกรรมการผู้จัดการ) ซึ่งอยู่ใกล้โรงแรมที่ผมพัก

             ผมอ่านหนังสือพงศาวดาร  ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ย่านวังบูรพา  ผมคิดว่ากลับกรุงเทพจะไปหาซื้อ  แต่ผมเป็นคน "ใจเย็น" ผ่านมาราว ๓๐ ปี  ผมยังไม่ได้(ฤกษ์)ไปซื้อเลย  แต่ผมจำสาระสำคัญได้แม่นยำน่ะครับ  สรุปคือ  ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  หลังสงครามเก้าทัพแล้ว  ทรงมีพระราชดำริว่า เชียงใหม่มีความสำคัญที่สุดในการป้องกันรักษาแคว้นล้านนา  จึงโปรดให้พญากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง  ซึ่งมีความสามารถในการทัพศึก  อพยพผู้คนไปอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่  ซึ่งขณะนั้นแทบเป็นเมืองร้างเพราะผู้คนหนีภัยศึกพม่า  จริงดังที่พระราชดำริ  คือไม่นาน  กองทัพพม่าก็ยกมาตีเชียงใหม่  ซึ่งเพิ่งเริ่มฟื้นฟูผู้คนและอาวุธยุทโธปกรณ์ยังไม่พร้อม  พญากาวิละจึงทรงรีบส่งคนนำสารไปกราบบังคมทูลขอกองทัพจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปช่วยตีกระหนาบทัพพม่า

             สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ทรงมีพระราชดำรัสสั่งว่า  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชา  ทรงเป็นเขยล้านนา(ด้วย... เจ้าหญิงศรีอโนชาพระราชชายาในวังหน้า ทรงเป็นพระขนิษฐาของพญากาวิละ)  โปรดให้เป็นแม่ทัพใหญ่  และกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ทรงเป็นแม่ทัพหน้า  เร่งยกทัพขึ้นไปช่วยตีทัพพม่าที่ยกมารุกรานเชียงใหม่    พญากาวิละ  เชื้อพระวงศ์ทิพย์ช้างจากนครลำปาง  ทรงใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันไว้ให้เหนียวแน่น  ถ่วงเวลารอกองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ มาตีกระหนาบทัพพม่า  โดยนัดหมายไว้แล้วว่า  เมื่อใดทัพกรุงเทพฯ มาตีพม่าที่ล้อมเชียงใหม่  พญากาวิละก็จะนำทหารเปิดประตูเมืองออกตีกระทบออกมา (ทำนองจะเอาทหารพม่าเป็น "ไส้แซนวิช")

             กองทัพจากกรุงเทพฯ ยกมาถึงเขตเมืองเถิน  แต่แม่ทัพใหญ่  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรโรคนิ่วเจ็บปวดทรมาน  จึงให้พักทัพอยู่หลายวัน  อาการประชวรก็ไม่คลายลง   ด้านพญา    กาวิละทรงเห็นผิดสังเกต  ว่าระยะเวลาที่กองทัพกรุงเทพฯ ควรมาถึงเชียงใหม่แล้ว  มีเหตุขัดข้องประการใดหรือจึงยังมาไม่ถึง  จึงทรงสั่งให้นายทหารคนสนิทชื่อว่า "มหายักขณ์"  นำคนกล้า ๓๐ คน ลอบฝ่าทัพพม่าออกไปตามหาทัพหลวงของไทย   "มหายักขณ์" พาทหารคู่ใจทั้ง ๓๐ คนเล็ดรอดฝ่าแนวทัพพม่าออกไปได้ง่ายดาย (เพราะพม่าอาจคาดไม่ถึง) แต่ท่านคงเป็นคนมีอารมณ์ขัน  จึงให้คนเขียนป้ายเยาะเย้ยท้าทายพม่าไว้ว่า

             "กูชื่อ มหายักขณ์  จะกลับเข้าเมืองตรงนี้อีก  ถ้าเก่งจริงก็มารอจับกูอยู่ที่นี้เถิด"

             กรมพระราชวังบวรฯ  ทรงทราบสถานการณ์สู้รบตามที่ "มหายักขณ์" กราบทูลแล้ว  ทรงเห็นว่ารอช้าไม่ได้  จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นเทพพลภักดิ์  เป็นแม่ทัพใหญ่  และนายทหารอาวุโสคนหนึ่งคุมพล ๓,๐๐๐ นาย เป็นทัพหน้า  โดย "มหายักขณ์" ผู้ชำนาญทางนำลัดไปทางเมืองลี้  ผ่านลำพูนเข้าสู่เชียงใหม่ตรงจุดใกล้ๆ กับที่ปักป้ายท้าทายพม่าไว้

             ฝ่ายพม่าได้ทราบความที่เยาะเย้ยท้าทายไว้ก็ฉุนเฉียว  จัดเตรียมทหารราว ๓๐๐ คน  คอยดักอยู่  กะว่าถ้า   "มหายักขณ์" กับทหาร ๓๐ คนกลับมาจริง  ก็จะ "รุมบ้อม" ให้เละไปเลย... ...ที่ไหนได้  "มหายักขณ์" กลับมาพร้อมกับทหารสามพันคน  ใครจะเละเทะคิดเอาเอง

             ผลของสงครามปรากฏรู้ว่า  ทัพพม่าแตกหนีกลับไปไม่เป็นขบวน  นับเป็นครั้งสุดท้ายที่กองทัพพม่าสามารถล้อมเมืองเชียงใหม่ได้   แต่ "ควันหลง" ที่เล่าลือถึงปฏิภาณไหวพริบของ      "มหายักขณ์"  หลอกพม่ายังเล่าลือไปต่างๆ  จนถึงกับว่าท่านเป็นผู้มีเวทมนต์  สามารถเสกเป่าให้ทหารพม่าเห็นทหาร ๓๐ คนของท่านกลายเป็น "สามพันคน" เกิดเป็นสมญานามว่า "มหายักขณ์สามพันตน"

             เมื่อ "มหายักขณ์" ถึงแก่กรรมแล้ว  ญาติวงศ์ได้สร้างศาลบูชาไว้ที่ภูมิลำเนาลำปาง ย่าน "บ้านศรีล้อม" ตำบลเวียงเหนือ ที่ผมได้รับรู้ตอนเด็กๆ ว่าชาวบ้านปงสนุกเรียกท่านว่า "มหายักขณ์เจ้า" เป็นผีวีรบุรุษที่สำคัญที่สุดของ "เค้าผี" โคตรตระกูลทางแม่ของผม  แต่เพราะผมเป็น "คนใจเย็น" จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยไปดู "ศาลบูชามหายักขณ์เจ้า"

             กระทั่งต้นปี ๒๕๔๓  ผมนึกถึงท่านขึ้นมาได้  จึงวานเพื่อนชื่อ "ครูประเสริฐ(แสนตาวอก) ชาวบ้านศรีล้อม  พาผมไปไหว้ขอพรที่ศาลมหายักขณ์เจ้า  ครูประเสริฐพาผมลิ่วไปที่บริเวณวัดศรีล้อม ซึ่งหน้าโบสถ์มีการวางตั้งรูปปูนปั้นเป็นรูปยักษ์(มาร)สีเขียว  แบบยักษ์ในเทพนิยายรามเกียรติ์   ผมบอกว่า นี่ไม่ใช่ "มหายักขณ์เจ้า" หรือ "มหายักขณ์สามพันตน" ให้ครูประเสริฐชาวบ้านศรีล้อมฟังอีกด้วย

              ครูประเสริฐทึ่งมากที่ได้ฟังรายละเอียดในเกียรติประวัติของ "มหายักขณ์สามพันตน" แต่เขาก็ไม่เคยเห็น "ศาลบูชามหายักขณ์เจ้า"  เพียงจำได้แน่นอนว่าในประเพณี "ฟ้อนผี" ของชาวบ้านศรีล้อมมีการอัญเชิญ "มหายักขณ์เจ้า"  มาลง(ทรง) เช่นเดียวกับ "เค้าผี" บ้านปงสนุก ถิ่นกำเนิดของผมด้วย   เราปรารภด้วยความเศร้าใจว่า  ถ้าสมมุติว่าลูกหลานของใครเป็น "วีรบุรุษ" แต่ทางราชการบ้านเมืองกลับสร้าง "ศาลเพียงตา" ให้คนรู้เห็นเช่น "ผีไม่มีญาติ" คอยรับของเซ่นไหว้เป็นเนื้อสัตว์สดๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร?

              ผมจึงหวังว่า  ทางผู้รู้และหน่วยงานผู้รับผิดชอบวัฒนธรรมของเมืองลำปาง  จะได้พิจารณาแก้ไขให้เหมาะควรต่อไป