Sunday, October 22, 2017

ชื่อโบราณสถาน ย่านตำบลที่ใช้ผิดเพี้ยน

         ผมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทางราชการของลำปางในอดีตได้เขียนชื่อประตูม่า(ห์) เพี้ยนเป็น "ประตูม้า"  ซึ่งทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากความเป็นจริงในยุคโบราณสมัย "เวียงละกอน" (พื้นที่เดียวกับตำบลเวียงเหนือในปัจจุบัน)  เพราะนอกจากประตูม่า(ห์) มีสุสานโบราณอยู่ติดๆ กันนั่นเอง พอเขียนชื่อให้ถูกต้องเป็น "ประตูม่าห์" แปลว่า "ประตูผี" ก็ปานเทพอุ้มสมรับกันพอเหมาะทีเดียว

         ชื่อตำบลสถานที่ในลำปางที่ได้เขียนเพี้ยนๆ ไว้ในอดีต  ก็เพราะทางราชการ "นั่งเทียนเขียน" ไม่คำนึงถึง หรือสืบค้นหาประวัติความเป็นมาของสถานที่นั้นๆ  ก่อนชื่อที่เขียนไว้ผิด  จึงเป็นอนุสรณ์ความขายหน้าประจานไว้หลายสิบปีแล้ว  ชาวลำปางและผู้รู้ภาษาหนังสือหลายๆ ท่านก็คงทราบอยู่ว่าชื่อเหล่านี้เขียนไม่ถูก  แต่เพราะไม่มีโอกาส หรือศักยภาพที่จะชี้แจงแสดงเหตุผลต่อสาธารณะ  จึงเก็บงำความอึดอัดใจตลอดมา

          เผอิญเมื่อบ่ายวันพุธที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘  เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลลำปาง  จัดสัมมนาวิชาการเชิญ  ศาสตราจารย์สรัสวดี และรองศาสตราจารย์สมโชติ​ อ๋องสกุล  จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มาแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับตำนาน หรือประวัติศาสตร์ลำปาง และวีรสตรีชาวลำปางในพงศาวดาร   ผมอัศจรรย์ใจมากที่เห็นผู้ว่าฯ  ธานินทร์ สุภาแสน  นอกจากทำหน้าที่ประธานเปิดงานแล้ว  ยังนั่งฟังอย่างสนใจตลอด ๓ ชั่วโมงจนปิดงาน  แต่ที่ผมยินดียิ่งนัก  คือ  ได้เห็นชาวลำปางอุตส่าห์เดินขึ้นบันไดแทนลิฟท์ที่เสีย  ขึ้นไปนั่งเต็ม ๑๕๐ ที่นั่งของห้องประชุมบนตึกชั้น ๔  กว่าครึ่งจำนวนเป็นผู้สูงอายุ  บางคนบอกว่าอายุกว่า ๘๐ แล้ว  ต้องขอให้นักศึกษาที่มาช่วยงานพากันพยุงคุณยายขึ้นไปร่วมสัมมนาจนได้

           ผมโชคดีที่มีศักยภาพ และโอกาสดี  โดยวิทยากรได้ขอให้ผมเป็นผู้กล่าวสรุป  และปิดการสัมมนา  ผมจึงพูดถึงชื่อถนน  ตำบล  สถานที่ต่างๆ ที่เขียนผิดไปจากตำนานความเป็นมาดังเช่น  ชื่อ "ประตูม่าห์" ที่เขียนไว้ในบทก่อน  ชื่อถัดมาคือ  "ตรอกปงพระเนตรช้าง"  ถ้าเดินจากสี่แยกหน้าไปรษณีย์ลำปาง  ลงไปตามตลิ่งของถนนที่มุ่งไปยังสามแยกของถนนตลาดเก่า หรือตลาดจีน ที่ทางการท่องเที่ยวฯ  จัดฟื้นฟูเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  เรียกว่า  ย่าน  "กาดกองต้า" (ผมเขียนตามป้ายชื่อ  ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีเขียนคำว่า "ท่า" เป็น "ต้า" ตามเสียงพูด  ผมเห็นด้วยกับการเขียนชื่อ "วัดท่ามะโอ" แต่อ่านออกเสียงแบบล้านนาว่า "วัดต้ามะโอ")

            สามแยกตรงนี้มีบ้าน "สินานนท์"  ของตระกูลเศรษฐีรุ่นเก่า  ข้างบ้านคือ "ตรอกปงพระเนตรช้าง"

            เมื่อยังหนุ่มน้อยอยู่ลำปาง  ผมผ่านไปผ่านมาแถวนั้นก็คุ้นตากับชื่อ "ตรอกปงพระเนตรช้าง" ไม่รู้สึกผิดปกติอะไร  พออินทรีย์แก่กล้ารู้ภาษาและวัฒนธรรมมากขึ้น  ผมจึงสะดุดตาว่าไม่ถูกต้อง  เพราะช้างที่ไหนจะใช้ราชาศัพท์เรียกตาว่า "พระเนตร" ละครับ  อ๋อ... นึกออกแล้ว  คำที่ถูกต้องก็คือ "เพนียดช้าง"  แปลว่า ที่พำนักกักขังช้าง  ไม่ใช้คำว่า "คอก"  ดังที่ใช้กับสัตว์อื่นๆ เช่น วัว ควาย ม้า ฯลฯ  คงเพราะช้างมีศักดิ์สูงกว่าสัตว์อื่นๆ   เผอิญในอดีตคนไม่รู้ภาษาแต่มีอำนาจ  ได้ยินคำว่า "เพนียดช้าง" ก็เขียนเพี้ยนเป็น "พระเนตรช้าง" ดังนี้แล

             เราคงรออีกไม่นานเทศบาลนครลำปาง  ก็ควรจัดทำป้ายใหม่เป็นชื่อที่เขียนถูกต้องเป็น "ตรอกปงเพนียดช้าง" มาเปลี่ยนป้ายอัปยศเดิมครับ

             มีคนถามผมว่า  คำว่า "ปง" คือ "พง"  ในภาษากลาง  แต่คนล้านนาออกเสียง พ. เป็น ป. ใช่ไหม?  ตรงชื่อนี้ตอบว่า  ไม่ใช่ครับ  เพราะคำว่า "ปง" ที่ชื่อตรอก "ปงเพนียดช้าง" เป็นศัพท์ภาษาล้านนาที่มี ป. ปลา เป็นพยัญชนะต้น  มีเก็บความหมายไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ "ปง" หมายถึง  ที่ลุ่มมีแอ่งน้ำขัง  หรือแอ่งที่ชุ่มน้ำอยู่ตลอด  นี่ย่อมตรงกับลักษณะการใช้ประโยชน์ของ "ปงเพนียดช้าง" คือ ใช้เป็นแอ่งน้ำสำหรับช้างที่อยู่ในเพนียดนั่นเอง

             คำว่า "ปง" ยังคงใช้อีกหลายย่าน  ตำบลของลำปาง  เช่น  ปงแสนทอง  ปงยางคก  และที่เก่าแก่มากกว่า ๕๐๐ ปี คือ "ปงสนุก" บ้านเกิดของโคตรเหง้าเหล่ากอของแม่ผม




             รองศาสตราจารย์ ดร. วรลัญจก์ บุณยะสุรัตน์ (ขณะนี้ ๒๕๕๘ คณบดี คณะวิจิตรศิลป์ ม.ช.) เคยพาคณะมาศึกษาวิจัยและบูรณะวัดปงสนุก  ระบุว่า "เครื่องไม้" ในวิหารของวัดปงสนุกเหนือ เป็นศิลปะล้านนายุคราชวงศ์มังราย  ที่สวยสมบูรณ์แบบที่สุดในล้านนา   เมื่อผมยังเด็กๆ  เดินตามคุณยายมาวัดปงสนุก  ยังจำได้ว่า  ที่เชิงบันไดเข้าวัดปงสนุกใต้  มีแอ่งน้ำอยู่ใต้ต้นก้ามปู  ซึ่งยังยืนต้นมานับร้อยปี  แต่บัดนี้ถนนและพื้นที่นอกวัดถูกพัฒนาถมสูงขึ้น  จนแอ่งน้ำ หรือ "ปง" แห้งหายไปหมดแล้ว  แต่ดีที่ชื่อ "ปงสนุก" ตามตำนานเก่าแก่กว่า ๕๐๐ ปี  ยังคงอยู่  ผมจะศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดนำเสนอต่อไป

             ถนนท่าคราวน้อย  ที่เราชาวลำปางเห็นชินตา  แต่ผมรำคาญตา  เพราะก่อนมีการเขียนป้ายชื่อถนนท่าคราวน้อย  ผมได้ยินชาวลำปางเรียกชื่อย่านนั้นว่า "ท่าข้าวน้อย"  ชัดๆ หูว่า "ท่าข้าว" + "น้อย"  มาตั้งแต่ผมยังเด็กๆ  ครั้งนั้นยังไม่มีป้ายชื่อถนน  ครั้นผมไปอยู่กรุงเทพฯ นานปี  กลับมาเยี่ยมญาติที่ลำปาง  ครั้งผมมารับราชการที่เชียงใหม่  จึงได้เห็นป้ายชื่อ "ถนนท่าคราวน้อย"  ผมก็ไปบ่นให้คุณเจน ธีระสวัสดิ์ (มีศักดิ์เป็นอาสะใภ้ของ ผอ. โรงเรียนพินิจวิทยา ลำปาง)  เจ้เจนเป็นลูกพ่อค้ารุ่นเก่าในย่านตลาดจีน (ตลาดเก่า/ กาดกองต้า) คุณเจนเคยมีร้านอยู่ติดกับร้านของเตี่ยผม  และมีเมตตาแก่ผมเสมือนญาติ  ด้วยเห็นผมกำพร้าพ่อตั้งแต่ยังอายุ ๑๓ ปี  ผมจึงได้รับข้อมูลจากคุณเจนมาดังนี้

             "ท่าข้าวน้อย"  เป็นย่านท่าริมน้ำแม่วัง  ตั้งขึ้นประมาณยุคต้นรัชกาลที่ ๖  เมื่อมีการเดินรถไฟขึ้นมาถึงสถานีนครลำปาง  จึงมีการขนส่งข้าวสารจากทางด้านเหนือของแม่น้ำวัง  และจากจังหวัดเชียงรายมาเก็บไว้ในโกดัง  ข้าวสารย่านสบตุ๋ยเพื่อรอขนขึ้นตู้สินค้าของรถไฟนำลงไปให้ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในกรุงเทพฯ 

              สมัยนั้น  ถนนพหลโยธินยังไม่สร้างการขนส่งข้าวจากพะเยา  เชียงราย  แหล่งผลิตใหญ่มายังโกดังที่ "สบตุ๋ย" ที่ตั้งสถานีรถไฟ  จึงขนลงมาทางแม่น้ำวัง  และมีปริมาณสินค้ามากขึ้นๆ  ถ้าขนมาขึ้นท่าปกติที่ย่านตลาดจีน  ก็รบกวนการทำมาค้าขายของชาวบ้าน  ที่ตั้งวางหาบกระบุงขายผัก  และผลผลิตการเกษตร  ดีไม่ดีจับกัง หรือกรรมกรแบกข้าวอาจจะซุ่มซ่ามทำกระสอบข้าว (๑๐๐ ก.ก.) หล่นใส่ชาวบ้าน... ก็เป็นเรื่อง

              อย่ากระนั้นเลย  บรรดาพ่อค้าข้าวและผู้เกี่ยวข้องจึงหาสถานที่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำวัง  ซึ่งต้องมีแอ่งน้ำลึกตลอดปี  และใกล้สถานีรถไฟสบตุ๋ย  จัดตั้งขึ้นเป็น "ท่าข้าว" หรือท่าสำหรับขนส่งข้าว  แต่แรกคนคงเรียกว่า "ท่าข้าว" เฉยๆ  แต่คงเกิดความสับสนกับท่าเรือดั้งเดิมที่ย่านตลาดจีน  จึงกำหนดชื่อใหม่ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ว่า "ท่าข้าวน้อย"  คำว่า "น้อย" มาจากไหน?  มาจากแบบธรรมเนียมที่พ่อค้าจีนในย่านเยาวราช  เรียกตลาดที่เกิดขึ้นภายหลังอยู่ข้างเคียงตลาด(เก่า) เยาวราชว่า "ตลาดน้อย"

              ดังนั้น "ท่าข้าวน้อย"  จึงมีประวัติความเป็นมาดังที่ผมรับฟังคำอธิบายจากคุณ(เจ้)เจน   ธีระสวัสดิ์  ดังนี้แล