ผมเกิดที่บ้านประตูเวียง ส่วนหนึ่งของบ้านปงสนุก บุพชนทางสายแม่เป็นศรัทธา วัดปงสนุกมาเก่าแก่หลายชั่วคน แม้ปู่ หรืออากงของผมจะเป็นจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากอำเภอเถ่งไฮ้ เมืองซัวเถาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ มาตั้งร้านขายสรรพสินค้าอยู่ย่านตลาดจีน(ตลาดเก่า) ด้านริมแม่น้ำวัง และปู่ได้สัมปทานกิจการต้มเหล้า ซึ่งโรงงาน หรือโรงเหล้าตั้งอยู่ย่านบ้านปงสนุก ริมฝั่งน้ำวังตรงข้ามย่านตลาดเก่า ย่าของผมเป็นชาวบ้านปงสนุก ดังนั้น โคตรเหง้าของผมเป็น "ชาวปงสนุก" ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง มาเก่าแก่แน่นอน ผมจึงสมควรจงรักต่อแผ่นดินเกิด เมื่อผมพบเห็น หรือเชื่อว่ามีสิ่งใดในเมืองลำปางผิดเพี้ยนไปจากความน่าจะเป็น ผมก็ขออนุญาตทักท้วงเสนอแนะ เพื่อให้ชาวลำปางทั้งหลายพิจารณาแก้ไขต่อไป
ผมจำกัดเฉพาะวงศิลปวัฒนธรรม ตำนานโบราณคดี ไม่เกี่ยวกับการเมืองและผลประโยชน์ของใครเป็นส่วนตัว
ถ้ามีใครถามว่าผมมีศักยภาพอะไรจึงกล้าวิจารณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ตำนานโบราณคดี? อ๋อ...ก็ไม่มีสิครับ ผมเรียนจบชั้นประถมจากโรงเรียนพินิจวิทยา ชั้นมัธยมจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ๓ ปี ก่อนจะไปเรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รับราชการกระทรวงพาณิชย์ ๓๐ ปี ไม่มีประสบการณ์ความรู้ด้านวัฒนธรรม
แต่เรื่องของเมืองลำปาง ไม่ต้องใช้คุณวุฒิอะไร อาศัยความรักบ้านเกิดมาขับเคลื่อน ความกล้าคิดและแสดงออกต่อสาธารณะ ผมจึงเขียนวิจารณ์และเสนอแนะมาให้ท่านทั้งหลายอ่านและพิจารณาต่อไป กล่าวคือ ชื่อประตูม้า หรือประตูม่า?
ตั้งแต่เด็กเล็กวิ่งอยู่ย่าน "ประตูเวียง" ใกล้โรงฆ่าสัตว์ ผมฟังใครๆ พูดถึงชื่อประตูด้านสุดทิศตะวันออกของ "เวียงละกอน" (ซึ่งทางราชการให้ชื่อว่า ตำบลเวียงเหนือ) นั้นว่า "ประตูม่า" เสียง "ม่า" ชัดเจนไม่ใช่ "ม้า" เด็ดขาด คนลำปางและชาวล้านนาออกเสียง "ม่าม้า" ตามมาตรฐานภาษาไทยกลาง
"ประตูม่า" อยู่ห่างประตูเวียง ย่านที่ผมอยู่ไปทางตะวันออกไม่เกิน ๑ กิโลเมตร ผมเป็นเด็กซนจึงชวนเพื่อนเล่นเดินลุยไปถึง "ประตูม่า" ตั้งแต่ผมเรียนชั้นประถม ได้เห็นว่านอกประตูม่ามีสุสานโบราณ คือ สุสาน "ไตรลักษณ์" ซึ่งหลวงพ่อเกษม เขมโก มาพำนักและริเริ่มพัฒนา
ราวปี ๒๕๐๐-๒๕๐๕ มีการขยายเขตเทศบาลออกไป และจัดทำป้ายบอกชื่อถนน ตรอก ซอย ปรากฏว่า ป้ายที่ทางราชการนำไปติดตั้งระบุชื่อ "ประตูม้า" ต่อมาทางเทศบาลให้ปั้นรูปม้าสีขาว รูปทรงน่าเกลียดไปตั้งแหมะไว้ปากประตูม่า ช่วงนั้นมี "ผู้รู้" ชาวลำปางหลายๆ ท่านไม่เห็นด้วยกับการเขียนชื่อ "ประตูม่า" เป็น "ประตูม้า" มีบางคนเขียนทักท้วงไปลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สมัยนั้นมี ๒ ฉบับ คือ "ไทยลานนา" โดยผู้นำคือ ครู(หวัง) วิทย์ ว่องวทัญญู กับคุณพยุง อินทรครรชิต อีกฉบับโดย "หญิงเหล็ก" ชื่อ เล็ก พิชญกุล (มารดาของคุณธรรมรักษ์) ผู้เขียนบทความทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่าการเรียก หรือเขียนว่า "ประตูม้า" นั้นไม่ถูกแน่ ชื่อที่ถูกออกเสียงและเขียนว่า "ประตูม่า"
ท่านแรกให้เหตุผลทำนองว่า... คำ "ม่า" ควรกร่อนมาจากคำว่า "พม่า" เพราะครั้งโบราณกองทหารพม่าคงจะยกเข้าตีทางประตูเมืองด้านนี้ แต่คงตีไม่สำเร็จสูญเสียขุนพล ๒๐ นาย จึงนำศพพวกพม่าของตนไปฝัง สร้างสถูปเจดีย์ครอบไว้ที่วัดถัดจากประตูม่าออกไปไม่ไกล รู้จักกันดีในนาม "วัดเจดีย์ซาวหลัง" (คือเจดีย์ยี่สิบองค์) อีกท่านมีเหตุผลต่างเฉพาะชื่อ "ม่า" ไม่ได้กร่อนจากคำว่าพม่าเพราะชาวล้านนาไม่เรียก "พม่า" แต่เรียกชาวพม่า "ม่าน" ดังนั้นคำว่า "ม่า" ชื่อประตูควรกร่อนจากคำว่า "ม่าน"
ผมคิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่บางครั้งไม่เห็นด้วย หรือรู้สึกว่า "เรื่องราวที่กล่าวๆ ถึงอยู่นั้นไม่น่าถูกต้อง" แต่เราไม่มีข้อมูลความรู้มากพอจะแสดงเหตุผลคัดค้านโต้แย้ง... ผมก็หัวอกเดียวกันนั่นเอง จนหลายปีผ่านไป ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำกิจกรรมในชุมนุมวรรณศิลป์ ทำให้คลุกคลีกับเพื่อนนักศึกษาที่สนใจจริงจังด้านภาษา หนังสือ ผมทุ่มเททำกิจกรรมถึง ๓ ปี ทำให้สอบตก จึงเรียนจบช้ากว่าเวลาปกติ ๒ ปี แต่เพราะกิจกรรมทำให้ผมได้ไปรับ "สะเก็ดความรู้" จากผู้ทรงภูมิปัญญาระดับชาติ ระดับ "ราชบัณฑิต" เช่น ผม่ได้อ่านตำราหลักนิรุกติศาสตร์ไทย เขียนโดย ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน รักษาการนายกราชบัณฑิตสถาน ท่านเคยใช้นามปากกาว่า "เสฐียรโกเศศ" เรียบเรียงหนังสือพุทธนิยายร่วมกับพระสารประเสริฐ นามปากกาว่า "นาคะประทีบ" ที่นักเรียนมัธยมของไทยใช้เรียนในชั้นมัธยม คือ เรื่อง "กามนิต"
หลักวิชานิรุกติศาสตร์ไทยกล่าวว่า คำที่จะกร่อนออกจาก "คำเต็ม" นั้นต้องเป็นคำที่
๑. มีพื้นเสียงสระเสียงสั้น หรือคำที่ถูกการันต์
๒. ต้องไม่ใช่ตัวสะกดหลัก
ผมจึงได้เหตุผลทางวิชาการพิสูจน์ได้แล้วว่าชื่อ "ประตูม่า" ไม่ได้กร่อนจากคำว่า "ม่าน" ส่วนคำว่า "พม่า" ก็ตกม้าตายตั้งแต่ผมอยู่ลำปางแล้ว
แต่... ชื่อ "ประตูม่า" มาจากอะไร? มีความหมายอย่างไร? ผมยังควานไม่พบอีกหลายปีจนกระทั่งผมเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ ดร. ชัย กาญจนาคม แนะนำให้ผมไปทำงานเป็นประจำแผนก กองวิชาการ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นอกจากงานปกติแล้ว คุณอารักษ์ พิทักษ์กุล ผู้จัดการโรงพิมพ์ออมสิน และเป็นบรรณาธิการวารสารรายเดือน "ออมสินสาร" ทราบว่าผมเคยเป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์ และนักเขียนสมัครเล่น จึงขอให้ผมเขียนสารคดีลงพิมพ์ด้วย
ประมาณปี ๒๕๑๒ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ถึงแก่อนิจกรรม เผอิญก่อนเรียนจบ ผมได้ทำงานกับบริษัทศึกษิตสยาม ของอาจารย์สุลักษณ ศิวรักษ์ ท่านใช้ให้ผมนำเอกสารหนังสือไปส่งต่อท่านเจ้าคุณฯ นับสิบครั้ง อาจารย์สุลักษณ์ จัดทำหนังสือที่ระลึกในงานรับพระราชทานเพลิงจุดเผาศพครั้งนั้น ได้บอกให้ผมเขียนรำลึกถึงท่านเจ้าคุณฯ ในทัศนะของผมเอง แม้ผมจะภาคภูมิใจมากนัก แต่ความหนักใจมีมากพอๆ กัน ผมใช้เวลาร่วมเดือนจึงเขียนต้นฉบับเรื่อง "ศิษย์นอกห้อง" เสร็จและได้ลงพิมพ์ในหนังสืออันทรงเกียรตินั้น
ผมต้องเกาะ "พจนานุกรมไทย" เป็นที่พึ่ง เพื่อไม่ให้ "หลุด" เขียนผิดๆ ในโอกาสสำคัญยิ่งนี้ ผมเชื่อว่าด้วยความตั้งใจทำกุศล จึงได้อาศัยบารมีของท่านเจ้าคุณฯ ดลใจให้ผมเปิดไปพบคำศัพท์ในพจนานุกรมคำหนึ่งซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งต่อวิถี การสืบหาความหมายของชื่อ "ประตูม่า" ที่ลำปาง ผมเปิดพบคำว่า มาห, ม่าห์ : น. ผี ปีศาจ อมนุษย์
ถ้าอยู่ลำพังที่บ้าน ผมคงร้องตะโกน "ไชโยๆ พบแล้วๆ!" ทำนองที่นักปราชญ์โบราณร้องตะโกน "ยูเรก้าๆ!" เมื่อค้นพบวิธีคำนวณหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุจนลืมตัววิ่งโทงๆ พลางร้องตะโกนพลาง
พบแล้วซีครับว่าชื่อปริศนาของประตูนี้ เขียนให้ถูกหลักภาษาไทยก็คือ "ประตูม่าห์" หมายถึง "ประตูผี" ตรงๆ เพราะนอกประตูม่าห์ มีป่าช้าเก่าแก่เป็นหลักฐาน ดังที่หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้มาพำนักและพัฒนาเป็น "สุสานไตรลักษณ์" ดังเช่นปัจจุบัน
ผมได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าผู้มีอำนาจรับผิดชอบต่อชื่อประตูเมืองโบราณยังไม่คิดแก้ไขให้ถูกต้องละก็... เวรกรรมสิครับ ผมแก่เกือบ ๗๕ ปีแล้ว ทำอะไรมากกว่าบ่น ย่อมไม่ได้หรอครับ