Saturday, October 21, 2017

ชื่อโบราณสถาน ย่านตำบลที่ใช้ผิดเพี้ยน

        เมื่อเกือบ ๗๐ ปีก่อน(นับย้อนจาก ๒๕๕๘) ผมเรียนชั้นประถมอยู่ย่านตลาดในสังคมชาวจีน  แต่ช่วงปิดเทอมผมถูกส่งข้ามฟากไปอยู่ชานเมืองที่ "บ้านปงสนุก" ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของโคตรเหง้าของแม่ผมเป็น "คนเมือง" แท้ๆ  ทั้งสายเลือดและวิถีชีวิต  ซึ่งขณะนั้นกระแสไฟฟ้ายังใช้ในวงจำกัดเฉพาะเขตเทศบาลฯ  คือฝั่งในเวียง  ส่วนอีกฟากแม่น้ำคือ พื้นที่ตำบลเวียงเหนือ  ซึ่งบ้านปงสนุกอยู่พื้นที่นี้  อยู่นอกเขตเทศบาลไม่มีไฟฟ้าใช้  ใช้ตะเกียงแทน

        ตลอดช่วงปิดเทอมใหญ่ ๒ เดือนเศษ  ผมอยู่บ้านป้า  พี่สาวแท้ๆ ของแม่ผม ป้ารักผมเหมือนลูกเพราะป้าไม่มีลูกของตัวเอง  ดังนั้น ป้าจึงไม่รู้สึกฉุนรำคาญต่อการซน หรือคำซักถามของหลานชาย  ส่วนแม่ผมมีลูกชายหลายคน  และยังทำมาค้าขายในตลาดตั้งแต่เช้ายันค่ำ  จึงเป็นธรรมดาที่จะมีความอดทนน้อยต่อความซนเหลือหลายของผม  การเนรเทศผมไปอยู่ชั่วคราวกับป้าก็เพื่อให้ผมพ้จาก "วงสวิง" ที่แม่อาจจะเหวี่ยงไม้เรียวมาที่ก้นผมน่ะครับ

        "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"  ฉันใด  ผมก็ได้โอกาสดีฉันนั้น  เพราะสายตระกูลทางแม่ผมเป็น "เค้าผี" (ชาวล้านนาออกเสียงว่า "เก๊าผี") คือ  เป็นศูนย์รวมในการสักการะบูชา หรือเซ่นสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษตามแบบแผนพิธีกรรมที่ได้ทำกันต่อเนื่องมาแต่โบราณกาลก่อนชาวล้านนาจะเป็น "พุทธมามก" เพราะไม่มีพิธีสงฆ์มาเกี่ยวด้วย   บ้านของป้ามีพื้นที่ราว ๑ ไร่  ตัวเรือนไม้ใต้ถุนสูงปลูกกลางที่ดินซึ่งลาดลงไปทางท้ายบ้าน (ศัพท์ล้านนาเรียก "ก้นตู" เรียกด้านหลังว่า "ปากตู"  เพี้ยนเป็นปักตู ประตู) ด้านก้นตูปลูกสมุนไพร ตัวยาตำรับของตระกูลลุง(เขย)  และมีสวนกล้วยน้ำว้า(ชาวลำปางเรียก "ลิอ่อง") และไม้ผลยืนต้นอีก ๔-๕ ชนิด  ที่ทนน้ำท่วมขังปีละ ๒-๓ เดือนได้ตลอดมา

         ข้างๆ เรือนด้านในมี "ศาล" หรือ "หอผี"  สร้างด้วยไม้กว้างราว ๒ เมตร  ยาว ๔ เมตร  มี ๔ เสา  ยกพื้นสูงราว ๑ เมตร  พื้นหอผีปูด้วยไม้กระดาน  ฝา ๔ ด้าน  ใช้ไม้ระแนงทำเหมือนกรงไม้แต่มีช่องสี่เหลี่ยม  เด็กขนาดผมก็ลอดไม่ได้  ใช้สายตาลอดเข้าไปเห็นว่ามีเสื่อปูพื้นและปลายด้านบนมีหมอนสามเหลี่ยมปักลวดลายสวยวางอยู่ ๑ ใบ  เหนือขึ้นไปมีหิ้งตั้งวางพานไม้  ในพานมีข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนและเศษผ้าขาวแดงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวสัก ๒ นิ้ว  ป้ามอบหน้านี่ให้ผมคอยเด็ดดอกไม้มาเปลี่ยนช่อเดิมที่เหี่ยว  ผมจึงมีโอกาสใกล้ชิดกับ "หอผี" หรือศาลบรรพบุรุษ  ท่านคงจะเมตตาทำให้ผมจดจำเรื่องดีๆ มาเล่าให้ท่านอ่านนี่ไง

         ด้านหน้าเรือนเป็น "ข่วง" คือ ลานดินราบเรียบพื้นที่สัก ๕๐ ตารางเมตร  แต่ฤดูฝนน้ำไม่ท่วมข่วงนี้  เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมทุกฤดูกาล  แท้จริงกิจกรรมสำคัญมีเพียงปีละครั้ง  คือ  ประเพณี "การฟ้อนผี"  คือการบูชาบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษในตระกูล  ซึ่งต้องมาทำพิธีที่บ้าน "เค้าผี"

         "เค้าผี" ตระกูลแม่ผมเป็น "ผีมด"  บ้านรั้วติดกันนั้นเป็นบ้าน "เค้าผีเม็ง"  ผมไม่รู้ว่า "ผีมด-ผีเม็ง" ต่างกันอย่างไร?  จนได้เห็นพิธีการ "ฟ้อนผี" จึงเห็นว่ารูปแบบต่างกันชัดเจนอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

           ๑.   การฟ้อนผีมด  จัดพิธีฟ้อนในปะรำพิธีเรียกว่า "ผาม" สร้างง่ายๆ ใช้งาน ๒ วันเสร็จก็รื้อ                   แต่การฟัอนผีเม็ง  จัดพิธีในกระโจมผ้าขนาดใหญ่  สูงราว ๗-๘ เมตร  จุคนได้มากกว่า                   ๓๐ คน

           ๒.   การฟ้อนผีมด  เป็นพิธีเปิดปะรำโล่ง  ใครๆ ก็ดูได้  แต่การฟ้อนสงวนไว้เฉพาะสตรีใน
                 เชื้อสายตระกูลเท่านั้น (ผู้ชายมีหน้าที่คอยรับใช้) เว้นแต่ช่วงสุดท้ายของพิธีที่เรียกว่า
                 พิธี "คล้องช้าง คล้องม้า" และ "แข่งเรือ" กับ "รำหอก รำดาบ"  ที่อนุญาตให้ผู้ชาย
                 แท้ร่วมพิธีได้  แต่ก็เป็นเพียง "ลูกไล่" ตัวผู้ฟ้อนยังคงเป็นสตรี




                อย่างไรก็ดี  การฟ้อนช่วงสุดท้ายนี้เองที่สนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจที่สุด  ผู้คนจะคอยชมมากถึงขนาดคนนอกตระกูลมาเบียดเกาะรั้วคอยชมทีเดียว

                ส่วนพิธีฟ้อน "ผีเม็ง" นั้น  ทำพิธีกันในกระโจมผ้า  ปิดไม่ให้คนนอกตระกูลเข้าไปดู  ผมได้ยินเสียงฆ้อง กลอง เครื่องดนตรีก็ฟังดูคล้ายคลึงกับ "ผีมด" ซึ่งเด็กๆ  "หูถั่ว" (ทำนอง "ตาถั่ว") อย่างผมย่อมแยกความแตกต่างไม่ออก  นอกจากเสียงดนตรีแล้ว  ผมไม่มีสิทธิ์รับรู้อะไรเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งๆ ที่หลานๆ ของบ้าน "เค้าผีเม็ง" ซึ่งบ้านรั้วติดกับบ้านป้าผมนั้น  ปกติพวกเราเล่นกันสนิทเหมือนญาติ  ยายของพวกเขาซึ่งเป็น "เค้าผีเม็ง" มักใช้ให้หลานนำกับข้าวที่พิเศษมาให้ป้าผม  ป้าก็ให้ผมหิ้วปิ่นโต(ชาวล้านนาเรียก "ถ้วยสาย")  ใส่แกงอะไรดีๆ ไปให้ตอบแทน เช่นกัน
ฟ้อนผีเม็ง


                แต่เฉพาะเรื่อง "ฟ้อนผีเม็ง" ป้าผมไม่เคยกรายเข้าไปดูเขาเลย  แต่ผมเคยไปด้อมๆ อยู่หน้าช่องทางเข้ากระโจม  เวลามีคนเข้าออกทำให้ประตูผ้าเผยอเปิด  ผมจึงเห็นว่าการแต่งกายของคนฟ้อนผีเม็ง  เหมือนคล้ายกับคนฟ้อนผีมด  แต่เพื่อนๆ กลับมองจากกระโจมเหมือนคล้ายไม่รู้จักผม  เป็นสัญญาณว่า "เธอไม่เกี่ยว  อย่าเข้ามานะ"   ผมมาฟ้องป้าผม  ท่านหัวเราะและปลอบใจว่า  "เจ้าพ่อผีบ้านเราก็ผีคนหาญ ไม่ต้องอยากไปดูผีบ้านอื่นหรอก...ไหว้สาเจ้าพ่อของเราให้ดีเถอะ...

                เออเนาะ... ผมอุทานในใจ  และรอคอยถึงวันประเพณี (ออกเสียงอย่างชาวบ้านว่า "ป๋าเวณี"  การฟ้อนผีของโคตรตระกูลตัวเอง  ซึ่งกำหนด(ตามจันทรคติ)  ตกประมาณปลายมีนาคม  ไม่ช้ากว่าสัปดาห์แรกของเมษายน  ฝนยังไม่มาซึ่งน่าประหลาด  ที่กว่าสิบปีที่เคยเห็นการฟ้อนผีที่บ้านป้า  แน่ใจว่าไม่เคยมีครั้งใดที่ฝนรบกวนเลย

                การฟ้อนผีมี ๒ วัน  วันแรกเรียกกันว่า "ข่าว"  เข้าใจว่ามาจากคำว่า (บอก)กล่าว  คือการประชาสัมพันธ์นั่นเอง  เป็นการบอกกล่าวทั้งแก่ญาติมิตร  "คนเป็น" และเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษ  วันข่าวหรือ(บอก)กล่าวนี้  พิธีกรรมเริ่มเช้ามืดโดย "เค้าผี" ทำพิธีที่ "หอผี"  ผมได้ยินป้ากล่าวเชิญบรรพบุรุษในอดีตซึ่งไม่ได้ระบุชื่อ  เพียงกล่าวโดยรวม  ผมนอนอยู่บนเรือนด้านใกล้ๆ นั้นจึงตื่นขึ้น  ชะโงกดู  เห็นป้านุ่งขาวห่มขาวยกพาน (ขันตั้ง) เหนือหัวระหว่างกล่าวจนจบ   สายหน่อยเป็นการนำอาหารคาวหวานที่ปรุงในบริเวณบ้านขึ้น "เลี้ยงผี" บนหอ  วิธีเลี้ยงทำเหมือนเลี้ยงคนเป็น  คล้ายๆ การไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนในวันเทศกาลต่างๆ



                การฟ้อนผีเริ่มตอนบ่าย  หลังอิ่มหนำกับอาหารกลางวันแล้ว  ผมเข้าใจว่า "ผู้ฟ้อน" ถูกกำหนดตัวไว้ก่อนแล้วคือ  เหล่าสตรีทั้งหลายในตระกูล  โดยมีป้า "เค้าผี" นำขบวน  แต่ผี หรือดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่จะมา "ลง" คือ "เข้าทรง" นั้น  ล้วนแต่วิญญาณชาย  ผมจำชื่อไม่ได้แต่คงเป็นวีรบุรุษนักรบ  เพราะในปะรำพิธีมีหอก ดาบ แหลน หลาว  ทั้งของจริงแลจำลองวางอยู่บนหิ้งนับสิบๆ ชิ้น วันแรกหรือ "วันข่าว" นี้  จะมีผีบรรพบุรุษมา (ลง)ทรงกี่ผี (ดวงวิญญาณ) ไม่กำหนด  คล้ายๆ การซ้อมใหญ่  อาจมีการ "ผิดคิว" ก็ได้  โดยเฉพาะกรณีที่สมาชิกในตระกูลทำผิด (ขืด) ประเพณี ผีบรรพบุรุษท่านใดท่านหนึ่งจะมาลง  แสดงอาการโกรธเกรี้ยว  เรียกร้องให้ "ผู้ทำผิด" มาสารภาพ/ ขอขมา/ ษมา (ชาวล้านนาออกเสียงเป็น "สูมา") และสาบานว่า "จะแก้ไข หรือไม่ทำผิดอีก"

               "เจ้าพ่อ" พอใจ  อบรมและให้พรแล้วก็กลับ "ออก" ไป

               ครั้งยังเด็กตอนนั้น  ผมเห็นผีบรรพบุรุษออกอาการกราดเกรี้ยวเฉียวฉุน  ผมก็ตกใจกลัวมุดเข้าไปอยู่ใต้แคร่ไม้ไผ่  แอบมองดูเหตุการณ์

               เมื่อผมแก่จนป่านนี้  ผมจึงเข้าใจได้ว่าการที่ผีบรรพบุรุษมาแสดงอาการเช่นนี้  คงเป็นจิตวิทยาสังคมที่จะกำกับดูแล  จริยปฏิบัติของคนในตระกูลให้อยู่ในความดีงาม  เพื่อสันติสุขในตระกูลและต่อสังคมโดยรอบด้วย

               วันที่ ๒ (สุดท้าย) ของการ "ฟ้อนผี"  คือ วันจริงนี้  เริ่มตั้งแต่ตอนสายๆ มีผี "ลง(ทรง)" เรื่อยๆ ในปะรำก็มี "ผีบรรพบุรุษ"  ฟ้อนตามจังหวะเสียงดนตรีพื้นเมืองล้านนา  เรียกภาษาปากว่า "วงกลองทึ่งถึ้ง"  น่าทึ่งมากที่ผู้ฟ้อนซึ่งหลายคนอายุมากแล้ว  แต่กลับฟ้อนต่อเนื่อง ๓ ชั่วโมงขึ้นไปได้  ยิ่งไปกว่านี้ผู้ฟ้อนจะเปลี่ยนพฤติกรรม  เช่น  บางคนเป็นสตรีนุ่มนิ่ม  แต่พอ "ผีลง(ทรง)" กลับสูบบุหรี่(ขี้โย) พ่นควันโขมง  ยกกระบอกเหล้าขาวกรอกลงคออั้กๆ  การเคลื่อนไหวก็ไม่ใช่ผู้หญิงคนเดิม  อีกทั้งบางคนรำหอก รำดาบสองมือได้คล่องด้วย

                วันสำคัญเช่นนี้  ผู้ที่เคร่งเครียดเป็นพิเศษ คือ กลุ่มผู้ชายสูงอายุในตระกูล  ซึ่งมีลุง(เขย)ของผมเป็นหมอแผนโบราณ  และลุงใหญ่พี่ชายคนโตของป้า  (เป็นผู้ใหญ่บ้านแถววัดพระเจ้าทันใจ ชายขอบเมือง) เป็นผู้นำกลุ่ม  ความเคร่งเครียดจะเกิดขึ้น  ถ้าถึงช่วงบ่ายแล้ว  "ผีสำคัญ ๓ ตน" ยังไม่ลง(เข้าทรง) คือ

                ๑.   เจ้าม้าขี่  คงทำนอง "ม้าทรง" ของชาวจีนในพิธี "ทรงเจ้า"
                ๒.   เจ้าอารักษ์ (ออกเสียงแบบล้านนา "อาฮัก")

                ถ้าเ้า ๒ ตนนี้ยังไม่มาลง(ทรง) เหล่าผู้เฒ่าจะนำกรวย(สวย)ใบตองกล้วยบรรจุข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนพากันไป "ไหว้สาขอสูมา" ที่หอผี  พร่ำบ่นขอให้ยกโทษอย่าโกรธลูกหลานเลย...

                บางปีอาจขอขมาลาโทษหลายครั้งก็มาลง(ทรง)  แต่เจ้าตนสำคัญที่สุดคือ "มหายักขณ์เจ้า" ตนนี้จะมาหลังสุดประมาณบ่าย ๓ โมง   ถ้าเลยเวลาอันควรแล้วยังไม่มาละก็...  เดือดร้อนแล้วซี  ผู้เฒ่าต้องรีบถ่อสังขารไปกราบไหว้ขอขมาถึงศาล(หอ)สถิตวิญญาณ "มหายักขณ์เจ้า" ที่ย่านบ้านศรีล้อม (ไม่ใช่ที่วัดนะครับ  ศาสนาพุทธไม่เกี่ยวเรื่องนี้)  ผมมีบุญตาได้เห็นผีของ "มหายักขณ์เจ้า" มาลงกว่าสิบครั้งคือ ตั้งแต่เด็ก กระทั่งผมอพยพออกจากลำปาง ๒๕๐๕

                "มหายักขณ์เจ้า" คือ ผีวีรบรรพบุรุษชาวลำปาง  ในความทรงจำของผมตลอดมาครับ


Cr. photos from websites and VDO from YouTube