ผมไม่บังคับหรือสนับสนุให้ท่านต้องเชื่อตามตำนานทุกประการ ผมเองก็เลือกเอาแก่นสาระมาพิจารณา ส่วนพลความที่ผู้จารึกใบลานอ้างว่าเรื่องที่เขียนไว้เป็นพระพุทธเจ้า(หรือพระอรหันต์) เสด็จมาและมีพระดำรัสไว้เองนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอาจจะเป็นเพียงการ "แอบอ้างเบื้องสูง" ให้ผู้ค้นยอมรับก็ได้ สำมะหาอะไรกับยุคโบราณนานร้อยๆ ปี สมัยเมื่อแต่งตำนาน แม้ในยุคปัจจุบันยุคดิจิตอลก็ยังมีกรณี "หลอกลวง" ปรากฏข่าวเนืองๆ พึงใช้ปัญญาให้มากขึ้น
ความในท้ายหน้า ๑๗๐-๑๗๑ สรุปได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ว่า หลังจากเสด็จนิพพานแล้ว ๕๐๐ ปี สถานที่(ป่า)แห่งนี้จักเกิดเป็นบ้านเมือง แต่... "คน(ชาวเมือง)ทั้งหลายหากจะทำกิจการใดมักจักโต้เถียงกันไม่รู้จบสักที ตราบใดที่ยังไม่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาตัดสินข้อถกเถียงนั้นๆ ก็คงไม่ยุติ พวกเขา(ชาวเมือง) จึงต้องถือเอาถ้อยคำของ "สังฆะนักปราชญ์ อาจารย์มาตักเตือนทุกประการ..."
จึงประทานเกศาธาตุให้ลูกสิกข์(ศิษย์)นำไปบรรจุในเจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์และที่พึ่งทางสติปัญญาว่า หากเวลาพวกเขามีข้อถกเถียงกันเป็นเรื่องสำคัญ ก็อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน ขอให้ระลึกถึงพระเจดีย์ธาตุ เสมือนมี "พระสงฆ์เตือนสติอยู่เสมอๆ" เมืองนี้จึงทรงให้ชื่อว่า "สังฆะเติน" (คือ สงฆ์เตือน) กาลผ่านมาเป็นร้อยๆ ปี ชื่อเมือง "สังฆะเติน" กร่อนไปๆ เหลือเรียกว่า "เมืองเถิน" หรืออำเภอเถินในปัจจุบัน
ถามท่านผู้อ่านว่า ท่านเชื่อตำนานดังกล่าวนี้ไหมครับ? ชาวอำเภอเถินล่ะ เชื่อรึเปล่าครับ? ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตามแต่อัธยาศัย แต่...ผมเชื่อน่ะครับ คือผมเชื่อว่า... พระสงฆ์ผู้ทรงภูมิรู้ถึงขนาดแต่งตำนานขึ้นมาได้ ท่านก็มีกุศโลบายแต่งตำนานให้ชาวเมือง(เถิน)มีความสมานฉันท์ปรองดองกันในการทำงานเพื่อส่วนรวม แล้วใครเล่าที่จะมีศักยภาพสูงพอที่จะ "ตักเตือน หรือตัดสินชี้ขาดปัญหาข้อถกเถียงของสังคมชาวพุทธ? อ๋อ...ย่อมต้องเป็นพระเถระแน่"
คงจะมีผู้สงสัยว่า "ทำไมมีแต่ชาวเมืองเถินเท่านั้นหรือ ที่ต้องถูก(พระสงฆ์)เตือน?!"
อ๋อ...ผู้แทนราษฎรตลอดกาล ชาวเมืองเถิน ที่ชื่อ "บุญเท่ง ทองสวัสดิ์" น่ะ ท่านเคยรู้จักชื่อไหม??
สส.บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ |
แต่...เหตุใดคำว่า "สังฆะเตือน" จึงเลือนกลายเป็น "เตินเป็นเถิน" เช่นในปัจจุบันได้?? ผมลองเดาดูนะครับ รับรองว่าไม่ใช่ "เดาสุ่ม" หลอก เพราะคนแก่อายุ ๗๕ ขวบแล้วก็พอมีประสบการณ์ความคิดลองวินิจฉัยบ้าง เมืองอื่นๆ ในเขตล้านนา(รากภาษาเดียวกัน/ คล้ายกัน) ที่มีชื่อทำนองนี้มีไหม? มีเมืองโบราณแห่งหนึ่งชื่อ "เทิง" หรือ "เมือง(อำเภอ)เทิง" ขึ้นกับจังหวัดเชียงราย ด้านตะวันออกก่อนถึงอำเภอเชียงของ ลักษณะภูมิประเทศของ "เทิง" เป็นภูเขาสูงสมกับชือว่า "เทิง" แปลว่า สูงหรือที่สูง
คำว่า "เทิง เทิน เติน(ออกเสียงจัตวา)" มีความหมายในภาษาล้านนาว่า "สูง :หิ้ง :ยกพื้นขึ้นสูงกว่าปกติ"
ย้อนหลังไปก่อน ๕๕-๖๐ ปี ถนนพหลโยธินช่วงผ่านพื้นที่อำเภอเถิน(รวมสบปราบ แม่พริก) มักเกิดอุบัติเหตุบ่อย รถคว่ำที่ย่านนี้ทีไร จะมีเสียงถามว่า "ที่หลังเทิน(เทิง)ใช่ไหม?" พอบอกว่าใช่ ก็จะมีเสียงย้อนมาว่า "เอาอีกแล้ว!" น้ำเสียงคือ เกิดเหตุบ่อยมาก
ปลายปี ๒๕๐๗ ผมชวนเพื่อนนักศึกษาธรรมศาสตร์ ๔-๕ คน นั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปลำปาง เผอิญเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวจังหวัดตรัง พอเธอเห็นสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงมีถนนไต่วนๆ ขึ้น ก็ปรารภดังๆ ว่า "โอ้โฮ...ยังกะเขาพับผ้าเลยนะนี่..." แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิศวกรรมในปัจจุบัน สภาพถนนแบบวนๆ บนเขาพับผ้า บนเขา(หลังเทิง/ หลังเทิน) อื่นๆ ทั่วประเทศไทย ไม่มีลักษณะวกๆ วนๆ อีกแล้ว แต่...อุบัติเหตุที่บริเวณ "หลังเทิน(เทิง)" ก็ยังไม่หมด คงมีให้เตือนความจำอยู่เนืองๆ
ในสมัยโบราณนั้น "เมืองเถิน" ปรากฎชื่ออยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยาแล้ว เขตปกครองเดิมกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อำเภอสบปราบ และอำเภอแม่พริกด้วย ในครั้งโบราณนั้น หากออกชื่อว่า "หลังเทิน(เทิง)" คนลำปางก็ย่อมรู้ว่าหมายถึง พื้นที่ในเขตเมืองเถิน
ผมจึงขออนุญาตสรุปความคิดเห็นของตนเองว่า ชื่อ "เมืองเถิน" มีที่มาจากลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งเมืองอยู่ในที่ราบของเนินสูง ซึ่งศัพท์ล้านนาเรียกที่สูง(กว่าปกติ)ว่า "เทิง เทิน หรือเติน(ออกเสียงจัตวา)" สามศัพท์ผสมเป็นเสียง "เถิน" ซึ่งไม่มีความหมายในพจนานุกรม ผมจึงยอมเสี่ยง "หน้าแตก" ให้ผู้อ่านช่วยกันพินิจพิจารณา เห็นด้วยก็ดี ไม่เห็นด้วยก็ดี เพราะการ "ใช้สมอง" ย่อมเป็นเส้นทางของอารยชน
☚..........................................☛
กล่าวถึงที่มาของ(อำเภอ)แม่พริก ตามตำนานก็อ้างว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ฝั่งลำน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งฝั่งใต้เป็นเขตแดนของ "อโยธิยา" แล้วทรงปรารถแก่พระอานนท์...(สรุปความ)ว่า "...ดูก่อนอานนท์ ตถาคตยังจะไม่ไปอโยธิยา ทางทิศใต้นั้น แต่จะ "พิก" (ล้านนาออกเสียงว่า "ปิ้ก" แปลว่ากลับ) ข้ามด่านน้ำตรงนี้กลับ(พิก)ไปทางทิศเหนือ (ทรงเล่าความหวัง) ว่า เมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นพญางัว แม่งัวเคยพามาหากินถึง ฝั่งน้ำจุดนี้แล้ว แม่งัวก็พาข้ามน้ำกลับไปทางฝั่งน้ำทิศเหนือ...(ดังนั้น) ต่อภายหน้าสถานที่นี้จะเกิดเป็นบ้านเมืองชื่อว่า "แม่พิก" ส่วนหมู่ชาวอโยธิยาก็พากัน "พิก" กลับเมืองตนไป...
พิจารณาตำนานดังกล่าว ผมเชื่อตามตำนานส่วนหนึ่ง คือคำว่า "พิก" แต่ไม่เชื่อที่ "แอบอ้างเบื้องสูง" ว่าเป็นพุทธวัจนะ แต่คำว่า "พิก" จะมีความหมายว่า "กลับ กลับคืน" หรือไม่ ผมไม่ทราบ ให้เป็นภาระของผู้รู้โดยเฉพาะชาวอำเภอแม่พริกไปสืบค้นต่อไป ถ้าคนโบราณย่านนั้นออกเสียงเรียกชื่อตำบลว่า "แม่ปิ๊ก" ละก็ ชื่อนี้ก็ต้องเขียนเป็น "แม่พิก" ตรงตามความหมายในตำนานที่แปลว่า "กลับ"
ดังนั้น การที่ทางราชการเรียกชื่อ และเขียนเป็นอำเภอ "แม่พริก" นั้น ผิดตำนานและความหมาย แล้วใครจะแก้ไขได้ล่ะครับ?