Friday, October 20, 2017

ชื่อเมือง ชื่อย่าน สถานตำบล...ที่ผิดเพี้ยน ตอน ๒

        ถ้าท่านเคยโดยสารรถไฟไปจนสุดทางในกรุงเทพฯ  ก็ต้องถึงสถานีรถไฟที่คนทั่วไปเรียกว่า "สถานีหัวลำโพง"  ทั้งๆ ที่ชื่อเป็นทางการเขียนว่า "สถานีรถไฟกรุงเทพ" แต่ภาษาปากคนเรียก "สถานีหัวลำโพง" ทั้งนั้น

        ท่านทราบไหมคำ "หัวลำโพง" มีความเป็นมาอย่างไร?  ผมเคยอ่านข้อเขียนอธิบายไว้ในเรื่องหนึ่งว่า  ในสมัยโบราณย่านบริเวณที่ใช้สร้างสถานีรถไฟหัวลำโพงนี้  เคยเป็นทุ่งกว้างใหญ่ของหลวง ให้ชาวบ้านที่มีวัวใช้งาน  นำวัวมาปล่อยเลี้ยงโดยเสรี   ฝูงวัวหนุ่มหรือ "โคถึก" จึงคึกคะนองวิ่งไล่กันบ้างขวิดกันบ้าง  ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "ทุ่งวัวลำพอง"  ตลอดมา  แม้ในพงศาวดารสมัยต้นรัชกาลพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตอนทำสงครามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์  ก็มีรายงานปรากฏว่า เมื่อทรงมีพระราชโองการให้จัดทัพรับศึก  ก็มีกองทัพหนึ่งถูกกำหนดให้ยกข้าม(คลอง)ไปตั้งชักปีกกาตั้งแต่ "ทุ่งวัวลำพอง"  คำเรียกชื่อ "ทุ่งวัวลำพอง" หายไปจากปากคนไทย  กลายเป็น  "ทุ่งหัวลำโพง" มาแทน? อะไรกันนี่?

        มีคนพยายามอธิบายว่า  เพราะย่านนั้นมีพื้นที่ติดกับสำเพ็งเยาวราชตลาดน้อยซึ่งเป็น "ไชน่าทาวน์" ของไทย  ดังนั้น  คงเป็นสำเนียงจีนพูดไทยไม่ชัด  จึงออกเสียงเพี้ยนจาก "ทุ่งวัวลำพอง" เพี้ยนไปกลายเป็น "ทุ่งหัวลำโพง"  ครั้นมีสถานีรถไฟขึ้นในย่านนี้  จึงเรียกตามภาษาปากว่า "สถานีหัวลำโพง"   สรุปได้ว่าเพราะสำเนียงจีนพูดไทยไม่ชัดทำให้เสียงเรียกชื่อ "วัวลำพอง" เพี้ยนไปกลายเป็น "หัวลำโพง"  คงไม่มีใครแย้งว่าย่านนั้นเป็นแหล่งปลูกต้น "ลำโพง" หรอกนะครับ  เพราะต้นลำโพงมีฤทธิ์เป็นยาเสพติดทั้งต้น  ผู้เสพจะมีอาการเลอะเลือนเรียกว่า "บ้าลำโพง"

        พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราโชบายเด็ดขาดในการปราบปรามยาเสพติด  ข้าราชการขุนนางก็รับสนองพระราโชบายอย่างเคร่งครัดถึงกับว่า  ครั้งหนึ่ง  เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) แม่ทัพใหญ่จับได้ว่าคุณหลวงในบังคับบัญชาแอบขายยาเสพติด  ท่านเจ้าคุณสั่งให้ลงโทษโบยๆ ขุนนางผู้ใหญ่หลายท่านมาขออภัยโทษให้  ก็ไม่ยอม  คงสั่งให้โบยๆ ต่อจนตาย

        หลายปีก่อน  โรงเรียนบดินทรเดชาได้จัดแสดงละครการกุศล  เรื่องทหารเสือพระนั่งเกล้าฯ  บทละครทรงพระนิพนธ์โดยพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (พระองค์ชายใหญ่) ทรงขยายความว่า "คุณหลวงฯ"  ที่ถูกลงทัณฑ์จนตาย คือ ลูกชายของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานั่นเอง  สมศักดิ์ศรีของ "ทหารเสือพระนั่งเกล้า" แน่นอน

        ถึงขนาดนี้ละก็  "เชื่อขนมยายกินได้" ว่า  ไม่มีใครกล้าปลูกต้นลำโพงจนเต็มทุ่งแน่  ยืนยันได้ว่า ชื่อ "หัวลำโพง" เพี้ยนมาจากชื่อ "วัวลำพอง" แต่แค่สันนิษฐานว่า  "อาเฮียทำเพี้ยน"

        ท่านคงจะเคยได้ยินชื่อ "ปากน้ำโพ" บ้าง  เพราะมันเป็นชื่อตามภาษาปากของจังหวัด หรือเมืองนครสวรรค์  ซึ่งนักเขียนบางคนเรียกให้เก๋ว่า  "เมืองสี่แคว"  (โดยเข้าใจผิด) ว่า  เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วย (น้ำจาก)แควหรือแม่น้ำ ๔ สาย  คือ  แม่น้ำปิง  แม่น้ำวัง  แม่น้ำยม  และแม่นำน่าน  และเพราะความเป็นแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเริ่มจากนครสวรรค์  ดังนั้นเมืองนครสวรรค์ก็คือที่รวมของ "สี่แคว" ล่ะ!  อ๋อ... ถ้าผมไม่เห็นด้วยผมก็จะเถียงโดยบอกว่า

        "แม่น้ำวังไหลลงสู่แม่น้ำปิงตั้งแต่เมืองตากแล้ว  แม่น้ำยมก็ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน  ก่อนจะลงมาถึงเมืองนครสวรรค์แล้ว  ดังนั้นที่ปากน้ำโพจึงมีแม่น้ำมาบรรจบกันจริงๆ คือ ปิงกับน่าน ๒ สาย หรือสองแควเท่านั้นครับ"  แต่จะเรียกชื่อว่า "เมืองสองแคว" ก็จะไปซ้ำกับชื่อลำลองของเมืองพิษณุโลกซึ่งตั้งมาก่อนนครสวรรค์  ปัญหาที่ผมคิดหาคำตอบมาหลายสิบปี คือ "ทำไมจึงเรียกว่า ปากน้ำโพ?  ไม่เรียกว่า ปากน้ำปิง หรือปากน้ำน่าน  ในเมื่อมีเพียงแม่น้ำปิงกับน่านมาบรรจบกัน?"


        ผมเคยอ่านและฟังนิทานตำนานชื่อ "ปากน้ำโพ" หลายครั้ง  ฟังว่าเป็นการโยนบาปใส่ปากคนจีนที่พูดไทยไม่ชัดอีกแหละ  นิทานอ้างว่า  เหตุเพราะแม่น้ำ ๒ สาย "โผล่" มา(จ๊ะเอ๋) บรรจบกันที่นั้น  จึง(อ้างว่า)คนโบราณเรียกว่า "ปากน้ำโผล่"  แต่เพราะที่เมืองนี้มีชุมชนคนจีนทุกสำเนียงภาษามาตั้งรกรากทำมาหากินมากมาย  จนเป็นสังคมชาวจีนที่ยิ่งใหญ่  จัดงานประเพณีแห่เจ้าแม่กวนอิม และการเชิดสิงโต เป็นเอกลักษณ์ต่อเนื่องมานานนับร้อยปี  คนจีนเหล่านี้ออกเสียงเพี้ยนคำว่า "โผล่" กลายเป็น "โพ" เป็น "ปากน้ำโพ" ฉะนี้แล

        แต่เพราะผมไม่เชื่อนิทานเพี้ยนๆ นี้  ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ  แม่น้ำย่อมมีมาแต่ดึกดำบรรพ์  คนไทยเจ้าของแผ่นดินก็ต้องเรียกชื่อ "ปากน้ำโพ" มาก่อนที่จะมีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่  ถ้าชาวจีนจะเรียกเพี้ยนก็ต้องเพี้ยนกลับไปเป็น "ปากน้ำโผล่" ซึ่งไม่ใช่สักหน่อยสิครับ

        เมื่อ ๔-๕ ปีก่อน  ผมเคยฟังองคมนตรีศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย  เล่าต่อสาธารณะว่า  ตัวท่านเองแม้เป็นชาวพิจิตร  แต่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มานานจน "อู้คำเมือง" เหมือนคนเชียงใหม่  ทำให้สะดวกในการสื่อสาร และนมัสการพระคุณเจ้าจึงได้รับความรู้ว่า  ลำธารเล็กๆ หลายสายที่ไหลจากห้วยต่างๆ  มารวมตัวกันเป็นแม่น้ำเล็กๆ เรียกว่า "น้ำแม่.. ครั้นน้ำแม่... ๒ สายมาพบกัน  หากสายใดมีปริมาณน้ำ หรือขนาดของลำน้ำมากกว่ากว้างใหญ่กว่าก็ใช้ชื่อน้ำแม่นั้นต่อไป  ส่วนน้ำแม่ที่เล็กกว่าให้ใช้ชื่อเรียกเป็นช่วงสุดท้ายว่า  "สบ...(ตามชื่อแม่น้ำที่จะลบหายไป)  เช่น  สบอาย  สบเมย  สบจาง  และสบตุ๋ย  (ย่านที่ตั้งสถานีรถไฟนครลำปาง) ครั้นแม่น้ำใหญ่ๆ ไหลไปบรรจบกัน  ใช้ศัพท์เรียกว่า "ปาก...ตามด้วยชื่อแม่น้ำที่เล็กกว่า"  เช่น  จุดที่แม่น้ำวังไหลมารวมกับแม่น้ำปิง  ก็เรียกจุดนั้นว่า  "ปากวัง"  ที่บ้านแม่ขอน  ตำบลตากออก  อำเภอบ้านตาก  จังหวัดตาก  ส่วนชื่อแม่น้ำก็ใช้ "แม่น้ำปิง"

        ส่วนแม่น้ำยมไหลลงมาบรรจบแม่น้ำน่าน (ที่บ้านปากยม  ตำบลเกยชัย  อำเภอชุมแสง) จังหวัดนครสวรรค์  แม่น้ำน่านกว้างใหญ่กว่าจึงเป็นแม่น้ำน่านต่อไป  จนมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ "ปากน้ำโพ" ปัญหาคือ ทำไมไม่เรียกว่า "ปากน้ำปิง  หรือปากน้ำน่าน?"  ตามหลักการ  ท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย  เฉลยว่า  ตัวท่านเองก็เพิ่งทราบว่าเดิมนั้น  ตอนปลายของแม่น้ำน่าน  ชาวบ้านเรียกว่า "แม่น้ำโพ"  ดังนั้น  ตรงตำบลนี้คือ ปากน้ำโพ  แน่นอน (ไม่ใช่ "ปากน้ำโผล่" ตามนิทานเรื่องจีนพูดไม่ชัด)  เพราะเป็นที่ซึ่งแม่น้ำโพ  ส่งน้ำให้แก่แม่น้ำปิง  จึงเรียกย่านตำบลนี้ว่า "ปากน้ำโพ"  แต่เผอิญชื่อที่แม่น้ำ ๒ สายรวมกัน  แทนที่จะเรียกว่าแม่น้ำปิงกลับเรียกชื่อใหม่เป็น "แม่น้ำเจ้าพระยา" ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว 

         ผมก็หูตาสว่างขึ้น  แต่ยังไม่เต็มตาเพราะต้องหาข้อมูลเหตุผลว่า  เหตุใดแม่น้ำน่านไหลผ่านมาตั้งไกล  ทำไมมาเปลี่ยนชื่อเป็น "แม่น้ำโพ"  เมื่อมาถึงท่อนปลาย?  จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ กรมศิลปากร  ได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ เรื่อง "เมืองราด" ของพ่อขุนผาเมืองกรุงสุโขทัย  ผลงานศึกษาวิเคราะห์ของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์  อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษของกรมศิลปากร  หนังสือนี้ไม่มีวางขายในท้องตลาด  แต่เดชะบุญท่านผู้เขียนมีมิตรใจไมตรีจึงส่งหนังสือให้ผมอ่านหนึ่งเล่ม  ทำให้ได้รับความกระจ่างเกี่ยวกับชื่อของ "แม่น้ำโพ"  กล่าวคือ

         ในสมัยโบราณก่อนยุคสุโขทัยนั้น  การค้าระหว่างอาณาจักรเชียงแสน  หลวงพระบาง สิบสองปันนา  ภูกามยาว  แพร่ และน่าน  กับอาณาจักรทางใต้ลงมาคือ  ลพบุรี  อโยธยา  และผู้ค้าทางทะเลล้วนนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน  ณ  จุดศูนย์กลางการค้าเรียกว่า "บางโพ"  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งจังหวัดอุตรดิตถ์  ในยุคนั้น  แม่น้ำน่านตั้งแต่ "บางโพ" ลงไปจนบรรจบกับแม่น้ำปิงนั้นมีชื่อว่า "แม่น้ำโพ"  ดังนั้น  ตรงตำบลที่แม่น้ำโพไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง  จึงต้องเรียกว่า "ปากน้ำโพ" ด้วยประการฉะนี้แล


         ผมขออนุญาตตั้งคำถามแทนท่านผู้อ่านสัก ๒-๓ ประการ คือ

         ๑.  ทำไมแม่น้ำสายเดียวมี ๒ ชื่อ?  *ตอบ :  ก็เอาอย่างแม่น้ำบางสายแหละครับ  เช่น  แม่น้ำท่าจีนช่วงที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท  เรียกว่า "แม่น้ำชัยนาท"  พอไหลเข้าเขตสุพรรณบุรี  เรียกว่า "แม่น้ำสุพรรณ"  ครั้นผ่านเข้าเขตอำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม  เรียกว่า "แม่น้ำนครชัยศรี"  จนกระทั่งไหลเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร  จึงจะมีชื่อว่า "แม่น้ำท่าจีน"

         ๒.  มีหลักฐานอะไรว่าแม่น้ำน่านช่วงปลายเคยถูกเรียกว่า "แม่น้ำโพ"?  อ๋อ... ผมก็อ้างตามที่อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์  ซึ่งระบุว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔  กรมศิลปากร  ได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่ฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาสำรวจแหล่งแรในสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๓๙  แล้วเขียนบันทึกเรื่องราวการทำงานชื่อหนังสือ "๕ ปีในสยาม" โดยนายเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ  ได้นำแผนที่สยามที่จัดทำในปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งระบุชัดว่าแม่น้ำน่านช่วงปลายเรียกว่า "Nam Pho" ชัดเจน

         ๓.  ทำไมชื่อ "แม่น้ำโพ"  จึงหายไป?  *ตอบ :  คนไทยเป็นชนเผ่าที่ "เห่อของใหม่ไม่รักษาของเก่า" มีนักศึกษาสักกี่คนที่อยากเข้าเรียนด้านโบราณคดี?  เพราะเรียนจบก็หางานทำยาก  นอกจากกรมศิลปากรแล้ว  แทบไม่มีใครรับเข้าทำงานเลย

         ผมสันนิษฐานว่า  สาเหตุมี ๒ ประการคือ  "ตลาดบางโพ"  หมดความสำคัญทางการค้าลงเมื่อทางรถไฟสายเหนือผ่านเข้ามาในย่านตลาดแห่งนี้  ทำให้ตลาดน้ำเลิกไปเป็นการค้าและขนส่งทางบก นับแต่ปลายรัชกาลที่ ๕  อีกประการหนึ่ง  ช่วงตลาดบางโพนี้  มีลำน้ำเล็กสายหนึ่งคือ  แม่นำ้โพ(เดิม) ไหลออกแม่น้ำน่าน ณ จุดนี้  ครั้งที่ตลาดน้ำ "บางโพ" ยิ่งใหญ่  คนซูฮกมากยกเอาซื้อ "แม่น้ำโพ" ไปเรียกแม่น้ำน่านว่า "แม่น้ำโพ" ด้วย  แต่ครั้นตลาดวาย  ชื่อแม่น้ำก็กลับเป็น "แม่น้ำน่าน" เป็นทางราชการ  ทิ้งให้ "แม่น้ำโพ" ที่บางโพตื้นแคบไม่มีคนสนใจพัฒนา  เรียกลดปลดลงเป็น "คลองโพ" อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน  อนิจจังก็เป็นดั่งนี้แล