Thursday, October 19, 2017

ตอน : ชื่อเมือง ชื่อย่าน สถานตำบล...ที่ผิดเพี้ยน ตอนที่ ๑

        ผมเกิดและโตเป็นหนุ่มอยู่ที่ลำปาง  ผมชอบอ่านหนังสือทุกประเภทรวมทั้งคอลัมน์ประจำชื่อ "รำพึงรำพัน" โดย "ลำพู"  กล่าวกันว่าเป็นนามปากกาของ "รงค์ วงศ์สรรค์"  ซึ่งใช้         "บางลำพูสแควร์" เป็นฉากประจำ  ทำให้ผมจำขึ้นใจว่า "บางลำพู" เป็นย่านตำบลที่คึกคักครึกครื้นมากๆ สำหรับคนหนุ่มวัยรุ่นยุค ๕๐-๖๐ ปีก่อน  แต่ผมเพิ่งรู้ว่า "ลำพู" คือชื่อต้นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ก็เมื่อผมเข้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อปี ๒๕๐๖ แล้ว  ชาวธรรมศาสตร์ยุคนั้นไม่ว่าหญิงชายต้องเคยไปย่านบางลำพูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
Cr. website

ต้นลำพูกับหิ่งห้อย

           เพื่อนนักศึกษาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ย่าน "ตลาดยอด"  บางลำพู  ช่วยนำผมเดินเข้าซอยลำพู ถนนสามเสนซอย ๓ ผ่านหน้าบ้านครูสุจิตต์ ดุริยประณีต "ศิลปินแห่งชาติ"   ถ้าเลี้ยวซ้ายก็ออกไปทางวัดสังเวชวิศยาราม  แต่เราตรงไปจนสุดซอยจึงได้เห็นต้นลำพู  เป็นต้นไม้สูงใหญ่มีลำต้นแช่ในแม่น้ำเจ้าพระยา  แต่มีรากงอกจากกิ่งห้อยลงมา  เพื่อนผมอธิบายว่ามันขึ้นอยู่ในน้ำได้โดยเฉพาะน้ำกร่อย  มักมีหิ่งห้อยเกาะอาศัยอยู่เสมอ  บางคืนในฤดูหิ่งห้อยชุกชุมจะเห็นแสงแว็บๆ ตามต้นลำพูคล้ายแสงไฟประดับต้นคริสตมาสประมาณนั้น  บัดนี้ต้นลำพูนี้หมดอายุขัยหลายปีแล้ว

           นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นต้นลำพู  ซึ่งชาวบางลำพูเชื่อว่าเป็นต้นเค้าของชื่อย่าน "บางลำพู"  ต่อมาปี ๒๕๑๙ - ๒๕๒๐  ผมเป็นพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ  มีต้นลำพูสูงใหญ่พอๆ กับต้นที่ปากคลองบางลำพู  มันแช่อยู่ในน้ำคลองข้างถนนสุขุมวิท  ปากซอยตรงข้ามกับชุมสายโทรศัพท์สมุทรปราการ  ผมเห็นมันทุกวันเพราะที่พัก และสำนักงานฯ ของผมอยู่ในซอยนั้นเองครับ

           ผมมีน้องชาย ๒ คน  ตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านคลองสานคนหนึ่ง  อีกคนอยู่ย่านจอมทอง  ผมไปเยี่ยมพวกเขาวันหนึ่ง  จึงผ่านหน้าที่ทำการไปรษณีย์ "บางลำภูล่าง"  ผมแวะลงไปซื้อแสตมป์  แต่ก็ถามถึงชื่อ "บางลำภู(ล่าง)" ว่ามีที่มาอย่างไร?   เจ้าหน้าที่ฯ อาวุโสบอกว่าย่านตำบลนั้นเคยมี "ต้นลำภู" อยู่โดดเด่นเป็นที่ให้คนสังเกตเห็นตั้งแต่สมัยโบราณ  จึงเรียกชื่อย่านนี้ว่า "บางลำภู"  แต่เนื่องจากทางฝั่งกรุงเทพฯ ก็มีย่านตำบลชื่อเดียวกันดังนั้น  จึงมีการเติมคำว่า "ล่าง" เข้าท้ายชื่อเพื่อเจาะจงหมายถึง "บางลำภู" ที่อยู่ฝั่งธนฯ หรืออยู่ริมน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  ส่วนตอนบนก็คือย่านบางลำพูทางฝั่งกรุงเทพฯ แต่ไม่ต้องเติม "บน" เพราะเติม "ล่าง" ไว้ที่เดียวก็หมายรู้ได้ว่าอยู่ที่ใด  คงทำนองเดียวกับชื่อ "ตลาดน้อย" ใกล้ๆ ย่านเยาวราช  ไม่จำเป็นต้องเรียกขานตลาดดั้งเดิมว่า "ตลาดใหญ่" ก็รู้ว่าที่ใด

           ผมถามต่อว่าทำไมไม่เขียนชื่อย่านเป็น "บางลำพู" อย่างทางฝั่งพระนคร?  ได้คำตอบว่า "ไม่รู้สิครับ  ผมเกิดมาก็เห็นเขียนลำภูอย่างนี้ตลอดมา"   ผมย้อนถามว่า  "ช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามมีกฏหมายออกมาบังคับให้เปลี่ยนอักขรวิธีภาษาไทย ให้ใช้ พ.(พาน)  แทน  ภ.(สำเภา)    ส.(เสือ)  แทน ศ. ษ.   ฐ. (ฐาน) ให้ใช้ ถ.(ถุง)  แทนน่ะ   ช่วงนั้นชื่อ  บางลำภูล่าง  ไม่เป็นเป็นบางลำพูล่างเหรอ?"  ยืนยันว่าไม่เคยเปลี่ยน!  เอ๋า...ชาวบางลำภูล่างนี่คงกินหัวใจหมีดีมังกรกระมัง  ถึงได้กล้าขัดขืนอำนาจรัฐบาลเผด็จการที่ร้ายกาจกว่ารัฐบาลทหารยุคไหนๆ?

           ผู้เฒ่าที่มาใช้บริการไปรษณีย์ฟังผมปุจฉา?  ฝ่ายเจ้าหน้าที่มิใช่ "อิ๊กคิวซัง"  จึงอึกอักตอบไม่ได้  ท่านจึงช่วยบอกเราว่า  "...เขาเปลี่ยนเฉพาะการเขียนสะกดคำในการสื่อสารน่ะ  ชื่อเฉพาะ  ชื่อย่านบ้านเมือง  เขาไม่บังคับหรอกดูสิ  ชื่อเมืองภูเก็ต  นครศรีธรรมราช  พิษณุโลก  ก็ไม่เขียนเป็น      พูเก็ด  นคอนสรีธรรมราช หรือพิสนุโลก ฯลฯ  นะ  แต่เท่าที่เคยรู้บางลำพูทางฝั่งพระนครก็เคยเขียนเหมือนกับบางลำภู(ล่าง) ของเรา  คงจะเปลี่ยนเป็น  บางลำพู  ช่วงรัฐบาลจอมพล ป. ๒๔๘๕-๒๔๘๗ กระมัง?"

           ผมลองเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พบว่าเก็บความหมายไว้เฉพาะ  "ลำพู : ต้นไม้ขึ้นในน้ำกร่อย  รากงอกเหนือดิน  แต่ไม่มีคำว่า "ลำภู"   ตกลงชื่อ "บางลำพู(ล่าง)"  เป็นชื่อนอกสารบบคำไทย!? เอ๋า...อย่างนั้นชื่อจังหวัดหนองบัวลำภู  ก็ "เถื่อน" ไม่มีที่มาอย่างนั้นหรือ?

           ช่วงปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒  ผมเป็นผู้ตรวจการพาณิชย์เขตอีสานเหนือ  จังหวัดหนองบัวลำภู  แยกจากจังหวัดอุดรธานี  ผมจึงไปดูการก่อตั้งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดฯ นี้  ว่ามีปัญหาอะไรให้ช่วยไหม  ไม่มีอะไรมาก  แนะนำเล็กน้อยก็เรียบร้อย   ส่วนตัวผมสิครับมีปัญหาคาสมอง  มาแสวงหาคำตอบว่า  ทำไมจึงมี(ต้น)ลำภูเกิดขึ้นในหนอง(น้า/ ที่อุดมด้วยดอก)บัว หรือ?  ทำไมต้นลำภู  ที่เป็นต้นไม้ที่อยู่ในเขตน้ำกร่อย(เค็มกว่าน้ำจืด แต่จืดกว่าน้ำเค็ม)  จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ดอน เช่น อีสาน?

           ผมจึงไปแสวงหาคำตอบ  โดยเข้าไปนมัสการถามเจ้าอาวาสวัดใหญ่แห่งหนึ่ง  คำตอบของท่านสรุปได้ว่า  "...เมืองนี้มีมาแต่โบราณ  เรียกชื่อเพียงเมืองหนองบัว  แต่เพราะชื่อย่านตำบลว่า "หนองบัว" มีอยู่อีกหลายแห่ง  ผู้ปกครองยุคแรกๆ จึงพิจารณาเห็นว่าควรเติมคำเรียกขานเพื่อให้เจาะจง หมายถึงเมืองนี้  เห็นว่าหนองบัวแห่งนี้อยู่ในที่ลุ่มเชิงภู(เขา) จึงเรียกชัดขึ้นว่าเมือง "หนองบัวลุ่มภู"  ต่อมาผู้บริหารราชการเป็นคนจากภาคกลาง  ฟังสำเนียงอีสานเพี้ยนเป็น "หนองบัวลำภู"  จึงเป็นอย่างนี้แหล่ะโยม!"

            ช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ๒๕๐๖-๒๕๑๑ (เรียนเกือบ ๖ ปี - จบปริญญาตรี)  ผมทำกิจกรรมมากมาย  ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนักกลอน  นักเขียน  นักหนังสือพิมพ์  ได้รู้จักนักกลอนอาวุโสคนหนึ่ง  สังกัดชมรมนักกลอนกรุงเทพฯ  เขาชื่อ "นายสมจิตต์ เชื้อหอม"  รู้จักกันในนาม "ส.เชื้อหอม" ทำงานที่กรมชลประทานบางกระบือ   เวลาเขาส่งบทกลอนไปลงพิมพ์ หรือเผยแพร่ที่ใด  เขาจะบอกว่า "ส.เชื้อหอม บ้านสร้าง ปราจีนบุรี"  มีที่มาอย่างไร  เขาบอกว่า

            "บ้านสร้าง เป็นชื่ออำเภอหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี   ผม(ส. เชื้อหอม) และคนพื้นถิ่นที่นั่นพูดสำเนียงคล้ายคนอีสาน  เราออกเสียงเรียกชื่ออำเภอว่า "บ้านซ่าง" แปลว่า ที่อยู่ของช้าง  ไม่ใช่(ก่อ)สร้าง...

            ต่อมาผมได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล  อดีตกรรมการชำระพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ ให้รู้จักพระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ (มหาสุวรรณ ปธ. ๓) เจ้าอาวาสวัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ  ปราจีนบุรี  ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคุณขรรค์ชัย บุนปานและคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ  ในภูมิรู้ด้านตำนานโบราณคดีของเมืองปราจีนบุรี

            ท่านพระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์เมตตาเล่าให้ผมฟังว่า  สมัยโบราณย่าน นครนายก  ปราจีนบุรี  ซึ่งอยู่เชิง "เขาใหญ่" เป็นป่าหนาทึบอุดมด้วยโขลงช้าง  ซึ่งทางราชสำนักอยุธยาจะมาคล้องช้างในเขตนี้นำไปฝึกในเพนียดช้าง  เอาไว้ใช้ราชการ  ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ทรงได้ช้างเผือก ๗ เชือก ๔ เชือก  คล้องได้ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือ  อำเภอบ้านสร้าง  แต่ชื่อดั้งเดิมในยุคของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ต่อเนื่องมานั้นคือ "บ้านช้าง"  ต่อมาผู้ปกครองเมืองได้ยินชาวอำเภอนี้ออกเสียงเรียกถิ่นฐานที่อยู่ของตน  ด้วยสำเนียงอีสานว่า  "บ้านซ่าง"  จึงเขียนเป็น "บ้านสร้าง"  ตามที่ทางการใช้ตลอดมาถึงปัจจุบัน  แม้จะผิดตำนานและความหมาย  แต่ขึ้นชื่อว่า "ทางราชการทำผิดๆ ทำนองนี้ไม่มีโทษทางวินัยน่ะครับ"

             ผมถูกส่งไปช่วยงานด้านเศรษฐกิจในโครงการหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อ.พ.ป.) ของ กอ. รมน. สวนรื่นฤดี  เป้าหมายของงานเพื่อลดอำนาจอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสม์ในชนบท  เรียกชื่อ "คอมมิวนิสต์" อย่างย่อๆ ว่า  "คอมฯ"  ครั้งหนึ่งผมร่วมเดินทางไปตรวจเยี่ยมในเขตอำเภอสร้างคอม  จังหวัดอุดรธานี  คนหนึ่งในคณะมีอารมณ์ขันจึง(แกล้ง)บ่นว่า  "...อำเภอนี้มันบ้าอะไรนะ  สร้างอะไรก็ไม่สร้าง...(เสือก) สร้างคอม....(ฮา)"

             เผอิญผมมีเพื่อนเป็นผู้มีวิชาความรู้  ชื่อคุณนิราศ สร่างนิทร(ภรรยาเป็นอดีตเลขาธิการ ก.พ.) เขาเป็นเลือดเนื้อเชื้อสายจากอำเภอนี้ทีเดียว  ยืนยันว่า  ชื่อที่ชาวบ้านเรียกออกเสียงว่า "ส่างคอม" มาจากคำว่า "ส่าง" แปลว่าแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่าหนอง  ส่วนคำว่า "คอม"  เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ "ส่างคอม"  ก็เพราะย่านตำบลนี้มีหนองน้ำซึ่งต้นคอมขึ้นอยู่มากเป็นพิเศษ  ผมได้รับความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนเก่าตั้งแต่เราหนุ่มๆ ชื่อ ศ. ดร. ประจักษ์ สายแสง แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร  ท่านผู้นี้มีภูมิลำเนาเดิมนครราชสีมาบอกผมว่า  ศัพท์ตามสำเนียงชาวอีสานที่คนภาคกลางแยกเสียงไม่ออกว่าแตกต่างกันทั้งเสียงและความหมาย  แต่คนภาคกลางฟังแล้วเข้าใจว่าคือคำว่า "สร้าง(Build/ Construct)" ทั้งนั้น  ที่จริง

             เสียงว่า  "ซ่าง"   หมายถึง  ช้าง
             เสียงว่า  "ส่าง"   หมายถึง  แหล่งน้ำเล็กกว่าหนอง
             เสียงกึ่งพยางค์ระหว่าง "ซ่าง(ส้าง) กับซ้าง"   หมายถึง  การ(ก่อ)สร้าง

             ผมเป็นชาวลำปาง  เชื่อว่าคนเมือง หรือคนล้านนาสามารถออกเสียงที่แตกต่างกัน ๓ ระดับนี้ได้เช่นเดียวกับชาวอีสานอย่าง ดร. ประจักษ์ วัฒนานุสิทธิ์ อดีตรองผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ ชาวบุรีรัมย์  แม้แต่คุณไพบูลย์ แพงเงิน  อดีตพาณิชย์จังหวัดหลายแห่ง  เป็นชาวตำบลพลับพลาชัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  มีบรรพบุรุษเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้วอพยพมาจากฝั่งน้ำโขง  ฟังผมปรารภก็เข้าใจและออกเสียงแยกแตกต่างเป็น ๓ ระดับเสียงได้

              ผมมีปูชนียบุคคลเป็นที่พึ่งทางภาษาหนังสือ  ตำนานพงศาวดารไทย คือ  ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ราชบัณฑิต  อดีตอธิการบดี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัยฯ  อดีตนายกราชบัณฑิตยสภา  โดยที่ผมได้พบท่านในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ  ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  เมื่อเย็นวันพฤหัสฯ ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘  เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงานและเสด็จฯ ออกจากห้องประชุมไปแล้ว  ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ  เพิ่งมีอายุครบ ๙๖ ปี  แต่สุขภาพดีเยี่ยมกระนั้น  ผมก็ปล่อยให้ท่านนั่งแท๊กซี่กลับบ้านโดยลำพังไม่ได้  แม้บ้านพักท่านอยู่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ผมจึงอาสาไปส่งท่าน  ท่านบอกว่าจะมีคนมารับท่านกลับราวอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า  ผมจึงได้รับความรู้จากท่านมากมาย  ด้วยจึงควรนับผมเป็น "ศิษย์นอกห้องเรียน" ของท่านด้วย

              ผมเรียนบ่นต่อท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐว่า  เมื่อสมัย ๖๐​ ปีก่อน  คำว่า "ม่าย" กับ "หม้าย"  มีความหมายต่างกัน  คำที่ใช้ในบทบัญญัติกฏหมาย  เช่น  ประมวลกฏหมายแพ่ง  ใช้คำว่า "หม้าย"  ในความหมายที่คนผู้นั้นเลิกราหย่าร้างกับคู่สมรส หรือตายจากไป  ทำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ตก(เป็น) "หม้าย" ไม่มีที่ใดใช้คำว่า "ม่าย" เลย  ทั้งนี้เพราะคำว่า "ม่าย" มีความหมายอื่น  ซึ่งผมจำได้ว่าคุณครูผู้สอนภาษาไทยในชั้นมัธยมเคยอธิบายความหมายของคำว่า "ม่าย" ให้ฟังในชั้นเรียนว่า "เมียงม่าย : ชายตามอง  มิใช่จ้องมองตรงๆ"  ผมฟังแล้ว "ปิ๊ง"!  จำฝังใจมา ๖๐ กว่าปี  เพราะช่วงนั้นผมกำลังเห่อเลี้ยงปลากัดหลายตัว  ยามว่างผมก็จะทำอย่างที่ผู้เลี้ยงปลากัดมักปฏิบัติกันคือ  ยกเอาขวด(โหล)ใส่ปลากัด ๒ ใบมาตั้งแนบชิดกัน ... เพื่อให้ปลากัด ๒ ตัวที่อยู่ต่างขวดกันเข้าใจผิดว่ากำลังถูกรุกราน  มันก็จะเตรียมต่อสู้ป้องกันถิ่นโดยอาการ "ม่ายเข้าใส่กัน"  อาการม่ายนี้เอง  ทำให้ผมจำคำอธิบายของคุณครูได้แน่นยิ่งขึ้น  เพราะระหว่างปลากัดม่ายใส่กัน"  มันไม่จ้องกันตรงๆ  แต่จะว่ายน้ำเอียงตัวโฉบไปมา  สายตาเหล่ชำเลืองหาจุดอ่อนจะเข้ากัดกัน  ตรงกับความหมาย  "...เมียงม่าย : ชายตามอง  มิใช่จ้องมองตรงๆ"  เป็นภาพมีชีวิตชีวามาก

              ผมออกเสียงให้ท่านอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ฟังว่า  ชาวล้านนาออกเสียงคำว่า "ม่าย" ต่างกับเสียงคำว่า "หม้าย"  อย่างไร   แต่ทำไมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงให้ความหมายว่า ๒ คำนี้  ออกเสียงและมีความหมายเหมือนกันล่ะครับ?

             ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  เกิดที่เมืองแพร่  เรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  เชียงใหม่  รู้ภาษาและอ่านอักขระล้านนาได้จัดเจนถึงกับเป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโท-เอก  ท่านฟังผมบ่นจบ  ก็กล่าวโดยสรุปว่า...  "พจนานุกรมใช้เสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง  เป็นมาตรฐานคือ  เสียงสามัญ  เอก  โท  ตรี  จัตวา  แต่ชาวล้านนาและชาวอีสาน  มีเสียงวรรณยุกต์ ๖ ระดับ  คือ  มีเสียงกึ่งระหว่างเสียงโทและเสียงตรี  ซึ่งชาวล้านนาและชาวอีสานออกเสียงได้  แต่ชายไทยภาคกลางส่วนใหญ่ออกเสียงนี้ไม่เป็น  และยังฟังเป็นเสียงหรือความหมายเดียวกันด้วย...

             เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล....!