เมื่อผมเป็นครูประจำชั้น |
เมื่อวันแรกที่ผมสอนหนังสือ คือ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๒ นั้น อายุผมครบ ๑๙ ปี พอดี ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ ผมอายุ ๗๕ ปี ได้มาร่วมการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ภราดา และครูของอัสสัมชัญ ลำปาง เมื่อวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๕๘ จัดที่วัดสิงห์ชัย ท่าข้าวน้อย เมืองลำปาง
มาสเตอร์ไพบูลย์ พันแสง ประธานชมรมอดีตครูอัสสัมชัญ ลำปาง เชิญผมเป็นผู้จุดธูปเทียนในฐานะ "ครูอาวุโส" และขานชื่ออดีตครูผู้ล่วงลับ เพื่อให้รับส่วนบุญกุศล ปรากฏชื่อครูผู้ล่วงลับมากเกือบ ๕๐ คน โดยเฉพาะ "มาสเตอร์" รุ่นแรกคงจะเหลือผมคนเดียว โดยเฉพาะที่ยังไปมาหาสู่กับครูและศิษย์เก่าอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกิจกรรมทั้งในกรุงเทพฯ ลำปาง (และบางครั้งที่เชียงใหม่) ย่อมเป็น "มาสเตอร์ศุภกิจ" แน่
เผอิญผมเป็น "นัก(อยาก)เขียน" จึงคิดว่า ผมน่าจะเขียนบันทึกความทรงจำ กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในระหว่างการเรียนการสอนที่ผมเป็นครูอยู่ในโรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ช่วงปี ๒๕๐๒-๒๕๐๕ อันเป็นช่วงแรกของการก่อตั้งที่ทุกคนในโรงเรียนต้องทำงานหนัก และสมัครสมานร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อยกระดับโรงเรียนของเราให้เข้าสู่ระดับมาตรฐานชั้นนำของจังหวัดทุกๆ ด้านให้ได้ โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนสมัยนั้น โรงเรียนราษฎร์ หรือโรงเรียนเอกชนในลำปางยังไม่มีโรงเรียนใดได้รับ "วิทยฐานะ" หรือมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลเลย
ดังนั้น โรงเรียนราษฎร์แห่งใดได้รับ "วิทยฐานะ" จะรีบทำป้ายใหญ่ๆ เขียนข้อความว่า "ได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล" ไปติดตั้งไว้ใต้ชื่อโรงเรียน โก้พิลึกทีเดียว เพราะเป็นสิ่งที่ได้มายาก โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ทำสำเร็จได้ภายในเวลาราว ๕ ปี รวดเร็วยิ่งกว่าโรงเรียนราษฎร์อื่นๆ ในลำปาง ซึ่งบางแห่งไม่ได้รับวิทยฐานะจนกระทั่งเลิกกิจการไป
เกียรติประวัติการทำงานจนสำเร็จผลเช่นนี้ มีรายละเอียด (หรือ "เบื้องหลังการถ่ายทำ") ความเป็นมาอย่างไรบ้าง? ยังไม่มีใครเขียนเล่าให้เห็นภาพชัดเจน แม้ศิษย์เก่าหลายท่านได้เขียนไว้บ้าง ก็เฉพาะในส่วนของนักเรียน มีศิษย์คนหนึ่ง คือ คุณวิโรจน์ (แซ่เตี๋ย) ตฤษณารมย์ เขียนถึงมาสเตอร์ศุภกิจ ว่า "สอนดีสอนเก่ง มักหาวิธีสอนใหม่ๆ แปลกๆ มาสอน" แต่คนอ่านคงนึกภาพไปต่างๆ เชื่อว่าไม่มีใครคาดคิดได้ถูกต้องหรอกว่า ผมทำอย่างไร? ทำไมถึงทำเช่นนั้น? แล้วผลเป็นอย่างไร?
นี่เองที่ผมจำเป็นต้องเขียนเล่าไว้เพื่อเป็นบันทึกแห่งเกียรติของการสร้างสรรค์ ของคณะครู นักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง เพื่อเป็นเสมือนหลัก "จารึก" เตือนใจแก่ศิษย์อัสสัมชัญ ลำปางรุ่นปัจจุบัน และอนาคตได้ภาคภูมิใจ และพร้อมใจกันจดจารึก ความดีงามต่อเนื่องไปอีก การเขียนของผมจำกัดวงอยู่เฉพาะในส่วนที่ผมคิดและทำ รวมทั้งรับรู้เห็น จึงไม่อาจครอบคลุมทุกกรณีได้ และข้อสำคัญ ผมจำเป็นใช้ชีวประวัติในการเป็นครูของผมเป็น "ตัวนำเรื่อง" ผมจึงตั้งชื่อหนังสือว่า "ในดวงใจครู" ต่อจากเรื่อง "ครูในดวงใจ" ซึ่งเป็นสารคดีชีวิตของผมช่วงที่เป็นนักเรียน ใครได้อ่านเรื่องนั้นก่อน ก็จะเข้าใจและอ่านเรื่อง "ในดวงใจครู" สนุกได้อรรถรสสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
หมายเหตุ นายศุภกิจ นิมมานนรเทพ อดีตมาสเตอร์อัสสัมชัญ ลำปาง พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๕