ในดวงใจครู ตอน : ทำไมจึงมาเป็นครู
เมื่อผมเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ตอนต้นปี ๒๕๐๐ นั้น ผมเพิ่งอายุ ๑๗ ปี ยังเข้ารับราชการ หรือทำงานธุรกิจเอกชนไม่ได้ ถ้าจะออกไปทำงานก็เป็นได้แต่พวก "ลูกจ้างแรงงาน" ซึ่ง "คนขี้โรค" อย่างผมทำไม่ไหว เผอิญผมเรียนเก่งได้คะแนนสอบไล่สูงมาก พอที่จะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนระดับสูงสุดของจังหวัด คือ ชั้นเตรียมอุดม แผนกวิทยาศาสตร์ได้เลย ผมจึงยื่นใบสมัครเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบ เพียงชำระค่าสมัครและค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็เข้าไปเรียนได้ เพื่อนนักเรียนคนหนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนกับผมในกรณีนี้ชื่อ "วิศิษฐ์ สมพงษ์" ก็เข้าเรียนด้วย เราเรียนชั้นประถมจากโรงเรียนพินิจวิทยา เขาเรียนก่อนผม ๑ รุ่น และเป็นคนแรกของโรงเรียนที่สอบเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนชายประจำจังหวัดลำปางได้ที่ ๑ ของจังหวัด
วิศิษฐ์ สมพงษ์ เป็นคนซื่อตรง และเรียบร้อยทั้งกายวาจา แม้กระทั่งเขียนหนังสือก็เหมือนคัดลายมือ สมุดจดงานและสมุดทำการบ้านของเขา จึงถูกขอเก็บไว้เป็นอนุสรณ์อยู่ที่โรงเรียน คุณครูประจำชั้น ป. ๔ มักนำสมุดมาแสดงให้นักเรียนรุ่นน้องอย่างรุ่นผม เห็นวิธีการทำงานอันเรียบร้อย และพยายามกระตุ้นให้ศิษย์รุ่นต่อๆ มาสร้างเกียรติประวัติอย่างวิศิษฐ์ สมพงษ์ ทำไว้บ้าง
ผมเป็นเด็กซน และขี้โรค จึงไม่เคยสอบได้ที่ ๑ พวกเพื่อนนักเรียนหญิงรุมกัน หรือผลัดกันชิงเอาไปครองตลอด ผมเคยได้เพียงที่ ๒-๔ แต่กลับสร้างเรื่องปาฏิหารย์สอบเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ได้ที่ ๑ ของจังหวัดบ้าง
ชื่อเสียงโรงเรียนพินิจวิทยาโด่งดังเป็นโรงเรียนชั้นประถมยอดนิยมของจังหวัดมาจนทุกวันนี้
ก่อนเรียนจบ (ม. ๘) เพื่อนร่วมรุ่น ต่างก็มีเป้าหมายไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เว้นแต่ผมกับวิศิษฐ์ และเพื่อนนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีพันธะไปแต่งงานเป็นคนแรก ดังนั้น ผมกับวิศิษฐ์จึงกลายเป็น "คู่หู" ที่ต้องออกตระเวนหางานทำ
ยุคกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อาชีพสำคัญของคนไทยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบกันมาในครอบครัว แทบไม่มีโรงเรียน วิทยาลัยสอนวิชานี้ในต่างจังหวัด คนไม่เรียนหนังสือ หรือพูดกับคนด้วยกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าพูดกับวัวควายรู้เรื่อง ก็ไปทำไร่ไถนาหาเลี้ยงครอบครัวได้ ดังนั้น คนที่เรียนถึงระดับมัธยม ก็มุ่งหน้าจะเรียนต่อไปจนจบระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย วิชาความรู้ของวิศิษฐ์และผมนั้น สามารถเรียนจบปริญญาได้แน่นอน แต่เราไม่มีทุนเรียน จึงหางานทำดีกว่า เราเคยมองหางานเสมียนในหน่วยราชการ แต่ไม่มีอัตราว่าง ถึงมีก็กำหนดอัตราเงินเดือนเพียง ๔๕๐ บาท สำหรับคุณวุฒิมัธยม ๖ แม้คุณวุฒิสูงกว่าก็ไม่ได้เงินเดือนสูงกว่า
เผอิญเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นคนหนึ่งเป็นชาวเมืองพาน จังหวัดเชียงราย ชวนเราไปสมัครเป็นครูสอนที่โรงเรียนศิริมาตย์เทวี ในเครือคาทอลิก เราจึงเตรียมเอกสาร สำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือรับรองคุณวุฒิตามเพื่อนไปเมืองพาน เพื่อนซึ่งคุ้นเคยกับโรงเรียนนี้ดีในฐานะศิษย์เก่า จึงพาเราไปขอสมัครเข้าเป็นครู ขณะนั้นเป็นช่วงปิดเทอม คุณแม่อธิการและคณะผู้บริหารไปประชุมที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ อีกราวสัปดาห์จึงจะกลับ ถ้าเราพักรออยู่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เราก็ต้องอาศัยพักบ้านเพื่อนซึ่งอีก ๒-๓ วัน เขาจะลงไปสมัครเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แล้ว เราจึงกลับมาตั้งหลักที่บ้านลำปางก่อน เหมาะสมกว่า
แต่ไม่กี่วันต่อมา วิศิษฐ์ สมพงษ์ ลงไปทำงานกับธุรกิจของญาติที่กรุงเทพฯ ด้วยความหวังว่าจะมีช่องทางอะไรที่ดีกว่า ส่วนผมเองอ่านพบข่าวว่า กรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม รับสมัครชายไทย อายุ ๑๘ ปี ไม่เกิน ๒๕ ปี คุณวุฒิจบแผนกวิทยาศาสตร์ เตรียมอุดมศึกษาเข้ารับราชการประจำที่ "บ่อน้ำมันฝาง" ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมแห่งแรกของไทย
ผม "ปิ๊ง" ทันทีเพราะข่าวระบุว่า ผู้ได้รับคัดเลือก จะต้องไปอบรม ๖ เดือนก่อนบรรจุเป็นทหารยศสิบโท อัตราเงินเดือน ๖๐๐ บาท เพื่อนคนหนึ่งเรียนที่กรุงเทพฯ แต่มีพ่อแม่ทำงานอยู่เชียงใหม่ จึงพาผมไปเชียงใหม่ ทั้งจะพาผมไปสมัครงานถึงอำเภอฝางด้วย แต่...เช้ามืดวันที่เราจะเดินทาง ผมเกิดอาการปวดท้องจุกเสียดอยู่จนเกือบเที่ยงวัน เป็นอันล้มเลิกการสมัครไปอยู่เมืองฝาง ยัอนกลับลำปางตามเคย
เพื่อนร่วมรุ่นบุญวาทย์วิทยาลัย ชื่อ ทองอ่อน ศิริไพบูลย์ บ้านอยู่ย่านท่ามะโอ แนะนำให้ผมไปหาพี่ชาย และพี่เขยซึ่งไปทำงานอยู่กับโครงการก่อสร้างที่ใหญ่มาก ที่ตำบลสามเงา เมืองตาก คือ การสร้างเขื่อน "สามเงา" กั้นแม่น้ำปิง ผมจึงเดินทางมุ่งไปยัง "เขื่อนสามเงา" (คือเขื่อนภูมิพลในนามพระราชทาน) เพื่อจะสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทฝรั่งอเมริกันชื่อ บริษัท Brown & Roots Utah ซึ่งมีพี่เขยของเพื่อนทำงานอยู่ก่อน ในตำแหน่ง Time-Checker ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเวลาการทำงานของผู้ใช้แรงงานตามจุดต่างๆ
ผมพบว่ามีศิษย์เก่าบุญวาทย์ฯ ทำงานตำแหน่งดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้น คือ สมเกียรติ พุทธนิยม ซึ่งน้องชายชื่อ สมพันธ์ เรียนรุ่นเดียวกับผม อีกคนเรียนจบชั้นเตรียมอุดมจากบุญวาทย์ฯ รุ่นเดียวกับผม ชื่อ บุญเทียม อินศรีแก้ว เรียนหนังสือเก่ง เขาลงไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ไม่มีทุนเรียน จึงมาทำงานหาทุน และส่งเสียน้องๆ เรียน เมื่อผมไปสมัครงาน มีอัตราว่าง ๑ ที่ มีผู้สมัคร ๒ คน ฝ่ายการพนักงานจึงบอกเราว่า "จับสลากเอานะ" ปรากฏว่าผมจับได้ "แห้ว" เดินคอตกไปขึ้นรถประจำทางกลับลำปางด้วยจิตใจหงอยเหงา ช่องทางการหางานทำหดลง คิดมาตลอดทางว่า ผมควรจะย้อนกลับไปสมัครเป็นครูที่เมืองพานดีไหม? แต่ก็ไม่มีความมั่นใจให้หวังสักเท่าไรนัก
จนพลบค่ำ ผมมาถึงเชิงสะพานรัษฎาภิเศก ฝั่งในเวียง ซึ่งมีร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อเปื่อยยอดนิยม ที่วิศิษฐ์กับผมและเพื่อนๆ มากินเป็นประจำ ผมสั่งเกาเหลา ๑ ถุง เพื่อนำกลับบ้านไปกินกับข้าวก้นหม้อ (*ประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา ซึ่งกินข้าว(นึ่ง)เหนียว จะต้องเก็บข้าวไว้นิดหน่อยในกล่องใส่ข้าวจนมื้อต่อไป ข้าวที่เก็บไว้นี้เผื่อไว้สำหรับญาติมิตรผ่านทางมา ยังไม่ได้กินข้าว ถ้าข้าวเหลือข้ามคืนเรียกว่า "ข้าวเย็น" เมื่อรุ่งเช้าตอนนึ่งข้าวใกล้สุก จึงให้นำ "ข้าวเย็น" ใส่บนสุด ข้าวประเภทนี้ห้ามนำใส่บาตรแม้แต่ใช้รับรองแขก ต้องกินเอง*)
กำลังคิดภวังค์เพลิน มีเสียงคุ้นๆ อ๋อ...ครูสมบูรณ์ แก่นจันทร์วงศ์ ร้องบอกผม "...ศุภกิจไปนั่งกินกับครู" และสั่งให้ทางร้านนำไปเสิรฟที่โต๊ะแทนใส่ถุง คุณครูเป็นทั้งพี่ชายของเพื่อนร่วมรุ่น และเป็นครูสอนพวกผมในหลายระดับชั้น ท่านสอนได้แทบทุกวิชา เว้นแต่ศิลปะและภาษาไทย ผมเดินตามไปนั่งกับคุณครูที่โต๊ะในสุด ซึ่งพวกเราเคยเห็นชินตาว่า คุณครูกับคุณครูหนุ่มโสดเพื่อนร่วมวงมัก "ก๊ง" ที่โต๊ะประจำนี้ ตั้งแต่ตอนเย็นๆ จนร้านปิด แต่วันนี้ไม่มีคนอื่นนอกจากผม ซึ่งเมื่อถามก็ได้ความว่า "วงแตก" แล้ว คนหนึ่งแต่งงาน คนหนึ่งย้าย อีกคนหนึ่งไปเรียนต่อระดับปริญญา ส่วนคุณครูสมบูรณ์ที่เหลือคนสุดท้ายบอกว่ากำลังเลี้ยงส่งตัวเองไปเรียนต่อปริญญาที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร กรุงเทพฯ
"ครูดีใจมากที่เห็นเธอ เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่ครูกินเหล้า พรุ่งนี้จะไปกรุงเทพฯ รายงานตัวเข้าเป็น "นักศึกษา" เลิกกินเหล้าเด็ดขาด" คุณครูชงเหล้าใส่แก้ว ยื่นให้ผมพลางร้องขอ "เอ้าศุภกิจ วันนี้เธอไม่ใช่นักเรียนแล้ว ดื่มแสดงความยินดีให้นักศึกษาใหม่หน่อยซีนะ..." คุณครูอารมณ์ครึกครื้นที่สุดในรอบ ๔ ปี ที่เคยเห็นท่านในโรงเรียน
"คุณครูเล่าถึง "บาดแผล" ของชีวิตว่า ตอนเรียนมัธยมแปดนั้น คุณครูสอบได้ที่ ๑ จึงได้รับทุนให้ไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนปี ๒ คะแนนดี จึงมีอาจารย์ท่านหนึ่งติดต่อให้ไปเป็นผู้ช่วยนักวิชาการจากอเมริกาที่มาทำวิจัยในเมืองไทย ค่าจ้างที่ได้รับมากกว่าเงินเดือนที่คนจบปริญญาตรีจะได้รับจากราชการไทยหลายเท่า จึงใช้เงินเพลิน โดยไม่สนใจะกลับมาเรียนบ้าง ผลก็คือสอบตกปี ๒ ถูกงดเงินทุนเล่าเรียน..." ครูก็ไม่ง้อ เพราะแม้ฝรั่งกลับไปแล้ว เขาก็ฝากครูไปทำงานกับบริษัทฝรั่งได้เงินเดือนมากขึ้นอีก... แต่ปลายปีมีหนังสือเรียกตัวพ่อแม่ให้ไปรับสภาพหนี้ เพราะครูผิดสัญญา ถ้าไม่ชำระหนี้ละก็ ที่ดินของพ่อแม่ที่ค้ำประกันก็จะถูกบังคับชดใช้แทน ครูไม่มีทางเลือกจึง "จำใจ" มาเป็นครูใช้หนี้เวลาอย่างน้อย ๔ ปี..."
อ้อ... ผมถึง "บางอ้อ" คุณครูสอนใช้หนี้น่ะเอง ทำหน้าที่เหมือน "ครูอะหลั่ย" คือไม่ต้องเป็นครูประจำชั้นใดๆ ทุกวันมีแต่ "สอนแทนๆ" แต่ครั้งหนึ่งได้ไปคุมสอบ(แทน) ในการสอบเทียบความรู้เพื่อรับวิทยฐานะในระดับประโยคครูประถม ชื่อย่อคือ พ.ป. (พิเศษประถม) คุณครูเห็นว่าข้อสอบไม่ยาก จึงลองทำข้อสอบไปในระหว่างคุมสอบด้วย ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็เสร็จ ภายหลังเฉลยออกมาปรากฏว่าคุณครูทำถูกครบ ๔ ลักษณะวิชา ทำให้เกิดกำลังใจ ในปีต่อมาจึงลงสมัครสอบเอง แน่นอนสอบได้สบายๆ ปีต่อมาก็สอบได้ประโยคครูมัธยมอีก
"...ปีนี้ ครูโชคดีสอบชิงทุนกระทรวงฯ (ศึกษาธิการ) ได้ประเภท ก. คือได้เรียนแล้วยังได้เงินเดือนด้วย ...เฮ้อ...นี่เพราะบุญกุศลของการเป็นครูแท้ๆ เลย จึงทำให้ครูมีโอกาสได้เรียนปริญญาแก้ตัวอีก..."
คุณครู คงเพิ่งนึกได้ว่าศิษย์อื่นๆ กำลังไปรอสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ในกรุงเทพฯ กันหมดแล้ว จึงถามตรงๆ ว่า "...ศุภกิจได้งานทำรึยังล่ะ?"
ผมเล่าความพลาดหวังในการหางานทำหลายแห่ง กำลังคิดจะเสี่ยงกลับไปสมัครเป็นครูที่เมืองพานอีก คุณครูโบกมือร้องว่า "เฮ้ย ไม่ต้องไปไกลหรอก มีโรงเรียนฝรั่งมาเปิดใหม่ที่บ้านเราแล้ว วันนี้ครูไปรับหนังสือส่งตัวที่สำนักงานศึกษาฯ ได้พบครูใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ท่านมาติดต่ออยู่ที่นั่น ท่านยังปรารภกับครูว่า ถ้ามีลูกศิษย์ดีๆ มีวิชาความรู้ก็ช่วยแนะนำให้ไปสมัครครูที่นี่ด้วยนะ... เธอรีบไปพรุ่งนี้เลยนะ คนมีวิชาความรู้ขนาดเธอนี่นะ อย่าว่าแต่เป็นครูเลย เรียนมหาวิทยาลัยไหนก็ได้น่ะ..."
ผมเกิดแสงสว่างขึ้นในหัวใจทันที จดจำข้อมูลไว้แม่น คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ตั้งใหม่อยู่ด้านหลังโรงเรียนอรุโณทัย ผู้บริหารอาวุโสเรียกว่า บราเดอร์อธิการ แต่มีบราเดอร์คนไทยจดทะเบียนกับราชการเป็นครูใหญ่
พรุ่งนี้ ผมจะไปสมัครเป็นครู
หมายเหตุ อาจารย์สมบูรณ์ แก่นจันทร์วงศ์ เกษียณในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย