ผมเดินข้ามสะพานรัษฎาภิเศก มุ่งกลับบ้านที่ตรอกปลายนา บ้านปงสนุกย่านหน้าโรงฆ่าสัตว์ เป็นถิ่นเกิดของผมที่เคยย้ายไปอยู่ย่านตลาดสดในตัวเมืองตามเตี่ยแม่ ที่ไปเป็นเอเย่นต์ขายส่งน้ำแข็ง ขณะนั้นมีรายเดียวคือ โรงน้ำแข็งย่านท่าข้าวน้อย
ทุกเช้าเย็น แม่จะพาผมและน้องชายอีก ๒ คน เดินข้ามแม่น้ำวังไปที่ร้านค้าตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดบริบูรณ์ ใกล้สี่แยกไปวัดน้ำล้อม ตอนเย็นก็เดินย้อนกลับบ้าน ในฤดูน้ำหลากราวปีละไม่เกิน ๒ เดือน เราเดินข้ามทางสะพานคอนกรีตแห่งแรกที่ข้ามแม่น้ำวัง
เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต |
สะพานรัษฎาภิเศก สร้างในปี ๒๔๖๐ Cr. from website เดิมเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย (https://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต/) ทรงสร้างด้วยไม้ ต่อมารัฐบาลสยามได้ใช้เงินภาษีอากรที่เก็บขึ้นในจังหวัดจัดสร้างสะพานคอนกรีต ใช้งานตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ ชื่อสะพานรัษฎาภิเศก ใช้ถึงปัจจุบัน แต่การข้ามแม่น้ำตามปกติของเราจะใช้เส้นทางที่สั้นกว่า คือ เดินผ่านด้านข้างวัดปงสนุกเหนือ ซึ่งครอบครัวทางสายแม่ไปทำบุญประจำ เดินเลาะรั้วโรงเรียนราษฎร์มณีศึกษา (*คนรุ่นนั้นเรียกกันว่า "โรงเรียนครูเจ้าป้า" ตามชื่อเจ้าของ*) ไปถึงริมฝั่งก็จะมีพาหนะ คือ ฤดูน้ำยังมากอยู่ จะมีชาวบ้านต่อแพไม้ไผ่รับส่งคนข้ามฟากโดยถ่อแพ ฤดูน้ำน้อยลง เขาจะเปลี่ยนไปใช้เรือไม้ใช้ถ่อ เพราะเรือลำเล็กจุผู้คนได้ไม่เกินสิบคน บางครั้งผู้โดยสารต้องช่วยวิดน้ำที่ซึมเข้าพื้นเรือด้วย ฤดูแล้งราวเมษายนเป็นต้นไป เกินกว่าเรือแพจะถ่อได้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ถลกกางเกงผ้าถุง หรือกระโปรงขึ้นเหนือเข่า ก็ลุยน้ำข้ามไปได้ แต่นักเรียนและเด็กๆ อย่างผมต้องถอดกางเกงพาดไหล่จึงจะข้ามสะดวก แต่เด็กนักเรียนหญิงย่อมไม่เหมาะที่จะข้ามตามวิธีนี้ จึงไปเดินข้ามทาง สะพานรัษฎาภิเศก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้ผู้มีใจเมตตา ได้ออกเงินสร้างสะพานไม้ไผ่ปูพื้นด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ ชาวบ้านเรียกว่า "ขัวแตะ" เผอิญเตี่ยแม่ของผมเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ใจบุญ ออกเงินทุนสร้างสะพานนี้ในราวปี ๒๔๙๐ วิธีสร้างง่ายๆ โดยเตรียมการทำพื้นสะพานไว้ที่บ้านเราก่อน อีกด้านหนึ่งมีคนไปปักเสาทำโครงทำคานไว้พร้อมแล้ว จึงนำพื้นไม้ไผ่ขัดแตะทั้งหมดไปปูทอดต่อๆ กันจนเสร็จภายในวันเดียว รุ่งขึ้นเราก็ทำบุญอุทิศสะพานให้เป็นประโยชน์สาธารณะ ใครใคร่ข้ามก็ข้ามตามสบาย พอถึงฤดูน้ำหลากทั้งน้ำและท่อนซุงที่บรรดาพ่อค้าไม้ปล่อยล่องลอยตามน้ำมาก็กระแทกสะพาน "ขัวแตะ" จบสิ้นไปตามวัตรจักรฉะนี้ ปีหน้าก็มีผู้ใจบุญอาสาสร้างสะพาน "ขัวแตะ" เช่นนี้อีก การสร้างสะพาน "ขัวแตะ" ครั้งนั้นจึงได้รับความนับถือจากผู้คน โดยเฉพาะ "ครูเจ้าป้ามณีไชย" เจ้าของโรงเรียนราษฎร์มณีศึกษา ซึ่งบรรดาครูผู้ปกครองและนักเรียนใช้ประโยชน์จากสะพานมาก "ครูเจ้าป้า" จึงชักชวนให้แม่ส่งผมเข้าประเดิมชีวิตนักเรียนที่นี่เลย ผมหัดอ่านเขียนอยู่ที่บ้านจนคล่องแคล่วแล้ว พอเข้าเรียนก็ "ฉลุย" จนครูให้ผมอ่านนำเพื่อนร่วมชั้น ทำให้ผมมีความสำคัญจึงไม่กล้าซน แต่เพื่อนที่นั่งอยู่ติดกับผมมันคงมีความสุขแม้อ่านตะกุกตะกัก แต่ซนได้ตามสบาย เผอิญบ่ายวันศุกร์ คุณครูออกจากห้องไปพักหนึ่ง จึงเป็นโอกาสของเด็กธรรมดา แต่ซนไม่ธรรมดาเพราะขึ้นไปวิ่งไล่กันบนโต๊ะเสียงเจี๊ยวจ๊าวอึกทึก ทำให้คุณครูพร้อมไม้เรียวในมือหวดซ้ายป่ายขวามาถึงโต๊ะที่ผมนั่งอมยิ้มในใจว่าเราทำดี ก็ต้องอยู่รอดปลอดภัยล่ะนะ "ไอ้นันต์" ที่นั่งอยู่ข้างผมนี่กระโดดเล่นบนโต๊ะต้องโดนแหงๆ "เฟี้ยว ขวับ!" "แว้ก" เสียงผมร้องไห้ลั่น เพราะไม้เรียวหวดโดนไหล่ขวาของผม ส่วนเพื่อนจอมซนมันไวยังกะลิง คือ หลบมุดใต้โต๊ะทันการณ์ ปลายไม้จึงฟาดผมอย่างแรงจนไม้ส่วนปลายหักกระเด็น คุณครูก็ตกใจจึงรีบหายาหม่องมาทาและปลอบประโลมผมด้วย ผมร้องไห้ไม่หยุดไปจนถึงบ้าน ก็ฟ้องผู้ปกครองและไม่ยอมกลับไปเรียนอีกเลย แม้คุณครูผู้เฆี่ยนพลาดจะมาพบพ่อแม่ และให้คำมั่นว่าจะไม่ให้ผิดพลาดอีกก็ตาม ผมจึงเปลี่ยนชีวิตมาเป็น "เด็กตลาด" เข้าเรียนที่โรงเรียนพินิจวิทยา ในอีกสัปดาห์ต่อมา
* _________________________*
ผมแปลกใจที่ "น้าสนิท หรืออาวหนานนิด" น้องชายของแม่นั่งอยู่ในบ้าน เพราะน้าสนิททำงานเป็นหัวหน้าคนงานที่โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ที่อำเภอเกาะคา ห่างจากตัวจังหวัดไปราว ๒๐ กิโลเมตร แต่ปกติเราจะเห็น "อาวหนานนิด" เฉพาะในงานเทศกาล "ฟ้อนผี" และประเพณีรดน้ำดำหัวสงกรานต์
แม่บอกว่า "...อาวหนาน มีข่าวดีมากมาบอกลูกน่ะ..." น้าชายอธิบายว่าจะมาพาผมไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนน้ำตาลอนุเคราะห์ อำเภอเกาะคา เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ตั้งมาก่อนนับสิบปีแล้ว ที่นั่นมีตำแหน่งครูว่างอยู่ ๑ อัตรา เจาะจงให้รับเฉพาะผู้มีคุณวุฒิครูอย่างน้อยประโยคประถม หรือเทียบเท่า เพื่อจะให้สืบแทนตำแหน่งครูใหญ่ซึ่งจะเกษียณในอีก ๒ ปีข้างหน้า
น้าสนิทเล่าว่า ครูใหญ่ซึ่งชอบพอกันบอกว่า เปิดรับสมัครตั้งแต่ต้นปีจนผ่านมาหลายเดือน ยังไม่มีวี่แววว่า ผู้มีคุณวุฒิดังต้องการจะมาสมัครแม้สักคนเดียว (*อ๋อ ผู้มีคุณวุฒิครูก็ไปรับราชการก้าวหน้าและมั่นคงกว่าเยอะเลย*) ดังนั้น คณะกรรมการโรงเรียนจึงมีมติให้รับผู้เรียนจบชั้นเตรียมอุดมที่มีคะแนนดี แล้วส่งเสริมให้สอบเทียบคุณวุฒิต่อไป
"หลานเราเรียนเก่งนี่ ไปเถอะนะไม่ต้องห่วง ไปพักกินอยู่ที่บ้านอาว ถ้าหลานสอบเทียบได้ละก็ ตำแหน่งครูใหญ่ก็รออยู่แล้วล่ะ..."
ผมไปกับน้าสนิท ตอนเช้าน้าพาไปพบครูใหญ่ซึ่งดูสนิทกับน้าจริงๆ พูดจาให้กำลังใจเหมือนดังที่น้าชายบอกผม โดยเฉพาะเมื่อเห็นคะแนนสอบไล่ในใบสุทธิของผมแล้วก็ยกนิ้วซูฮก จากนั้น น้าชายก็พาผมไปพบผู้จัดการโรงเรียน แต่กลับโอละพ่อ เพราะบอกเราว่าจะรอผู้มีวุฒิครูที่เรียนจบ ป.กศ. มาสมัครในเร็วๆ นี้แหละ ขอให้ผมรอสักสัปดาห์ ถ้าเขาไม่มาก็จะให้น้าชายไปตามหาผม เท่ากับว่าแจก "แห้ว" ให้ผมกินพลางก่อน
ผมกลับจากเกาะคาลงรถที่ดอนปาน ค่อยเดินเรื่อยๆ ผ่านหน้าโบสถ์ และโรงเรียนอรุโณทัยซึ่งตั้งมาก่อนหลายปี ผมเลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างโรงเรียนจนสุดรั้ว ก็พบป้ายโรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ที่ผมมุ่งหน้าสมัครเป็นครูนี่เอง
ประตูเปิดกว้างก็จริง แต่ดูไม่สง่างามเพราะก่อนมาถึงประตูนี้ เป็นซอยลึกจากถนนใหญ่ราว ๑๐๐ เมตร ด้านขวามือเป็นเรือนพักของคนงานในโรงเรียนและโบสถ์อรุโณทัย ทำให้บีบรัดจำกัดทางเข้าสู่ประตูโรงเรียน ผมเดินเข้าไปเห็นด้านในเป็นทุ่งกว้างโล่ง ซึ่งผมไม่แปลกตาเพราะบริเวณที่ตั้งโรงเรียนนี้ในอดีตคือ "บึงน้ำหลังโรงแบ้งค์" ที่เป็นแหล่งใหญ่ของปลากัดพันธุ์ดี เรียกรู้กันว่า "ปลากัดลูกทุ่งหลังโรงแบ้งค์" (*คำว่า "โรงแบ้งค์" หมายถึงธนาคาไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง อันเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก*) เมื่อเรียนชั้นประถม ผมกับเพื่อนมาช้อนหาปลากัดบ่อยๆ
ผมเห็นอาคารไม้ ๒ ชั้น รูปทรงตัว T ด้านฐานหันออกมามีบันไดขึ้นซ้ายขวาสู่ชั้น ๒ ห้องธุรการอยู่ชั้นล่างขวา แต่ประตูห้องปิดสนิทผมกวาดตามองรอบๆ เห็นชาย ๒ คนลงไปขุดโกยดินขึ้นจากท้องร่องข้างทางเดินถนนลูกรัง คนหนึ่งแต่งชุดม่อฮ่อมสวมกุ้บ (งอบไทย) อีกคนใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาวกางเกงขาสั้นสีกากีซีดเก่าสวมงอบจีน
ผมเดินเข้าไปหา โดยตั้งใจจะถามว่า ผมจะสมัครเป็นครูจะทำอย่างไร? แต่พอชายในท้องร่องหันมาหาผม ผมตกตะลึงคาดไม่ถึงว่าโรงเรียนนี้จะยิ่งใหญ่ถึงขนาดจ้างฝรั่งเป็นคนงาน นักการภารโรงถามผมว่า "จะสมัครครูใช่ไหมครับ?" พอผมรับคำ เขาก็หันหน้าไปทางฝรั่งพร้อมแนะนำว่า "นี่ท่านอธิการ" ผมคารวะอย่างนอบน้อม
อธิการฝรั่งร่างเตี้ยพอๆ กับคนไทย แต่บุคลิกแข็งแรงว่องไว ปีนจากร่องน้ำเดินนำผมไปกรอกใบสมัครทำงานโดยแนบเอกสาร และรูปถ่ายครบถ้วนแล้ว ผมก็ส่งทั้งชุดให้ท่านรับไปอ่านพิจารณาสักครู่ ท่านก็เรียกนักบวชคนไทยมาสัมภาษณ์ผมสักพักใหญ่ ก็บอกว่า "...คุณไม่ต้องไปสมัครงานที่อี่นอีกแล้วนะ เราตกลงรับคุณเข้าเป็นมาสเตอร์... ที่นี่เราเรียกครูว่า มาสเตอร์ เรียกนักบวชอย่างเรานี่ว่า บราเดอร์ คุณมีเพื่อนที่ได้คะแนนดีๆ ต้องการทำงานอีกก็รีบบอกมาสมัครนะ ยังมีตำแหน่งว่างอีก ๒-๓ ที่"
ผมส่งโทรเลขถามวิศิษฐ์ แล้วแวะไปที่บ้านเขาเพื่อเล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ของเขาฟัง พลางบอกชูศักดิ์น้องชายของเขาให้เตรียมเอกสารต่างๆ ไว้ด้วย รอประมาณ ๒ วัน ผมได้รับคำตอบจากวิศิษฐ์ว่าอีก ๕ วันจะถึงบ้าน วานผมไปจองคิวสมัครให้ก่อน ผมนำเอกสารจากชูศักดิ์ แล้วเข้าไปที่โรงเรียนอัสสัมชัญลำปางอีกครั้งหนึ่ง
ท่านอธิการ บราเดอร์ฝรั่งร่างเล็กแข็งแรงนั้น ไม่อยู่ในห้องธุรการเช่นเคย ท่านอยู่ในบึงที่แห้งหมาดๆ สวมเสื้อยืดสีขาวคอกลม กางเกงขาสั้นสีกากีซีดๆ สวมงอบจีน (*หรือ "กุยเล้ย" ชาวลำปางเรียกว่า "กุ้บเจ้ก"*) บราเดอร์อธิการกำลังร่วมแรงกับภารโรงขุดท้องร่องระบายน้ำ โกยดินขึ้นถมพูนที่โคนต้นหางนกยูง ที่เพิ่งปลูกตลอดสองข้างถนนจากประตูสู่หน้าอาคารเรียน ผมเดินเข้าไปใกล้ พลางคารวะมากกว่าครั้งก่อน ท่านคงจำผมได้ จึงก้าวขึ้นจากขอบบึง ผมเรียนชี้แจงว่า มีเพื่อนอีกคนสนใจจะสมัคร แต่เขาจะกลับจากกรุงเทพฯ อีก ๔-๕ วันข้างหน้า ผมเกรงว่าจะล่าช้า จึงมาขอรับใบสมัครไปจัดเตรียมการไว้ก่อน เมื่อเขามาถึงลำปางก็จะยื่นสมัครได้รวดเร็วทันการณ์ อธิการจึงพาผมไปรับใบสมัครที่ห้องธุรการ
เช้าวันจันทร์ต่อมา วิศิษฐ์กับผมก็ไปยื่นสมัครครู และคณะบราเดอร์ได้พิจารณาสัมภาษณ์นาน โดยผมลุ้นอยู่นอกห้อง ที่สุดวิศิษฐ์ก็ยิ้มออกมาให้ผมพลอยดีใจด้วย
โรงเรียนเรียกประชุมคณะผู้สอน และผู้บริหารในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๒ มอบตารางสอนประจำตัว กำหนดให้ผมเป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๒ ก. วิศิษฐ์ ประจำชั้น ม. ๒ ข. เราได้รับแจกหนังสือทุกเรื่องที่นักเรียนต้องเรียน เว้นวิชาศิลปะ พลศึกษา และภาษาอังกฤษ บราเดอร์เซราฟิน ชาวสเปน เป็นอธิการบอกว่าโรงเรียนบรรจุให้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ขอให้ทุกคนมาเตรียมความพร้อมในห้องสอนก่อนเปิดเรียนจริงวันที่ ๑๗ เดือนนั้น
"อาวหนานนิด" น้าชายมาที่บ้านในเย็นนั้นบอกข่าวดี ว่าทางผู้จัดการโรงเรียนที่อำเภอเกาะคา ขอให้ผมรีบไปสมัคร จะรับทันที (เพราะคนที่รอ "ไม่มาตามนัด?") แต่สายเกินไป เพราะเอกสารการขอบรรจุผมอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการฯ แล้วครับ
ผมทั้งขอบคุณ และขออภัยน้าชายที่รักใคร่หวังดีแก่หลาน แต่กลับเสียเวลาแท้ๆ
|