เมื่อปี ๒๕๐๒ ชาวลำปางยังไม่คุ้นกับชื่อและแบบธรรมเนียมของโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ทั้งๆ ที่โรงเรียนชื่อฝรั่งได้ตั้งขึ้นในลำปางก่อนหน้ากว่าสิบปี มีชั้นเรียนตั้งแต่ประถมถึงมัธยมปีที่ ๖ คือ โรงเรียนเคนเนธแมกเคนซี ในความอุปถัมภ์ของคริสตจักรเพรสไบทีเรียน เครือเดียวกับกรุงเทพคริสเตียน ปริ๊นซรอยัล ที่เชียงใหม่ เชียงรายวิทยาคม และน่านคริสเตียนฯ โรงเรียนสตรีในเครือเดียวกันนี้ที่ลำปางชื่อโรงเรียนวิชชานารี
โรงเรียนในเครือนิกายโปรเตสแตนท์ทั้งสองเกือบไม่มีข้อแตกต่างในการเรียนการสอนจากโรงเรียนไทย คือเปิดสอนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ หยุดเรียนเสาร์อาทิตย์ เรียกผู้สอนว่า "ครู" เรียกผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ หรืออาจารย์ใหญ่ว่า "อาจารย์" เช่น อาจารย์วิริยะ (พูลวิริยะ?)
แต่โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง (และอรุโณทัย) หยุดเรียนวันพฤหัสและวันอาทิตย์(ปัจจุบันกำหนดวันหยุดตามราชการแล้ว) แม้ผมทำงานถึงปีที่ ๓ แล้ว ก็ยังได้ยินผู้ปกครองและคนภายนอกสอบถามเรื่องวันหยุดที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ผมจึงได้ฟังคำอธิบายชี้แจงหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ผู้ปกครองทราบ และท่านอธิการก็เคยพูดให้ครูและนักเรียนฟังที่หน้าเสาธงทุกปี สรุปได้ว่า
การที่โรงเรียนหยุดวันพฤหัสบดีกับวันอาทิตย์นี้ เป็นผลดีต่อการเรียนการสอน เพราะการมีวันหยุด ๒ ครั้งในสัปดาห์ เป็นการดีที่ครูจะได้สั่งการบ้านให้นักเรียนทำในวันหยุดได้ ๒ ครั้งในสัปดาห์ เป็นการเฉลี่ยปริมาณการบ้านไม่ให้มากเกินไป ถ้าในกรณีที่ให้การบ้านครั้งเดียวในสัปดาห์ ครูก็จำเป็นต้องสั่งการบ้านมากๆ นักเรียนก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานจน (หัวซุกหัวซุน เพราะสมองล้าง่วงนอน) ผู้ปกครองสงสารลูก จึงลงมือทำการบ้านแทนลูกๆ ด้วยก็มี
จริงๆ แล้ว เหตุผลของผู้ปกครอง และคนนอนนั้น ไม่ได้ติดใจเรื่องการบ้านมากหรือน้อย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งทำงานนอกบ้าน มีวันหยุดเฉพาะเสาร์อาทิตย์ พอวันพฤหัสฯ พ่อแม่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน แต่ลูกหยุดเรียนอยู่บ้าน ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จำเป็นต้องหาคนดูแลลูกๆ พอถึงวันเสาร์และอาทิตย์ ผู้ปกครองได้หยุดงาน แทนที่จะได้อยู่บ้านพร้อมหน้า กลับต้องออกไปรับส่งลูก
ถามใจวิศิษฐ์กับผมดูว่า "รู้สึกยังไงกับการสอนวันเสาร์ หยุดวันพฤหัสฯ?..."
ผมกับวิศิษฐ์ ย่อมมีเหตุผลร้อยแปดที่จะเห็นด้วยกับทางโรงเรียน ยกตัวอย่างสัก ๓ ประการ คือ
ประการที่ ๑ เมื่อเราสมัครใจทำงานกับหน่วยงานใดๆ แล้ว เราต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตาม
กฏกติกาการทำงานทุกอย่างของหน่วยงานนั้น แม้แต่ไปเป็นทหาร "หน่วย
กล้าตาย" ก็ต้องพร้อมเสี่ยงตาย
ประการที่ ๒ ถือปฏิบัติตามคำพังเพยที่ว่า "...ลงเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ!"
ประการที่ ๓ ผนวกเหตุผลประการที่ ๑ และที่ ๒ รวมกันน่ะครับ
ข้อสำคัญ เราทั้งสองไม่มีภาระอะไรให้ดูแล คือ ยังโสดและไม่มีแฟนที่จะไปเข้า "เวร" ดูใจ หยุดวันไหน หรือทำงานวันใดก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ ในยุคนั้น ชาวลำปางทั่วไปไม่คุ้นกับธรรมเนียมการเรียกขานชื่อผู้บริหาร และผู้สอนหนังสือในโรงเรียนของเครือคาทอลิก
เมื่อออกนามว่า "ท่านอธิการ" คนก็พาลคิดถึงพระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาสที่เรียกว่า "เจ้าอธิการ" วัดนี้วัดนั้น ซึ่งเมื่อครั้งตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ที่บางรักในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ก็มีประสงค์จะให้เรียกชื่อตำแหน่งนักบวชเลียนแบบที่คนไทยเรียกพระลูกวัดว่า "หลวงพี่"
แต่คำเรียกครูผู้หญิงว่า "Miss" หรือ "มิส" นั้น ไม่ค่อยมีคนสงสัยไต่ถามนัก แต่คำเรียกครูผู้ชายว่า "Master หรือ มาสเตอร์" นั้นมีปัญหาในใจชาวบ้าน จึงคันปากถามหลายๆ คน หลายๆ ประเด็น ซึ่งในยุคปี ๒๕๐๒ ยังไม่มีเครื่องอัดเทปราคาถูกพอที่ผมจะอัดเสียงคำตอบชี้แจง เอาไว้เปิดให้ผู้สงสัยไต่ถามได้รับฟังแทนการตอบรับด้วยปากแทบจะเป็น "ปากชักยนต์" แล้วล่ะ เช่นถามว่า ทำไมไม่เรียกผู้สอนว่าครู?
ถ้าผมขืนตอบห้วนๆ ว่า "จะไปรู้เหรอะ!" ผมก็เสียคน ๒-๓ ประการคือ หนึ่งกระเทือนน้ำใจไมตรีแก่ผู้อยากรู้ สองไม่รู้แล้วทำไมไม่ศึกษาค้นหาคำตอบ และสามมันเป็นเรื่องที่ผมควรรู้ไม่ใช่หรือ?
คณะนักบวชคาทอลิกที่เข้ามาก่อตั้งโรงเรียน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นฝรั่งจากทวีปยุโรปจึงใช้ตำราวิชาและแบบธรรมเนียมการเรียนการสอนในยุโรปเป็นโครงสร้าง ตำราสอนภาษาอังกฤษยุคเก่าเรียกผู้สอนว่า "Master" ซึ่งออกเสียงแบบไทยว่า "มาสเตอร์" แต่ชาวอัสสัมชัญออกเสียงว่า "มาสเซอร์" แต่ในทางการโดยเฉพาะในเอกสารที่โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ยื่นคำขอบรรจุวิศิษฐ์กับผมเข้าทำงานนั้นระบุว่าให้เป็น "ครูผู้สอน"
บางคนก็ถามไม่เข้าเรื่อง(ของผม) เช่น "ทำไม ไม่เรียกว่าครูอย่างที่โรงเรียนฝรั่งฝั่งโน้น (เคนเนธฯ) เขาเรียกกันละ?
เอ๋า... ถ้าผมขืนตอบว่า "จะไปรู้เหรอะ!" ก็ไม่ใช่นายศุภกิจซีครับ ผมก็ศึกษามาตอบว่า "โรงเรียนฝรั่งฝั่งโน้นของเขาเป็นเครือโปรเตสแตนท์จากสหรัฐอเมริกา ใช้ภาษาทันสมัยกว่า คือเรียกครูผู้สอนว่า "Teacher" แปลและเรียกเอาอย่างไทยว่า "ครู" ในสมัย ๖๐ ปีก่อนนั้น ในตำราเรียนภาษาอังกฤษที่ใช้สอนในโรงเรียนทุกแห่งจะเรียกนักเรียนว่า "Pupil" เป็นศัพท์แบบอังกฤษ แต่ปัจจุบันใช้ Student แทน
แต่จะเรียกชื่อขนานนามว่าอย่างไรก็ตาม ความสำคัญย่อมขึ้นอยู่กับ "คุณภาพในการเรียนการสอน" เป็นสำคัญแหละครับ
ทางโรงเรียนกำหนดระเบียบให้ครู หรือมาสเตอร์ผู้สอนต้องแต่งกายเรียบร้อย โดยเฉพาะ "ต้องผูกเนคไท หรือโบว์หูกระต่าย" ในเวลาปฏิบัติการสอน ทางโรงเรียนจ่ายค่าสอนให้วิศิษฐ์กับผมเท่ากัน คือ เตือนละ ๕๕๐ บาท มากกว่ารับราชการขั้นต้นซึ่งจะได้เพียง ๔๕๐ บาท ก็ถือว่าช่วยค่าซื้อเนคไทมาผูกคอ ความยุ่งยากในการผูกเนคไทไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่คือ การผูกที่ยากนักจะพอเหมาะพอดี คือ ผ้าผืนนอกยาวซ้อนกับผืนใน(หางไท) พอไม่ให้โผล่ออกมา
ยุคสมัยกว่าครึ่งศตวรรษก่อน คนไทยที่ทำงานนอกบ้านส่วนใหญ่เป็นภาคราชการซึ่งแต่งเครื่องแบบ แม้แต่พนักงานรัฐวิสาหกิจก็มีการกำหนดรูปเครื่องแบบเฉพาะหน่วย เช่น พนักงานธนาคารออมสิน ก็สวมเครื่องแบบสีกากีเหมือนข้าราชการพลเรือน ต่างแต่เครื่องหมายสังกัดซึ่งใช้ดาวโลหะแทนชั้นยศพลเรือน ที่จริงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากในการแต่งตัวไปทำงาน
ผู้ทำงานในบริษัทใหญ่ของต่างชาติเท่านั้น จึงจะแต่งตัวผูกเนคไทไปทำงาน แต่...โรงเรียน อัสสัมชัญลำปาง กำหนดกติกาให้มาสเตอร์ต้องผูกเนคไทย หรือ "หูกระต่าย" ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานสอน นับเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกในลำปางที่กำหนดเช่นนี้ ความยุ่งยากในการผูกเนคไทให้พอดี ทำให้วิศิษฐ์กับผมต้องซื้อเนคไทคนละเส้นและ "หูกระต่ายสำเร็จรูป" คนละอัน เราพยายามหัดผูกเนคไท ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะ(ฟลุค)ได้ที่ ถ้ายังผูกไม่ได้ที่แต่จำเป็นต้องออกทำงานก็คว้าหูกระต่ายสวมหมับเข้ากับคอเสื้อพอดี
ผมโชคดีที่ คุณ(เจ้)เจน ธีระสวัสดิ์ เจ้าของร้าน "ธีราภรณ์" เคารพนับถือเตี่ยของผม เรียกว่า "อาชิกเจ็ก" และเคยอยู่ร้านค้าติดกันที่ถนนสายกลาง(ทิพย์ช้าง) -ถนนทิพวรรณ(ปัจจุบัน คือที่ตั้งธนาคารกรุงเทพ สาขาลำปาง) คุณ(ครุ)จุน ธีระสวัสดิ์ สามีของคุณเจนเห็นเราผูกเนคไทแบบทุเรศโหล่ยโท่ย จึงเมตตาช่วยสอนวิธีผูกเนคไทแบบสวยงาม จับปมเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่พอดีตรงคอเสื้อใต้กระเดือก และสามารถกำหนดชายของเนคไทให้ยาวสั้นพอเหมาะด้วย ยิ่งกว่านั้นยังบริจาคเนคไทที่เหลือใช้ให้เราอีกคนละ ๒ เส้น ดังนั้นปีต่อมาเราจึงหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันใช้เนคไท เราจะถอดคลายปมออกหมด เมื่อจะใช้ก็ผูกกลับเข้าไปใหม่ เป็นโอกาสได้ลองฝึกวิชาการผูกเนคไทแบบ "ปมรูปสามเหลี่ยม" จนชำนาญ* ถ้าใช้นานจนมีคราบเหงื่อเกาะตามปม ก็จัดการทำความสะอาด
มาสเตอร์บางท่านผูกเนคไทซ้ำซาก เพราะคงวานคนอื่นช่วยผูกให้ เมื่อเลิกงานก็ค่อยๆ รูดปมคลายออก อย่าให้หางเนคไทหลุดออกจากปมเชียวนะ...
คนแรกที่เกิดปัญหาคือ มาสเตอร์วินัย ประภาจาย เป็นหนุ่มฉกรรจ์ล่ำสันแข็งแรงชาวเมืองแพร่ปีแรก ๒๕๐๒ นั้น ท่านสอนวิชาพลศึกษาทุกชั้น การผูกไทในยามร้อนจึงอึดอัด เผลอดึงรูดไทหลุดออกจากปม ยุ่งละสิ... กำลังจะออกจากห้องพักครูไปสอนอีก จึงพยายามผูกเนคไท รีบผูกยิ่งยุ่ง จนมาสเตอร์วินัยออกหงุดหงิดฉุนตัวเอง เผอิญผมเข้ามาในห้องพักเจอเหตุยุ่งยาก จึงถอดเนคไทของผมให้มาสเตอร์วินัยใช้ฉุกเฉิน เผอิญรูปร่างของท่านมีส่วนสูงใกล้เคียงกัน จึงใช้ได้พอดี ครั้นท่านกลับมาเห็นผมผูกเนคไทของท่านแทนก็เข้าใจ และขอให้ผมช่วยสอนผูกเนคไทให้ท่านบ้าง สอนเดี๋ยวเดียวมาสเตอร์วินัยก็ผูกเนคไท "รูปปมสามเหลี่ยม" ได้เอง
มาสเตอร์วินัยตอบแทนผมโดยสอนการตีลังกา และหกสูงให้ผม สอนสัก ๒ หน ก็สรุปว่า "ศุภกิจ น้องคงถนัดใช้สมองมากกว่าใช้กำลังนะ เป็นครูก็มีทางก้าวหน้าโดยสมัครสอบเทียบความรู้ชุดประโยคครูพิเศษประถม และระดับมัธยม แต่ต้องเป็นครูผู้สอนครบหนึ่งปีก่อนนะ กระทรวงศึกษาฯ เปิดสอนปีละครั้ง ที่ลำปางก็มีสนามสอบทุกปี"
"พี่วินัยสอบได้ชั้นไหนแล้ว?" มาสเตอร์วินัยหัวเราะฮ่าๆ บอกว่าสอบอยู่หลายครั้งยังไม่ได้ ปรารภว่า "...พี่มันถนัดใช้กำลังมากกว่าใช้สมองไงน้อง..." มาสเตอร์วินัย มากด้วยน้ำใจ สุภาพบุรุษ มีอารมณ์แจ่มใสไม่เคยเห็นท่านโมโหใคร นอกจากด่าตัวเอง
มาสเตอร์ที่อายุเกิน ๔๐ ปี แต่เพิ่งเข้ามาสอน คือ มาสเตอร์บุญสม บุณยมานพ เข้าใจว่าคงเรียนระดับสูงกว่าอาชีวศึกษา สายช่างกลจากกรุงเทพฯ เหตุใดจึงอพยพครอบครัวมาอยู่ลำปาง ผมไม่กล้าถาม ทั้งๆ ที่ร้านค้าส่วนตัวของท่านอยู่เยื้องๆ ร้านของเตี่ยผมราว ๕๐ เมตร แต่เพราะท่านไม่ค่อยพูด และอยู่ห้องพักครูอีกแห่ง มาสเตอร์บุญสมสอนมัธยมปลาย และประจำชั้นมัธยมปีที่ ๔
มาสเตอร์อีกท่าน อาวุโสทั้งอายุและการสอน เดิมท่านสอนอยู่ที่โรงเรียนเคนเนธแมกเคนซีกว่า ๒๐ ปี เพราะเหตุใดจึงมาสอนที่อัสสัมชัญลำปาง? ไม่มีใครให้เหตุผล ฟังเสียงลือว่า "ทางโรงเรียนดึงตัวมาโดยให้เงินเดือนสูงกว่าที่เดิม และเจาะจงให้เป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นประโยคที่ทางโรงเรียนราษฎร์ตั้งใหม่ทุกแห่ง จะต้องส่งนักเรียนไปสอบไล่ด้วยข้อสอบเดียวกันกับโรงเรียนรัฐบาล ถ้าสอบได้ ๑๐๐% (ยกชั้น) ติดกันสามปี จึงจะมีสิทธิ์ได้รับวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล
ปีก่อนหน้า ทางโรงเรียนเคยส่งนักเรียนไปสมทบสอบไล่กับนักเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ผลคือ มัธยมปีที่ ๖ ซึ่งบราเดอร์ฟิลิป (อำนวย ปิ่นรัตน์) ประจำชั้นสอบได้ยกชั้น แต่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ "เกือบยกชั้น" ดังนั้น มาสเตอร์(ครู) ประจำชั้นมัธยมปีที่ ๓ จึงต้องคัดเลือกเป็นพิเศษ อีกทั้งเจ้าตัวก็ต้องทำงานหนักมากกว่าครูประจำชั้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชั้นประโยคด้วย
มาสเตอร์อายุเกินสามสิบคนหนึ่ง ซึ่งชื่อเด็กๆ คือ มาสเตอร์หลาน (ฤาไชย) รูปร่างอ้วนท้วน สมภาคภูมิคน "มีกะตังค์" บ้านอยู่ย่านห้าแยกหอนาฬิกา (สมัยโน้นเรียกย่านนี้ว่า "ย่านประตูเชียงราย" "ห้าแยกเชียงราย") มาสเตอร์หลาน ฤาไชย มีพื้นฐานครอบครัวฐานะดี และการศึกษาดี ช่วงปี ๒๔๘๔ ตอนกองทัพญี่ปุ่นยกเข้าเมืองไทยนั้น "หลาน ฤาไชย" เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ถนนพญาไท กรุงเทพฯ จ่อจะเข้าเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว แต่เพราะเกิดสงคราม ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงให้นักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือย้ายมาเรียนเฉพาะกิจชั่วคราวที่ลำปาง เรียกว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา(ภาคพายัพ) อาศัยและสมทบเรียนกับโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
สงครามสงบลงปี ๒๔๘๘ แต่มาสเตอร์หลานไม่ได้ไปเรียนอีก เล่าให้ฟังว่าพ่อแม่เป็นห่วง และมอบหมายธุรกิจให้ทำ "พี่ได้เรียนจนจบ ม. ๘ ก็ดีแล้ว เพื่อนร่วมรุ่นหลายคนไม่ยอมมาเรียนที่ลำปาง อย่างเทียมบุญ (อินทรบุตร) เดิมชื่อ บุญเทียม วงศ์ซัวหลี มันไม่ยอมกลับมาอยู่ลำปางอีกเลยล่ะ..."
มาสเตอร์บุญฤทธิ์ ขัติเชียงราย เป็นอดีตนักกีฬาจากบุญวาทย์ฯ รุ่นพี่ผม ๕-๖ ปี นับเป็น "คู่หู" กับมาสเตอร์หลาน นอกจากบ้านอยู่ย่านเดียวกันแล้วยังเกี่ยวดองกันด้วย
ผมรู้เรื่องของวิศิษฐ์และตัวเองไม่มาก คือเราสองคนหนุ่มที่สุดในบรรดาบุคลากรทุกคนของโรงเรียน วิศิษฐ์แก่กว่าผมไม่ถึง ๒ ปี รวมอายุเฉลี่ยไม่ถึง ๒๐ ปีแหละครับ!
บันทึกส่งท้าย
๑. เทียมบุญ อินทรบุตร อดีตโปรโมเตอร์มวยผู้โด่งดัง เป็นลูกเจ้าของโรงแรมซัวหลี อยู่สี่แยกจะไปวัดเมืองศาสน์ ต่อมามีห้างลัคกี้มาแทนพื้นที่นายแพทย์บุญยงค์ "พ่อพระเมืองน่าน" วงศ์รักมิตร เป็นน้องชายเทียมบุญ
นพ. บุญยงค์ วงศ์รักมิตร (รพ.น่าน) |
๒. เมื่อผมยังรับราชการ อธิบดีท่านหนึ่งขอให้ผมช่วยสอนวิธีผูกเนคไท "ปมสามเหลี่ยม" โดยเลี้ยงข้าว "ยกครู" แต่ก่อนนั้นผมแจกและสอนฟรีให้เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ ผูกเนคไทแบบ "ปมสามเหลี่ยม" ทุกคน