Friday, October 13, 2017

ตอน : ครูประจำชั้นมือใหม่

ในดวงใจครู  ตอน : ครูประจำชั้นมือใหม่


        ก่อนเริ่มการสอน  มีขั้นตอนสำคัญคือกำหนดให้วิศิษฐ์และผมสอนวิชาอะไรกันบ้าง  บราเดอร์   ฟิลิป (อำนวย ปิ่นรัตน์)  ครูใหญ่บอกให้เราเขียนชื่อรายวิชาตามลำดับความถนัดในการสอน  เสนอให้ท่านพิจารณาจัด "ตารางสอน" ให้อย่างเหมาะสมลงตัว  ตารางสอนจึงกำหนดให้วิศิษฐ์สอนวิชาบัญชี  เรขาคณิต  วิทยาศาสตร์ตามถนัด  ส่วนผมสอนเลขคณิต  ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ภาษาไทย ฯลฯ  ใครสอนวิชาเหล่านี้ต้องสอนทั้งมัธยมปีที่ ๒ก. และ ๒ข.  เว้นแต่วิชาภาษาอังกฤษ        บราเดอร์(ภราดา)สอน วิชาศิลปะและพลศึกษา  มีมาสเตอร์(ครู)สอนต่างหาก

        นอกจากนี้  วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมสัปดาห์ละ ๑ ชั่วโมง  ท่านอธิการรับสอนเอง  ส่วนวิชาสุขศึกษาให้วิศิษฐ์และผมต่างคนต่างสอนห้องประจำของตนเอง  เพื่อให้จำนวนชั่วโมงสอนครบวิชาและรับภาระเท่ากัน   วิศิษฐ์และผมต่างอ่านหนังสือเรียนวิชาต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และจัดพิมพ์ให้ใช้ในการเรียนการสอนแล้ว  เรารู้สึกสบายใจเพราะหนังสือเรียนไม่เปลี่ยนไปจากสมัยที่เราเคยเรียนเมื่อ ๕-๖ ปีก่อนหน้านั้น  เพราะเราเรียนเก่ง  เคยสอบเข้าเรียนมัธยมได้ที่ ๑ ของจังหวัด  โดยวิศิษฐ์ทำได้ในปีการศึกษา ๒๔๙๔  ผมทำได้ในปีถัดมา  อีกทั้งรักษาระดับการเรียนอยู่อันดับต้นๆ ตลอดมา

        เราจึงเชื่อมั่นว่าจะต้องสอนหนังสือได้อย่างชัดเจน  ถูกต้องแม่นยำแน่นอน

        แต่ที่เรากังวลเหมือนกันคือ  เราจะเริ่มพูดว่าอย่างไรในวินาทีแรกของการเป็น "ครูประจำชั้น" จึงจะสร้างศรัทธาให้นักเรียนได้   เรายังมีเวลาเตรียมตัวอีกหลายวัน  จึงตระเวนไปเรียนขอความรู้คำแนะนำจากครูอาจารย์ที่เคยสอนเราที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

        คุณครูสัมฤทธิ์ มุสิกสวัสดิ์  ขณะนั้น ท่านเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่  โรงเรียนบุญวาทย์ฯ  เคยเป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๑ ก. ตอนที่เราเรียนด้วย   บ้านพักครูสัมฤทธิ์ อยู่ในบริเวณด้านข้างของโรงเรียน  ติดกำแพงท้ายของวัดซิกข์(นามธารี)  คุณครูมีประสบการณ์สูงมาก  เริ่มเป็นครูน้อยธรรมดาที่โรงเรียนธาตุพนม จังหวัดนครพนม  ครั้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  กองทัพญี่ปุ่นยึดอินโดจีนของฝรั่งเศสได้  จึงคืนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือ แขวงสวันนะเขต) ซึ่งเคยเป็นของไทย  แต่ถูกบีบคั้นเอาไปในปลายรัชกาลที่ ๕ นั้นให้ไทยกลับเข้าปกครอง

        คุณครูสัมฤทธิ์ได้เลื่อนเป็นครูใหญ่  ไปประจำโรงเรียนในดินแดนที่กลับมาขึ้นต่อสยาม  ครั้นสงครามยุติโดยญี่ปุ่นแพ้ใน ๔ ปีต่อมา  สยามต้องคืนทุกสิ่งแก่ฝรั่งเศส  รวมทั้งตำแหน่งครูใหญ่ของครูสัมฤทธิ์ด้วย  ยิ่งไปกว่านั้น  อัตราครูน้อยที่ธาตุพนมหรือ  แม้แต่ดินแดนอีสานบ้านเกิดก็ไม่มีให้ย้ายมาลงได้  ครูสัมฤทธิ์จึงระเห็จไกลมาสอนที่โรงเรียนบุญวาทย์ฯ ลำปาง  ตั้งแต่นั้นมา (*จนเกษียณ และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๙๐ ปี)

        พอผมถามท่านว่า  ครูประจำชั้นควรพูดอย่างไรในนาทีแรกที่เข้าสอนห้องที่ตัวเองเป็นครูประจำชั้น??  ปกติ  คุณครูตีหน้าตายยอดเยี่ยม  แม้แต่พูดตลกๆ ก็หน้าตาย  พอฟังคำถามโง่ๆ ของผม  หน้าท่านตายสนิท  คือ  แบบว่า "อึ้งทึ่ง" พักใหญ่  ก่อนจะหัวเราะและกล่าวว่า  "เออนะ  ครูจำไม่ได้ว่าตัวเองพูดอะไรในวาระแรกพบในการเป็นครูประจำชั้น  แต่...ไม่รู้นะ  ครั้งนั้น  ครูสอนเด็กบ้านนอกและสมัยก่อนสงครามโลกด้วย  พวกครูรุ่นเก่าเขาแนะนำว่า...  อย่าทำใจดีให้นักเรียนเหลิงจนคุมเด็กไม่อยู่ก็แล้วกัน!  ครูจึงต้องตีหน้าตายเพื่อ...  ตัดไม้ข่มนาม...  เอาไว้ก่อนไง"

        เราออกจากบ้านคุณครูสัมฤทธิ์  โดยมีเสียงวิศิษฐ์ปรารภให้ผมได้ยิน  "...อั๊วทำอย่างครูสัมฤทธิ์ไม่ได้หรอก  ท่านมีความสามารถพิเศษคือ  ตีหน้าตายได้ทั้งเวลาดุๆ และตลกๆ  จนพวกนักเรียนวายร้ายกลัว  ไม่กล้าออกฤทธิ์..."  ถูกของวิศิษฐ์  เพราะคนที่ซาบซึ้งดีที่สุดคนหนึ่งในบรรดาศิษย์ทั้งหลายของท่าน  ก็คือ  ผม...นายศุภกิจ นี่เอง  เมื่อตอนท่านสอนประจำชั้น ม. ๑ ก.  ท่านเคยใช้ไม้เรียวหวดก้นผมที่หน้าห้องด้วยข้อหา  "สั่งให้เพื่อนนักเรียนชกกัน"

        ทั้งนี้ "นักมวย" ถูกอาจารย์ใหญ่สั่งลงโทษตีก้นต่อหน้าที่ประชุมนักเรียนหน้าเสาธง  ซึ่งนักเรียนทุกห้องต้องมาเข้าแถวทุกเช้า  เพื่อเคารพธงชาติก่อนแยกแถวเดินไปเข้าห้องเรียน  บางครั้ง  อาจารย์ใหญ่ หรือไม่ก็อาจารย์ฝ่ายปกครอง  จะมาแจ้งข่าวดีหรือข่าวร้าย  ข่าวดีมีหลากหลายเรื่อง  แต่ข่าวร้ายมักเป็นเรื่องการลงโทษนักเรียน   ผมเคยรับแต่ข่าวดีที่หน้าเสาธงในฐานะนักเรียนเก่ง   แต่ที่ถูกคุณครูสัมฤทธิ์ตีก้นครั้งนั้น  เพราะผมถูกเลือกจากเพื่อนคู่พิพาทให้เป็น "กรรมการ ห้ามมวย"  โดยผมจะออกคำสั่งได้เพียง ๓ คำเท่านั้น คือ  "หยุด  แยก  ชก"

        คุณครูสัมฤทธิ์  จึงใช้อำนาจของครูประจำชั้น  กล่าวโทษว่าถ้าผมไม่สั่งให้ "ชก" ละก็  เพื่อนที่พิพาทก็ไม่ชกกัน  จึงลงทัณฑ์ผมด้วย (*รายละเอียดอยู่ในหนังสือเรื่อง "ครูในดวงใจ")  เรารับกรรมวิธี "ตัดไม้ข่มนาม" จากต้นแบบของคุณครูไปใช้ไม่ได้  จึงแวะไปหาคุณครูเฉลิม ศรีสว่าง  ซึ่งมีบ้านพักอยู่ด้านหลังโรงเรียน  ท่านเคยสอนพวกเราตั้งแต่มัธยมปีที่ ๔  จนถึงมัธยมปีที่ ๖  สอนเก่ง  เสียงดัง กระฉับกระเฉง  สมกับเป็นครูที่ได้รับทุนไปเรียนจบจากสถาบันครูในกรุงเทพฯ

        คุณครูโปรดปรานนักเรียนเก่ง  คงจะเป็นภาพสะท้อนของตัวท่านเอง  เวลาสอนจริงจังมาก  และกล่าวชมศิษย์ที่ตั้งใจเรียน หรือตอบถูกว่า "เก่งมากๆ"  ไม่จำกัดคำชม   ดังนั้น  พอเราโผล่หน้าเข้าบ้าน  ท่านร้องทักว่า "โอ้โฮ...ครูละอ่อนอยากรู้ว่าจะสอนยังไงสิ...?"  ท่านมีเมตตาต่อผมมากจึงแกล้งแซวพลางหัวเราะคิกๆ

        แต่พอฟังเราถามว่า  ครูประจำชั้นมือใหม่ควรจะเริ่มพูดจาอย่างไรในวาระแรกที่เข้าไปพบนักเรียนที่ตนประจำชั้น  จึงจะทำให้นักเรียนลูกศิษย์เกิดศรัทธาประทับใจ?  คุณครูเฉลิม ศรีสว่าง ก็ชะงักกึก  เลิกคิ้วสูงและร้องว่า  "...เออแน่ะ  ครูเกือบลืมไปแล้วนะ  พอเธอถามจึงระลึกได้ว่า ตอนครูเรียนจบกลับมาประจำที่นี่  อาจารย์โชติ สุวรรณชิน  อาจารย์ใหญ่ท่านให้ครูสอนคณิต-วิทย์  ม. ๔  ถึง ม. ๖ ทุกห้อง  ท่านว่าอย่าเสียเวลาไปเป็นครูประจำชั้น  ต้องทำงานธุรการทุกอย่าง  ให้ครูเก่าทำก็ได้ เพราะครูอื่นๆ ไม่ได้เรียนคณิตวิทย์  ครูเฉลิมสอนดีกว่า"

        โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด  ย่อมมีความพร้อมด้านเงินงบประมาณ และบุคลากร  แม้โรงเรียนราษฎร์ระดับอัสสัมชัญ ลำปาง  เมื่อแรกตั้งในปีการศึกษา ๒๕๐๒ นั้น  มีบราเดอร์(ภราดา) ๔ องค์  มาสเตอร์(ครู) ๑๐ คน  มีห้องเรียน ๑๑ ห้อง  ผู้ไม่ประจำชั้นคือ บราเดอร์เซราฟิน เป็นอธิการ

         บราเดอร์สมทัย ทรัพย์เย็น     สอนวิชาภาษาอังกฤษ  ทุกชั้นมัธยมต้น
         มาสเตอร์วินัย ประภาจาย     สอนพลศึกษาและศิลปะ(ฉลุไม้อัด) แก้ขัดให้ครบชั่วโมงสอน

         นอกนั้น ๑๑ คนต้องสอนและเป็นครูประจำชั้น  คือ

         บราเดอร์ฟิลิป(อำนวย ปิ่นรัตน์)  เป็นทั้งครูใหญ่ และครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๖
         บราเดอร์โยธิน ศันสนยุทธ    เป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๕
         มาสเตอร์บุญสม บุณยสมภพ  เป็นครูประจำชั้น มัธยมปีที่ ๔
         มาสเตอร์บุญชู เทพราช      เคยสอนที่โรงเรียนเคนเน็ธแมคเคนซี่ มาราว ๒๐ ปี  เป็นครู
                                         ประจำชั้นมัธยมปีที่ ๓  ชั้นประโยคที่ต้องส่งนักเรียนเข้าสอบไล่
                                         ที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยของกระทรวงศึกษาธิการ

         ส่วนผมก็ประจำชั้นมัธยมปีที่ ๒ ก.  วิศิษฐ์ สมพงษ์  ประจำชั้นมัธยมปีที่ ๒ ข.
         มาสเตอร์ทองใบ ผิวเกลี้ยง   เป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๑ ก.
         มาสเตอร์สิงห์ทอง สุภินนพงศ์  (คำอ้าย O.K.)   เป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๑ ข.
         มาสเตอร์หลาน ฤาชัย        เป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๑ ค.
         มาสเตอร์สุทัศน์ มาทิพย์      เป็นครูประจำชั้นประถมปีที่ ๔ ก.
         มาสเตอร์บุญฤทธิ์ ขัติเชียงราย  เป็นครูประจำชั้นประถมปีที่ ๔ ข.

         ในที่สุดก็ถึงวันเปิดเทอมแรกของปีการศึกษา  วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๒
 
         วิศิษฐ์กับผมเป็น "คู่หู" ที่สนิทกันมาก  เพราะมีวิถีชีวิตร่วมสายทางกันคือ  เรียนชั้นประถมในโรงเรียนเดียวกัน  แต่วิศิษฐ์  รุ่นก่อน ๑ ปี  และสอบเข้าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้เป็นที่ ๑ ของจังหวัดเช่นเดียวกัน  และผมสอบ "พาสส์ชั้น"  ขึ้นไปเรียนห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ชั้น ม. ๕ จนจบชั้น ม. ๘ (เตรียมอุดมศึกษาแผนกวิทย์ฯ)

         เราไปถึงโรงเรียนราว ๗ โมง  เข้าห้องธุรการไปลงชื่อทำงาน  อธิการบราเดอร์เซราฟิน  กวักมือเรียกเราเข้าไปหา  และสั่งว่า  "มาสเตอร์  ทั้งสองคุมแถวไปเพียงหน้าห้องให้นักเรียนเข้าไปให้หมด  แต่มาสเตอร์อย่าเพิ่งเข้าไป  ให้รอบราเดอร์ก่อนนะ..."  "ครับผม!"  เรารับคำด้วยยินดี

         เมื่อนักเรียนเข้านั่งเงียบอยู่ในห้องแล้ว  บราเดอร์อธิการเซราฟิน  ก็เดินนำผมเข้าไปในห้อง  ท่านใช้เวลาเพียงนาทีเดียว  แนะนำตัวผมอย่างดีเกินคาด  โดยเฉพาะก่อนออกจากห้องท่านกำชับผมว่า  "...ถ้านักเรียนคนไหนดื้อรั้นเกเรมาก  มาสเตอร์อย่าตีเขา  ให้เอาตัวส่งไปให้บราเดอร์จัดการให้นะ..."  "ครับผม"
ภราดาเซราฟิน

        นี่ไงครับ  "ตัดไม้ข่มนาม"  นะนี่   เพราะภายหลังผมจึงรู้ว่านักเรียนเข็ดเขี้ยว  การถูกบราเดอร์เซราฟินตีก้นด้วยไม้ท่อนยาว  ราว ๑ ฟุต  เป็นไม้เนื้อแข็งกว้างเท่าไม้บรรทัด  หนาราว ๑ เซนติเมตร ให้ผู้จะถูกตีนั่งคุกเข่าให้บราเดอร์หวดตรงโหนกก้นเสียงดังเบาๆ  "ปุ๊ ปุ๊..."   ไม่น่าหวาดเสียวเหมือนเสียงดัง "เฟี้ยว...ขวับ!  เฟี้ยว...ขวับ...ฯลฯ"  ดังเช่นที่เราเคยเห็นครูในโรงเรียนอื่นๆ หวดด้วยไม้เรียว

        ในที่สุดวาระที่เรากังวลก็ผ่านไปได้ง่ายดายด้วยบารมีและความเมตตาของท่านอธิการบราเดอร์เซราฟิน  ที่อุทิศชีวิตเดินทางมาจากสเปญ  ตั้งแต่อายุ ๒๒ ปี  มาเป็นครูสอนเด็กไทยมาหลายสิบปี  ย่อมหยั่งรู้ว่า  "ครูละอ่อน"  คือผมอายุ ๑๙ ปี  วิศิษฐ์แก่กว่าหนึ่งปี  น่าจะกังวลใจเรื่องอะไร  จึงช่วยแก้ปัญหาให้อย่างยอดเยี่ยม  เป็นผลให้การสอนของเราเป็นไปอย่างดียิ่ง