ในดวงใจครู ตอน : สอนยังไง...ทำให้ลูกฉันสอบตก?
เมื่อวิศิษฐ์และผมอยู่ในห้องพักครู ซึ่งเรามีห้องพักรวมกันที่ปีกซ้ายล่างของอาคารตัว T กลางห้องเป็นโต๊ะใหญ่ขนาดโต๊ะปิงปอง แต่ต่อขึ้นจากไม้สักแข็งแรง มาสเตอร์ ๑๐ คนนั่งรอบโต๊ะ ผมกับวิศิษฐ์นั่งติดกัน เรานำรายชื่อและข้อมูลของศิษฐ์แต่ละคนมาแจงให้เรารู้จักพวกเขาเท่าๆ กัน เพราะเขาทุกคนเป็นศิษย์ของเราเหมือนๆ กันนั่นเอง
นักเรียนมัธยมปีที่ ๒ ข. จำนวน ๔๐ คน ผมดูรายชื่อนักเรียนทั้งหมดที่วิศิษฐ์จัดกลุ่มไว้ กล่าวคือ
กลุ่มพันธุ์มังกร : ได้แก่ เช็งลัก แซ่ตั้ง บุ้นฮุย แซ่เจี่ย ฮุยแซ แซ่ล้อ อายัม แซ่หยุ่ง สมิทธิ์ แซ่เบ๊ เอนก แซ่กวาน พินิจ แซ่บู๊ สมชาย แซ่คู วิฤทธิ์ แซ่เตียว ตี๋ แซ่โง้ว เอกพล แซ่ลิ้ม หอ แซ่ชื้ และเฉลิม แซ่ฟ่ง อีกสองพี่น้องแซ่เล้า คือ เก๊าะเฉียง(เฮีย) กับก๊กฮั้ว(ตี๋) แหม...ถ้าให้มาสเตอร์ศุภกิจ "แซ่นิ้ม" เป็นครูประจำชั้นละก็... สอนด้วยภาษาจีนซะเลย
อีกหลายคนแปลงแซ่แล้ว คือ ธีระ ธีรสวัสดิ์ (ร้านธีราภรณ์ของแม่เขาอยู่ติดกับร้านของเตี่ยผมเลย) ศุภชาติ ต.ประยูร อินนูน วินิจกุล วิบูลย์ ฮั่นตระกูล วิชชา ประสานเกลียว อภิชัย ชัยพยุงพันธ์ และลูกผสมจีนฝรั่ง คือ กิตติชัย วัฒนานิกร อภิชัย(ไจ้) เป็นพี่ชายอดิสรณ์ห้อง ก. และกิตติชัยมีพี่สาวคนหนึ่งเรียน "บุญวาทย์ฯ" ร่วมรุ่นกับเรา
นักเรียนพันธุ์ไทยมีน้อยกว่า ๒-๓ คน คือ สุพพัต(พี่) และสพรั่ง กัลยาณมิตร เสวก คันธวงศ์ เรวัต ขันธรักษ์ มานิตย์ เลขไพฑูรย์ ภูมินทร์ ศรีสิทธิรักษ์ เกียรติไกร สุภายน ศรีไร คำก๋า นิพนธ์ ธรรมสิทธิ์ สุรชัย ตุ้ยเต็มวงศ์ ไพบูลย์ จันทรวงศ์ พิทยากร ราชวรัยยการ พจนาถ ชัยสงคราม รวมทั้งหมด ๔๐ เด็กชายก่อนวัยรุ่น นักเรียนอายุน้อยสุด ๑๑ ขวบ มากสุด ๑๕ ปี เฉลี่ยประมาณ ๑๒ ปีเศษ เป็นมาตรฐานสำหรับเด็กในเมืองสมัยนั้น
บางวันเรามีเวลาว่างหลังตรวจการบ้าน จึงลองขี่จักรยานสำรวจภูมิสถานที่อยู่ของนักเรียนแต่ละคน ผมต้องไปกับวิศิษฐ์ เพราะเรามีรถให้ใช้คันเดียว คือรถจักรยานชั้นดี ยี่ห้อ ราเล่ห์ สปอร์ต สีเขียวบลอนด์ เป็นของเพื่อนสนิทชื่อ สมนึก ทิพย์มณี ฝากไว้ให้ใช้ ในขณะที่เขาไปอยู่กรุงเทพฯ ผมซ้อนท้ายรถไปกับวิศิษฐ์เพื่อสำรวจรู้ที่อยู่พำนักของศิษย์ ม. ๒ข. ด้วยพวกตระกูล "แซ่" ย่อมเป็นลูกพ่อค้าอยู่ย่านการค้าตำบลในเวียง และตำบลสบตุ๋ย สองกลุ่มนี้มีจำนวนรวมราว ๘๐%
พวกลูกหลานข้าราชการ ก็จะมีนามสกุลให้รู้ได้ เช่น สุพพัต และสพรั่ง กัลยาณมิตร พิทยากร ราชวรัยยการ พงษ์ศักดิ์ กนิษฐานนท์ ภูมินทร์ ศรีสิทธิรักษ์ เรวัต คันธรักษ์ พจนาถ ชัยสงคราม มานิตย์ เลขไพฑูรย์ ที่ "อู้คำเมือง" กันได้สนิท คือ อนันต์ ท่นไชย และศรีไร คำก๋า เพราะตามหลักการสอนต้องใช้สำเนียงภาษาไทยกลางทั้งการสนทนากับศิษย์ภายในโรงเรียนด้วย อีกหลายๆ คนย้ายตามผู้ปกครองมาจากกรุงเทพฯ อีกหลายปีจึงจะฟังและ "ด่า" กับเพื่อนด้วยวลีคำเมืองได้คล่องนะ
วิศิษฐ์กับผมไปพักอยู่บ้านท่ามะโอ ซึ่งเป็นบ้านของเพื่อนสนิทร่วมเรียนที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยด้วยกัน ๘ ปี เขาไปเรียนที่คณะกสิกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ ๑๙ ที่บ้านมีแต่ผู้หญิง เพราะพี่เขยพี่ชายไปทำงานต่างจังหวัด เราได้รับคำขอร้องให้ไปอยู่เป็นเพื่อนอุ่นใจให้ไหว้วานเหมือนญาติ (*ภายหลังวิศิษฐ์แต่งงานกับหลานสาวของทองอ่อน มีลูกชายชื่อ "เอก" ศิษย์ อสช. ด้วย)
ผมกับวิศิษฐ์จึงปรึกษาหารือการสอนและการเรียนของศิษย์ทุกคนจนลงลึกไปถึงบุคลิกลักษณะนิสัยใจคอของแต่ละคน ให้ได้รู้ธรรมชาติของเขาเพื่อเราจะสอนให้พวกเขาเรียนได้ดีทุกคน
เดือนแรก นักเรียนคงยังเห่อมาสเตอร์ใหม่จึงตั้งใจเรียนอย่างสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะพวกนั่งแถวหน้าๆ อยู่ใกล้สายตา หลายคนชอบซักถามทุกวิชา บางคนถามแบบเอาเชิงเป็นทีว่าตนสนใจติดตามบทเรียน แต่พอย้อนถามกลับไปเพื่อความกระจ่างชัดว่าเขาไม่เข้าใจหรือตามไม่ทันตรงจุดใด? ครูจะได้อธิบายได้ตรงจุด ที่ไหนได้เขาไม่รู้เรื่องทั้งหมดที่สอนมานั่นแหล่ะ...แม้แต่คำถามก็วานเพื่อนเขียนให้เขาอ่าน เวลาครูหันหลังไปเขียนหรืออธิบายบนกระดาน ซึ่งโดยมากเป็นวิชาสาย "คณิตวิทย์" ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ของชั้น ไม่ว่ายุคใดมักเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เผอิญมาสเตอร์วิศิษฐ์และมาสเตอร์ศุภกิจเรียนเก่งคณิตวิทย์ จึงสอนฉลุยไปเลยซิครับ
ยุคนั้น ระบบการเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งเป็น ๓ เทอม ช่วงเวลาเทอมละประมาณ๓ เดือนเศษ
เทอมต้น นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ถึงสิ้นสิงหาคม
เทอมกลาง กลางกันยายน ถึงปลายธันวาคม
เทอมปลาย โดยปกติจะมีสมาธิเรียนกันจริงก็ผ่านบรรยากาศฉลองเทศกาลปีใหม่แล้ว
บราเดอร์ฟิลิป ครูใหญ่แจ้งให้ผู้สอนทุกวิชา "ออกข้อสอบ" ในแต่ละวิชาที่ตนสอนแล้วส่งให้ครูใหญ่พิจารณาจัดเป็นข้อสอบ
ผมคิดและเขียนร่างข้อสอบเสร็จ ก็ให้วิศิษฐ์อ่านวิจารณ์ก่อน แม้ว่า "ข้อสอบ" ถือเป็นความลับยิ่ง ครูใหญ่กำชับให้บรรจุร่างข้อสอบลงซองผนึกมิดชิดและนำส่งโดยตรงถึงท่านเท่านั้น วิศิษฐ์ก็ส่งให้ผมอ่านวิจารณ์แล้วนำส่งขึ้นไปเช่นกัน
ในที่สุดการสอบซ้อมเทอมแรก และเป็นครั้งแรกในชีวิตความเป็นครูของเราก็มาถึง ทางโรงเรียนไม่มีบุคลากรมาก จึงใช้วิธีสลับตัวกันคุมห้องสอบ การสอบจัดไว้ ๓ วัน สอบทุกวิชาเว้นพลศึกษา และการฝีมือ พอสอบเสร็จแต่ละวิชา ผ่านไปไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ไปเบิกปึกวิชานำไปส่งคืนให้ห้องธุรการไปตรวจพิจารณาให้คะแนนได้ วิศิษฐ์และผม ไม่มีภารกิจอื่นที่รีบออกจากโรงเรียนปฏิบัติ เราใช้เวลาไม่เกิน ๓ ชั่วโมง ก็ตรวจเสร็จแต่ละปึกวิชานำไปส่งคืนให้ห้องธุรการเก็บรักษาไว้ เพราะในห้องพักครูไม่มีตู้เก็บเอกสารสำคัญได้ เมื่อตรวจเสร็จแต่ละปึกวิชาที่รับผิดชอบแล้ว ผมและวิศิษฐ์ก็ขอปึกกระดาษข้อสอบทุกวิชาของห้องเรียนที่เราเป็นครูประจำชั้น นำมากรอกคะแนนลงในแบบจำลอง ต. ๒ก.
การทำงานแบบมี "คู่หู" มีประสิทธิภาพดีและรวดเร็ว โดยคนหนึ่งขานคะแนนที่นักเรียนทำได้ อีกคนก็เขียนกรอกลงตาราง ดังนั้น เพียง ๓ วัน หลังสอบเสร็จเราก็ทำงานเสร็จทุกขั้นตอน รวมทั้งกรอกข้อมูลลงในสมุด(พก)ประจำตัวของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งนักเรียนจะต้องนำไปให้ผู้ปกครองลงชื่อแล้วส่งกลับคืนโรงเรียน ซึ่งระบบนี้ ถ้าใช้ให้ดีจะมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมาก แต่โดยมากครูที่ไม่มีเวลาเอาใจใส่มักไม่ค่อยสังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น "นักเรียนไม่สนใจเรียนขาดส่งการบ้าน" ครูบันทึกเช่นนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองทราบ และแก้ไข แต่ในช่องบันทึกความเห็นของผู้ปกครองกลับเขียนว่า "เอาใจใส่อ่านหนังสือ และทำการบ้านเสมอ"
ความเห็น "ขัดแย้ง" กันทำนองนี้ ต้องมีอะไรผิดปกติแนะ แต่โดยมากครูประจำชั้นพอได้ อ่านความเห็ฯทำนองนี้ก็ส่ายหน้าบ่นพึมว่า "เข้าข้างลูกยังงี้เล่า" ถ้าครูประจำชั้นสังเกตดีๆ อาจพบว่าลายเซ็นผู้ปกครองน่ะ "ของปลอม"! ตอนผมเรียนชั้นมัธยม เคยเห็นเพื่อนบางคน ผลัดกันเขียนความเห็นและลงชื่อแทนผู้ปกครองซึ่งกันและกัน
ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่มักเขียนเอง ลงชื่อทุกครั้งแน่นอน แต่ก็เขียนเหมือนกันทุกครั้ง ตั้งแต่ลูกเรียนชั้นประถมจนจบมัธยมบริบูรณ์ คือ เขียนว่า "...มีความเห็นเหมือนครูประจำชั้นทุกประการ..."
เวรกรรม... สังคมไทยถึงเป็นอยู่อย่างนี้ไงครับ
หลังจากประกาศผลการสอบในห้องเรียนให้นักเรียนทราบ และแจกสมุด(พก)ประจำตัวแต่ละคนไปแล้ว นักเรียนนำสมุดพกที่ผู้ปกครองได้ลงชื่อก็นำมาคืนให้ครูประจำชั้น ผมรวบรวมและทวงถามจนครบแล้ว จึงนำไปอ่านตรวจสอบความคิดเห็นของผู้ปกครอง อ่านไปใจผมก็ห่อเหี่ยวไป ก็เพราะความเห็นสวนใหญ่ของผู้ปกครอง เขียนทำนองคำถามถึงเราว่า
"สอนหนังสือยังไง ทำให้ลูกฉันสอบตก....?"
สมควรแล้วที่ตั้งคำถาม เพราะนักเรียนห้องผมสอบตก ๒๒ คน เกินครึ่งห้อง ห้อง ม.๒ข. ก็มีสภาวะพอๆ กันคือ สอบตกเกินครึ่งห้อง