Friday, October 13, 2017

ตอน : ยกเครื่องครูก่อนดีไหม?

ในดวงใจครู  ตอน : ยกเครื่องครูก่อนดีไหม?


        ความเห็นของผู้ปกครองบางคนที่เขียนถามเราว่า  "สอนหนังสือยังไง... ทำให้ลูกฉันสอบตก?" ทำให้ผมกับวิศิษฐ์กังวลมาก  แม้เราจะไม่เคยสอบตก  เพราะเรียนเก่ง  แต่ผมมีน้องชายคนหนึ่งซึ่งเรียนอ่อนด้อยกว่าพี่น้องที่สอบเข้าเรียนมัธยมในโรงเรียนรัฐบาลได้  ในขณะที่น้องคนนี้สอบตก  ต้องไปเรียนโรงเรียนราษฎร์  แม่ผมแอบร้องไห้สงสารลูก  ส่วนลูกคนอื่นๆ ก็สงสารแม่ที่ต้องทำงานหนักขึ้น  บรรยากาศในบ้านจึงเศร้าซึมนานเป็นเดือน  ไม่มีเสียงหัวเราะเลย

        เหตุใดเราจึงทำให้เกิดสภาวะเศร้าซึม  เดินซ้ำรอยครอบครัวของผมขึ้นในบ้านของลูกศิษย์ที่สอบตกหลายสิบหน?  คำถามตามเราไปตลอดเวลา  ทำเอาวิศิษฐ์กับผมเซ็งในอารมณ์และเปลืองบุหรี่มากขึ้น  มองเห็นผู้ปกครองเข้าห้องธุรการทีไร  เราก็เสียวสันหลัง(หวะ) ผวาในใจว่าพวกเขาจะไปต่อว่าบราเดอร์ "รับครูด้อยคุณภาพมาสอนหนังสือได้ยังไง?"

        ในที่สุด  เราก็รวบรวมความกล้าเข้าพบบราเดอร์ฟิลิป  เรียนหารือขอคำแนะนำจากครูใหญ่  ท่านมีประสบการณ์สอนมานานนับสิบปีแล้ว  ท่านหัวเราะปลอบใจเรา  แล้วนำสมุด ต.๒ก. บันทึกคะแนนวิชาผลการสอบของทั้งสองห้องมาพิจารณา  และปรารภว่า  "...คนที่ ๑ ได้ไม่ถึง ๘๐%  คนที่โหล่ได้ไม่ถึง ๔๐%  มาสเตอร์คงจะออกข้อสอบยากไปหน่อย..."

        ช่วงปิดเทอม  เรามีเวลาทบทวนการสอน และการออกข้อสอบ  แต่เพราะความเป็นครูใหม่ที่ไม่เคยเรียนรู้หลักการ "วิชาครู" (ปัจจุบันเรียกว่า "วิชาการศึกษา")  เราจึงไปเรียนรบกวนถามคุณครูเฉลิม ศรีสว่าง  ที่บ้านพักครูหลังโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  เพราะคุณครูเป็นนักเรียนที่ได้รับทุนไปเรียนจบระดับประโยคครูมัธยมจากสถาบันการฝึกหัดครู   เมื่อฟังวิศิษฐ์กับผมปรับทุกข์ต่อท่านแล้ว  คุณครูเฉลิมก็หัวเราะ  ย้อนถามว่าเราพอจำข้อสอบที่ออกไปได้บ้างไหม?  ผมย่อมยังจำข้อสอบวิชาเลขคณิตได้ทั้ง ๕ ข้อ  วิศิษฐ์ก็จำข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่เขาออกเองได้ทั้งหมด  เราจึงบอกให้คุณครูฟังทีละข้อๆ  คุณครูฟังไปจุ๊ปากไปพลาง

        เมื่อฟังจบ  คุณครุก็ถามทันที่  "...นี่เธอ  ถ้านักเรียนอย่างนายศุภกิจ นายวิศิษฐ์ละก็คงจะสอบได้  เพราะมันยากเกือบทุกข้อน่ะ?..."

        "ถ้าเธอออกข้อสอบเพื่อวัดผลให้ทั่วถึงทุกระดับสติปัญญาของนักเรียนทั้งหมดละก็  เธอควรจะออกข้อสอบจากระดับง่ายๆ ไล่ไปหายาก เช่น

         ข้อที่ ๑  เป็นข้อสอบง่ายๆ  เพื่อให้ทุกคนในห้องเรียนสามารถตอบได้ถูก
         ข้อที่ ๒  เป็นข้อสอบง่ายน้อยลง  แต่คนส่วนใหญ่ตอบได้  เว้นแต่คนไม่อ่านหนังสือ หรือไม่
                   ทำแบบฝึกหัด
         ข้อที่ ๓  เป็นข้อสอบที่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากประมาณว่า  นักเรียนครึ่งห้องตอบได้ถูก
         ข้อที่ ๔  เป็นข้อสอบที่ค่อนข้างยาก  แต่นักเรียนราว ๒๐% ยังทำได้  คนที่ขยันเรียนฝึกทำ
                   แบบฝึกหัด/ การบ้านเสมอๆ ก็ยังพอทำผ่านได้
         ข้อที่ ๕  เป็นข้อสอบยากเลย  เพื่อวัด(กึ๋น) ว่าใครในห้องเรียน หรือระดับนี้ที่เก่งจริงๆ ใน
                   วิชานี้  ประมาณจะมีคนทำได้สัก ๑๐% ของคนทั้งห้อง

         "ถ้าจะให้ดี  ควรให้นักเรียนเลือกทำแค่ ๔ ข้อจาก ๕ ข้อ"

         ผมกับวิศิษฐ์กราบขอบคุณคุณครูแล้ว  เราจึงทบทวนกระบวนการสอนของเรา  จึงสำนึกได้ว่าเราทำผิดถึง ๒ ประเด็นสำคัญ คือ

        ๑.  สอนเร็วเกินแผน  ทำให้นักเรียนที่เรียนช้าตามไม่ทันแทบทุกวิชา  พาให้เบื่อการเรียน  แอบอ่านหนังสือการ์ตูน  เพราะโรงเรียนอนุญาตให้นำวารสาร "วีรธรรม" มาขายในโรงเรียน  แม้กำชับว่าห้ามอ่านในเวลาเรียนก็ตาม  แต่...บราเดอร์อธิการเซราฟิน  ท่านอุตส่าห์เดินหอบปึก "วีรธรรม" ตระเวนขายให้นักเรียนตามห้องต่างๆ เองด้วย   ผมสอนแค่ ๒ เทอมก็สอนจบเล่มตำรา  ดังนั้น  เทอมที่ ๓ วิศิษฐ์กับผมจึงสอนอีกรอบหนึ่ง  แต่เป็นการสอนแบบทบทวนและให้การบ้านบ้างพอให้ได้ "ซ้อมมือ"

        ๒.  ออกข้อสอบยากเกินเหตุ  ขาดเมตตา  เพราะเวลาผมร่างข้อสอบในเทอมแรกนั้น  คิดเพียงว่าเราจะตั้งคำถามยังไงถึงจะซับซ้อนจนนักเรียนอ่านข้อสอบแล้ว  "อึ้ง ทึ่ง เสียว" ประมาณนั้น  บาปกรรมตามทัน  เป็นผลให้นักเรียน(แกล้ง?) สอบตกซะกว่าครึ่งห้อง  ทำให้สองมาสเตอร์เดือดเนื้อร้อนใจไปพักใหญ่ทีเดียว

        เริ่มเปิดเทอมกลาง  ผู้ปกครองของนักเรียนที่สอบตกกว่าสิบรายมาขอร้องวิศิษฐ์ และผมไปสอนพิเศษให้ลูกหลานของเขา  แต่เราก็ปฏิเสธอย่างนิ่มนวลทุกราย  บอกว่าเรายินดีให้ศิษย์ทุกคนไปปรึกษาขอคำแนะนำได้ฟรี  แต่กรุณาไปหาผมได้ในเวลากลางวัน ณ ร้านกาแฟที่อยู่ริมถนนสายกลางข้างๆ ร้านขายยาแผนจีนชื่อ "ตั้งจีเคี้ยวตึ๊ง"

        ทุกเช้าผมกับวิศิษฐ์จะกินกาแฟที่นั่นก่อนไปทำงาน  เลิกงานก็แวะมากินอีก  ผมจะนั่งจมอยู่วันละ ๒-๓ ชั่วโมง  โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์อยู่ที่ร้านกาแฟแต่เช้าจนเย็น  เล่นหมากฮอร์สบ้าง  หมากรุกจีนบ้าง  แต่ถ้ามีครบสามคนเราจะเล่น "เก็งหลิ่วคิ้ว"  เพราะตื่นเต้นเร้าใจชิงไหวชิงพริบกันมาก  คงคล้ายๆ การเล่นไพ่ "โป๊กเกอร์" กระนั้น   เราไม่ได้เล่นพนันเอาทรัพย์สินเงินทอง  เพียงกำหนดกติกาสวนทางกับภาษิตจีน  คือ  ผู้แพ้เป็นเจ้า(มือ)คือ  ต้องจ่ายค่ากาแฟทั้งวง  รวมทั้งของกองเชียร์  แต่ถ้าเป็นช่วงกลางวัน  เดิมพันเรียกในวงว่า "ส่วยเชลย" คือ ก๋วยเตี๋ยว/ บะหมี่ "ฮุยเม้ง" เจ้าอร่อย

        ผมเชื่อว่าลูกศิษย์รู้ว่าถ้าจะถามการบ้าน หรือวิชาที่สงสัยต้องไปหาผมที่ร้านกาแฟ  แต่ตลอดหลายปีที่ผมนั่งประจำอยู่  ไม่มีศิษย์คนใดไปพบเพื่อไต่ถามวิชา  เว้นแต่  "เพิ่มทรัพย์ สัทธาธิก" ขณะนั้นยังอยู่ ป. ๔  แต่มีบ้านของพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ นั้น  เขาไปเป็น "กองเชียร์ของมาสเตอร์"  ไม่เคยถามถึงวิชาสักแอะเดียว

        วันหนึ่ง คุณ(เจ้) เจน แม่ของธีระ ธีรสวัสดิ์  ซึ่งนับญาติกับผม  จึงหวังดีคือ  เกรงว่าผมขลุกอยู่ที่ร้านกาแฟอย่างไร้สาระ  จึงปรารภว่า  คุณ(พี่)ระดม เสาจินดารัตน์  นายกยุวพุทธิกสมาคมลำปางอยากจะเชิญผมกับวิศิษฐ์ไปเป็นวิทยากรอาสา  ช่วยเล่านิทานดีๆ ให้เด็กๆ ที่มาเข้าอบรมในห้องเรียน "พุทธศาสนา วันอาทิตย์"  จัดกิจกรรมที่วัดคะตึกเขียงมั่น
วัดคะตึกเชียงมั่น ลำปาง (Cr. website)

        วันอาทิตย์ต่อมา  วิศิษฐ์กับผมจึงไปช่วยกิจกรรมดีๆ ดังกล่าว  ซึ่งมีคุณ(พี่)ศักดิ์ รัตนชัย ดำเนินการตลอดมาตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. จนเลิก ๑๑.๓๐ น.   การเปิดตัววิทยากรมีชั้นเชิงทางจิตวิทยาดีมาก  ทำให้เรานำไปดัดแปลงใช้ได้ดี  กล่าวคือ  เมื่อผมกับวิศิษฐ์ไปร่วมงานครั้งแรก  (พี่)ศักดิ์ประกาศไว้ว่า "วันนี้เรามีวิทยากรซึ่งจะนำรางวัลมาให้เด็กประพฤติดี  ตั้งใจเรียนเท่านั้น  วันนี้จึงให้นักเรียนตั้งใจสวดมนต์  ร้องเพลง  ตอบปัญหาธรรมะที่เรียนแล้ว  ถ้านักเรียนทำดีครบถ้วนละก็   นี่...มาสเตอร์ศุภกิจ  จะให้รางวัลโดยการเล่านิทาน  เรื่องอัศวินโต๊ะกลม  และมาสเตอร์วิศิษฐ์จะให้รางวัล คือ เล่านิทานเรื่อง "เมาคลีลูกหมาป่า" ..."

        เฮ...นักเรียนตื่นเต้นฮือฮา  แล้วรีบระงับอาการตื่นเต้นดีใจเป็นอาการสงบตั้งใจเรียนและปฏิบัติดีกว่าเดิม

        วิศิษฐ์อ่านเรื่อง "เมาคลี  ลูกหมาป่า"  หลายรอบจำขึ้นใจ  ในขณะที่ผมเก็บเรื่องจากหนังสือเรียนภาษาอังกฤษนอกเวลาเรื่อง "Galett and Linet"  เป็นนิทาน "อัศวินโต๊ะกลม" และนิยายของ มาร์คทเวน Mark Twain (pen name of Samuel Langhorne Clemens - wikipedia) เรื่อง ทอมัส ซอเยอร์ Thomas Sawyer  เล่าเป็นตอนๆ ครั้งละ ๑๐ กว่านาทีก็พอจบตอน  เพื่อล่อใจให้เด็กๆ อยากมาฟังและทำกิจกรรมในอาทิตย์ต่อๆ ไป  

Mark Twain (American)
Tom Sawyer
(Cr. Wikipedia)


        ศิลปะการเล่านิทานเป็นตอนๆ แบบนี้  คนบ้านนอกอย่างวิศิษฐ์และผม  และคนรุ่นอายุเกิน ๖๐ ปี มักจะมีประสบการณ์จากการดูหนังฟรีของรถเร่ขายยา  เรียกกันว่า "หนังกลางแปลง" (*แถวบ้านผมเรียก "หนังผีโผด(โปรด)"  หมายถึง  หนังหรืออะไรก็ตามที่ได้รับมาโดยไม่ได้ใช้จ่ายลงทุนลงแรงอะไร  บริษัทหรือโรงงานผลิตยาแผน(ใหม่) ปัจจุบัน  ต้องการโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์และขายยาตรงถึงผู้ใช้  จึงจัดรถเร่ออกไปทั่วประเทศ  ก่อนจะฉายก็จะตระเวนรถไปตามชุมชนต่างๆ  ประกาศเชิญคนไปดูหนังที่ไหน? วันเวลาใด?  โดยมากใช้ลานวัดสนามหน้าศาลากลางจังหวัด  ลานหรือสนามหน้าที่ว่าการอำเภอ

        เวลาฉายหนังกำลังถึงตอนจะสนุก หรือตื่นเต้นละก็  "หนังขาด" ขึ้นมาเชียว

        ผู้จัดฉายหนังก็เปิดไฟโฆษณายา และเชิญชวนคนดูหนังไปซื้อยา  ประมาณว่า "ถึงเป้าหมาย" ก็ฉายต่อ  และ  "หนังขาด" เป็นระยะๆ  ตอนผมยังเล็กเด็กน้อยตามผู้ใหญ่ไปดู  พอ "หนังขาด" ก็เซ็งและง่วงหลับไป  ถ้ารถของบริษัทใดมี "หนังขาด" บ่อยเกินควร  คนก็จะไปน้อยต้องจัดสมดุลด้วย  

        ผลสอบเทอมกลางหลัง "ยกเครื่อง" ครูหนุ่มทั้งสองก็ออกข้อสอบได้ตามวิธีที่ได้รับคำชี้แนะ  ทำให้ยกระดับผลคะแนนขึ้น  โดยนักเรียนสิบอันดับบนได้ ๘๐-๙๐%  สอบตกยังมีก็จริง  แต่น้อยราว ๕-๖ คน  คะแนนไม่ต่ำกว่า ๔๕%   ก่อนสอบไล่ ๑ เดือน  เราทวนทุกวิชา  คือ สอนเร็วๆ อีกรอบหนึ่ง  จึงมีคนสอบไล่ตกเพียงห้องละ ๑ คน

        บราเดอร์คณะผู้บริหารจึงให้ครู  "ยกชั้น"  ตามศิษย์ไปประจำชั้นทั้ง ๒ คน  ทำให้มาสเตอร์ และศิษย์ดีใจมาก  มีสัญญาใจว่าจะร่วมมือกันได้ดีกว่าเดิม