ในดวงใจครู ตอน : เรียนยังไงให้...ยกชั้น
เรา คือผมและวิศิษฐ์รู้ดีว่าภารกิจสำคัญ คือสอนนักเรียนให้สอบไล่ "ยกชั้น" เพราะชั้น ม. ๓ เป็นชั้นประโยคที่ต้องไปสอบไล่ด้วยข้อสอบของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ถ้าโรงเรียนใดสอบได้ ๑๐๐% ก็มีสิทธิ์รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนของรัฐบาล และมีสิทธิ์จัดสอบไล่เองได้
ผมกับวิศิษฐ์คิดหาวิธี "ส่งเสริมการเรียน" แต่เมื่อผมแจงวิธีดำเนินการและเทคนิคกระตุ้น "ต่อมอยากเรียนดี" ให้ฟังแล้ว วิศิษฐ์เห็นด้วยเพียงเรื่องเดียว คือ การเล่านิทานเป็นรางวัล ซึ่งเขาก็กังวลเพราะ บราเดอร์เซราฟินอธิการ ได้ห้ามครูเล่านิทานในชั่วโมงเรียน เราก็เล่าตอนเลิกเรียน โดยตั้งชื่อรายการว่า " ๕ นาที กับอัศวินโต๊ะกลม" ส่วนวิศิษฐ์ก็จัดรายการ "๕ นาที กับเมาคลีลูกหมาป่า" โดยมีเงื่อนไขว่า "ตลอดการเรียนทั้งวันนั้น ทุกคนในห้องเรียนต้องไม่ทำผิดใดๆ คือ ใช้อำนาจของสังคมกำกับพฤติกรรมของนักเรียนเองให้มีวินัย และรู้จักความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ครั้งหนึ่ง มีนักเรียนคู่หนึ่งซึ่งปกติก็เรียนดี และเรียบร้อย แต่ไม่รู้ว่าเกิดผิดใจกันด้วยเหตุใด ช่วงพักกลางวัน มีนักเรียนวิ่งมาบอกผมให้ไประงับเหตุที่นักเรียนชกต่อยกัน ผมก็รีบไปดูจึงเห็นทั้งคู่ต่อยกันอยู่ในร่องน้ำที่แห้งกรัง พวกเขาเห็นครูมาก็หยุดชกกันและปีนขึ้นจากร่องน้ำ พวกเขาคงคิดหวั่นว่าตัวเองจะถูกลงโทษสถานใด? ผมไม่แสดงอาการว่าจะลงโทษ แต่กลับเรียกให้ทั้งคู่นั่งซ้อนจักรยานไปกับผม นั่งคานหน้าคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งตะแกรงท้าย
ผมพาไปที่ร้านค้า สั่งน้ำอัดลมมาดื่มคนละขวด เมื่อดูว่านักเรียนสงบสติอารมณ์แล้ว ผมถามพวกเขาว่า "...กลับไปต่อยกันอีกไหม?" "ไม่เอาแล้วครับ"
วันนั้น ผมงดการเล่านิทาน! นักเรียน "เสพติดนิทาน" ทั้งห้องร้อง "ว้า...ทำไมล่ะครับ?" ผมชี้ไปที่ "นักมวย" บอกให้เขาเล่าเหตุผลให้เพื่อนๆ ฟัง พวกเขาอ้อมแอ้มว่า "เราชกกัน" เขาจึงขอโทษครูและเพื่อนๆ ทั้งให้สัญญาว่าจะไม่ทำให้เพื่อนๆ อดฟังนิทานอีก
ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ชาติต่างๆ จึงคิดว่า ถ้านำรูปแบบการสร้างคนอย่าง แคว้นสปาร์ต้า ในยุคกรีกโบราณผสมผสานกับการทำงานแบบรับผิดชอบร่วมกันของเยอรมนี มาปรับใช้กับนักเรียนให้ "เรียนและทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม" น่าจะได้ผลดีกว่า "ต่างคนต่างเรียน" ซึ่งคนเก่งๆ สอบได้คะแนนเกือบ ๑๐๐% ในขณะที่พวกเรียนท้ายๆ สอบได้เกือบ ๕๐% ทำอย่างไร?? ผมต้องเสี่ยงทำให้ปรากฏผลดีก่อน เผื่อวิศิษฐ์จะทำตามในอนาคต
วิธีการของผมทำดังนี้ครับ
บ่ายวันหนึ่งในชั่วโมงของวิชาที่ผมสอนเอง ผมประชุมนักเรียนแล้วให้ทุกคนเขียนชื่อ และผลการสอบครั้งล่าสุดของตัวเอง ระบุเปอร์เซ็นต์และลำดับที่ที่สอบได้
ผมให้นักเรียนที่สอบได้อันดับ ๑-๔ ออกมายืนหน้าชั้น ให้แต่ละคนเขียนชื่อตนเองและเปอร์เซ็นต์ที่สอบได้บนกระดานดำให้แต่ละคนเป็นหัวหน้ากลุ่มเรียน สมมุติ
๑. วิชาญ ตันยืนยง ๙๑.๒๕%
๒. อดิสรณ์ ชัยพยุงพันธ์ ๙๐.๕๐%
๓. วิโรจน์ แซ่เตี๋ยว ๘๙.๗๕%
๔. สุเมธ ฮั่นตระกูล ๘๑.๒๕%
ทั้ง ๔ คนนี้ เป็นหัวหน้ากลุ่มเรียนที่ ๑ ถึงกลุ่มเรียนที่ ๔ แต่ละคนเขียนชื่อตัวเองและเปอร์เซ็นต์คะแนนที่สอบได้ เรียงไปตามแนวยาว ผมให้นักเรียนทยอยออกมาทีละ ๔ คน ตามลำดับที่สอบได้ ให้เลือกสมัครว่าตนอยากเป็นสมาชิกในกลุ่มเรียนใด ก็ไปเขียนชื่อตัวเองพร้อมเปอร์เซ็นต์ไว้ แต่ต้องไม่เลือกซ้ำกันกับคนอื่นในชุด
ในที่สุด แต่ละกลุ่มเรียนก็จะมีสมาชิก ๑๐ คน ๓ กลุ่ม อีกกลุ่มมี ๑๑ คน เพราะชั้น ม. ๓ มีนักเรียนรวม ๔๑ คน ให้คำนวนโดยบวก "คะแนนรวมของแต่ละกลุ่มนี้ "เฉลี่ย" ได้เท่าไหร่? อัตราที่ปรากฎคือ เปอร์เซ็นต์ต้นของแต่ละกลุ่ม สมมุติ
กลุ่มเรียนที่ ๑ มีคะแนนต้น ๖๐.๒๕%
กลุ่มเรียนที่ ๒ มีคะแนนต้น ๕๙.๕๐%
กลุ่มเรียนที่ ๓ มีคะแนนต้น ๖๐.๐๐%
กลุ่มเรียนที่ ๔ มีคะแนนต้น ๕๘.๗๕%
หัวหน้ากลุ่มและสมาชิกในกลุ่ม ต้องรับผิดชอบร่วมกันพัฒนาการเรียนของสมาชิกกลุ่มให้ดีขึ้นกว่าเดิม คือ มีผลคะแนนเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยในการสอบคราวต่อไปสูงขึ้นกว่า "คะแนนต้น" และถ้ากลุ่มใดทำได้สูงกว่าทุกกลุ่ม ก็ย่อมเป็น "กลุ่มชนะเลิศ" กลุ่มรองลงมาเป็น "กลุ่มรองชนะเลิศ" กลุ่มที่มีเปอร์เซ็นต์พัฒนาน้อย หรือต่ำกว่าทุกกลุ่มก็จะเป็น "กลุ่มบ๊วย" และ "กลุ่มรองบ๊วย"
นักเรียนตื่นเต้นสนุกเหมือนได้เล่นเกมชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกกลุ่มมีโอกาสเท่าๆ กัน จึงท้ากันว่ากลุ่มใดพัฒนาต่ำสุด(บ๊วย) ต้องร่วมกันจัดข้าวราดแกงมาเลี้ยงคนทั้งหมด "กลุ่มรองบ๊วย" ให้จัดหาขนมและน้ำอัดลม "กลุ่มรองชนะเลิศ" จัดหาผลไม้ กำหนดเลี้ยงหลังวันประกาศผลสอบแล้ว ๑ สัปดาห์ ถัดการเลี้ยงแล้ว ทั้งมาสเตอร์และนักเรียนไปเที่ยวทางรถไฟไปชมถ้ำ หรืออุโมงค์รถไฟและปีนเขาขุนตาน
ตั้งแต่จัดกลุ่มเรียนแล้ว หลังเลิกเรียนในแต่ละวัน กลุ่มการเรียนทั้งสี่ก็รวมตัวกันตามมุมสงบต่างๆ ของโรงเรียน บางกลุ่มยกคณะไปรวมตัวกันที่บ้านสมาชิกคนใดคนหนึ่ง พวกเขาร่วมกันคิดทำการบ้าน ทำแบบฝึกหัดต่างๆ สนุกด้วย ได้ความรู้ด้วย...
แต่สำคัญที่สุดคือ การร่วมสามัคคีทำงานสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวม ซึ่งต้องการอย่างมากๆ ในสังคมไทย
หลังประกาศผลสอบเทอมต้นแล้ว ผมให้นักเรียนจัดกลุ่มการเรียนขึ้นใหม่ โดยให้หัวหน้ากลุ่มมาจากผู้ที่ได้ที่ ๑-๔ ซึ่งอาจไม่ใช่ชุดแรก แต่บรรดาสมาชิกสลายตัวแยกย้ายไปสลับกับสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสร่วมงานกับเพื่อนๆ ในชั้นอย่างหลากหลาย หากได้จัดดำเนินการเช่นนี้ตั้งแต่ปีกลาย การคลุกเคล้านักเรียนให้ร่วมงานกันจะดีกว่านี้...แต่...ผมเพิ่งคิดได้ ก็รีบนำเอามาใช้ทันที
ผลการสอบเทอมกลางดีขึ้นกว่าเดิมโดยรวม ซึ่งเป็นส่ิงที่ผมคาดหวัง แต่ผลคะแนนของ "กลุ่มการเรียน" กลับเปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มที่เคยชนะเลิศก็ไม่ได้กลุ่มที่เคย "บ๊วย" กลับดีขึ้น "ไม่บ๊วย" เทอมปลายมีกิจกรรมพิเศษเข้ามา ทำให้กิจกรรมกลุ่มการเรียนไม่ค่อยเข้มข้น เพราะบางกลุ่ม หัวหน้าซึ่งเป็น "ติวเตอร์" ด้วยต้องไปทำกิจกรรมพิเศษ
ดังนั้นในเทอมปลาย ซึ่งนักเรียน ม. ๓ ต้องไปสอบที่โรงเรียนบุญวาทย์ฯ วิศิษฐ์กับผมจึงต้องเปิดห้องสอนพิเศษฟรี เฉพาะนักเรียนที่เรียนอ่อนๆ เสี่ยงต่อการ "สอบตก" จะพลอยทำให้ความหวังพังทลาย เพราะเราตั้งเป้า "ยกชั้น" เท่านั้น
เราคัดนักเรียนที่ผลการเรียนในวิชาหลักคือ "คณิต - วิทย์" ต่ำกว่าเกณฑ์ ๖๐% ในการสอบ ๒ ครั้งก่อนได้จำนวน ๒๐ กว่าคน จากทั้งห้อง ก. และ ข. มารวมกันในห้องเรียนในเวลาหลังเลิกเรียน วิศิษฐ์สอนทบทวนวันจันทร์ กับพุธ ผมสอนวันอังคารกับวันศุกร์ (*วันพฤหัสโรงเรียนหยุด)
ช่วงแรกๆ วันใดที่ผมสอน วิศิษฐ์ก็นั่งรอในห้องพักครู วันใดวิศิษฐ์สอน ผมก็อ่านตำราระดับชั้นเตรียมอุดมเพื่อเตรียมตัวสอบให้ได้รับวุฒิครู คือ "ประโยคครูพิเศษประถม(พ.ป.)" ซึ่งวิศิษฐ์กับผม สมัครเข้าสอบเป็นครั้งแรก เมื่อเราสอนครบหนึ่งปีแล้วจึงมีสิทธิ์สมัครสอบได้
ต่อมาวิศิษฐ์ ซึ่งเป็นนักกีฬายอดเยี่ยมในเชิงเตะตะกร้อ ชนะเลิศมาตั้งแต่เป็นหัวหน้าทีมนักเรียน และต่อมาก็ชนะเลิศประเภทประชาชน วิศิษฐ์เห็นว่าสนามแบดมินตันที่อยู่ด้านซ้ายของอาคารไม้นั้น มักว่างอยู่ในเวลาบ่ายๆ จึงขออนุญาตใช้ฝึกการเล่นตะกร้อข้ามตาข่าย ตั้งเป้าว่าจะส่งเข้าแข่งขันในกีฬาประจำปีประเภทนักเรียน แพ้ชนะไม่เป็นไร เราต้องการให้สังคมลำปางรับรู้ว่ามี "โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง" อยู่ในสนามกีฬาแล้วนะ
ผมก็เสนอจะฝึกสอนกีฬาวอลเล่ย์บอล ซึ่งทางโรงเรียนก็จัดสนามให้พร้อมกับอุปกรณ์ ผมรู้กติกาและเทคนิคดี เพราะสมัยเป็นนักเรียนเคยเป็นนักกีฬาประเภทนี้ แต่คุณครูสมบูรณ์ ยศสมแสน ซึ่งเป็นครูพละบอกผมว่า "ศุภกิจ...เธอเป็นตัวสำรองนะ มาช่วยครูดูจุดอ่อนจุดแข็งของทีม แล้วช่วยเสนอแนะด้วย..." เหตุผลคือ ผมเป็น "คนขี้โรค" แม้รู้ดีว่าจะตีลูกยังไง แต่ไม่มีแรงพอจะทำได้ ผมจึงนั่งอยู่ข้างๆ คุณครูในหน้าที่คล้ายๆ "ผู้ช่วยโค้ช"(ฮา)
ในปลายเดือนธันวาคม วิศิษฐ์กับผมก็นำนักกีฬา สมัครเข้าแข่งในกีฬาประจำปีของจังหวัด โดยทีมตะกร้อได้รองชนะเลิศรุ่นเล็ก ส่วนทีมวอลเล่ย์บอลรุ่นกลางได้ที่ ๓ แฟนๆ คอกีฬา จึงทึ่งที่เราส่งเข้าครั้งแรกเพียงประเภทละทีม กลับทำให้วงการกีฬาของจังหวัดกล่าวขวัญถึงว่า โรงเรียนเพิ่งก่อตั้ง ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง ๔๐๐ คน อีกไม่ช้าทีมกีฬาของอัสสัมชัญฯ จะเป็นคู่ชิงกีฬากับโรงเรียนบุญวาทย์ฯ ได้ทีเดียว
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ผมและวิศิษฐ์ตามไปให้กำลังใจศิษย์เกือบ ๘๐ คน ที่เข้าชิงชัยในสนามสอบไล่ที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เด็กๆ มีอาการกังวล "ตื่นสนาม" เพราะแปลกที่แปลกบรรยากาศ อีกทั้งคาดไม่ถูกว่า แนวข้อสอบจะเป็นอย่างไร?
ครั้นรู้ผลการสอบไล่ที่ออกมาในต้นเดือนมีนาคมนั้น ผลรวมคือ สอบได้ "ยกชั้น" อีกทั้งคนที่เราเป็นห่วงหลายคนก็สอบได้คะแนนดี ทั้งๆ ที่อยู่รั้งท้ายเพื่อนยังได้เกือบ ๖๐% พอเขาได้รับสมุด(พก) ประจำตัว เห็นคะแนนเท่านั้นแหละ... ความสุขก็อาบไปทั่วร่างของเขาทุกอณู...
เราแอบดีใจปลื้มใจกับศิษย์ทุกคน และร่วมกินข้าวสังสรรค์กับพวกเขา ซึ่งยังมี "กลุ่มบ๊วย" "กลุ่มรองบ๊วย" และ "กลุ่มรองชนะเลิศ" ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเช่นเคย