บราเดอร์อธิการเซราฟิน ออกจากห้องตรงไปหาวิศิษฐ์ซึ่งยืนรออยู่นอกประตูห้อง บรรยากาศในห้อง ม. ๒ก. ของผมดีมาก ผมแนะนำตัวเพิ่มอีกเล็กน้อย เช่น ผมพักอยู่ที่ไหน เผื่อศิษย์คนใดติดขัดเรื่องการบ้าน ก็แวะไปขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ เวลานั้น ลำปางยังเป็นเมืองเล็กๆ สังคมแคบๆ คนอยู่ในเมืองหรือพวก "เด็กตลาด" อย่างผม ย่อมเป็นคนคุ้นหน้าของนักเรียนส่วนใหญ่ ดีไม่ดีผมหรือวิศิษฐ์อาจจะเคย "แอบเหล่" พี่สาวของพวกเขาบ้างก็ได้นะ
Cr. from website ภาพลำปางในอดีต |
Cr. from website ภาพลำปางในอดีต |
ที่อยู่ของผมแต่เดิมเป็นร้านค้า อยู่สี่แยกถนนสายกลาง (ทิพย์ช้าง) ตัดกับถนนตลาดสด (ทิพวรรณ) แล้วผมก็บอกให้นักเรียนแนะนำตัวให้ผมรู้จัก พร้อมบอกที่อยู่ที่ตั้งบ้านของแต่ละคนด้วย ผมจดจำไว้เพื่อจะไปพบผู้ปกครองหากนักเรียนเกิดปัญหา ผมขานชื่อทีละคน นักเรียนขานรับและแจ้งเลขที่ ถนนหรือยี่ห้อการค้าของผู้ปกครอง ขานชื่อไปจนลำดับที่สุดท้ายแล้ว ผมจึงประมวลข้อมูลที่อยู่ของลูกศิษย์เป็นกลุ่มตามทำเลที่อยู่ ได้แก่ กลุ่มเด็กตลาดในเวียงมี ๑๒ คน
ผมรู้จักดี สมมุติถ้าเดินสำรวจก็จะเป็นจังหวะก้าวดังนี้ครับ
เดินจากหน้าบ้านข้ามถนนสายกลางไปฝั่งตรงกันข้าม มีร้านถ่ายรูปทำฟันชื่อร้าน "จันหมัน" คือ ที่อยู่ของอดิศร ชัยพยุงพันธ์
ถ้าผมเดินออกจากบ้านด้านถนนตลาดสด (ทิพวรรณ) เดินมุ่งไปตลาดบริบูรณ์ แต่ไปแค่ ๓๐ เมตรก็ถึงร้านตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ ซึ่งคุณพ่อของวิโรจน์ รัชวัฒนะ เป็นผู้จัดการ ติดๆ กันนั้นมีร้านรับซ่อมเครื่องไฟฟ้าของมาสเตอร์บุญสม บุณยสมภพ ถัดไปอีกเป็นร้านชัยประสาน ขายเครื่องอะหลั่ยรถยนต์เจ้าแรกในลำปาง คือที่อยู่ของเกษมสุข สุรวิชัย
ถ้าผมย้อนกลับมายังสี่แยกหน้าบ้านผม แล้วเดินตรงขึ้นเหนือไปตามถนนสายกลาง เดินข้ามสามแยกราชวงศ์ไปอีก ๒-๓ คูหา มีร้านขายส่งผ้า "ดำรงชัย" ที่อยู่ของ ณรงค์ชัย เทพบินการ เดินต่อไปถึงสี่แยก (ตลิ่งไปรษณีย์) มุมแรกเป็นที่อยู่ของพงษ์เทพ หมอสมบูรณ์ อีกมุมหนึ่งของ "หลิ่ง-ไปรษณีย์" มีร้านขายจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บชื่อ ร้านอาภรณ์ภัณฑ์ ที่อยู่ของเกรียงไกร หรรษ์หิรัญ
เดินตามถนนไปรษณีย์ ไปทางแยกศาลากลางแต่ไปเพียง ๓๐-๔๐ เมตร ด้านขวามือมีคลินิกหมอ(น.พ.) ศรีรัตน์ บุญเฉลียว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปางคนแรก ติดๆ กันนั้นเป็นตึกแถวหลายคูหา เป็นร้านขายเครื่องยนต์เครื่องมือการเกษตร ชื่อห้างนรงค์ชัย และสำนักงานหนังสือพิมพ์ เอกราช ของพ่อแม่ศิษย์ชื่อ ธรรมรักษ์ พิชญกุล
ถึงแยกศาลากลาง เลี้ยวขวาเป็นถนน "๙ มิถุนา" เดินมุ่งไปทางวัดสวนดอก แต่พอถึงหน้าโรงหนังลำปางภาพยนต์จะมีภัตตาคารศรีนคร ตั้งอยู่ปากทางเข้า คือที่อยู่ของชูเกียรติ ตันสุวรรณ จากจุดนั้นเดินตามถนน ๙ มิถุนา ถึงโรงหนังเฉลิมวัฒนา ติดกันนั้น มีร้านเชอรี่เบเกอรี่ ทำเค้กอร่อยขายเป็นเจ้าแรกในลำปาง ที่อยู่ของสัจจา ศรีสินธร หากผมยืนฟากตรงข้ามร้านเชอรี่เบเกอรี่ แล้วเดินเลาะไปตามถนน ๙ มิถุนา สัก ๔-๕ คูหา ถัดจากกลุ่มลัคกี้ มีร้านรับตัดเสื้อผ้า นั่นคือ ร้านยงแสง ที่อยู่ของพิภพ แซ่อุ่ย
โรงหนังเฉลิมวัฒนา (ภาพจากเว็บไซต์) |
ผมเดินข้ามถนนกลับมาทางร้านเชอรี่เบเกอรี่ เดินผ่านหน้าโรงหนังเฉลิมวัฒนาที่มีคุณ(ป๋า) อัมรินทร์ โปตะวนิช เป็นเจ้าของ คุณอัมรินทร์มีพรสวรรค์ที่เสียงทุ้มนุ่มจึงได้รับเชิญให้เป็น "โฆษกกิตติมศักดิ์" ทุกงานเทศกาลต่างๆ ของจังหวัด คงทำนองเสียงคุณอาคม มกรานนท์นั่นเอง มุมขวาของโรงหนังปากทางถนนเจริญเมือง เป็นร้านกาแฟ "ยอดนิยม" เพราะทำเลยอดเยี่ยม มองเห็นกว้างครึ่งวงกลม ทั้งคน "ไฮโซ" และข้าราชการนิยมมาอุดหนุนตั้งแต่เช้าจนหนังรอบคำ่เลิก เดินผ่านร้านกาแฟ ร้านขายหนังสือ "ภราดร" เลาะถนนเจริญเมืองไปราว ๓๐ เมตร มีโรงหนังเก่าแก่รุ่นเฉลิมวัฒนา ชื่อ "พัฒนากร" ถัดไปขวามือ คือ ร้านตัดสูทสากล ชื่อร้านไทยงาม ที่อยู่ วิชิต แซ่ด่าน
ผ่านร้านไทยงามไปอีก ๔-๕ คูหา มีร้านขายยาแผนจีน ชื่อ "หน่ำแซตึ้ง" แต่ก่อนถึงร้านขายยา มีตึกแถวห้องหนึ่งซึ่งพ่อแม่ของผมเช่าอยู่ ๓-๔ ปี ช่วงผมเรียนชั้นประถม ตึกหัวมุมติดร้านขายยาเป็นที่ตั้งสำนักงานเศรษฐการจังหวัดลำปาง ฝั่งตรงข้ามด้านถนนเจริญเมืองมีร้านใหญ่ขายเครื่องอุปกรณ์กีฬาต่างๆ ชื่อ ร้านสมัยพานิช ฝั่งตรงข้ามเศรษฐการจังหวัดฯ ด้านถนนสายกลางมีร้านรับตัดเสื้อผ้ากางเกงชื่อร้านนิยม ผมเดินตรงเข้าไปทักเถ้าแก่ซึ่งผมกับวิศิษฐ์เป็นลูกค้ามาตั้งแต่ใส่กางเกงขาสั้นตลอดมาจนเลิกกิจการ
ผมเดินลงตลิ่งไปยังย่านตลาดจีน(เก่า) จนถึงถนนตลาดเก่าเลี้ยวซ้ายเดินไปราว ๕๐ เมตร มีเรือนแถวหลายคูหา สร้างด้วยไม้สักอย่างดีใช้เป็นโรงแรมและที่อยู่ของ พินิจ พันธ์พัฒน์ เดินสุดถนนตลาดเก่าเลี้ยวซ้าย เลาะรั้วโรงเรียนมัธยมราษฎร์ (แห่งเดิม) ขึ้นตลิ่งกลับเข้าถนนสายกลาง เลี้ยวขวาเข้าถนนสายกลาง มุ่งหน้าไปยังโรงไฟฟ้า (แห่งเดิม) ก่อนถึงสามแยกหน้าโรงไฟฟ้า มีโรงไม้ขายไม้แปรรูปต่างๆ เพื่อการก่อสร้าง สมชัย วงษ์สวัสดิ์ ทายาทโรงไม้มักไม่รอพบหน้ามาสเตอร์ แต่ให้พี่สาวซึ่งเรียนบุญวาทย์ฯ รุ่นเดียวกับผม และผมเรียกเธอว่า "เจ้" รับหน้าแทน โดยอนุญาตว่า "ถ้าน้องๆ มันหลึก(ดื้อ/ ซน) ก็หวดก้นมันเลยนะ..." น้องชายเธอเรียนที่นี่อีกหลายคน
กลุ่มที่ย่านสบตุ๋ยมีจำนวนมากพอๆ กับกลุ่มในเวียง คือ วิโรจน์ แซ่เตี๋ยว บุญเอี๋ยว แซ่จิว วิมล แซ่หยาง หมี่งเซีย แซ่เล้า เหียน แซ่ซื้อ สมศักดิ์ แซ่ห่าน อย่าแปลกใจว่าทำไมโรงเรียนฝรั่งอัสสัมชัญ จึงมีนักเรียนใช้แซ่เยอะแยะ อ๋อ...ก็มาสเตอร์ศุภกิจ ยัง "แซ่นิ้ม" น่ะ
นักเรียนกลุ่มสบตุ๋ยที่เปลี่ยนจาก "แซ่" แล้ว คือ สุธรรม ศุภมงคล สุเมธ ฮั่นตระกูล วิชาญ ตันยืนยง บุญเทียม ลิ้มศิริ เอนก วิรัชกุล สมชัย จินานุกูลวงศ์ ศิษย์ที่อยู่ย่านนี้แต่เป็นไทยแท้ คือ ชยันต์ วิชัยสืบ และเสริม สุรินทร์คำ บ้านเดิมอยู่ทุ่งเสลี่ยม สุโขทัย
ถัดจากย่านสบตุ๋ยไปทางอำเภอเกาะคามี ๒ คน คือ เชาว์ ภาณุมาศ กับประพันธ์ จิระดา ย่านบ้านย่าเป้า ลำปางกลาง กลุ่มนักเรียนที่มาพร้อมกันกลับก็พร้อมกัน คือ ลูกหลานของพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เกาะคา มีรถกระบะคันใหญ่มารับส่ง คือ ธีระ วงศ์วัฒนา ชิงชัย ใยบัวเทศ ไพบูลย์ สังขรัตน์ เกรียงไกร แสงสะอาด อันธี ยมสาร ประเสริฐ ศิริวงษ์ ณ อยุธยา อีกคนหน้าออกฝรั่งๆ และผมสีทอง คือ วรวิทย์ บริราช
ทั้ง เจ็ดคนนี้นับว่าดวงสมพงษ์กับผมจริงๆ เพราะพวกเขามีสิทธิ์เรียนที่โรงเรียนน้ำตาลอนุเคราะห์โดยไม่ต้องลำบากนั่งรถกระบะตากแดดตากฝนมาเรียนถึงในเมือง เผอิญผมเองก็ไม่มีวาสนาได้เป็นครูที่นั่น เราจึงมาร่วมวิถีชีวิตกันที่อัสสัมชัญลำปาง ๓ ปีและสืบสัมพันธ์ฉันครูกับศิษย์ตลอดชีวิต ศิษย์สามคนอยู่ในย่านกิจการป่าไม้ที่ย่านท่ามะโอ คือ มโนเชาว์ นันทวงศ์ วิจารณ์ ศิริประยงค์ และที่เป็นลูกและอยู่บ้านข้าราชการป่าไม้ คือ วิฑูรย์ คำรพมิ่ง
อีกสามคนเป็นลูกนายทหารในค่ายสุรศักดิ์มนตรี คือ อัศวิน กรรณสูต วีรศักดิ์ ไพรัช ธวัชชัย เหมะรัชตะ รวมทั้งห้องมีนักเรียน ๔๒ คน
ผมหมายใจไว้ว่าถ้าจำเป็นจะไปหาใครในย่านสบตุ๋ย ก็จะไปขอให้สุธรรม ศุภมงคล หัวหน้าชั้นให้ข้อมูล หรือพาผมไป ถ้าไม่พบเขา ก็ยังมีวิโรจน์ แซ่เตี๋ยว ร้านใหญ่ใครๆ ก็รู้จัก "จิ้นหลีจั่น" ซึ่งตั้งมาเก่าแก่
ส่วนพวกอยู่เกาะคา ผมคิดว่าถ้าผมจำเป็นไปหาผู้ปกครอง หรือศิษย์ที่นั่นละก็ ผมก็ตรงไปบ้านน้าชายของผม(อาวหนานสนิท) ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานกะหนึ่ง เพียงเห็นนามสกุลน้าก็ย่อมรู้ว่าพ่อแม่ของนักเรียนพักอยู่ ณ ที่ใด
ศิษย์สามคนในค่ายทหารเป็นคนมีวินัยเรียบร้อย ไม่คิดว่าจะต้องไปเยี่ยม
ส่วนอีก ๓ คน ที่ย่านท่ามะโอ เขารู้ดีว่า มาสเตอร์ศุภกิจ และมาสเตอร์วิศิษฐ์ มักไปพักประจำอยู่บ้านเลขที่ ๕๔ ถนนราษฎร์วัฒนา ตรงข้ามประตูวัดท่ามะโอ เดินไปมาหากันได้ภายใน ๕ นาที เท่านั้น ทว่าตลอดช่วง ๓ ปีที่ผมสอนไม่เคยมีใครคนหนึ่งใน ๓ คนนี้โผล่หน้ามาให้เห็นเลย
ดีซะจริงๆ เพราะถ้าเผอิญพวกเขาย่องๆ ตามผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่มาเยือนที่บ้านซึ่งมาสเตอร์อาศัยพักอยู่นั้น บางทีอาจะเห็นครูหนุ่มทั้งสองนุ่งผ้าขาวม้านั่งขัดสมาธิอยู่ใน "วงญาติมิตร" นานๆ จะมีเสียงต่ำๆ ของวิศิษฐ์อุทานว่า "แถ่น" ไม่รู้แปลว่าอะไร แต่หน้าตาของเขาสดใสและหงายไพ่ลงกลางวง