Thursday, October 12, 2017

ตอน : ร่วมกันสรรค์สร้างผลงาน

ในดวงใจครู ตอน : ร่วมกันสรรค์สร้างผลงาน


        ในปี ๒๕๐๒  ปรากฏข่าวใหญ่ในเมืองไทย คือ เจ้าสีหนุแห่งกัมพูชา ฟ้องศาลโลก(ศาลระหว่างประเทศ) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์  อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน "เขาพระวิหาร" ที่จังหวัดศรีสะเกษ ติดแดนกัมพูชา   จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  นายกรัฐมนตรี  ประกาศด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ว่า "เขาพระวิหาร" เป็นของไทยมาแต่โบราณ  เราไม่เคยไปยึดของใครมา  เมื่อหาเหตุไปฟ้องศาลโลก  ไทยจะสู้คดีเต็มที่
Cr. from website


        ต่อมา  ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งอาชีพปกติเป็นนักกฏหมาย  โดยเรียนสำเร็จวิชากฏหมายจากอังกฤษด้วยการสอบได้คะแนนสูงเป็นประวัติการณ์  อาจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ เคยเป็นหัวหน้า "ขบวนการเสรีไทย"  ในสายสหรัฐอเมริกา  เกียรติประวัติดีมาก

        ท่านประกาศตัวอาสาเป็นทนายความไปว่าความสู้คดีนี้  โดยไม่รับค่าจ้าง

        คนไทยเกิดความรักชาติไปทั่วประเทศ  ไม่เว้นแม้แต่ในห้องเรียนของเราก็เกิดขึ้น  เริ่มจากนักเรียน "ลูกทหาร" ในแต่ละห้อง  โดยห้อง ก. มีอัศวิน กรรณสูต  วีรศักดิ์ ไพรัช  และธวัชชัย        เหมะรัชตะ  ส่วนในห้อง ข. มี สุพพัต  และสพรั่ง กัลยาณมิตร  นำเงินค่าขนมคนละบาทสองบาทมาให้ครูประจำชั้น  ผมก็งงๆ ว่าเอามาให้ด้วยเหตุใด?  พวกลูกทหารบอกว่า บริจาคสมทบกองทุน "สู้คดีเขาพระวิหาร"

        วิศิษฐ์และผมรวบรวมเงินบริจาคที่นักเรียนทยอยกันสละค่าขนมมอบให้ทุกวันจนครบทุกคน  รวมทั้งจากครู ๒ หนุ่มด้วย  รวมเงินได้ราว ๓๐๐ บาท  ขณะนั้นเงินเดือนของผม ๖๐๐ บาท  ข้าวราดแกงจานละบาท  กาแฟดำร้อน(โอยัวะ) ๒๕ สตางค์  โอเลี้ยง ๕๐ สตางค์  กาแฟใส่นม ๗๕ สตางค์  กาแฟเย็น ๑ บาทเท่ากับก๋วยเตี๋ยว ๑ ชาม  เด็กนักเรียนได้ค่าขนม ๑-๒ บาท  เว้นแต่ลูกพ่อค้าที่มีฐานะอาจได้ถึง ๕ บาทก็มี

        ก่อนปิดเทอมแรกกลางสิงหา ๒๕๐๓  ท่านอธิการประกาศหน้าเสาธงว่า  ตึกเรียนสร้างเสร็จแล้ว  ทางคณะภารดาเจ้าคณะแขวง  บราเดอร์ยอห์น แมรี่ จะมาเป็นประธานเปิดตึกกลางตุลาคม  จึงให้นักเรียนแต่ละระดับชั้น  จัดตกแต่งแสดงนิทรรศการผลงานของนักเรียนไว้ในห้องเรียนของเรา  ทั้งให้อิสระในความคิดและการแสดงออก  โดยมีการประกวดหรือแข่งขันชิงรางวัล ๒ ประเภท คือ

        ประเภทสวยงามกับประเภทความคิดสร้างสรรค์  โดยมีงบประมาณให้ระดับชั้นละ ๒๐๐ บาท  เมื่อรับโจทย์มาแล้ว  เราจัดประชุมทั้ง ๒ ห้องเรียน ม. ๓ ก. และ ข.  ให้นักเรียนหารือกันหลายครั้ง  โดยมีมาสเตอร์ ๒ หนุ่มดำเนินการประชุม  และทางโรงเรียนให้บราเดอร์สมทัย  เป็นที่ปรึกษา

        ในที่สุดก็ลงตัว คือ  ประเภทสวยงาม  เราระดมจิตรกรน้อย  คือ  นักเรียนที่มีฝีมือในการวาดภาพ  นำภาพเขียนชิ้นเอกของตนที่วาดลงกระดาษวาดเขียนนั้น  ใส่กรอบนำมาแขวนแสดงทุกช่องหน้าต่างของทั้ง ๒ ห้อง  นักเรียนที่วาดเก่งมากคือ  พงษ์เทพ หมอสมบูรณ์  โชว์หลายภาพ  ส่วนคนอื่นๆ ได้รับคัดเลือกจากความเห็นของนักเรียนที่จัดตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานทั้งหมด  มีสุธรรม ศุภมงคล  เป็นประธานกับผู้แทนอื่นๆ จาก ๒ ห้องเรียน รวม ๑๑ คน

        นอกจากนี้  คณะกรรมการฯ ได้จัดทำซุ้มประตูเข้าห้องเรียนทั้งสอง  กรุด้วยกระดาษวาดภาพสีน้ำ  ระดมจิตรกรน้อยไปโชว์ฝีมือวาดภาพในทุกแผ่น  ด้วยความคิดเสรีของพวกเขาเอง  เดชะบุญที่เยาวชนยุคนั้นคิดไปไม่ถึงภาพโป๊เปลือย  ดังนั้น  ภาพทั้งหมดจึงเป็นแนวภาพวิวธรรมชาติ  และภาพชีวิตชนบท  มีอยู่ ๓ ภาพ  ฝีมือพงษ์เทพ หมอสมบูรณ์  วิชาญ ตันยืนยง  และธีระ ธีรสวัสดิ์  วาดภาพอะไรที่วิศิษฐ์กับผมดูแล้วมึนไม่รู้เรื่อง  แต่...คณะบราเดอร์ที่มาตรวจให้คะแนนนั้น  ท่านตาถึงจึงให้รางวัลรองชนะเลิศประเภทสวยงาม

        เรื่องยากที่สุด คือ  "งานชิ้นใหญ่" (มาสเตอร์พีช) ที่ต้องเป็นแนวสร้างสรรค์โดดเด่นไม่เลียนแบบใครๆ   คณะกรรมการนักเรียน  ไม่มีประสบการณ์  เพราะเป็นครั้งแรกของจังหวัดที่จัดงานเช่นนี้  ตอนผมเป็นนักเรียนมีการทำพิธีเปิดตึกเรียนหลังแรกของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  จำได้ว่ามีเพียงพิธีสงฆ์  แล้วอาจารย์ใหญ่กล่าวรายงานและ ประธานฯ คือ  ผู้ว่าฯ เชื่อม ศิริสนธิ์  กล่าวเปิดตึก

        กิจกรรมอันเนื่องจากพิธีเปิดตึกเรียนของอัสสัมชัญลำปางครั้งนี้  เป็นแบบดีมาก  ให้นักเรียนที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมจดจำไปใช้ในอนาคต  ดังที่สังคมลำปาง  สังคมล้านนา  สังคมประเทศไทย และต่างประเทศได้รับรู้ถึงผลงานของพวกศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ลำปาง  รุ่นปี ๒๕๐๖ และ ๒๕๐๗  แม้ตัวผมเองก็ได้แนวคิด และประสบการณ์ครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในช่วงที่ผมเรียน  และทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี ๒๕๐๖ - ปี ๒๕๑๐ (*รายละเอียดอยู่ในสารคดีชีวิตเรื่อง "ฟื้นอดีต ๕๐ ปี  วรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์"  ลงพิมพ์ใน "ศิลปวัฒนธรรม" ต่อเนื่อง ๔ ฉบับ  ช่วงกลางๆ ปี ๒๕๕๗*)

        คณะกรรมการนักเรียน  ประชุมหลายครั้ง  ยังไม่ตกลงกันได้ว่าจะสร้าง "ผลงานชิ้นใหญ่ในเชิงสร้างสรรค์" อย่างไรดี  เพราะปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง คือ


  1.   งบประมาณจำกัด  และใช้ในการวาดภาพ ๑๖ ภาพ ที่ซุ้มประตู  เงินก็จวนหมดแล้ว
  2. ต้องเป็นของที่ไม่ซ้ำ หรือเลียนแบบจากงานของห้องเรียนอื่น  และพวกเราสามารถทำเองได้
        ในการประชุมครั้งล่าสุด  ผมในฐานะที่ปรึกษาของคณะนักเรียนฯ  จึงเสนอว่าเมื่อครั้งผมเป็นนักเรียน  มีเพื่อนๆ ชวนกันปั่นจักรยานไปไหว้พระธาตุวัดเสด็จ  แล้วแวะไปชมโครงการ "เขื่อนกิ่วลม" ที่ตำบลบ้านแลง  ระยะทางตามถนนพหลโยธินราว ๒๐ กว่ากิโลเมตร  ปั่นไปกลับได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

        ที่ศาลาหน้าสำนักงานโครงการมีโต๊ะขนาดโต๊ะเล่นปิงปอง  จัดทำหุ่นจำลองภูมิทัศน์เมืองลำปาง  ในช่วงตั้งแต่โครงการเขื่อนกิ่วลมลงมาถึงตัวเมืองลำปาง  ผมถามพวกเราว่าสนใจจะไปชมไหม?  เผื่อจะได้แนวคิดอะไรดีๆ บ้าง?  นักเรียนวัยนี้  ย่อมชอบออกไปรู้เห็นประสบการณ์  จึงมีเสียง "ไปครับ" ทุกคน  แม้แต่คนที่ขี่จักรยานไม่เป็น

        ช่วงนั้นปลายสิงหาคม  ใกล้เปิดเทอมกลาง  ซึ่งเราจะติดการเรียนการสอน  เราจึงรีบปั่นจักรยานไปในวันรุ่งขึ้น  มีรถจักรยาน ๖-๗ คัน  คนขี่ไม่เป็นก็ซ้อนกันไป  โดยมีสุธรรม ศุภมงคล เป็นหัวหน้านักเรียน  ร่วมกับคณะอีกราว ๑๐ คน  มาสเตอร์ ๒ คนไปดูแลความเรียบร้อยปลอดภัย  จำได้ว่าเรานำข้าวห่อไปกินกลางวันอร่อยเป็นพิเศษ  ไม่เหลือข้าวสักเม็ดเลย

        เมื่อไปถึงจุดหมายเราก็เข้าไปดูได้เลย  เพราะทางการตั้งไว้ให้คนดูฟรี  

        สุธรรม ศุภมงคล  วิโรจน์ แซ่เตี๋ยว  พงษ์เทพ หมอสมบูรณ์  ธีระ ธีรสวัสดิ์  เอนก แซ่กวาน  และเพื่อนๆ เข้าไปดูอย่างจริงจัง  ใช้สมองอย่างหนักว่า  "สติปัญญาความสามารถขนาดนักเรียนอายุ ๑๓-๑๔ ปี จะจำลองแบบไปสร้างขึ้นที่ห้องเรียนได้ไหม?  คณะนักเรียนหารือกันอย่างจริงจัง  ทักท้วงถึง "จุดอ่อน"  หรือข้อจำกัดในการทำงานว่าจะมีอะไรบ้าง  แต่พงษ์เทพ และธีระ เป็นพวก "หัวศิลป์" เขาบอกว่าเราทำหุ่นจำลองแบบนี้ได้เหมือนกัน  ไม่ต้องใช้เงินมาก แต่ใช้แรงมาก  เมื่อทุกคนเห็นด้วยก็แบ่งพื้นที่ให้ช่วยกันสเก็ตช์ภาพโต๊ะ และหุ่นจำลอง 

เขื่อนกิ่วลม Cr. from website

        โดยผู้มีฝีมือวาดภาพ  ยืนเรียงกันอยู่ ๒ ฝั่งของโต๊ะข้างละ ๔ คน  แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น ๔ ช่วง ตามความยาวของโต๊ะ  สเก็ตช์ภาพผังภูมิประเทศ ๒ ฝั่งแม่น้ำวัง  คนยืนด้านซ้ายก็เก็บรายละเอียดของฝั่งซ้าย  คนยืนด้านขวาก็เก็บรายละเอียดของฝั่งขวาของแม่น้ำวัง  ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษก็เรียบร้อย  แล้วนำกระดาษที่เสร็จทั้ง ๘ แผ่น  มาวางที่พื้นเรียงต่อกัน แล้วช่วยกันพิจารณาว่าเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนหรือยัง  ครบแล้วก็ได้เวลาอาหาร  แต่หลายคนลืมจัดมา  ผมจึงชวนคณะปั่นขึ้นเหนือไปอีก ๒-๓ กิโลเมตร  ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๖  ในบริเวณนั้นมีต้นก้ามปูขนาดใหญ่หลายต้นร่มครึ้ม  ที่สำคัญคือ  มีด่านตรวจของราชการ  รถยนต์ทุกคันต้องมาจอดให้ตรวจ  จึงมีแม่ค้าหลายคนตั้งแผงขายอาหาร  ขนมและผลไม้  ส่วนน้ำดื่มฟรี  เพราะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวล้านนา  ที่มักตั้งซุ้มที่มีตุ่มน้ำให้คนผ่านทางฟรี

        นักเรียนกลุ่มที่ไปดูงานมานี้  ได้เสียสละเวลามาช่วยกันจัดทำหุ่นจำลอง  ซึ่งต้องไปขุดดินเหนียวมาใช้หลายร้อยกิโลกรัมเพื่อนำมาปั้นปูพื้น  ได้รับเมตตาจากบราเดอร์สมทัย  ขับรถโฟลคตู้คันเก่าๆ ไม่รู้ยืมจากใคร  พอบรรทุกดินหนักหน่อย  รถก็น้อยใจแกล้งดับซะหลายๆ หน วิโรจน์ แซ่เตี๋ยว ไปกับคณะเล่าว่าพวกนักเรียนเหงื่อตก  เพราะเข็นรถมากกว่าขุดดินเหนียวซะอีก

        ในที่สุด  ทุกอย่างก็พร้อมแล้ว  คณะบราเดอร์ที่มาตรวจ  ต่างชื่นชมมากเพราะฝีมือของนักเรียนทำได้ดีกว่าของจริงที่เราไปจำลองมา  คือ   เราทำให้มีน้ำไหลได้ในแม่น้ำวังจำลอง  ผมก็เพิ่งรู้เห็นเทคนิคนี้  โดยนักเรียนคนหนึ่งยืนอยู่หัวโต๊ะคอยตักน้ำจากถัง  น้ำทยอยเทลงเป็นระยะๆ ที่แม่น้ำเหนือเขื่อนกิ่วลม  น้ำก็ไหลไปสุดโต๊ะซึ่งพวกเขาเจาะรูใส่ท่อยางให้น้ำลงไปถังรองรับน้ำ  ซึ่งซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ  มีถังสำรอง ๒ ใบพอน้ำเต็มถัง  ก็มีคนยกไปให้คนเทน้ำ  ใช้คนแข็งแรงหิ้วถังไปหมุนเวียนน้ำ

         แต่ถึงวันงานจริง  มีคณะบราเดอร์และผู้ติดตามเข้ามาเต็มห้อง  ทำให้การลำเลียงน้ำจวนขาดตอน  ผมกับวิศิษฐ์คิดไม่ถึงว่าจะมี "น้ำลึกลับ" ทยอยเติมให้จนคณะบราเดอร์ผ่านไป  ผมถามสุธรรม ศุภมงคล  ว่า  เอาน้ำมาจากไหน?  เขาและพลพรรคหัวเราะกันคิกคัก  บอกว่าใช้อาสาสมัครตัวเล็กๆ ลำเลียงน้ำโดยคลานผ่านใต้โต๊ะน่ะครับ

        นักเรียนตัวเล็กๆ ในรุ่นนี้ทั้ง ๒ ห้อง มีราว ๒๐ กว่าคน เช่น   อดิสรณ์  ชูเกียรติ  อัศวิน  เกรียงไกร(แสง)  ธวัชชัย  อันธี  ชิงชัย  ในห้อง ข.  สพรั่ง  สมชาย  วิฤทธิ์  เรวัต  เสวก ฯลฯ  เป็นต้น  แต่ผมไม่ได้ถามเจาะจงว่าเป็นใครบ้าง  เพราะทุกคนมีส่วนสร้างสรรค์ คือ  ร่วมบริจาคค่าขนมสมทบกันซื้อ "ดินน้ำมัน" มากรุแม่น้ำวังจำลอง  ทำให้ปล่อยน้ำไหลให้ดูมีชีวิตชีวา  และทำให้ได้รางวัลชนะเลิศ  ประเภทความคิดสร้างสรรค์

         ผ่านช่วงนี้แล้ว  ความเครียดก็มาเยือน  เพราะภารกิจที่สำคัญของเราคือ  "สอบไล่ให้ยกชั้น"  ปัญหาอยู่ที่คนเรียนอ่อนๆ ที่ยังเรียกสมาธิการเรียนกลับมายาก  วิศิษฐ์และผมเห็นพ้องกันว่า  เราจะคัดคนกลุ่มเสี่ยงจะสอบตกให้ "อยู่เย็น"  เราผลัดกันสอนทบทวนวิชาหลักๆ ให้ฟรี  วันใดผมสอน  วิศิษฐ์ก็ลงสนามฝึกทีมตะกร้อข้ามตาข่าย  วันใดวิศิษฐ์สอนในห้องเรียน  ผมลงสนามสอนการเล่นวอลเล่ย์บอล ทำไปได้สัก ๒ สัปดาห์ก็ได้เรื่อง  เพราะเราถูกบราเดอร์ฟิลิป  ซึ่งเป็นอธิการคนใหม่เรียกไปพบกล่าวว่า ภารโรงฟ้องว่า  เราใช้ห้องเกินเวลาทำให้งานทำความสะอาด และปิดห้องต้องทำ ๒ ขยัก เสียเวลามากกว่าเดิม  แต่บราเดอร์ก็รู้ดีกว่าเราสอนเพื่อประโยชน์ของโรงเรียน  ดังนั้นเพื่อให้ลงตัว จึงให้เราสอนต่อไป  แต่ทางโรงเรียนจะเรียกเก็บเงิน "เรียนพิเศษ" จากผู้ปกครอง  โดยเปิดให้สมัครเสรี ทั้งนี้ทางโรงเรียนก็จะได้มีค่าน้ำไฟชดเชยที่เราใช้ห้องเกินเวลา  และมีค่าล่วงเวลาให้ภารโรงด้วย

         แต่มาสเตอร์ทั้งสองทำดีอยู่แล้วให้ทำต่อไป  โดยทางโรงเรียนจ่ายให้เราคนละ ๑๕๐ บาท/ เดือน เป็นค่าสอนกีฬาด้วย