Wednesday, October 11, 2017

ตอน : เหตุการณ์ผ่านผันน้อยใหญ่

ในดวงใจครู ตอน : เหตุการณ์ผ่านผันน้อยใหญ่


       
โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง  เมื่อเริ่มก่อตั้งนั้นก็คงคล้ายกันกับการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ที่เขตบางรัก  เมื่อแรกตั้งคือ  อาศัยศรัทธาจากผู้บริจาคทุนทรัพย์ช่วยการก่อสร้างอาคาร และการบริหารโรงเรียนนอกเหนือจากกองทุนขององค์การทางศาสนาคริสต์  นิกายคาทอลิกต้นสังกัด

        พระบทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  และสมเด็จพระราชินีเสด็จทรงเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก  ได้พระราชทานทุนทรัพย์ ๑๐๐ ชั่ง  พระราชินี ๕๐ ชั่ง  ครั้งนั้นเป็นช่วงต้นรัชกาลราว พ.ศ. ๒๔๒๗  คณะบราเดอร์ที่มาก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก  เกือบทุกองค์เป็นชาวฝรั่งเศสจึงประทับใจในพระเมตตาของราชสำนักสยาม  โดยเฉพาะบราเดอร์ ฟ. ฮีแลร์  ลงทุนลงแรงศึกษาภาษาไทยได้ดียอดเยี่ยมถึงขนาดแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนได้  โดยเฉพาะแต่งตำราสอนภาษาไทยในชื่อชุด "ดรุณศึกษา"  ใช้อ่านเรียนในโรงเรียนเครืออัสสัมชัญทั่วประเทศไทย

(ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเรียนภาษาไทย  "ดรุณศึกษา")

https://th.wikipedia.org/wiki/ดรุณศึกษา

โรงเรียนอัสสัมชัญลำปางก็สร้างศรัทธาให้พ่อค้าคหบดี  ผู้ปกครองนักเรียนช่วยบริจาคตั้งแต่แรกก่อตั้ง  ดังปรากฏในบทความของท่านอธิการบราเดอร์เซราฟิน  ในหนังสือ "อัสสัมชัญลำปาง ๒๕๐๒-๒๕๐๓"  ความโดยสรุปคือ  เมื่อโรงเรียนได้รับอนุมัติให้แยกนักเรียนชาย ๓๘๗ คนออกจากโรงเรียนอรุโณทัยมาตั้งเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญลำปางในปีการศึกษา ๒๕๐๒ นั้น  เรามีอาคารไม้ ๒ ชั้นรูปทรงตัว T จำนวน ๘ ห้องเรียน  ซึ่งไม่พอใช้งานเพราะนักเรียนมีตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๔ ขึ้นไปจนถึงมัธยมปีที่ ๖ รวม ๑๑ ห้องเรียน

        โรงเรียนจึงจำเป็นเร่งด่วนในการก่อสร้างอาคารไม้ชั้นเดียว ๔ ห้องเรียนขึ้น  โดยงบประมาณไม่พอเพียง  จึงมีคุณป๋าน้อย คมสัน  และคุณ(พ่อเลี้ยง) พงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย ให้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยคนละ ๕๐,๐๐๐ บาท  คุณนิวัฒน์ ศิรินาวิน  และคุณวิจิตร พรรณมาลัย มอบที่ดินให้สร้างอาคาร/ ห้องเรียนทั้ง ๔ ห้องนั้น

        คุณ(แม่เลี้ยงซิวเหยี่ยน) ยุพิน ศรีสมิต ให้ยืมปูนซีเมนต์ ๑,๐๐๐ ถุง  เถ้าแก่เป็งสุง แซ่ล้อ ช่วยจัดบริเวณโรงเรียน  ห้างเซ่งเฮงจั่นให้ถังเก็บน้ำฝน ๑ ใบ  ร้านเต๊กหมงให้พัดลม ๒ เครื่อง  ผู้ปกครองของเทียนชัย เครือสุวรรณ  กับร้านลำปางเซอร์วิส ช่วยถมดินรายละ ๑๐ คันรถ  รายหลังให้เสาไฟฟ้าอีก ๔ ต้น  Mr. O.E.J Hamson ให้โต๊ะครู ๒ ชุด  ส่วนผู้ให็คนละชุดคือ คุณธวัช เดชะรินทร์  คุณขจัด เจียรจินดา  คุณสมนึก เกียรติพงษ์  และคุณ(ส.ส.) บุญเรือง ชุ่มอินทจักร

        ท่านอธิการบดีบราเดอร์เซราฟิน เป็นนักบุกเบิกที่แท้จริง  หลักงจากพิธีเปิดตึก ๓ ชั้น (อาคารเซนต์หลุยซ์ซีกขวา) เสร็จแล้ว  ท่านก็ย้ายไปก่อตั้งโรงเรียนแห่งใหม่อีกหลายๆ แห่ง  จนสุดท้ายคือ โรงเรียนอัสสัมชัญ อุบลราชธานี  อยู่นานจนมรณภาพ  เหล่าศิษย์บริจาคร่วมสร้าง "อาคารภราดาเซราฟิน"  ตึก ๘ ชั้น  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทรงเปิดตึกและห้องสมุด "เฉลิมราชกุมารี" ซึ่งอยู่ในตึกนั้นด้วย  นอกจากนี้บราเดอร์สมทัย ทรัพย์เย็น  ก็ย้ายไป  มีบราเดอร์ฝรั่งมาแทนชื่อ บราเดอร์มิเกล ซิซิเรีย อิลเดฟองโซ กับบราเดอร์ชาวอินเดีย ชื่อ อเลกซานเดอร์

        ภายหลังผมทราบว่า  บราเดอร์เซราฟิน  บราเดอร์อิลเดฟองโซ และบราเดอร์เจ้าคณะแขวงเซนต์คาเบรียล ยอห์น แมรี่ นั้น ล้วนเป็นเพื่อนชาวสเปน  ที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาของเยาวชนไทยตลอดชีวิต  โดยเดินทางจากสเปญ  เมื่ออายุ ๒๒-๒๓ ปี  อยู่เมืองไทยจนมรณภาพ  มีหลุมฝังศพเรียงกันอยู่ที่ "ยุวาลัย" ติดโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี

        บราเดอร์อิลเดฟองโซ  รูปร่างอ้วนใหญ่เสียงดัง  เมื่อครั้งมาอยู่ใหม่ๆ ไม่ถูกอัธยาศัยกับพวกมาสเตอร์  ต้องปรับเครื่องรับ-ส่งเข้าหากันบ้าง  ไม่มีปัญหาอะไร  เพราะแท้จริงแล้วท่านใจดีมีเมตตาท่านทำหน้าที่เป็นการเงิน  มาสเตอร์บางคนเงินขาดมือ  เคยย่องไปขอยืมล่วงหน้าแก้ขัดได้บ่อยๆ  แม้ผมจะไม่เคยเข้าไป  แต่มาสเตอร์บางคนที่เคยเข้าไปขอรับบริการเล่าว่า  ต้องฟังบราเดอร์เทศน์อบรมเรื่องการใช้เงินให้ประหยัดพอเพียงก่อน  ทำนองพ่อแม่สั่งสอนลูกหลานประมาณนั้น

        เย็นวันเสาร์หนึ่ง  ผมเพิ่งเสร็จจากคุมซ้อมกีฬา  ภารโรงก็ตามตัวผมให้รีบไปรับเงินเดือนโดยซ้อนท้ายจักรยานไปแทนการเดิน  ความเร่งด่วนเพราะบราเดอร์อิลเดฟองโซ ป่วยไข้ขึ้นเพราะโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  จึงจะรีบไปหาหมอ  ปรารภว่าถ้าถึงวันจันทร์ยังไม่หายละก็  หมอจะผ่าตัดให้  เผอิญผมรู้วิธีรักษาโรคนิ่วจากตำราหมอพื้นบ้านของลุงเขย  จึงเสนอให้บราเดอร์พิจารณาใช้รักษา  เช้าวันจันทร์  ผมเซ็นชื่อทำงานเสร็จบราเดอร์อิลเดฟองโซ  ก็เรียกผมไปดูเม็ดนิ่ว ๒ เม็ด  ที่บราเดอร์เล่าด้วยความดีใจว่ามันหลุดออกมาได้เพราะฤทธิ์ยาพื้นบ้านที่ผมบอกให้ (**รายละเอียด มีอยู่ในหนังสือ "ภูมิปัญญาชาวบ้านฯ" ในการรักษาโรคนิ่ว  โรคผิวหนัง  เบาหวาน  ต่อมลูกหมากเสื่อม ฯลฯ โดยไม่ใช้ยา**)

        เดือนธันวาคม ๒๕๐๒  ขณะผมกำลังสอนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ก.  ซึ่งห้องเรียนติดกับห้องมัธยมปีที่ ๓ ซึ่งมาสเตอร์บุญชู เทพราช  เป็นครูประจำชั้น  ท่านเป็นครูอาวุโสเคยสอนที่โรงเรียนเคนเน็ธ แมคเคนซีนานกว่า ๒๐ ปี  ภารกิจสำคัญของท่านคือ ต้องสอนให้ศิษย์สอบได้ "ยกชั้น" ในการสอบด้วยข้อสอบของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  ดังนั้น  เสียงไม้เรียวจึงดังสลับการสอนที่เข้มแข็ง  แต่ยังมีบางคนไม่สนใจเรียน  ทั้งๆ ที่ท่านเสียงดังจนผมไม่กล้าส่งเสียงแข่งกับท่าน  เพราะฝาอาคารไม้กั้นเสียงดังรบกวนกันไม่ได้

        แต่บ่ายวันนั้น  เสียงมาสเตอร์บุญชู ฟังแหบๆ ผมคิดว่าคงเพราะสอนมาถึงชั่วโมงสุดท้ายแล้ว  เสียงครูก็แบบนี้แหละ  สักพักก็ได้ยินเสียงมาสเตอร์ไอ และออกมาอาเจียนนอกห้องเสียงนักเรียนฮือฮา  ผมก้าวพรวดออกไปเห็นมาสเตอร์บุญชูกระอักเลือดออกมา  มีมาสเตอร์บุญสม บุณยสมภพ  กับมาสเตอร์บุญฤทธิ์ ขัติเชียงราย  ซึ่งรูปร่างใหญ่ทัดเทียมกับผู้ป่วยช่วยประคองกันไปที่ห้องพยาบาล  นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นกัน  เพราะอีกไม่กี่วันก็หยุดยาวช่วงคริสตมาส  จนพ้นปีใหม่เปิดเรียน  ข่าวคือ มาสเตอร์บุญชู ถึงแก่กรรมแล้ว

        เริ่มปีการศึกษาใหม่  ต้นปี ๒๕๐๓  นอกจากบราเดอร์เซราฟิน  และบราเดอร์สมทัย ทรัพย์เย็นย้ายไปแล้ว  มาสเตอร์บุญชูถึงแก่กรรม  มาสเตอร์สุทัศน์ มาทิพย์ ย้ายกลับไปสอนที่โรงเรียนอรุโณทัยตามเดิม  มาสเตอร์สิงห์ทอง "คำอ้าย O.K."  สุภินนพงศ์ลาออกไป (**ภายหลังทราบว่าสอบเข้าเป็นนายตรวจสรรพสามิตได้  แต่ไม่นานก็เกิดอุบัติเหตุถึงแก่กรรม)

        มีมาสเตอร์มาแทนอัตราว่างและห้องเรียนที่เพิ่มขึ้นอีก  คือ

        มาสเตอร์กำจัด  เทพอารยางกูร  เป็นชาวอำเภอเกาะคา ศิษย์เก่าบุญวาทย์ฯ ซึ่งมีน้องชายคนเล็กชื่อ ประจัญ "นี" เรียนร่วมรุ่นกับผมและวิศิษฐ์

        มาสเตอร์จรัล เดชะฤทธิ์ เป็นชาวอำเภองาว  เป็นเพื่อนคู่หูกับมาสเตอร์กำจัด ต่อมาผมทราบว่า ท่านมีบิดาเป็นตำรวจ  มารดาเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์ที่บ้านเกิด  สองท่านนี้สอนมัธยมปีที่ ๒ แทน วิศิษฐ์   และผมซึ่งเลื่อนไปสอนประจำ ม. ๓

        มาสเตอร์สมเกียรติ พุทธนิยม ศิษย์เก่าบุญวาทย์ฯ รุ่นก่อนผม ๒ รุ่น  แต่หลัง ๒ ท่านแรก มาแทนมาสเตอร์สุทัศน์ มาทิพย์


        มาสเตอร์ประสงค์ เวียงเก่า  ชาวเมืองแพร่เรียนทางวิชาพลศึกษา จึงสอนวิชาพลศึกษาโดยเฉพาะ  แทนมาสเตอร์วินัยซึ่งสอนเฉพาะวิชาสามัญชั้นประถมศึกษาแทน

        มาสเตอร์ศรศิลป์  อิ่นคำ  จบจากโรงเรียนเพาะช่าง  สอนวิชาวาดเขียน ศิลปะ  โดยเฉพาะทุกชั้น  การเรียนการสอนของอัสสัมชัญลำปาง  ยกระดับเข้าสู่มาตรฐานแล้วคือ  มีครูประจำวิชาเฉพาะ และขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีมาสเตอร์เพิ่มอีก คือ

        มาสเตอร์ชาญศิลป์  บุญญเขตโกศล  เป็นน้องชายของศึกษาธิการอำเภอเมืองลำปาง

        มาสเตอร์เซษฐ์  คติวัฒน์  รูปร่างสูงจมูกโด่งมีเค้าโครงหน้าเลือดผสมฝรั่ง  บิดาเป็นนักบินยศ(ขณะนั้น) นาวาอากาศ เอกช่วย คติวัฒน์ ลูกครึ่งเยอรมัน  แต่มาสเตอร์เชษฐ์ มีมารดาเป็นชาวบ้านหม้อ ตำบลทุ่งฝ่าย  อำเภอเมืองลำปาง   มาสเตอร์เชษฐ์ คติวัฒน์  เรียนในกรุงและมุ่งหวังจะเป็นนักบินเช่นคุณพ่อ  แต่สอบเข้าโรงเรียนนายเรืออากาศไม่ได้  จึงมาเป็นครูขัดจังหวะชีวิต  โดยพักอยู่กับคุณตาคุณยายที่บ้านหม้อ  ห่างจากโรงเรียนราวๆ ๑๐ กว่ากิโลเมตร   ถ้าเร่งๆ ปั่นจักรยานก็เหงื่อซึม  แต่เขานำมอเตอร์ไซต์สีแดงคันใหญ่ของคุณพ่อมาใช้  แม้จะเป็นรถเก่ากว่า ๑๐ ปี  แต่ทั้งโรงเรียนมีรถมอเตอร์ไซต์อยู่คนเดียว  โก้จริงๆ นะ

        บุคลิกของมาสเตอร์เชษฐ์  เปิดเผยกันเอง  ไม่ถือตัวว่าเป็นลูกนายทหารระดับสูง (**ขณะนั้นกองทัพอากาศมี "นายพล" ไม่เกิน ๑๐ นาย**)  และมีพาหนะคันโก้  ความสุภาพอ่อนน้อมทำให้สนิทกับบราเดอร์และมาสเตอร์อื่นๆ อย่างรวดเร็ว

        บ่ายวันหนึ่ง  ผมกำลังสอนวิชาประวัติศาสตร์ถึงตอนสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเดินทัพไปดักทัพพระมหาอุปราชา  และทรงทำสงครามยุทธหัตถีกันที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี  ผมสังเกตเห็นเงาคนอยู่นอกประตูห้องเรียน  เข้าใจว่าผู้ปกครองอาจมีเหตุด่วนมาขอพบ  จึงโผล่หน้าออกไป...จ๊ะเอ๋มาสเตอร์เชษฐ์ ตกใจพูดตะกุกตะกัก... "ขอโทษๆ ครับ  ผมเสียมารยาทมาแอบฟัง  ผมกำลังจะไปห้องน้ำ  ได้ยินมาสเตอร์สอนเหมือนเล่านิทาน  ผมจึงฟังเพลินจนลืมไปห้องน้ำ ... ขอโทษจริงๆ ครับ"

        นับแต่นั้น  มาสเตอร์เชษฐ์ก็ "ตีสนิท"  กับผมโดยชักชวนผมเป็น "สก๊อยซ์" เกาะท้ายมอเตอร์ไซต์ของเขาไปเที่ยวต่างอำเภอ  ซึ่งผมอาจมีเวลาว่างเฉพาะบางพฤหัสฯ (**ยุคนั้น  โรงเรียนอัสสัมชัญ/ อรุโณทัยหยุดพฤหัสฯ กับอาทิตย์)  เพราะวันอาทิตย์  ผมกับวิศิษฐ์ ติดเล่านิทานให้เด็กๆ ที่โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์  ที่วัดคะตึกเชียงมั่น)  วันพฤหัสฯ วิศิษฐ์เป็นลูกกตัญญูจะอยู่ดูแลรับใช้พ่อแม่  ผมมักว่าง  ถ้าตรงกับมาสเตอร์เชษฐ์  เราก็ไปเที่ยวกัน

        ครั้งแรกเราไปอำเภอเกาะคา  เขาพาไปดูพื้นที่ราบกว้างยาวอยู่ริมถนนก่อนเข้าอำเภอเกาะคา  มาสเตอร์เชษฐ์เล่าว่า   "...ที่นี่คือ  สนามบินทหารในช่วงสงครามโลก (๒๔๘๔-๒๔๘๘)  คุณพ่อเคยมาประจำที่นี่  โดยมี ผบ. (จอมพลอากาศ) เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร และ(พลอากาศเอก) "เสธ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเจ้านาย..."(**ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลเกาะคา)

        มื้อกลางวันเรามี "เจ้ามือ" คือ  มาสเตอร์กำจัดและครูประจัญ  เทพอารยางกูร น้องชาย  ซึ่งเรียนร่วมห้องกับผมที่บุญวาทย์ฯ  มาที่เกาะคาสองพี่น้องไม่กล้า "ตั้งวง" เพราะชณะนั้นบิดามุสลิมของท่านยังมีชีวิตอยู่

        ครั้งที่สอง  เราไปเมืองงาวตามคำเชิญชวนของมาสเตอร์จรัล เดชะฤทธิ์  ซึ่งมีน้องชายชื่อ พิรุณ เพื่อนเก่าบุญวาทย์ฯ ของผมร่วมวงด้วย  แต่ไม่มีขวดแบนขวดกลม  เพราะเรากินข้าวในโรงเรียนราษฎร์ส่วนตัวของบิดามารดาของสองหนุ่มเจ้าถิ่น

        ช่วงสั้นๆ ที่เราไปเที่ยวด้วยกัน  มาสเตอร์เชษฐ์ถามว่าผมทำอย่างไรจึงสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้เหมือนเล่านิทาน  ผมชี้แจงว่าง่ายๆ คือ  "อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด  แล้วนำมาเขียนเป็นเสมือนเรียงความ  เสร็จแล้วก็อ่านไปแก้ไขเพิ่มเติมไปๆ หลายๆ รอบ  จนจำได้ด้วยความเข้าใจถ่องแท้  ก็เล่าได้เหมือนเล่านิทานนั่นเอง...  ครูทุกคนก็ทำได้เหมือน หรือดีกว่าผม...  มาสเตอร์เป็นลูกนายทหาร  ยืมตำรายุทธศาสตร์มาศึกษาประสมประสานเข้าด้วยยิ่งดีครับ..."

        หลังจากนั้นไม่นาน  มาสเตอร์เชษฐ์ก็มีสาวสวยเป็น "สก๊อยซ์"  และแต่งงานกันในปลายปีที่ย่านบ้านหม้อภูมิลำเนาของเจ้าสาว  ซึ่งเป็นเครือญาติกับคุณแม่ของเจ้าบ่าวด้วย  นับเป็นมาสเตอร์โสดคนแรกที่แต่งงาน

        ช่วงปีที่ ๒ ของการเป็นครู  ผมรู้สึกช็อกกับการป่วยรุนแรงของมาสเตอร์บุญชู เทพราช  เพราะผมเป็นโรคทางเดินหายใจ จุดจบคงเป็นเหมือนกัน