Wednesday, October 11, 2017

ตอน หนีไม่พ้นชะตาคน(ต้อง)เป็นครู

 ตอน  หนีไม่พ้นชะตาคน(ต้อง)เป็นครู


   เมื่อต้นปี ๒๕๐๒ ผมเรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ (ม. ๘) จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยซึ่งผมสอบเข้าเรียนได้เป็นที่ ๑  เมื่อ ๗ ปีก่อน  ผมเรียนเก่งจึงได้พาสส์เลื่อนชั้นกลางปี  แต่บิดา(เตี่ย) ของผมถึงแก่กรรมช่วงที่ผมยังเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓  ทำให้ผมไม่มีทุนเรียนมหาวิทยาลัย  เพราะสมัยนั้นเมืองไทยยังมีมหาวิทยาลัยเพียง ๕ แห่ง  คือ  จุฬาลงกรณ์ฯ  ธรรมศาสตร์  มหิดล  เกษตรศาสตร์  และศิลปากร  ล้วนแต่อยู่ในกรุงเทพฯ

        ผมจึงไปทำงานเป็นครู (มาสเตอร์)  สอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง  ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้ง  ผมสอนหนังสือสนุกและมีความสุขมาก  ทั้งยังเจริญในวิชาการ  คือ  สอบได้วุฒิครูระดับประกาศนียบัตร  ซึ่งครูโรงเรียนราษฎร์น้อยคนจะทำได้  ทั้งๆ ที่แต่ละปีที่เปิดสอบ  จะมีครูสมัครเข้าสอบทั้งจังหวัดหลายร้อยคน  ส่วนใหญ่สอบหลายครั้งกว่าจะได้  แต่ผมสอบเพียงครั้งเดียวก็ได้  ทำให้ชื่อเสียงลือเลื่องจนเจ้าของโรงเรียนราษฎร์ ๓ แห่ง ที่ยังไม่มีครูผู้ได้รับประกาศนียบัตรวุฒิครูให้คนมาชวนผมไปเป็น "ครูใหญ่" โก้มากๆ เสนอเพิ่มเงินเดือนอีก ๓ ขั้น

        แต่ผมยังตั้งใจจะหาทางไปเรียนให้ได้ "ปริญญา"  จึงไม่รับเป็นครูใหญ่(นอมินี)  แต่ดั้นด้นเข้ามากรุงเทพฯ  เผอิญผมมาในเดือนเมษายน  โรงเรียนราษฎร์ส่วนใหญ่มีอัตราครูครบแล้ว  เผอิญคุณอา(ลิ้มซีเม้ง) ของผมพาผมไปทำงานที่โรงเรียนสหคุณศึกษา (อึ่งฮุ้ง)  อยู่ถนนสุรวงศ์ด้วย  ผู้อำนวยการของโรงเรียน(เห่าเจี้ยง) ชื่อ "เตียเอี้ยเจ็ง" เป็นเพื่อนสนิทกับคุณอา  แม้อัตราครูผู้สอนครบ แต่ก็รับผมเป็น "ครูอะไหล่"  ให้รอสอนแทนครูที่ขาดลาป่วยในแต่ละวัน  ถ้าไม่ได้สอนก็ทำหน้าที่ธุรการ  แต่ครูที่นี่ขยันมาก  ผมจึงไม่ค่อยได้สอนแทน  ทำให้ผมมีเวลาว่างมากพอที่จะอ่านตำราเรียนระดับมัธยมบริบูรณ์  ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานการสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

        แต่การเรียนในมหาวิทยาลัยทั้ง ๕ แห่งต้องเรียนภาคกลางวันปกติเต็มเวลา  ซึ่งผมไม่มีปัญญาสามารถจะปฏิบัติได้เพราะต้องทำงานอาชีพเลี้ยงตนเอง  ความหวังของบรรดาครูผู้อยากไปให้ถึงระดับปริญญาตรี  จึงมุ่งตรงไปยัง "วิทยาลัยวิชาการศึกษา" ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาคุณวุฒิครูโดยเฉพาะขณะนั้นมีวิทยาลัยวิชาการศึกษา ๓ แห่ง คือ

        วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร  เรียกย่อว่า "วศ. ประสานมิตร"  มีสาขาคือ "วศ. ปทุมวัน" และ "วศ.บางแสน" (ปัจจุบัน คือมหาวิทยาลัยบูรพา)  ทั้งสามวิทยาลัยเพิ่งเปิดหลักสูตรพิเศษเรียนตอนค่ำ ๑๗.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.  ผมจึงไปสอบคัดเลือกเข้าเรียนที่ วศ. ปทุมวัน  ซึ่งใกล้ที่พักและที่ทำงานมากกว่าอีก ๒ แห่ง  โชคดีผมสอบเข้าได้  เวลาไปเรียน  ผมนั่งรถเมล์สาย ๑๖  จากต้นสายใกล้ๆ โรงเรียน  เลิกเรียนก็ขึ้นรถเมล์สาย ๑๒ (จุฬา-สำเหร่)  ที่ต้นสายอยู่ใกล้วิทยาลัย  ใต้ชื่อมีประกาศรับสมัครครูผู้มีวุฒิ  ผมสนใจจึงแวะไปสมัครเพราะถ้าได้ผมจะมีเงินเดือนปรับขึ้นตามวุฒิและที่สำคัญการเดินทางมาทำงาน  ไปเรียนต่อ  กลับที่พักสะดวกมาก  และใกล้มากกว่าเดิม  โดยใช้รถเมล์สายเดียวคือ "จุฬา - สำเหร่" สาย ๑๒  ซื้อบัตรโดยสารประเภท "ตั๋วเดือน" ประหยัดได้อีก

        คุณครูเกสร รัตพงศ์  หัวหน้าคณะ  สัมภาษณ์พอใจที่ผมแม้อายุ ๒๒ ปี  แต่มีคุณวุฒิชั้นประโยคพิเศษประถม  และมีประสบการณ์สอนมากว่า ๓ ปี  จึงพาไปพบอาจารย์ยาใจ รุทธระกาญจน์  อาจารย์ใหญ่(และเจ้าของโรงเรียน) ท่านถามอีก ๒-๓ คำถาม  และพอใจมากที่ผมกำลังเรียนเพิ่มคุณวุฒิที่ วศ. ปทุมวัน  ตัวท่านเองก็เป็นผู้ใฝ่การเรียนมาก  จนเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ปริญญาโท  วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตจากจุฬาฯ  ผมไปทำงานต่อที่ "สหคุณศึกษา"  จนกว่าจะจบปีการศึกษา  แต่ก็บอกลาเพื่อนที่คุ้นเคยบางคนโดยเฉพาะครูวิเชียร ไตรเพิ่ม  ซึ่งรุ่นราวคราวเดียวกัน  เขาเตรียมสมัคร "เอนทรานซ์" เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  แต่เผอิญวันเวลาที่กำหนดในแบบใบสมัครไม่สะดวกจึงซื้อชุดใหม่  โดยโยนชุดเดิมลงตะกร้า  ผมขอมาอ่านๆ ดูแล้วจึงคิดว่าลองไปสมัครสอบดูบ้างก็ดี  อย่างน้อยก็ได้กระตุ้นตัวเองให้ผูกพันกับวิชาการ  และวัดผลความรู้ว่า ๔ ปีที่ไม่ได้เรียนต่อ "สนิมจับเขรอะ" รึเปล่า?

        ผมสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งบอกว่ารับเข้าเรียน ๑,๐๐๐ คน  โดยต้องผ่านคณะศิลปศาสตร์  แล้วจึงไปแยกเรียนคณะวิชาอื่น   ผม "ปิ๊ง" มาก  เพราะการรับพันคนนี่  หมายถึง "ประตูเข้ากว้างมาก"  ผมชวนครูวิเชียรเลือก "ธรรมศาสตร์" ด้วย  แต่เขาไม่เปลี่ยนใจ  ผมสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ลำดับที่ ๖๓  โดยโดดเดี่ยว  ไม่มีเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่น หรือ คนรู้จักแม้แต่คนเดียว  ธรรมศาสตร์เปิดภาคเรียนวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๖  แต่ผมไ่ม่ไปเรียน  ผมมาสอนหนังสือในฐานะครูประจำชั้นประถมปีที่ ๗  โรงเรียนชาญวิทย์พิทยาลัย  ตั้งแต่เปิดเทอม ๑๗ พฤษภาคม  ตอนเย็นก็ไปเรียนภาคค่ำ วศ. ปทุมวัน

        การสอนสนุกสนานมาก  เพราะนักเรียนกว่า ๙๐%  เป็นลูกหลานจีนจากย่านเยาวราช  สำเพ็ง  ตลาดน้อย  หัวลำโพง  สะพานเหลือง  สามย่าน  นักเรียนเหล่านี้จึงมีชื่อจีน  ใช้แซ่ และเรียนชั้นประถมจากโรงเรียนที่สอนภาษาจีนมาก่อน  มีไม่น้อยที่ตอนอยู่ชั้นประถมนั้นมีพี่สาวน้องสาวเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน  แต่พอขึ้นมัธยมต้องแยกเรียนเป็นโรงเรียนชายล้วนหญิงล้วน  ตามค่านิยมในยุคสมัยนั้น  พวกพี่น้องผู้หญิงจึงมักไปเรียนที่โรงเรียนสมบูรณ์ปัญญา  ย่านสี่พระยา (*ต่อมาอีกหลายปี "ชาญวิทย์ฯ" จึงเปิดรับนักเรียนหญิงเป็น "สหศึกษา")

        ผมสอนวิชาเลขคณิตและอ่านวรรณคดีเรื่อง "สามก๊ก"  ผมแนะนำตัวว่าตอนเด็กๆ ผมใช้ชื่อว่า "เส่งเกีย แซ่ลิ้ม"  ทำให้ศิษย์โห่ร้องกิ๊วก๊าว  บางคนใช้ภาษาจีนสื่อกับผม  บางคนดีใจที่แซ่เดียวกับผม ในโรงเรียนห้ามพูดหรือเรียกชื่อส่วนตัว   ผมอ่านเรื่อง "สามก๊ก"  ตั้งแต่ต้นจนจบเมื่อผมเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓  ดังนั้นก่อนเริ่มการอ่านตามหลักสูตรตอน "โจโฉแตกทัพเรือ"  ผมจะใช้เวลา ๑ คาบ  เล่าเรื่องย่อตั้งแต่ต้นจนมาถึงก่อน "สงครามเซ็กเพ็ก"

        นักเรียนแทบทั้งห้องตั้งใจฟังเพราะสนุกตื่นเต้นกับวีรกรรมเกียรติคุณของคนสำคัญ หรือ วีรชนในเรื่อง "สามก๊ก"  โดยเฉพาะสามพี่น้องร่วมสาบานในสวนท้อ  ซึ่งเป็นต้นเค้าของวลีในนิยายจีนกำลังภายในว่า "แม้พวกเราจะไม่ได้เกิดวันเดือนปีเดียวกัน  แต่เราพร้อมจะตายด้วยกัน สัญญาว่า ยามมีสุขร่วมเสพ มีทุกข์เราร่วมต้าน..."

        แต่เบื้องหลังการเรียนการสอนที่สนุกสนานนั้น  "คนขี้โรค" อย่างผมต้องไปหาหมอรักษาโรคภูมิแพ้หอบหืดทุกสัปดาห์ที่คลินิคนายแพทย์บรรจง กรลักษณ์  ซึ่งอยู่ใกล้ที่พักของผมย่านหลังภัตตาคาร "ห้อยเทียนเหลา" คุณหมอมีเมตตาแนะนำว่าอาชีพของผมต้องใช้เสียง และคลุกฝุ่นชอล์ก  จึงไม่เหมาะแก่โรคทางเดินหายใจ  แม้คุณหมอจะเมตตาคิดค่ารักษาเพียงครั้งละ ๓๐ บาท แต่ถ้าผมต้องจ่ายค่ารักษาโรคนี้ตลอดไป  ผมคงตายในไม่ช้า  ไม่เพราะป่วยตาย  ก็จนตาย

        ผมจึงขอลาออกจากโรงเรียนชาญวิทย์ฯ และไปรายงานตัวเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๖  เป็นคนสุดท้ายที่ไปรายงานตัว  แต่ผมไม่พ้นอาชีพครูนะครับ  เพราะหลังเวลาเรียนก็เปลี่ยนสภาพเป็นครูไปสอนพิเศษตามบ้าน  พอมีเงินใช้บ้าง  แต่ที่ดีสุดๆ คือ ที่ธรรมศาสตร์มีคลินิคแพทย์รักษาบุคลากร/ นักศึกษาฟรี  ผมใช้บริการห้องแพทย์มากเกินกว่าค่าบำรุงการศึกษาปีละ ๔๐๐ บาทเท่านั้น  ก่อนมาเป็นนักศึกษาค่ารักษาเอง ๓๐-๕๐ บาท/ ครั้ง  ผมเรียนพลาง  ทำงานเลี้ยงชีพและทำกิจกรรมมากมายพลาง  ใช้เวลาเรียน ๕ ปีครึ่งจึงจบ (ปริญญาตรี  หลักสูตร ๔ ปี)  มุ่งไปทำงานภาครัฐ  เพื่อสวัสดิการชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใเลือกสายอาชีพ  ไม่มั่งคั่งร่ำรวย  แต่ไม่กังวลค่ารักษาในเวลาเจ็บป่วย

        ผมรับราชการ ๓๐ ปี  ลาออกก่อนเมื่ออายุ ๕๘ ปี เมื่อปี ๒๕๔๒  เพราะเมื่อ ๒๔ เมษายนปีนั้น ผมได้พบวิธีการฝึก "พลังลมปราณ" ที่ฝึกง่ายๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  ฝึกได้ผลรวดเร็ว  สุขภาพฟื้นฟูปราศจากโรคได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

        นับแต่นั้นผมก็กลับมาเป็น "ครู/ อาจารย์"  ออกเดินสายบรรยาย/ สอนฝึก "พลังลมปราณ" ให้แก่หน่วยราชการ  องค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ เกือบ ๒๐ ปี ที่ผ่านมาได้ไปแล้ว ๖๙ จังหวัด  พิมพ์หนังสือ "พลังลมปราณ" แล้ว ๖๔ ครั้ง  รวม ๘ แสนกว่าเล่ม

        แม้ในอนาคตผมตายแล้ว  หนังสือเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็น "ครู" สอนแทนผมต่อไปและต่อๆ ไป ตราบใดที่ยังมีคนเจ็บป่วยที่อยากใช้วิถีตะวันออกรักษาสุขภาพตัวเอง  https://lompran.blogspot.com