Monday, October 9, 2017

ตอน ชื่อเมืองลำปางมาจากไหน?

                   ผมเกิดและเติบโตเป็นหนุ่มอายุ ๒๑ ปี  จึงออกจากลำปางไปกว่า ๕๐ ปี  ไม่ได้กลับมาอยู่ถาวรที่ลำปางอีก  ช่วงเวลาที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ  ผมมาลำปางอย่างชั่วคราวเพื่อทำภารกิจไม่กี่วันต่อครั้ง  ทั้งต้องอาศัยพักโรงแรมเพราะบ้านและที่ดินของตัวเองไม่มีแล้ว  ผมและภรรยามีบ้านและที่ดินอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล  ผมแน่ใจจะอยู่ถาวรจนวันตาย  ถึงกระนั้นผมก็ถือตัวว่าเป็น "ชาวลำปาง" อยู่ตลอดมา  ส่วนกรุงเทพนั้นผมเป็นเพียง "พลเมือง" หากเป็นพลเมืองที่เคยเขียนสารคดีวิจารณ์การใช้ หรือเขียนชื่อถนน และสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปลงพิมพ์ในวารสารที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นบรรณาธิการในช่วงปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓  ชื่อ "วิทยาสารปริทัศน์"  ในเครือสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

                    ผมเขียนวิจารณ์ชื่อถนน/คลอง "สาธร" ซึ่งเขียนแบบนี้มาแต่สมัยไหนก็ไม่รู้  แต่ตอนที่ผมพลิกพจนานุกรมจนเจอคำว่า "มาห, ม่าห์"  อันเป็นคำตอบ(สุดท้าย) ของชื่อที่ถูกต้องของประตูผีที่เมืองนครลำปาง  ยุคราชวงศ์มังราย  ผมค้นหาความหมายของคำว่า "สาธร" ในพจนานุกรม แต่ไม่มีคำนี้  มีคำว่า "สาทร" เป็นคำกริยามาจากรากศัพท์บาลีสันสกฤต  ความหมายคือ "เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่"   ต่อมาผมอ่านพบความเป็นมาของถนน/คลองสาทร  ว่าเมื่อสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ มี "เจ้าสัวยิ้ม" เศรษฐีขอพระราชานุญาต(ลงทุนเอง)  ขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ข้างตลาดบางรัก ชักน้ำผ่านคลองขุดนี้ไปเชื่อมคลองเตยออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง
คลองสาทรในอดีต


                     ดินที่เกิดจากการขุดคลองนี้ก็ใช้ถมเป็นถนนทั้งฝั่งเหนือและใต้

                     ผลงานที่ท่านเศรษฐี "เจ้าสัวยิ้ม" ลงทุนสร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงสาทรราชายุตต์"

                     ผมก็ร้องตะโกน(ในใจ) ไชโยๆ ยูเรก้า หายโง่แล้ว  เพราะแน่ใจว่าชื่อที่ถูกต้องของถนน/คลองนี้ต้องเป็น "สาทร" ตามชื่อราชทินนามเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลคือ "สาทรราชายุตต์" ผู้ลงทุนทรัพย์ในการขุดคลอง/ทำถนน ๒ ฟากคลองแน่ๆ  จะใช้ชื่อ หรือนามสกุลของนายแมวที่ไหนซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการขุดคลองทำถนนเหล่านี้ได้อย่างไร?

                     อีกราว ๒๐ ปีต่อมา  เข้าใจว่าเป็นสมัยที่ศาสตราจารย์ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา นักประวัติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร  ชื่อถนนและคลองจึงเปลี่ยนถูกต้องดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

                     ปี ๒๕๑๓  ผมสอบบรรจุเข้ารับราชการประจำแผนกพาณิชย์จังหวัดพิจิตร  ในยุคสมัยนั้นการคมนาคมจากพิจิตรออกสู่โลกภายนอก  มีเฉพาะทางน้ำกับทางรถไฟ  ซึ่งจำเป็นใช้บริการมากๆ คนพิจิตรส่วนมากมักจำตารางเวลารถไฟได้ขึ้นใจทีเดียว   ช่วงแรกที่ผมไปอยู่พิจิตรตามลำพังยังไม่รู้จักใคร  เพื่อนเก่าชาว วศ. บางแสน  ชื่อประทีป พฤกษากิจ เป็นอาจารย์  วศ. เทพสตรี  จังหวัดลพบุรี  เขาได้รับทุนมาเรียนต่อที่ วศ. ประสานมิตร  ได้ขอให้คุณประจักษ์ สายแสง รุ่นพี่ที่ วศ. บางแสน  แต่เป็นอาจารย์ วศ. พิษณุโลก และได้รับทุนเรียนต่อที่ วศ. ประสานมิตรด้วยนั้น  ให้ช่วยเขียนแนะนำเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงพิจิตร  เพื่อผมจะใช้เป็นคู่มือทางปัญญาเดินทาง

                     อาจารย์ประจักษ์ สายแสง  ซึ่งภายหลังคือ ศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์  สุดยอดของผู้ทรงภูมิปัญญาคนหนึ่งของพิษณุโลก  ดังน้นย่อมเขียนอะไรๆ แนะนำให้ผมได้ทราบถึงตำนานโบราณคดีของสองข้างทางรถไฟที่ผมจะเดินทางผ่าน  ทำให้สมองของผมถูกกระตุ้นขึ้น  จึงเขียนจดหมายแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกันไปมาเป็นประจำ  เฉลี่ยเดือนละครั้ง   เผอิญช่วงที่เรียน และทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น  ผมเป็นนักเขียนสมัครเล่น คือ เขียนเพื่อหารายได้เสริมไม่ทำเป็นอาชีพ แต่ผมเขียนบรรยายปกวารสาร "ฟ้าเมืองไทย" ของคุณ(พี่) อาจินต์ ปัญจพรรค์  ได้ลงพิมพ์ต่อเนื่องกันราว ๑๔-๑๕ ฉบับ  ค่าเรื่อง ๑๕๐ บาท/ฉบับ  ผมจึงมีเงินซื้อเครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋ายี่ห้อโอลิเวตตี ราคา ๑,๘๐๐ บาท  ตอนนั้นเงินเดือนของผม ๑,๓๐๐ บาท/เดือนเท่านั้น  พิมพ์ดีดยี่ห้อดังราว ๓,๐๐๐ บาท

                      ผมใช้พิมพ์ดีดคุ้มเกินค่า  โดยใช้พิมพ์จดหมายที่ตัวเองตอบ  และคัดพิมพ์จดหมายจากที่อาจารย์ประจักษ์เขียนตอบมาให้มีสำเนา ๔-๕ ชุด   ผมส่งสำเนาไปเรียนอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ราชบัณฑิต  ส่งให้อาจารย์ประทีบ พฤกษากิจที่ลพบุรี  อาจารย์พีรชาติ ลีรวัฒนางกูร (ปัจจุบันคือ รศ. ดร. อัครพงษ์ สัจจวาทิต) ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ร่วมวงแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน  โดยมีผมเป็นผู้เชื่อมประสานงาน  ต่อมามีอาจารย์หวน พินธุพันธ์ ที่ วศ. พิษณุโลก  อาจารย์วิทยา วงษ์ดีไทย และอาจารย์มณี พยอมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมวงด้วย

                      ทั้งนี้ ตกลงกันว่าถ้าข้อมูลความคิดเห็นของเราในกรณีใดขัดแย้งกันละก็  เราขอให้อาจารย์สถิตย์ เสมานิล ตัดสินเป็นยุติ  ทั้งนี้ ท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล เป็นที่ยอมรับนับถือในภูมิรู้ด้านภาษาวัฒนธรรมไทย  ถึงขนาดที่ได้รับเชิญจากศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ให้ไปร่วมกับพระองค์ และราชบัณฑิตอื่นรวม ๑๕ ท่าน  เป็นคณะกรรมการชำระพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน  แต่เสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์ และอาจารย์สถิตย์ ถึงแก่กรรมก่อนผลงานเสร็จ และพิมพ์เผยแพร่คือ ฉบับปี ๒๕๒๕ (ฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี)  ปีต่อมาผมย้ายไปเชียงใหม่  ปีรุ่งขึ้นสอบได้เลื่อนเป็น "พาณิชย์จังหวัดน่าน" เป็นคนแรกช่วงปี ๒๕๑๕-๒๕๑๗  ซึ่งสถานการณ์สู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับกองกำลัง ผ.ก.ค. ร้ายแรงกว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน  ผมต้องทุ่มเทให้หน้าที่ทั้งปกติ และสถานการณ์พิเศษ  ทำให้การศึกษาเสวนาทางภาษาวัฒนธรรมฯ จำเป็นต้องสะดุดลง

                       แต่เผอิญศาสตราจารย์ ดร. พนัส หันนาคินทร์  อธิการบดีผู้ก่อตั้ง  วศ. พิษณุโลกเป็นผู้ทรงภูมิ และวิสัยทัศน์กว้างไกล  ท่านริเริ่มให้ออกวารสารรายเดือนของสถาบัน ชื่อ "วารสารสองแคว"  โดยมีอาจารย์ประจักษ์ สายแสง   อาจารย์หวน พินธุพันธ์  และอาจารย์บัญชา คูเจริญไพบูลย์ เป็นกำลังทำงาน  ดังนั้น  จดหมายทั้งหลายที่พวกเราได้โต้ตอบกันมานั้น  ได้ถูกนำลงพิมพ์ในวารสารฯ ใช้ชื่อคอลัมน์ประจำว่า "จดหมายวาร"  โดยผมขอเลียนชื่ออันทรงเกียรติ และคุณค่าสูงยิ่งในการทรงพระอักษร(จดหมาย) โต้ตอบกันระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงเรียกว่า "จดหมายเวร" คนไทยรู้จักในนาม "สาส์นสมเด็จ"

                        ช่วงปี ๒๕๑๔-๒๕๑๕  ที่ผมทำงานที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดฯ   เชียงใหม่ยังเล็กและเงียบสงบมากๆ  ภรรยาของผมปั่นจักรยานไปทำงานและจ่ายตลาดช้างเผือกใกล้บ้านเช่าที่ข้าง "วัดดับภัย" ผมเดินไปทำงานที่สำนักงานอยู่ถนนเวียงแก้ว

                        เพื่อนอาจารย์จากวงเสวนาของ "จดหมายวาร" แวะมาสนทนาทุกเย็นวันศุกร์

                        อาจารย์วิทยา วงษ์ดีไทย  เป็นคนดี และใจกว้าง  ไม่ถือทิษฐิว่าตนมาจากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  แต่กลับมาขอให้ผมช่วยสอนแทนวิชาศิลปะการประพันธ์  เพราะเห็นผมเคยเป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์  ครั้นอาจารย์ ดร. พิชิต อัคนิจ  หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยทราบเรื่องก็ยินดีเชิญผม  แต่ขอให้ผมช่วยิญอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ไปบรรยายพิเศษด้วย

                        เวรกรรม...ขณะนั้นอาจารย์สถิตย์อายุ ๗๔ ปี(เท่าๆ กับผมขณะนี้) เรารู้สึกว่าท่านสูงวัย และเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าของชาติ  จึงต้องหาคนที่ท่านสนิทเป็นผู้ดูแลระหว่างทาง  ก็ได้อาจารย์ประทีป พฤกษากิจ  จาก วค. เทพสตรี  ลพบุรี  อาสาอย่างเต็มใจเพราะตอนนั้นยังโสดอยู่แต่ไม่ง่ายดายเพียงนั้น  เพราะอาชีพหลักของอาจารย์คือ นักหนังสือพิมพ์ประจำกองบรรณาธิการ "ชาวไทย"  มีหน้าที่เขียนสารคดีลงพิมพ์ทุกวัน  ในคอลัมน์เฉพาะตัวชื่อ "วิสาสะ"  ดังนั้นท่านต้องเขียนเรื่องไว้ล่วงหน้าราว ๗ ตอน  เพื่อให้พอที่จะลงพิมพ์ ๑ สัปดาห์ที่อาจารย์ไปท่องล้านนา  ปรากฏว่าท่านอาจารย์เขียนไม่ทัน  ไม่พอสำหรับช่วงเวลาที่ไม่อยู่สำนักงาน ๗ วัน  และโทร. ถึงผมด้วยเสียงอ่อยๆ ขอให้ผมช่วยเขียนไป "ขัดตาทัพ" แทน   เวรกรรม...ซีครับ  ผมตกที่นั่งเป็นตัวประกันแล้วนี่  ก็ต้องรับปากพลางในใจก็คิดพลางว่า  "ใครหนอว่าคบเด็กสร้างบ้าน?"

                        แต่...เดชะบุญจริงๆ  ที่ช่วงนั้นผมต้องไปสอนศิลปะการประพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมจึงเตรียมเรื่องวรรณกรรมสำคัญ ๒ เรื่อง คือ สมุทโฆสคำฉันท์  กับลิลิตพระลอ  ไปให้นักศึกษาร่วมกันพิจารณาศึกษา   ผมจึงอาศัยวรรณคดี ๒ เรื่องนี้มาเป็น "แกนหลัก"  ในการเขียนวิเคราะห์เขียนไปพิมพ์ไป  โดยภรรยาซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยช่วยตรวจถ้อยคำสำนวน  ได้ต้นฉบับปึกหนึ่งกว่า ๑๐ หน้าพิมพ์ดีด  รีบส่งด่วนไปให้อาจารย์ทันที  ไม่กี่วันท่านก็ส่งเสียงดังฟังชัดตามปกติว่า "ศุภกิจ  เรื่องที่คุณเขียนน่ะใช่ได้  ผมนัดกับคุณประทีปตามกำหนดแล้วนะ"

                        อ๋อ...ทำไมสารคดีที่ผมส่งไปจึงถูกใจอาจารย์สถิตย์ล่ะครับ?  ก็ผมจำไปจากแนวความคิดเห็นที่ท่านอาจารย์พูดๆ ใส่หัวผมตลอดช่วงหลายปีที่ผมเดินตามท่านอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นแหละ เพียงแต่ผมนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวสารคดี  เช่น  อาจารย์เคยปรารภว่า  ผู้เริ่มแต่งเรื่อง  "สมุทโฆสคำฉันท์" นั้น  ท่านเชื่อว่าคือ "มหาราช" ที่เป็นชื่อตำแหน่งของพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่  นับแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช  เพราะเหตุผล ๒ ประการ คือ

                        ๑.  สมุทโฆสชาดก  ที่นำมาเป็นโครงเรื่องของ "สมุทโฆสคำฉันท์" นี้เป็นผลงานประพันธ์ของพระภิกษุในล้านนา  คือชุดชาดก ๕๐ เรื่อง  ที่รู้จักกันในนาม "ปัญญาสชาดก"  สมบัติล้ำค้าเช่นนี้มีหรือจะหลุดไปให้  "พระมหาราชครู"  ซึ่งเป็น  "พราหมณ์/ฮินดู"  อย่างที่เข้าใจกันมาตามตำรา  "ประวัติวรรณคดีไทย"

                        ๒.  พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ที่ทรงแต่งต่อเป็นพระองค์ที่ ๓ จนเรื่อง "สมุทโฆสคำฉันท์" จบบริบูรณ์นั้น  พระองค์ทรงระบุชัดในกาพย์ฉบัง  กล่าวคือ....
                        "......แรกเรื่องมหาราชภิปราย   ไป่จบจนนาราย์  นเรนทรสืบสรรค์สาร
                        สองโอษฐ์ฤาสุดตำนาน            เป็นสามโวหาร  ทั้งข้อย....ฯลฯ"

                        คำว่า "มหาราช" นี้  ถ้าทรงพระนิพนธ์ว่า "มหาราชครู"  ก็ไม่ผิดฉันทลักษณ์  แต่เพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องประวัติศาสตร์ดีถึงขนาดทรงพระนิพนธ์หนังสือชุดพระราชพงศาวดารไทย  ฉบับสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตฯ มาแล้ว (อาจารย์สถิตย์บ่นว่า "พวกสู่รู้ไปคิดเอาเองว่า "มหาราช" คือ มหาราชครู" เติมครูเอาเอง")

                       ส่วนวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ" นั้น  อาจารย์สถิตย์ มีความเห็นว่าผู้แต่งจะเป็นใครก็ตาม แต่ต้องเป็นชาวล้านนาแน่ๆ เพราะ

                       ๑.  โคลงเป็นรูปแบบคำประพันธ์ที่เริ่มจากนักปราชญ์โบราณล้านนา  ซึ่งเรายกย่องให้โคลงบทหนึ่งในลิลิตพระลอเป็น "ต้นแบบโคลงสี่สุภาพ"

                       ๒.  ถ้อยคำภาษาในลิลิตพระลอ เป็น "คำไทย" แท้ๆ เกือบร้อยทั้งร้อย  แทบไม่มีศัพท์บาลีสันสกฤตหรือเขมรเลย  ทั้งๆ ที่เราเชื่อว่า "ลิลิตพระลอ" แต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่ในวรรณคดีร่วมสมัยหรือย้อนขึ้นไปถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง  มีศัพท์บาลีสันสกฤตและคำเขมรอยู่ใน "ลิลิตโองการแช่งน้ำ"  จนแทบไม่มีคำไทยแท้ๆ 

                       ๓.  แบบธรรมเนียมประเพณีที่กล่าวถึงหรือแสดงออกนั้น เป็น  "เอกลักษณ์" เฉพาะของชาวล้านนา  เช่น  เมื่อพระลอต้องมนต์เสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพรายนั้น  ก็เพราะโดน "สลาเหิน"  ของปู่เจ้าฯ  แต่ไม่มีใครในตำนานหรือพงศาวดารไทย เว้นแต่เมื่อพระมหาเทวี มเหสีของพระเจ้าติโลกราช เป็นแม่ทัพใหญ่ ยกทัพเชียงใหม่-ลำปางไปตีเมืองแพร่ ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองแพร่สิ้นพระชนม์  มหาเทวีเมืองแพร่บัญชาการป้องกันเมืองแทน  พระมหาเทวีจากนครเชียงใหม่ทรงใช้ "สลาเหิน" เอาชนะเมืองแพร่ได้  แสดงว่า "สลาเหิน" เป็นความเชื่อหรือ  "อาวุธลับ"  เฉพาะของชาวล้านนาแน่ๆ

                       ๔.  อาจารย์สถิตย์ เสมานิล เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๖ เล่าว่าเคยเดินทางไปทั่วประเทศ  แต่มีเพียงชาวล้านนาเท่านั้นที่แสดงความเคารพต่อพระภิกษุอาวุโสระดับ "ครูบา" ด้วยการหมอบกราบราบและสยายมวยผมออกวางพาดลงบนพื้นทางเดินให้พระสงฆ์เดินเหยียบผ่านไป  อาจารย์สถิตย์เล่าว่า  เมื่อครั้งที่ครูบาศรีวิชัย "ยอดนักบุญ" แห่งล้านนาถูกนำตัวลงมาเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงไต่สวนด้วยพระองค์เองที่วัดบวรนิเวศฯ  และสมเด็จฯ ทรงซักถามจนพอพระทัย และให้ "ยกอธิกรณ์" คือ "ครูบาศรีวิชัย" ไม่มีความผิด  โปรดให้กลับไปภูมิลำเนาได้

                       ตอนที่ "ครูบาศรีวิชัย"
ก้าวออกจากประตูวัดบวรนิเวศฯ  มีสตรีชาวล้านนานับสิบคนกราบราบและสยายมวยผมพาดออกไปข้างหน้าให้ครูบาศรีวิชัยเดินเหยียบผ่านไป  อาจารย์สถิตย์บอกว่า อาการแสดงความเคารพสูงสุดเช่นนี้เป็น "เอกลักษณ์เฉพาะ" ของชาวล้านนา และยืนยันชัดว่าโคลง ๒ บทในลิลิตพระลอ  เป็นเพียงเรื่องเดียวที่กล่าวถึงอาการแสดงความเคารพ  เช่นนี้คือ  ตอนที่พระลอต้องมนต์เสน่ห์จนคลุ้มคลั่ง  หมอหลวงหมอผีของตนไม่อาจรักษา  พระชนนี  และนางลักษณวดีมเหสีก็สุดทัดทาน
ต้องยอมให้พระลออกไปเดินดง

                       โคลงตอนนี้  ระบุว่ามเหสีได้สยายพระเกศาออกเช็ดพระบาทของพระสวามี ส่วนพระลอเองก็สยายเกศาออกเช็ดบาทของพระชนนีเช่นกัน  ดังโคลงบาทท้ายว่า "...สยายเกศาเช็ดบาทไท้  ธิราชท้าวเป็นเฉลิมฯ"

                       พวกเราจัดเวรพาอาจารย์ไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ที่ท่านอยากไป  โดยเฉพาะผมพาไปนั่งรถไฟไปปีนขึ้น "ขุนตาน"  จากเชิงเขาที่สถานีขุนตาน  เขตลำพูน  เพราะอาจารย์อยากขึ้นไปชมบ้านตากอากาศของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บนยอดที่ ๒ หรือ "ย.๒" อาจารย์อายุ ๗๔ ปีนขึ้นเอง ผมอ่อนกว่า ๔๐ ปี ก็ต้องพยายามขึ้นไปด้วย  ก่อนขึ้นเขาเราแวะซื้อเสบียงพกขึ้นไปนั่งกินมื้อกลางวันที่ชานเรือนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ผมส่ง "คำเมือง" ถามราคาอาหารเพื่อจัดซื้อตามความเหมาะสม  อาจารย์สนใจจะเลียนเสียงที่ผมถามว่า "ตะฮือๆ" แทนคำว่า "เท่าไหร่?"  ในภาษาไทยภาคกลาง  ผมจึงบอกว่า  คำเต็มของ "ตะฮือๆ" นี่ก็คือ "เท่าฤา" ในภาษาไทยภาคกลางนั่นเอง  แต่ชาวล้านนาออกเสียง ท. เป็น ต.  และ ร. เป็น ฮ.  ดังนั้นคำ "เท่าฤา" จึงออกเสียงว่า "เต้าฮือ"

                       คำพยางค์หน้าออกเสียงเร็วๆ จึงกร่อนเสียงเป็น "ตะ-และ" "ตะฮือๆ" ดังที่เราได้ยินนะครับ  อาจารย์สถิตย์หัวเราะฮ่า และจุ๊ปากอย่างชอบใจ  อุทานว่า "เฮ่อ...เท่าฤา" โก้ยังกับคำในวรรณคดีเลยนะนี่

                       ขากลับ  พวกเราลงที่สถานีลำพูน  แวะไปชมวัดโบราณ  ยังทันได้ชื่นชมต้นไม้ชื่อต้น "สาลิกาลิ้นทอง" อันเป็นต้นไม้โบราณที่กล่าวว่า  พระนางจามเทวีผู้ก่อตั้งอาณาจักรลำพูน ทรงปลูกไว้เมื่อราว ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว  ต้นนี้อยู่ข้างโบสถ์วัดพระธาตุหริภุญไชย และคงเหลือเพียงต้นเดียว (บัดนี้สูญพันธ์ุแล้ว)  พวกเราโชคดีมากได้เห็นดอก "สาลิกาลิ้นทอง"
เป็นดอกขนาดใหญ่ กำลังอยู่ในฤดูบาน คงเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิตของผมที่มีบุญตาได้เห็นดอกสาลิกาลิ้นทอง  ซึ่งกลีบดอกด้านนอกเป็นสีเหลืองทอง  ครั้นบานออกมีกลีบดอกด้านในเป็นสีแดง  เปรียบเสมือนสีของลิ้นและด้านในของปากคน  พอดอกบาน  ก็มีเกสรสีเหลืองทองยื่นออกมาจากโคนด้านในดอก และค่อยยื่นยาวออกมาทุกวันๆ ในขณะที่ดอกเดิมก็ค่อยสีเข้มขึ้นๆ เพราะแก่  และค่อยๆ เหี่ยวร่วงลงๆ  ในขณะที่เกสรที่ยื่นยาว ออกๆ เติบโตกลายรูปเป็นดอกใหม่ และเบ่งบานแทนต่อเนื่องไป  จนกว่าจะหมดชุด  ชาววัดอาวุโสบอกเราว่าถึงฤดูดอกสาลิกาลิ้นทองบาน จะมีดอกบานดอกละ ๖-๗ วัน ชุดละ ๖-๗ ดอก กว่าจะหมดฤดูก็เดือนเศษ

                       หลายปีต่อมา  ผมเห็นข่าวว่า  ต้นไม้แสนพิเศษนี้  สูญพันธุ์แล้ว!

                       อาจารย์สถิตย์ เสมานิล  ถามกลางวงว่าชื่อเมือง "ลำพูน" มาจากคำศัพท์ใดหรือ?

                       มีเสียงออกจากคนหนึ่งว่า "มาจากชื่อหริภุญไชย"  คนร่วมวงไม่สนับสนุน  ทั้งนี้อาจารย์สถิตย์กล่าวว่า  พระนางจามเทวี ทรงสร้างเมืองลำพูนเมื่อกว่า ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว  แต่ชื่อเมืองหริภุญไชยที่หมายถึงเมืองลำพูน  เพิ่งจะถูกกล่าวถึงในหนังสือ "จามเทวีวงศ์"  ที่พระสงฆ์ผู้ทรงภูมิแต่งหนังสือนี้เป็นภาษาบาลี  ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราช  แห่งนครเชียงใหม่ราว ๕๐๐ กว่าปีมานี้เอง   ผมยกมือขอเสนอความเห็นว่า  ตามตำนานกล่าวว่า  พระนางจามเทวีเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเมืองลพบุรี  ทรงรับเชิญเสด็จขึ้นไปครองเมืองซึ่งพระฤาษี (และชาวบ้าน) สร้างถวาย

รูปปั้นพระนางจามเทวี (จากเว็บไซต์)

แผนที่หริภุญไชย(สีเขียว) จาก Wikipedia


                       ผมเข้าใจว่าเมืองลำพูนควรมีชื่อเมื่อแรกสร้างนั้นเกี่ยวเนื่องกับชื่อเมือง "ลพบุรี" ภูมิลำเนาเดิมของพระนางฯ เป็นแน่  ดังนั้น  ผมจึงถอดรหัสที่คำ หรือชื่อว่า "ลำพูน" ซึ่งชาวเมืองนี้ และชาวลำปาง (คู่แฝดของลำพูน) ออกเสียงเรียกชื่อเมืองลำพูนว่า "หละปูน"  ผมจึงเขียนอักษรบนเศษกระดาษให้อาจารย์ และเพื่อนๆ ดูว่า "หละปูน" ก็คือ "ลวปูร" ซึ่งแผลงชื่อ และอักษรมาจากชื่อ "ลพบุรี"  แผลง "ลพ" เป็น "ลว"  และ  "บุรี"  แผลงเป็น  "ปุระ"  เป็น  "ปูร"  ออกเสียงพูดเป็น "ลวะ-ปูร" "หละ-ปูน"

อาณาจักรหริภุญไชย(โบราณ) จากเว็บไซต์


                       อาจารย์สถิตย์ตบหลังผมแรงๆ เป็นที่รู้กันว่า "เจ๋ง-เห็นด้วยๆ"  พลางจุ๊ปาก และอุทานว่า "เออ...เจ็บปวดจริงๆ"   อาจารย์ ดร. อัครพงษ์ สัจจวาทิต  ก็ยกนิ้วโป้งชูว่า "เห็นด้วยครับ!"

                       ผ่านมาร่วม ๓๐ ปี  ผมพบปะกับอาจารย์ ดร. อัครพงษ์  ทุกปีก็สนทนาเรื่องเก่าๆ คือ พงศาวดารโบราณคดีของล้านนา  ดร. อัครพงษ์ เสนอความเห็นว่าตนเชื่อว่า  พระเจ้าแผ่นดินที่กล่าวถึงในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชว่า "พระเจ้าธรรมิกราช" สร้างนั้นน่าจะหมายถึง "พระเจ้าติโลกราช" มากกว่าจะเป็น "พญาลิไท" อย่างที่เชื่อๆ กันสืบมา   ผมเห็นด้วย  เพราะข้อมูลในพงศาวดาร และจารึกล้านนาบอกชัดว่า  ครั้งสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา  ทรงมีเดชานุภาพมาก  ในจดหมายเหตุของจีนกล่าวว่าทรงรบชนะกองทัพของจักรพรรดิเลถั่นตง  วีรกษัตริย์แห่งเวียดนามที่จีนเองรบแพ้  ถูกไล่ออกจากกรุงฮานอย   ดังนั้น  ทางราชสำนักจีนจึงยกย่องให้ราชทูตนำรางวัลเครื่องเชิดชูเกียรติมาถวายถึงนครเชียงใหม่

                        ครั้งหนึ่ง  พระเจ้าติโลกราชทรงส่งกองทัพไปตีเมืองน่าน  โดยมีเจ้าหมื่นด้งนครเจ้านครลำปางเป็นแม่ทัพใหญ่  ยกไปล้อมเมืองน่านไว้ และถามผู้ปกครองเมืองว่า "จะรบ หรือยอมอ่อนน้อม?  ถ้ารบ  ก็จะตีให้แตกอย่างที่ทำกับเมืองแพร่  แต่ถ้ายอมอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจ  ก็จะร่วมกันสร้างวัดและหล่อพระพุทธรูปเป็นสักขี"

                        พระเจ้าเมืองน่านกับคณะกรรมการเมืองตกลงเปิดประตูเมือง  ร่วมกันสร้างวัดและหล่อพระประธานไว้ในโบสถ์ของวัดที่รู้จักกันในนาม "วัดสวนตาล" อยู่นอกกำแพงเมืองน่านมาจนปัจจุบัน  ผมเชื่อว่า  ในการหล่อพระพุทธรูปนี้  โลหะทั้งหมด หรือส่วนใหญ่คงเป็นหน้าที่ของเมืองน่านจัดหามา  แต่เพื่อแสดงถึงความมีอำนาจเหนือกว่า  ดังนั้นรูปทรงวงพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จำเป็นต้องใช้ "ช่างหลวง" จากนครเชียงใหม่มาดำเนินการ  ดังนั้นพระพุทธรูปของวัดสวนตาลองค์นี้

พระเจ้าทองทิพย์ พระประธานในโบสถ์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน

วัดสวนตาล จังหวัดน่าน


                        เมื่อครั้ง  พระเจ้าติโลกราชเรืองอำนาจนั้น  ทรงยกทัพมาล้อมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ติดอยู่ในเมืองพิษณุโลกนานหลายๆ เดือน  ฐานที่มั่นของกองทัพพระเจ้าติโลกราชอยู่ริมแม่น้ำน่าน  ฝั่งเหนือที่บัดนี้คือ  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  พิษณุโลกนี่เอง  แต่พระบรมไตรโลกนาถทรงลอบล่องแพหนีรอดกลับกรุงศรีอยุธยา

                        เราคิดกันว่า  วัดและพระพุทธชินราช  ถ้าสร้างสมัยพญาลิไท  ก็ต้องมีอยู่ก่อนกองทัพเชียงใหม่จะยกมาตั้งย่านนั้น  แต่ถ้าพระพุทธรูปองค์นี้  พญาลิไทจากกรุงสุโขทัยมิได้ทรงมา สร้างละก็  กษัตริย์ล้านนาพระองค์นี้ย่อมทรงมีโอกาส และเดชานุภาพที่จะทรงสร้างได้   ถามว่าเชียงใหม่ยกทัพมาทำสงคราม  แล้วมาหล่อพระพุทธรูปสร้างวัดทำไม?  คำตอบอยู่ที่  "วัดสวนตาล" ที่เมืองน่านมาก่อนแล้ว

                        อย่างไรก็ตามการที่เราจะเสนอความคิดที่ไปขัดแย้งเปลี่ยนแปลงความเชื่อ หรือทฤษฎีเดิม  ซึ่งมีเจ้านายผู้ใหญ่  เช่น  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้แต่แรก  ย่อมเป็นเรื่องยากมากๆ   ทั้งๆ ที่สมเด็จฯ พระองค์นี้  ทรงมีนำ้พระทัยเมตตาเป็นนักวิชาการ  ครั้งที่เสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ เกาะปีนัง  เมื่อหลังเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น  มีนักคิดนักเขียน  ข้าราชการกล้าคิด และวินิจฉัยเผยแพร่ทำนองขัดแย้งเปลี่ยนแปลง

                        สาระสำคัญในพระนิพนธ์ที่ทรงไว้  ครั้นกองทัพญี่ปุ่นบุกลงยึดมลายูตั้งแต่ปี ๒๔๘๕ จึงเสด็จนิวัติพระนคร  ทรงตามผู้เขียนวิจารณ์งานพระนิพนธ์มาเข้าเฝ้าเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล  หนึ่งในจำนวนนั้น  ชื่อ  "นายธนิต อยู่โพธิ์"  ขณะนั้นเป็นข้าราชการระดับแผนก  ทรงซักถามและเห็นพ้องกับนายธนิตที่เขียนขัดแย้งต่อพระดำริเดิมของพระองค์  ทรงชื่นชมและประทานพรแก่นายธนิต อยู่โพธิ์  ซึ่งต่อมาเจริญในราชการเป็นถึงอธิบดีกรมศิลปากร  ที่มีผลงานมากด้วย

                        กรณีใครเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราชนี้  ผมเชื่อว่าผมมีวิธีพิสูจน์อย่างเป็น "วิทยาศาสตร์"  เพื่อให้ทุกคนยอมรับได้  โดยวิธีใช้ภาพถ่ายเชิงซ้อนแบบที่ใช้พิสูจน์หาเอกลักษณ์ตัวบุคคล  กล่าวง่ายๆ คือ

                        ก.  นำภาพเชิงซ้อนของ "พระพุทธชินราช"  ไปเปรียบเทียบกับภาพเชิงซ้อนของพระพุทธรูปทั้งหลายในเมืองสุโขทัย  และบางองค์ที่นำจากสุโขทัยมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ
                        ข.  นำภาพเชิงซ้อนของ "พระพุทธชินราช"  เปรียบเทียบกับภาพเชิงซ้อนกับพระพุทธรูปสำคัญของล้านนาที่สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราช  โดยเฉพาะที่ "วัดสวนตาล" ที่เมืองน่าน

                        ประเมินได้ไหมว่า "พระพุทธชินราช" ละม้ายคล้ายเหมือนไปทางข้อใด??

                        เมื่อ ๔-๕ ปีมานี้  ผมไปบรรยาย/สอนฝึก "พลังลมปราณ" ให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ที่จะเกษียณอายุในเดือนกันยายน  ผมอยากกินอาหารแบบล้านนา  เช่น  ข้าวเหนียว ลาบคั่ว  ไส้อั่ว  น้ำพริกหนุ่มผักลวก  จึงขอไปกินที่บ้านของ ดร. อัครพงษ์ สัจจวาทิต

                        เจ้าบ้านปรารภถึงชื่อเมืองลำพูนที่ผมเสนอไว้นานแล้วว่ามาจาก "ลวปูร" ออกเสียงเป็น "หละ-ปูน" นั้น  เขาย้ำว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง   ผมจึงเสนอต่อเนื่องว่า  ชื่อเมืองลำปางที่พระนางจามเทวีทรงสร้างและประทานนามเมืองไว้นั้น  ก็คงใกล้ๆ กับชื่อ "ลวปูร" นั่นแหละครับ  เพราะ "ลำพูน-ลำปาง" เป็นเมืองคู่แฝด  ที่พระนางจามเทวีทรงสร้างประทานแก่พระราชโอรสแฝดนาม "ท้าวมหายศ" ครองเมืองลำพูน(ลวปูร)  "ท้าวอนันตยศ" องค์น้องอพยพข้ามป่าเขามาสร้างเมืองใหม่อยู่คือ "ลำปาง" (....?)

                        ผมเสนอลอยๆ ว่าชื่อ "ลำปาง" คงจะมาจาก "ลว+...?"  คำพยางค์หลังนี้คืออะไรแน่?  ช่วยผมคิดด้วยเถิด   แต่...โปรดอย่าเล่าตามตำนานที่ว่า  มาจากกระบอกไม้ไผ่ชนิดหนึ่งผิวบางๆ ชาวเหนือเรียก "ไม้ป้าง" ซึ่งเรื่องในตำนานว่า  พญาลัวะตนหนึ่งนำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างไปถวายพระอรหันต์ที่ฉันแล้ว  ก็นำกระบอกปักลงที่พื้นดินพร้อมทำนายว่าต่อไปจะเกิดเมืองใหญ่ขึ้น ณ บริเวณนั้น   ครั้นเมื่อมีการสร้างเมืองขึ้น  จึงขนานนามว่า เมือง "ลำป้าง"  นานเข้าไม้โทกร่อนหายไปกลายเป็นชื่อ "ลำปาง" ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                         ผมไม่เชื่อตำนานนี้หลายสิบปีแล้ว  รวมทั้งตำนาน "อลัมพางค์" และความเป็นมาของชื่อ "เขลางค์" ด้วย   ผมเสนอว่าคำพยางค์หลังน่าจะเป็น  "ภังค"  แผลงเป็น  "ภางค"   แต่พอ ดร. อัครพงษ์  เปิดดูความหมายของคำนี้  ปรากฏว่า  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "แตก หัก ทำลาย" จึงไม่เห็นด้วยน่ะซีครับ!

                         ถ้าผมยอมง่ายๆ ก็คงไม่ก้าวเท้าออกจากลำปาง  มาตั้งต้นชีวิตในกรุงเทพฯ  ผมจึงคิดค้นต่อมาจนปี ๒๕๕๘  นี้ยังค้นต่อ...