มโหระทึก ภาพจากเว็บไซต์ |
ท่านอาจารย์บ่นว่า "เครื่องประโคมแบบนี้ไม่ใช่กลอง เมื่อทำให้เกิดเสียงดังก็ไม่ใช้การตีแบบกลองหรอก เขาใช้ในงานราชพิธี และใช้พลองยาวกระทบ(กระทั่ง) ด้านข้างวงรอบของมันจึงเกิดเสียงดังแก๊งๆ เป็นจังหวะๆ..." เผอิญมีอาแป๊ะหาบถังไม้ใส่เต้าฮวยมาขาย อาจารย์สั่งซื้อ ๒ ถ้วย และยืมไม้คาน(กลม) ที่ใช้หาบถังเต้าฮวย มาแสดงท่าให้ดูโดยบอก "สมมุติ ถังนี่คือ มโหระทึก เจ้าพนักงานชาวที่ ก็จะใช้ไม้แบบนี้(กระทบ)กระทั่งข้างๆ ขอบมโหระทึก..." ผมถึง "บางอ้อ" เพราะเคยพบข้อความของ...หมายกำหนดการงานพระราชพิธี มักมีการลำดับขั้นตอนงานทำนองนี้ เช่น พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มโหรีประโคมแตรเป่าสังข์ พราหมณ์ไกวบันเฑาะว์ เจ้าพนักงานกระทั่งมโหระทึก"
มโหรีประโคมแตรเป่าสังข์ฯ ภาพจากเว็บไซต์ |
ท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล หายสาบสูญช่วงต่อระหว่างปี ๒๕๒๓ - ๒๕๒๔ จึงไม่ทันมีโอกาสได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ แก้ไขความหมายของ "มโหระทึก" ซึ่งท่านปรารภว่าจะขอให้แก้ไขปรับคำอธิบายเป็นว่า ☛☛ มโหระทึก น. เครื่องประโคมรูปทรงคล้ายกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะมักเป็นสัมฤทธิ์ ใช้ประโคมในพระราชพิธี ☚☚ ผมจึงได้แต่บันทึกไว้ในความทรงจำ
ช่วงปี ๒๕๒๖ - ๒๕๓๕ ผมรับราชการเป็น "ผู้ตรวจการพาณิชย์เขต" กระทรวงพาณิชย์ได้ย้ายเขตทุกปีไปทั้ง ๙ เขตทั่วประเทศ ปี ๒๕๓๑ ผมเดินทางไปจังหวัดมุกดาหาร มีคนพาผมไปดู "มโหระทึก" ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน ๑ เมตร ผมเห็น มโหระทึกตั้งบนตั่งไม้อยู่นอกประตูโบสถ์วัด(กลาง)มัชฌิมาวาส มีไม้ท่อนกลมยาวสัก ๑ เมตร ใช้ผ้าพอกพันง่ายๆ ที่ปลายข้างหนึ่งเพื่อใช้ตี(กลอง) มโหระทึก
กลองมโหระทึก วัดมัชฌิมาวาส มุกดาหาร ภาพจากเว็บไซต์ welovetogo.com |
ตามที่ระบุไว้ถึงความเป็นมาเล่าว่า ชาวบ้านพบมันฝังอยู่ริมฝั่งโขง จึงช่วยกันนำมาถวายวัดเป็นสมบัติให้คนชม ผมเขียนฝากนมัสการถึงเจ้าอาวาสว่า การใช้ไม้ตีมโหระทึกนั้นไม่ถูกวิธี ขอให้ทำเครื่องมือเพื่อใช้ "กระทั่ง" แทน พอผมหาท่อนไม้มาแสดงท่าทางกระทั่งมโหระทึกให้ชาววัดกลางดู เขาร้องอ๋อว่า เข้าใจแล้ว ชาวอีสานออกเสียงว่า "ถั่ง" คือ ตัดคำจากกระทั่ง นั่นเอง
ต่อมาต้นปี ๒๕๓๙ ผมเป็นรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ไปราชการในงานแสดงสินค้าไทยที่กรุงปักกิ่ง เนื่องในวาระความสัมพันธ์ไทย-จีน ๒๐ ปี ผมมีเงินรับรองติดกระเป๋าไปเลี้ยงแขกได้ ผมจึงเชิญข้าราชการไทยที่ได้รับทุนจากรัฐบาลจีนให้ทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนชาติไทยจ้วงในมณฑลกว่างสี-จ้วง ทางตอนใต้ของจีน เธอทำวิจัยเสร็จแล้ว แต่ที่มากรุงปักกิ่งเพื่อรอวันเวลาอีกไม่นาน เธอจะเป็นวิทยากรนำเสนอผลงานการวิจัยต่อที่ประชุมใหญ่ "โบราณคดีโลก" ซึ่งองค์การยูเนสโก เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง
พอทราบว่าเธอจะเสนอรายงานเรื่อง "มโหระทึก" ซึ่งมาศึกษาวิจัยจากชนชาติจ้วงในภาคใต้ของจีน ผมก็ประหลาดใจ เพราะเข้าใจ(ผิด)มาตลอดว่า "มโหระทึก" มีต้นกำเนิดจากพิธีของพราหมณ์อินเดีย พอผมแสดงความโข่งทำนองนี้ออกไป เธอก็รีบอธิบายให้ผมและผู้ร่วมโต๊ะจีนจนจบรายการอาหาร เธอยังตามคณะของผมไปอบรมให้เราต่อ ซึ่งผมได้รับความรู้มากจำได้ตลอดมาเกือบ ๒๐ ปี โดยสรุปคือ
ชนชาติไทจ้วง ภาพจากเว็บไซต์ |
๑. ชนชาติไทจ้วง (Cuengh race 壯族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีภาษาและวัฒนธรรมประเพณีคล้ายชนชาติลาวและไทยอิสาน แต่ต่างกับไทยลื้อ ไทยใหญ่ ไทยล้านนา
๒. ภูมิประเทศของแคว้นไทจ้วง เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ยิ่งในยุคโบราณที่การคมนาคมไม่สะดวกต้องเดินเลาะไปตามทางเดินธรรมชาติเลียบใหล่เขา ถ้าเดินทางเพียงไม่กี่คน เมื่อสวนทางกัน ก็หลีกหลบทางให้แก่กันได้ไม่ลำบาก แต่ถ้าเป็นขบวนเดินทางขนาดใหญ่ เช่น ขบวนของผู้นำหมู่บ้าน ตำบล จนถึงแคว้นหรือสูงกว่าอีกก็ย่อมมีจำนวนผู้คน สัตว์พาหนะและอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องยศ ฯลฯ มาในขบวนเดินทางมากตามศักยฐานะ ทำให้การเดินสวนทางกันทำได้ลำบากยิ่งขึ้น อีกทั้งการหลีกหลบให้ทางก็ทำได้ยากลำบาก การถอยขบวนให้ก็แทบไม่ต้องคิดทำ เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกจากไหล่เขาลงเหวลึก
๓. ผู้ทรงภูมิปัญญาในระดับสูงของชนชาติจ้วง จึงกำหนดธรรมเนียมถือปฏิบัติโดยให้นำเอาเครื่องยศประจำระดับตำแหน่งของผู้นำชนเผ่าที่เราเรียกว่า "มโหระทึก" เป็นเครื่องบอกสัญญาณการจราจร เพราะผู้นำชนเผ่าระดับหมู่บ้านจะมีมโหระทึกขนาดเล็กสุด และไล่ระดับใหญ่ขึ้นไปจนตำแหน่งเจ้าแคว้นย่อมมีขนาดใหญ่สุด เมื่อ(ตี)กระทั่งมโหระทึกก็ย่อมหมายรู้ได้ว่าเป็นเสียงจากมโหระทึกขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างกันไป
ดังนั้น จึงมีกำหนดรู้ทั่วชนชาติไทจ้วงว่า เวลาขบวนผู้นำหมู่บ้านหรือระดับสูงกว่าเดินทางไปที่ใดนอกเขตปกครองปกติต้องนำ "มโหระทึก" ประจำศักดิ์ตำแหน่งเดินทางล่วงหน้านำห่างขบวนไปพอสมควร
มโหระทึก ภาพจาก เว็บไซต์นสพ. ผู้จัดการ |
๔. มโหระทึกดังกล่าวนี้จะมีคนดูแลอย่างน้อย ๔ คน คือ คนหามสาแหรกใส่มโหระทึกซึ่งหล่อจากโลหะย่อมมีน้ำหนักมาก(กว่ากลองไม้) อีก ๒ คนถือพลองเดินขนาบข้างทำหน้าที่ "กระทั่ง" คือใช้ไม้พลองกระทบด้านขอบข้างซ้ายขวาของมโหระทึก ให้เกิดเสียงสัญญาณ(ขอทาง)บอกไปข้างหน้า ถ้าไปมีเสียงสัญญาณจากขบวนอื่น ก็คงเคลื่อนต่อไปจนถึงจุดหมาย
๕. แต่ถ้ามีเสียงสัญญาณการกระทั่งมโหระทึกดังสวนทางอยู่ข้างหน้า ก็ให้ฟังว่าเป็นเสียงจากมโหระทึกขนาดเล็กกว่าหรือใหญ่กว่า อ๋อ...พวกเขาย่อมรู้ดีว่า "ไผเป็นไผ" ใหญ่กว่าก็ผ่านต่อไปโดยเล็กกว่าก็รอหรือหลีกทางให้
ถามว่า ถ้าเท่ากันล่ะ? เออแน่ะ...ผมก็ไม่ได้ถามเอาคำตอบมา แต่คิดเองว่าคงมีวิธีจัดการละเอียดดีจึงไม่มีปัญหา คงมีคนสงสัยว่าทำไมไม่ใช้วิธี "ตี" แบบตีกลองทำไมจึงวิธี(กระทบ)กระทั่งเอาล่ะ? ผมก็คิดไม่ถึง จึงไม่ได้ถามเอาคำตอบ ลอง "จุดธูป" เรียนถามท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ได้คำตอบปรากฏในสมองกลวงๆ ของคนแก่ๆ อย่างผม คือ
มโหระทึก ภาพจากเว็บไซต์ |
๖. มโหระทึก หล่อจากโลหะ จึงมีน้ำหนักมาก การให้เคลื่อนย้ายนำขบวนต้องใช้สาแหรกให้คนหามเดินไป ขืนใช้วิธีตีก็ย่อมเพิ่มแรงถ่วงทุกครั้งที่ตีลงไป คนหามก็คงสะดุ้ง(และแอบด่า) ทุกครั้งที่มีการตี จนน่าจะต้องหาคนมาผลัดดกันหามหลายคู่ คงมีชาวไทจ้วงผู้ทรงภูมิปัญญาคิดวิธีใช้ท่อนพลอง(กระทบ)กระทั่งทางด้านข้างซ้ายขวาของมโหระทึก ซึ่งนอกจากไม่ไปเพิ่มน้ำหนักให้คนหามแล้ว ยังใช้คนกระทั่งเดินขนาบสองข้างผลัดกันกระทั่งซ้ายขวา เท่ากับประคองป้องกันมิให้มโหระทึกปลิ้นพลิกตกจากสาแหรกด้วย ถ้าใช้วิธีตียังมีปัญหาที่คนจะตีได้ถนัดก็ต้องเดินตามติดไปในระยะตี ซึ่งย่อมเกะกะการเดินของคนหามด้านหลัง ดังนั้น กรรมวิธีที่ชนชาติไทจ้วงคิดและถือปฏิบัตินั้น "สุดยอด" แล้วในพระราชพิธีของสถาบันกษัตริย์ จึงกำหนดให้ใช้มโหระทึกประโคมประกอบราชพิธีโดยใช้การ "กระทั่ง" ตามแบบดั้งเดิมตลอดมา
มโหระทึกเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงศักดิ์อำนาจ และใช้ในพระราชพิธีจึงไม่มีคนจำลองเอามาใช้ในบ้านเรือนสามัญชน แม้มีใครไปค้นพบก็จะนำไปถวายวัด เช่น ที่วัดมัชฌิมาวาส(กลาง) มุกดาหาร และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ดังนั้น คนไทยจึงไม่ค่อยคุ้นกับคุณสมบัติจำเพาะของมโหระทึก ก็ย่อมเข้าใจผิดไปได้ว่า มันคือ "กลองโบราณ" และเพราะมีชื่อว่า "มโหระทึก" พาให้นึกเดาไปว่าคงผสมคำว่า "มโหฬาร" กับ "ระทึก" ดังนี้
มโหฬาร ว. ยิ่งใหญ่ กว้างใหญ่ เช่น ใหญ่โตมโหฬาร
ระทึก ก. อาการที่ใจเต้นตึกๆ
จึงคาดว่าในสมัยโบราณ หากเกิดเหตุเภทภัยร้ายแรงขึ้นในพระนคร ก็คงจะ(ตี)ประโคมมโหระทึกดังสนั่นหวั่นไหวล่ะนะ
หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะนอกจากเครื่องมโหระทึกจะใช้เฉพาะในพระราชพิธีพิธีกรรมแล้ว เสียงกระทั่งมโหระทึกก็ดังไม่มากนัก อยู่ห่างเกินร้อยเมตรก็จะไม่ได้ยินเสียงแล้ว
ประการสำคัญ กลองใหญ่ ๓ ใบ สำหรับพระนครที่ครั้งโบราณก่อนสมัยรัชกาลที่ ๖ ประเทศสยามใช้กลองเหล่านี้ตีประโคมเพื่อภารกิจสำคัญ ๓ ประเภท คือ
กลองใหญ่ ๓ ประเภทสำหรับพระนคร ภาพจากเว็บไซต์ |
๑. กลองชื่อ "ย่ำพระสุริยศรี" ใช้ตีบอกเวลา เว้นแต่ตอนเที่ยงวัน ใช้วิธียิงปืนใหญ่บอก ดังรู้จักกันว่า "ปืนเที่ยง"
๒. กลองชื่อ "อัคคีพินาศ" ใช้ตีบอกเหตุไฟไหม้
๓. กลองชื่อ "พิฆาตไพรี" ใช้ตีบอกเหตุเภทภัยจากข้าศึกศัตรู หรือโจรผู้ร้าย
ถามว่าทำไมผมรู้? อ๋อ...ก็ผมเป็น "ลูกหม้อ กระทรวงพาณิชย์" เมื่อครั้งยังอยู่ถนนสนามไชย ปากคลองตลาด เยื้องๆ หนากระทรวงฯ มีหอกลองเคยตั้งอยู่ แม้ตัวกลองนั้นถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้วก็ตาม ผมเคยเดินข้ามไปสอบถามหาเรื่องเล่าขานถึงตำนาน "เจ้าพ่อหอกลอง" นะครับ
ผมไม่ใช่คนงมงาย แต่ไม่เชื่อก็ไม่ลบหลู่นะครับ.