Monday, April 2, 2018

Where to go and what to see in China? เที่ยวที่ไหน? ในเมืองจีน

 (ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.​ ๒๕๓๙)

   ประเทศจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลมีพื้นที่และประชากรราว ๒๒ เท่าของพื้นที่และประชากรของประเทศไทย
แผนที่ประเทศจีนจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
ศิลปวัฒนธรรมของจีนเป็นแหล่งหนึ่งของอารยธรรมโลก  โดยเฉพาะอารยธรรมเอเซียตะวันออก  นอกจากจีน (รวมทั้งไต้หวันและฮ่องกง) แล้ว  ประเทศญี่ปุ่น  เกาหลีเหนือ+ใต้  มองโกเลีย(นอก) เวียตนาม สิงคโปร์  ล้วนแต่มีรากของอารยธรรมจีนเป็นฐานของศิลปวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้ทั้งสิ้น

ชาวจีนยังอพยพเข้าไปตั้งรกรากถาวรอยู่ในประเทศต่างๆ ทุกทวีป  จำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางและเงื่อนไขของกฏระเบียบ และเงื่อนไขของสังคมในแต่ละประเทศ

 ชาวไทยและประเทศสยาม (เสี่ยมล้อ) เป็นแดนสวรรค์ในความฝันของคนจีนภาคใต้มาแต่ดึกดำบรรพ์  ดังนั้น  ชาวจีนจึงเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำงานประกอบอาชีพในแผ่นดินสยามมานานนับพันปี  ดังปรากฏตำนานเล่าขานถึงเรื่องที่ พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานพระราชธิดาแก่เจ้าชายสยาม

คนไทยเชื้อสายจีนที่โด่งดังที่สุดก็คือ "สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔" กล่าวเช่นนี้ก็คงมีคนส่วนใหญ่ถามว่า "ใคร?"  ก็ท่านผู้มีอนุสาวรีย์ประดิษฐานอยู่ ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี นั่นเอง  คือ  "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"  ซึ่งคนจีนแต้จิ๋วที่เมืองซัวเถา  ถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษของพระองค์นั้น  ต่างออกพระนามมหาราชพระองค์นี้ว่า "แต้อ้วง"  เสียงจีนกลางคือ "เจิ้งหวาง"


อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพจากเว็บไซต์ sanook 
นับแต่รัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นต้นมา  ชาวไทยเชื้อสายจีนได้เข้ารับใช้ใกล้ชิดในราชสำนัก และในราชการตลอดมาจนทุกวันนี้  ยิ่งในคณะรัฐมนตรีชุดก่อน  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีราวครึ่งจำนวนล้วนมีเชื้อสายบรรพบุรุษจากเมืองจีน

เมื่อประเทศไทยได้ทำสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.​๒๕๑๘ แล้ว  การติดต่อเดินทางระหว่างไทย-จีน เพื่อกิจการต่างๆ ทั้งในภาครัฐ  ภาคเอกชน (และส่วนตัว เช่น ไปเยี่ยมญาติ ไปท่องเที่ยว) ก็เกิดขึ้นมากและทวีขึ้นทุกปี  จนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘  ในวาระครบรอบ ๒๐ ปีแห่งสัมพันธไมตรี "ไทย-จีน" นั้น  มีคณะผู้แทนภาครัฐและจากองค์กรเอกชนได้ไป-มาเยือนกันประมาณ ๑,๑๐๐ คณะ (เฉลี่ยวันละ ๓ คณะ)  จากไทย ๖๐๐ กว่าคณะ  จากจีน ๔๐๐ กว่าคณะ  จำนวนนี้ไม่นับรวมคณะท่องเที่ยวเอกชนส่วนตัว  ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ไปมาเป็นทางการนั้นหลายเท่านัก  โดยเฉพาะจากเมืองไทย  มีนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวเมืองจีนวันละหลายคณะ  เว้นแต่ในช่วงฤดูหนาว  หิมะตก  ทัวร์ไทยก็ไปเที่ยวประเทศอื่นที่ภูมิอากาศเหมาะสมกว่า  ครั้นหิมะจางไปความหนาวคลายลง  คณะทัวร์ไทยก็หลั่งไหลไปเที่ยวเมืองจีนอีกวาระหนึ่ง

การจะวิเคราะห์เปรียบเทียบและเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามต้องการของตนเองได้ก็ต้องเรียนรู้เรื่องเมืองจีนไว้บ้าง และถามตนเองว่าไปเมืองจีนเพื่อ "ศึกษาเรียนรู้" เรื่องอะไร?  ถ้าท่านต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจีน  อารยธรรมจีนแต่ไปเลือกซื้อทัวร์ไปเที่ยว  "นครคุนหมิง"  ท่านก็ไม่มีทางได้รู้จักศิลปวัฒนธรรมจีน  อารยธรรมจีนได้  เพราะคุนหมิงเมืองหลวงของมณฑลยูนนานนี้  เป็นมณฑลปลายชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอันกว้างใหญ่  หากเปรียบไปก็คล้ายกับว่าคนต่างชาติอยาก "ศึกษาเรียนรู้" ศิลปวัฒนธรรมไทย แต่เข้ามาเที่ยวเพียงที่อำเภอหาดใหญ่  แล้วจะรู้ซึ้งถึงศิลปวัฒนธรรมไทยละหรือ?  อยากจะศึกษาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจีน  วิวัฒนาการของประวัติศาสตร์  การเมืองและสังคมอันเป็นรากฐานของอารยธรรมจีนก็ต้องไปเยือน "ภาคกลาง" ของจีน

"ภาคกลางของจีน" นั้น  เรียกในภาษาจีนกลางว่า "จงกวั๋ว" เสียงแต้จิ๋วเรียกว่า "ตงก๊ก"  คำว่า "จงกวั๋ว" หรือ "ตงก๊ก" หมายถึงประเทศจีนโดยรวม  แต่ความหมายที่ลึกลงไปหมายถึง  อาณาบริเวณระหว่างลุ่มแม่น้ำฮวงโห (หวงเหอ)  กับลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง หรือหยั่งจื้อ) ซึ่งมีอาณาเขตของมณฑลต่างๆ ในปัจจุบัน  คือ  มณฑลเหอหนาน  มณฑลส่านซี  มณฑลเจ๋องเจียง  มณฑลเจียงซู  มณฑลชานซี  มณฑลชานตง  มณฑลเหอเป่ย  และบางส่วนของมณฑลเสฉวน  เป็นต้น

มณฑลเหล่านี้คือที่ตั้งดั้งเดิมของประเทศจีน  เมืองหลวงของอาณาจักรจีนนับแต่ครั้งโบราณกาลกว่า ๓,๕๐๐ ปี  มาจนกระทั่งปัจจุบันมี ๗ แห่ง  ซึ่งทั้งหมดนี้ก็วนเวียนอยู่ในพื้นที่ของมณฑลต่างๆ เพียง ๕ มณฑล  ตามลำดับยุคสมัย คือ

เที่ยวกรุงอันหยาง
เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน
ภาพจาก wikipedia
กรุงอันหยาง Anyang  เป็นเมืองหลวงเก่าแก่แห่งแรกของอาณาจักรจีนตั้งแต่ก่อน ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว  ในยุคราชวงศ์เซี่ย  ราชวงศ์ซัง  ราชวงศ์โจว

ปัจจุบัน "กรุงอันหยาง" อยู่ในสภาพเพียง "เมืองอันหยาง" เป็นเมืองเก่าแก่  แต่ก็เหลือซากโบราณสถานเพียงเล็กน้อยให้นักค้นคว้าทางโบราณคดีได้ศึกษา  เมืองอันหยาง อยู่ตอนเหนือสุดเขตของมณฑลเหอหนาน Henan ชิดแดนต่อกับเขตมณฑลเหอเป่ย Hebei  การคมนาคมและองค์ประกอบในการท่องเที่ยวจะยังไม่เหมาะสม  ผู้ที่ไม่ได้รักฝังใจในโบราณคดีไม่จำเป็นไปเที่ยว

เที่ยวกรุงซีอาน
Xi'an กรุงซีอาน Shaanxi มณฑลส่านซี
ภาพจาก wikipedia

กรุงซีอาน Xi' an  เป็นเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของมหาอาณาจักรจีน  ซึ่งจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (เสียงจีนกลางเรียก "ฉินซือหวาง")  ได้ทรงสถาปนาขึ้นจากฐานะเมืองหลวงของแคว้นจิ๋น หรือฉิน  เป็นนครหลวงของอาณาจักรจิ๋น หรือฉิน ที่พระองค์ทรงปราบปรามแคว้นอื่นๆ ได้ราบคาบรวมเข้ามาเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน  ที่คนรู้จักในนามประเทศจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

คำว่า "จีน"  มีที่มาจากชื่ออาณาจักรจิ๋น หรือฉิน Chin ซึ่งจีนปัจจุบันกำหนดอักขระวิธีให้ใช้อักษรโรมันเขียนเป็น "Qin"  แต่ในชื่อที่คนอังกฤษเรียกเป็น "China"  ก็มาจากชื่อจิ๋น หรือฉิน Chin นี่เอง

ปัจจุบันกรุงซีอาน คือ "นครซีอาน"  เมืองหลวงของแคว้น "ส่านซี  Shaanxi  "ซีอาน" เป็นเมืองหลวงของจีนตั้งแต่ พ.ศ. ​๓๒๒  ในสมัยราชวงศ์จิ๋นต่อเนื่องมาถึงราชวงศ์ฮั่นยุคแรกที่นักประวัติศาสตร์เรียก "ราชวง์ฮั่นตะวันตก" (ไซฮั่น หรือซีฮั่น)  เริ่ม พ.ศ.​ ๓๓๗ ถึง พ.ศ.​ ๕๔๘  รวม ๒๑๒ ปี

ราชวงศ์เล็กๆ อายุสั้นๆ คั่นอยู่ที่นครหลวงอื่นๆ อีกแล้วราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ก็ได้กลับมาปกครองจีน ณ ซีอาน คือ ราชวงศ์ถัง Tang พ.ศ. ๑๑๖๑ - พ.ศ. ๑๔๖๐  รวม ๓๐๐ ปี  ทั้งราชวงศ์จิ๋น  ราชวงศ์ฮั่น  และราชวงศ์ถัง  ได้สร้างสมความเจริญทางด้านภาษาศิลปวัฒนธรรม  อารยธรรม และกำลังรบอันยิ่งยงให้แก่มหาอาณาจักรจีน

"ซีอาน" มีอะไรน่าเที่ยว.....?

ซีอานมีที่น่าเที่ยวมากจนต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ วันสำหรับการโฉบไปมา  แต่ถ้าจะศึกษาลงลึกในรายละเอียดก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ หรือปีทีเดียว  สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งควรไปให้ได้ คือ พิพิธภัณฑ์มนุษย์โบราณ ปันโพ (Banpo)  พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลส่านซี   พิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผา (ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้)  พิพิธภัณฑ์ (หรือสวน) ศิลาจารึก  เจดีย์เอี้ยนถะ (หรือเจดีย์ห่านป่าใหญ่)




 เจดีย์เสี่ยวเอี้ยนถะ (หรือห่านป่าเล็ก)  สุสานพระนาง "บูเช็กเทียน"  จักรพรรดินี หรือ "ฮ่องเต้หญิง"  องค์เดียวที่จีนยอมรับ  น้ำพุร้อน "หัวชิงสือ"  อนุสรณ์สำราญรักของจักรพรรดิเสียนฟงกับยอดหญิงงาม "หยางกุ้ยเฟย" ในยุคราชวงศ์ถัง  สถานที่เดียวกันนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า "กรณีซีอาน"  ซึ่งมีตัวละครเอก คือ  จอมพลเจียงไคเช็ค กับนายพลจางซูเหลียง (จางเสเหลียง)

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลส่านซี Shaanxi
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลส่านซี
ภาพจาก wikipedia

ก่อนจะไปชมแหล่งท่องเที่ยวอื่นใดใน นครซีอาน  ควรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลส่านซีเพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของประเทศจีนเมื่อครั้งที่ตั้งเมืองหลวงอยู่ ณ "กรุงซีอาน"  ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จัดเป็นห้องๆ ตามลำดับของยุคราชวงศ์ต่างๆ  ที่ปกครองประเทศจีนอยู่ ณ กรุงซีอาน  เริ่มจากราชวงศ์จิ๋น หรือฉิน ที่คนไทยคุ้นกับพระนาม "จิ๋นซีฮ่องเต้" (หรือฉินซื่อหวางในเสียงจีนกลาง) คำว่า จิ๋นหรือฉิน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชื่อประเทศจีน และชาวจีน  ตามที่คนไทยเรียกว่าแต่สมัยโบราณนับแต่คนไทยรู้จักกับคนจีน

ถัดไปเป็นราชวงศ์ฮั่น  ซึ่งคนไทยคุ้นกับวรรณคดีเรื่อง "สามก๊ก"  ย่อมจะได้พบว่ามีตัวละครบางท่านออกอ้างพระนาม "เล่าปัง" ที่ทรงเป็นต้นราชวงศ์ฮั่น  บรรพบุรุษของ "เล่าปี่"  ราชวงศ์ฮั่นที่ตั้งอยู่ ณ กรุงซีอาน  นักประวัติศาสตร์เรียกว่า "ฮั่นตะวันตก" (ไซฮั่น หรือซีฮั่น)
จักรพรรดิฮั่นโกโจ/หลิวปัง กษัตริย์จีนโบราณ
ภาพจากหอการค้าไทยจีน

"เล่าปัง หรือหลิวปัง"  ครองราชย์ทรงพระนามว่า "จักรพรรดิฮั่นโกโจ" (หรือ "ฮั่นเกาจู")  ทรงมีอานุภาพมาก  ขยายอาณาเขตขึ้นไปจนติดแดนเปอร์เซีย  ทำให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับตะวันออกกลาง  แล้วขยายวงการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับตะวันออกกลาง  แล้วขยายวงการค้ากว้างไกลขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงกรุงโรม เมืองหลวงแห่งมหาอาณาจักรโรมัน  นักประวัติศาสตร์เรียกเส้นทางค้าขายระหว่างกรุงซีอาน กับกรุงโรมนี้ว่า "เส้นทางสายไหม (Silk Route)  และบรรดาประชาชาติทั้งหลายที่ค้าขายติดต่อกับชาวจีนต่างพากันเรียกคนจีนว่า "ชาวฮั่น"  หมายถึงเป็น "ชาว (อาณาจักรแห่งราชวงศ์) ฮั่น" นั่นเอง  ชาวจีนจึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จะเรียกตนเองว่า "ชาวฮั่น"  แม้ว่าราชวงศ์ฮั่นจะสิ้นไปนานเกือบ ๑,๙๐๐ ปี และเปลี่ยนราชวงศ์มาอีกราว ๒๐ ราชวงศ์  กระทั่งปัจจุบันไม่มีราชวงศ์แล้วก็ตาม  ชาวจีนที่เป็นเชื้อสายจีนแท้ (ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย) ก็ยังเรียกตัวเองว่า "ชาวฮั่น"

เดินผ่านไปอีกหลายห้องหลายราชวงศ์  มาถึงห้อง "ราชวงศ์ถัง"  ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งในสามราชวงศ์ที่สร้างสมความเจริญรุ่งเรืองให้อาณาจักรจีน ณ กรุงซีอาน

ราชวงศ์ถัง  ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคที่ความเจริญด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองที่สุด  หลวงจีน "เหียนจึง" รับอาสาพระจักรพรรดิถังไท่จงมหาราช  ธุดงค์ไปยังประเทศอินเดียเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ในจีน  หลวงจีนหนุ่มใช้ความมานะเดินทางและแปลพระไตรปิฎกที่อินเดียจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาจีนจนสำเร็จ  และอัญเชิญพระไตรปิฎกฉบับภาษาจีนกลับสู่กรุงซีอานได้  โดยใช้เวลาไป-กลับ ๑๔ ปี  ถังไท่จงทรงโสมนัสยิ่งนัก  โปรดให้สร้างหอสูงไว้กลางเมือง แล้วอัญเชิญพระไตรปิฎกขึ้นประดิษฐานไว้ ณ หอสูง (ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า "หอห่านป่าใหญ่") นั้น
หอห่านป่าใหญ่ ที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก
สมัยราชวงศ์ถัง
 และสถาปนาหลวงจีน "เหียนจึง" ขึ้นเป็นเจ้า  ทรงพระนามว่า "พระถังซัมจั๋ง"  เทียบเท่าพระองค์เจ้าในแบบธรรมเนียมไทยนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์มนุษย์โบราณ ปันโพ Banpo



พิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้



สองพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ใกล้ๆ เส้นทางเดียวกัน  หุ่นทหารดินเผานับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ที่นักโบราณคดียังสรุปไม่ชัดว่า  หุ่นทหารดินเผาเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายใดแน่??

พิพิธภัณฑ์สวนศิลาจารึก

ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ตำนานและวิทยาการต่างๆ ของจีนมักถ่ายทอดจารึกไว้บนแท่งหิน  หรือศิลาจารึก  เฉพาะที่มณฑลส่านซีได้รวบรวมมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็มีกว่า ๒,๐๐๐ แท่ง  แต่ละแท่งเป็นหินแกรนิตรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  กว้างประมาณ ๑ เมตร  สูงราว ๒ เมตรเศษ

หอห่านป่าใหญ่ (ต้าเอี้ยนถะ)



สร้างชั้นฐานล่างด้วยอิฐ  ช่วงบนเป็นไม้สูงกว่า ๖๐ เมตร  ตามความเชื่อที่ว่าถ้าสร้างปูชนียสถานสูงเท่านกเขาเหิร ย่อมเป็นบุญกุศลสูงส่ง

ดังนั้น  เมื่อพระถังซัมจั๋งอัญเชิญพระไตรปิฎกมายังกรุงซีอานได้  พระเจ้าถังไท่จงจึงทรงให้สร้าง "หอพระไตรปิฎก" ขึ้น  เพื่อใช้ประดิษฐานพระไตรปิฎกชุดนี้  หอไตรฯ ดังกล่าวใช้เวลาสร้างนานหลายปีจนสิ้นรัชกาล  พระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้  ทรงให้สร้างต่อจนเสร็จและใช้การตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ

ปัจจุบันเรียกกันว่า "ต้าเอี้ยนถะ" เจดีย์(หรือหอ) ห่านป่าใหญ่"

หอห่านป่าเล็ก (เสี่ยวเอี้ยนถะ)



ตั้งอยู่ห่างกันกับ "หอห่านป่าใหญ่" ไกลหลายกิโลเมตร  พระนางบูเช็กเทียน  ผู้ทรงสถาปนาพระองค์เองเป็น "ฮ่องเต้" ทรงให้สร้าง หอห่านป่าเล็ก  เพื่อถวายพระราชกุศลรำลึกถึงพระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้ พระราชสวามีของพระนางเอง

หอห่านป่าเล็ก แม้จะเล็กและเตี้ยกว่า "หอห่านป่าใหญ่" ก็ตาม  แต่รูปทรงดูอ่อนช้อยสวยงามกะทัดรัดกว่า อาจจะเป็นเพราะพระราชนารีทรงสร้าง  จึงดูสบายตาเช่นนั้น  ทั้งบรรยากาศภายในวัดก็ร่มรื่นสงบดีกว่าที่ "หอห่านป่าใหญ่"

น้ำพุร้อน "หัวชิงฉือ"  

ภาพจาก google sites

แห่งทรงพระสำราญของฮ่องเต้สืบเนื่องกันมาตลอดที่มีราชวงศ์ต่างๆ ปกครองอยู่ที่กรุงซีอาน  แต่น้ำพุร้อนแห่งนี้มีชื่อโด่งดังจารึกไว้ในประวัติศาสตร์จีนถึง ๒ ครั้ง

ครั้งแรกในสมัยพระเจ้า "เสียนฟง" (ในเรื่อง "ซุยถัง" ออกพระนามตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "เหียนจงเมงตี้") รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์ถัง  ทรงหลงใหลพระสนมหยางฯ คือ "หยางกุ้ยเฟย"  เสด็จไปทรงพักผ่อนทรงสำราญพระวรกายกับ "หยางกุ้ยเฟย"  โดยเสด็จลงสรงด้วยกันครั้งละนานๆ  และประทับแรมอยู่ที่พระตำหนักริมน้ำพุนี้เนืองๆ ไม่สนพระทัยในราชการบ้านเมือง  จนเกิด "กบฏอันลู่ซาน" (หรืออันลกซัน) ยกทัพเข้ายึดกรุงซีอานได้  ฮ่องเต้ทรงพาพระสนมคนโปรด และข้าราชบริพารหนีภัยเข้าป่าขึ้นเขารอดไปได้  เดชะบุญที่รัชทายาท หรือ "ฮ่องไทจือ" ทรงเข้มแข็ง  รวบรวมทหารป้องกันด้านหลังมิให้ข้าศึกตามตี

กล่าวกันว่าขณะนั้น  ฮ่องเต้พระชันษาราว ๗๐ ปี  ในขณะที่สนม "หยางกุ้ยเฟย" อายุ ๓๐ กว่าปี  และนางเองเป็นต้นเหตุจูงใจให้ "อันลู่ซาน (อันลกซัน)" บ้าเลือดคิดกบฏ  เพราะเขาแอบมีสัมพันธ์สวาทต่อกัน  ดังนั้นรัชทายาท พร้อมด้วยขุนนางนายทหารที่ตามเสด็จมาด้วย  จึงกราบทูลบีบบังคับให้ฮ่องเต้ประหารชีวิต "หยางกุ้ยเฟย"  หากฮ่องเต้รักเธอมกกว่ารัชทายาท และทหาร  พวกเขาก็จะทิ้งพระองค์ให้เสด็จอยู่กับเธอตามลำพัง  พวกเขาทั้งหลายจะอพยพไปอยู่ที่แคว้นอื่น  ฮ่องเต้จึงต้องให้ประหารสนมเอกด้วยความเจ็บปวดพระทัยยิ่งนัก

เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่  ได้มาเกิดขึ้นที่ "น้ำพุร้อนหัวชิงสือ" นี้อีกในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙  จอมพลจางซูเหลียง (หรือจางเสเหลียง)  กับนายพลหยางอู่เฉิง ๒ แม่ทัพของจอมพลเจียงไคเช็ค  ได้ร่วมกันจับกุมจอมพลเจียงไคเช็ค  ประธานาธิบดี และผู้บัญชาการสูงสุดของประเทศจีน โดยทหารจู่โจมเข้าจับ และคุมขังท่านจอมพลฯ ไว้ในบ้านพักตากอากาศที่บริเวณบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้

สองขุนพลได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เจียงไคเช็คยุติสงครามกลางเมืองที่ไล่ล่าพรรคคอมมิวนิตส์จีน แล้วหันมาร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน

สุสานพระนางบูเช็กเทียน




วัฒนธรรมประเพณีแต่ดั้งเดิมของจีนนั้น  ถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิง  การสืบราชสมบัติ  การสืบมรดกจะแบ่งกันเฉพาะลูกชาย  ลูกสาวที่แต่งงานก็ได้รับทองหมั้นกับสมบัติตอน "รับไหว้ (ขังเต๊)" จากญาติผู้ใหญ่  หลังจากนั้นก็ไปอยู่ในความปกครองดูแลของครอบครัวฝ่ายสามี  ส่วนลูกสาวที่ไม่แต่งงานก็อยู่กับครอบครัวเดิมต่อไป  ถ้าพ่อแม่ตายไป  ก็มีพี่ชายหรือน้องชายสืบตระกูลดูแลต่อไป

ค่านิยมประเพณีดังกล่าวนี้  ยืนยันให้เห็นชัดจากรูปปั้น  รูปหล่อ "สิงโตคู่"  ที่ตั้งอยู่ตามหน้าวัง  หน้าตำหนัก  หน้าศาลเจ้า  สิงโตทั้งสองรูปร่างหน้าตาเหมือนกันขนาดเท่ากัน  ดูไม่ออกว่าตัวไหนตัวผู้ตัวไหนตัวเมีย  ต้องไปดูที่อุ้งเท้าจึงพบที่แตกต่าง  คือ  ตัวที่ใช้เท้าเขี่ยลูกเล่นหัวอยู่ด้วยนั้น  คือ  ตัวเมีย  มีหน้าที่เลี้ยงลูก   ส่วนอีกตัวหนึ่งใช้เท้าเหยียบลูกโลก  หมายความว่า  มีหน้าที่ปกครองโลก หรือบ้านเมือง

แม้วัฒนธรรมประเพณีจีนโบราณจะเคร่งครัดในการยกเพศชายเหนือกว่าเพศหญิงก็ตาม  แต่ในประวัติศาสตร์จีนโบราณนั้นเองก็ปรากฏเรื่องราวอันโด่งดังของพระนาง "บูเช็กเทียน" (เสียงจีนกลางเรียก "อู่เจ๋อเทียน")  ผู้สถาปนาพระองค์เองจาก "พระราชชนนี ฮองไทเฮา" ขึ้นเป็นจักรพรรดินีเสียเองแทนที่พระราชโอรสซึ่งทรงถอดออกจากจักรพรรดิลงมาเป็นเจ้าชายธรรมดา (อ๋องหรือหวาง) ต่ำกว่า "รัชทายาท (ฮองไทจือ)" ด้วย

พระนางบูเช็กเทียน  เคยเป็นพระสนมเล็กๆ ของพระจักรพรรดิ "ถังไท่จงฮ่องเต้" มหาราชรัชกาลที่ ๒ ของราชวงศ์ถังอันยิ่งใหญ่  ในปลายรัชกาลนั้น "บูเช็กเทียน" ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อเดิมว่า "บูมี่เนี้ย หรือจีนกลางเรียก "อู่เหมยเหนียง"  ถูกบังคับให้ไปบวชชี  ครั้นสิ้นรัชกาลนั้นแล้ว  รัชทายาทขึ้นครองราชย์แทนพระบิดา  ทรงพระนามว่า "จักรพรรดิถังเกาจง"  ทรงมีสายสัมพันธสวาทกับแม่ชีสาวอยู่ก่อน  จึงโปรดให้สึกชีและรับกลับเข้ามาเป็นพระสนมอีกยุคหนึ่ง

"บูมี่เนี้ย หรืออู่เหมยเหนียง"  เป็นคนสวยไม่มากแต่ฉลาดมากและใจเหี้ยมมากๆ  จึงสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระมเหสี และกุมอำนาจอยู่หลังราชบัลลังก์จักรพรรดิถังเกาจง  ซึ่งทรงอ่อนแอทั้งพระนิสัยและพลานามัย  ในเวลาไม่กี่ปีจักรพรรดิก็สิ้นพระชนม์  พระราชโอรสองค์หนึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่ปีก็ถูก "พระนางบูเช็กเทียน" ราชมารดาใช้อำนาจอิทธิพลบารมีที่มีมากกว่า "จักรพรรดิ" (ต่อเนื่องมา ๒ รัชกาลแล้ว) ทรงปลดออกจากตำแหน่งฮ่องเต้

"บูเช็กเทียน" สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นฮ่องเต้(หญิง) หรือจักรพรรดินี  มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ "ฮ่องเต้ชาย" ทุกประการ  ทรงออกว่าราชการเอง  ทรงคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ชายเข้าวังมาเป็น "พระสนมชาย" และแต่งตั้งคนที่ทรงโปรดปราณให้เป็นพระสนมเอกสนมรอง  ตามตำแหน่งที่ฮ่องเต้แต่สมัยก่อนๆ ได้ทรงกำหนดไว้  ยิ่งไปกว่านั้น "บูเช็กเทียน"  ยังประกาศสถาปนา "ราชวงศ์โจว" เป็นเอกเทศจากราชวงศ์ถัง  เท่ากับกว่าทรงโค่นราชวงศ์ถังอันยิ่งใหญ่ลงได้อย่างง่ายดายด้วยสติปัญญาของสตรีองค์เดียวเท่านั้น

ในพงศาวดารจีนยุคต่อมาอีก ๑,๒๐๐ กว่าปี  "พระนางซูสีฮองไทเฮา" แห่งราชวงศ์เช็ง หรือชิง  ก็ทรงใช้กโลบายคล้ายๆ กลยุทธของพระนาง "บูเช็กเทียน" ไต่เต้าจากพระสนมปลายแถวขึ้นมาจนเป็นผู้นำวังใน และยึดกุมอำนาจเหนือราชบัลลังก์ฮ่องเต้ ๒ รัชกาล เช่นกัน

กล่าวกันว่า "ซูสีไทเฮา" นั้นอาจจะเลียนแบบ "บูเช็กเทียน"  แต่...ไม่อาจยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวจีนได้เท่ากับพระนาง "บูเช็กเทียน"  เพราะ "ซูสีไทเฮา" มิได้เป็นฮ่องเต้ประการหนึ่ง  และทรงใช้พระราชอำนาจและทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อความสุขส่วนพระองค์เท่านั้น   แต่ "บูเช็กเทียน" นอกจากจะทรงเป็น "จักรพรรดินี" องค์แรกและองค์เดียวของจีนแล้ว  ยังทรงสร้างสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง  เช่น  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งเร่ิมเจริญขึ้นในยุคต้นราชวงศ์ถังให้เจริญยิ่งขึ้น  และทรงสร้างพระเจดีย์ "ห่านป่าเล็ก"  เป็นถาวรวัตถุอยู่จนปัจจุบัน  อายุกว่าพันปีแล้ว   ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพก็ได้มี "สุสาน ๒ จักรพรรดิ"
 เป็นสิ่งสุดท้ายที่ได้สร้างเพื่อบรรจุฝัง  พระบรมศพของพระนาง "บูเช็กเทียน" เองก็พระราชสวามี "จักรพรรดิถังเกาจง" ประดิษฐานคู่กันอยู่บนภูเขานอกเมืองซีอานไปราว ๑๐๐ กิโลเมตร  นับเป็นสุสานแห่งเดียวในประวัติศาสตร์จีนที่บรรจุฝังจักรพรรดิ ๒ พระองค์ไว้ในหลุมเดียวกัน  ซ้ำยังต่างราชวงศ์ด้วย  คือ องค์ผู้ชายราชวงศ์ถัง  องค์ผู้หญิงราชวงศ์โจว

ปัจจุบัน "นครซีอาน" เป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวนานาชาตินิยมไป  ด้วยการคมนาคมสะดวกมีสนามบินานาชาติติดต่อออกไปยังฮ่องกงได้ทุกวัน


เที่ยวกรุงลั่วหยาง Lou Yang

ภาพจาก wikipedia

กรุงลั่วหยาง Louyang คนแต้จิ๋วออกเสียง "หลกเอี๊ยง" ถ้าท่านอ่านเรื่อง "สามก๊ก" ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)  จะพบชื่อเมืองนี้ว่า "ลกเอี๋ยง" ซึ่งเป็นสำเนียงจีน "ฮกเกี้ยน" เช่นเดียวกับชื่อบุคคลอื่นๆ ในเรื่องนั้น  ชื่อเมืองนี้จะเรียกว่าอะไรก็ตาม  แต่หมายถึงเมืองซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจีนมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือ "ตงฮั่น" ซึ่งพระเจ้า "ฮั่นกองบู้ฮ่องเต้" ทรงสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง  หลังจากที่ราชวงศ์นี้ถูกกบฏ "หวางหมั่งหรืออองมัง" โค่นล้มลงที่นครซีอาน  ราชวงศ์ฮั่นยุคหลังจึงย้ายไปตั้งอยู่ ณ "กรุงลั่วหยาง"  มณฑลเหอหนาน  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของ "ซีอาน" เมืองหลวงเดิม  นักประวัติศาสตร์จึงเรียกแยกเป็น "ฮั่นตะวันตก(ที่ซีอาน)" กับ "ฮั่นตะวันออก(ที่ลั่วหยาง)" เริ่ม พ.ศ. ๕๖๘

กรุงลั่วหยางมีวาสนาได้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรจีนมาหลายราชวงศ์  แต่ราชวงศ์ฮั่นนับว่ายิ่งใหญ่และยาวนาน  ตราบจนสิ้นราชวงศ์เมื่อ พ.ศ. ๗๖๓  โดยสิ้นราชกาลพระเจ้า "เหี้ยนเต้"  ตามที่เรียกพระนามใน "สามก๊ก" ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)   ต่อจากนั้นเป็นยุค "สามก๊ก" หรือ "ซันกวั๋ว" (The Three Dynasties) ระหว่าง พ.ศ. ๗๖๓ ถึง พ.ศ. ๘๒๓  ครั้นแล้วเชื้อสายชั้นหลานของ "สุมาอี้" ก็สถาปนาราชวงศ์จิ้น  ขึ้นอีกกว่า ๑๐๐ ปี

เมืองลั่วหยางในปัจจุบันยังมีความสำคัญทั้งในเศรษฐกิจ การศึกษาและการท่องเที่ยวของมณฑลเหอหนาน อาทิ "วัดเส้าหลิน Shaolin Monastery" "วัดม้าขาว Baima Si Monastery" "ศาลเจ้ากวนอู" "หน้าผาหลงเหมิน" (ประตูมังกร) Longmen Grottoes  ซึ่งมีพระพุทธรูปแกะสลักหินอยู่ที่หน้าผานั้นกว่าหนึ่งแสนองค์   ทั้งๆ ที่ "ลั่วหยาง" ไม่ได้เป็นเมืองหลวงของมณฑล และไม่มีสนามบิน  เมืองหลวงของมณฑลเหอหนานคือ "นครเจิ้งโจว" ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคม

อะไรคือ "วัดเส้าหลิน"?  ใครที่เป็นแฟนหนังสือหรือภาพยนตร์ประเภท "กำลังภายใน" ย่อมคุ้นหูคุ้นตากับชื่อ "สำนักเส้าหลิน" และปรมาจารย์ "ตักม้อ"  แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบประวัติความเป็นมาของปรมาจารย์และวัดเส้าหลิน
วัดเส้าหลิน
เมื่อปลายสมัยราชวงศ์สุย  ฮ่องเต้องค์สุดท้ายคือ "สุยหยางตี" (ในเรื่อง "ซุยถัง" ใช้สำเนียงแต้จิ๋ว "ซุยเอี๋ยนเต้") ทรงเกษมสำราญเกินเหตุ  พวกประจบสอพลอกราบทูลยุยง  จึงทรงสั่งให้ต่อ "เรือมังกร" ขึ้น  เป็นเรือไม้มีขนาดใหญ่สูง ๔ ชั้น  ชั้นบนๆ เป็นห้องพระบรรทม  และห้องนอนของสนม   กับขุนนางตามเสด็จ  รับสั่งให้เกณฑ์แรงงานราษฎรนับล้านคนมาขุดคลองใหญ่ให้เรือสำราญลำนี้แล่นพาพระองค์และขุนนางข้าราชบริพารไปเที่ยวชมเมืองต่างๆ  โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนล้มตายของราษฎร

ทรงพระสำราญเป็นเดือนเป็นปี  จึงมีผู้ก่อตัวเป็นกบฏขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งใหญ่น้อยรวม ๖๔ ก๊ก  ในบรรดาก๊กเหล่านี้เองก็แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กัน  จึงสู้รบกันเองเป็นจลาจลกลียุคไปทั้งแผ่นดิน  ในบรรดาก๊กเหล่านี้  ที่ใหญ่ๆ คือ  ก๊กถังกงหลี่เอี้ยน  ซึ่งมีลูกชายคนที่ ๒ ชื่อ "หลี่ซื่อหมิน" (ในสำเนียงแต้จิ๋วคือ "หลีซีบิ๋น")  เป็นกำลังและสติปัญญาสำคัญ  ขณะนั้นกำลังขับเคี่ยวกับก๊ก "หวังซื่อฉวง" (สำเนียงแต้จิ๋ว "เฮ่งสีช่วง") กองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายมาสู้รบกันอยู่ที่เชิงเขานอกนครลั่วหยาง

"หลี่ซื่อหมิน" แพ้  ถูกขุนพลหวังฯ  ไล่ฆ่า  ต้องขับม้าหนีเอาชีวิตรอด  หนีไปสุดชีวิต  แต่ขุนพลหวังฯ ยังจี้ติดไม่ลดละ  แม้ "อวยชีจง" ทหารเอกของหลี่ซื่อหมินซึ่งเป็นเพื่อนรักเก่าแก่ของขุนพลหวังฯ จะขับม้าตามมาติดๆ  ปากก็ตะโกนห้ามและขอร้องมิให้ทำร้ายนายตน  แต่ขุนพลหวังฯ ไม่สนใจคงควบม้ากวัดแกว่งกระบี่จี้ตามไป  "อวยชีจง" พยายามแซงม้าเข้าขวางก็ถูกขุนพลหวังฯ ฟันกระบี่ไว้ไมตรีเพียงตัดสาย(เข็มขัด) รัดเอวขาด  กางเกงรุ่ยลงไป...แต่ก็ทำให้ "หวังซื่อฉวง" เสียจังหวะชะงักไป... "หลี่ซื่อหมิน" ชักม้าหนีขึ้นเนินเขาซึ่งมีป่าละเมาะกำบัง  แต่ขุนพลหวังฯ ก็ไล่มาอีก  "หลี่ซื่อหมิน" เห็นว่าม้าอ่อนแรงก็พอดีเจออาศรมนักบวชหลังหนึ่ง  จึงวิ่งหลบเข้าไปใส่กลอนแน่นและขังตัวเองไว้

"หวังซื่อฉวง" ถือกระบี่ไล่ล่าตามมาทัน  ลองพังประตูไม่สำเร็จ  ก็เดินวนรอบอาศรม  หาช่องจะปีนเข้าไป  ขณะนั้นเวลาพลบคำ่  แสงโพล้เพล้  "ขุนพลหวังฯ"  มองขึ้นไปบนชายคาอาศรม   เห็นเป็นสีเหลืองๆ ตะคุ่มๆ  หมอบอยู่บนนั้น   สายตาจ้องเขม็งมายังขุนพลหวังฯ  ซึ่งเข้าใจว่า "เสือโคร่ง" กำลังจะกระโจนลงมาเล่นงาน  จึงรีบล่าถอยกลับไป

"หลี่ซื่อหมิน"  รอดตายอย่างหวุดหวิด  จึงสำนึกในพระคุณของนักบวชผู้ธุดงค์จากอินเดียมาสร้างอาศรมนั้น  ท่านคือ  ปรมาจารย์องค์แรกที่ก่อตั้งสำนัก "วัดเส้าหลิน" อันมีนามว่า "ตะโมภิกขุ" ซึ่งสำเนียงจีนเรียกว่า "ตักม้อ" นั่นเอง
ปรมาจารย์ตักม้อ หรือตะโมภิกขุ
ภาพจาก Manager Online
ใครได้เห็นภาพวาดภาพจำลองของท่าน "ตะโมหรือตักม้อ" ก็ต้องเห็นใจ "หวังซื่อฉวง" ที่เห็นท่านปรมาจารย์ที่ห่มจีวรเหลืองๆ หน้าดำๆ หมอบอยู่บนชายคา  ตาวาวคมโตจ้องเขม็งมาในเวลาโพล้เพล้ และตนเองลากกระบี่ไล่ล่ามาเหน็ดเหนื่อยเช่นนั้น  ก็ย่อมเกิดตาฝาดเห็นปรมาจารย์ "ตะโมภิกขุ (Dama) เป็นเสือโคร่งไปได้แน่นอน

วัดเส้าหลิน Shaolin Monastery ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.​๑๐๓๘  อายุ ๑,๕๐๐ ปีเศษแล้ว  เมื่อปีที่มีงานฉลองวาระครบ ๑,๕๐๐ ปี  ได้มีพระธรรมราชานุวัตร หรือ "หลวงเตี่ย" จากวัดพระเชตุพนฯ นำคณะจากไทยไปร่วมฉลอง

วัดม้าขาว (ไป๋หม่าชื่อ  หรือสำเนียงแต้จิ๋วเรียก "แปะเบ้ยี่")
ภาพจาก Wikipedia
วัดนี้ที่จริงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ (หลี่ซื่อหมิน) รัชกาลที่ ๒  ของราชวงศ์ถัง  เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกคุณของ "ม้าขาว" ตัวที่เป็นพาหนะของ "พระถังซัมจั๋ง" เสด็จไป "ไซที" หรือประเทศอินเดีย  ใช้เวลาเดินทางไปศึกษา และแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน และอัญเชิญพระไตรปิฎกชุดแรกนั้นบรรทุกบนหลัง "ม้าขาว" กลับมายังประเทศจีน  ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ "ห่านป่าใหญ่" ที่กรุงซีอาน  เมืองหลวงของจีนในสมัยนั้น

ส่วน "ม้าขาว" พาหนะคู่บารมีของพระถังซัมจั๋ง  กรากกรำเดินทางไปและกลับรวม ๑๔ ปี  ครั้นปฏิบัติหน้าที่สำเร็จก็สิ้นอายุขัย  พระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ทรงพระเมตตาโปรดให้สร้างวัด "ม้าขาว Baima Si" ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์บูชาคุณ ณ นครลั่วหยาง  ถิ่นกำเนิดของม้าขาวนั่นเอง

ศาลเจ้า "กวนอู" ที่นครลั่วหยาง
ภาพจาก Wikipedia
ผู้อ่านเรื่อง "สามก๊ก" คงจำได้ว่าน้องร่วมสาบานของ "เล่าปี่" คือ "กวนอู" กับ "เตียวหุย"  ครั้งหนึ่ง "กวนอู" แตกทัพพลัดกับพี่น้อง  ต้องพาพี่สะใภ้ไปอาศัยอยู่กับ "โจโฉ" แต่ไม่ยอมเข้ารับราชการกับ "โจโฉ"  จนกระทั่ง "โจโฉ" ทำสงครามกับ "อ้วนเสี้ยว"  ถูก  "อ้วนเสี้ยว" ใช้กลยุทธให้ยอดทหารเสือ ๒ คน คือ  "งันเหลียง" กับ "บุนทิว"  ผลัดกันออกมาท้าทายทหารเอกของ "โจโฉ" ออกไป "ดวล" กัน  ปรากฏว่าทหารเอกของ "โจโฉ" คนแล้วคนเล่าออกไปสู้  ก็ตายคาสนามรบทุกราย  จนเกิดความหวาดกลัวไปทั่วกองทัพ  กลัวจะถูกนายสั่งให้ออกไปสังเวยชีวิต

"โจโฉ"  เห็นสถานการณ์คับขัน  จึงให้คนไปขอร้อง "กวนอู"  ออกไปสู้แทนทหารเอกของตน  โดยนำ "ม้าเซ็กเทาว์"  ยอดม้าในยุคนั้นมอบให้ "กวนอู" ออกรบ และใช้เวลาเดี๋ยวเดียวก็ฆ่าทหารเสือ "งันเหลียง" กับ "บุนทิว" เรียบราบหมด  "โจโฉ" จึงรักใคร่อยากได้ "กวนอู" ทำงานด้วย  แต่ "กวนอู" นั้นเป็น "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์"  ที่ไหนจะไยดีต่ออามิสบูชา  จึงกลับไปหา "เล่าปี่" ซึ่งขณะนั้นแม้แผ่นดินจะอยู่ก็ยังไม่มี

ในที่สุด  "กวนอู"  ถูกศัตรูซึ่งเป็นทหารฝ่าย "ซุนกวน" ลอบฆ่าตาย  และตัดหัวใส่ถังแช่น้ำผึ้ง  ให้คนนำไปมอบให้แก่ "โจโฉ" ณ นครลั่วหยาง  "โจโฉ" สลดใจเสียดายอาลัยรัก "กวนอู" มาก  จึงให้สร้างสุสานฝังศีรษะ "กวนอู" ไว้อย่างสมเกียรติยิ่ง  ภายหลังมีผู้เคารพมาสร้างศาลเจ้า "กวนอู" อยู่ด้านหน้าของสุสาน  มีผู้คนจากทุกสารทิศแวะมากราบไหว้สืบมากว่า ๑,๗๐๐ ปีแล้ว

ประตูมังกร "หลงเหมิน"  
ภาพจาก Wikipedia
หน้าผาหลงเหมิน Longmen Grottoes (ประตูมังกร)  อยู่นอกนครลั่วหยาง  เป็นหน้าผาริมแม่น้ำไหวเหอ  แควหนึ่งของแม่น้ำ "ฮวงโห" มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ องค์แกะสลักหินไว้ ณ แผ่นผาซึ่งเจาะเว้าเข้าไปในภูเขา  จึงเรียกว่า "ประตู"  ส่วนคำว่า "มังกร" หมายถึงกษัตริย์  ก็เพราะฮ่องเต้โปรดให้สร้างขึ้น


เที่ยวกรุงไคฟง


กรุงไคฟง Kifeng  ท่านๆ ที่เป็นแฟนหนังโทรทัศน์เรื่อง "เปาบุ้นจิ้น"  ย่อมจะคุ้นกับชื่อ "ศาลไคฟง" แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า "ไคฟง" นั้นคือชื่อ เมืองหลวงของจีนในยุคราชวงศ์ซ่ง (Song)  หรือซ้อง ในพงศาวดารไทยซึ่งเรียกชื่อเมือง "ไคฟง" ว่า "เมืองเปียนเหลียน"

เมื่อสิ้นราชวงศ์ถัง  อาณาจักรจีนก็แตกเป็นเสี่ยงๆ  แย่งชิงอำนาจ  รบราฆ่าฟันกัน  มีราชวงศ์อายุสั้นๆ  อยู่ ๕ ราชวงศ์ในช่วง ๕๐ ปีเศษ  ในที่สุด  ยอดขุนพลคนหนึ่งนามว่า  "จ้าวควังอิ้น"  ซึ่งในพงศาวดารจีนที่แปลไว้เดิมเรียกว่า "เตี๋ยคังเอี๋ยน"  ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้ ณ กรุงไคฟง เมื่อ พ.ศ.​ ๑๕๐๓  กรุงไคฟงเป็นเมืองหลวงอยู่เพียงช่วง ๑๖๘ ปี  เฉพาะราชวงศ์ซ่ง หรือซ้อง  ซึ่งภายหลังนักประวัติศาสตร์เรียกราชวงศ์ที่ไคฟงนี้ว่า "ราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่ยซ่ง)"  เพราะราชวงศ์ซ่งยุคหลังยัายไปตั้งอยู่ทางใต้
บ้านเปาบุ้นจิ้น ภาพจาก Postjung

ศาลไคฟงจำลอง ภาพจาก Wikipedia
เมืองไคฟงปัจจุบัน  เป็นเมืองอันดับรองจากนครเจิ้งโจว และลั่วหยางทางเศรษฐกิจ  แต่เพราะอิทธิพลของหนังเรื่อง "เปาบุ้นจิ้น"  ทำให้นักท่องเที่ยวจำต้องแวะไปชมบ้าน "เปาบุ้นจิ้น" กับ "ศาลไคฟง" ซึ่งแม้จะเป็นของจำลองขึ้นเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีมานี้  แทนสถานที่เดิมซึ่งประสบอุทกภัยจากแม่น้ำฮวงโห (หวงเหอ) บ่าท่วมทำลายสิ้นซากไปหมด

นอกจากนี้  ที่เมืองไคฟงยังมีที่ให้ชมอีก ๓ - ๔ แห่ง คือ "ศาลามังกร" อันเป็นตำหนักที่ประทับของฮ่องเต้ในสมัยราชวงศ์ซ่ง  แต่เป็นสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ทดแทนสถานที่เดิมซึ่งล่มไปในกระแสอุทกภัยใหญ่เช่นเดียวกับ "ศาลไคฟง"
ศาลามังกร หลงถิง เมืองไคฟง  ภาพจาก pantip.com
ยังมีย่านธุรกิจบันเทิงของชาวไคฟงในครั้งโบราณถูกจำลองขึ้นที่ย่านชุมชนใกล้ประตูท้ายวัง  โดยรักษารูปทรงอาคารและการประกอบอาชีพให้ดูละม้ายคล้ายสมัยโบราณ  แต่ย่อมไม่มีทางทำได้เหมือนแน่นอน  เพราะสมัยราชวงศ์ซ่งนั้น  ย่านนี้เป็นถนน "โลกีย์" ของนครไคฟง  ในครั้งกระโน้นถึงกับเล่าลือกันว่าฮ่องเต้เจ้าสำราญบางพระองค์ทรงปลอมพระองค์แอบหลบจากวังไปทรงพระสำราญกับสาวๆ โรงน้ำชา  ถึงกับกล่าวว่าทรงประชวรด้วยพระโรคบุรุษ(สตรี)ทำนองนั้น

วัดเซียงกวั๋วซื่อ

เสียงแต้จิ๋วในหนังสือเรื่อง "ไซอิ๋ว" เรียกวัดเซียงก๊กยี่  วัดนี้ตั้งอยู่ชานกรุงไคฟง  และเป็นปูชนียสถานซึ่งชาวกรุงไคฟงเคารพศรัทธา  แม้แต่ในเวลานี้ก็ยังมีผู้คนชาวจีนและนักท่องเที่ยวไปนมัสการและเที่ยวชมอยู่ทุกวัน  วัดเซียงกวั๋วซื่อ  เป็นวัดแห่งเดียวในโลกที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้พระราชทรัพย์สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเชิดชูบูชาคุณงามความดีของ "นายเซียงเลี้ยง" ราษฎรสามัญชนซึ่งมิได้รู้จัก หรือเกี่ยวดองเป็นพระญาติวงศ์พงศากับฮ่องเต้ประการใด

ตำนานวัดนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าถังไท่จงมหาราช  มีเรื่องราวปรากฏในเรื่องไซอิ๋วว่าเมื่อพระองค์ครองราชย์ได้ ๑๓ ปี  ทรงพระประชวรสิ้นลมปราณไป ๓ วัน  พระวิญญาณเสด็จไปเมืองผี  มีเหตุการณ์ตื่นเต้นต่างๆ นานาๆ  แต่เรื่องหนึ่งคือ  ฝูงปีศาจอสุรกายนับแสนนับล้านตัวซึ่งเป็นวิญญาณของเหล่าอดีตศัตรูหมู่ทหารข้าศึกซึ่งตายไปในสงครามโดยถูกจักรพรรดิถังไท่จงและทหารของพระองค์ฆ่าฟันพวกผู้คนเหล่านี้  กลายมาเป็นทัพอสุรกายต่างมุ่งมาร้องทวงหนี้ชีวิตจากจักรพรรดิฯ ซึ่งลงมาเมืองผีอย่างกระทันหันเพียงลำพังพระองค์เดียว

ทรงตกพระทัยกลัวจนตัวสั่น พระเสโท(เหงื่อ)แตกพลั่กไม่รู้ว่าจะหนีไปไหนรอด  เผอิญเจ้าหน้าที่เมืองผีที่ดูแล (ดวงพระวิญญาณ) จักรพรรดิถังไท่จงฯ กราบทูลว่า  บรรดาอสุรกายเหล่านี้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ก็กระทำบาปไม่บำเพ็ญบุญกุศลไว้  จึงไม่ได้ไปผุดไปเกิด  ถ้าพระองค์จะทรงทำพระกุศลก็ให้โปรยเศษเงินให้ไป  พวกเขาได้รับส่วนกุศลแล้วก็จะได้ไปผุดไปเกิดเสียที

พระจักรพรรดิฯ ตรัสว่า "เราลงมาเป็นการกระทันหัน  จะเอาเงินที่ไหนมาทำบุญได้เล่า"

เจ้าหน้าที่ฯ จึงกราบทูลว่า "ราษฎรชาวมณฑลเหอหนาน (เสียงแต้จิ๋วเรียก ห้อน้ำ) คนหนึ่งชื่อ "นายเซียงเลี้ยง" ได้บำเพ็ญกุศลไว้มากมายจนมี "บุญทรัพย์" เก็บสะสมอยู่ในเมืองผีนี้ถึง ๑๓ โกดัง  ถ้าพระองค์จะทรงบำเพ็ญกุศล  ก็ทรงขอยืม "บุญทรัพย์" ไปสักโกดังหนึ่ง  ตัวเจ้าหน้าที่ฯ จะคำ้ประกันให้ จักรพรรดิถังไท่จงจึงทรงยืมทรัพย์ของราษฎรฯ ออกมาโปรยทาน  พวกอสุรกายต่างพากันวิ่งมารับส่วนบุญแล้วถวายบังคมลาหายวับไปๆ จนหมดทั้งเงินและอสุรกาย

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็น "ต้นแบบ" ของการ "โปรยทาน" ในงานศพและการทำบุญสาธารณะ  เช่น งานประเพณี "ทิ้งกระจาด" ของชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน  ปัจจุบันนี้ในงานศพบางรายซึ่งเท่าที่รู้จักก็น่าจะเป็นคนไทยแท้ๆ  แต่เวลาปลงศพก็มีการทำพิธี "โปรยทาน" รวมไปถึงพิธีบวชนาคซึ่งเป็นเรื่องของศาสนาพุทธ  อันมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย  แต่เมื่อถึงตอนที่ "พ่อนาค" จะเข้าโบสถ์ก็มีการ "โปรยทาน" ด้วย (ในกรณีของคนผู้หญิงที่กำลังจะบวช(ชี)นั้น อย่าเรียกเธอว่า "แม่นาค" เชียวนะครับ...เป็นเรื่องแน่!)

ครั้นพระจักรพรรดิถังไท่จง ทรงฟื้นกลับมาครองราชย์ตามปกติแล้ว  วันหนึ่งทรงรำลึกถึงการยืม "บุญทรัพย์ ของราษฎรชาวมณฑลเหอหนาน คือ "นายเซียงเลี้ยง" จึงทรงให้เบิกพระราชทรัพย์จากพระคลังหลวงเท่าจำนวนที่ได้ยืมใช้ในเมืองผี  ต้องใช้เกวียนบรรทุกตั้งหลายเล่มจึงจะใส่หมด  แล้วทรงสั่งให้ ท่าานขุนพลคนสนิทคือ "อวยชีจง" (หรืออวยสี่ย้ง) นำกองทหารขนทรัพย์ทั้งหมดนั้นเดินทางจากกรุงซีอาน  ผ่านป่าเขาลำเนาไพรข้ามแม่น้ำฮวงโห(หวงเหอ) ไปยังมณฑลเหอหนาน  ครั้นถึงจึงให้เจ้าเมืองถามข้อมูลจากนายอำเภอ  แล้วจึงไปที่บ้านของนายเซียงเลี้ยง  ซึ่งในชีวิตจริงบนโลกมนุษย์เป็นเพียงชายแก่  ขายโอ่งไห  หม้อดินเผาเลี้ยงชีพอยู่กันกับภรรยา  ไม่มีลูก  เขาดำรงชีพสมถะขายของได้กำไร  ก็ใช้เพียงครึ่งหนึ่ง  ส่วนที่เหลือก็นำไปทำบุญต่างๆ แล้วเผากระดาษอุทิศกุศลทุกครั้ง  จึงกลายเป็น "บุญทรัพย์" นับจำนวนมหาศาลสะสมรออยู่ในเมืองผี (โดยที่เจ้าตัวก็ไม่อาจรู้ได้) รวม ๑๓ โกดัง

ท่านขุนพลอวยซีจง (อวยสี่ย้ง)  ก็นำทรัพย์พระราชทานทั้งหมดนั้นมอบให้แก่สองตายายใจบุญ  โดยอธิบายให้ทราบว่าฮ่องเต้ทรงเคยยืมเงินของท่านทั้งสองไปอย่างไรบ้าง  แต่ทั้งสองตายายไม่ยอมรับเงิน(คืน) ทั้งไม่ยอมเชื่อว่าตนซึ่งเป็นคนธรรมดาๆ ไม่ได้มีฐานะตำแหน่งหรืออำนาจราชศักดิ์อะไรเลย  ที่ไหนจะมีเงินทองทรัพย์สินให้ฮ่องเต้ทรงยืมได้มากมายมหาศาลถึงขนาดนั้น  น่าจะเกิดการเข้าใจผิด (หรืออาจจะมีเลศนัย) อะไรสักอย่างแน่   แม้ท่านขุนพลอวยซีจงจะเพียรพยายามยืนยันรับรองว่า "ฮ่องเต้" พระราชทานจริงๆ  ไม่มีปัญหาหรือเลศนัยอะไรก็ตาม  ทั้งสองตายายก็ไม่ยอมรับทรัพย์สินอยู่นั่นเอง  หนักเข้าถึงกับบอกว่าถ้ายังเคี่ยวเข็ญให้ตนจนใจ  ก็จะขอลาไปอยู่เมืองผีเสียดีกว่า

ขุนพลอวยซีจง  ก็จนปัญญาจึงพาทหารคุมพระราชทรัพย์กลับคืนเมืองหลวงที่กรุงซีอาน  และกราบทูลเรื่องราวให้ "ฮ่องเต้" เมื่อทรงทราบแล้วยิ่งชื่นชมในคุณธรรมของ "นายเซียงเลี้ยง" ยิ่งขึ้นอีก  ทรงปรารภว่าคนดีมีธรรมสุจริตมั่นคงเช่นนี้  ย่อมควรเชิดชูไว้ในแผ่นดิน  จึงโปรดให้พระราชทานเกียรติยศให้แก่ "นายเซียงเลี้ยง" เป็น "เซียงก๊ก" บุคคลตัวอย่างของแผ่นดิน  และให้อวยซีจงนำพระราชทรัพย์ทั้งหมดไปซื้อที่ดินและสร้างวัด "เซียงก๊กยี่" หรือ "เซียงกวั๋วซื่อ" เป็นอนุสรณ์และเกียรติยศอุทิศแก่สามัญชนคนดีมีคุณธรรมของแผ่นดิน  วัดนี้สร้างที่ในเขตเมืองไคฟง มณฑลเหอหนาน  ถิ่นฐานของท่าน "เซียงก๊ก" เอง

ฮ่องเต้หลายพระองค์  หลายราชวงศ์สืบเนื่องมา  ได้ทรงทำนุบำรุงวัดนี้ตลอดมาจึงคงสภาพดีอยู่ถึงปัจจุบัน  แต่น่าเสียดายที่พงศาวดารตำนานการก่อสร้างวัด  ต้องถูกทำลายสูญหายลบเลือนไปในยุค พวกเรดการ์ด"  อาละวาดในจีนเมื่อราว ๓๐ กว่าปีก่อน  ทำให้เรื่องราวเก่าๆ พงศาวดาร  ตำนาน และประวัติต่างๆ ในจีนโบราณถูกทำลายไปมากมาย  ถ้าท่านไปเที่ยวชมวัดนี้  ไกด์จีนจะเล่าตำนานวัดนี้ให้ท่านเพียงกะพร่องกะแพร่ง  ที่สมบูรณ์นั้นหายากในจีน  ซึ่งอยู่ในระบอบ "วัตถุนิยม คอมมิวนิสต์" มาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว

เที่ยวกรุงนานกิง

กรุงนานกิง Nanjing  เมืองหลวงเก่าแก่ลำดับที่ ๕ ของจีนแห่งนี้  มีชื่อปรากฏในพงศาวดารจีนมาเกือบ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว  แต่สมัยโน้นคนรู้จักนครนี้ในนาม "เมืองกังตั๋ง" ซึ่งโด่งดังมากในฐานะนครหลวงของก๊ก "ซุนกวน" อันเป็นหนึ่งใน "สามก๊ก"

นครกังตั๋งตั้งอยู่ริมฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง  อันเป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่มากในเรื่อง "สามก๊ก"  ถึงกับเรียกแม่น้ำตรงหน้าเมือง "กังตั๋ง" นี้ว่า ทะเล  ชาวกังตั๋งจึงเชี่ยวชาญการสงครามทางน้ำ  ในขณะที่กองทัพบกอันมหึมาของ "โจโฉ" รบในน้ำไม่เป็น  ยิ่งฝ่าย "ซุนกวน" ผนึกกันกับฝ่าย "เล่าปี่" โดยมียอดกุนซือ "ขงเบ้ง" ช่วยคิดวางแผนยุทธการให้แก่ "จิวยี่" อีกด้วย  ยุทธนาวีที่(ทะเล)กังตั๋งจึงเป็นตอน "โจโฉแตกทัพเรือ" สูญเสียไพร่พลทหารย่อยยับ  เหลือทหารกลับไปกับโจโฉไม่กี่สิบคน  ทั้งๆ ที่ยกมาร่วมร้อยหมื่นคน

ครั้นยุค "สามก๊ก" ผ่านพ้นไปแล้ว  นครกังตั๋งก็พ้นจากตำแหน่งเมืองหลวงของประเทศจีนไปด้วย  จนเวลาผ่านไปอีก ๘๔๗ ปี  (กรุงสุโขทัย เพิ่งอายุ ๗๓๙ ปี  เชียงใหม่ก็เพิ่งครบ ๗๐๐ ปีไปหยกๆ นี่เอง) ช่วงที่ผ่านไปหลายศตวรรษนี้  เมืองหลวงของอาณาจักรจีนก็ย้ายไปที่กรุงลั่วหยางบ้าง  กรุงซีอานบ้าง  จนหลังสุดราชวงศ์ซ่งเหนือ  หรือเป่ยซ่ง  ก็ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่กรุงไคฟง (ในพงศาวดารที่แปลเป็นภาษาไทยในสมัยต้นกรุงเทพฯ เรียกชื่อกรุงไคฟง ว่า "เปียนเหลียง")

ครั้นราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย  ก็ได้มีองค์ชาย "จ้าวโก้ว" พาเชื้อพระวงศ์  ขุนนาง  นายทหาร  และที่รักอิสรภาพ  ถอยลงใต้มาตั้งอยู่ ณ กรุงกังตั๋ง  เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ "ซ่งใต้" (หนานซ่ง) ชั่วคราวราว ๘ - ๙ ปี  ก่อนจะย้ายเมืองหลวงต่อไปตั้งถาวรที่กรุงหางโจว  ระยะเวลาการเป็นเมืองหลวงสมัยที่ ๒ ของกรุงกังตั๋งก็เพียงช่วงสั้นๆ เช่นเดียวกับสมัยแรก

จนกระทั่งปลายสมัยราชวงศ์หยวน (มองโกล) อำนาจรัฐที่กรุงปักกิ่งอ่อนแอมาก  เกิดจลาจลทั่วประเทศ  มีผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นนับสิบก๊ก  ในที่สุด  มหาบุรุษร่างใหญ่ใบหน้าอัปลักษณ์ชื่อ "จูหยวนจาง" หรือในสำเนียงแต้จิ๋วเรียกชื่อ "จูง่วนเล้ง" ได้ชัยชนะเหนือก๊กทั้งหมด  จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้  ต้นราชวงศ์เหม็ง หรือ "หมิง" Ming สถาปนานครกังตั๋งขึ้นเป็นเมืองหลวงในนาม "กรุงกิมเล้ง" คือ มังกรทอง

กองทัพของราชวงศ์เหม็งยกขึ้นไปยึด "กรุงปักกิ่ง" เมืองหลวงของจีนในยุคราชวงศ์หยวน  ได้ขับไล่พวกมองโกลออกไปจากเขตแดนของจีนนับแต่บัดนั้น  "จูหยวนจาง" ทรงมอบให้องค์ชายสี่ราชโอรสที่ทรงละม้ายคล้ายคลึงพระบรมชนกมากที่สุด  และทรงรบเก่งกว่าราชโอรสทุกองค์  ให้ทรงปกครองอยู่ที่นครปักกิ่งเพื่อสกัดมิให้พวกมองโกลกลับมารุกรานแดนจีนอีก

ครั้น "จูหยวนจาง" ประชวรหนัก  ได้ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชนัดดาองค์ใหญ่ซึ่งทรงเป็นราชโอรสของ "ไทจือ" (มกุฏราชกุมาร) ที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน   รัชกาลที่สองทรงปกครองแผ่นดินได้ราว ๑๐ ปี  ก็ถูกองค์ชายสี่ยกกองทัพมาจากนครปักกิ่งลงมาโค่นราชบัลลังก์   ครองราชย์แทนเป็นรัชกาลที่ ๓ (แห่งราชวงศ์เหม็ง หรือหมิง) ณ กรุงกิมเล้ง ซึ่งโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงนานกิง" (Nanjing) อันมีความหมายว่า  นครทางใต้ คู่กับนครปักกิ่ง หรือ "เป่ยจิง" (Beijing) อันมีความหมายว่า นครทางเหนือ

รัชกาลที่ ๓ คือ องค์ชายสี่หรือจักรพรรดิหย่งเล่อ  ทรงให้ช่างฝีมือถ่ายแบบพระราชวังในกรุงนานกิงขึ้นไปสร้างวัง ณ นครปักกิ่ง  ครั้นสร้างเสร็จแล้วก็ทรงอพยพขึ้นไปประทับอยู่ ณ "กรุงปักกิ่ง" ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรจีนแทนกรุงนานกิง  ซึ่งลดศักดิ์ลงมาเป็นนครนานกิง  เมืองหลวงของมณฑลเจียงซู Jiangsu ในปัจจุบัน  นครนานกิงได้กลับมาเป็นเมืองหลวงอีก ๒ สมัย คือ ยุคชาวฮั่นลุกฮือประกาศตัวเป็นอิสระจากอำนาจของรัฐบาลราชวงศ์ชาวแมนจูหรือราชวงศ์ชิง Shing ที่เสียงแต้จิ๋วเรียก ราชวงศ์เช็ง

"หงสีกวาน" (หรือ "อั่งซิ่วฉวน")  ผู้นำพลพรรคปฏิวัติ "ไท้ผิงเทียนกวั๋ว" ได้ตั้งเมืองหลวงอยู่ ณ กรุงนานกิงราว ๑๑ ปี  ก็ถูกกองทัพแมนจูยกมาปราบได้  ต่อมามหาบุรุษ "ดร. ซุนยัดเซ็น"  ได้นำพลพรรคชาวจีนแท้ (ฮั่น) ปฏิวัติโค่นราชวงศ์ชิงชาวแมนจูลงได้ใน พ.ศ. ​๒๔๕๕  จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้น ณ กรุงนานกิง  ซึ่งกลับมาเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนอีกวาระหนึ่ง  ตราบจนถึง พ.ศ.​ ๒๔๙๒  กรุงนานกิงก็หมดบารมีพ้นจากการเป็นเมืองหลวงของรัฐไปพร้อมๆ กับรัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็ค  ซึ่งพ่ายแพ้หนีพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปอยู่ไต้หวัน

ปัจจุบัน นครนานกิง แม้จะไม่ได้เป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่ก็ยังคงความสง่างามสมภาคภูมิเสมือนผู้ดีเก่า   ใครไปถึงนครเซี่ยงไฮ้แล้วไม่ได้แวะชมนครนานกิง  ย่อมน่าเสียดายมากๆ  เพราะเมืองทั้งสองห่างกันไม่ถึง ๓๐๐ กิโลเมตร  นั่งรถไฟขบวนพิเศษเพียง ๔ ชั่วโมงก็ถึงแล้ว

นานกิง  มีอะไรน่าเที่ยวชม...?  คงมีคนอยากถาม! แน่นอน นครนานกิงอดีตเมืองหลวงหลายยุค (๑๐ ราชวงศ์) ย่อมมีแน่

พระราชวังโบราณ
พระราชวังโบราณ นครนานกิง
ภาพจาก Wikipedia

ที่นี่คือ "ต้นแบบ" ของพระราชวังหลวงที่กรุงปักกิ่ง  ซึ่งพระจักรพรรดิหย่งเล่อ รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์ หมิง Ming ทรงให้ช่างถ่ายแบบไปก่อสร้างจนเป็น "กู้กง" หรือพระราชวังโบราณอันยิ่งใหญ่ในกรุงปักกิ่งปัจจุบัน  แต่พระราชวังต้นแบบที่นครนานกิงได้ถูกกองทัพแมนจูเข้าเผาทำลายเสียใสครั้งที่ยกมาปราบพวก(กบฏ) "ไท้ผิง" ขณะนี้จึงเหลืออยู่ในสภาพวังร้าง

สุสาน "จูหยวนจาง"
สุสานจูหยวนจาง นครนานกิง
ภาพจาก Wikipedia
ต้นราชวงศ์หมิง  "จูหยวนจาง" อดีตลูกชาวนาผู้ยากจนค่นแค้นแสนสาหัส  ซ้ำหน้าตาก็อัปลักษณ์พิลึกพิลั่น  แต่อาศัยร่างใหญ่ใจห้าวหาญ  ในยามที่บ้านเมืองเป็นกลียุคจึงเข้าเป็นทหารอยู่ในกองกำลังก๊กใหญ่ก๊กหนึ่ง  ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเขยของหัวหน้าจนสืบตำแหน่งแทน  และนำก๊กนี้ปราบก๊กชาวฮั่นทั้งหลายได้หมด  จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้  ทรงพระนามว่า "หมิงไท่จู" (เสียงแต้จิ๋ว "เม่งไท่โจ้วฮ่องเต้")  ตั้งราชวงศ์หมิงหรือ เหม็งขึ้น ณ กรุงกิมเล้ง (มังกรทอง) ซึ่งปัจจุบันคือ นครนานกิง
จักรพรรดิหมิงไท่จู่ (จูหยวนจาง)
ภาพจาก Wikipedia
"หมิงไท่จู" ทรงใช้นามแผ่นดิน หรือรัชกาลว่า "หงอู่"  ทรงสร้างสมความเจริญไว้แก่นครนานกิงมากมหาศาล  ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่มาก  และสิ่งสุดท้ายที่ทรงสร้างก็คือ สุสานของพระองค์เอง

กำแพงนครนานกิง
กำแพงนครนานกิง ภาพจาก Wikipedia
กำแพงนครนานกิงเป็นผลงานของ "จูหยวนจาง"  ทรงสร้างไว้ในรัชสมัยของพระองค์  ปัจจุบันยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์  นับเป็นกำแพงเมืองที่สูงใหญ่และยาวที่สุดในโลก  กำแพงแห่งนี้มีตำนานเล่าว่า  ในตอนที่ระดมกำลังก่อสร้างนั้น  "จูหยวนจาง" ทรงเชิญชวนพ่อค้าคหบดีมาช่วยออกเงินก่อสร้างด้วย  มีเศรษฐีใหญ่ใจบุญคนหนึ่งชื่อ "เสิ่นว่านซาน" ซึ่งมีสมญานามว่า "เสิ่นครึ่งเมือง"  เพราะมีทรัพย์สินครึ่งเมืองนั่นเอง  "ท่านเสิ่น" ออกเงินจ้างคนมาก่อสร้างกำแพงเมือง  ประมาณหนึ่งในสามของทั้งหมด  น่าจะมีความดีความชอบเป็นพิเศษ  แต่การณ์กลับเป็นตรงข้าม  เพราะมีพวกอิจฉาริษยาสอพลอไปกราบทูลยุยงจนทรงระแวง  จึงทรงแกล้งแต่งตั้งให้เศรษฐี "เสิ่นว่านซาน" ไปอยู่ชายแดนเพื่อพัฒนาชนบท และไม่ได้กลับมาเมืองหลวงอีกเลย

สุสาน ดร. ซุนยัดเซ็น
สุสานจงซาน "ดร.ซุนยัดเซ็น"
ภาพจาก Wikipedia
สุสานจงซาน ณ นครนานกิงที่ฝังศพมหาบุรุษ "ดร. ซุนยัดเซ็น" บิดาแห่งระบบประชาธิปไตยจีน  บางทีก็เรียกท่านว่า "จงซาน" จะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม  ก็ย่อมหมายถึงท่านมหาบุรุษผู้นำในการโค่นล้มระบอบเก่าของแมนจู  สถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้แก่ "ชาวฮั่น"  หรือประชาชนจึนนับแต่ พ.ศ.​ ๒๔๕๕  ดร. ซุนยัดเซ็น  จึงได้รับการเทิดทูนจากชาวจีนทั้งในแผ่นดินใหญ่  ไต้หวัน และทั่วโลกว่าเป็น "บิดาแห่งประชาธิปไตยของจีน"
ดร. ซุนยัดเซ็น บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของจีน
(อ่านเพิ่มเติมได้จาก Wikipedia ☚)
ครั้งนั้นชาวจีนแทบทุกบ้านต่างมีภาพถ่ายของ ดร. ซุนยัดเซ็น แขวนไว้บูชาบนฝาผนัง  แม้กระทั่งบ้านชาวจีนในเมืองไทยสมัยก่อนเมื่อ ๔๐ - ๕๐ ปี ก็มีภาพดังกล่าวให้เห็นทั่วไป

นครนานกิงสมัยโบราณเป็นเมืองของ "จูหยวนจาง" ฉันใด  นครนานกิงปัจจุบันก็คือ "นครของจงซาน หรือซุนยัดเซ็น" นั่นแล

ไปชมสุสานของท่านแล้วจะซาบซึ้งดี

อนุสรณ์สถาน "ไท้ผิงเทียนกวั๋ว"

กล่าวเช่นนี้ชาวไทยก็ไม่รู้จัก!  แต่ถ้าถามว่าเคยได้ยินชื่อ "กบฏฮ่อ" ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ บ้างไหม?"  และ "เคยได้ยินเหรียญ ร. ๕ รุ่นปราบฮ่อบ้างไหม?"  หน้าเหรียญบอกราคา ๑ บาท  แต่ปัจจุบันเช่ากันเหรียญละกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท

"ไท้ผิงเทียนกวั๋ว" นี่แหละที่เป็นต้นกำเนิดของ "กบฏฮ่อ"  กล่าวคือ นักสู้ชาวจีน(แคะ)คนหนึ่งชื่อ "อั่งซิ่วฉวน" หรือจีนกลางเรียกชื่อ "หงซีกวาน" รวบรวมพลพรรคผู้รักชาติจีนแท้ (ชาวฮั่น) ขึ้นต่อต้านการปกครองของราชวงศ์(แมนจู) ชิงหรือเช็ง  ชาวจีนเบื่อหน่ายเกลียดการปกครองที่อ่อนแอล้าหลังของพวกแมนจูที่กรุงปักกิ่ง  จึงเข้าร่วมกับขบวนการ "ไท้ผิงเทียนกวั๋ว" มากขึ้นๆ  ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจปราบปรามได้   "หงซีกวาน" จึงเข้ายึดอำนาจรัฐและตั้งกรุงนานกิงเป็นเมืองหลวงอยู่ได้ ๑๑ ปีก็ล่มสลายเพราะความแตกแยกภายในก่อนกองทัพแมนจูลงมาปราบซ้ำก็ได้ชัยชนะง่ายดาย  ขบวนการ "ไท้ผิง" หรือ "ไท้เผ็ง" กลายเป็น "กบฏไท้ผิง" แตกทัพถอยร่นลงใต้  ก็ถูกตามตีจนหนีข้ามแดนจีนเข้ามายังแดนลาวทางเหนือในแคว้นซำเหนือ  หัวพันทั้งห้าทั้งหก  ในขณะนั้นลาวเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม

ครั้งนั้น  ประมาณ พ.ศ.​๒๔๑๗  ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พลตรีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพใหญ่  ยกข้ามแม่น้ำโขงเพื่อไป "ปราบฮ่อ"  กองทัพไทยผลักดันพวก "ไท้ผิง" ก็กลับเข้าแดนจีน  กองทัพรัฐบาลจีนก็ลงมาโจมตีพวก "กบฏฮ่อ" ก็หนีเข้าแดนลาว(ของไทย)อีก  กองทัพไทยก็ตีกระหนาบขึ้นไป  "กบฏฮ่อ" ก็ทะลักเข้าไปในแดนญวน  ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสยึดเป็นเมืองขึ้นอยู่  ฝรั่งเศสก็ส่งกองทัพมาขับไล่พวก "กบฏฮ่อ" จนที่สุดทหารไทยเกิดวิวาทกับทหารในกองทัพฝรั่งเศสลุกลามไปเข้าทางของฝรั่งเศสซึ่งกำลังอยากหาเหตุจะยึดแดนลาว  เขมร(ของไทย)อยู่แล้ว  ไม่ช้าไทยก็ต้องเสียลาวและเขมรให้ฝรั่งเศส

เหตุจากขบวนการ "ไท้ผิงเทียนกวั๋ว" ที่นครนานกิงบานปลายกระทบมาถึงสยามประเทศอย่างรุนแรงจนเสียดินแดนไปมากมาย  ใครเคยคิดถึงบ้าง?

เที่ยวกรุงหางโจว
กรุงหางโจว Hang Zhou ภาพจาก Wikipedia
กรุงหางโจว Hang Zhou สำเนียงจีนแต้จิ๋วคือ "เมืองฮั่งจิว" เป็นเมืองหลวงของจีนในยุคราชวงศ์ซ่งตอนใต้ หรือ "หนานซ่ง" ซึ่งเป็นราชวงศ์ซ่งที่ก่อตั้งขึ้นแทนราชวงศ์ "ซ่ง(เหนือ) หรือเป่ยซ่ง" ที่ตั้งเมืองหลวงอยู่ ณ กรุงไคฟง มณฑลเหอหนาน 

ราชวงศ์ซ่งเหนือ  ถูกกองทัพเกาหลีหรืออาณาจักรจิน (สำเนียงแต้จิ๋ว คือ "กิมก๊ก") รุกรานยึดครองลงมาได้จรดที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงฝั่งเหนือ  พวกเกาหลี(เหนือ) หรือจิน หรือกิมในยุคนั้นยิ่งใหญ่ทรงอำนาจสูงสุดในประวัติศาสตร์  ในขณะที่จีนในสมัยซ่งเหนือตอนท้ายก็อ่อนแอทุกๆ ด้าน  ถึงกับ    จักรพรรดิฮุ่ยจงและจักรพรรดิฉินจง  สองพ่อลูกถูกพวกจินจับไปเป็นเชลยคุมขังไว้ที่เกาหลี  พระราชวงศ์ ขุนนาง ราษฎรต่างแตกตื่นหนีตายอพยพหนีภัยศึกข้ามแม่น้ำฮวงโหลงมาตั้งหลักชั่วคราวอยู่ที่ กรุงนานกิง เมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๐  โดยมีองค์ชาย "จ้าวโก้ว" ราชโอรสลำดับที่ ๙ เป็นผู้นำการอพยพและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นฮ่องเต้ทรงพระนามว่า "ซ่งเกาจง" ทรงโปรดให้ไปสร้างเมืองหลินอัน  ในมณฑลเจ๋อเจียงถัดลงไปทางใต้นั้นเป็นนครหลวงถาวรขนานนามว่า "กรุงหางโจว" (หรือฮั่งจิว) แล้วทรงอพยพลงไปตั้งมั่นอยู่ที่ หางโจว ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๗๘  สืบราชสันตติวงศ์มาอีก ๗ พระองค์  จึงล่มสลายด้วยกองทัพมองโกลของพระนัดดาแห่งจอมจักรพรรดิ "เจงกิสข่าน" ที่ทรงพระนามว่า "กุบไลข่าน"  ยึดอำนาจปกครองจีนไว้หมดเมื่อ พ.ศ.​๑๘๑๙
จักรพรรดิกุบไลข่าน ภาพจาก Wikipedia
ปัจจุบัน "นครหางโจว" เป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ๋อเจียง Zhe Jiang เป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศที่สวยงามมากๆ มีทะเลสาบ "ซีหู่" ซึ่งบำรุงรักษาสวยสะอาด  อยู่ริมเขตเมืองพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์  ผู้คนไม่แออัด  จึงเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก  จึงมีคำพังเพยของชาวหางโจวอวดอ้างไว้ว่า "บนฟ้า มีสวรรค์  บนดิน  มีซี, หาง"  หมายความว่า  "เมืองหางโจว  ซึ่งมีทะเลสาบซีหู  นี่แหละคือ สวรรค์บนดิน"
ทะเลสาบซีหู ภาพจาก UNESCO
โดยมากบริษัทท่องเที่ยวมักจัดรายการเที่ยว "เซี่ยงไฮ้ - หางโจว" หรือไม่ก็ "เซี่ยงไฮ้-นานกิง-หางโจว" กำหนดการก็มักจัดให้อยู่เซี่ยงไฮ้ ๓ วัน  หางโจว ๒ วัน รวม ๕ วัน  หรือไม่ก็อยู่เซี่ยงไฮ้ ๒ วัน  นานกิง ๒ วัน  หางโจวเพียงวันเดียว  ซึ่งเป็นการจัดตามทัศนะค่านิยมของ "ไกด์ทัวร์"  แต่เมื่อผู้เขียนพาเพื่อนๆ ไปเยือน "หางโจว" ๑ วัน  ทุกคนบ่นต่อว่า "เราน่าจะอยู่ "หางโจว" สัก ๒-๓ วัน"  บางคนถึงกับปรารภว่า "เราน่าจะอยู่ที่นี่สักครึ่งเดือนด้วยซ้ำ!"   ผู้เขียนเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของเขา  ซึ่งตัวเองก็รู้สึกอย่างนั้น  แต่จะอยู่ได้ยังไง...หนีราชการไปเที่ยวนี่  โทษถึงถูกไล่ออกจากราชการเขียวนะ!  ส่วนเพื่อนยากแม้ทำธุรกิจส่วนตัวก็ใช่จะทำอะไรได้ตามใจตัว!  เขาส่งสายตาละห้อยอ่านได้ความว่า "...ถ้าผมหายไป ๑๕ วัน  โดยไม่มีเหตุอันควร  กลับไปต้องโดนเมียจับผูกโยงไว้หน้าบ้านแล้วเผาพริกเกลือรมจนกว่าจะสารภาพผิดแน่ๆ ..."  โถ...! น่าสงสารที่ไม่ได้ขึ้นสวรรค์(บนดิน) เพราะเป็นชาว "เกลียมัว" นี่เอง

ที่จริง "หางโจว" มีแหล่งโบราณสถานน้อยแห่ง  ซ้ำไม่เก่าแก่ใหญ่โตอะไร  เท่าที่เห็นก็เกี่ยวพันกับเรื่องราวสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ทั้งนั้น คือ ตั้งแต่ พ.ศ.​๑๖๗๘ เป็นต้นมาจนสิ้นราชวงศ์ซ่งใต้ ในพ.ศ.​ ๑๘๑๙

ศาลเจ้า "งักฮุย"
ศาลเจ้างักฮุย เมืองหางโจว
ภาพจาก Wikipedia
คอหนังกำลังภายในย่อมเคยเห็นบทบาทของวีรบุรุษ "แม่ทัพงักฮุย"  แต่ถ้าเราเข้าชมอนุสรณ์สถาน หรือศาลเจ้าที่ประชาชนชาวหางโจวสร้างไว้บูชาคุณนี้  "ไกด์" บอกเราว่า  "ศาลเจ้าเย่เฟย" ก็เย่เฟยนี่เองเป็นเสียงจีนกลาง  ส่วนชื่อ "งักฮุย" เป็นเสียงแต้จิ๋วคุ้นสนิทคนเมืองไทยมานาน

"งักฮุย" เป็นใครมาจากไหน?  ทำไมประชาชนยกย่องเชิดชูบูชาถึงกับสร้างศาลเจ้าไว้กราบไหว้?
รูปปั้นแม่ทัพงักฮุย  ภาพจาก Planet789
ท่านคงจำได้ว่า  ตอนปลายสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือที่กรุงไคฟงนั้น  ฮ่องเต้ ๒ พระองค์คือ  "ฮุ่ยจงฮ่องเต้" พระบิดากับ "ฉินจงฮ่องเต้"  พระราชโอรส  ถูกกองทัพพวกอาณาจักรจิน (หรือเกาหลีเหนือ) จับไปเป็นเชลยอยู่ที่กรุงเปียงยางทั้ง ๒ พระองค์  จักรพรรดิ "เกาจงฮ่องเต้"  ที่ทรงถอยมาตั้งหลักที่กรุงนานกิง (และกรุงหางโจว) ได้ประกาศรับทหารอาสาสู้ศัตรู

"งักฮุย" เป็นหนุ่มลูกชาวนา  บ้านเดิมอยู่มณฑลเหอหนาน  ต้องเป็นกำพร้าบิดาเพราะข้าศึก  มารดาพาอพยพลงมาอยู่ "หางโจว"  ได้ขออนุญาตมารดาเพื่ออาสาเข้ากองทัพ  มารดาสนับสนุน  แต่มีข้อแม้ว่า "เจ้าต้องรบเพื่อประเทศชาติ"  และเพื่อมิให้ลูกลืมคำสั่งของแม่  นางจึงเขียนถ้อยคำดังกล่าวไว้บนแผ่นหลังของลูกชาย  คำจารึกของมารดาเป็นประดุจยันต์อันศักดิ์สิทธิ์  ทำให้ "งักฮุย" รบชนะข้าศึกทุกครั้ง  ได้เลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ จนถึงแม่ทัพใหญ่  กองทัพจิน(เกาหลี) ที่เกรียงไกรกลับหวาดกลัวชื่อ "งักฮุย"  ต่างแตกพ่ายถอยร่นออกไปจากดินแดนจีน  "งักฮุย" จึงกลายเป็นขวัญและกำลังใจของประชาชนจีน  ยกทัพผ่านไปถึงไหน  ผู้คนก็ออกมาต้อนรับแซ่ซ้องสรรเสริญ  บ้างก็นำข้าวปลาอาหารผลไม้  เงินทองคนละเล็กละน้อยมามอบให้แม่ทัพ "งักฮุย"  ด้วยศรัทธา

ในที่สุด "งักฮุย"  ก็ยกทัพไปจ่ออยู่ที่ชายแดนเกาหลี(เหนือ) ถ้าข้ามแม่นำ้ "ยาลู" ได้ก็ลุยถึงกรุงเปียงยางแน่นอน  "งักฮุย" ประกาศว่าจะต้อง "ล้างอาย" ให้ชนชาวฮั่นโดยยึดอาณาจักรจิน (เกาหลีเหนือ) ให้ได้  แล้วอัญเชิญ "สององค์จักรพรรดิ" เสด็จกลับประเทศจีนให้ได้

อาณาจักรจินกำลังจะถูกถล่มอยู่แล้ว  แต่กลับใช้ให้สายลับ หรือไส้ศึกของตนซึ่งเป็นขุนนางจีนที่เคยถูกพวกจินจับตัวไป  แล้วยอมตัวเป็น "สายลับ" ให้แก่พวกจิน  ซึ่งแกล้งปล่อยตัวให้กลับมารับราชการในราชสำนักจีนอีก  คนๆ นี้ชื่อ "ฉินฮุ่ย"  ได้รับคำสั่งด่วนจากพวกจินให้ทูลยุยง "ซ่งเกาจงฮ่องเต้"  เพื่อสั่งให้ "งักฮุย" ถอยทัพจากอาณาจักรจนให้ได้  ("ฉินฮุ่ย" คนนี้คล้าย "พระยาจักรี" "พระยาราม" ในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช  กรุงศรีอยุธยาที่เป็นไส้ศึกให้พม่าจนไทยเสียกรุง)

"ฉินฮุ่ย" กราบทูลยุยงฮ่องเต้ว่า "งักฮุย" ทำตัวเป็น "วีรบุรุษ" รบเพื่อเกียรติยศและรับอามิสจากประชาชนเป็นส่วนตัว  ถ้าพิชิตเกาหลีได้ในครั้งนี้แล้ว  กลับมาอาจคิดตั้งตัวเป็น "ฮ่องเต้" หรือถึงแม้จะไม่เป็น "ฮ่องเต้" เองก็ตาม  แต่...ถ้า "งักฮุย" สามารถเชิญเสด็จ "ฮุ่ยจงฮ่องเต้" และ "ฉินจงฮ่องเต้" กลับมาเมืองจีนได้  แล้วประเทศจีนก็จะมี "ฮ่องเต้" ๓ พระองค์  แล้ว "เกาจงฮ่องเต้" (จักรพรรดิจีนในขณะนั้น) จะทรงอยู่ในพระราชฐานะใด  ในเมื่อมีจักรพรรดิลำดับที่ ๑ และที่ ๒ แล้ว  "จักรพรรดิลำดับที่ ๓ จะมีความหมายอะไร"

"เกาจงฮ่องเต้" ทรงตัดสินพระทัยที่จะเป็น "ฮ่องเต้" แต่ลำพังพระองค์เดียว  จึงทรงมีพระราชโองการด่วนไปยัง "งักฮุย" ให้ถอยทัพทันที  แต่แม่ทัพนายกองขุนพลทั้งหลายทัดทานไม่ยอมถอยทัพ  ด้วยความจงรักภักดี  "งักฮุย" จึงให้กองทัพรออยู่ที่ชายแดน  ตนกลับมายัง "หางโจว" เพื่อเข้าเฝ้า  ครั้นมาและไปขอเข้าเฝ้า  ก็ถูก "ฉินฮุ่ย" ซึ่งเตรียมทหารไว้แล้ว  จับตัว "งักฮุย" ไปประหารเสีย  โดยกล่าวหาว่า "งักฮุย" กระด้างกระเดื่องไม่จงรักภักดี  สู้รบเพื่ออามิสส่วนตัว

ปัจจุบัน "ศาลเจ้างักฮุย" ที่คนรุ่นหลังและรัฐบาลจีนบูรณะไว้อย่างดี  เป็นสถานที่ซึ่งชาวจีนจากสารทิศต่างๆ ที่ไปเที่ยว "หางโจว" ต้องไปกราบไหว้บูชาคุณงามความดีของ "งักฮุย"  ในขณะเดียวกันเขาก็ทำรูปหล่อของกังฉิน ๒ ผัวเมีย "ฉินฮุ่ย" ถูกมัดมือคุกเข่าขังอยู่ในกรง  เพื่อให้ผู้คนไปก่นด่า ถุยน้ำลายรดหัว! 

ท่านผู้ใดเกลียดชังกังฉินทั้งสอง  ก็จัดรายการท่องเที่ยวไปนครหางโจวเพื่อถุยน้ำลายรดหัวมันได้ตามสบาย  แต่...อย่าแค้นมากมายจนถึงขนาดไป "ฉี่" รดเลยนะครับ  จะโดนจับฐานอนาจารติดตะรางจีนยุ่งยากเปล่าๆ

ทะเลสาบ "ซีหู"
ทะเลสาบซีหู West Lake ภาพจาก UNESCO
ทะเลสาบซีหู West Lake  คนไทยที่เคยเห็น "กว๊านพะเยา" แล้วได้ไปเห็นทะเลสาบ "ซีหู"  ต้องนึกเปรียบเทียบว่า "ซีหู" นั้น  ลักษณะภูมิประเทศและขนาดคล้ายคลึงกันกับ "กว๊านพะเยา" ของเรานี่เอง  แต่การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการของทะเลสาบ "ซีหู" ดีกว่าเราทำเป็นร้อยๆ เท่า  ของเขาทำดีจนเป็น "สวรรค์บนดิน" แต่ของเราแทบจะปล่อยไปตามยถากรรม  ถ้าของเราได้บำรุงรักษาและพัฒนาดีๆ ละก็  "ซีหู" ก็เถอะ  เราสู้ได้สบายมาก









ท่านผู้รับผิดชอบในการดูแล "กว๊านพะเยา" ควรหาโอกาสไปดู "ทะเลสาบซีหู" สักครั้ง


เจดีย์จำลอง

ในยุคที่ราชวงศ์ซ่งใต้เสียดินแดนภาคเหนือและภาคกลาง  จนต้องถอยร่นลงมาอยู่ ณ "กรุงหางโจว" นี้ ชาวจีนที่อพยพมาจากภาคเหนือและภาคกลาง  เช่น  จากปักกิ่ง  ซีอาน  ลั่วหยาง  อันฮุย  ไคฟง  ล้วนรำลึกและเสียดายศิลปวัฒนธรรม  ปูชนียสถาน  ปูชนียบุคคลที่สวยวิเศษงดงามในภูมิลำเนาเดิมของแต่ละคน  อยากจะไปเคารพกราบไหว้ก็ไปไม่ได้  ถูกข้าศึกยึดไว้แล้ว  จึงมีผู้คิดและสร้างพระสถูปเจดีย์และโบราณสถานจำลองแบบจากของจริงในนครต่างๆ มาสร้างขึ้นที่ภูเขาเล็กๆ นอกเมืองและใกล้ๆ ทะเลสาบ  แม้จะเป็นเพียงของจำลอง  แต่ก็พยายามสร้างให้สวย และคล้ายคลึงกับของจริง  ข้อสำคัญคือรวม "ของดีๆ งามๆ จากนครต่างๆ มาไว้ที่นั่น"

ความรู้สึกนึกคิดของชาวจีน(อพยพ) ในตอนนั้น  ก็คล้ายคลึงกับชาวไทยที่เสียกรุงศรีอยุธยาแล้วอพยพมาอยู่กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์  จึงสร้างวัง  วัดวาอารามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยเลียนแบบพระนครศรีอยุธยาที่ถูกข้าศึกเผาทำลายไปหมด

ชื่อท่าราชวรดิฐ  ท่าวาสุกรี  วัดมหาธาตุ  วัดราชบูรณะ  วังจันทรเกษม ฯลฯ  ล้วนเลียนแบบมาจากพระนครศรีอยุธยาทั้งนั้น

รอบเชิงเขา  มีการทำรูปปั้น(ปูนปลาสเตอร์) ขนาดสักเท่าครึ่งของคนจริง  เป็นรูปของวีรชนในพงศาวดารเรื่อง "ซ้องกั๋ง" แต่จะมีครบ ๑๐๘ คนหรือเปล่า  ผู้เขียนไม่มีเวลาเดินดู  ถ้าจะเดินดูจริงๆ ให้รอบเชิงเขาก็ต้องใช้เวลาทั้งวัน  ออกชื่อเรื่อง "ซ้องกั๋ง"  เชื่อว่าคนไทย ณ พ.ศ.​ นี้  แทบไม่รู้จัก  อาจจะมีคนอายุเกิน ๕๐ ปีบอกว่าเคยได้ยินชื่อนี้  แต่ไม่เคยอ่าน  เพราะหาอ่านยากมาก  โดยเฉพาะเมื่อ ๓๐ - ๔๐ ปีก่อน  เรื่อง "ซ้องกั๋ง" เป็น  "เรื่องต้องห้าม" ในเมืองไทย
ภาพจากร้านหนังสือเคล็ดไทย

ทำไมถึง "ต้องห้าม" ล่ะ?  ที่ถูก "ต้องห้าม" ก็เพราะมันเป็นเรื่องราวของคนหนุ่ม(สาว) ผู้มีสติปัญญา  มีวิทยายุทธ  และมีจิตใจใฝ่หาความถูกต้องเป็นธรรม  แต่ละคนๆ เหล่านี้มีวิถีชีวิตเบื้องต้นไปคนละอย่าง  อยู่ที่ต่างๆ กัน  แต่ทุกคนถูกเล่นงาน  ถูกกลั่นแกล้งรังแกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจาก "อำนาจรัฐ" ซึ่งมีรากเหง้าโยงใยมาจากพวกขุนนาง "กังฉิน" ที่ครอบอำนาจแวดล้อมอยู่ในราชสำนัก

บรรดาปัญญาชนคนมีฝีมือเหล่านี้ไม่มีหลักที่พึ่งพิงได้  ทั้งถูกอำนาจรัฐตามรังควาน  จึงหลบหนีเข้าป่าไป (คล้ายๆ เหตุการณ์ในเมืองไทยช่วงหลัง "๖ ตุลา ๑๙)  คนเหล่านี้ที่เป็นชั้น "ยอดฝีมือ" หรือชั้น "มันสมอง" มีถึง ๑๐๘ คน  แต่ละคนมีลูกศิษย์ ลูกน้อง ญาติมิตรติดตามมารวมตัวกันอยู่ที่เทือกเขา "เนียซัวเปาะ(หรือเขาเหลียงซาน) กลายเป็นกองทัพใหญ่ที่มีฝีมือเข้มแข็ง  ฝ่ายอำนาจรัฐยกทัพมาปราบกี่ครั้งๆ ก็แพ้ "พวกเขาเนียซัวเปาะ" (เขาเหลียงซาน) ราบเรียบไปทุกครั้ง แต่ท้ายที่สุด "พวกเขาเนียซัวเปาะ" (เขาเหลียงซาน) ก็ถูกเล่ห์กระเท่ห์ของพวกกังฉินทั้งหลายในราชสำนักจีนบ่อนทำลายด้วยวิธีต่างๆ จน "ซ้องกั๋ง" และพี่น้องตายหมด

เชื่อกันว่าเรื่อง "ซ้องกั๋ง" ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ท่านประธานเหมาเจ๋อตง" สมัยเด็กๆ อ่านมากที่สุด  อ่านแล้วอ่านซ้ำอีกหลายครั้งนี้เอง  เป็นส่วนหนึ่งของฐานความคิดในการใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจรมาโค่นอำนาจรัฐได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้เมื่อ ๓๐ - ๔๐ ปีก่อน  เรื่อง "ซ้องกั๋ง" จึงเป็น "เรื่องต้องห้าม"  เพราะทางฝ่ายบ้านเมืองไทยไม่ต้องการให้คนหนุ่มสาวปัญญาชนไทยคิดและเอาอย่างเช่นเรื่อง "ซ้องกั๋ง" นั่นเอง  ครั้นเกิดเหตุการณ์ "๖ ตุลา ๑๙" เหล่านิสิตนักศึกษาปัญญาชนคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าต่างก็พากัน "ขึ้นเขา เข้าป่า" ทำนองเดียวกับเรื่อง "ซ้องกั๋ง" เหมือนกัน  ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้จะมีสักคนบ้างไหมที่ได้เคยอ่านเรื่อง    "ซ้องกั๋ง"...?

ถ้าท่านไปเมืองจีนและไปถามใครๆ ถึงหนังสือพงศาวดารเรื่อง "ซ้องกั๋ง" ละก็ไม่มีใครรู้จักหรอกนะ!  เพราะชื่อหนังสือเรื่องนี้ในภาษาจีนกลางคือ "สุ่ยหูจ้วน"  ส่วนชื่อ "ซ้องกั๋ง" นั้นเป็นชื่อที่ผู้แปลเป็นพากย์ไทยใช้เรียกหนังสือเรื่องนี้ตามชื่อ (สำเนียงแต้จิ๋ว) ตัวเอกของเรื่องที่ชื่อ "ซ้องกั๋ง" เผอิญเหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ที่ "หางโจว" จึงมีการสร้างรูปปั้นของวีรชนจากเรื่อง "ซ้องกั๋ง" ไว้ที่นครหางโจว  โดยอาศัยเชิงเขาเป็นที่ตั้งรูปปั้น  เพื่อให้มีบรรยากาศสมมุติว่าเป็น "เขาเนียซัวเปาะ" (เขาเหลียงซาน) ทำนองนั้นเอง

พิจารณาดูเหตุการณ์ในยุคราชวงศ์ซ่งใต้(หรือหนานซ่ง) นี้  จะเห็นได้ว่าการล่มสลายของราชวงศ์และอาณาจักรจีนเกิดจากสาเหตุ ๓ ประการสะสมกัน คือ  พฤติกรรมและอำนาจของขุนนางกังฉินประการหนึ่ง  ฮ่องเต้มิได้ทรงตั้งมั่นในทศพิธราชธรรมอีกประการหนึ่ง  และประการที่ ๓ คือ  กองกำลังของชนต่างชาติเข้มแข็งและมุ่งมั่นรุกราน  สาเหตุ ๓ ประการนี้  เกิดขึ้นพร้มกันอันนับได้ว่าเป็นคราวเคราะห์ร้าย (ดวงตกดวงแตก) ของจีน  ถ้าเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว หรือสองอย่างผู้เขียนเชื่อว่าอาณาจักรจีนจะยังไม่ถึงกาลล่มสลาย  จนกลายเป็นถูกชนต่างชาติมาตั้งราชวงศ์ปกครอง  เช่นที่เคยเป็นมานั้นได้

แม้จะมีแต่ขุนนางกังฉินคุมอำนาจอยู่เต็มก็ตาม  แต่หากองค์ฮ่องเต้ทรงตั้งมั่นในราชธรรมไม่หวั่นไหวละก็  ต่อให้สิบกังฉิน ร้อยกังฉินก็ไม่อาจชักจูงจิตใจที่ตั้งอยู่ในธรรมสุจริตให้ต่ำทรามลงได้  ดังนั้น "ฮ่องเต้" จึงเป็นหลักสำคัญที่สุดของจีนโบราณ

ถ้าหากฮ่องเต้ทรงอ่อนแอด้วยอีกรวมเป็น ๒ ประการแล้ว  อาจเกิดเหตุร้ายที่สุดก็เพียงราชวงศ์ล่มสลายกลายเป็นผลัดราชวงศ์ใหม่ขึ้นแทน  เป็นเรื่องปกติของประวัติศาสตร์ชาติจีนซึ่งอย่างไรกษัตริย์ที่ทรงสามารถปราบดาภิเษกพระองค์และราชวงศ์ใหม่ขึ้นในอาณาจักรจีนได้  ก็จะต้องทรงพระปรีชาสามารถหรือมีกำลังทหารเข้มแข็งพอจะต่อสู้กับกองทัพของศัตรูจากต่างชาติได้  เว้นแต่กรณี "หลี่จื้อเฉิง" ที่กองทหารจีนของ "อู๋ซันกุ้ย" ทรยศขายชาติไปเข้ากับกองทัพชนชาติแมนจูเรีย และเปิดประตู "ด่านซานไห่กวน" ให้กองทัพต่างชาติ

ถ้า "อู๋ซันกุ้ย" ไม่ทรยศต่อชาติจีน  พวกแมนจูก็ไม่มีปัญญาจะตีข้ามกำแพงเมืองจีนมาได้หรอก "หลี่จื้อเฉิง" ก็อาจครองอำนาจนานกว่าที่เป็น หรือไม่ก็อาจจะถูกขุนนางนายทหาร หรือ "ผู้มีบุญ" ชาวจีนคนอื่นโค่นล้มแล้วตั้งตนขึ้นแทน  การชิงอำนาจเปลี่ยนราชวงศ์ในชนชาติจีนเองมีอยู่เสมอ  บางยุคก็ถี่ๆ เช่นที่ในประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า "ยุคห้าราชวงศ์" มีการผลัดอำนาจเป็นราชวงศ์ต่างๆ ในช่วงเวลา ๕๓ ปี ถึง ๕ ราชวงศ์  ในที่สุดก็เป็นโอกาสของขุนพล "จ้าวควังอิ้น" รวบรวมนายทัพนายกองได้มากและเข้มแข็งที่สุด  จึงทรงปราบดาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นต้นราชวงศ์ซ่ง(เหนือ) ณ กรุงไคฟง  ทรงพระนามว่า "ซ่งไท่จูฮ่องเต้"

เผอิญคราวเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งของบ้านเมือง  จึงเกิดเหตุปัจจัยที่เลวร้าย ๓ ประการขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน  ดุจดังเกิดปรากฏการณ์ "สุริยคราส" (อาทิตย์ดับ) ย่อมต้องเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์ และโลกโคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันและอยู่บนระนาบเดียวกันด้วย  อาทิตย์จึงจะดับ ปัจจัยที่ ๓ ซึ่งทำให้ราชวงศ์ซ่งล่ม และอาณาจักรจีนสลายกลายเป็นประเทศจีน แต่อยู่ในอำนาจปกครองของชนชาติมองโกลนั้น  ก็เพราะกองทัพต่างชาติเข้มแข็งมาก และต่อเนื่องกันถึง ๒ ชนชาติ  โดยชนชาติเกาหลี(กิมหรือจิน) รุกรานก่อน  จนราชวงศ์ซ่งเหนือล่ม  แต่ก็ยังหนีลงใต้ไปตั้งราชวงศ์ซ่งใต้ได้อีก  ครั้นแล้วชนชาติมองโกลซึ่งเข้มแข็งมากกว่าชนชาติเกาหลี  จึงรบชนะเกาหลีและตีจีนได้หมดทั้งประเทศ


เที่ยวกรุงปักกิ่ง

กรุงปักกิ่ง  นครแห่งความหลัง!  ชื่อเมืองหลวงของจีนที่คนไทยเราเรียกมาแต่ดั้งเดิมนี้คนจีนเขาไม่เรียกชื่ออย่างนี้หรอกนะ  ในภาษาจีนกลางเรียกว่า "เป่ยจิง" Bei Jing  ในสำเนียงแต้จิ๋วเรียก "ปักเกีย" ในภาษาอังกฤษเขียน "Peking" ดูเอาเองเถอะครับว่าชื่อ "ปักกิ่ง" ในพากย์ไทยมาได้ยังไง?  ดูรูปการณ์จะเป็นพันธุ์ผสม "แต้จิ๋วปนฝรั่ง" กระมัง

ภาพวาดเมืองปักกิ่งสมัยโบราณ
ในยุค "เลียดก๊ก"  หรือ  "ยุคจ้านกวั๋ว"  ปักกิ่ง เป็นเมืองหลวงของก๊กเอี้ยน  แคว้นเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีบทบาทอะไรทั้งเป็นเมืองห่างไกลชายเขตแดนของชนชาติจีน  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ภูมิอากาศไม่เหมาะสม  เพราะฤดูหนาวก็หนาวรุนแรงทั้งลมหนาวและหิมะ  ฤดูร้อนก็ร้อนแรงด้วยลมร้อนและฝุ่นทรายที่ลมหอบพัดมาจากทะเลทราย "โกบี"  พืชพันธุ์ธัญญาหารก็แร้นแค้น  เพราะฝนมักแล้งบ่อยๆ ต้องอาศัยข้าวปลาอาหารจากทางใต้และที่อื่นส่งมา  ประชากรของ "ปักกิ่ง" เมื่อครั้งโบราณนั้นมีน้อยเบาบาง
ภาพเมืองปักกิ่งโบราณ จาก PictureChina.com.cn


ปักกิ่งอัปลักษณ์ถึงปานนี้  ไฉนจึงเป็นเมืองหลวงอันยิ่งยงของประเทศจีนที่ยิ่งใหญ่ได้นานหลายศตวรรษเล่า?  เรื่องทำนองนี้  เห็นจะต้องหยิบยืมเคล็ดวิชาของจีนที่ว่าด้วยเรื่อง "โหงวเฮ้ง" และ 
"ฮวงจุ้ย" มาช่วยอธิบายแหละครับ

ท่านเคยเห็นตำราว่าด้วย "โหงวเฮ้ง" หรือ "นรลักษณ์ศาสตร์" ของชาวจีนบ้างไหม?  พลิกๆ อ่านดูเถิด  ลักษณะผู้หญิงที่นับว่าดี  มีบุญวาสนาบารมีและอำนาจนั้น  จะมีหน้าตาไม่สวยจิ้มลิ้มอย่างนางงามแน่นอน  เพราะผู้มีอำนาจวาสนาก็ย่อมมีจมูกสิงโต(ก็น้องๆ จมูกชมพู่ผ่าซีกนั่นแหละ)  ปากกว้าง  โหนกแก้มสูง  หนังตาตกๆ สักหน่อยดูเหมือนจะจำลองรูปลักษณ์จากพระนาง "บูเช็กเทียน" และพระนาง "ซูสีไทเฮา" อะไรทำนองนั้น

ผู้หญิงที่สวยพริ้ง  ปากนิดจมูกหน่อย  รูปทรงอรชรอ้อนแอ้นแบบนางงามนั้น  เป็นได้อย่างมากก็แค่สนม ไม่อาจขึ้นถึงชั้น "นางพญา" ได้  คิดอย่างนี้ท่านคงจำได้ว่า "นครหางโจว" นั้น สวยงามน่าอยู่มาก  ทั้งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารทุกประการ  แต่ก็มีวาสนาได้เป็นเพียงเมืองหลวงของประเทศจีน (ในยามที่เมืองจีนตกต่ำด้วย) อยู่ได้เพียงช่วง ๑๔๑ ปี  ในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ "หางโจว" ก็หมดบารมี

แม้กระทั่งกรุงนานกิงก็ตามที  เป็นเมืองที่สวยงามน่าอยู่น่าเที่ยวสบายมากๆ  อากาศดี  มีข้าวปลาพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์พร้อม  ด้วยอยู่ริ่มฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง  อันเป็นสายเลือดใหญ่และสำคัญที่สุดในการผลิตอาหารเลี้ยงประชาชนจีน  ผู้เขียนเคยพาคณะข้าราชการและนักธุรกิจไปเยือนกรุงปักกิ่ง  นครเทียนสิน  นครเซี่ยงไฮ้  เมืองเอ้หมึง  เมืองซัวเถา  และนครนานกิง  ถามคณะเดินทางว่าอยากอยู่เมืองไหนมากที่สุดในจำนวน ๖ เมืองนี้  ได้คำตอบเกือบเอกฉันท์ว่า "นานกิง!"

แม้ "นานกิง" จะสวยงามน่าอยู่และอุดมสมบูรณ์มาก และมีวาสนาได้เป็นเมืองหลวงของประเทศจีนหลายยุคสมัยหลายราชวงศ์ (ชาวนานกิงเขาพยายามนับๆ ได้มากถึง ๑๐ ราชวงศ์แน่ะครับ)  แต่ทุกช่วงเวลาที่เป็นเมืองหลวง  รวมกันทุกสมัยแล้วก็ได้ราวๆ ร้อยปีเศษ  พอๆ กับช่วงเวลารุ่งโรจน์ของ "กรุงหางโจว" และที่น่าประหลาดก็คือ ทั้งกรุง "หางโจว" และ "นานกิง"  สองนครที่สุดสวยปานเมืองสวรรค์บนดิน แต่กลับสิ้นวาสนาบารมีไปทุกครั้งที่ "กรุงปักกิ่ง" เป็นใหญ่ หรือเข้มแข็งขึ้นทุกคราว...ก็ "โหงวเฮ้งนางพญา" มันก็ต้องข่มรัศมี "อีหนูๆ" แน่นอน

แต่กรุงปักกิ่งนี้  เป็นเมืองหลวงของประเทศจีนถึง ๔ สมัย  ตั้งแต่ พ.ศ.​ ๑๘๒๐ (ยุคเดียวกับการก่อตั้ง "กรุงสุโขทัย") จนถึงปัจจุบันราว ๗๐๐ ปี ๔ สมัย ๔ รูปแบบการปกครอง  กล่าวคือ

สมัยที่ ๑

เมื่อกองทัพม้าอันเกรียงไกรของพวกมองโกล  ยกลงมาตี "กรุงหางโจว"  ของราชวงศ์ซ่งใต้พ่ายแพ้ราบคาบ  ฮ่องเต้องค์สุดท้ายก็ทรงพระเยาว์มาก  ไทเฮาพระราชชนนีจึงทรงสั่งให้ยอมแพ้  และถูกจักรพรรดิชาติมองโกล "กุบไล่ข่าน" ให้คุมพระองค์พร้อมด้วยพระราชวงศ์  ข้าราชบริพารไปประทับอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนของ "จักรพรรดิกุบไล่ข่าน" ณ นครซั่งตู (เมืองหลวงบน) ของมองโกล

ครั้นจักรพรรดิ "กุบไลข่าน" ชาติมองโกลยึดอาณาจักรจีนได้ราบคาบแล้ว  จึงโปรดให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งราชอาณาจักรจีน  ทรงพระนามว่า "หยวนซื่อจู่"  (ทางพงศาวดารไทยและเรื่องจีนที่แปลเป็นไทยใช้สำเนียงแต้จิ๋ว  ออกพระนามว่า "หงวนสีโจ้วฮ่องเต้") ขนานนามราชวงศ์ "หยวน" ขึ้น สถาปนาเมืองหลวงของอาณาจักรจีนขึ้นที่ "กรุงต้าตู" (แปลว่าเมืองหลวงใหญ่) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก "นครเอี้ยนจิง" Ian Jing เป็นเมืองหลวงของ "แคว้นเอี้ยน" ในยุค "เลียดก๊ก" หรือ "จ้านกวั๋ว"

"กรุงต้าตู" หรืออดีต "นครเอี้ยนจิง" นี้ที่จริงก็คือ "กรุงปักกิ่ง" ในปัจจุบันนั่นเอง  เมืองนี้เริ่มเป็นเมืองหลวงของมหาอาณาจักรจีน นับแต่ พ.ศ.​ ๑๘๒๐ นั้นเป็นวาระแรก  การที่ราชวงศ์มองโกลอันเป็นคนต่างด้าวท้าวต่างแดน  ซึ่งแม้มีนักรบเข้มแข็งหฤเหี้ยม  แต่ก็มีจำนวนเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรจีน  แม้ได้อำนาจในจีนอันกว้างใหญ่ไพศาล  ก็ไม่กล้าเสี่ยงเข้าไปอยู่ใจกลางประเทศ  จึงตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ "กรุงปักกิ่ง" ตั้งแต่ พ.ศ.​ ๑๘๒๐ (ตรงกับรัชกาลของ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช") จนถึง พ.ศ.​ ๑๙๑๑  แผ่นดินจีนเป็นจลาจล  มีคนตั้งตัวเป็น "ฮ่องเต้" ขึ้นนับสิบราย  แต่พระเจ้าหงวนซุ่นเต้ รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งทรงอ่อนแอเชื่อฟังแต่พวก "กังฉิน" จึงไม่อาจปราบกบฏได้

สมัยที่ ๒

"จูง่วนเล้ง" (หรือ "จูหยวนจาง" ในชื่อจีนกลาง)  ได้รวบรวมผู้คนและปราบจลาจลได้  จึงตั้งตัวปราบดาภิเษกขึ้นทรงพระนามว่า "พระเจ้าเม่งฮ่องบู้"  เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ชื่อ "ไต้เหม็ง" หรือ "หมิง Ming" และสถาปนา "นครกิมเล้ง" ที่ทรงยึดเป็นฐานที่มั่นมาแต่แรกนั้นขึ้นเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรจีน

กองทัพไต้เหม็งขึ้นไปรบชนะ  พระเจ้าหงวนซุ่นเต้เสด็จหนีจาก "ต้าตู" หรือกรุงปักกิ่ง และสวรรคตระหว่างทาง  ส่วน "ฮองไทจือ" รัชทายาทเสด็จหนีรอดไปโดยออกนอกแดนจีนนับแต่นั้น  พระเจ้าฮ่องบู้ ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสและขุนนางนายทัพนายกองไปปกครองแว่นแคว้นนครต่างๆ  จำเพาะ "นครปักกิ่ง" นั้นเป็นถิ่นที่มองโกล (ราชวงศ์หงวน) เคยยึดครองอยู่เกือบร้อยปี  จึงปกครองยาก  อีกทั้งแห้งแล้งกันดารกว่าพื้นที่ "ตงก๊ก หรือจงกวั๋ว"  จึงโปรดแต่งตั้งให้เจ้าชายองค์ที่ ๔ พระนาม "เอียนอ๋อง" (หรือ "เอี้ยนหวาง") ไปครองนครปักกิ่ง  ด้วยเหตุที่ทรงเป็นเจ้าชายนักรบตามเสด็จพระบิดาอยู่ในสนามรบมาแต่ทรงพระเยาว์  ทรงมีบุคลิกท่าทางกิริยาวาจาละม้ายพระเจ้าฮ่องบู้  จึงมีขุนนางนายทหารรุ่นก่อตั้งพระราชวงศ์นิยมนับถืออยู่มาก  ตอนที่พระเจ้าฮ่องบู้ทรงปรารภถึงผู้สืบราชสมบัติ  ก็ทรงคิดจะยกให้ "เอียนอ๋อง"  แต่คณะที่ปรึกษากราบทูลทัดทานว่าเป็นการผิดวัฒนธรรมประเพณีของชาวจีนที่ต้องสืบตระกูลทางลูกชายคนโต  ดังนั้น  จึงทรงยกราชสมบัติให้แก่พระราชนัดดาองค์ใหญ่ซึ่งสืบตำแหน่งแทน "ฮองไทจือ" ที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน

ครั้นฮ่องเต้หนุ่มน้อยขึ้นครองราชย์  "เอียนอ๋อง" แห่งนครปักกิ่งก็แข็งเมือง  และที่สุดก็ยกทัพมาตี "กรุงนานกิง" แตกพ่าย  ได้ครองราชสมบัตินับเป็นรัชกาลที่ ๓ ของราชวงศ์ "ไต้เหม็ง" ที่เสด็จอยู่ ณ "กรุงนานกิง" แต่ก็เพียง ๑๕ ปี  ก็ทรงให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปตั้งที่ "กรุงปักกิ่ง" ถิ่นเดิมของพระองค์ และสืบพระวงศ์มาได้ ๑๔ รัชกาล ถึง พ.ศ. ๒๑๘๖  "พระเจ้าฉงเจินฮ่องเต้" องค์สุดท้ายทรงพ่ายแพ้แก่ "หลี่จื้อเฉิง" ผู้นำกบฏชาวนา

ชื่อของเมืองนี้แต่เดิมคือ  "เอี้ยนจิง"  เป็นนครหลวงของแคว้นเอี้ยน  ครั้นมองโกลปกครองให้เรียกเป็น "ต้าตู" แปลว่า "มหานครหลวง" เพราะพวกเขามีนครหลวงเดิม และเล็กๆ อยู่ทางเหนือนอกกำแพงเมืองจีนขึ้นไปเรียกว่า "ซั่งตู" แปลว่า "นครหลวงข้างบน"  ชื่อ "กรุงปักกิ่ง" หรือ "เป่ยจิง Bei Jing" นี้ขนานนามกันในรัชสมัยของ "หย่งเล่อ" หรือ "เฉิงจื่อฮ่องเต้"  รัชกาลที่ ๓ ของราชวงศ์เหม็ง (หรือหมิง) ซึ่งเดิมทรงปกครองอยู่ ณ นครต้าตู (ชื่อตามมองโกลเรียก) ซึ่งเปลี่ยนชื่อกลับเป็น "นครเอี้ยนจิง" ตามพระนาม "เอี้ยนหวาง"  เจ้าผู้ครองแคว้นนั้น  ครั้น  พ.ศ. ๑๙๔๕  ทรงยกทัพมารบและชิง "กรุงกิมเล้ง" (ตอนนั้นก็ยังใช้ชื่อนี้อยู่) ได้ตั้งตนเป็นฮ่องเต้อยู่ที่นี่ก่อน  แต่พระองค์เองก็ทรงมีนครหลวงอยู่ทางเหนือที่แคว้นเอี้ยนโน่นด้วย  ทรงคิดถึงถิ่นเดิม  จึงให้ถ่ายแบบปราสาทพระราชวังทั้งปวงจาก "กรุงกิมเล้ง" ขึ้นไปสร้างที่ "นครเอี้ยนจิง" (อีกชื่อหนึ่งเรียก "เป่ยผิง") ใช้เวลาสร้าง ๑๕ ปี  เสร็จสมบูรณ์แล้ว  พระเจ้าเฉิงจื่อ หรือนามรัชกาลว่า "หย่งเล่อ" ก็ทรงให้อพยพกลับไปประทับถาวรอยู่ ณ "นครหลวงทางเหนือ" อันขนานนามใหม่ว่า "กรุงปักกิ่ง" หรือ "เป่ยจิง" Bei Jing  ส่วนนครกิมเล้งเดิมก็ขนานนามใหม่เป็น "นครนานกิง" หรือ "หนานจิง" Nan Jing  แปลว่า "นครหลวงทางใต้" คู่กัน

สมัยที่ ๓

"หลี่จื้อเฉิง" ผู้นำกบฏชาวนายึดกรุงปักกิ่ง  และตั้งตนเป็นฮ่องเต้อยู่ท่ามกลางการจลาจลและต่อต้านของขุนนางนายทหารใหญ่ในยุคราชวงศ์เหม็ง(หมิง)

แม่ทัพจีนชื่อ "อู๋ซันกุ้ย" เปิดด่าน "ซานไห่กวน" ให้กองทัพชนชาติ "แมนจู" ยกเข้าแดนจีนมาช่วยปราบกบฏ  จึงเป็นโอกาสให้กองทัพแมนจูอันเหี้ยมหาญตามวิสัยแห่งสายเลือดมองโกลได้ปราบกบฏ  แล้วยึดอำนาจปกครองตั้งราชวงศ์ "ไต้เช็ง" หรือ "ต้าชิง" Shing ณ กรุงปักกิ่ง  สืบสายกษัตริย์ต่อเนื่องกันมายาวนานถึง พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นเวลา ๒๖๘ ปี

"กรุงปักกิ่ง" จึงเป็นเมืองหลวงของจีนเป็นสมัยที่ ๓  โดยราชวงศ์ของคนต่างชาติปกครองเป็นครั้งที่ ๒

สมัยที่ ๔ ปัจจุบัน

ปลายสมัยราชวงศ์เช็ง(ชิง)ของแมนจู  เป็นยุคที่จีนอ่อนแอและล้าสมัยที่สุด  ในขณะที่ชาติอื่นๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเจริญกว่าทุกด้าน  ประเทศต่างๆ ในยุโรปยกพลไปทั่วโลกเพื่อแสวงหาทรัพยากร และล่าอาณานิคมไม่เว้นแม้จีน  แต่จีนใหญ่โตมากเกินกว่ากองกำลังเล็กๆ แม้จะมีอาวุธทันสมัยกว่า  จะเข้ายึดครองในทันทีทันใด  จึงเพียงยึดเช่าพื้นที่เมืองท่าสำคัญๆ ของจีนไว้แทบหมดสิ้น

ยุคนี้เป็นยุคที่จีนอัปยศอดสูที่สุดยุคหนึ่ง  ไม่น้อยกว่ายุคที่แพ้พวกจิน(เกาหลี)

ในที่สุดมหาบุรุษจากแดนจีนใต้ "ซุนยัดเซ็น" ก็รวบรวมพลพรรคคนรักชาติจีนแท้โค่นราชวงศ์แมนจูได้สำเร็จ  ฮ่องเต้ทรงอพยพหนีภัยกลับไปอยู่ "แมนจูเรีย" อันเป็นถิ่นเก่า  ทิ้ง "กรุงปักกิ่ง" ให้ร้างไร้ผู้ปกครอง  เพราะผู้นำจีนใหม่ในระบอบการปกครองแบบ "ประชาธิปไตย" นั้น  ตั้งเมืองหลวงอยู่ ณ กรุงนานกิง  จนกระทั่งจอมพลเจียงไคเช็ค  ถูกกองทัพ "ดาวแดง" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโจมตี  จนหนีลงทะเลไปอยู่เกาะไต้หวัน  เมื่อ พ.ศ.​ ๒๔๙๒

มหาบุรุษ "จีนใหม่" ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในนาม "ท่านประธานเหมาเจ๋อตุง" Mao Tze Tung ได้นำกองทัพและผู้สนับสนุนเข้าสู่ "กรุงปักกิ่ง" เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒  ได้ประกาศ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน  สถาปนามหาอาณาจักรจีนใหม่ Sin Hwa ขึ้นในบัดนั้น

"กรุงปักกิ่ง" จึงกลับมาเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนอีกสมัยหนึ่ง  นับเป็นสมัยที่ ๔ ตราบจนปัจจุบัน
นครปักกิ่งปัจจุบัน
"ปักกิ่ง" ในยุคนี้  ไม่ใช่เมืองที่ผู้คนน้อยเบาบางอย่างสมัยโบราณแล้ว  เพราะมีประชากรเป็นอันดับ ๒ ของจีน รองจากนครเซี่ยงไฮ้

เที่ยวที่ไหนดี ที่ "ปักกิ่ง..."?

คำถามนี้  บริษัทท่องเที่ยวทั้งหลายพร้อมที่จะให้คำตอบ และแย่งกันให้บริการแก่ลูกค้านักท่องเที่ยวอยู่แล้ว  เปิดหนังสือพิมพ์หรือวารสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวดูเถิด  มีให้เลือกมากมาย

กรุงปักกิ่ง  เป็นเมืองหลวงของประเทศจึงมีความพร้อมมากกว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ถ้าท่านมีเวลามากและทรัพย์มาก  อยากไปเที่ยวกรุงปักกิ่ง และอาณาบริเวณรอบๆ ไม่ออกไปนอกมณฑลเหอเป่ย He Bei  ก็สามารถจัดรายการให้ท่านได้เที่ยวชมโบราณสถาน และสิ่งสำคัญในประวัติศาสตร์ให้เที่ยวชมได้ทุกวัน อย่างน้อยก็ ๑ สัปดาห์ขึ้นไป  แต่ถ้าท่านมีเวลาน้อยก็ย่นเวลาและรายการลงได้  หรือแม้ท่านจะมีเวลามากเหลือเฟือแต่ท่านไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์พงศาวดารจีนเลย  ไม่รู้ว่าราชวงศ์ไหนมาก่อน  ราชวงศ์ไหนมาหลัง  ฟัง "ไกด์" พูดๆ ก็แค่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา...ไม่รู้เรื่อง!  แบบนี้ละก็เที่ยววันเดียวสองวันก็เบื่อละครับ...ยิ่งท่านสุภาพสตรี และค่อนข้างพิถีพิถันด้วย  ไปเจอห้องส้วมนอกเมืองบางแห่งที่ชาวบ้านทั่วไปเขาใช้กัน  คือ นั่งยองๆ มองหน้ากันไปปลดทุกข์ไปพลาง (ซึ่งคนจีนเขาก็เฉยๆ นะ) ผู้หญิงไทยไปเห็นแบบนี้เข้า  ก็กลัวจน..หด..หายไม่กล้าไปเมืองจีนอีก

ผู้เขียนพาคณะจัดทัวร์ไปจีน  เราแก้ปัญหาในเรื่องห้องน้ำห้องส้วมได้  คิดว่าท่านก็ต้องทำได้ และได้อ่านสารคดีแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่ผมพยายามเขียนให้อ่านเล่นสนุกๆ นี่แล้วด้วย  ก็เชิญท่านเลือกรายการเที่ยวใน "กรุงปักกิ่ง" และอาณาบริเวณรอบนอกกรุงแต่ภายในมณฑล "เหอเป่ย" ได้เลยครับ

กำแพงเมืองจีน The Great Wall
กำแพงเมืองจีน ภาพจาก Wikipedia

ชาวจีนเรียกชื่อ "กำแพงเมืองจีน" นี้ว่า "ว่านหลี่ฉางเฉิง" หมายถึง "กำแพงหมื่นลี้"  เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ๑ ใน ๗ สิ่ง  กำแพงเมืองจีนมีความยาวประมาณ ๑๐,๐๐๐ ลี้ (ประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลเมตร) ความกว้างบางช่วงขนาดม้าวิ่งเรียงสี่ตัวได้  เมื่อมิสเตอร์นีล อาร์มสตรอง  มนุษย์อวกาศคนแรก (ชาวอเมริกัน) ที่ไปเหยียบดวงจันทร์นั้นเขาว่า  "กำแพงเมืองจีน" เป็นสิ่งก่อสร้างแห่งเดียวบนพื้นโลกที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากดวงจันทร์
จิ๋นซีฮ่องเต้ ภาพจาก Wikipedia


Qin Shi Huang Emperor

"กำแพงเมืองจีน" นี้มีผู้กล่าวว่าจักรพรรดิ "จิ๋นซีฮ่องเต้" ทรงบัญชาการให้สร้างขึ้น  แต่ผู้รู้ในชั้นหลังวิเคราะห์ว่า  "กำแพงเมืองจีน" ได้มีการก่อสร้างตามแคว้นต่างๆ ของชนชาติจีน  เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกนอกด่านเชื้อสายมองโกล  ซึ่งมักเข้ามาปล้นฆ่าชิงทรัพย์จากชาวฮั่น(จีนแท้)อยู่เนืองๆ

"จิ๋นซีฮ่องเต้" ทรงรวบรวมแคว้นจีนทุกแห่งเข้าเป็นประเทศจีนเพียงหนึ่งเดียว  แล้วเกณฑ์ราษฎรไปสร้างกำแพงเชื่อมต่อติดกันทุกแคว้นยาวต่อเนื่องจากภาคตะวันตกไปจดทะเลในภาคตะวันออก(ด่านซานไห่กวน)  "จิ๋นซีฮ่องเต้" ครองราชย์เพียง ๑๑ - ๑๒ ปี  แต่ทำให้ชีวิตชาวจีนสูญไปเพราะการสร้างกำแพงยักษ์นี้นับเป็นล้านคน

อย่างไรก็ดี  ทุกคนยอมรับว่า  ถ้าใครยังไม่เคยปีนกำแพงยักษ์แห่งนี้  ก็ยังไม่รู้จักเมืองจีน  เพราะ "กำแพงเมืองจีน" คือ เอกสัญลักษณ์ของจีนอย่างแท้จริง  ไม่มีอะไรทดแทนได้


สุสานราชวงศ์หมิง ๑๓ ฮ่องเต้
สุสาน ๑๓ กษัตริย์ราชวงศ์หมิง ภาพจาก OkNation

ราชวงศ์เหม็ง หรือหมิง Ming เป็นชาวฮั่น(จีนแท้) ก่อตั้งโดยลูกชายชาวนาชื่อ "จูง่วนเล้ง" หรือจีนกลางเรียก "จูหยวนจาง" ผู้ไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นหัวหน้าก๊กหนึ่งในหลายก๊กที่แข็งเมืองต่อราชวงศ์มองโกล เชื้อสายของ "เจ็งกิสข่าน" และ "กุบไล่ข่าน" ที่ยึดเมืองจีนได้ และตั้งเมืองหลวงอยู่ที่กรุงปักกิ่ง

จูหยวนจาง  ตั้งตัวเป็น "ฮ่องเต้" อยู่ที่กรุงนานกิง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในลุ่มน้ำแยงซีเกียง  "จูหยวนจาง" เป็นผู้นำทัพที่เก่งกล้า  จึงสามารถปราบก๊กอื่นๆ ราบคาบ  แล้วยกกองทัพไปตีกรุงปักกิ่งแตก  ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์มองโกลเสด็จหนีและสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง  รัชทายาททรงพาขบวนหนีเตลิดออกไปนอกอาณาเขตจีน  "จูหยวนจาง" จึงมอบให้พระโอรสองค์ที่ ๔ พระนามว่า "เอียนอ๋อง" หรือ "เอี้ยนหวาง" คุมกำลังส่วนหนึ่งปกครองอยู่ที่กรุงปักกิ่ง  เพื่อสกัดไม่ให้พวกมองโกลกลับเข้ามาอีก  เพราะ "เอียนอ๋อง" เป็นนักรบและมีบุคลิกผู้นำคล้ายพระบิดามากที่สุด

ครั้น "จูหยวนจาง" สิ้นพระชนม์  ราชสมบัติตกอยู่กับราชนัดดาของปฐมกษัตริย์ "หลานปู่"  องค์นี้พระชันษา ๒๒ ปี  สติปัญญาและประสบการณ์จำกัด  ไม่ช้าก็เกิดวิวาทกับพระเจ้าอาทั้งหลาย  โดยกับ "เอียนอ๋อง" นั้น  ถึงยกทัพไปรบกัน  ในที่สุด "เอียนอ๋อง" ชนะ  ยึดกรุงนานกิงได้  สืบราชสมบัติเลือด  เป็นรัชกาลที่ ๓ ที่กรุงนานกิง  อยู่ได้ไม่ถึง ๑๕ ปี  ก็ยกพลอพยพไปอยู่กรุงปักกิ่งในฐานะเมืองหลวง  และสืบสันตติวงศ์มาถึง ๑๖ รัชกาล
ภาพภายในสุสาน ๑๓ กษัตริย์ราชวงศ์หมิง 

พระบรมศพ "ฮ่องเต้" ราชวงศ์นี้ฝังที่กรุงนานกิงองค์เดียว คือ องค์ปฐมกษัตริย์  ฝังในฮวงซุ้ยสุสานหลวงที่ "กรุงปักกิ่ง" ๑๓ พระองค์  ส่วนอีก ๒ องค์ที่เหลือ คือ  รัชกาลที่ ๒ สิ้นพระชนม์ในฐานะพระภิกษุ  ไม่ได้ฝังศพอย่างฮ่องเต้  ส่วนองค์สุดท้าย "ฉงเจินฮ่องเต้"  แพ้กบฏจนทรงผูกพระศอปลงพระชนม์เอง  แขวนอยู่ในสวนท้ายวัง  พระศพไม่ได้รับการกลบฝังอย่างฮ่องเต้


พระราชวังหลวง "หยวนหมิงหยวน"

พระราชวังหลวงแห่งนี้  สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์เหม็ง (หมิง) ที่ทรงพระนามว่า "เม่งเฉิงจื่อฮ่องเต้" ทรงให้ช่างฝีมือถ่ายแบบวังหลวงของพระชนกที่กรุงนานกิงขึ้นไปสร้างที่กรุงปักกิ่ง  ใช้เวลาสิบกว่าปี  ในช่วง พ.ศ. ๑๙๔๕ ถึง พ.ศ. ๑๙๖๐  จึงทรงอพยพผู้คนไปสถาปนากรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงถาวรของราชวงศ์เหม็ง  ฮ่องเต้เสด็จอยู่ ณ พระราชวัง "หยวนหมิงหยวน" ทุกพระองค์จนสิ้นราชวงศ์
พระราชวังหยวนหมิงหยวน

ในตอนสิ้นราชวงศ์นั้น  เพราะถูกกบฏชาวนาที่มี "หลี่จื้อเฉิง" เป็นผู้นำ  ยกกองทัพมาล้อมและตีกรุงปักกิ่งแตก  เกิดโกลาหลมีการปล้นชิงทรัพย์ และเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวนพังพินาศในปี พ.ศ.​ ๒๑๘๗ (ตรงกับรัชกาลสมเด็นพระปราสาททองของไทย)
ด้านหน้าของพระราชวังหยวนหมิงหยวน
ในปลายปีนั้นเอง  กองทัพแมนจูโดยความร่วมมือของ "อู๋ซันกุ้ย" แม่ทัพจีนชาวฮั่น  เปิดด่าน "ซานไห่กวน" ให้พวกแมนจูเข้ามา  รบชนะ  "หลี่จื้อเฉิง" และอัญเชิญจักรพรรดิแมนจูมาเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรจีน  สถาปนาราชวงศ์เช็ง หรือ "ต้าชิง" Shing เป็นราชวงศ์ปกครองจีน  จักรพรรดิแมนจูโปรดให้บูรณะพระราชวังหลวง "หยวนหมิงหยวน" ขึ้นอีก  และจักรพรรดิทุกพระองค์ ๑๐ รัชกาลก็ประทับ ณ พระราชวังนี้  จนสิ้นอำนาจไปจากจีน  เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๕  โดยจักรพรรดิผู่อี้ Pu Yi พระชันษาเพียง ๖ ขวบ  สละราชสมบัติ และเสด็จกลับไปอยู่แดนแมนจูเรีย  รายละเอียดอยู่ในหนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์เอง  ชื่อเรื่องตามที่ฝรั่งแปลคือ The Last Emperor ฮ่องเต้พระองค์นี้ในเรื่องที่ไทยแปลไว้สมัยก่อนเรียกพระนาม "ปูยี" หรือ  พระเจ้า "ซวนท้ง" ตามนามรัชกาล

ในปลายสมัยราชวงศ์เช็ง หรือชิงนี้  เป็นยุคที่ตกต่ำล้าหลังมากๆ ในขณะที่พวกมหาอำนาจตะวันตกก็กำลังล่าอาณานิคมและมารังแกจีน  จนเกิดวิวาทและปะทะด้วยกำลังหลายครั้ง  โดยเฉพาะครั้งที่กองกำลังอังกฤษกับฝรั่งเศสบุกเข้าโจมตีถึงกรุงปักกิ่ง  ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๖๐) ได้เข้าปล้นทรัพย์และเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวนพินาศย่อยยับ
ซากปรักหักพังพระราชวังหยวนหมิงหยวนที่อังกฤษและฝรั่งเศสเผาทำลาย
ใน ค.ศ.​ ๑๘๖๐
เหตุการณ์ครั้งนี้  แม้จะผ่านมากว่าร้อยปี  แต่ยังคงฝังรอยเจ็บปวดลึกอยู่ในจิตใจของชาวจีนตลอดมา  ถ้าไปกรุงปักกิ่งแล้วถามถึงเรื่องเผาวังนี้ละก็  ชาวปักกิ่งจำ ค.ศ. ๑๘๖๐ ที่เกิดเหตุนั้นได้แทบทุกคน  อย่าว่าแต่ชาวจีนเจ้าของวังเลย  ชาวโลกที่มีใจใฝ่รักความถูกต้องเป็นธรรม  หรือรักศิลปวัฒนธรรมต่างก็เสียดายพระราชวัง "หยวนหมิงหยวน" กันทั้งนั้นไม่ยกเว้น  แม้แต่ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในสองประเทศหัวโจกที่ยกกำลังเข้าปล้นเผาทำลายพระราชวังในครั้งนั้น

เผอิญที่ชาวฝรั่งเศสคนนั้นเป็นกวีเอกของโลก นาม "วิคเตอร์ ฮิวโก" Victor Hugo ท่านได้เขียนประจานพฤติกรรมครั้งนี้  ถึงขนาดว่าเป็น  "...การปล้นของโจร ๒ คน  คนหนึ่งเป็นอังกฤษ  อีกคนเป็นฝรั่งเศส...คนหนึ่งปล้นและขนทรัพย์สิน  อีกคนหนึ่งจุดไฟเผาไปหัวเราะชอบใจไป  พลางก็เก็บกวาดทรัพย์สินอันล้ำค้าโกยใส่กระเป๋าพลาง..."

"หยวนหมิงหยวน" ปัจจุบันรัฐบาลจีนใหม่ได้บูรณะขึ้น  นับเป็นการก่อสร้างครั้งที่ ๓  แต่ก็คงสภาพเป็นวังร้าง  ไม่อาจจะกลับมาสง่างามได้อีก

ดังนั้น  เวลาบริษัทท่องเที่ยวจัดรายการให้เราเข้าชมที่พระราชวังนี้  จึงมักเขียนรายการว่า "เข้าชมกู้กง" ซึ่งแปลว่า เข้าชม "วังเก่า"  เท่านั้นเอง (สำเนียงแต้จิ๋วเรียก "กู่เก็ง" ความหมายเดียวกัน) ฝรั่งเรียก Forbidden Palace คือ วังต้องห้าม

พระราชวัง "หยวนหมิงหยวน"  ควรนับว่าเป็นพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ยิ่งกว่าพระราชวังเครมลิน ของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย  เฉพาะห้องสำหรับพระสนมก็มีถึง ๙,๙๙๙ ห้องครึ่ง  ลองคำนวณดู  จะเห็นว่าถ้าฮ่องเต้ทรงเรียกพระสนมไปเข้าเวรไม่ซ้ำหน้า  คืนละองค์ๆ  จะต้องทรงใช้เวลาถึง ๒๗ ปีเศษ  จึงจะครบ ๙,๙๙๙ องค์

พระราชวังฤดูร้อน "อี้เหอหยวน"
พระราชวังฤดูร้อน อี้เหอหยวน
พระนาง "ซูสีไทเฮา" ทรราชย์หญิง  ทรงใช้งบประมาณของ "กองทัพเรือ" สร้างขึ้น  ให้ขุดสระใหญ่ หรือทะเลสาบคนขุดขึ้น  เรียกว่า "คุนมิงหู"  โดยทรงฟังคนสอพลอกราบทูลว่า  ภูมิอากาศที่นครคุนหมิง  มณฑลยูนนานนั้น  เย็นสบายดีตลอดปี  เสมือนมีแต่ "ฤดูชุนเทียน" (คือ ฤดูใบไม้ผลิ) ตลอดปี  ทั้งนี้เพราะที่นั่นมี "ทะเลสาบคุนหมิง" หรือ "คุนมิงหู" นั่นเอง



ภาพจากเว็บไซต์ Jeenmix.com; YouTube.com, Ocean Smile Tour, และ Wikipedia








พระนาง "ซูสีไทเฮา"  จึงทรงสั่งในนำงบประมาณพัฒนากองทัพเรือ  มาใช้ขุดทะเลสาบจำลองขึ้นในพระราชวัง "อี้เหอหยวน" ดังกล่าว  โดยอ้างว่าเพื่อใช้สำหรับฝึกหัดทหารเรือให้ชำนาญการสัญจรทางน้ำ  แต่ข้อเท็จจริง  พระนางไม่เคยอนุญาตให้คนแปลกหน้าเข้ามาในวังที่ทรงพระสำราญส่วนพระองค์อยู่แล้ว

งบประมาณกองทัพเรือที่ถูกเบียดบังไป  ทำให้กองทัพเรืออ่อนแอ  จนเมื่อญี่ปุ่นมาข่มขู่ข่มเหง  ส่งกองทัพเรือมารุกราน  ถึงกับขึ้นบกยึด "เกาะไต้หวัน" กองทัพเรือจีนออกต่อต้าน  จึงเกิดปะทะกัน  เรือและปืนของจีนใหญ่กว่าของข้าศึก  พอยิงกันฝ่ายจีนยังได้ไกลกว่า  โดยเรือรบญี่ปุ่นเสียหาย  ญี่ปุ่นตกใจกลัวหันหัวเรือหนีไปทันที  หนีไปตั้งนาน  กองเรือญี่ปุ่นนึกแปลกใจว่าทำไมกองเรือจีนไม่ไล่ล่าตามตนมา  จึงวกกลับมาดู  ปรากฏว่าเรือรบจีนกำลังแล่นหนีปุเลงๆ เพราะกระสุนปืนหมด  ยิงไปไม่กี่ลูกก็หมดพิษสง  จึงต้องหนีเอาชีวิตรอด  ทีนี้กองเรือญี่ปุ่นก็กลับมาไล่ล่าจนกองเรือจีนต้องยอมแพ้หมด

"อี้เหอหยวน" ปัจจุบัน  นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว บนผนังของทางเดินในวัง  ยังมีภาพวาดโบราณเป็นเรื่องราวในพงศาวดาร "สามก๊ก" และเรื่องอื่นๆ ฝีมือของจิตรกรที่เก่ง  วาดได้สวยงามมาก

พระตำหนักฤดูร้อน "เตี้ยวหวีไถ"

พระตำหนักฤดูร้อน "เตี้ยวหวีไถ" เป็นที่ทรงสำราญพระอิริยาบทของฮ่องเต้  อยู่ย่านชานเมือง  มีสระและศาลากลางน้ำ  บางเวลาก็อาจจะทรงตกปลา  เมื่อทรงเบ็ดตกปลาได้ก็อาจจะมีขันทีสอพลอร้องสรรเสริญว่า "...ทรงพระปรีชาสามารถ  ตกปลาได้แล้ว! ทรงพระเจริญหมื่นปี หมื่นๆ ปี...!"  เผอิญปลาที่ตกได้อาจจะตัวเล็กนิดเดียว  ไม่สบพระอารมณ์  จึงทรงปล่อยลงน้ำไป  ขันทีสอพลอก็จะร้องว่า  "...ทรงพระเมตตา ปล่อยปลาไปแล้ว  ขอให้ทรงพระเจริญหมื่นปี หมื่นๆ ปี...!"

ปัจจุบัน  ตำหนัก "เตี้ยวหวีไถ" เป็นบ้านพักรับรองสำหรับแขก วี.ไอ.พี. ของรัฐบาลจีน  เอกชนคนมีทรัพย์มากอยากจะเข้าไปนอนบ้างก็ไม่ได้  เว้นแต่ตามขบวนแขกเมืองของเขาก็เข้าไปพักได้  ผู้เขียนเคยตามคณะของอดีตรัฐมนตรีอุทัย พิมพ์ใจชน  เข้าไปพักที่นั่น ๓ คืน  ในช่วงวันที่ ๑๑ - ๑๔ เมษายน ๒๕๓๖  ก็ได้รับบรรยากาศและประสบการณ์มาแล้ว  ถ้าจะให้เข้าไปพักอีก  ก็ขอสละสิทธิ์  เพราะรู้สึกมันเงียบสงบเย็นดีก็จริง  แต่ดูวังเวงและเกรงคนที่เคยอยู่ในครั้งเก่าก่อนจะออกมาชวนสนทนาด้วย

หอเทียนถาน
Temple of Heaven หอเทียนถาน
ภาพจาก Wikipedia

หอเทียนถาน  เป็นปราสาททำนองคล้ายๆ ปราสาทพระเทพบิดร  ซึ่งจักรพรรดิจะเสด็จมาทำพิธีต่างๆ นับแต่พิธีบรมราชาภิเษก  พิธีไหว้ฟ้าดิน  หรือเทพต่างๆ เพื่อขอพรให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสุข  ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล  ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์

ลัทธิความเชื่อของชาวจีนนั้น  ถือว่า "ฮ่องเต้" คือ โอรสแห่งสวรรค์  เป็นผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ให้ลงมาจุติในโลก  ซึ่งอาจจะเกิดเป็นสามัญชนคนยากจนก็ได้  แต่เมื่อได้รับ "อาณัติจากสวรรค์" แล้ว  ต้องสามารถคุ้มครองป้องกันภัย และทำให้ไพร่ฟ้ามีความสมบูรณ์พูนสุขได้

"ฮ่องเต้" จึงต้องเสด็จไปทรงทำพิธีต่างๆ ที่ "หอเทียนถาน" เพื่อสื่อสารกับสวรรค์  ให้ประทานพรแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน (ที่จริงก็รวมทั้งพระราชวงศ์ และพระองค์เองด้วย) ให้มีความสุข  ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล  ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์   ถ้าบ้านเมืองเกิดฝนแล้ง  ข้าวยากหมากแพง  ฝ่ายบ้านเมืองแก้ไขไม่ได้  แม้ "ฮ่องเต้" จะเสด็จทำพิธีที่ "หอเทียนถาน" หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ  ชาวจีนก็จะเชื่อว่านั่นคือ "เหตุอาเพศ" ซึ่งสวรรค์จะ "ถอนอาณัติ" จากฮ่องเต้ หรือพระราชวงศ์เดิม  มักจะมีผู้ก่อการกบฏแข็งข้อขึ้นในหัวเมืองต่างๆ  ผู้นำกบฏก็มักอ้างตนเป็น "ผู้มีบุญ" หรือ "โอรสแห่งสวรรค์" คนใหม่ที่จะมาปราบยุคเข็ญ  หัวหน้ากบฏในลักษณะนี้  ทำสำเร็จก็ได้เป็นต้นราชวงศ์  ก็มีต่อเนื่องกันมาหลายๆ ยุค เป็นเรื่องปกติในพงศาวดารจีน

การเข้าชม "หอเทียนถาน" ในวันเสาร์อาทิตย์ในฤดูท่องเที่ยว  ต้องเผื่อเวลาไว้ครึ่งวัน  หรืออย่างน้อย ๓ ชั่วโมง  ไม่ใช่เพราะสถานที่กว้างใหญ่ หรือมีอะไรให้ชมมากมายนัก  แต่เพราะต้องเข้าคิวรอยาว และทยอยกันเข้าชม

จัตุรัส "เทียนอันเหมิน"
จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภาพจาก Wikipedia

จัตุรัสเทียนอันเหมิน Tiananmen Square สมัยโบราณ  ศูนย์กลางการทำพิธีต่างๆ ของประเทศก็ใช้ลานใหญ่ในพระราชวัง  มาถึงยุคปัจจุบัน  รัฐบาลได้สร้างจัตุรัส "เทียนอันเหมิน" ขึ้น  เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีต่างๆ  เริ่มแรกก็เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ (ค.ศ. ๑๙๔๙)  ประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

จัตุรัสเทียนอันเหมิน  เป็นลานซีเมนต์กว้างใหญ่  จุคนได้เป็นแสนคนขึ้นไป  ในฤดูท่องเที่ยวและวันหยุดจะมีผู้คนไปเดินชม และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก  จนดูเห็น "เทียนอันเหมิน" อันกว้างใหญ่นั้น  กลับแคบไปถนัดใจทีเดียว

ทำไมต้องไปชม "เทียนอันเหมิน"...?  ที่ต้องไปชมและถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก  ก็เพราะ "เทียนอันเหมิน" เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศ  ทำนองเดียวกันกับ "จัตุรัสดาวแดง" เป็นสัญลักษณ์ของกรุงมอสโคว  ประเทศรัสเซีย   ถ้าเราถ่ายรูปให้เห็นภาพวาดของ "ท่านประธาน เหมา เจ๋อตง" เป็นฉากหลังละก็  ใครดูก็รู้ทันทีว่าถ่ายที่ไหน  โดยไม่ต้องบอกใครไม่รู้ดูไม่ออกก็เชยไปเอง
จัตุรัสเทียนอันเหมิน และภาพวาดท่านประธานเหมา เจ๋อตง

ในช่วงที่ "ฮ่องกง" กำลังรอเวลากลับคืนสู่จีนนั้น  มีการตั้งนาฬิกาเรือนใหญ่ไว้ที่จัตุรัสฯ นี้  โดยบอกเวลานับถอยหลังว่า  อีกกี่วัน กี่เดือน กี่ชั่วโมง กี่นาที และกี่วินาที  "ฮ่องกง" จะกลับคืนสู่จีน

กล่าวกันว่า มหาบุรุษ "เติ้ง เสี่ยวผิง" แม้จะมีอายุ ๙๐ กว่าปี และสุขภาพก็ไม่ปกติตามประสาคนชรา  แต่ท่านก็ยังไม่ยอมตายจนกว่า "ฮ่องกง" จะกลับมาเป็นของจีนโดยสมบูรณ์  เพราะ ท่านเติ้ง เคยกล่าวว่า ถ้า "ฮ่องกง" กลับมาเป็นของจีนโดยสมบูรณ์เมื่อใด  ท่านก็จะไปเยือนเกาะ "ฮ่องกง" เมื่อนั้น

ด่านซานไห่กวน
ด่านซานไห่กวน ภาพจาก Wikipedia

ด่านซานไห่กวาน  กำแพงเมืองจีนยาวหมื่นลี้  มีชื่อในภาษาจีนว่า "ว่านหลี่ฉางเฉิง" ยาวจากทิศตะวันตกไปถึงตะวันออก  สุด ณ จุดซึ่ง "ภูเขา(ซาน)" ไปจรดริมทะเล (ไห่) ตรงจุดนี้  จีนโบราณได้สร้างประตูป้อมค่ายไว้อย่างแข็งแรง  เรียกว่าด่าน "ซานไห่กวาน" (กวาน หรือกวนในเสียงแต้จิ๋วแปลว่า "ด่าน")

"ด่านซานไห่กวาน" เป็นประตูพรมแดนจีนในยุคนั้น  นอกด่านเป็นแคว้นเหลียว ซึ่งเป็นอีกชนชาติหนึ่งซึ่งสู้รบขับเคี่ยวกับชาวจีน(ฮั่น) มานมนาน  ปัจจุบันคือมณฑลเหลียวหนิง  ส่วนหนึ่งของจีน  ในด่านเป็นอาณาเขตของจีน ปัจจุบันคือพื้นที่ของมณฑลเหอเป่ย

ในปลายรัชกาลพระเจ้า "ฉงเจินฮ่องเต้"  หรือ "ว่านลี่" กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เหม็ง (หมิง)  พวกสอพลอคอรัปชั่น บั่นทอนความมั่นคงของราชวงศ์ลงจนเสื่อมสุดยอด  ประจวบกับเกิดฝนแล้ง  ราษฎรชาวนาอดหยากเป็นทุพภิกขภัยทั่วไปในแผ่นดิน  จึงมีผู้นำ  ทำตนเป็น "ผู้มีบุญ" (หรือ "ผีบุญ") ก่อการกบฏขึ้นทั่วไป  ในที่สุดผู้นำกบฏชาวนาที่รวมกลุ่มกบฏเข้าเป็นกองทัพใหญ่ได้  คือ "หลี่จื้อเฉิง" ได้เคลื่อนทัพเข้าล้อมกรุงปักกิ่งไว้ได้  ในขณะเดียวกันนั้น  ที่นอกด่าน "ซานไห่กวาน" ก็มีกองทัพใหญ่ของพวกเผ่า "แมนจู" มาจ่อยันอยู่ และหาหนทางจะรุกข้ามกำแพงเมืองจีนเข้าสู่แดนจีน
อู๋ซันกุ้ยแม่ทัพจีนผู้เปิดด่านฯ ให้แมนจูเข้าทำลายเอกราชจีน

กองกำลังของจีนในด่าน "ซานไห่กวาน" มีนายด่านเป็นขุนทหารที่มีฝีมือเข้มแข็ง และสืบสายเลือดนายทหารมาจากบรรพบุรุษ  เขาผู้นั้นคือ "อู๋ซันกุ้ย" อาศัยกำแพงเมืองจีนอันสูงใหญ่และกองกำลังที่เข็มแข็ง จึงสกัดทัพพวกแมนจุ"ว้ได้อย่างเหนียวแน่น  แต่ขวัญและกำลังใจของกองทหารจีน  ก็เสื่อมทรุดไปในทันทีที่ข่าวกรุงปักกิ่งเสียแก่กองทัพกบฏชาวนาของ "หลี่จื้อเฉิง"  ซึ่งพวกกบฏที่ยึดอำนาจปกครองกรุงปักกิ่งไว้ได้นั้น  ได้จับตัวขุนพลเฒ่า  บิดาของ "อู๋ซันกุ้ย" ไว้เป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้บุตรชายยอมสวามิภักดิ์  เพื่อแลกกับชีวิตของบิดา

นอกจากนี้  ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่า "หลี่จื้อเฉิง" ยังจับตัวสาวสวยมากคนหนึ่งชื่อ "เฉินหยวนหยวน" เอามาเป็นเมียน้อย  ตอนนี้คงต้องเรียกว่า "สนม" เพราะ "หลี่จื้อเฉิง" สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แล้ว

เกร็ดประวัติศาสตร์ระบุว่าสาวงามผู้มีนามว่า "เฉินหยวนหยวน" คนนี้เคยได้รับการคัดเลือกจะนำเข้าถวายตัวเป็น "พระสนม" ของฮ่องเต้ "ฉงเจิน" มาก่อน  แต่ได้พบรักกับนายทหารใหญ่ "อู๋ซันกุ้ย" ก่อนจะเข้าวัง (ทำนองเดียวกับที่ "พระเจ้าราชาธิราช" ในพงศาวดารมอญ พระราชทานนางสนมให้แก่ "สมิงนครอินท์" นายทหารเอก)  "เฉินหยวนหยวน" ไม่ได้ตามไปอยู่กับ "อู๋ซันกุ้ย" ที่ด่านซานไห่กวาน  นางจึงตกเป็นเหยื่อของจอมกบฏ  ซึ่งสร้างความแค้นแก่ "อู๋ซันกุ้ย" เป็นร้อยเท่าทวีคูณ  เรื่องที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อ "หลี่จื้อเฉิง" นั้น  ชาตินี้ไม่มีวัน!

ครั้น "หลี่จื้อเฉิง" เห็นว่า "อู๋ซันกุ้ย" ไม่ยอมจำนน  จึงตัดหัวบิดาของ "อู๋ซันกุ้ย" ขึ้นเสียบประจาน  ยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นแก่ "อู๋ซันกุ้ย" เป็นยิ่งนัก

ผู้นำแมนจูล่วงรู้สถานการณ์ภายในจีนดี  จึงเสนอข้อแลกเปลี่ยนแก่ "อู๋ซันกุ้ย" ว่า  ถ้าเขาเปิดด่านฯ ให้กองทัพแมนจูเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้  พวกแมนจูจะตอบแทนโดยแต่งตั้งให้ "อู๋ซันกุ้ย" เป็นองค์ชาย หรือ "หวาง" (หรืออ๋องในภาษาแต้จิ๋ว) และให้ทายาทสามารถสืบฐานันดรศักดิ์เป็นองค์ชายได้ตลอดไป

"อู๋ซันกุ้ย" ตัดสินใจโดยให้น้ำหนักอยู่ที่ "ผลประโยชน์ส่วนตัว" อยู่เหนือกว่าประเทศชาติ  จึงยอมเปิดด่าน "ซานไห่กวาน" ให้พวกแมนจูกรีฑาเข้าตีและยึด "กรุงปักกิ่ง" ได้อย่างง่ายดาย  "หลี่จื้อเฉิง" หนีไป และถูกฆ่าตาย  พวกแมนจูเข้ายึดครองเมืองหลวง และจีนภาคเหนือไว้หมด  สถาปนาราชวงศ์​ "เช็ง" หรือ "ต้าชิง" Shing และยกให้ข่านผู้นำของตนขึ้นเป็น "พระจักรพรรดิแห่งอาณาจักรจีน"  มีกรุงปักกิ่งเป็นนครหลวงของอาณาจักร  ส่วนนครเสิ่นหยาง  เป็นนครหลวงของเผ่าแมนจู

"อู๋ซันกุ้ย" ได้รับบำเหน็จเป็น "หวาง" หรือ "อ๋อง" คือ องค์ชาย ตามที่แมนจูรับปากไว้กับคนขายชาติ  ซึ่งได้บำเหน็จแถม  แต่ที่คงจะยินดีปรีดามากคือ "แม่นางเฉินหยวนหยวน" ซึ่งพวกแมนจูรู้ใจ  จึงไปชิงคืนมาให้แก่ "อู๋ซันกุ้ย"

ด่าน "ซานไห่กวาน" เป็นจุดที่เกิดเหตุสำคัญยิ่งต่อการพลิกประวัติศาสตร์จีน  แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.​ ๒๑๘๗  เกือบ ๔๐๐ ปีมาแล้วก็ตาม  คนจีนก็ยังชิงชังรังเกียจพฤติกรรมของคนขายชาติผู้นี้ตลอดมา  นอกจากเปิดด่าน "ซานไห่กวาน" แล้ว   "อู๋ซันกุ้ย" ก็เป็นแม่ทัพคนหนึ่งในการตามกวาดล้างพวกชาวฮั่น หรือคนจีนด้วยกันเอง  "อู๋ซันกุ้ย" ยกกำลังไล่ล่าหัวพวกคนจีนอย่างจริงจัง  จึงได้รับความไว้วางใจจากแมนจูให้มีกองทัพเป็นของตนเอง  มีตราเครื่องหมายสัญลักษณ์เป็นการเฉพาะกองทัพนี้  ความดี  ความชอบสุดท้ายที่ "องค์ชายอู๋ฯ" ทำไว้แก่แมนจูคือ  การเผด็จศึกเจ้าชาย "กุ้ยหวาง" พระราชนัดดาของ "ฉงเจินฮ่องเต้" กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เหม็ง หรือหมิง

บรรดาเชื้อพระวงศ์ และขุนนางเก่าในสมัยราชวงศ์เหม็ง(หมิง) ที่แตกจากกรุงปักกิ่ง ได้ถอยร่นลงภาคใต้  จนมาตั้งหลักอยู่ในพื้นที่มณฑลกวางตุ้ง  กวางสี และยูนนาน  แล้วยกให้ "กุ้ยหวาง" เป็นฮ่องเต้  ทรงพระนามว่า "หย่งลี่"  แต่อยู่ได้ไม่นาน  กองทหารแมนจู และทหารจีนของ "อู๋ซันกุ้ย" ก็มาไล่ล่า  กองทหารของ "หย่งลี่" ถูกตีแตกพ่ายกระจัดกระจาย  "หย่งลี่" และทายาทกับองครักษ์ส่วนหนึ่ง  หนีไปทางแคว้นยูนนานและเลยเข้าไปในเขตแดนพม่า  "อู๋ซันกุ้ย" ส่งคนไปหลอกล่อ "หย่งลี่" และพวกให้กลับเข้ามาในแดนจีน แล้วฆ่าเชื้อสายเจ้านายเก่าของตนไปหมดสิ้น

ราชวงศ์แมนจูได้ปูนบำเหน็จให้  "อู๋ซันกุ้ย" เป็นเสมือนอุปราชปกครองแคว้นยูนนาน  เป็นแคว้นอิสระ  "อู๋ซันกุ้ย" ทำตัวเสมือนฮ่องเต้  ให้ใช้โลหะหล่อสร้างเป็นเตียงนอน  เรียกว่า "ตำหนักทอง"  มีเมียสาวๆ แวดล้อมอีกหลายคน  จึงมีเกร็ดเล่าว่าในที่สุด "เฉินหยวนหยวน" สาวงามที่ "อู๋ซันกุ้ย" หลงใหลถึงกับยอมทรยศต่อประเทศชาติ  เพื่อแลกกับการได้นางมานั้น  แต่เมื่อมาถึงวันนี้  เธอกลับไม่มีความหมายสำหรับเขาแล้ว  "เฉินหยวนหยวน" จึงตรอมใจตาย

ฝ่าย "องค์ชายอู๋ฯ" เพลินกับอำนาจวาสนาหลายปีทีเดียว  ระยะแรกๆ พวกแมนจูยังต้องอาศัยให้เขา "ไล่ล่า" พวกราชวงศ์เก่า  "อู๋ซันกุ้ย" อยากได้อะไร  พวกแมนจูก็ให้ได้ตามใจ  ครั้นพวกแมนจูตั้งราชวงศ์ "ต้าชิง" หรือ "ไต้เช็ง" ได้มั่นคง  ปกครองจีนภาคต่างๆ ได้ราบคาบแล้ว  "อู๋ซันกุ้ย" ก็ไร้ประโยชน์สำหรับแมนจู  เปรียบเสมือน "นั่งร้าน"  เมื่อสร้างตึกเสร็จแล้ว  จะเก็บเอา "นั่งร้าน" ไว้ให้บดบังตึกอันงามสง่าได้อย่างไร

กองทัพแมนจูจึงยกมาปราบยูนนาน  "อู๋ซันกุ้ย"  และน้องชายซึ่งเป็นเจ้าแคว้นกวางสีต่อสู้เป็นสามารถ  แต่เวลานั้นเขาอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว  ไม่นานก็พ่ายแพ้  น้องชายตายในที่รบ  "อู๋ซันกุ้ย" โชคดีแค่ป่วยตาย เมื่ออายุ ๖๖ ปี

โศกนาฏกรรมสะท้ายประวัติศาสตร์จีนจนสิ้นเอกราชครั้งนี้  เริ่มต้นที่  "ด่านซานไห่กวาน"  และจบลงที่ "นครคุนหมิง" แห่งมณฑลยูนนาน  ถ้าท่านไปเที่ยวนครคุนหมิงเมื่อไหร่  บริษัทท่องเที่ยวก็จะต้องจัดรายการไปชม "วิหารทอง" "ตำหนักทอง" ของ "อู๋ซันกุ้ย"  ไปที่นั่นก่อน หรือไปแห่งเดียวที่นั่น  ได้ยินไกด์พูดถึง "ด่านซานไห่กวาน" ก็คงนึกไม่ออกว่าด่านนี้อยู่ที่ไหนอย่างไร
✦✦✦✦✦✦✦✦

เมื่อมาถึงกรุงปักกิ่งแล้ว  ถ้ามีเวลาสัก ๒ วัน  และที่เที่ยวอื่นๆ ก็ไปมาหมดแล้วละก็  ขอให้บริษัทท่องเที่ยวจัดให้ไปชม "ด่านซานไห่กวาน" สักครั้งนะครับ  ที่ต้องใช้เวลา ๒ วัน  แม้ว่าด่านนี้จะอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งสัก ๒๐๐ กว่ากิโลเมตรนั้น  ก็เพราะต้องใช้เส้นทางรถไฟไป - กลับวันละเที่ยว  ต้องไปค้างคืนที่ "ด่านซานไห่กวาน"  ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนได้พัฒนาที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  มีโรงแรมที่พักอาศัยไม่แย่กว่าโรงแรมที่มองโกลเลีย หรอกครับ

สาระสำคัญของการท่องเที่ยวนั้นคือ "จะไปเที่ยวที่ไหน? และจะไปดูอะไร?" Where to go and what to see?  ถ้าท่านอยากจะไปเที่ยวที่ไหน และมีข้อมูลเบื้องต้นว่าที่ซึ่งจะไปนั้น  มีอะไรให้ท่านดูท่านชมบ้างละก็  ท่านจะสามารถจัดรายการท่องเที่ยว หรือซื้อรายการท่องเที่ยวได้อย่างดีมีคุณค่าตรงตามความต้องการของท่านได้มากที่สุด

ประเทศจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล  ใหญ่ประมาณ ๒๒ เท่าของประเทศไทย  มีจำนวนประชากรรวม ๒๐ เท่าของไทย  การที่จะไปท่องเที่ยวจีนให้ทั่วประเทศครบ ๓๑ มณฑลนั้น  ต้องใช้เวลาหลายเดือน และใช้เงินคนละหลายแสนบาท  ซึ่งคนที่จะมีคุณสมบัติครบ  ทั้งมีเวลาว่างมากๆ และมีเงินมากๆ ด้วยนั้น  ย่อมหาได้ยากยิ่งนัก  จึงมีแต่รายการท่องเที่ยวระยะสั้น ๔ - ๕ วัน  ในราคาค่าบริการ ๒ - ๓ หมื่นบาท  ซึ่งกลุ่มคนลูกค้าลักษณะนี้คือ  ทั้งมีเบี้ยน้อยหอยน้อย และไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะวันทำงานปกติก็จะทำงานกันหัวซุกหัวซุน  พอมีวันหยุดพิเศษติดหรือคาบๆ กันอยู่ ๓ - ๔ วัน  ก็เหมือนสวรรค์  โปรดรีบทุบกระปุกควักกระเป๋าไป "ซื้อทัวร์" ออกท่องเที่ยวเป็น "บำเหน็จ" ให้ชีวิตที่ต้องเคี่ยวกรำทำงานมาอย่างหนัก

บริษัทท่องเที่ยวทั้งหลาย  โดยเฉพาะที่เสนอขายรายการไปเมืองจีน  ก็จับจุดตรงนี้เสนอรายการท่องเที่ยวจีนในช่วงเวลา ๔ - ๗ วัน  ในอัตราค่าบริการประมาณตั้งแต่ ๑ หมื่นบาทเศษขึ้นไปถึงไม่เกิน ๓ หมื่นบาท  รายการที่เห็นเสนออยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มักวนเวียนอยู่แถว  นครคุนหมิง  ซึ่งใกล้ และจัดได้ถูกที่สุดคล้ายจัดเที่ยวมาเลเซีย  แต่ไปเพียงแค่เมืองปีนัง  ก็ย่อมใกล้และถูกกว่าจัดไปกรุงกัวลาลัมเปอร์แน่นอน

นอกจากนี้  รายการที่นิยมเที่ยวกันมากคือ  กรุงปักกิ่ง  นครเซี่ยงไฮ้  นครซีอาน  นครกว่างโจว  และเมืองซัวเถา ซึ่ง ๒ เมืองหลังนี้  มีรายการเยี่ยมญาติด้วย

เมื่อท่านไปเที่ยวตามรายการที่บริษัทท่องเที่ยวจัดเสนอให้ทุกรายการแล้ว  หากจะไปซ้ำที่เดิมอีกก็จะเบื่อ  หากเมื่อท่านมีความรู้เรื่องเมืองจีน  และเมืองต่างๆ ในจีนแล้ว  ท่านก็สามารถจัดรายการท่องเที่ยวขึ้นมาสำหรับพาญาติสนิทมิตรสหายไปท่องเที่ยวเมืองจีนได้ตรงตามความต้องการของท่าน  ทั้งนี้  โดยติดต่อไปยังบริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งให้เสนอราคาค่าบริการและรายละเอียดในการบริการให้ท่านพิจารณาคัดเลือก

โดยวิธีนี้ท่านจะได้ท่องเที่ยวเมืองจีนอย่างได้ประโยชน์สูงสุด  โดยราคาประหยัดสุดๆ

ผู้เขียนเคยจัดรายการท่องเที่ยวจีนเอง  ตัวอย่างเช่น  เที่ยว ๓ มณฑล ๔ คืน ๕ วัน  คือ  นครคุนหมิง  เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน  นครซีอาน  เมืองหลวงของมณฑลส่านซี  และนครเฉิงตู  เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน  บิน ๖ ไฟลท์  ค่าบริการเบ็ดเสร็จ ๑๙,๕๐๐ บาท

ตัวอย่างเช่น  เที่ยวปักกิ่ง  เหอหนาน  ศาลไคฟง  เมืองลั่วหยาง  หางโจว และนานกิง รวม ๗ คืน ๘ วัน ค่าบริการเบ็ดเสร็จคนละเพียง ๒๒,๕๐๐ บาท

และตัวอย่าง เช่น  เที่ยวกว่างโจว  กุ้ยหลิน  ฉงฉิ้ง (คือจุงกิง) ล่องเรือใหญ่ในลำน้ำแยงซีเกียง ไปเมืองอี้ชาง ต่อไปเที่ยวอู่ฮั่น นานกิง และเซี่ยงไฮ้ รวม ๗ คืน ๘ วัน  ค่าบริการเบ็ดเสร็จเพียง ๒๗,๕๐๐ บาท

ภาคผนวก


  1. มลฑลเหอเป่ย Hebei (แต้จิ๋วเรียก ห่อปัก)  เมืองหลวง  สือเจียจวง Shijiazhuan 
  2. มลฑลซานซี Shanxi (แต้จิ๋วเรียก ซัวไซ)   เมืองหลวง  ไท่หยวน Taiyuan
  3. มลฑลเหลียวหนิง Liaoning (แต้จิ๋วเรียก เหลี่ยวเน้ง)  เมืองหลวง  เสิ่นหยาง Shenyang
  4. มลฑลจี้หลิน Jilin (แต้จิ๋วเรียก เก็ก-ลิ้ม)  เมืองหลวง ฉางชุน Changchun
  5. มลฑลเฮยหลงเจียง Heilongjiang (แต้จิ๋วเรียก เฮ็กเล่งเจียง)  เมืองหลวง ฮาร์บิน Harbin
  6. มลฑลส่านซี Shaanxi (แต้จิ๋วเรียก เสียมไซ)  เมืองหลวง  ซีอาน Xi'an
  7. มลฑลกานสู Gan-su (แต้จิ๋วเรียก กำชก)  เมืองหลวง  หลานโจว Lanzhou
  8. มลฑลชิงไห่ Qinghai (แต้จิ๋วเรียก แซไฮ้)  เมืองหลวง  ซีหนิง Xining
  9. มลฑลซานตง Shandong (แต้จิ๋วเรียก ซัวตัง)  เมืองหลวง  จี้หนิง  Jinning
  10. มลฑลเจียวซู  (แต้จิ๋วเรียก กังโซว)  เมืองหลวง  หนานจิง (นานกิง) Nanjin
  11. มลฑลเจ๋อเจียง Zhejiang (แต้จิ๋วเรียก จิ-กัง)  เมืองหลวง  หังโจว Hangzhou
  12. มลฑลอานฮุย Anhui  (แต้จิ๋วเรียก อังฮุย)  เมืองหลวง  เหอเฝย Hefei
  13. มลฑลเจียงซี Jiangxi  (แต้จิ๋วเรียก กังไซ)  เมืองหลวง หนานซาง Nanchang
  14. มลฑลฟุเจี้ยน Fujian (แต้จิ๋วเรียก ฮกเกี่ยง)  เมืองหลวง ฟุโจว Fuzhou
  15. มลฑลไถวัน (ไต้หวัน) Taiwan  (แต้จิ๋วเรียก ไท่อวง)  เมืองหลวง ไถเปย (ไทเป) Taipei
  16. มลฑลซื่อชวน (เสฉวน) Sichuan  (แต้จิ๋วเรียก สี่ชวง)  เมืองหลวง  เฉิงตู Chengdu
  17. มลฑลกุ้ยโจว  Guizhou  (แต้จิ๋วเรียก กุ่ยจิว)  เมืองหลวง  กุ้ยหยาง Guiyang
  18. มลฑลหยุนหนาน Yunnan (แต้จิ๋วเรียก ฮุ่งน้ำ)  เมืองหลวง  คุนหมิง  Kunming
  19. มลฑลเหอหนาน Henan  (แต้จิ๋วเรียก ฮ้อน้ำ)  เมืองหลวง  เจิ้งโจว Zhengchou
  20. มลฑลหูเป่ย Hubei  (แต้จิ๋วเรียก  โอ่วปัก)  เมืองหลวง  อู่ฮั่น  Wuhan
  21. มลฑลหูหนาน Hunan (แต้จิ๋วเรียก โอ่วน้ำ)  เมืองหลวง ฉางซา Changsha
  22. มลฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) Guangdong  (แต้จิ๋วเรียก กึ๋งตัง)  เมืองหลวง กว่างโจว Guangzhou
  23. มลฑลไห่หนาน (ไหหลำ) Hainan (แต้จิ๋วเรียก ไหน้ำ)  เมืองหลวง  ไห่โคว Haikou
๕ เขตแคว้นปกครองตนเอง  ได้แก่

  1. เขตแคว้นปกครองตนเองซินเจียง อุยฆูร์ Xinjiang Uygur Zizhiqu (แต้จิ๋วเรียก เซงเกียงยุ่ยอู่เย่อ)  เมืองหลวง  อูรุมฉี
  2. เขตแคว้นปกครองตนเองซีจั้ง (ธิเบต) Xizang Zizhiqu Lhasa (Teibet Aut. Reg.) (แต้จิ๋วเรียก ไซจั๋ง)   เมืองหลวง ลาซา
  3. เขตแคว้นปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย Ningzia Huizu Zizhiqu (แต้จิ๋วเรียก เหน่งเฮ่ฮ่วยจ๊ก) เมืองหลวง อิ๋นซวน Yinchuan
  4. เขตแคว้นปกครองตนเองมองโกเลียใน Nei Mong Gol Zizhiqu (Inner Mongolia Aut. Reg.) (แต้จิ๋วเรียก  หลั่ยหม่งโก้ว)  เมืองหลวง ฮูฮอท
  5. เขตแคว้นปกครองตนเองกว่างซีจ้วง(กวางสี) Guanzi Zhuangzu Zizhiqu (แต้จิ๋วเรียก กึ๋งไซจั่งจ๊ก  เมืองหลวง หนานหนิง Nanning
๓ มหานคร  ได้แก่

  1. เป่ยจิง (ปักกิ่ง) Beijing  (แต้จิ๋วเรียก ปักเกีย) 
  2. ซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) Shanghai  (แต้จิ๋วเรียก เซี่ยง-ไฮ้)
  3. เทียนจิง (เทียนสิน) Tianjin  (แต้จิ๋วเรียก เทียงเจง)