Monday, November 6, 2017

        ชาวจีนเรียกชื่อประเทศของตนว่า จงกวั๋ว (สำเนียงแต้จิ๋วเรียก ตงกก)  แปลว่าภาคกลาง หรือประเทศกลาง  เพราะสมัยโบราณชนชาติจีนมีถิ่นฐานอยู่ระหว่างลุ่มแม่น้ำฮวงโห (หรือสำเนียงจีนกลางปัจจุบันคือ หวงเหอ)  ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทางด้านเหนือกับลุ่มแม่น้ำที่ชาวไทยรู้จักดีในนามแยงซีเกียง (ยังมีชื่อเรียกอีก ๒ ชื่อว่าแม่น้ำฉางเจียง หรือแม่น้ำหยังจื้อ) ซึ่งเป็นแม่น้ำทางด้านใต้

     
ดินแดนที่อยู่ด้านนอกกำแพงเมืองจีนไปทางทิศเหนือเป็นถิ่นฐานของชนต่างชาติหลายเผ่าชน เช่น มองโกล แมนจู กิมหรือจีน (เกาหลี) รวมเรียกว่าพวกปักฮวน แปลว่าพวกอนารยชนทางเหนือ  ดินแดนด้านทิศตะวันตกไกลออกไปเป็นเทีอกเขาสูงและป่าดงมากมาย  มีชนกลุ่มน้อยหลายเผ่า  ที่รู้จักกันดีคือธิเบต มีชื่อเรียกเฉพาะว่าซีจั้ง  เรียกรวมทุกเผ่าทางทิศตะวันตกนี้ว่าพวกไซฮวน  แปลว่าพวกอนารยชนทางตะวันตก  ดินแดนด้านทิศใต้ไกลลงมาจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงเมื่อเข้าสู่ยุคสามก๊ก  ก็ไม่ใช่ดินแดนประเทศจีนแล้ว  ดังจะเห็นได้จากการที่ขงเบ้งซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีของเล่าปี่ที่ตั้งหลักมั่นอยู่ในแคว้นเสฉวนยังยกทัพลงไปรบกับพวกหน่ำฮวน (อนารยชนทางใต้) ซึ่งมีเบ้งเฮกและลุดตัดกุดเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง

        ถ้าดูแผนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน จะเห็นว่ามณฑลเสฉวนมิได้เป็นชายแดนประเทศจีน  เพราะมีมณฑลกวางสีจ้วง  มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลยูนนานอยู่ถัดลงไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้  แต่ในยุคสามก๊กนั้นอาณาเขตประเทศจีนสุดแดนเพียงแคว้นเสฉวนเท่านั้น  พ้นไปเป็นรัฐอิสระของชนกลุ่มน้อย

        คำว่า "จงกวั๋ว" จึงมีความหมาย ๒ นัย  นัยหนึ่ง ... ในยุคโบราณหมายถึงดินแดนของชนชาติจีนล้วนๆ พวกฮวนไม่เกี่ยว  แต่อีกนัยหนึ่ง ... ในปัจจุบันหมายถึงประเทศจีนทั้งหมดรวมทุกมณฑล  ไม่ยกเว้นแม้แต่มองโกเลียใน หรือดินแดนแมนจูเดิม  เช่น  เหยหลงเจียง หรือกว่างสีจ้วง  ถ้าเราถามพลเมืองจีนว่าเขาเป็นคนประเทศอะไร  เขาก็จะตอบว่าเป็นจงกวั๋วเหริน (คนประเทศจีน) แต่ถ้าถามว่าเขามีเชื้อชาติของเผ่าชนใด  บรรดาจงกวั๋วเหริน หรือตงกกนั้ง จะตอบไม่เหมือนกัน  บางคนอาจจะตอบว่าเขาเป็นชนชาติมองโกล (ม่ง-กู่เหริน) บ้าง  บางคนอาจจะเป็นชนชาติแมนจู (หม่าน-ต้าเหริน) บ้าง แม้ว่าส่วนใหญ่ของชาวเมืองจีนจะต้องตอบว่า "ฉันเป็นคนชนชาติฮั่น (ฮั่นเหริน) ก็ตาม

        คนจีนส่วนใหญ่ที่มิใช่ชนกลุ่มน้อยจะเรียกตนเองว่าเป็นชาวฮั่น  คำว่า "ฮั่น" นี้คือนามของราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่  ในยุคโบราณกว่า ๑,๗๐๐ ปี  ย้อนหลังไปนั้น  องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่นเป็นขุนศึกนาม เล่าปัง  ซึ่งรบแพ้ ฉ้อปาอ๋องผู้ยิ่งยงถึง ๗ ครั้ง  แต่พอชนะครั้งเดียวก็เด็ดขาด  สามารถตั้งตนเป็นจักรพรรดิฮั่นเกาจู่  หรือที่ออกพระนามในเรื่องสามก๊กว่าพระเจ้าฮั่นโกโจนั่นเอง

        จักรพรรดิฮั่นโกโจ หรือฮั่นเกาจูเป็นมหาราชชาตินักรบ  แผ่อานุภาพจากกรุงซีอานขึ้นไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ  ครอบครองแคว้นซินเกียง  ผ่านช่องเขากานซูขึ้นไป  ผ่านทะเลทรายโกบีไปจรดอาณาจักรเปอร์เซียและเขตอิทธิพลของมหาอาณาจักรโรมันที่มีศูนย์กลางในทวีปยุโรปอยู่ที่กรุงโรม และแผ่อำนาจมาปกครองทั้งทวีปแอฟริกาเหนือและทวีปเอเซีย (ปัจจุบันเรียกว่าตะวันออกกลาง)

        โรมันเป็นมหาอำนาจ ๓ ทวีป  ในขณะที่จีนเป็นมหาอำนาจของทวีปเอเซีย  ต่างก็สงวนอำนาจอยู่ในเขตอิทธิพลของตน  ไม่เข้าปะทะกันเป็นสงคราม  กลับทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน  ผลผลิตของจีนที่ขึ้นชื่อลือชาได้แก่  ผ้าแพร  ผ้าไหม  อันเป็นที่ต้องการของชาวยุโรป  ส่วนจีนต้องการสินค้าที่ตนผลิตเองไม่ได้  เส้นทางการค้าระหว่างกรุงโรมและกรุงซีอานเมืองหลวงของจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นนี้เอง  ที่ชาวโลกรู้จักในนามเส้นทางสายไหม (Silk Route) ซึ่งในยุคที่โรมันและจีนเรืองอำนาจนั้น...เส้นทางสายไหมใช้ทางบกจากกรุงโรมตรงมายังกรุงซีอาน  ไม่มีประเทศใดหรือแคว้นไหนกล้าขัดขวางการลำเลียงสินค้าของเส้นทางสายไหม  เพราะมี ๒ มหาอำนาจของโลกยุคนั้นคุ้มกันอยู่
Cr. from Facebook (The Silk Road)

        ความยิ่งใหญ่ของจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นครั้งนั้นเอง  ที่กลายเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวจีนมาตราบทุกวันนี้  โดยยังเรียกตนเองว่าชาว (แผ่นดิน) ฮั่น  ทั้งๆ ที่ราชวงศ์ฮั่นได้ล่วงผ่านมาเกือบ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว   เว้นแต่ชาวจีนบางส่วนในภาคใต้ของจีน  โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยนในมณฑลฮกเกี้ยน (สำเนียงจีนกลางคือผู่เจี้ยน) และชาวจีนแต้จิ๋วในมณฑลกวางตุ้ง  ไม่เรียกตนเองเป็นชาวฮั่น แต่กลับเรียกตนเองเป็นชาว(ราชวงศ์)ถัง  ตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วเรียกว่าตึ่งนั้ง  และเรียกชื่อประเทศจีนว่าแผ่นดินถัง หรือประเทศถัง  ซึ่งก็คือคำว่า "ตึ่งซัว" ตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วนั่นเอง

        น่าประหลาดที่คนจีนไม่ว่าจะอยู่มณฑลไหน  เผ่าชนชาติใดก็ไม่มีใครเรียกตนเองว่าชาวจีน หรือประเทศจีน  ไม่มีแม้แต่คำศัพท์ที่ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่าจีนอย่างที่คนไทยใช้เรียกชื่อประเทศจีน หรือคนจีน  แล้วเราได้ศัพท์คำว่า "จีน" มาจากไหน  นี่เป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบที่ชัดเจนแจ่มแจ้งไม่ได้  ในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานพิมพ์ครั้งที่ ๑  พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓  หน้า ๕๒๑๗ กล่าวว่า  "...นักปราชญ์ชาวตะวันตกมีความเห็นเรื่องที่มาของคำว่าจีนต่างๆ กัน  ว่ามาจากคำว่า "จีนะ" ในภาษาสันสกฤต  เพราะมีชื่อนี้ปรากฏในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เก่าของคัมภีร์ไบเบิ้ลก็มี  แต่ก็ปรากฏเพียงเป็นชื่อเท่านั้นไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างอื่นมาประกอบสนับสนุนว่าเป็นชื่อชนชาติใด  ทั้งอายุสมัยที่กล่าวไว้ก็เก่าแก่ห่างไกลกันมากเมื่อเทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์  เรื่องจึงยุติเพียงตราเอาไว้เท่านั้น...

        ...แต่ที่เข้าใจกันส่วนมากว่าจีนอาจได้มาจากชื่อราชวงศ์จิ้น (Tsin) ซึ่งมีพระเจ้าจิ้นซีฮ่องเต้ (เขียนตามหนังสือไซ่ฮั่น) เป็นปฐมกษัตริย์...  ส่วนคำ Cathay เป็นชื่อที่ชาวยุโรปตะวันออกมีรัสเซียเป็นต้น  ใช้เรียกประเทศจีน  คำนี้เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ซีไต๋ (Khitai)  อันเป็นชื่อชาวตาดเผ่าหนึ่ง..."  ชาวยุโรปเรียกชาวจีนว่า Sin Chin และ Seres ในภาษาอังกฤษเรียกชื่อประเทศจีนว่า China  และเรียกชาวจีนว่า Chinese  เป็นที่เข้าใจกันว่า ๒ คำนี้มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาจีนที่เรียกชื่อราชวงศ์จิ๋น หรือ ฉิน (Chin) ซึ่งอักขรวิธีที่จีนปัจจุบันใชัอักษรอารบิกสะกดคำนี้เขียนเป็น Qin ออกเสียงว่าฉิน ตามสำเนียงภาษาจีนกลางที่เรียกชื่อราชวงศ์ฉิน (เสียงแต้จิ๋ว คือ จิ๋น)

   
  ชาวไทยเรียกชื่อประเทศจีน และชาวจีนตามอย่างฝรั่งกระนั้นหรือ  ไม่น่าเชื่อ  เพราะคนไทยรู้จักคบหาสมาคมกับคนจีนและประเทศจีนมานานหลายพันปี   ตั้งแต่อาณาจักรไทยอยู่ชิดติดแดนจีน  แม้เมื่อเราลงมาตั้งอาณาจักรสุโขทัยก็มีคำกล่าวสืบมาว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ช่วงปี พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๖๐)  เคยเสด็จไปเมืองจีน ๒ ครั้ง  และทรงนำช่างจีน (หรือไม่ก็โปรดเกล้าฯ ให้ช่างไทยเรียนจากจีน)  มาสร้างเตาทุเรียงสำหรับผลิตเครื่องถ้วยชาม  มีลายเคลือบสวยงาม  ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าถ้วยชามสังคโลก หรือเครื่องลายครามสังคโลก

        ตามที่มีจารึกไว้ในพงศาวดารชาติไทยนั้น...ฝรั่งชาติแรกที่ไทยเรารู้จักคบหาจนถึงจารึกชื่อไว้ คือ ชาวโปรตุเกส  โดยกัปตัน อดวด เฮอร์นันเดช ปินโต  เดินเรือมาพร้อมทหาร ๑๓๖ คนเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา  ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ทรงเป็นพระบรมเชษฐาธิราชของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)  ช่วงเวลานั้นเป็นครั้งแรกที่พม่ารุกรานไทย  โดยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์ชาติพม่ายกกองทัพลงมายึดอาณาจักรมอญ และย้ายเมืองหลวงของประเทศจากกรุงอังวะลงมาใช้กรุงหงสาวดี (พะโค)  ของมอญเป็นเมืองหลวงแทน  เท่านั้นไม่พอ... กองทัพพม่ายังเข้ายึดครองเมืองเชียงกราน ในอ่าวเมาะตะมะที่เป็นเมืองขึ้นของไทย และมีทรัพยากรน้ำมันดินซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก

        สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นนักรบ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพเพื่อจะยกไปตีเอาเมืองเชียงกรานคืน  กัปตันปินโตได้นำกองทหารโปรตุเกสทั้งหมดเข้าเฝ้าฯ  อาสาทำศึกโดยร่วมไปในกองทัพไทย  เราสามารถชิงเมืองเชียงกรานคืนกลับมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาได้อีกวาระหนึ่ง  ซึ่งเชื่อกันว่าส่วนหนึ่งมาจากอิทธิฤทธิ์ของปืนไฟ หรืออาวุธปืนคาบศิลาที่ทหารโปรตุเกสใช้ยิงต่อสู้  ในขณะนั้นทั้งพม่าและไทยยังไม่มีอาวุธทันสมัยอย่างปืนไฟใช้  (คำว่า "ปืน" ในภาษาโบราณหมายถึง ธนู หรือ ศร หรือเกาทัณฑ์ นั่นเอง  คำศัพท์ที่เรียกว่าพระนารายณ์ทรงปืน หรือชื่อพรานป่าในบทพระราชนิพนธ์ละครเรื่องพระร่วง ที่มีชื่อว่านายมั่นปืนยาวนั้น  อาวุธที่ทรง หรืออาวุธที่ถือคือ ธนู หรือศร นั่นเอง  ครั้นไทยมีอาวุธแบบยุโรปมาใช้ยิงเหมือนปืนดั้งเดิมของเรา  แต่เวลายิงจะมีไฟแลบออกมาทางปากกระบอกด้วย  เราจึงเรียกว่าปืนไฟ (เอาไว้ก่อน) ภายหลังจึงเรียกเพียงปืน แต่แยกประเภทตามลักษณะไป  เช่น  ปืนพก  ปืนสั้น  ปืนยาว  ปืนกล  ปืนเล็ก  ปืนใหญ่  ปืนครก เป็นต้น)

        คนไทยรู้จักฝรั่งภายหลังเรารู้จักจีนเป็นพันๆ ปี  เชื่อได้ว่าศัพท์ชื่อจีนที่เราใช้เรียกชื่อประเทศ และชื่อคนของประเทศจีนนั้น  เราไม่ได้รับจากฝรั่งแน่นอน  ดังเหตุผลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อ้างถึงแล้ว   ผู้เขียนก็ไม่เชื่อด้วยว่าคำว่าจีนนี้  ไทยจะได้มาจากภาษาสันสกฤต  ทั้งนี้เพราะไทยรู้จักคำว่า คนจีนและเมืองจีนมาก่อนที่เราจะรู้จักภาษาสันสกฤตที่ติดมากับพราหมณ์ และลัทธิศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีอิทธิพลในยุคกรุงศรีอยุธยา  แต่ยุคก่อนหน้านั้นตั้งแต่กรุงสุโขทัยย้อนหลังขึ้นไปถึงยุคอาณาจักรเชียงแสนและเหนือขึ้นไปอีกจนชิดแดนจีน  เช่น แคว้นสิบสองปันนา ไม่มีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ และภาษาสันสกฤตอยู่เลย  มีแต่ศาสนาพุทธและภาษาบาลี

        ผู้เขียนค่อนข้างเชื่อว่าคำเรียกชื่อเมืองจีน และคนจีนที่คนไทยใช้เรียกนี้ได้รับโดยตรงจากชื่อราชวงศ์จิ๋น หรือฉิน (ในเสียงจีนกลาง)  ทั้งนี้โดยมีข้อสันนิษฐานหรือเหตุผลประกอบตามเรื่องราวในตำนานพงศาวดารจีน และชาติใกล้เคียงดังนี้  คือเมื่อครั้งที่มหาจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (หรือ          ฉินสื่อหวางในเสียงจีนกลาง) ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จิ๋น หรือฉินขึ้น และครองราชย์เป็นองค์ปฐมจักรพรรดิของประเทศจีนนั้น ... พระองค์ทรงรบทัพจับศึกปราบแคว้น หรือก๊กอื่นๆ ราบคาบจนสิ้นยุคเลียดก๊ก หรือยุคจ้านกวั๋ว  จากนั้นจักรพรรดิหนุ่มทรงใช้อำนาจเด็ดขาด  สั่งให้เกณฑ์แรงงานผู้คนนับล้านคนไปก่อสร้างเชื่อมกำแพงใหญ่ที่แคว้นต่างๆ  ได้สร้างไว้ป้องกันการรุกรานของพวกปักฮวน หรือพวกอนารยชน (นอกกำแพง) ทางด้านทิศเหนือ จนทำให้มหากำแพงยักษ์ได้เชื่อมติดต่อกันเป็นพืดยาวจากด้านตะวันตกยาวไปสุดแผ่นดินจีนทางด้านตะวันออกที่ด่านซานไห่กวาน  นับเป็นระยะทางประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลเมตร หรือ ๑๐,๐๐๐ ลี้  กำแพงเมืองจีน  กำแพงเมืองจีนนี้จึงมีชื่อเรียกในภาษาจีนกลางว่า "ว่านหลี่-ฉางเฉิง" (กำแพงหมื่นลี้)

        ผู้คนที่ถูกเกณฑ์แรงงานไปสร้างเชื่อมกำแพงยักษ์ครั้งนั้น  ต้องตรากตรำงานหนักจนล้มตายไปนับล้านคน  ญาติสนิทมิตรสหายของผู้ตาย รวมทั้งศัตรูคู่ศึกในแคว้นอื่นๆ ที่พ่ายแพ้แต่ก็ยังปองร้ายอยู่  ทำให้จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์มากครั้งที่สุดพระองค์หนึ่ง  นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์หนุ่มที่ทรงก่อตั้งประเทศจีนจากฐานเดิม คือ แคว้นฉินหรือจิ๋น  โดยการสถาปนาราชวงศ์ฉิน หรือจิ๋นขึ้นจากเจ้าผู้ครองแคว้นเล็กๆ  ขึ้นเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ปกครองทั้งประเทศทุกแคว้น

        พงศาวดารจีนกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีว่าภาษาและตัวอักษรของชาติทั้งสองคล้ายคลึงกัน  ทั้งนี้เป็นเพราะในสมัยจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้  ได้ทรงส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรพร้อมกองทหารไปเสาะค้นหายาอายุวัฒนะในดินแดนประเทศเหล่านั้น  เพื่อพระองค์จะได้มีพระชนม์ยืนยาวมากที่สุด  ครั้นสิ้นราชวงศ์จิ๋นหรือฉินในไม่กี่ปีต่อมา  ผู้คนเหล่านั้นจึงตั้งรกรากอยู่ในดินแดนโพ้นทะเล และเผยแพร่อารยธรรมแก่ชาวเกาะญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลีซึ่งขณะนั้นยังด้อยอารยธรรมกว่าจีนมาก  ครั้งนั้นกล่าวกันว่าพระองค์ทรงส่งคณะแสวงหายาวิเศษนั้นไปยังทั่วทุกสารทิศ

        จึงน่าเชื่อว่าจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้จะทรงส่งคณะออกค้นหายาอายุวัฒนะลงมายังทิศใต้และตะวันตก  ซึ่งทางทิศใต้มีแคว้นไทยจ้วง  ส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้มีแคว้นสิบสองปันนาซึ่งเป็นต้นเค้าของอาณาจักรเชียงแสน  อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย

ด้วยเหตุนี้...ย่อมเชื่อได้ว่าเรารู้จัก และใช้คำว่า "จีน" ในภาษาไทยเรามาก่อนหน้ายุคกรุงสุโขทัยนานแล้ว  โดยมีที่มาจากชื่อราชวงศ์จิ๋นหรือฉินดังที่กล่าวมาโดยละเอียดแล้ว