Wednesday, August 23, 2017

แนวทาง "การเปิดวงล้อม" เศรษฐกิจไทย และอาเซียน โดยความเป็นผู้นำของจีน

               ผู้เขียนบทความนี้  ขอเรียนยืนยันในเบื้องต้นนี้ว่า  ผู้เขียนจะไม่เสนอให้จีนนำเงินตรามาให้ไทยหรือ "อาเซียน" กู้ยืมเด็ดขาด  ไม่ว่าจะในรูปเงินดอลลาร์  เงินหยวน  วงเงินสินเชื่อ  หรือแม้กระทั่งเงินบริจาคให้เปล่า!   วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินของไทยและ "อาเซียน" โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ครั้งนี้มันร้ายแรง ลึกซึ้งและกว้างใหญ่ ยิ่งกว่าการถูกถล่มด้วย "ระเบิดปรมาณู"  หรือภัยธรรมชาติร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว  หรือภูเขาไฟระเบิด  ซึ่งวินาศภัยดังกล่าวมานั้น  ย่อมมีพื้นที่เสียหายเฉพาะในวงเขตหนึ่ง  แต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินของไทย และ "อาเซียน" ครั้งนี้มันแผ่ความเสียหายไปทั่วประเทศ ครอบคลุมไปทั่ว "อาเซียน" และที่อื่นๆ ด้วย  นักวิชาการไทยหลายคนกล้าระบุว่า ประเทศไทยได้เสียเอกราชให้แก่ ไอ.เอ็ม.เอฟ. (IMF) ไปเแล้ว!

               การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ถูก  "ไอ.เอ็ม.เอฟ."  กำหนดเงื่อนไขให้ไทย (และอินโดนีเซีย) ต้องปฏิบัติเท่านั้น  จะหลีกเลี่ยงบิดพลิ้วไม่ได้ "กลยุทธ" สำคัญของ "ไอ.เอ็ม.เอฟ." ก็คือ บังคับให้ไทยต้องขาย (แต่พยายามใช้ศัพท์ที่ฟังนุ่มหูว่า "ปฏิรูป" หรือ "แปรรูป")  ธนาคาร  สถาบันการเงิน  รัฐวิสาหกิจ  และธุรกิจเอกชน  ส่วนใหญ่ไปให้แก่ "นายทุนข้ามชาติ" ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นนายทุนหรือนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา  สหภาพยุโรป  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน  และพันธมิตรของสหรัฐฯ 

               รัฐบาลไทยกำลังจนกรอบ  ขาดเงินตรา(ต่างประเทศ) และเป็นหนี้สินรุงรังที่จะต้องหาเงินไปใช้หนี้  ดังนั้น  รัฐบาลไทยจึงต้องพยายามตามใจ "ไอ.เอ็ม.เอฟ."  ซึ่งเป็นตัวแทนของ "นายทุนข้ามชาติ"  มาบีบคั้นโดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้กฏหมายและกฏระเบียบต่างๆ  เพื่อให้ "นายทุนข้ามชาติ"  สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา "ถือหุ้นใหญ่" ยึดครองกิจการสำคัญๆ ในทางเศรษฐกิจของไทยไปหมด  ทั้งนี้  โดยทาง "ไอ.เอ็ม.เอฟ." พยายามเกลี้ยกล่อมปลอบใจว่า  ถ้าใคร เชื่อฟัง-ตามใจ "ไอ.เอ็ม.เอฟ." ละก็  "เศรษฐกิจของประเทศนั้น จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว!"  ดังที่ใช้ข้อความนี้ปลอบใจไทยและเกาหลีใต้  พร้อมกับข่มขู่อินโดนีเซียด้วย

                ผู้สุจริตที่เคยลงทุนถือหุ้นอยู่เดิมของธนาคาร  สถาบันการเงิน  ธุรกิจเอกชน ที่ "ถูกยึดครองกิจการไป  ตลอดจนพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูก "แปรรูป"  จะมีความรู้สึกเจ็บปวดชอกช้ำมากมายสักปานใด?!  เกินกว่าที่ผู้เขียนจะบรรยายได้สั้นๆ แต่ขอสรุปว่า  ความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้ ตลอดจนประชาชน ผู้ยังมีสำนึกในความรักชาติ  ย่อมรู้สึกเหมือนคล้ายความรู้สึกของหญิงสาวไร้เดียงสาที่ถูกพ่อแม่นำไป "ขาย" ให้แก่บรรดา "เศรษฐี" นั่นแหละ   พ่อแม่ก็เกลี้ยกล่อมหรือไม่ก็ขู่บังคับบ้างว่า "ถ้าไม่ยอมเสียตัวให้เศรษฐีละก็  เราจะต้อง "ล้มละลาย" ถูกยึดทรัพย์ และต้องอดตายในวันสองวันนี้แน่ๆ!" ความคิดของ "ผู้เขียน" ที่ได้ร้องขอไม่ให้จีนใช้เงินตรามาเป็นปัจจัยหลักในการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหากับไทยและ "อาเซียน" นั้น  ก็เพราะการใช้ "เงินตรา" เข้ามาแก้ปัญหากลับกลายเป็นการ "ซ้ำเติม" ทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์ครั้งปลายราชวงศ์ชิง  เมื่อจีนถูก "นักล่าอาณานิคม" จากตะวันตกมารุมข่มเหงรังแกจีน และญี่ปุ่น  ก็โดดเข้าใช้วิธีการเดียวกันนี้กับจีนด้วย...

                 ถึงแม้จีนจะมี "เงินตรา"  สำรองระหว่างประเทศมากเป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา และสมมุติว่ากล้าลงทุนมากถึงขนาดนำเงินก้อนใหญ่มาช่วย "ปลดหนี้" ทั้งหมดที่ไทยกู้จาก "ไอ.เอ็ม.เอฟ." และชาตินายทุนอื่นๆ ได้ก็ตาม  แต่สถานะของจีนก็จะมีความหมายเพียง "ผู้เซ้งสิทธิ์" ไปจากประเทศ "นายทุนข้ามชาติ" ทั้งหลายเท่านั้นเอง

                 ดังนั้น  วิธีช่วย "คนยากจนและตกงาน"  ด้วยการให้เขา "กู้ยืมเงิน"  จึงเป็นวิธีที่ง่ายแต่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเพื่อให้เขา "หลุดพ้นจากความยากจน"  และมีความสุขที่ยั่งยืนถาวรได้  เพราะผู้กู้ยืมเงินก็ยังคงยากจน  และยังต้องเดือดร้อนดิ้นรนกระเสือกกระสนหาเงินมาใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย  ผู้เขียนจึงขอเสนอให้จีนใช้วิธีการช่วยเหลือแบบ "ให้งานทำ" จะดีที่สุด  เพราะการ "มีงานทำและมีรายได้ที่ยุติธรรม"  ย่อมสามารถช่วยให้คนยากจน พ้นจากความอดอยาก  สามารถใช้หนี้ได้ในอนาคต และมีความสุขที่ยั่งยืนถาวรด้วยความสง่าน่าภาคภูมิใจ

☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼

             ตามประวัติศาสตร์โลกยุคโบราณกว่าพันปี  จีนคือ "ศูนย์กลางการค้าของโลก" โดยมี "มหาอาณาจักรโรมัน" เป็นคู่ค้าที่สำคัญและยิ่งใหญ่  ร่วมกันสร้างตำนาน "เส้นทางสายไหม" ซึ่ง "แกนหลัก" ของการค้าบน "เส้นทางสายไหม" คือ ประเทศจีน  เพราะภายหลังจาก "โรมัน" ล่มสลาย แต่ จีนยังรุ่งเรืองต่อเนื่องมา ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็ยังถวิลหาสินค้าจากจีน  และอุตส่าห์สำรวจค้นหาเส้นทางสายไหม  เส้นใหม่เพื่อมาค้าขายกับจีนอยู่ตลอดมา

              ถามว่า  จีนทำได้อย่างไรในครั้งนั้น?  จีนใช้ "เงินดอลลาร์" ในการค้าขายหรือ? ก็ไม่ใช้

              ปัจจุบันนี้ จีนทำไมทำไม่ได้...?!  ก็เพราะจีนและประเทศต่างๆ ยึดติดกับการใช้ "เงินดอลลาร์" เป็นหลักในการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างประเทศ  และขาด "ความเป็นผู้นำ"!  

              ด้วยศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ไม่มีประเทศใดเทียบได้  เช่น  จำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก จำนวน "ผู้บริโภค" และ "ผู้ผลิต" ที่มากที่สุดในโลก "วัตถุดิบ" หลากหลายอุดมสมบูรณ์มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกับ "อาเซียน" "ตะวันออกกลาง" "ยุโรปตะวันออก" และรัสเซียกับประเทศใหม่ที่แยกจาก "โซเวียต" สิ่งเหล่านี้ คือ ปัจจัยที่สามารถทำให้จีนกลับเป็นศูนย์กลางการค้าของโลก ยุค ค.ศ. ๒๐๐๐  ได้อย่างง่ายดาย เพียงแต่จีน ต้องพิจารณาดำเนินการ ๒ ประการ คือ

               ๑.  มีความเป็นผู้นำ

                    โดยสำนึกว่า "ความเป็นผู้นำ" นั้น มิใช่เกิดขึ้นจากโชคลาภ  หรือสืบมรดก แต่เกิดขึ้นจากจิตใจซึ่งพร้อมที่จะเสียสละ  ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบต่อ "มิตร" คิดแต่จะผดุงความดำรงอยู่ และกล้าหาญที่จะก้าวนำความถูกต้องชอบธรรมอย่างองอาจสง่างาม

               ๒.  พร้อมที่จะปฏิเสธ "ดอลลาร์"

                    กล่าวคือ ซื้อ - ขาย สินค้าหรือบริการกับผู้ประกอบธุรกิจ ในประเทศต่างๆ ที่จะได้ตกลงกันต่อไป  โดยไม่ยึดติดกับ "ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา"  หรือ "เงินตราของประเทศอื่น" ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการ "ซื้อ - ขาย" แต่ละครั้ง

                    สมมุติ จีน ซื้อ - ขาย สินค้ากับไทยก็ต้องชำระหนี้กันด้วย "เงินหยวน หรือเงินบาท" เท่านั้น  ถ้าเป็นการซื้อขาย "หลายเส้า" การชำระค่าสินค้าก็ต้องใช้ "เงินตรา" ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับ "วงจรการซื้อขาย" แต่ละครั้งเท่านั้น  นี่คือ การ "เปิดวงล้อม" ให้แก่เศรษฐกิจการค้าและการเงินได้พ้นจาก "วงล้อมของดอลลาร์"

จีน จะแสดงความเป็น "ผู้นำ" ได้อย่างไร?

                     สมมุติ จีน ส่งรถจักรยานยนต์ไปขายให้เวียดนาม  โดยชำระกันเป็นเงินด่องของเวียดนาม  จีนใช้เงินด่องซื้อเส้นไหมชั้นดีจากเวียดนาม  ขายให้เอกชนไทย  โดยชำระเงินบาท  จีนใช้เงินบาทซื้อข้าวสารไทย  นำไปขายให้อินโดนีเซีย  โดยชำระเงินเป็นรูเปียส  และใช้เงินรูเปียสซื้อปุ๋ยจากอินโดนีเซีย นำไปขายให้แก่ เกาหลีเหนือ (ตามข่าวว่าต้องการนำเข้าปุ๋ยจำนวนถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตัน) โดยอาจชำระเป็นเงินวอนของเกาหลีเหนือ หรืออย่างไร?   "ผู้เขียน" มิกล้ากล่าว  เพราะจีนกับเกาหลีเหนือสนิทชิดใกล้กันมาก  ย่อมเป็นเรื่องง่ายดายที่สุดที่จีนจะตกลงกับเกาหลีเหนือ  มิบังควรที่คนนอกอย่าง "ผู้เขียน"  จะบังอาจไปชี้แนะ

                     โดยผลของวงจรการซื้อ - ขาย  ที่มีจีนเป็น "ผู้นำ"  การแสดงบทบาทในทำนองนี้ย่อมก่อให้เกิด "การมีงานทำ"  ขึ้นในทั้ง ๕ ประเทศ  คือ  จีน  เวียดนาม  ไทย  อินโดนีเซีย  และเกาหลีเหนือ  ทั้งนี้  หากไม่มีจีนใช้ "ความเป็นผู้นำ"  เข้ามาช่วยดำเนินการความสำเร็จก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้  แม้ว่า "ผู้ซื้อ หรือผู้ขาย" ในประเทศทั้งสี่นั้นจะอยากซื้อ - ขายสินค้าเหล่านี้สักปานใดก็ตาม แต่เพราะไม่มี "ดอลลาร์" ไปซื้อขาย" วงจรการค้านี้จึงไม่เกิด!

                      ทั้งหมดนี้ จีนไม่ได้ขาดทุนจากการ "แสดงบทบาทพระเอก" ในเรื่องนี้  เพราะการคิดราคาสินค้าระหว่างกันก็ย่อมคำนวณด้วยการความเป็นธรรม  แม้จะปฏิเสธการชำระเงินด้วย "ดอลลาร์" แต่ก็อาจจำเป็นใช้ในการคำนวณเทียบหา "มูลค่า" ที่จะชำระแก่กัน

                      นอกจากนี้ กองเรือพาณิชย์นาวีจีน ยังมี "งานทำ" สมบูรณ์แบบ  คือ  ขนสินค้าจากจีนมาส่งให้เวียดนาม  ขนสินค้าจากเวียดนาม มาส่งให้ไทย  ขนสินค้าจากไทยส่งให้อินโดนีเซีย  ขนสินค้าจากอินโดนีเซีย  ส่งให้เกาหลีเหนือ  ในที่สุดขนสินค้าจากเกาหลีเหนือกลับไปจีน  ไม่มีอะไรที่จีนจะขาดทุนเลย!  มีแต่ได้กำไรอย่างมหาศาลจากการแสดง "ความเป็นผู้นำ" เช่นนี้   เพราะในไม่ช้าก็จะเกิดการค้าขาย "หลายเส้า" เกิดขึ้นรอบๆ จีน  ซึ่งจะกลายเป็น "ศูนย์กลางแห่งการค้าระบบใหม่"  เป็นยุคใหม่ของ "เส้นทางสายไหม ค.ศ. ๒๐๐๐"

                      แน่นอน "เส้นทาง" สายนี้  ไม่ต้องมีการก่อตั้งองค์กรใดๆ  ไม่มีสัญญาระหว่างกัน  แม้แต่ "อำนาจรัฐ"  ก็ไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวด้วย  เว้นแต่ช่วยริเริ่ม ก่อตัว  และสนับสนุน  การดำเนินงานที่แท้จริง คือ  ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ  ซึ่งมีผลประโยชน์ของประเทศชาติที่รักของเราเป็นเป้าหมายหลัก

☺............................☺