Tuesday, August 22, 2017

วาทิน ปิ่นเฉลียว(ฉลาด) ที่ผม(ไม่)รู้จัก

              เมื่อผมยังเรียนชั้นมัธยมต้น  ที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  เป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัดลำปาง  ผมได้ฟังรุ่นพี่ๆ ที่เรียนมัธยมปลายขู่ หรืออำไม่รู้บอกว่า "ถ้าใครเรียนกับอาจารย์วลัยแล้วไม่โดนด่าละก็  ข้ายอมกราบ ๓ งามเลย"  ครั้นผมได้เรียนชั้นเตรียมอุดมที่อาจารย์วลัยสอนวิชาภาษาอังกฤษ ๒ ปี  ผมโดนว้ากแค่ครั้งเดียวเท่านั้น  อีกที่เหลือนับร้อยครั้งที่เรียนวิชากับท่าน  กลับได้รับคำชมมากกว่าถ้าเราตั้งใจเรียน

               ท่านอาจารย์วลัย คือ พี่สาวใหญ่(คนโต) ของน้องอีกสามคนแห่งตระกูล "ปิ่นเฉลียว" ชื่อเป็นทางการที่รู้จักกันดีในสังคม คือ "คุณหญิงวลัย ลีลานุช"  เจ้าของ "บ้านเสานัก" มรดกวัฒนธรรมที่ย่านท่ามะโอ  ตำบลเวียงเหนือ  เมืองลำปาง

ผลงานการเขียนส่วนหนึ่งของ
ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว
               น้องอีก ๓ คนของท่านก็ล้วนสอบเข้าเรียนจุฬาลงกรณ์ฯ ได้เหมือนคุณหญิงวลัย  น้องชายถัดจากคุณหญิงวลัย คือ "ไมรา" เรียนจุฬาฯ ในช่วงเกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงไปสมัครเป็นสารวัตรทหารบก  เมื่อสงครามยุติ  แต่ "ไมรา" เรียนไม่ทันเพื่อนแล้ว จึงไม่กลับไปเรียนให้ได้ปริญญา แต่สมัครเรียนเอาปริญญาชีวิตจริง  โดยโอนไปเป็นตำรวจติดชั้นประทวนหลายปี  มีหมอดูแนะนำให้เปลี่ยนชื่อ  โดยให้มี ป. ปลานำ  แต่ไม่ให้มีรูปสระ  จึงเป็นชื่อ "ปกรณ์"  ภายในปีนั้นก็ได้เลื่อนเป็นสัญญาบัตร  จนถึงเพียงพันตำรวจโท กองสันติบาล   แต่ชื่อ "ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว"  ดังกว่าอธิบดีกรมตำรวจหลายๆ คน  เพราะผลงานการเป็นนักเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุมที่ยอดเยี่ยม  ถึงขนาดคุณวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนผู้ได้รางวัลซีไรท์อย่างละ ๒ สมัย  เขียนยกย่องผลงานของ "ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว"

           
ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว
   ผมไม่รู้จัก "ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว"  ตอนอยู่ลำปาง  เช่นเดียวกับน้องชาย "วาทิน" ที่เรียนจบสถาปัตย์ฯ จุฬาลงกรณ์ฯ  เพราะ ๒ ท่านนี้  รุ่นก่อนผมกว่าสิบปี   แต่น้องสาวคนเล็กของตระกูล คือ "คุณจินตนา ปิ่นเฉลียว"  เป็นเสี่ยวอายุเท่ากับผม  แต่ผมไปเป็นครูสอนที่อัสสัมชัญ ลำปาง ๓ ปี  เมื่อผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๐๖ นั้น  คุณจินตนาเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ รุ่นซีเนียร์  และเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้ง "ชุมนุมวรรณศิลป์" ของจุฬาฯ  ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ดุสิต(เชษฐ์) พนาพันธ์จากลำปาง  ร่วมกับคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และนักกลอนท่าพระจันทร์  ก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

               ผมได้รับเลือกเป็นกรรมการของชุมนุมในปีต่อมา  พบคุณจินตนาในวงกาพย์กลอนอยู่เนืองๆ  เธอแต่งโครงสี่สุภาพสดๆ เก่งมากยกนิ้วให้   น่าเสียดายและน่าเศร้าสลดยิ่งที่ "จินตนา(ปิ่นเฉลียว) ภักดีผดุงแดน" ถึงแก่กรรมเพราะมะเร็งเมื่ออายุ ๔๐ เศษ  ในพิธีศพ  ผมและภรรยามาจากชลบุรี  ตั้งแต่ร่วมทำบุญเลี้ยงเพล  เพื่อมีเวลาได้คารวะท่านอาจารย์คุณหญิงวลัย ลีลานุช และ(พี่)ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว  ซึ่งผมพบครั้งแรกเมื่อช่วงสิ้นปี ๒๕๐๙

             เมื่อคุณธัญญา ผลอนันต์  กับผมถูกตำรวจสันติบาลเรียกไปอบรม "ปรับทัศนคติ"  ไม่ให้เราจัดทำวารสารชื่อ "เจ็ดสถาบัน" อีกต่อไป  เพราะมันเป็น "ศูนย์รวม" นิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศให้ส่งข้อคิดการเขียนมาร่วมลงพิมพ์ในวารสาร "เจ็ดสถาบัน" นี้   วันนั้นผมชวนธัญญาแวะทักทายคารวะ(พี่)ปกรณ์  ก่อนไปให้สอบปากคำต่อสารวัตรเจ้าของสำนวน พ.ต.ต. นิรันดร์ วรหิรัญ
(* รายละเอียดอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด "เรื่องนอกบันทึกรัฐสภา" ซึ่งผมเขียน/พิมพ์เผยแพร่เอง ๒๕๕๕) 

             เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้น  ในเมืองไทยมีมหาวิทยาลัยเฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ  นักเรียนที่จบชั้นมัธยมปลาย  ถ้าอยากเข้ามหาวิทยาลัย  ก็ต้องมาสอบที่กรุงเทพฯ  ปีนั้น  เพื่อนร่วมรุ่นของผมจากลำปางจำนวนราว ๔๐ คน  ลงมาสอบ  แต่ได้เพียง 4 คน คือ ๑๐%  โดยเข้าจุฬาลงกรณ์ฯ และเกษตรศาสตร์แห่งละ ๒ คน  ปีเดียวกันนี้  จินตนา ปิ่นเฉลียว ชาวลำปาง(แต่เรียน ม. ปลายที่เชียงใหม่) ทำสถิตินับเป็นคนที่ ๔ สุดท้ายของตระกูล "ปิ่นเฉลียว" ที่สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งของประเทศได้

              ผมอายุ ๗๕ ปีแล้ว  คิดว่ายังไม่เคยรู้เคยเห็นว่าเคยมีครอบครัวใดบ้างหนอ  ที่ลูกๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งได้ครบ ๔ คน?... โปรดแสดงตัวให้ผมรู้จักและคารวะ  ถ้าไม่มีละก็ผมขออนุญาตจุดธูปไหว้บอกคนตระกูล "ปิ่นเฉลียว" ทั้งสี่ว่าในความคิดของผมท่านน่าจะเป็นตระกูล "ปิ่นเฉลียวฉลาด" จริงๆ ครับ


(ศุภกิจ นิมมานนรเทพ  ชาวลำปางในกรุงเทพฯ)