๑. ปัญหานานาประการ
๑.๑. นักโทษล้นคุก
วิธีแก้ปัญหาที่ผ่านๆ มาใช้แบบ "กำปั้นทุบดิน" คือ ขอจัดตั้งงบประมาณขยาย/ก่อสร้างเรือนจำเพิ่มขึ้น เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมนักโทษมากขึ้น
ถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรดีกว่า? อ๋อ...ถ้าเป็น "ปัญหาเดี่ยวๆ" ก็ทำแบบนี้แหละ
๑.๒. อภัยโทษ ลดโทษ พักการลงโทษ
ก็เป็น "ปัญหา" เพราะผลจาก "ปัญหานักโทษล้นคุก" จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการผลักดันให้เกิดกรรมวิธี/มาตรการ "อภัยโทษ ลดโทษ พักการลงโทษ" ผลที่เกิดตามมาก็เหมือน "งูกินหาง" คือ นักโทษติดคุกไม่(นาน) ครบกำหนดก็ได้รับการลดโทษ อภัยโทษ พักการลงโทษ ซึ่งมองในแง่ดีก็มีอยู่บ้าง รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหา "นักโทษล้นคุก" ทางหนึ่งด้วย
๑.๓. กลายเป็นปัญหา "อาชญากรดื้อ(อา)ญา"
ลองศึกษาเปรียบเทียบมาตรการลงโทษและระยะเวลาที่ "นักโทษไทย" ถูกจำคุกจริง กับการจำคุกจริงของนักโทษในอัตราโทษเดียวกันในประเทศอื่นๆ นักโทษไทย "ติดคุก" จริงๆ ในเวลาน้อยกว่าแทบทุกประเทศ ผลก็คือ อดีตนักโทษไม่เข็ดหลาบ ไม่กลัว "ติดคุก" ตัดสินใจทำผิดอีกง่ายๆ วนกลับมาเป็นนักโทษอีก ก่อปัญหาเป็น "นักโทษล้นคุก" อีก คนที่ยังไม่เคยทำผิดก็พลอยไม่ค่อยเกรงความผิดด้วย
๑.๔. ทุจริตการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบเลี้ยงนักโทษ
การทุจริต หรือ "เงินทอน" ในเรื่องนี้มีมานับร้อยปี แต่ไม่เคยมีใครคิดแก้ปัญหาได้จริงจนสำเร็จเป็นรูปธรรมซึ่ง "สังคม" ยอมรับโดยปริยาย(เช่นกรณี ล็อตเตอรี่เกินราคานั่นแหละ)
เผอิญก่อนหน้านี้ ๒-๓ เดือนมีเรื่องอื้อฉาวขึ้น ปรากฏภาพและข่าวในสื่อต่างๆ คือ "รองเลขาธิการ ป.ป.ช. พาคณะเจ้าหน้าที่ไปจับรองผู้อำนวยการองค์การ อ.ต.ก. ขณะเรียกรับเงินสดเรือนล้านบาทอยู่ในตัวคาหนังคาเขา เป็นเงินสดที่เรียกรับจากเอกชนเป็น "สินบน" เพื่อต่อสัญญาส่งวัตถุดิบให้ประกอบเลี้ยงนักโทษในเรือนจำจังหวัดหนึ่ง..." เอกชนผู้ถูกรีดไถทนไม่ได้ จึงแจ้ง ป.ป.ช. มาดักจับดังกล่าว
กรณีเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการที่กรมราชทัณฑ์ทำสัญญากับ อ.ต.ก. รัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อประกอบเลี้ยงนักโทษในเรือนจำเพื่อประกอบเลี้ยงนักโทษในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาทุจริต เป็นแค่เพียง "ผ่องถ่าย" การทุจริตให้ไปปรากฏขึ้นที่ อ.ต.ก. แต่กรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงยุติธรรม กลับทำเนียนๆ ถามว่า สังคมไทยเชื่อใจไหมว่า คนในกรมราชทัณฑ์/กระทรวงยุติธรรม ไม่รู้ไม่เห็นด้วยเลย?
๑.๕. ปัญหา ไม่มีทางคืน "อดีตนักโทษ" เข้าสู่สังคมอย่างปกติสุข จะแก้อย่างไร?
อดีตนักโทษ ไม่ว่าต้องคดีใดๆ พอใครๆ ได้ยินว่า "เคยติดคุก" ก็ถูกรังเกียจทันที ทางราชการยังตั้งข้อรังเกียจแล้ว จะให้ธุรกิจเอกชนรับพวกอดีตนักโทษเข้าทำงานได้อย่างไร?
เมื่ออดีตนักโทษไม่มีการงานอาชีพที่พอดำรงชีวิต ก็ห้ามพวกเขาคิดก่ออาชญากรรมอีกไม่ได้ พอทำผิดก็กลับมาเป็นนักโทษก่อปัญหา "นักโทษล้นคุก" คือ วนกลับมาเป็นปัญหา "งูกินหาง" อีก ดังนั้น การจะแก้ปัญหาทั้ง ๕ กรณีให้สำเร็จอย่างครบวงจร หรือโดยองค์รวม จำต้องมีปัจจัยพร้อม ๓ ประการ คือ
(๑.๕.๑) ต้องมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯ ที่กล้าหาญ มือสะอาด มีวิสัยทัศน์เพื่อสังคมส่วน รวมเกิดสันติสุขอย่างจริงจัง
(๑.๕.๒) คิดและทำโดยไม่ซ้ำรอยเดิม ที่เคยทำหรือใช้แก้ปัญหามาในอดีต (ให้ลืมไปเลย) ต้อง "คิดและทำนอกกรอบ" แต่ไม่ผิดกฏหมาย
(๑.๕.๓) อาศัยความเอื้อเฟื้อ ความร่วมมือประสานงานกับหน่วยราชการ เอกชนชุมนุม ที่ เกี่ยวข้องทุกองค์กร ที่ขาดไม่ได้เลยคือ การสนับสนุนจากรัฐบาล และรัฐสภา (ส.น.ช.)
๒. แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง ๕ ประการ :
๒.๑. ขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินของทางราชการ ที่มีสภาพพอเหมาะสำหรับทำกสิกรรมและปศุสัตว์จำพวกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ประกอบอาหารได้ ขนาดที่ดินตามความจำเป็นของจำนวนนักโทษในแต่ละแห่ง/แต่ละจังหวัด
๒.๒. จัดทำบัญชีรายชื่อนักโทษที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับการอภัยโทษ พักการลงโทษและผู้ใกล้จะพ้นโทษเหลือไม่เกิน ๖ เดือน และนำมาจัดแยกรายชื่อออกตามภูมิลำเนา/ถิ่นที่อยู่ของเขาตามแต่ละจังหวัด
๒.๓. โอนย้ายนักโทษกลับภูมิลำเนาเดิม แต่ต้องถามความสมัครใจ เพราะบางรายภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างถิ่นกับที่อยู่ล่าสุด ซึ่งครอบครัวของเขาอพยพไปอยู่ในปัจจุบัน
๒.๔. ขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิพระดาบส และจากองค์กรการกุศลเอกชน ฯลฯ เพื่อจัดการฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ ให้แก่บุคคล ตามข้อ ๒.๓. ซึ่งจะแยกไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม (หรือตามสมัครใจ)
มูลนิธิพระดาบส |
(๒.๔.๑) วิชาชีพที่จำเป็น คือ กสิกรรมปลูกพืชผักสวนครัว การเพาะเลี้ยงปลา กบ เป็ด ไก่ ฯลฯ เพื่อใช้ประกอบอาหาร
(๒.๔.๒) วิชาชีพอิสระ เช่น ช่างฝีมือต่างๆ โดยเฉพาะวิชาปรุงอาหาร ทำนองอาหารตามสั่ง ฝึกให้ได้สัก ๑๐ กว่ารายการ เช่น ข้าวผัดต่างๆ ผัดกระเพราไข่ดาว ไข่เจียว ผัด ผัก ฯลฯ ต้มยำ ต้มจืด
๒.๕. ให้บุคคล(ใช้ศัพท์นี้ เพราะบางคนอาจพ้นโทษระหว่างดำเนินโครงการ) ตามข้อ ๒.๓. ที่สมัครใจ แยกไปฝึกอาชีพตามแต่ละประเภทที่สมัครไว้
๒.๖. ใช้ที่ดินที่ขอไว้ตามข้อ ๒.๑. จัดสร้างในทำเลที่เหมาะสม ดังนี้
(๒.๖.๑) โรงฝึกงานอาชีพต่างๆ ตามสมควร
(๒.๖.๒) โรงครัว เพื่อฝึกการทำอาหารต่างๆ ตามคาดไว้ในข้อ ๒.๔.(๒)
(๒.๖.๓) ที่ดิน ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกให้ใช้เพาะปลูกพืชผักต่างๆ ที่นิยมใช้ในการประกอบ
อาหาร(ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น)
(๒.๖.๔) พื้นที่ลุ่มขุด หรือปรับปรุงเป็นบ่อเลี้ยงปลา (พึงพิจารณาปลากินพืช) โดยปลูกพืชน้ำไว้
ด้วย เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ
(๒.๖.๕) อาจเพาะเลี้ยงกบ (ในกะลาครอบ) ด้วย
(๒.๖.๖) เลี้ยงฝูงไก่บ้าน
(๒.๖.๗) เลี้ยงฝูงเป็ด แบบ "เป็ดไล่ทุ่ง"
(๒.๖.๘) เลี้ยงหมูในคอก ตามแบบชาวบ้าน คือ ใช้เศษผักหญ้า เศษอาหาร หยวกกล้วย
ฯลฯ เลี้ยง "ต้องยึดหลักการผลิต(เลี้ยง) ตามวิถีชาวบ้าน แบบเศรษฐกิจพอเพียง หลีกเลี่ยงการใช้อาหารสัตว์จากโรงงาน เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระต้นทุนการผลิต
☛ เพราะในอนาคตคนที่พ้นโทษ จะกลับบ้านไปทำอาชีพเลี้ยงตัว แบบพึ่งพาตนเอง โดยมีต้นทุนต่ำ เท่ากับเพิ่มรายได้ในทางอ้อมด้วย จึงจะอยู่รอดได้
๓. การบริหารผลผลิตและผลงาน :
๓.๑. ผู้ฝึกอาชีพอิสระต่างๆ เช่น ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า ช่างซ่อมมอเตอร์ไซต์ ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม พ่อครัวแม่ครัว ฯลฯ เมื่อฝึกจนถึงระดับมืออาชีพแล้ว เมื่อพ้นโทษ ถ้าครอบครัวพอมีทุนก็สนับสนุนให้ทำธุรกิจเล็กๆ ได้เอง ผู้ใดอยากทำธุรกิจเองแต่ยังมีเงินทุนไม่พอ ทางราชการต้องเจรจาหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้
ผู้ไม่มีเงินทุน และ/ หรือไม่อยากทำธุรกิจเอง ให้ทางกรมราชทัณฑ์จัดหาที่เหมาะสมให้ได้ไปทำงาน โดยรับรองว่าได้ผ่านมาตรฐานการฝึกอาชีพนั้นๆ มาแล้ว ให้ธุรกิจเอกชนรับไปทดลองงานดูระยะเวลาหนึ่งไม่เกิน ๖ เดือน โดยรับค่าแรงครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
๓.๒. ถ้าบริเวณหน้าเรือนจำมีพื้นที่มากเพียงพอ อาจจัดตั้งร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านรับซ่อมจักรยานยนต์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านอาหารตามความเหมาะสม และร้านขายผลผลิตสดๆ จากฟาร์ม ตามข้อ ๒.๖.
อนึ่ง กิจกรรมหรือธุรกิจใดๆ เกี่ยวกับโครงการฯ เหล่านี้ ควรใช้ชื่อที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้เคยต้องโทษ เช่น ใช้ชื่อร้านอาหารว่า "ชีวิตใหม่"โภชนา ร้านตัดผมว่า "ชีวิตใหม่" บาร์เบอร์ ฯลฯ กิจกรรมการกสิกรรมและเพาะเลี้ยงสัตว์ว่า "ชีวิตใหม่"ฟาร์ม ฯลฯ (โปรดพิจารณา อาจมีคำดีกว่าที่คิดเสนอมานี้)
๓.๓. ผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดจาก "ชีวิตใหม่ฟาร์ม" มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเลี้ยงนักโทษ ทดแทนการจัดซื้อจากตลาด ซึ่งจะเกิดผลดี คือ
(๓.๓.๑) ได้ของสดดีราคาถูกกว่า
(๓.๓.๒) สร้างรายได้เป็นทุนเพื่อประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ ให้แก่นักโทษหรืออดีต
นักโทษที่ทำงานใน "ชีวิตใหม่ฟาร์ม"
(๓.๓.๓) ถ้าไม่พอใช้ทาง "คู่สัญญา" จึงจะจัดซื้อจากตลาดหรือ ผู้อื่นได้ อนึ่ง ราคา
ขายผลผลิตดังกล่าว ให้ถูกกว่าราคามาตรฐานตลาด ๑๐% โดยถือราคา
จากสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ในแต่ละวันหรือช่วงสัปดาห์
(๓.๓.๔) ถ้าผลผลิตจาก "ชีวิตใหม่ฟาร์ม" มีมากเกินอัตราบริโภคของเรือนจำ ให้นำ
ส่วนเกินออกขายแก่ผู้ต้องการรายใหญ่ เช่น ค่ายทหาร โรงพยาบาล
โรงเรียน ร้านอาหาร (หนู ณิชย์ชวนชิม) ในโครงการส่งเสริมของกระทรวง
พาณิชย์ ฯลฯ ตลอดจนนำออกขายสดที่ร้านซึ่งจัดตั้งเองที่หน้าเรือนจำ เป็นต้น
๓.๔. รายได้สุทธิ ต้องจัดสรรให้แก่ผู้ทำงานทุกคนอย่างยุติธรรม แต่ให้เก็บสะสมในบัญชีออมสินของแต่ละคน จนพ้นโทษก็จะได้เป็น "กองทุน" ให้เขาใช้ประกอบอาชีพเป็นการเริ่มต้น "ชีวิตใหม่" สมดังแนวพระบรมราโชวาท ครั้งหนึ่งว่า การช่วยคนนั้น ควรสอนให้เขารู้จักวิธีทำมาหากินมากกว่าการให้เงินช่วยเปล่าๆ
๔. งบประมาณ :
๔.๑. แปรญัติจากงบประมาณปกติปี ๒๕๒๘ มาใช้ เช่น จากโครงการจัดหาอาหารประกอบเลี้ยงนักโทษ
☺ จากงบประมาณโครงการขยาย หรือสร้างเรือนจำเพิ่ม
☺ จากการขายผลผลิตและผลงาน นำมาใช้หมุนเวียนก่อน
☺ จากการรับบริจาค (โครงการดีๆ เช่นนี้ หาผู้บริจาคไม่ยาก) อย่าให้อาย
"ไอ้เณรคำ"
๕. สรุป : แนวทางการแก้ปัญหา
โดยองค์รวมเช่นนี้ จึงจะสำเร็จผลครอบคลุมทุกปัญหาดังกล่าวมาแต่แรกทั้ง ๕ ประการ แต่...น่าเสียดาย ถ้าโอกาสนี้ไม่ดำเนินการ รัฐบาลจากนักการเมืองจะไม่อาจดำเนินการได้ หรือไม่ก็จะทำไปเก็บ "เงินทอน" ไป จนเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก