วันนี้ บรรยากาศปลอดโปร่ง เพราะผมนั่งกินอาหารกลางวันลำพังกับเพื่อนเก่า (ทพ.ธงชัย นาคพันธุ์) ที่เรียนหนังสือด้วยกันตั้งแต่มัธยมต้น จนแก่ด้วยกันในวันนี้ คบกันมาเกือบ ๖๐ ปียังไม่มีเรื่องใดให้ขุ่นมัวอารมณ์กัน ผมจึงถือโอกาสอธิบายผ่านคุณหมอธงชัยให้สาธุชนฟังดังนี้ครับ
พระสงฆ์ไทยเป็นพระสงฆ์ในลัทธิหินยานหรือเถรวาท ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสงฆ์ฝ่าย "คามวาสี" มีวัดวาอารามเกาะติดอยู่กับชุมชนซึ่งแน่นอน ชาวบ้านทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เป็น "พุทธศาสนิกชน" ย่อมปีติที่จะได้ใส่ภัตตาหารลงก้นบาตร และธรรมเนียมหรือจริยธรรมของผู้ใส่บาตรก็จะเลือกภัตตาหารที่ดีที่สุดถวายพระ พระไทยจึงไม่ต้องปรุงอาหารก็อยู่ได้สบายตลอดมา แม้จะมีบางวัดในชนบทไกล เรียกรู้กันว่า "วัดป่า" หรือฝ่ายอรัญวาสี แต่โดยความเป็นจริง "วัดป่า" ในปัจจุบันอยู่ติดๆ กับชุมชนชาวบ้าน พระออกบิณฑบาตเช่นเดียวกัน
ลัทธิขงจื๊อ |
ลัทธิเต๋า |
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ |
ศาสนาพุทธที่เผยแผ่เข้าไปในจีนเมื่อกว่าพันปีก่อน เป็นลัทธิหรือ "ฝ่ายมหายาน" จักรพรรดิและชาวจีนมีหลักยึดใจไว้กับลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าอยู่แล้ว จักรพรรดิจึงโปรดให้พระสงฆ์ไปสร้างวัดอยู่นอกเมือง ดังเช่น พระโพธิธรรมมหาเถระ หรือ "ธรรมโม ภิกขุ" พระสงฆ์ชาวอินเดียในลัทธิมหายานวัชรนิกาย ที่คนจีนออกนามว่า "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" นั้นเมื่อจาริกจากอินเดียเข้าไปขอเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครลั่วหยาง(ในเรื่อง "สามก๊ก" ออกชื่อว่าเมืองลกเอี๋ยง) จักรพรรดิโปรดให้ไปสร้างวัดอยู่ที่ป่าละเมาะ (ป่าน้อย) เชิงเนินนอกนครลั่วหยางเรียกว่า "วัดป่าน้อย" หรือ "วัดเส้าหลิน"
นอกจากอยู่ไกลชุมชนไม่สะดวกแก่การรับบิณฑบาตแล้ว ถึงแม้ตั้งวัดอยู่ในชุมชนชาวจีนจริงๆ ก็ไม่มีคนใส่บาตร เพราะชาวจีนเป็นผู้ถือปฏิบัติตามลัทธิขงจื๊อและเต๋า
ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด วัดในเมืองจีนจึงต้องทำไร่ไถนา ปลูกผักเอาไว้กินเอง ด้วยเหตุนี้เองพระจีน หรือ "สงฆ์จีน" จึงจำเป็นต้อง "กินเจ(แหงๆ) เพราะทางวัดจีนไม่อาจเลี้ยงปลา หรือปศุสัตว์เอาไว้ฆ่ากินได้ แล้วจะมาอวดโอ่ได้ไงว่าพระจีนเคร่งศีลกว่าพระไทย ต่างก็ถือศีล ๒๒๗ ข้อเหมือนกันนะครับ
(เครดิตภาพจากเว็บไซต์ manager online; wikipedia.or.th)